ผมทำวิจัยได้ด้วยหรือ?


พี่สนั่นบอกผมว่าวิจัยเป็นเรื่องของคนเรียนหนังสือ ครูบาอาจารย์ หรือพวกนักวิชาการ

 

 

 

     พี่สนั่น หรือ ดต.สนั่น เลื่อนแป้น ที่ผมเขียนถึงหลาย ๆ บันทึกแล้วก่อนหน้า ท่านมีความรู้เกี่ยวกับของใช้บรรพบุรุษ มากมาย ด้วยการสะสม รวมถึงเสาะสืบเรื่องราวความเป็นมา ภูมิปัญญาที่ซ่อนเอาไว้ในอุปกรณ์เครื่องใช้ในแต่ละชนิด ท่านชอบเล่าให้ผมฟังเสมอ เมื่อไปนอนด้วยที่นั่น

     ผมพูดว่าหากท่านจะเขียนเรื่องราวของสิ่งเหล่านี้ที่ท่านรวบรวมมาได้ ไว้ด้วยก็จะเป็นประโยชน์มาก พร้อม ๆ กับถ่ายรูปไว้เพื่อประกอบกับเรื่องราวเหล่านั้น เขียนสะสมไว้ทีละเรื่อง เรื่อย ๆ ไม่ต้องรีบร้อนอะไร ผมรับอาสาจะนำไปช่วยพิมพ์ให้ หรืออาจจะออกค่าจ้างพิมพ์ให้เองก็ได้ หากทำเองไม่ทัน

     ท่านย้อนกลับถามผมว่าทำเหมือนทำวิจัยใช่ไหม แล้วผมทำได้ด้วยเหรอ ทำให้ผมอึ้งไปนิดนึง ก่อนจะตอบท่านไปว่างานวิจัยใคร ๆ ทำก็ได้ ทำไปเรียนรู้ไป ผมอ้างถึงว่าเดี่ยวนี้ชาวบ้านทำวิจัยออกมาเยอะไปหมด มีหน่วยงานหลายแห่งให้การสนับสนุนด้วย แต่ของเราไม่ต้องเรียกอย่างนั้นก็ได้ ทำไปเรียนรู้ไปได้ อีกอย่างเดี่ยวนี้ไม่ต้องรอขอทุนอะไรที่ไหนบางเรื่องก็คิดทำได้เลย ภาพถ่ายใช้กล้องผมถ่ายเอาก็ได้แล้ว ไม่ต้องจ่ายค่าอะไรเพิ่มเลย จะมีก็คงเป็นค่าพิมพ์งานบ้างเท่านั้น แต่ก็ไม่มากมายอะไรนัก

     ท่านตอบตกลงที่จะทำ แล้วก็ไปหยิบสมุดปกอ่อนที่ท่านจดเขียนไว้มาให้ดู ผมอึ้งไปอีกรอบนึง เพราะท่านจดบันทึกไว้บ้าง พิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ดีดไว้บ้างตั้งมากมาย ผมจึงคิดว่าหากท่านจะเริ่มก็ไม่ใช่เริ่มจากศูนย์หรอก ท่านมีทุนอยู่แล้วเยอะมาก จากนั้นก็ลงมือคุยกันในรายละเอียดเพิ่มเติมอีกนิดนึงถึงประเด็นการสืบค้นเพิ่มเติม การไปสอบทานข้อมูลที่ท่านมีอยู่ซึ่งท่านเองก็บอกว่าบางเรื่องยังไม่สมบูรณ์นัก หากได้ไปถามเพิ่มก็จะดีกว่าที่มีอยู่ (ดีตามมุมมองของท่านเอง) ผมนัดว่าผมจะกลับมาอีกที เพื่อมาถ่ายรูปเครื่องมือของใช้บรรพบุรุษให้ท่าน

     ผมได้แต่ตั้งข้อสังเกตว่า “วิจัย” ทำไมใคร ๆ ถึงได้กลัวกันนัก ยิ่งชาวบ้านแล้ว ยิ่งรู้สึกไกลตัวและน่ากลัวเหลือเกิน พี่สนั่นบอกผมว่าวิจัยเป็นเรื่องของคนเรียนหนังสือ ครูบาอาจารย์ หรือพวกนักวิชาการ ผมได้แต่รำพึงในใจว่า ใครนะทำวิจัยให้สูงส่งในมุมมองของชาวบ้านได้ขนาดนี้ ทั้ง ๆ ที่ข้อมูลหรือความรู้อยู่ที่ตัวเขามากกว่าคนเรียนหนังสือ ครูบาอาจารย์ หรือพวกนักวิชาการ เป็นไหน ๆ

หมายเลขบันทึก: 49613เขียนเมื่อ 11 กันยายน 2006 23:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)
  • ได้แน่นอน
  • ท่านอาจารย์หมอประเวศ สนับสนุนให้ชาวบ้านทำวิจัย ดูครูบาสุทธินันท์นะครับ ทำได้เยี่ยมมาก
  • ขอบคุณครับผม

"วิจัย" ไม่ใช่เรื่องยาก...(เหรอ) เอ!! กำลังคิดอยู่เหมือนกันคะว่าใครกันนะเป็นคนแรกที่ปลูกฝังความคิดว่าการทำวิจัยยากม๊าก...มาก ฝากบอกพี่สนั่นด้วยแล้วกันค่ะว่าขอเข้าพวกด้วยคน

ภาพสวยมากค่ะ...ของใช้โบราณก็เยอะดีด้วย...ไม่แน่ใจว่าพี่สนั่นจัดอยู่ในประเภทนั้นหรือเปล่า หรือรวมคุณพี่ "ชายขอบ" เข้าไปด้วย (แซวค่ะ)  แต่เชื่อว่าถึงจะรุ่นเก่าแต่คุณภาพก็คับกล่อง 

จังหวัดพัทลุง มีของดีมากมายจริง ๆ นะคะ ถึงจะอยู่ชายขอบ แต่ก็เป็นขอบ ๆ แบบมีคุณภาพ (แบบว่า...ตบหัว..แล้วลูปหลัง)

อยากทราบว่า วิจัยเชิงคุณภาพ มีความแตกต่างจากวิจัยเชิงปริมาณ ด้านใหนอย่างไรบ้าง

เล่าเรื่องได้น่าสนใจจังค่ะ

และเป็นประเด็นที่คิดว่าหลายคนคงคิดเช่นกันด้วย

ไม่ต้องอะไรเลย  ตัวเองเรียนสายศิลป์ภาษามา  ไม่ได้แตะเลขสักเท่าไหร่  ป.โทก็ไม่ต้องทำวิจัยในการเขียนวิทยานิพนธ์เพราะเป็น

การวิเคราะห์เปรียบเทียบเรื่องราวระหว่างสองประเทศ

 

พอมาเรียนป.เอกด้านสังคมวิทยา  ก็เริ่มอึ้ง ๆ ไป เพราะเจอค่านิยมในสังคมไทยที่ถูกหล่อหลอมมาอย่างดี

ว่า "สถิติ ยาก"  ซึ่งพอมาเรียนจริง ๆ ได้อาจารย์ที่สอน

เก่งมากท่านหนึ่งที่รามฯ ก็รู้สึกว่าท่านสอนได้สนุก

แต่เนื่องจากตัวเองไม่ค่อยมีพื้นฐานเลขอะไรกับใครเขา

ก็ยังรู้สึกว่าต้องค่อย ๆ คลำไปช้า ๆ อยู่ดี  แต่ทั้งนี้คิดว่า คนเราที่ช่างสังเกตทุกคนน่าจะได้รับประโยชน์มาก

ถ้าได้มาเรียนวิชาสถิติ และระเบียบวิธีวิจัยจากครูบาอาจารย์ที่สามารถถ่ายทอด

ได้ดี  มันสามารถนำไปใช้กับหลายเรื่องได้จริง ๆ ค่ะ

 

ว่าแล้วก็รู้สึกดีใจมากที่ไ่ด้มาเจอบล็อกของคนรักสถิติ

อย่างคุณชายขอบ  คงจะต้องขอเกาะขอบบล็อกขอตามเรียนไปด้วยคนนะคะ ฮี่ ๆ ๆ

สวัสดีค่ะ 

   นักวิชาการควรหันมองชาวบ้านบ้างแล้ว  คือการวิจัยแบบมีส่วนร่วม เพื่อให้การวิจัยนั้นนำไปใช้ประโยชน์และสามารถต่อยอดทางความคิด การทำ การปฏิบัติ และชาวบ้านนั่นแหละคือนักวิจิยอย่างแท้จริง เพียงแต่ขาดการจัดการความรู้ที่นักวิชาการคอยเป้นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำ

ขอบคุณมากครับ

คนบ้านผมก็เหมือนกันครับ มองว่า งานวิจัยเป็นเรื่องของคนมีภูมิความรู้ และก็รู้สึกกลัวว่าถ้าคนมีความรู้ไปให้ข้อมูล กลัวที่ว่า คือ กลัวไม่รู้ กลัวคนที่มาให้ความรู้เขาหาว่าโง่

พี่ผู้ชายคนหนึ่งในหมู่บ้านผม รู้ว่าผมเป็นอาจารย์ ตอนผมกลับบ้านต่างจังหวัด เขาเข้ามาคุยเรื่องทำวิจัย เขามีแนวคิดจะปรับประยุกต์เศรษฐกิจพอเพียง และสร้างสังคมอุดมปัญญา ให้กับหมู่บ้าน พี่เขาก็ไม่ได้จบปริญญาครับ ผมเห็นความตั้งใจของพี่คนนี้มากเลยก็พยายามให้ข้อมูล และเท่าที่ดูๆ พี่เขาก็พอมีความรู้และรู้ว่าวิจัย ไม่ใช่เรื่องไกลตัว ใครๆก็ทำได้ ผมภูมิใจมากเลยที่หมู่บ้านผมมีคนแบบนี้ แต่เรื่องที่พี่เขาทำ คนในหมู่บ้านหาว่าพี่เขาบ้า อนิจจัง ผมก็ได้แต่ให้กำลังใจพี่เขาต่อไป

 สังคมบ้านๆ ไม่ยอมรับวิชาการเลย

มันเป็นผลสะท้อนของสังคมที่บ่มเพาะมานาน

และหลายปัจจัย ที่สำคัญคือชนชั้นทางสังคม

เศรษฐกิจ การปกครอง จะโทษคนก็ไม่ถูกต้องนะ

เพราะเขาก็พอใจอย่างนั้น และมีความสุขในชีวิตเขาแล้วไง

เขาไม่คิดว่าดีกว่านี้ยังมีอีก บางทีคิดว่ายิ่งดิ้นยิ่งเจ็บ

อย่างส่งลูกเรียนสูง ๆ แล้วลูกกลับทิ้งพ่อแม่ (เด็กเก่ง)

หรือพยายามส่งไป แต่ไม่สำเร็จกลับมายิ่งเสียคน(เด็กเก)

สรุปแล้วอาจจะประสบการณ์น้อย

หรืออาจจะเป็นที่สัญชาติญานการเอาตัวรอดก็ได้

อาจจะรู้มากแต่ยากนาน

หรือไม่รู้ บ้า โง่ สบายกว่าเยอะก็ได้ อิอิอิ

งานวิจัยท้องถิ่นเป็นอีกประเด็นที่คนบ้าน ๆ อย่างเรา ๆ ท่าน ๆ ทำแล้ว รู้สึกว่าตัวเองก็เป็นนักวิจัยกับเค้าได้ มีศักดิ์มีศรีไม่ต่างจากนักวิจัยคงแก่เรียนทั้งหลาย (แต่ก็นั่นแหละนะ จะให้เค้ามาทำอย่างเราก็ไม่ได้ เราไปทำอย่างเค้าก็ไม่ได้ ของมันเชี่ยวชาญต่างกัน)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท