ยากให้ง่าย.... สไตล์สมุย อำเภอเกาะสมุย


สมุยโมเดล...เป็นต้นแบบ เป็นวัฒนธรรม ในการทำงานแบบบูรณาการ และมีส่วนร่วม มีความสุข ที่ได้ร่วมแก้ปัญหาทุกเรื่องของเกาะสมุย

      สมุยโมเดล ทำเรื่อง...ยากให้ง่าย.... สไตล์สมุย

อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี 

นายแพทย์ เฉลิมพงษ์ สุคนธผล

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเกาะสมุย

คนรวบรวม / เรียบเรียง นางอรณัส ยวงทอง นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุราษฎร์ธานี

          บริบท คนสมุย ด้วยคำขวัญ “ ปะการังงาม น้ำทะเลใส หาดทรายขาว มะพร้าวเยอะ”

          เกาะสมุย เป็นหมู่เกาะที่ตั้งอยู่บนไหล่ทวีป อยู่ตอนกลางของอ่าวไทย นอกชายฝั่งทางทิศตะวันออก เฉียงเหนือของจังหวัดสุราษฎร์ธานีประมาณ ๘๔ กิโลเมตร ห่างจากแผ่นดินใหญ่ประมาณ ๒๐ กิโลเมตร และห่างจากกรุงเทพมหานคร ๗๕๐กิโลเมตร ด้วยพื้นที่เฉพาะเกาะประมาณ ๒๒๗ ตารางกิโลเมตร กว้าง ๒๑ กิโลเมตร ยาว ๒๕ กิโลเมตร เกาะสมุย จึงมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสามของประเทศ รองจากเกาะภูเก็ตและเกาะช้าง ถนนโดยรอบเกาะ ซึ่งเป็นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๔๑๖๙ ความยาวประมาณ ๕๐ กิโลเมตร

          เกาะสมุย เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยแบ่งการปกครองตามพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองท้องที่ พ.ศ.๒๔๕๗ ออกเป็น ๗ ตำบล ๓๙ หมู่บ้าน มีการเปลี่ยนแปลงฐานะจากเทศบาลตำบล เกาะสมุย เป็นเทศบาลเมืองเกาะสมุย เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๕๑ มีประชากรตามทะเบียนราษฎร จำนวน 61,919 คน (ณ พ.ค.55)

          อาณาเขต ทิศเหนือ เขตตำบลบ่อผุด ติดต่อกับอ่าวไทย อำเภอเกาะพะงัน เกาะพะงัน เป็นผืนดินที่อยู่ใกล้ เกาะสมุยมากที่สุดประมาณ ๑๕ กม.

          ทิศใต้ เขตตำบลมะเร็ต, ตลิ่งงาม ติดต่อกับอ่าวไทย อำเภอขนอมจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งอยู่ห่างเกาะสมุย ๔๐ กม.

          ทิศตะวันออก เขตตำบลบ่อผุด, มะเร็ต ติดต่อทะเลอ่าวไทย

          ทิศตะวันตก ติดต่อทะเลเขต อ.ดอนสัก อ.กาญจนดิษฐ์ อ.เมือง อ.ท่าฉาง และ อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี

          สภาพภูมิอากาศ เป็นแบบมรสุมเขตร้อน มี ๓ ฤดู คือ ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม - ตุลาคม ฤดูหนาวเริ่มเดือนพฤศจิกายน-มกราคม เป็นช่วงที่มีลมมรสุมและฤดูร้อนตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - เมษายน ซึ่งคลื่นลมสงบ อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ ๒๕.๕ – ๓๐ องศาเซลเซียส ระยะเวลาที่เหมาะสมในการเดินทางมาท่องเที่ยว คือ ช่วงเดือนธันวาคม ถึง เดือนมิถุนายน

สภาพปัญหานำสู่การทำเรื่อง...ยากให้ง่าย.... สไตล์สมุย ( สมุยโมเดล )

            เกาะสมุย เป็น ๑ ใน ๑๙ อำเภอของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่มีสภาพพื้นที่ เป็นเกาะขนาดใหญ่ มี ภูมิทัศน์สวยงามที่ดึงดูดให้ทั้งชาวไทยและต่างชาติจากหลายประเทศเข้ามาท่องเที่ยวและพักผ่อนเป็นจำนวนมากในแต่ละปี โดยเฉพาะช่วงเดือนพฤศจิกายน - มีนาคม ซึ่งเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว (High season) ดังนั้นโครงสร้างทางด้านเศรษฐกิจของอำเภอเกาะสมุยส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับการท่องเที่ยว ได้แก่การบริการที่พัก อาหาร ธุรกิจนำเที่ยว จำหน่ายของที่ระลึก จึงมีกลุ่มแรงงานไทยและต่างด้าวอพยพเคลื่อนย้ายเข้ามาประกอบอาชีพและขายแรงงานเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่การประกอบอาชีพในชุมชน อาทิเช่น ค้าขายหาบเร่ แผงลอย ร้านอาหาร ภัตตาคาร และกิจการโรงแรมต่างๆ ทุกระดับ ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลกระทบในหลายๆ ด้านของอำเภอ โดยเฉพาะทางด้านสาธารณสุขส่งผลต่อการเกิดโรคติดต่อหลาย ๆ โรค โดยเฉพาะโรคอุจจาระร่วงที่ทำให้เกาะสมุย มีสถานการณ์โรคเป็นอันดับ ๑ ใน ๑๐ ของจังหวัดสุราษฎร์ธานีมาโดยตลอด จากการวิเคราะห์ข้อมูลด้านระบาดวิทยาในปีที่ผ่านมา พบว่า มีรายงานผู้ป่วยจำนวน ๑,๓๒๖ ราย คิดเป็นอัตราป่วย ๒,๔๔๔.๐๖ ต่อแสนประชากร โดยส่วนใหญ่พบมากในกลุ่มอายุ ๒๕ - ๓๔ ปี มีอาชีพรับจ้างค้าขาย พบผู้ป่วยมากในช่วงเดือน ตุลาคม ถึง มกราคม ตำบลที่พบผู้ป่วยสูงได้แก่ ตำบลบ่อผุด อ่างทอง และ มะเร็ต ซึ่งทั้ง ๓ ตำบลเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีประชากรหนาแน่น และ หลากหลาย สำหรับในปี พ.ศ. ๒๕๕๕ ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงปัจจุบัน มีรายงานผู้ป่วย Diarrhea จำนวน ๘๙๓ ราย คิดเป็นอัตราป่วย ๑,๕๙๔.๖๗ ต่อแสนประชากร ซึ่งมีจำนวนผู้ป่วยสูงกว่าค่าเฉลี่ย ๕ ปีย้อนหลังในช่วงเดียวกัน จากการวิเคราะห์สถานการณ์ดังกล่าวจะเห็นได้ว่ามีแนวโน้มสูงต่อการเกิดอุบัติการณ์โรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำ ทั้งนี้ ปัจจัยที่เอื้อต่อการเกิดโรคอุจจาระร่วง ของอำเภอ เกาะสมุย ได้แก่ ปัจจัยด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม สุขาภิบาลอาหารและน้ำ โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของร้านค้า หาบเร่ แผงลอย เป็นจำนวนมาก ที่ไม่ถูกสุขลักษณะตามเกณฑ์มาตรฐาน อีกทั้ง ยังมีผู้ประกอบการบางส่วนที่ยังไม่ให้ความร่วมมือต่อการปรับปรุงสุขาภิบาลอาหารและน้ำให้ถูกสุขลักษณะตามเกณฑ์ที่กำหนด แม้เจ้าพนักงานฯเข้าไปดำเนินการแล้วก็ตาม และมีประชากรต่างด้าวทั้งถูกกฎหมายและแอบแฝงกว่า ๕๐,๐๐๐ คน รวมถึงประชากรแฝงที่มีที่อยู่ไม่ชัดเจน ไม่แน่นอน ยากต่อการจัดการด้านการป้องกันควบคุมโรค ตลอดจนปัจจัยด้านปัจเจกบุคคล โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวซึ่งมีความหลากหลาย และ ระบบตอบสนองต่อการบริโภคอาหารและน้ำ ที่ไม่คุ้นชิน ส่งผลให้เกิดอาการดังกล่าวได้เช่นกัน สำหรับการให้บริการด้านสุขภาพและสาธารณสุขของอำเภอเกาะสมุย มีสถานบริการสาธารณสุข ทั้งภาครัฐ และเอกชน ได้แก่ โรงพยาบาลทั่วไป ขนาด ๑๖๖ เตียง ๑ แห่ง ซึ่งให้บริการทุกระดับตั้งแต่ระดับตติยภูมิ ทุติยภูมิ และ ปฐมภูมิ เนื่องจากไม่มีโรงพยาบาลชุมชนรองรับ มีโรงพยาบาลเอกชนและคลินิก ๔๔ แห่ง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ๙ แห่ง ร้านขายยา ๑๒๒ แห่ง สถานพยาบาลและผดุงครรภ์ ๑๓ แห่งและแพทย์แผนไทยเวชกรรม ๑ แห่ง ซึ่งทุกสถานบริการมีการดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วย รวมทั้ง ดำเนินการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคที่จะเป็นปัญหาโรคและภัยสุขภาพของอำเภอเกาะสมุย ร่วมกัน

จุดประกาย สไตล์สมุย ( สมุยโมเดล ) ด้วย OUTCOME MAPPING

          สิ่งที่เราพบว่า เป็นปัญหาด้านสาธารณสุข เป็นเรื่องยากและเรื้อรังมาช้านาน สำหรับ คนสมุย คือ เรื่อง น้ำสะอาด สำหรับการอุปโภคและบริโภค โดยเฉพาะ น้ำดื่ม น้ำแข็ง ที่ผลิตออกจำหน่ายของสถานประกอบการต่างๆบนพื้นที่เกาะ และ อีกหนึ่งเรื่องยาก ที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันคือ เรื่องปัญหากลุ่มแรงงานต่างด้าวที่เข้ามารับจ้าง และอยู่อาศัยกระจายอยู่ในชุมชนต่างๆ ข้อคำถามสำคัญ จะแก้ปัญหาเรื่องยากๆเรื้อรังทั้งสองเรื่องนี้อย่างไร จะเข้าถึงกลุ่มเหล่านี้อย่างไร ทำอย่างไรให้คนที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วม รู้สึกเป็นเจ้าของ เป็นเจ้าภาพ มีส่วนได้ ส่วนเสีย และเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง นำสู่ความยั่งยืนในการดำเนินการแก้ปัญหา เฝ้าระวัง ควบคุม ป้องกันด้านสุขภาพอนามัย ของประชาชนคนสมุย จึงเป็นที่มาของการจุดประกาย ทำเรื่อง...ยากให้ง่าย......สไตล์ สมุย ภายใต้กรอบแนวคิด การพัฒนาจะยั่งยืนได้ ผู้ที่เกี่ยวข้อง ( Boundary Partner ) จะต้องเกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของ (ownership) และเกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับกระบวนทัศน์ กรอบแนวความคิด และพฤติกรรม ด้วย OUTCOME MAPPING ...ก่อกำเนิดเกิดเป็น......สมุยโมเดล.....ต้นแบบที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้แก้ปัญหาอื่นๆได้ ทุกเรื่อง บนเกาะสมุย ของเรา

สมุยโมเดล....สู่...อำเภอควบคุมโรคเข้มแข็งแบบยั่งยืน

สู่เป้าหมายผลลัพธ์ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

- แต่ละเรื่องจะมีนายอำเภอเป็นประธาน นั่งหัวโต๊ะตลอด ทำให้ทุกภาคส่วนไม่มองว่าเป็นงานและผลงานของเราคนเดียว

- ภาคีเครือข่ายประกอบด้วยทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน เทศบาล และประชาชน

- การมีส่วนร่วม ต้องให้ภาคีเครือข่าย (Boundary Partner) เช่น เทศบาล ,สสอ, รพสต., อสม. ,สมาคนท่องเที่ยว ,สมาคมโรงแรม ,ชมรมผู้ประกอบการน้ำดื่มน้ำแข็ง, คณะกก.ชุมชน และโรงพยาบาลเกาะสมุย ประชุมกลุ่ม (Work Shop) และเขียนกลยุทธ์/แผนปฏิบัติการ และนำเสนอในที่ประชุม เหมือนเป็นพันธ สัญญาว่าเขาจะต้องทำตามนั้นจริง

- เพราะการประชุมติดตามแต่ละครั้ง กลุ่มต่าง ๆ จะต้องมานำเสนอการดำเนินงานให้นายอำเภอและที่ประชุมรับทราบ และมีการติดตาม นัดประชุมอย่างต่อเนื่อง

                                               

 

วางแผน ก้าวย่าง ประสาน ขับเคลื่อน อย่างไร

          การประกวดประเมินอาจเป็นแรงขับในการก่อเกิดการทำงาน เพื่อพยายามก้าวไปให้เป็นอำเภอควบคุมโรคเข้มแข็ง ได้ตามเกณฑ์คุณลักษณะที่กำหนด แต่..สำหรับสมุยโมเดล ไม่ได้เริ่มจาก...แรงขับดังกล่าว...เราตระหนักถึงการผลักดันสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมเป็นตัวเอกของเรื่อง..ไม่ใช่เป็นเพียงตัวประกอบ..โดยมีนายอำเภอเป็นผู้อำนวยการสร้าง เราเป็นเพียง ผู้จุดประกาย จัดโลเคชั่น สร้างบรรยากาศ สนับสนุน อำนวยความสะดวก ติดตาม กำกับ รวบรวม เชื่อมต่องานของกลุ่มต่างๆให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ซึ่งการจะผลักดันเรื่องใดที่เป็นปัญหาของอำเภอ...ให้ลงสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน.... ต้องอาศัยปัจจัยดังนี้ คือ

           ผู้นำองค์กรในการบริหารจัดการงานของทุกภาคส่วนของพื้นที่เกาะสมุย เล่นบทพ่อเมือง ผู้ที่มีตำแหน่งสูงสุดของพี้นที่ จะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจากนายอำเภอเกาะสมุย ต้องเข้าหา ให้ท่านรับทราบปัญหาและยินดีที่จะเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาด้วยตัวเองเป็นสิ่งจำเป็นยิ่ง นอกจากนี้ผู้ที่มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาทุกภาคส่วน อาทิเช่น องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ภาคประชาชน ชุมชน รพ.สต. สสอ. อสม. ภาคเอกชน ได้แก่ สมาคมการท่องเที่ยว สมาคมโรงแรม สมาคมสปาร์ ชมรมผู้ประกอบการน้ำดื่มน้ำแข็ง ถึงแม้กระทั่งกลุ่มแรงงานต่างด้าว ทุกฝ่ายต้องมีความรู้สึกถึงการเป็นตัวละคร หรือ กลไกที่สำคัญในการร่วมกัน ผลักดัน ขับเคลื่อน แก้ไขปัญหาในกลุ่มย่อยของตนเองอย่างดีที่สุด โดยผลงานที่ออกมา....อย่าให้มองว่า....เป็นผลงานองค์กรใด หรือของใครคนใดคนหนึ่งเท่านั้นแต่ต้องทำให้เกิดความรู้สึกว่า....เป็นผลงานร่วมชิ้นโบว์แดงของทุกๆคน ทุกกลุ่ม ทุกภาคส่วนที่มาร่วมกันแก้ไขปัญหาเดียวกัน เพื่อวัตถุประสงค์เดียวกัน และผลลัพธ์ที่ดีขึ้น ส่งผลต่อประชาชน และส่งผลดีต่อกลุ่มต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน

          แบ่งกลุ่มผู้เกี่ยวข้อง(BOUNDARY PARTNER) ร่วมกำหนด กลยุทธ์และแผนปฏิบัติการ คือหลักการในการสร้างความเป็นเจ้าของและข้อผูกพันเหมือนกับเป็นพันธสัญญาที่จะทำงานร่วมกัน คือให้ทุกฝ่ายมาประชุมรับทราบปัญหา และเน้นผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อภาพลักษณ์ของอำเภอและผลกระทบต่อทุกกลุ่มไม่ใช่เพื่อแค่ลดโรคภัยเท่านั้น ฉะนั้นทุกกลุ่มต้องร่วมกันกำหนดกลยุทธ์และแผนปฏิบัติที่จะแก้ปัญหาร่วมกัน ในการประชุมจะให้กลุ่มต่าง ๆ แบ่งกลุ่มเป็น Work Shop เพื่อกำหนดกลยุทธ์และแผนปฏิบัติการ หลังจากนั้นต้องนำเสนอในที่ประชุม แลกเปลี่ยน เติมเต็มให้กันและกัน ส่วนเราก็มีหน้าที่ในการบูรณาการแผนปฏิบัติการของทุกกลุ่มให้ออกมาเป็นเรื่องเดียวกัน และบูรณาการกัน มีการกำหนดเป้าหมาย ตัวชี้วัด และมีการติดตามผลของการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

          การเริ่มงานใดงานหนึ่ง จะให้รู้กันทั่วถึงทุกหย่อมหญ้า ต้องทุ่มประชาสัมพันธ์ ตีฆ้อง ร้องป่าว สร้างกระแส AIR WAR ซึ่งสมุยโมเดลของเรา มีการปลุกกระแสรณรงค์ป้องกันโรคอุจาระร่วงด้วยการทำโครงการ “สมุยสดใส ประชาร่วมใจ ต้านภัยอุจาระร่วง” โดยจัดการรณรงค์กิจกรรมดังกล่าวในทุกตำบล มีการรณรงค์ไปยังชุมชนและหมู่บ้านครอบคลุมทุกหลัง เป็นการให้ความรู้และเหมือนเป็นการปลุกกระแสไปในคราวเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีการสร้างแรงจูงใจ....ด้วยการให้แต่ละตำบลประเมินคัดเลือกร้านอาหารดีเด่น ร้านขายของชำดีเด่น( แชมป์ร้านชำ ) และ ส้วมวัดดีเด่น ( แชมป์เว็จกุฏ ) รับรางวัลชนะเลิศของแต่ละตำบล

          เราสร้างความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง โดยให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมมานำเสนอต่อนายอำเภอและที่ประชุม โดยภาคประชาชน สสอ. รพ.สต. อสม.ทุกตำบล ซึ่งถือเป็นผลงานของแต่ละตำบล และทุกองค์กร ทุกภาคส่วน ร่วมมือ กันลงนาม บันทึกข้อตกลง ในการแก้ไขปัญหา อย่างเต็มใจ ใช่แค่เกรงใจ โดยอำเภอได้เชิญ รมว.กระทรวงสาธารณสุขมาร่วมเป็นสักขี พยาน และ ติดตามชื่นชมผลงานของกลุ่มต่างๆ สร้างขวัญ กำลังใจแก่ทีมงานทุกภาคส่วนเป็นอย่างยิ่ง....เล่ามาถึงตอนนี้เริ่มรู้สึก หรือไม่ว่า....นี่มันการทำงานอำเภอเข้มแข็งแบบยั่งยืนชัดๆ เข้าตามประเด็นคุณลักษณะที่กำหนดทั้ง ๕ ด้าน นี่แหละที่เราภูมิใจนำเสนอแลกเปลี่ยน สมุยโมเดล........สู่.......อำเภอควบคุมโรคเข้มแข็งแบบยั่งยืน ซึ่งไม่ได้ตั้งต้นจากการเตรียมเข้าสู่สนามแข่งขันแต่จับประเด็น ที่ อยากทำเรื่อง...ยาก....ให้ง่าย นั่นเอง โดยปัจจัยที่คิดว่าเป็นปัญหาที่แก้ไขยากมาโดยตลอดตอนนี้เริ่มดีขึ้น ได้แก่ โรงงานผลิตน้ำดื่มและน้ำแข็ง ซึ่งมีจำนวนมากถึง ๓๙ โรงงาน และไม่ผ่านเกณฑ์ถึง ๕ โรง จากการไปตรวจเยี่ยมพบว่าหลายโรงโดยเฉพาะโรงเล็กไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานที่ สคบ. กำหนด ที่ผ่านมาแม้จะใช้มาตรการเช่น สั่งปิดโรงงาน แต่ก็ยังมีการลักลอบเปิด หรือบางโรงที่มีแรงสนับสนุนจากผู้มีอิทธิผล ก็จะไม่ยอมทำและปฏิบัติตาม ใน เรื่องนี้ เราอยากให้เค้าตระหนักและดูแลกันเอง....มากกว่าการใช้กฎหมายบังคับ โดยให้ผู้ประกอบการน้ำดื่มน้ำแข็งรวมตัวกันก่อตั้งเป็นชมรม มีประธานชมรมครอบคลุมทุกตำบล เพื่อให้ในชมรมมีการตรวจสอบกันเอง ไม่ปล่อยให้ปลาเน่าเพียง ๑ ตัว แต่ทำลาย ชื่อเสียงของคนที่ทำได้ดีอยู่แล้ว ซึ่งพวกเขาเหล่านี้ก็จะเป็นหูเป็นตาให้กับเราได้อีกทางหนึ่ง อีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นปัญหาสำคัญ คือ กลุ่มแรงงานต่างด้าว ซึ่งเมื่อก่อนเป็นการยากมากที่เราจะเข้าไปตรวจสอบหรือให้ความรู้กับกลุ่มแรงงานต่างด้าวในชุมชน หรือ ในแคมป์แรงงาน เพราะเวลาเราเข้าไป พวกเขาก็จะวิ่งหนีคิดว่าเราเข้ามาจับกุม และไม่สามารถสื่อสารกันได้เนื่องจากปัญหาด้านภาษา แต่ก็โชคดีที่เราสามารถติดต่อกับแกนนำชุมชนแรงงานต่างด้าวพม่าได้ ซึ่งได้ตั้งเป็นชมรม อสม.นานาชาติ (กัมพูชา พม่า ลาว) มีชาวพม่าเป็นสมาชิกของชมรมถึงร้อยละ ๙๐ ของแรงงานพม่าทั้งหมดในเกาะสมุย แกนนำเหล่านี้มีความสำคัญเป็นอย่างมากในการที่จะเข้าไปในแคมป์แรงงาน หรือชุมชนพม่า ในเรื่องของการสื่อสาร และการอธิบายให้แรงงานต่างด้าวรับทราบถึงสุขาภิบาลอาหารและอนามัยสิ่งแวดล้อม รวมทั้งช่วยกันเป็นหูเป็นตาให้กับเราด้วยอีกทาง

ความภาคภูมิใจ.....ที่ไม่บอกไม่ได้แล้ว

          นายอำเภอกล่าวชม สมุยโมเดล ในทุกเวทีของการประชุมอำเภอ ยกตัวอย่างให้หน่วยงานต่างๆฟังถึงรูปแบบ วิธีการ และขอให้ นำปัญหาอื่นๆเข้ามาแก้ไขด้วยสมุยโมเดลของเรา จากการดำเนินการดังกล่าวพบว่า สมุยโมเดลของเรา ได้ผลดีและที่เป็นที่ยอมรับ ทุกภาคส่วนให้ความร่วมมือ เห็นได้จากผลลัพธ์ของอัตราการป่วยด้วยโรคอุจาระร่วงลดลงอย่างเป็นนัยสำคัญ จนได้รับรางวัลอำเภอควบคุมโรคเข้มแข็งดีเด่นต้นแบบโซนตะวันออก และดีเด่นในระดับจังหวัด ซึ่งเรากำลังนำโมเดลนี้ไปใช้กับปัญหาสาธารณสุขอื่น ๆ ในเกาะสมุยตามคำแนะนำของนายอำเภอ ได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคมือเท้าปาก อุบัติเหตุจราจร การควบคุมยาเสพติด เป็นต้น 

สิ่งที่คาดว่า...เป็นไปได้แต่...ยังไปไม่ถึง

          ต้องทำให้...สมุยโมเดล...เป็นต้นแบบ เป็นวัฒนธรรม ในการทำงานแบบบูรณาการ และมีส่วนร่วม มีความสุข ที่ได้ร่วมแก้ปัญหาทุกเรื่องของเกาะสมุย มีความพร้อมรองรับ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน อย่างภาคภูมิ

สรุปบทเรียน

          สมุยโมเดล ไม่ใช่สูตรสำเร็จหรืออะไรแปลกใหม่ จนใครๆเข้าใจผิดคิดกันว่า เมื่อเกิดหรือมีสมุยโมเดลแล้ว ปัญหาต่างๆจะหมดไป นั่นไม่ใช่ แม้จะมีสมุยโมเดล แต่ปัญหาหลายเรื่องของอำเภอเกาะสมุยก็ยังคงมีอยู่ให้แก้ไขกันต่อไป เนื่องจาก เกาะสมุยเป็นเมืองท่องเที่ยวที่สวยงามติดอันดับต้นๆของประเทศ ย่อมดึงดูดให้ผู้คนหลั่งไหลเข้ามาเที่ยวและประกอบอาชีพ ยิ่งคนมากปัญหาต่างๆก็จะตามมาเป็นเงาตามตัว ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และด้านสาธารณสุข เราทดลองใช้ สมุยโมเดล นำร่องแก้ปัญหาด้านโรคภัยจากอุจจาระร่วง ซึ่งผลลัพท์ที่ได้จากการดำเนินงานภายใต้รูปแบบ สมุยโมเดล นี้เป็นที่น่าพอใจทั้งในส่วนของคณะกรรมการ การวางแผน การระดมทรัพยากร และการลดโรคอุจจาระร่วงจากที่เกาะสมุยสามารถถอดอันดับ Top Three ของจังหวัดสุราษฎร์ธานีได้ในปีนี้ ดังนั้น....สมุยโมเดล.....จึงจะเป็นเพียงตัวช่วย หรือเป็นต้นแบบและแนวทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน อย่างบูรณาการของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมากกว่า และบทเรียนที่ได้รับ พบว่า การทำให้ ทุกคน เข้าถึง เข้าใจ และร่วมกันทำงานอย่างมีความสุข มีความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของงานที่สำเร็จ และทุกคนเกิดความภูมิใจต่อผลงานของตน เป็นสิ่งจำเป็น โดยร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผิดชอบ และทำเรื่องยากให้ง่ายๆเข้าไว้ นี่คือหัวใจของสมุยโมเดล อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ภูมิใจในการนำเสนอแลกเปลี่ยนในครั้งนี้

หมายเลขบันทึก: 496086เขียนเมื่อ 26 กรกฎาคม 2012 16:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 สิงหาคม 2012 00:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท