องค์กรนวัตกรรม


นวัตกรรม

องค์กรนวัตกรรม

         ผู้ประกอบการสามารถสร้างบรรยากาศให้เกิดวัฒนธรรมภายในเพื่อให้เกิดสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ  โดยเน้นการค้าหาวิธีการในการทำงานใหม่เพื่อปรับปรุงวิธีการทำงาน  การสร้างวิสัยทัศน์ขององค์กรที่มุ่งเน้นการเปลี่ยนแปลงและสร้างทัศนคติที่ดีแก่บุคลากรต่อการเปลี่ยนแปลง  ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต (Arad et al., 1997;Tushman and O Reilly, 1997). ยกตัวอย่าง เช่น ธุรกิจจะต้องมีการกำหนดเป็นวาระประจำปี  และมีการประเมินตามรอบเวลาว่าแผนการดำเนินงานเป็นไปตามที่วางแผนไว้หรือไม่  วิธีการหนึ่งที่จะบรรลุการรักษาการเจริญเติบโต  และความสามารถในการแข่งขันได้นั้นก็คือ  การให้สนับสนุน  กระตุ้นการสร้างความคิดสร้างสรรค์และแนวทางการปฏิบัติในการสร้างวัตกรรมภายในองค์กร  ซึ่งจะต้องมีการมอบหมายจากผู้บริหารระดับสูง  เพื่อที่จะอำนวยความสะดวกในบรรยากาศการทำงาน

          ผู้ประกอบการจะต้องตระหนักว่าการที่องค์กรจะมีนวัตกรรมเกิดขึ้นได้นั้น จำเป็นต้องเอาชนะอุปสรรค ๒ ประการที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงในกิจกรรมของสังคมที่มีความพลวัตตลอดเวลา (Giddens, 1984; Sztompka, 1991) . กล่าวคือ

         อุปสรรคประการแรกที่องค์กรจะเผชิญก็คือ  องค์กรจะต้องพยายามสร้างสมุดระหว่างโครงสร้างองค์กร  ที่จะปรับเปลี่ยนใหม่กับงบประมาณและกำหนดระยะเวลาในการเปลี่ยนแปลง  เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นเพียงพอ  ที่จะให้ธุรกิจสามารถสร้างสรรผลิตภัณฑ์หรือบริการให้ตรงตามความต้องการของตลาดได้อย่างถูกต้อง (Brown and Eisenhardt, 1998

          อุปสรรคประการที่สอง การที่จะต้องพบกับการต่อต้านของบุคลากรในการเลี่ยนแปลง หรือสิ่งแปลกใหม่ ที่เกิดขึ้นในองค์กร เนื่องจากบุคลากรส่วนใหญ่เคยชินกับสภาพแวดล้อมเดิม (Sztompka, 1991)

          จากการเปลี่ยนแปลงนั้นจะมีลักษณะเป็นกระบวนการที่มีความต่อเนื่อง ฉะนั้น  ผู้ประกอบการจะต้องศึกษาและทำความเข้าใจสาเหตุและขั้นตอนของการเปลี่ยนแปลง  เพื่อให้สามารถวางแผนการดำเนินงาน  การควบคุม  การแก้ไขปัญหา  และการลดแรงต่อต้านการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างเหมาะสมตามรูปแบบจำลองระบบการเปลี่ยนแปลงของเลวิน  ที่ได้ให้ข้อเสนอแนะถึงความพยายามที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กร  ประกอบด้วยกระบวนการที่แตกต่างกัน ๓ ขั้นตอน ได้แก่  ขั้นละลายพฤติกรรม (Unfreezing)  ขั้นตอนการเปลี่ยนแปลง (Change)  และ  ขั้นการหล่อหลอม พฤติกรรมใหม่  (Refreezing) (ณัฏฐพันธ์ เขจรนันท์, ๒๕๕๑)

          ขั้นละลายพฤติกรรม

          เป็นขั้นตอนของกระบวนการเปลี่ยนแปลง  ซึ่งขั้นตอนนี้เกี่ยวกับการยกเลิกพฤติกรรมและทัศนคติหรือความเชื่อดั้งเดิมที่เคยปฏิบัติกันมาในอดีต  โดยการสร้างความรู้สึกถึงความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งใหม่ๆที่มีผลประโยชน์มากกว่า   ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น

          - แรงกดดันของสภาพแวดล้อมภายนอกต่างๆ  ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง  เช่น  สภาพการแข่งขัน  สภาพเศรษฐกิจ  เป็นต้น

          - ผลการปฏิบัติงานที่ไม่มีประสิทธิภาพในอดีต

          - การระลึกถึงปัญหาต่างๆ  ของสถานการณ์ในปัจจุบัน

          - การรับรู้ถึงผลลัพธ์ที่ดีในอนาคตที่จะเกิดขึ้นกับองค์กรการเปลี่ยนแปลง

          ถ้าหากผู้ประกอบการไม่สามารถโน้มน้าวให้บุคลากรทราบถึงความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงหรือปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตแล้ว  องค์กรก็จะต้องเผชิญกับปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆ  และในที่สุดก็จะสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน

          ผู้ประกอบการหรือผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบเกี่ยวข้องในการเปลี่ยนแปลง  จะต้องให้ความสนใจ  หรือเอาใจใส่ต่อบุคลากรในองค์กร  โดยทำให้พวกเขาเหล่านั้นรับรู้ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในภายภาคหน้า  และทำให้พวกเขาเข้าใจถึงความสำคัญของขั้นตอนในการละลายพฤติกรรม

          ขั้นการเปลี่ยนแปลง

          การเปลี่ยนแปลงเป็นขั้นตอนที่ต่อเนื่องจากการละลายพฤติกรรม โดยผู้ประกอบการหรือผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบเกี่ยวข้องในการเปลี่ยนแปลง  จะต้องดำเนินการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของบุคลากรภายในองค์กร  วิธีการทำงาน โครงสร้างขององค์กร  หรือระดับเทคโนโลยีการดำเนินงาน  ให้เป็นไปตามนโยบายหรือวัตถุประสงค์ที่องค์กรตั้งไว้  โดยอาศัยวิธีการต่างๆ  เข้ามาช่วย เช่น การประชาสัมพันธ์ การจูงใจ การฝึกอบรม

          ขั้นหล่อหลอมพฤติกรรมใหม่

          เริ่มต้นเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงกับองค์กร  ผู้บริหารองค์กรจะมีการดำเนินงานให้การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นสามารถดำเนินต่อไปได้เรื่อยๆ  และให้บุคลากรมีความเคยชินกับการเปลี่ยนแปลง  จนรู้สึกเสมือนว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของวัตรประจำวัน  ทำให้องค์กรประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจและได้รับผลประโยชน์อย่างเต็มที่  ขั้นตอนในการเปลี่ยนแปลงทั้ง ๓ ขั้นตอนจะดำเนินต่อเนื่องกัน  ซึ่งยากที่จะแยกขั้นตอนในแต่ละขั้นตอนออกจากกันอย่างเด็ดขาด  ดังนั้น  ผู้ประกอบการ  ผู้บริหารในองค์กรจึงควรจะต้องศึกษารายละเอียดของการเปลี่ยนแปลงในแต่ละขั้นตอนอย่างละเอียด  ตลอดจนทำความเข้าใจถึงการต่อต้านที่อาจจะเกิดขึ้น  เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเหมาะสม

 

 

คำสำคัญ (Tags): #นวัตกรรม
หมายเลขบันทึก: 496968เขียนเมื่อ 2 สิงหาคม 2012 14:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 สิงหาคม 2012 14:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท