ก้าวสู่ศตวรรษที่ 21: เส้นชัยที่การศึกษาไทยยังไปไม่ถึง?


ผู้เรียนที่ก้าวหน้าไปกว่าการศึกษา

ก้าวสู่ศตวรรษที่ 21: เส้นชัยที่การศึกษาไทยยังไปไม่ถึง?*

 

 

เฉลิมลาภ  ทองอาจ

โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ฝ่ายมัธยม

คณะครุศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


บทนำ

          ศตวรรษที่  21  ที่มนุษยชาติกำลังรอคอยและเตรียมตัวเพื่อก้าวไปถึงนั้น  ถือได้ว่าเป็นศตวรรษแห่งการหลอมรวมวัฒนธรรม  ประชาคมโลกจะสร้างความร่วมมือในทุกระดับภูมิภาคเพื่อขยายฐานอำนาจและเพิ่มพลังการต่อรองระหว่างกัน  การขับเคลื่อนทุกหน่วยสังคมจะมุ่งสู่ความเป็นหนึ่งเดียว  วัฒนธรรมที่แตกต่างจะใกล้ชิด  ความขัดแย้งจะได้รับการทบทวนแก้ไข  ค่านิยมเก่าจะถูกล้มล้างแล้วครอบงำด้วยค่านิยมใหม่  และการศึกษาแบบดั้งเดิมย่อมถูกเปรียบเทียบและวิพากษ์โดยนวัตกรรมทางการศึกษา  ก็เมื่อโลกกำลังจะก้าวสู่ความเป็นหนึ่งเดียว และวัฒนธรรมเดียวเช่นนี้ รูปแบบและวิธีการจัดการศึกษาแบบ  “ไทยเดิม” ก็ยากที่จะดำเนินต่อไปได้ 

 

เมื่ออนาคตมาปรากฏท้าทาย


          การศึกษาเมื่อครั้งอดีตแตกต่างจากปัจจุบันฉันใด การศึกษาในอนาคตก็ย่อมต่างจากปัจจุบัน  ฉันนั้น  คำถามที่สำคัญต่อมาคือ  แล้วการศึกษาในอนาคตนั้นคืออย่างไร

 

          แม้ในขณะนี้จะยังไม่มีภาพที่ชัดเจนเกี่ยวกับการศึกษาในอนาคต แต่ก็พอที่จะอาศัยสภาพความเป็นจริงในปัจจุบันทำนายได้ว่า การศึกษาในอนาคตจะเป็นการศึกษาที่ไร้ขีดจำกัดในด้านของเป้าหมายในการเรียน  เนื้อหา วิธีการเรียนรวมทั้งวิธีการประเมิน สำหรับในสังคมเมือง  สถาบันการศึกษาในระบบอาจจะมีบทบาทน้อยลง ในขณะที่สถาบันการศึกษาตามอัธยาศัยและแหล่งเรียนรู้ออนไลน์จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น  ทำให้โอกาสในการเรียนรู้มีมากเกินคณานับ         และแน่นอนว่า  จากเดิมที่ครูเป็นผู้บอกความรู้   สำหรับในศตวรรษใหม่  ครูก็อาจจะถูกบังคับให้เปลี่ยนมาเป็นผู้กำกับและช่วยเหลือให้ผู้เรียนเป็นผู้แสวงหาและสร้างความรู้ขึ้นเอง 

 

          เหตุผลประการหนึ่ง ที่ทำให้การศึกษาในศตวรรษที่ 20 ต้องขยับขยายและปรับตัวอย่างรวดเร็วเช่นนี้  ก็อาจจะเป็นเพราะเยาวชนปัจจุบัน มีโลกทัศน์และชีวทัศน์ที่เปลี่ยนแปลงไปมาก   นักการศึกษาและผู้เกี่ยวข้องคงจะต้องยอมรับความจริงประการหนึ่งว่า  เยาวชนที่เป็นผู้เรียนในปัจจุบันมิใช่ผู้เรียนที่เราเคยรู้จักหรือที่  “เราเคยเป็น” อีกต่อไปแล้ว  การกล่าวเช่นนี้มิได้หมายความว่า  ผู้เรียนปัจจุบันมีระดับสติปัญญาลดลงหรือสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเมื่ออดีต  แต่ต้องการจะแสดงให้เห็นว่า  ผู้เรียนปัจจุบันมีความคิด ความเชื่อและค่านิยม  ที่หล่อหลอมขึ้นจากกระแสโลกาภิวัตน์และสังคมทุน  ในช่วงรอยต่อแห่งการก้าวสู่ศตวรรษที่  21   ซึ่งโน้มน้าวให้ผู้เรียนของเรายอมรับ  “ความเป็นวัฒนธรรมเดียว”    กับผู้เรียนในสังคมอื่นๆ  ทั่วโลก  จึงไม่น่าแปลกใจว่า  เหตุใดผู้เรียนไทยกับผู้เรียนในประเทศอื่นๆ  จึงมีความคิดและพฤติกรรมคล้ายกัน  กล่าวคือ  นิยมการรับและเสพข้อมูลดิจิตอล  สนใจสร้างกลุ่มที่มีความคิดแปลกแยก  เพื่อแสดงอัตลักษณ์และดึงดูความสนใจจากสังคม  มุ่งแสดงออกถึงตัวตนที่แท้จริงในชุมชนสังคมออนไลน์  รักในความรวดเร็วของข้อมูล  นิยมและหลงใหลในสื่อเสมือนจริงมากกว่าธรรมชาติ  ที่สำคัญคือ  มีค่านิยมในความเป็น “ส่วนตัว”  มากกว่าความเป็นกลุ่มชุมชนและสังคม

 

          ประเวศ  วะสี  (2543: 76-77)  เขียนไว้ในบทความที่ชื่อว่า  “แนวคิดเกี่ยวกับระบบพัฒนาการเรียนรู้” ซึ่งสามารถอธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าวสรุปได้ว่า  โลกสมัยใหม่ต่างจากโลกสมัยเก่า          โลกสมัยเก่าประกอบด้วยสังคมเล็กๆ  ที่แยกกันอยู่  ใครทำอะไรก็ได้รับผลการกระทำของตนโดยตรง  การกระทำที่อื่นไม่มีผลกระทบจึงถือเป็นโลกเล็ก (micro-world)  แต่โลกปัจจุบัน  เชื่อมโยงกันด้วยการติดต่อสื่อสาร  การค้า  การเงิน  ถือว่าเป็นโลกที่ใหญ่  (macro-world) มีความซับซ้อนหลายมิติและเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว  จากแนวคิดดังกล่าวนี้  ผู้เรียนของเราจึงคิดและปฏิบัติในสิ่งที่อาจจะเรียกได้ว่า  “ขัดแย้ง”  กับสิ่งที่ครูแบบดั้งเดิมยึดมั่น   ไม่น่าแปลกใจว่า  ผู้เรียนที่เชื่อในวัฒนธรรมดิจิตอลอันรวดเร็ว  จึงปฏิเสธและกล่าวหาวรรณคดีไทยว่าดำเนินเรื่องอย่างเชื่องช้า  ผู้เรียนที่ชื่นชอบในสื่อเสมือนจริง  จึงปฏิเสธหน้ากระดาษหนังสือประวัติศาสตร์ที่ขาดชีวิตชีวาและดูไร้รสนิยม  และผู้เรียนที่ชื่นชมกับเทคโนโลยีที่ทันสมัย  ความเป็นปัจจุบันและสิ่งที่เป็นประโยชน์เฉพาะปัจจุบัน  จึงไม่เห็นความสำคัญของการเรียนประวัติพุทธสาวก ประวัติศาสตร์  เนื้อเยื่อพืช  โครงสร้างอะตอม ไวยากรณ์ไทย อสมการ  ฯลฯ  เพราะสาระเหล่านี้  พวกเขาแทบจะมิได้ใช้ในชีวิตประจำวัน  พฤติกรรมของผู้เรียนเช่นที่กล่าวมานี้  จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องคิดนอกกรอบ ว่าที่เป็นเช่นนี้  หาได้เป็นความผิดของพวกเขาแต่อย่างใดไม่  แต่เพราะการสร้างสังคมทุนนิยมที่นำโดยผู้ใหญ่ ได้ปลูกฝังค่านิยมในการเรียนให้ได้ปริญญาบัตร  ต้องเอาชนะและแก่งแย่งแข่งขันกับผู้อื่นต่างหาก  ที่ทำให้เกิดภาวะการศึกษาที่  “ไร้ความหมาย”  ซึ่งหล่อหลอมให้ผู้เรียนของเราเป็นเช่นนี้ 


เมื่อผู้เรียนไม่ใช่แบบเดิมที่เคยรู้จัก


          คำถามหรือ  “โจทย์การพัฒนา”  ที่นักการศึกษาควรถามตนเองเป็นอันดับแรกคือ  “เรารู้จักผู้เรียนของเรามากน้อยเพียงใด”  การรู้จักผู้เรียนคือการศึกษาประวัติ  การสังเกตพฤติกรรมและความคิดของผู้เรียนเพียงแค่นั้นก็หาไม่  เพราะสิ่งที่สำคัญกว่าคือ  เราจำเป็นต้องเข้าใจภูมิหลังด้านโครงสร้างสังคมและวัฒนธรรม  ที่ขัดเกลาและหล่อหลอมอัตลักษณ์ของผู้เรียนไทยในปัจจุบันขึ้นมาด้วย  McCoog (2008: online) ได้กล่าวถึงลักษณะของผู้เรียนในโลกปัจจุบันสรุปได้ว่าเป็นกลุ่ม  generation y  ซึ่งหมายถึงผู้เรียนที่เกิดระหว่างปี ค.ศ.  1980-1990  และผู้เรียนที่เกิดตั้งแต่ปี ค.ศ. 1990 เป็นต้นมาจัดว่าเป็นกลุ่ม generation z   ผู้เรียนทั้งสองกลุ่มได้รับอิทธิพลจากโครงข่ายอินเทอร์เน็ตหรืออาจจะเรียกได้ว่ามี  “วัฒนธรรมดิจิตอล”  พวกเขามีความสามารถในการใช้เทคโนโลยี  ที่เชื่อมโยงกับโลกภายนอกห้องเรียนในลักษณะที่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และตระหนักว่าตนเองเติบโตขึ้นในโลกที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี  รวมทั้งสามารถใช้เทคโนโลยีเหล่านั้นพัฒนาทักษะต่างๆ  ในการเอื้อประโยชน์และอำนวยความสะดวกให้กับชีวิตของตนเองได้  ด้วยเหตุนี้  ผู้เรียนจึงมีแนวโน้มด้านค่านิยมที่จะปฏิเสธชั้นเรียน  ที่มีลักษณะการจัดการเรียนการสอนด้วยการบรรยายแบบดั้งเดิม  (traditional  lecture-based  classroom)  จากแนวคิดดังกล่าว  ครูจึงต้องปรับเปลี่ยนการจัดการเรียนการสอนของตนเองคือ  หันมาสอนด้วยโดยใช้  “วิธีที่ผู้เรียนเรียนรู้”  (teach  in  the  way  they  learn) และสนับสนุนให้ผู้เรียนใช้ทักษะในศตวรรษที่  21  ที่ผู้เรียนมีอยู่  โดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะด้านเทคโนโลยีและการใช้  e-communication เพื่อนำไปสู่การสร้างความคิดใหม่  ประเมินและวิเคราะห์ปรากฏการณ์ต่างๆ   รวมถึงประยุกต์ใช้ความรู้ในชีวิตประจำวัน  เช่นนี้ ชั้นเรียนแบบเดิมก็จะพลันเปลี่ยนมามีคุณค่าและมีความหมายต่อชีวิตของพวกเขามากยิ่งขึ้น  

 

เมื่อเป้าหมายเปลี่ยนแปลงไป


          นักการศึกษาไม่อาจลืมว่า  นอกจากจะต้องปรับเปลี่ยนการศึกษาให้สอดคล้องกับธรรมชาติของผู้เรียนที่เปลี่ยนไปแล้ว สำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องคำนึงถึงความคาดหวังและความต้องการของ    สังคม ที่การศึกษารับผิดชอบอยู่ด้วย   ในประเด็นนี้  นักการศึกษาคนสำคัญในปัจจุบันคนหนึ่ง คือ  Stephen R. Covey (2008: 23-31)  ได้กล่าวถึงความคาดหวังหรือ  “ศักยภาพ”  ในตัวผู้เรียนของผู้ปกครองและผู้นำทางเศรษฐกิจไว้ในหนังสือ  “The leader in  me”  โดยเฉพาะกลุ่มแรกคือ   ผู้ปกครองนั้น  Covey เห็นว่า  การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของระบบเศรษฐกิจและวิถีชีวิตแบบใหม่  เป็นสาเหตุให้ผู้ปกครองโดยเฉพาะอย่างยิ่งในทวีปเอเชีย  หันมาพิจารณาการศึกษาของบุตรหลาน   มากยิ่งขึ้น  ด้วยการเรียกร้องให้จัดการศึกษาเพื่อเน้นศักยภาพ  4  ด้านที่สำคัญ  ซึ่งเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตในสังคมใหม่  ประกอบด้วย

 

                   1.  เทคโนโลยี  (technology)  ผู้ปกครองต้องการให้บุตรหลานมีทักษะและความชำนาญในการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย

 

                   2.  ทักษะโลก  (global  skills)  ผู้ปกครองเห็นว่า  บุตรหลานควรได้รับการเตรียมความพร้อมในการเผชิญสังคมและโลกที่มีความเปลี่ยนแปลงและซับซ้อนขึ้น อาทิ  วิธีการสื่อสารและการปฏิบัติงานร่วมกับผู้อื่น  ซึ่งอาจมีภูมิหลังและประสบการณ์แตกต่างกัน

 

                   3.  ทักษะการวิเคราะห์และทักษะชีวิต  (analytical  and  life  skills)  ผู้ปกครองต้องการให้ผู้เรียนมีศักยภาพมากกว่าการมีเพียงความรู้เกี่ยวกับสิ่งต่างๆ  กล่าวคือ  ผู้เรียนควรจะมีทักษะการคิดวิเคราะห์  การคิดสร้างสรรค์และการทำงานเป็นทีม

 

                   4.  ค่านิยมเอเชีย (asia  values)  ผู้ปกครองเอเชียกังวลต่อความเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็ว  จึงประสงค์จะให้บุตรหลานได้รับการปลูกฝังค่านิยมเพื่อมิให้ลืมรากฐานของบ้านเกิด        ซึ่งกำลังอ่อนแอเนื่องมาจากความซับซ้อนของโลก  ค่านิยมนี้ฝังแน่นอยู่ในวัฒนธรรมและประเพณีเอเชียที่สืบทอดมาอย่างยาวนาว  เช่น  ความซื่อสัตย์  ความเคารพนับถือกันและกัน และความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดของสมาชิกในครอบครัว

 

          นอกจากนี้  Covey (2008: 26) ยังได้กล่าวถึงผลการสำรวจเกี่ยวกับทัศนคติต่อการศึกษาของชาวอเมริกา  ของ the partnership  for  21st  century skills  ซึ่งได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนสหรัฐอเมริกาในช่วงเดือนกันยายน  ค.ศ. 2007  โดยให้ผู้ตอบแบบสอบถามกรอกคะแนนความสำคัญของความสามารถที่ผู้เรียนพึงมี  ตั้งแต่ 0-10 คะแนน  ผลการสำรวจแสดงในตารางที่  1  ต่อไปนี้ 

 

ตารางที่  1    ทัศนคติที่ผู้ใหญ่มีต่อการศึกษา (adult  attitudes  on  education)

 

ความสามารถที่ผู้เรียนพึงมี

ร้อยละของ

ผู้ให้คะแนน 9-10 คะแนน

1.  การอ่านเพื่อความเข้าใจ

75

2.  ทักษะด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยี

71

3.  ทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณและ          

     การแก้ปัญหา

69

4.  คุณธรรมและความรับผิดชอบต่อสังคม

62

5.  การเขียนสื่อสาร

58

6.  การทำงานกลุ่มและการร่วมมือ

57

7.  การพูดสื่อสาร

56

8.  การเรียนรู้ตลอดชีวิตและการนำตนเอง

50

9.  คณิตศาสตร์

48

10.  ภาวะผู้นำ

44

11.  ความคิดสร้างสรรค์และการสร้างนวัตกรรม

43

12.  ความรู้เรื่องสื่อ 

42

13.  การตระหนักในโลก

42

14.  วิทยาศาสตร์  (ชีววิทยา  เคมีและฟิสิกส์)

38

 

          ผลการสำรวจข้างต้นย่อมแสดงให้เห็นว่า  ทักษะด้านภาษา  (การอ่าน การเขียนและการพูด) ทักษะด้านการคิดและทักษะด้านสังคม  เป็นทักษะที่ผู้ปกครองในสหรัฐอเมริกาให้ความสำคัญมากกว่าความรู้ด้านวิชาการ  ข้อมูลเกี่ยวกับความคาดหวังของสังคมที่มีต่อผู้เรียนดังกล่าว  มิใช่เป็นแต่เพียงเป็นความต้องการของสังคมตะวันตกเท่านั้น  หากแต่ยังเป็นเป้าหมายของการศึกษาในสังคมไทยอีกด้วย  ดังจะเห็นได้จากก่อนการปฏิรูปการศึกษาครั้งแรก  มีการก่อตั้งคณะศึกษาโครงการ  “การศึกษาไทยในยุคโลกาภิวัตน์”  ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิหลายสาขา  ที่ได้รวบรวมข้อมูลทั้งจากกรณีศึกษา  ข้อมูลจากสื่อมวลชนและเครือข่ายปฏิรูปการศึกษาแล้วสรุปว่า  การจัดกระบวนการเรียนรู้ที่ดี  ควรสร้างและปลูกฝังความสามารถ  4 ประการให้กับผู้เรียนไทย ได้แก่  1)  ความสามารถใน   การคิด  การใช้เหตุผลและการแก้ปัญหา  2)  ความใฝ่รู้  ใฝ่เรียน  3)  การรู้จักทำงานเป็นหมู่คณะ  รู้จักช่วยเหลือกัน  และ  4)  มีทัศนคติที่ดีต่อตนเอง  ครอบครัวและชุมชน  (อมรวิชช์  นาครทรรพ, 2541: 47-48)

 

          การให้ความสำคัญกับการพัฒนาความสามารถในการคิด  และการแก้ปัญหาของผู้เรียนไทย  ยังเห็นได้จากแนวคิดของ  สิปปนนท์  เกตุทัต  นักการศึกษาคนสำคัญของไทย  ซึ่งเป็นประธานของคณะศึกษาข้างต้น  ที่ได้กล่าวถึงเป้าหมายการปฏิรูปการเรียนรู้ไว้ว่า มุ่งให้คนไทยคิดเป็น  คิดชอบ  แก้ปัญหาเป็น  แก้ปัญหาชอบ  ทำเป็น  ทำชอบ  และทำให้กระบวนการศึกษาเป็นการพัฒนาคนอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงชีวิต  นับแต่การวางรากฐานพัฒนาการของชีวิต  การพัฒนาความรู้และทักษะพื้นฐาน  การเสริมสร้างสมรรถนะของคนไทยให้สามารถก้าวทันโลก  และการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่เกิดขึ้นนอกสถานศึกษา  (สิปปนนท์  เกตุทัต, 2539 อ้างถึงใน  เสรี  พงศ์พิศ, 2549: 112)  ด้วยเหตุนี้หากประมวลความมุ่งหมายในการจัดการศึกษา  สำหรับการก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่  21 ก็อาจสรุปได้ว่า น่าจะมุ่งเน้นไปที่ 4 เก่ง” คือ  เก่งสื่อสาร  เก่งคิด  เก่งคน และเก่งชีวิต  ดังนั้น  พันธกิจการจัดการศึกษาเพื่อก้าวสู่ศตวรรษที่  21 จึงน่าจะมีลักษณะดังแสดงในตารางที่  2  ดังนี้ 

 

 

ตารางที่  2  พันธกิจการจัดการศึกษาที่เหมาะสมกับสภาพสังคมในศตวรรษที่ 21

 

เป้าหมาย

พันธกิจการศึกษา

1.  เก่งสื่อสาร

      จัดการศึกษาที่เน้นให้ผู้เรียนใช้ทักษะการอ่านและการฟังเป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้ และใช้ทักษะการพูดและการเขียน เป็นเครื่องมือในการนำเสนอความรู้และนวัตกรรมที่สร้างขึ้น 

2.  เก่งคิด

      จัดการศึกษาที่ประกอบด้วยกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นให้ผู้เรียนเชื่อมโยงประสบการณ์ใหม่กับความรู้เดิม  มุ่งสร้าง  พัฒนาหรือปรับเปลี่ยนมโนทัศน์  รวมทั้งเน้นกิจกรรมการแก้ปัญหา  การใช้ความคิดอย่างมีวิจารณญาณ  การตัดสินใจและการสร้างองค์ความรู้ใหม่ ที่นอกกรอบและเป็นอิสระ 

3.  เก่งคน

       จัดการศึกษาที่เน้นให้ผู้เรียนปฏิบัติกิจกรรมที่สร้างปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่นๆ ในโรงเรียน  สังคมและชุมชน   เน้นการบริการและบูรณะสังคมที่ตนเองดำรงอยู่  ตลอดจนนำเทคนิคต่างๆ ในการสื่อสารมาใช้เพื่อพัฒนาตนเองให้สามารถอยู่กับผู้อื่นในสังคมได้อย่างเป็นสุข เช่น เทคนิคการสนทนา  เทคนิคการฟัง เทคนิคการเจรจาหรือเพื่อลดความขัดแย้ง เป็นต้น

4.  เก่งชีวิต

       จัดการศึกษาที่สนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้เรียนเป็นผู้กำหนดเป้าหมาย สร้างทางเลือก ตัดสินใจ ปรับเปลี่ยนและควบคุมกระบวนการเรียนรู้ต่างๆ ด้วยตนเองให้ได้มากที่สุด  รวมทั้งมีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม     รู้ว่าสิ่งใดคือสิ่งที่มีความหมายต่อตนเอง  รู้ว่าความเห็นใดถูกต้อง สิ่งใดเป็นปัญหา และมีปัญญาพิจารณาได้ด้วยว่าจะแก้ไขปัญหานั้นได้หลักเหตุผลและปัญญาอย่างไร  

 

 

 บทสรุป

          การก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21  นั้น ผู้เรียนของเราในปัจจุบันได้ปฏิบัติไปแล้วเป็นส่วนมาก ที่ยังรั้งท้ายอยู่ก็คือระบบการศึกษา  ที่จะขยับขับเคลื่อนไปทางใดก็ยังคงลำบาก จึงเป็นเหตุให้การศึกษาก้าวไม่ทันผู้เรียน  หากจะก้าวนำผู้เรียนให้ได้ การศึกษาก็คงจะต้องต้องใช้พลังทั้งหมด ความเห็นร่วมทั้งหมด และสังคมทั้งหมดมากำหนดเป้าหมายของศตวรรษที่ 21 เสียใหม่  ด้วยการรู้เท่ากันว่าผู้เรียนยุคใหม่เรียนรู้ด้วยวิธีการใด สนใจในสิ่งไหนและมีวิธีมองโลกและชีวิตอย่างไร และนำพื้นฐานนี้มาปรับการศึกษาให้สอดคล้องกับเป้าหมายใหม่แห่งอนาคต ที่มิได้มุ่งเน้นแต่วิชาการที่ไร้ความหมาย แต่เป็นทักษะการใช้ชีวิตอย่างมีปัญญา คือ เก่งสื่อสาร เก่งคิด เก่งคน และเก่งชีวิต  หากคิดนอกกรอบได้เช่นนี้ ก็ยังคงหวังได้ว่า ณ ดินแดนแรกที่อรุณรุ่งของศตวรรษใหม่ปรากฏขึ้น จะยังคงมีการศึกษาไทยและ    คนไทยที่ก้าวไปถึง และหยัดยืนรอรับแสงอันสดใสนั้นได้อย่างแน่แท้    

__________________________________________________

 

รายการอ้างอิง

ประเวศ  วะสี.  2543.  แนวคิดเกี่ยวกับระบบพัฒนาการเรียนรู้. ใน ไพฑูรย์  สินลารัตน์     (บรรณาธิการ). ปฏิรูปการศึกษา: แนวคิดและหลักการตามพระราชบัญญัติการศึกษา            แห่งชาติ พ.ศ. 2542. หน้า 75-83.กรุงเทพฯ: วิญญูชน.

เสรี  พงศ์พิศ.  2549.  อนาคตเริ่มตั้งแต่วันวาน.  กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์.

อมรวิชช์  นาครทรรพ.  2541.  ความจริงของแผ่นดิน.  กรุงเทพฯ: เจ. ฟิล์ม โปรเซส.

Covey, S. R. 2008.  The  leader  in  me.  London: Simon& Schuster.

 

* บทความนี้ ตีพิมพ์ใน

เฉลิมลาภ ทองอาจ.  2555.  ก้าวสู่ศตวรรษที่ 21: เส้นชัยที่การศึกษาไทยยังไปไม่ถึง.วารสารครุศาสตร์ 40 (กรกฎาคม-ตุลาคม): 261-267.
 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 496427เขียนเมื่อ 29 กรกฎาคม 2012 22:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 ธันวาคม 2012 10:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เก่งชีวิต ตรงนี้อยากนะคะ

เก่งสื่อสาร ==> พ่ฒนาได้

เก่งคน ==> พัฒนาได้

เด่งคิด ==> พ้ฒนาได้

แต่เก่งชีวิต....อยากจังเลยนะคะ

ขอบคุณสำหรับบทความดีดีนี้นะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท