ตอนที่ ๒


พ่อดี : ที่ลูกบอกว่าทันสมัย ศิวิไลซ์ ทุกอย่างดีกว่าหมู่บ้านเรา วิถีชีวิตของประชาชนคงมีความสุข และเพื่อนของลูกอยากให้หมู่บ้านเราเป็นแบบนั้นด้วย

ลูกชาย : ใช่ครับพ่อ

พ่อดี : บางครั้งสิ่งที่ลูกได้รับฟังจากการที่เพื่อนลูกไปสัมผัสหรือเห็นในอินเตอร์เน็ตและจากสื่อต่าง ๆ หรืออาจจะรับรู้จากข้อมูลจากการบอกเล่าของคนอื่น ๆ ที่รู้จัก มันเป็นเพียงเปลือกนอกเปรียบเสมือนภาพมายา จริง ๆ แล้วถ้าย้อนกลับไปเมื่อประมาณซักกว่า ๕๐ ปีที่ผ่านมา ในละแวกนี้หมู่บ้านของเราถือได้ว่ามีความเจริญก้าวหน้าในระดับหัวแถวถ้าเทียบกับหมู่บ้านรอบ ๆ ของเรานี้

ลูกชาย : ผมเคยอ่านในประวัติศาสตร์เหมือนกันครับ แต่อ่านผ่าน ๆ ตอนทำข้อสอบเท่านั้นเองครับ

พ่อดี : การที่เราจะสรุป วิเคราะห์ หรือตัดสินอะไร บางครั้งต้องศึกษาลึกลงไปในรายละเอียดเพื่อให้รู้ถึงแก่นแท้ของเรื่องนั้น ๆ เปรียบเสมือนการที่เรารู้จักใครสักคนถ้าเราอยากรู้จักเขาให้ลึกลงไป เราก็ต้องมองเข้าไปถึงแนวความคิด การกระทำ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน โดยเฉพาะการกระทำของเขาจะสะท้อนถึงแก่นความคิดของตัวเขาเอง อย่างสมมติว่าลูกคบกับผู้หญิงคนหนึ่งลูกอยากจะรู้อะไรเกี่ยวกับเขาบ้างหละ

ลูกชาย : ก็คงจะทุก ๆ อย่างที่สามารถจะรู้ได้เหมือนคนอื่นทั่วไปครับ แต่จริง ๆ แล้วสำหรับผมให้ความสำคัญกับปัจจุบันที่คบกันอยู่มากกว่าครับ ส่วนอดีตก็ให้ความสำคัญแต่น้อยกว่าครับ                                                                    

พ่อดี : นั่นแสดงถึงจิตใจของลูกที่งดงามที่พร้อมจะให้โอกาสคนอื่นเสมอ                                                                                                          

ลูกชาย : แต่ก็ไม่ใช่เป็นการให้โอกาสตลอดไปนะครับพ่อ มันต้องมีเงื่อนไขอีกหลาย ๆ อย่างประกอบเหมือนกัน

พ่อดี : การให้โอกาสคนอื่นเป็นสิ่งที่ประเสริฐแล้วลูก แต่ก็อย่างที่ลูกพูดนั่นแหละ การให้โอกาสต้องมีขอบเขตและเงื่อนไขอื่น ๆ ประกอบ สังคมหมู่บ้านเราเป็นสังคมที่เรียกได้ว่าให้โอกาสกับคนมากที่สุดเลยก็ว่าได้ เพราะอะไรทราบไหมลูก

ลูกชาย : เพราะอะไรหรือครับพ่อ

พ่อดี : เพราะว่าวัฒนธรรมของสังคมหมู่บ้านเราที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ เป็นสังคมที่แสดงออกถึงความเอื้ออาทร เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยมีองค์ประกอบ ๓ สิ่งนี้ คือ คำว่า “ขอโทษ”  “ขอบคุณ (ขอบใจ)” และ “การให้อภัย” แต่ทั้ง ๓ สิ่งนี้จะไม่มีความหมายเลยถ้าผู้ปฏิบัติไม่ให้ความศักดิ์สิทธิ์ และเคารพในการกระทำของตัวเอง

ลูกชาย : ศักดิ์สิทธิ์และเคารพ?

พ่อดี : คือ เวลาพูดหรือกระทำพฤติกรรมออกมาต้องให้ความเคารพกับการกระทำ สมมติ ถ้าทำผิดแล้วยกมือไหว้พร้อมกับกล่าวคำ ขอโทษ และย้ำว่าต่อไปจะไม่ทำอีกแล้วถือเป็นการให้ความเคารพต่อคำพูดและการกระทำของตัวเอง ถ้าทำได้ดังกล่าวแล้วคำพูดและการกระทำนั้นก็จะศักดิ์สิทธิ์ในตัวมันเอง

ลูกชาย : หมายถึง เวลาที่พูดอะไรต่อไปคนก็จะเชื่อมั่นและให้โอกาสใช่ไหมครับ

พ่อดี : ใช่ลูก แต่ถ้าใช้พร่ำเพรื่อ ใช้ประจำ เหมือนกับทำผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าก็ไม่ไหวเหมือนกัน เรื่องอย่างนี้ก็ขึ้นอยู่กับจิตใจเป็นสำคัญว่ามีความสำนึกมากแค่ไหน

ลูกชาย : การอ่านจิตใจของคนเป็นสิ่งที่ยากที่สุดเลยนะครับ เปรียบได้กับที่มีคนกล่าวว่า จิตใจคนยากแท้เกินหยั่งถึง เลยนะครับพ่อ

พ่อดี : อย่างที่พ่อเคยบอกนั่นแหละลูก ก็ค่อย ๆ ศึกษาดูแนวความคิด และพฤติกรรมทั้งในอดีต ปัจจุบันและในอนาคตอันใกล้ว่าเขาจะลงมือทำอะไร เราอาจจะต่อภาพของคนๆ นั้นออกมาเป็นรูปเป็นร่างได้ ซึ่งมันก็จะสะท้อนถึงตัวตนที่แท้จริงของคน ๆ นั้น แต่โดยทั่วไปแล้วมีคนเคยกล่าวไว้ว่า “การดูนิสัยใจคอที่แท้จริงของคน ๆ หนึ่งให้ดูตอนที่เขามีอำนาจ”

ลูกชาย : คนที่มีอำนาจมักจะแสดงตัวตนที่แท้จริงออกมาอย่างนั้นหรือครับ

พ่อดี : ส่วนมากเป็นอย่างนั้น คนส่วนมากที่มีอำนาจแล้วมักจะแสดงพฤติกรรมที่สะท้อนออกมาจากตัวตนที่แท้จริงของเขา เพราะถือว่าทุก ๆ อย่างที่เขากระทำลงไปสามารถควบคุมสถานการณ์ได้เพราะมีอำนาจอยู่ในมือ อำนาจโดยนัยสำคัญของมันเองแล้วเป็นสิ่งที่ดี แต่ทั้งนี้ ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับการได้มาของอำนาจ และการใช้ไปของอำนาจว่าถูกต้องและมีคุณธรรมหรือไม่

ลูกชาย : ส่วนมากที่ผมเห็นคนเมื่อมีอำนาจแล้วมักจะบ้าอำนาจทั้งนั้น

พ่อดี : จริง ๆ แล้วคนเราเกิดมาพร้อมกับความไม่รู้ แต่สามารถเป็นผู้รู้ได้จากการเรียนรู้ การสั่งสมประสบการณ์ ดังนั้นคนเราเมื่อเป็นผู้นำหรือผู้ที่มีอำนาจก็ควรที่จะเรียนรู้การใช้อำนาจให้ถูกต้อง และที่สำคัญต้องมีคุณธรรมควบคู่ไปกับการใช้อำนาจด้วย

ลูกชาย : แล้วถ้าหากการใช้อำนาจนั้นถูกต้องตามหลักกฎหมายของหมู่บ้าน หรือหลักสากล แต่อาจจะขัดกับศีลธรรมหละครับ

พ่อดี : นี่หละคือปัญหาที่ทำให้สังคมหมู่บ้าน และสังคมที่อื่น ๆ เกิดปัญหาโดยมองความชอบธรรมของการใช้อำนาจตามตัวบทกฎหมายของหมูบ้าน แต่ขาดจิตสามัญสำนึกในการใช้อำนาจควบคู่ไปกับคุณธรรม ที่จริงแล้ว กฎหมายไม่ใช่ความยุติธรรม หากแต่เป็นเพียงเครื่องมือซึ่งนำไปสู่ความยุติธรรมเท่านั้น ในเมื่อเครื่องมือมันไม่ถูกต้องขัดต่อหลักคุณธรรม ศีลธรรมจารีตประเพณีอันงามก็ควรที่จะแก้ไขที่เครื่องมือให้มันถูกต้องและให้สอดคล้องกัน ดังนั้นการที่จะใช้เครื่องมือนี้ต้องดูองค์ประกอบหลาย ๆ มิติ ทั้งมิติทางด้านตัวกฎหมายเอง มิติด้านศีลธรรม จริยธรรม รวมถึงจารีตประเพณี ถ้าเรามองถึงองค์รวมอย่างนี้แล้วก็จะก่อให้เกิดความชอบธรรมในการใช้อำนาจมากขึ้น

ลูกชาย : แต่บางครั้งผมเห็นความชอบธรรมก็ถูกสร้างขึ้นโดยกลุ่มที่มีอำนาจนี่ครับ

พ่อดี : ใช่ลูก แต่อำนาจโดยชอบธรรมที่ถูกสร้างขึ้นมาด้วยการบิดเบือนข้อเท็จจริง หรือว่าไม่มีคุณธรรม ท้ายที่สุดแล้วก็จะพังทลาย ไม่เหมือนกับอำนาจโดยชอบธรรมที่ได้มาด้วยคุณธรรมจะเกิดความศรัทธาในหมู่ประชาชนมากกว่า ท้ายที่สุดแล้วจะยั่งยืนกว่า และเครื่องมือของการใช้อำนาจเพื่อให้เกิดความชอบธรรมก็มีแตกต่างกันตามแต่ละช่วงเวลา เหมือนกับหมู่บ้านที่มีอำนาจมากกว่าย่อมได้เปรียบหมูบ้านที่มีอำนาจน้อยกว่า

 

*******************************************************************

 

 

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #พ่อ#ลูกชาย
หมายเลขบันทึก: 496352เขียนเมื่อ 29 กรกฎาคม 2012 08:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 กรกฎาคม 2012 17:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

การสนทนาระหว่าง พ่อ- ลูก ได้สอนข้อคิดในการคิด มากมาย  

ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท