ก้าวสู่ศตวรรษที่ 21: เส้นชัยที่การศึกษาไทยยังไปไม่ถึง?


             ก้าวสู่ศตวรรษที่ 21

 

            ศตวรรษที่  21  ที่มนุษยชาติกำลังรอคอยและเตรียมตัวเพื่อก้าวไปถึงนั้น  ถือได้ว่าเป็นศตวรรษแห่งการหลอมรวมวัฒนธรรม  ประชาคมโลกจะสร้างความร่วมมือในทุกระดับภูมิภาคเพื่อขยายฐานอำนาจและเพิ่มพลังการต่อรองระหว่างกัน  การขับเคลื่อนทุกหน่วยสังคมจะมุ่งสู่ความเป็นหนึ่งเดียว  วัฒนธรรมที่แตกต่างจะใกล้ชิด  ความขัดแย้งจะได้รับการทบทวนแก้ไข  ค่านิยมเก่าจะถูกล้มล้างแล้วครอบงำด้วยค่านิยมใหม่  และการศึกษาแบบดั้งเดิมย่อมถูกเปรียบเทียบและวิพากษ์โดยนวัตกรรมทางการศึกษา  ก็เมื่อโลกกำลังจะก้าวสู่ความเป็นหนึ่งเดียว และวัฒนธรรมเดียวเช่นนี้ รูปแบบและวิธีการจัดการศึกษาแบบ  “ไทยเดิม” ก็ยากที่จะดำเนินต่อไปได้ 

 

เมื่อผู้เรียนไม่ใช่แบบเดิมที่เคยรู้จัก

         คำถามหรือ  “โจทย์การพัฒนา”  ที่นักการศึกษาควรถามตนเองเป็นอันดับแรกคือ  “เรารู้จักผู้เรียนของเรามากน้อยเพียงใด”  การรู้จักผู้เรียนคือการศึกษาประวัติ  การสังเกตพฤติกรรมและความคิดของผู้เรียนเพียงแค่นั้นก็หาไม่  เพราะสิ่งที่สำคัญกว่าคือ  เราจำเป็นต้องเข้าใจภูมิหลังด้านโครงสร้างสังคมและวัฒนธรรม  ที่ขัดเกลาและหล่อหลอมอัตลักษณ์ของผู้เรียนไทยในปัจจุบันขึ้นมาด้วย  McCoog (2008: online) ได้กล่าวถึงลักษณะของผู้เรียนในโลกปัจจุบันสรุปได้ว่าเป็นกลุ่ม  generation y  ซึ่งหมายถึงผู้เรียนที่เกิดระหว่างปี ค.ศ.  1980-1990  และผู้เรียนที่เกิดตั้งแต่ปี ค.ศ. 1990 เป็นต้นมาจัดว่าเป็นกลุ่ม generation z   ผู้เรียนทั้งสองกลุ่มได้รับอิทธิพลจากโครงข่ายอินเทอร์เน็ตหรืออาจจะเรียกได้ว่ามี  “วัฒนธรรมดิจิตอล”  พวกเขามีความสามารถในการใช้เทคโนโลยี  ที่เชื่อมโยงกับโลกภายนอกห้องเรียนในลักษณะที่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และตระหนักว่าตนเองเติบโตขึ้นในโลกที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี  รวมทั้งสามารถใช้เทคโนโลยีเหล่านั้นพัฒนาทักษะต่างๆ  ในการเอื้อประโยชน์และอำนวยความสะดวกให้กับชีวิตของตนเองได้  ด้วยเหตุนี้  ผู้เรียนจึงมีแนวโน้มด้านค่านิยมที่จะปฏิเสธชั้นเรียน  ที่มีลักษณะการจัดการเรียนการสอนด้วยการบรรยายแบบดั้งเดิม  (traditional  lecture-based  classroom)  จากแนวคิดดังกล่าว  ครูจึงต้องปรับเปลี่ยนการจัดการเรียนการสอนของตนเองคือ  หันมาสอนด้วยโดยใช้  “วิธีที่ผู้เรียนเรียนรู้”  (teach  in  the  way  they  learn) และสนับสนุนให้ผู้เรียนใช้ทักษะในศตวรรษที่  21  ที่ผู้เรียนมีอยู่  โดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะด้านเทคโนโลยีและการใช้  e-communication เพื่อนำไปสู่การสร้างความคิดใหม่  ประเมินและวิเคราะห์ปรากฏการณ์ต่างๆ   รวมถึงประยุกต์ใช้ความรู้ในชีวิตประจำวัน  เช่นนี้ ชั้นเรียนแบบเดิมก็จะพลันเปลี่ยนมามีคุณค่าและมีความหมายต่อชีวิตของพวกเขามากยิ่งขึ้น

 

เมื่อเป้าหมายเปลี่ยนแปลงไป

          นักการศึกษาไม่อาจลืมว่า  นอกจากจะต้องปรับเปลี่ยนการศึกษาให้สอดคล้องกับธรรมชาติของผู้เรียนที่เปลี่ยนไปแล้ว สำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องคำนึงถึงความคาดหวังและความต้องการของ    สังคม ที่การศึกษารับผิดชอบอยู่ด้วย   ในประเด็นนี้  นักการศึกษาคนสำคัญในปัจจุบันคนหนึ่ง คือ  Stephen R. Covey (2008: 23-31)  ได้กล่าวถึงความคาดหวังหรือ  “ศักยภาพ”  ในตัวผู้เรียนของผู้ปกครองและผู้นำทางเศรษฐกิจไว้ในหนังสือ  “The leader in  me”  โดยเฉพาะกลุ่มแรกคือ   ผู้ปกครองนั้น  Covey เห็นว่า  การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของระบบเศรษฐกิจและวิถีชีวิตแบบใหม่  เป็นสาเหตุให้ผู้ปกครองโดยเฉพาะอย่างยิ่งในทวีปเอเชีย  หันมาพิจารณาการศึกษาของบุตรหลาน   มากยิ่งขึ้น  ด้วยการเรียกร้องให้จัดการศึกษาเพื่อเน้นศักยภาพ  4  ด้านที่สำคัญ  ซึ่งเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตในสังคมใหม่  ประกอบด้วย

             1.  เทคโนโลยี  (technology)  ผู้ปกครองต้องการให้บุตรหลานมีทักษะและความชำนาญในการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย

              2.  ทักษะโลก  (global  skills)  ผู้ปกครองเห็นว่า  บุตรหลานควรได้รับการเตรียมความพร้อมในการเผชิญสังคมและโลกที่มีความเปลี่ยนแปลงและซับซ้อนขึ้น อาทิ  วิธีการสื่อสารและการปฏิบัติงานร่วมกับผู้อื่น  ซึ่งอาจมีภูมิหลังและประสบการณ์แตกต่างกัน

              3.  ทักษะการวิเคราะห์และทักษะชีวิต  (analytical  and  life  skills)  ผู้ปกครองต้องการให้ผู้เรียนมีศักยภาพมากกว่าการมีเพียงความรู้เกี่ยวกับสิ่งต่างๆ  กล่าวคือ  ผู้เรียนควรจะมีทักษะการคิดวิเคราะห์  การคิดสร้างสรรค์และการทำงานเป็นทีม

              4.  ค่านิยมเอเชีย (asia  values)  ผู้ปกครองเอเชียกังวลต่อความเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็ว  จึงประสงค์จะให้บุตรหลานได้รับการปลูกฝังค่านิยมเพื่อมิให้ลืมรากฐานของบ้านเกิด        ซึ่งกำลังอ่อนแอเนื่องมาจากความซับซ้อนของโลก  ค่านิยมนี้ฝังแน่นอยู่ในวัฒนธรรมและประเพณีเอเชียที่สืบทอดมาอย่างยาวนาว  เช่น  ความซื่อสัตย์  ความเคารพนับถือกันและกัน และความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดของสมาชิกในครอบครัว

               การให้ความสำคัญกับการพัฒนาความสามารถในการคิด  และการแก้ปัญหาของผู้เรียนไทย  ยังเห็นได้จากแนวคิดของ  สิปปนนท์  เกตุทัต  นักการศึกษาคนสำคัญของไทย  ซึ่งเป็นประธานของคณะศึกษาข้างต้น  ที่ได้กล่าวถึงเป้าหมายการปฏิรูปการเรียนรู้ไว้ว่า มุ่งให้คนไทยคิดเป็น  คิดชอบ  แก้ปัญหาเป็น  แก้ปัญหาชอบ  ทำเป็น  ทำชอบ  และทำให้กระบวนการศึกษาเป็นการพัฒนาคนอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงชีวิต  นับแต่การวางรากฐานพัฒนาการของชีวิต  การพัฒนาความรู้และทักษะพื้นฐาน  การเสริมสร้างสมรรถนะของคนไทยให้สามารถก้าวทันโลก  และการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่เกิดขึ้นนอกสถานศึกษา  (สิปปนนท์  เกตุทัต, 2539 อ้างถึงใน  เสรี  พงศ์พิศ, 2549: 112)  ด้วยเหตุนี้หากประมวลความมุ่งหมายในการจัดการศึกษา  สำหรับการก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่  21 ก็อาจสรุปได้ว่า น่าจะมุ่งเน้นไปที่ 4 เก่ง” คือ  เก่งสื่อสาร  เก่งคิด  เก่งคน และเก่งชีวิต


บทสรุป

                การก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่  21  นั้น ผู้เรียนในปัจจุบันได้ปฏิบัติไปแล้วเป็นส่วนมาก ที่ยังต้องพัฒนาก็คือ ระบบการศึกษา  ที่จะขยับขับเคลื่อนไปทางใดก็ยังคงลำบาก จึงเป็นเหตุให้การศึกษาก้าวไม่ทันผู้เรียน  หากจะก้าวนำผู้เรียนให้ได้ การศึกษาก็คงจะต้องต้องใช้พลังทั้งหมด ความเห็นร่วมทั้งหมด และสังคมทั้งหมดมากำหนดเป้าหมายของศตวรรษที่ 21 เสียใหม่  ด้วยการรู้เท่ากันว่าผู้เรียนยุคใหม่เรียนรู้ด้วยวิธีการใด สนใจในสิ่งไหนและมีวิธีมองโลกและชีวิตอย่างไร และนำพื้นฐานนี้มาปรับการศึกษาให้สอดคล้องกับเป้าหมายใหม่แห่งอนาคต ที่มิได้มุ่งเน้นแต่วิชาการที่ไร้ความหมาย แต่เป็นทักษะการใช้ชีวิตอย่างมีปัญญา คือ เก่งสื่อสาร เก่งคิด เก่งคน และเก่งชีวิต  

 

คำสำคัญ (Tags): #ศตวรรษที่ 21
หมายเลขบันทึก: 496794เขียนเมื่อ 31 กรกฎาคม 2012 21:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 กรกฎาคม 2012 21:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท