การยอมรับบังคับผลของการสมรสระหว่างบุคคลเพศเดียวกันที่กระทำขึ้นในต่างประเทศ (ตอนที่ ๑)


เมื่อมีการเคลื่อนย้ายคนโดยเสรี สิทธิและเสรีภาพของบุคคลดังกล่าวในฐานะมนุษย์ควรได้รับการรับรองอย่างเป็นรูปธรรมไปพร้อมๆกัน ซึ่งสิทธิเสรีภาพดังกล่าวครอบคลุมไปถึงเรื่องของการสมรสและการก่อตั้งครอบครัว กล่าวคือ การสมรสของบุคคลเพศเดียวกันที่ได้กระทำขึ้นในต่างประเทศนั้นจะต้องได้รับการรับรองโดยกฎหมายไทยด้วยเช่นกัน

                เชื่อว่าทุกท่านคงคุ้นหน้าคุ้นตากับ gender-neutral language มาแล้วเป็นเวลานาน คงถึงเวลาแล้วเช่นกันที่จะเปิดโลกทัศน์และทำความเข้าใจกับสิ่งที่เรียกว่า gender-neutral marriage

 

           กรณีที่รัฐหนึ่งไม่ยอมรับการสมรสระหว่างบุคคลเพศเดียวกัน แนวโน้มของรัฐในการยอมรับผลของการสมรสดังกล่าวที่ได้กระทำขึ้นในต่างประเทศนั้นเป็นสิ่งสำคัญมาก การสมรสเช่นว่านี้จะได้รับการยอมรับว่าเป็นการสมรสตามนิยามของกม.ไทยหรือไม่ และจะถือได้หรือไม่ว่าเป็นการสมรสที่สมบูรณ์ในสายตาของกม.ไทยตามที่พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. ๒๔๘๑ บัญญัติไว้ เป็นไปได้หรือไม่ที่แม้ว่าการสมรสจะสมบูรณ์แต่ศาลไทยจะยังคงยกเรื่องความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีขึ้นอ้างเพื่อมิให้การสมรสเช่นว่านั้นมีผลในประเทศไทย? ด้วยเหตุนี้สถานะทางทะเบียนเพื่อการอยู่ร่วมกันของบุคคลเพศเดียวกันหรือ civil partnership จึงเป็นทางออกหนึ่งที่น่าสนใจ แม้ว่าจะไม่ง่ายนักที่จะทวนกระแสอนุรักษ์นิยม ตลอดจนความเชื่อในทางศาสนาซึ่งเป็นประเด็นปัญหาหลักในหลายประเทศ ดังเช่น อังกฤษ สหรัฐอเมริกา และที่เห็นได้ชัดคืออิตาลี  และโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลายประเทศในทวีปแอฟริกายังคงกำหนดโทษจำคุก เช่น อัลจีเรีย เซเนกัล แคเมอรูน คูเวต ลิเบีย มาเลเซีย ซีเรีย กาตาร์ เป็นต้น หรือแม้แต่โทษประหารชีวิตสำหรับบุคคลรักเพศเดียวกัน เช่น มอริตาเนีย ซูดาน ไนจีเรีย โซมาเลีย ปากีสถาน อัฟกานิสถาน อิหร่าน ซาอุดิอารเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเยเมน  

 

เพราะเหตุใดจึงควรยอมรับผลของการสมรสดังกล่าว ?  

 

                เหตุผลที่ทำให้บางประเทศเห็นว่าจำเป็นต้องมีกฎหมายรับรอง “การสมรส” หรือ “รับรองสถานภาพการอยู่ร่วมกัน” ของบุคคลเพศเดียวกันนั้น ก็เป็นเพราะว่านักกฎหมายหรือฝ่ายนิติบัญญัติเห็นว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้องและชอบธรรมที่จะสร้างสถาบันขึ้นมาอีกสถาบันหนึ่งสำหรับคนกลุ่มนี้เคียงคู่ไปกับสถาบันสมรสของคนต่างเพศ เนื่องจากมนุษย์ทุกคนย่อมมีสิทธิเสรีภาพในการสมรสและก่อตั้งครอบครัว ต้องคำนึงอยู่เสมอว่าสิทธิเสรีภาพในการสมรสและการก่อตั้งครอบครัวเป็น “สิทธิขั้นพื้นฐาน” ของมนุษย์ทุกผู้ทุกนาม  ไม่จำเป็นว่าเฉพาะแต่ชายและหญิงเท่านั้นจึงจะได้รับสิทธิดังกล่าวนี้

                นอกจากนี้พัฒนาการของกฎหมายสิทธิมนุษยชนในนานาประเทศเป็นเครื่องยืนยันว่า นอกเหนือไปจากการสมรสระหว่างคนต่างเพศกันแล้วนั้น การสมรสระหว่างบุคคลเพศเดียวกันก็ยังถือเป็น “สิทธิเสรีภาพ” อย่างหนึ่งของ “มนุษย์” เช่นกัน โดยต้องไม่ลืมว่าปัจเจกชนต้องมีอิสระในการกำหนดวิถีชีวิตของตนเอง (self-determination) โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเรายอมรับว่ามนุษย์มีสิทธิในการกำหนดเพศวิถีของตนแล้วนั้น คงไม่มีเหตุผลใดที่จะนำมาใช้เป็นข้อคัดค้านสิทธิในการกำหนดวิถีชีวิตและการก่อตั้งครอบครัวของบุคคลเพศเดียวกันเป็นแน่  และจากแนวความคิดเหล่านี้เองที่ทำให้กล่าวได้ว่า “การสมรสควรเปิดกว้างให้กับทุกคน” หรือจะเรียกว่าเป็นเสรีภาพที่มนุษย์สามารถเข้าถึงได้โดยไม่สมควรจะนำเรื่องการแบ่งแยกทางเพศมาเป็นอุปสรรค

                ในปัจจุบันนั้นสถานการณ์ต่างๆเปลี่ยนแปลงไปมาก กรอบความคิดของคนในสังคมย่อมผันแปรตาม จากที่เคยยอมรับแค่เพียงการใช้ชีวิตร่วมกันของคนต่างเพศกันเพียงอย่างเดียว ก็เปิดใจยอมรับเรื่องราวของคนเพศเดียวกันได้มากขึ้น เมื่อศึกษาต่อไปจะพบตัวอย่างของกฎหมายใหม่จากประเทศตะวันตกที่ก้าวหน้ามากกว่า The Universal declaration of Human Rights เสียอีก เนื่องจากข้อที่ 16 ของคำประกาศฯยังคงใช้คำว่า “ชายและหญิง” อยู่นั่นเอง จึงนำไปสู่คำถามว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่กฎหมายไทยจะยอมรับและให้การรับรองสิทธิเสรีภาพในการอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวแก่คนกลุ่มนี้ แม้จะยังไม่ก้าวไปถึงการยอมรับการสมรส แต่อย่างน้อยการรับรองสถานะทางทะเบียนก็ถือเป็นเรื่องสำคัญและนับเป็นความก้าวหน้าอีกอย่างหนึ่งของกฎหมายสิทธิมนุษยชน กฎหมายครอบครัว และกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล

 

                ประเทศที่มีกฎหมายรองรับการสมรสระหว่างคนเพศเดียวกัน

                สำหรับประเทศที่มีกฎหมายรองรับการสมรสระหว่างคนเพศเดียวกันนั้น ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ (2001) เบลเยี่ยม (2003) สเปน (2005) แคนาดา (2005)  นอร์เวย์ (2009) โปรตุเกส (2010) แอฟริกาใต้ (2006) ไอส์แลนด์ (2010) สวีเดน (2009)  อาร์เจนตินา (2010)  ส่วนในฝรั่งเศสนั้นแนวความคิดอนุรักษ์นิยมยังมีอยู่มาก กฎหมายฝรั่งเศสจึงยังไม่ยอมรับการสมรสดังกล่าว อย่างไรก็ดีฝรั่งเศสยอมรับวิธีการจดทะเบียน civil union/registered partnership ที่เรียกว่า Pacte civil de solidarité เพื่อเป็นทางออกให้แก่กลุ่มคนที่ยังไม่ปรารถนาที่จะสมรสตลอดจนกลุ่มคนรักเพศเดียวกันได้ใช้ชีวิตร่วมกันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และได้รับสิทธิต่างๆในระดับหนึ่งคล้ายคลึงกับการสมรส อย่างไรก็ตามรัฐบาลฝรั่งเศสพยายามผลักดันร่างกฎหมายเกี่ยวกับการสมรสของคนเพศเดียวกันซึ่งอาจจะได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาในช่วงต้นปี 2013 ไม่แน่ว่าฝรั่งเศสอาจเป็นประเทศที่ 11 ที่ยอมรับการสมรสระหว่างคู่รักเพศเดียวกัน

                หากบุคคลเพศเดียวกันได้สมรสกันในต่างประเทศซึ่งมีกฎหมายรับรองในเรื่องนี้ เกิดคำถามว่าการสมรสนั้นจะมีผลเช่นไรในประเทศฝรั่งเศส ซึ่งคำตอบอาจเป็นไปได้ ๒ ทางด้วยกัน ได้แก่ ๑. เป็นการสมรสตามนิยามในกฎหมายฝรั่งเศส หรือ ๒. เป็นได้แค่เพียงการจดทะเบียน Pacs คือ รับรองสถานะทางทะเบียนให้บุคคลเพศเดียวกันที่ได้สมรสในต่างประเทศ ในขณะเดียวกันหากเกิดกรณีเช่นว่านี้ในประเทศไทย จะมีเพียงประเด็นเดียวที่เป็นคำถาม นั่นคือ การสมรสตามกฎหมายต่างประเทศดังกล่าวสามารถเทียบเคียงได้กับการสมรสที่ได้นิยามไว้ตามกฎหมายไทยหรือไม่ เนื่องจากไทยยังไม่มีการจดทะเบียนให้แก่ผู้ที่ประสงค์จะใช้ชีวิตร่วมกันแต่ยังไม่ปรารถนาจะสมรสอย่างเช่นในประเทศอื่นๆ  (ประเด็นที่มักถูกยกมาเพื่อปฏิเสธ คือ ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ในส่วนนี้ขอย้ำว่านิยามของคำว่า “ความสงบเรียบร้อยฯ” สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลา ตามยุคสมัย อยู่ที่ว่าผู้ใช้กฎหมายจะเปิดใจและทำความเข้าใจกับคำว่า “สิทธิมนุษยชน” ได้มากน้อยเพียงไร)  

 

                สรุปหลักการสำคัญที่นำมาอธิบาย “สิทธิเสรีภาพในการก่อตั้งครอบครัวตามกฎหมายของบุคคลเพศเดียวกัน”

 

๑. หลักการเคารพในเสรีภาพของปัจเจกชนในอันที่จะสมรสและก่อตั้งครอบครัว (freedom to marry and establish a family)

๒. หลักการห้ามเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมโดยใช้เพศเป็นเกณฑ์ (non-discrimination based on gender identity and expression)

 

 

                ตัวอย่างกฎหมายของแต่ละประเทศยอมรับการสมรสระหว่างคนเพศเดียวกัน

กฎหมายเนเธอร์แลนด์ กฎหมายที่ใช้บังคับกับความสมบูรณ์ของการสมรสของบุคคลเพศเดียวกันนั้น หากปรากฎข้อเท็จจริงว่าการสมรสนั้นได้กระทำขึ้นในเนเธอร์แลนด์ โดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสัญชาติดัทช์หรือมีถิ่นที่อยู่ประจำในประเทศนี้ กฎหมายที่จะนำมาใช้พิจารณาความสมบูรณ์ของการสมรสดังกล่าวได้แก่กฎหมายเนเธอร์แลนด์ ทั้งนี้โดยไม่ต้องคำนึงว่าการสมรสดังกล่าวนั้นจะต้องห้ามตามกฎหมายสัญชาติของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายหรือไม่[1]   

กฎหมายเบลเยียม ซึ่งมาตรา 3 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 143 ประมวลกฎหมายแพ่ง บัญญัติรับรองการสมรสระหว่างบุคคลเพศเดียวกันดังนี้ “บุคคลสองคนที่มีเพศต่างกันหรือเพศเดียวกันสามารถทำการสมรสได้...”  กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลใหม่ของเบลเยียมนั้นยอมรับความสมบูรณ์ของการสมรสระหว่างคนเพศเดียวกัน โดยบัญญัติไว้คล้ายคลึงกับกฎหมายเนเธอร์แลนด์ กล่าวคือ แม้ว่ากฎหมายสัญชาติของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่ได้สมรสกันนั้นจะห้ามการสมรสเช่นว่านี้ก็ตาม หากกรณีปรากฏว่าคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสัญชาติของรัฐหรือมีถิ่นที่อยู่ประจำในรัฐที่มีกฎหมายยอมรับการสมรสระหว่างคนเพศเดียวกัน[2]

  

กฎหมายแคนาดา ลงวันที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ (Loi du 20 juill. 2005)[3] บัญญัติไว้ว่า การสมรส สามารถกระทำขึ้นระหว่างบุคคลต่างเพศ หรือระหว่างบุคคลเพศเดียวกันก็ได้ โดยที่ความสมบูรณ์หรือเป็นโมฆะของการสมรสนั้นหาได้ขึ้นอยู่กับการที่คู่สมรสมีเพศเดียวกันไม่ นอกจากนี้กฎหมายใหม่ของแคนาดายังได้ให้สิทธิเท่าเทียมกันระหว่างคู่สมรสเพศเดียวกันและต่างเพศกันในเรื่องของการสมรสเพื่อวัตถุประสงค์ในการอพยพหรือการเข้าเมืองอีกด้วย

การให้นิยามแก่คำว่า “การสมรส” เสียใหม่ โดยการใช้ถ้อยคำที่ครอบคลุมถึงทุกเพศยเป็นทางออกที่บรรดาประเทศที่ยอมรับกฎหมายดังกล่าวนี้ใช้กันโดยทั่วไป  สำหรับกรณีของฝรั่งเศสนั้น การสมรสระหว่างคู่รักเพศเดียวกันถือว่าขาดองค์ประกอบที่เราเรียกว่าองค์ประกอบทางธรรมชาติ หรือ élément naturel ของการสมรสตามกฎหมายฝรั่งเศส เนื่องจากมาตรา 144 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งใช้คำว่า “ชายและหญิง” ผลก็คือ กฎหมายถือว่าการสมรสระหว่างคนเพศเดียวกันมิได้มีอยู่ตั้งแต่ต้น (ไม่ใช่เรื่องโมฆกรรม)  

 

แนะนำให้อ่านเพิ่มเติม

American Christian Leaders Speak Out Against Anti-Homosexuality Laws http://www.humanrightsfirst.org/2012/07/24/american-christian-leaders-speak-out-against-anti-homosexuality-laws/

Honduran LGBT Activist Finds Safety in the UShttp://www.humanrightsfirst.org/2012/06/26/refugee-voices-honduran-lgbt-activist-finds-safety/

 

ต่อไปจะได้ศึกษาว่าผลของการสมรสระหว่างบุคคลเพศเดียวกันนั้นจะได้รับการรับรองมากน้อยเพียงใด อย่างไร ในอีกรัฐหนึ่ง



[1] โปรดดูมาตรา 30.1 ของกฎหมายลงวันที่ 21 ธันวาคม 2000 ดูคำแปลภาษาอังกฤษได้ที่  http://media.leidenuniv.nl/legacy/Translation%20of%20Dutch%20law%20on%20same-sex%20marriage.pdf

[2] โปรดดู Loi du 13 févr. 2003. มาตรา 3 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 143 ประกอบมาตรา 7 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 170 http://www.bruxelles.be/dwnld/79259746/wet%20openstelling%20huwelijk%20fr.pdf

หมายเลขบันทึก: 496030เขียนเมื่อ 26 กรกฎาคม 2012 01:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 สิงหาคม 2012 18:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

โลกเปลี่ยนไป....คนในสังคมเปลี่ยนไปนะคะ

ขอบคุณบทความดีดนี้นะคะ

ยินดีค่ะ :) นักกฎหมายก็ต้องก้าวให้ทันโลกเช่นกันค่ะ

เป็นการละเมิดทางเพศกันทั้งสองฝ่ายเลยนะครับ

สุดยอด อ.อ้อม จะทำเสวนาเรื่องนี้ก่อนเลยไหมคะ จะขอให้นักศึกษาห้องเรียนสิทธิมนุษยชนมาจัดเวทีให้ค่ะ พร้อมไหมคะ

พร้อมค่ะ. เพียงแต่ตอนนี้ยังขาดตอนที่ 2 อาจเก็บไว้สำหรับงานเสวนาค่ะ ประมาณช่วงไหนดีคะ


สรุปแล้วไทยเรายังไม่ยอมรับใช่ใหมค่ะ [จากสาวสองค่ะ]

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท