ยุ้ง(หลอง)ข้าว : ละเมียดแห่งศิลป์บนวิถีวัฒนธรรมที่ผันเปลี่ยน


วิกฤตอาหาร วิกฤตธรรมชาติที่กำลังเกิดขึ้น และมนุษย์เราต้องเผชิญ เราจะทบทวนถึงวิถีการใช้ชีวิต เรียนรู้ภูมิปัญญาบรรพชน เพื่อหมุนเปลี่ยนสังคมให้สมดุลระหว่างวัตถุ กับจิตใจ สอดคล้องต่อกาลสมัยและความเป็นพลโลกได้เช่นไร

         คติทางคนล้านนาในอดีตเชื่อว่า  การสร้างบ้านที่สมบูรณ์บริเวณบ้านจะต้องประกอบไปด้วย บ่อน้ำ  ยุ้งข้าวหรือหลองข้าว  ครกกระเดื่องและครัวไฟ    หากแต่ปัจจุบันเมื่อมีโรงสีข้าว  ครกกระเดื่องก็หายไปจากบ้าน  บ่อน้ำยังคงมีอยู่แต่การใช้ประโยชน์ลดน้อยลงเพราะใช้ประปาหมู่บ้าน เช่นเดียวกับยุ้ง(หลอง)ข้าว  ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนตามกาลสมัย   จากการศึกษาข้อมูลภาคสนามเกี่ยวกับยุ้ง(หลอง)ข้าวในชุมชนชนบทล้านนา   ได้พบข้อมูลที่น่าสนใจซึ่งสะท้อนภูมิปัญญาของบรรพชน ที่ซ่อนไว้ในสถาปัตยกรรม  เรื่องเล่า  คติความเชื่อและพิธีกรรมท้องถิ่น  ดังนี้

 ก. ยุ้ง(หลอง)ข้าวกับความมั่นคงของครัวเรือน

       ยุ้ง(หลอง)ข้าว เป็นของคู่กับบ้านเรือนของคนล้านนา    ใช้สำหรับเก็บข้าวเปลือกไว้กินได้ตลอดปี ที่เหลือจึงแบ่งขาย   ยุ้งข้าว  สะท้อนถึงความมั่นคงของครัวเรือน  ความอุดมสมบูรณ์ของชุมชน  หากชุมชนหรือครัวเรือนใด  ประกอบด้วยยุ้งข้าวขนาดใหญ่แสดงถึงสถานะทางเศรษฐกิจ  การถือครองที่ดินเพื่อการเพาะปลูก  ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรเพื่อการเกษตรและทักษะในการผลิตของเกษตรกร

        ยุ้ง(หลอง)ข้าวมีหลายแบบ และหลายขนาด ขึ้นอยู่กับความต้องการของเจ้าของ ขนาดของที่นาซึ่งใช้ผลิตข้าว  และวัสดุที่หาได้ เช่น ไม้จริง  ซึ่งนิยมใช้ไม้สัก  หรือไม้ไผ่ หลังคามุงด้วยดินขอ หรือใบตองตึงหรือใบหญ้าคา  ส่วนฝาด้านข้างอาจจะปิดทึบ  โดยส่วนบนของฝาด้านข้างอาจใส่ตะแกรงหรือใช้ไม้ระแนงตีเพื่อให้อากาศถ่ายเทและป้องกันสัตว์ไม่ให้มากินข้าวเปลือก 

        1.ยุ้งข้าวที่เป็นแบบชั่วคราว  นิยมสร้างเป็นโรงเรือนไม้ขนาดเล็ก  หลังคามุงหญ้าคา  ใบตองตึง หรือสังกะสี  มีลักษณะเปิดโล่ง  ใช้เสวียนสำหรับเก็บข้าวเปลือก     เสวียนเป็นเครื่องใช้  สำหรับบรรจุข้าวเปลือกของชาวนา  โดยทำจากไม้ไผ่  ขัดสานเป็นรูปทรงกลม   ใช้ขี้ควายทาปิดโดยรอบ  เพื่ออุดรอยรั่วของไม้ไผ่ที่สาน  เสวียนมีหลายขนาด ความสูงและความกว้างของเสวียนไม่แน่นอน แล้วแต่ความต้องการของผู้ใช้ เสวียนที่มีขนาดใหญ่มากจะมีประตูเข้า-ออกบริเวณส่วนล่าง   โดยทั่วไปเสวียนมี 2 ลักษณะ คือทรงกลม และทรงก้นสี่เหลี่ยม เสวียนที่มีลักษณะทรงกลมด้านบนจะสอบเล็กกว่าด้านล่างเล็กน้อย โดยปล่อยส่วนล่างและส่วนปากให้ว่างไว้ บางคนจะเอาฟางมามัดต่อๆ กันให้แน่น เรียกว่า “ไส้ช้าง” ปิดส่วนล่างด้านนอกของเสวียน

        ส่วนล่างของเสวียนจะสานเป็นตาข่ายตาห่างๆ รูปทรงสี่เหลี่ยมสำหรับเสวียนก้นสี่เหลี่ยมทำจากไม้ไผ่สานเช่นเดียวกับเสวียนทรงกลม ต่างกันเพียงรูปทรงและส่วนล่างของเสวียนจะสานเป็นตาข่ายตาห่างๆ รูปทรงสี่เหลี่ยม 

        โดยทั่วไปชาวนาจะนิยมตั้งเสวียนไว้บนเพิงยกพื้นสูงประมาณเมตรเศษเรียกว่า“ร้านเสวียน”ด้านบนของร้านเสวียนมีหลังคามุงด้วยใบตองตึงหรือใบหญ้าคา ด้านข้างทั้ง 4 ด้านปล่อยโล่งไว้ ไม่มีบันไดขึ้นที่ถาวร   ปัจจุบันหมู่บ้านชนบทหลายแห่งยังมีการใช้เสวียนเพื่อเก็บข้าวเปลือกสำหรับครัวเรือน

         2.ยุ้ง(หลอง)ข้าวแบบถาวร   เป็นอาคารไม้ใต้ถุนสูง หลายแห่งใต้ถุนสูงอาจกว่าเรือนอาศัย ขนาดของยุ้ง(หลอง)ข้าวกำหนดจากจำนวนเสา   ซึ่งมีตั้งแต่ขนาดเล็ก  4 – 6 เสา  ขนาดกลาง 8 – 10 เสาและขนาดใหญ่ 12 เสาขึ้นไป    เสาหลองข้าวนิยมใช้ไม้ต้นเดียวขนาดเล็กใหญ่สัมพันธ์กับจำนวนเสาของหลองข้าว  หากหลองข้าวขนาดใหญ่  มีเสาจำนวนมาก ก็นิยมใช้เสาขนาดใหญ่  บางแห่งมีเสาขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 40 เซนติเมตร  โดยหลองข้าวโบราณนั้นเสาจะฝังเสาลงบนพื้นดิน

         พ่ออุ้ยแม่อุ้ยเล่าว่า  สาเหตุที่คนโบราณต้องใช้เสาไม้ใหญ่เป็นเสาหลองข้าว เพราะต้องการให้แข็งแรง   สามารถรองรับน้ำหนักข้าว  หรือเพื่อป้องกันช้างมาทำลายเพื่อกินข้าว   เช่นเดียวกับแวง(รอด) ก็จะมีขนาดใหญ่  โดยบางแห่งมีขนาดประมาณ ๑๕ x ๒๕ เซนติเมตร   หรืออีกนัยหนึ่ง  บริเวณใต้ยุ้งข้าว   ชาวบ้านจะนิยมเก็บอุปกรณ์เพื่อการทำนา  เช่น  แอก ไถ คราด  ครุ   หรือบางแห่งก็นิยมใช้พื้นที่ใต้หลองข้าวสำหรับเลี้ยงวัวควาย  ซึ่งก็ใช้เสาหลองข้าวสำหรับผูกเชือกวัวควาย 

                                          

ข. ละเมียดศิลป์และภูมิปัญญาที่แฝงเร้นของยุ้ง(หลอง)ข้าวโบราณ

         ความคิดการออกแบบทางวิศวกรรมยุ้งข้าวของคนโบราณน่าชื่นชมยิ่งนัก  ทั้งการออกแบบโครงสร้าง   ที่จะใช้เสาไม้ขนาดใหญ่ทั้งต้นเพื่อให้เกิดความแข็งแรงสามารถรองรับน้ำหนักของข้าวที่จะจัดเก็บในยุ้ง ที่น่าสนใจยิ่งคือ   การตั้งเสาจะไม่ตั้งเสาตรงเช่นการสร้างอาคารโรงเรือนทั่วไป   หากแต่จะตั้งเสาคู้สองแถวในลักษณะสอบส่วนบนเข้าหากัน เหมือนเรือนฝาปะกนของภาคกลาง   โครงสร้างของหลองข้าว จะคล้ายกับเรือนกาแล คือมี เสา แวง ตง ส่วนเครื่องบน ประกอบด้วย ขื่อ แป หัวเสา อกไก่ และอื่น ๆ เช่นเรือนกาแล 

            สอบถามผู้สูงอายุได้ความว่า   การตั้งเสาลักษณะเช่นนี้เพื่อให้เกิดความมั่นคง  เปรียบดังร่างกายของคนเราหากยืนตรง  หากถูกผลักจะเคลื่อนตามแรงผลักได้ง่าย  แต่หากยืนกางเท้าออกเมื่อถูกผลักไม่ว่า   ด้านซ้าย หรือขวา  ก็จะไม่ล้มง่าย ๆ 

          โครงหลังคาของยุ้งข้าวโบราณ   จึงมีลักษณะทั้งที่เป็นทรงจั่วหลังคาลาดคลุม ตัวหลอง(ยุ้ง)ต่ำ จั่วมีขนาดเล็ก   และหลังคาทรงคล้ายเรือนกาแล   อาจมีกาแลหรือไม่มีกาแลประดับปั้นลม   โดยทั้งสองแบบจะเน้นระบายอากาศและมีชายคายาวคลุมระเบียง  เพื่อกันแดดฝน  

            เอกลักษณ์ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของยุ้งข้าวโบราณล้านนาคือ จะนิยมทำระเบียงล้อมรอบ เรียกว่า  เพลัย  ซึ่งอาจมีเสารับระเบียงควบคู่กันไปด้วย เสาระเบียงจะปักลงดินเช่นกัน แต่มีขนาดเล็กกว่า    บริเวณรอบนอกของระเบียงอาจปล่อยโล่ง หรือมีไม้ฉลุเป็นแผ่น ๆ ติดโดยรอบ ทำให้ดูสวยงาม และระเบียงโดยรอบห้องเก็บข้าวนี้  จะใช้เป็นพื้นที่เพื่อจัดเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวสำหรับเพาะปลูกในปีต่อไป  และเก็บเมล็ดพันธุ์ชนิดต่าง ๆ  ซึ่งครัวเรือนจะมีการคัดเลือกและจัดเก็บเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพดีเพื่อการเพาะปลูกในฤดูกาลต่อไป  

          พ่ออุ้ยคำ  อายุ  75 ปี เล่าว่า  “คนแต่ก่อน(โบราณ) คิดละเอียดมองกาลไกล  ข้าวก็แยกว่าส่วนไหนกิน  ส่วนไหนขายและส่วนไหนเป็นเชื้อพันธุ์    การตักข้าวมีกินก็ให้ใช้สติระมัดระวังไม่กินข้าวทิ้งขว้าง   ใต้ถุนหลองข้าวก็ใช้เก็บของหรือเลี้ยงสัตว์  ระเบียงหลองข้าวก็ใช้เก็บเชื้อพันธุ์พืชสำหรับครัวเรือนไว้ปลูกกิน ที่เหลือจึงขาย  ทำให้คนสมัยก่อนพึ่งตัวเองได้  และเหลือสายพันธุ์พืชท้องถิ่นไว้ให้ลูกหลาน  และที่สำคัญระเบียงนี้เองที่เป็นส่วนกั้นความร้อนจากแสงแดดและความชื่นจากน้ำหรือละอองฝนไม่ให้ปะทะกับข้าวเปลือกที่เก็บไว้ในหลองหรือยุ้งข้าว  ทำให้สามารถเก็บรักษาข้าวไว้ได้นานและมีคุณภาพสำหรับการกิน ไม่แข็งหรือชื้นเสีย”

 

รูปยุ้งข้าวบ้านอมลอง

         บริเวณส่วนตัวเรือนยุ้ง(หลอง)ข้าว  จะประกอบด้วย  ห้องเก็บข้าวสองห้อง  สำหรับเก็บข้าวไว้เพื่อขายและเพื่อบริโภค  มีห้องกลางหรือหลองพรางหรือหลองข้าวด่วน สำหรับเก็บข้าวสำรอง  สำหรับการใช้ข้าวในยามฉุกเฉิน โดยไม่จำเป็นต้องหาฤกษ์วันที่เหมาะสม    ในส่วนของบริเวณห้องเก็บข้าวเปลือกจะนิยมทำประตูหรือช่องสำหรับปีนเข้า-ออกไว้ด้านหนึ่ง  ลักษณะของประตูห้องที่เก็บข้าวเปลือก   โดยจะไม่ทำประตูแบบเปิด-ปิดเหมือนประตูบ้านแต่จะเจาะเป็นช่องทำเป็นร่องไว้สองข้าง  สำหรับใช้ไม้กระดานเสียบ    โดยแผ่นไม้กระดานมักจะมีความกว้างประมาณ ๑๕ เซนติเมตร    เวลาใช้จะเรียงแผ่นต่อๆ กัน     ขนาดจำนวนแผ่นของไม้กระดานที่เสียบมาก-น้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับจำนวนข้าวเปลือกในแต่ละปี   โดยเจ้าของยุ้งข้าว  จะเขียนตัวเลขกำกับไว้ที่แผ่นไม้กระดานเรียงลำดับตั้งแต่หมายเลขหนึ่งเป็นต้นไป   มากน้อยขึ้นอยู่กับจำนวนข้าวและขนาดของยุ้งข้าว   การเขียนหมายเลยติดแผ่นไม้ประตูนี้  เพื่อประโยชน์คือ  ให้ใส่แผ่นไม้คืนอย่างถูกต้องหลังจากเปิดเข้าห้องเก็บข้าวและบอกถึงปริมาณมากน้อยของข้าวที่มีอยู่

        บริเวณที่ข้างประตูห้องเก็บข้าวจะมี ปักขทืนกระด้าง คือ ปฏิทินถาวร ซึ่งเป็นแผ่นไม้ขนาดประมาณ ๖ x ๒๕ เซนติเมตรแขวนไว้   บนผิวของแผ่นไม้นี้จะขีดช่องทำเป็นตารางไว้สามแถว แถวบนบอกวันข้างขึ้น แถวกลางบอกเดือน และแถวล่างบอกวันข้างแรม โดยมีสัญลักษณ์บอกไว้ว่า 

        วันไหน เหมาะแก่การเอาข้าวออกจากยุ้ง และวันไหน ห้ามการนำข้าวออกจากยุ้ง   ซึ่งจากตำราแผนโบราณพื้นเมือง ระบุไว้ว่า วันที่ควรนำข้าวออกจากยุ้ง คือ  เดือนใดก็ตาม ขึ้น ๕ , ๖ , ๗ ค่ำ ดี  ขึ้น ๑๐ และ ๑๑ ค่ำ ดีนัก   แรม ๖ , ๑๐ ค่ำ ดี  แรม ๑ ,๒ ,๓ ,๔ ,๑๒ , ๑๓ , ๑๔ , ๑๕ ค่ำ ดีนัก

        เชื่อกันว่าหากมิได้ปฏิบัติตามพิธีดังกล่าวมาข้างต้น ข้าวจะเปลือง หรือหมดเร็ว เพราะมีผีมาขโมยเอาไปกิน เล่ากันว่าที่ในถ้ำแกลบ ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเชียงดาว ในถ้ำจะมีแกลบอยู่ทั่วไป เก่าบ้างใหม่บ้าง เชื่อว่าเป็นแกลบจากข้าวที่ผีขโมยไปกิน

           ในอดีตชาวนาล้านนามีธรรมเนียมปฏิบัติคือ   จะมีหลองพราง หรือหลองข้าวด่วนไว้บนยุ้งข้าวด้วย  สำหรับหลองข้าวขนาดใหญ่อาจใช้วิธีการกั้นห้องกลาง  หรืออาจใช้เปี้ยด(กระบุง) หรือภาชนะสานขนาดใหญ่ ยาด้วยมูลวัว มูลควายสำหรับบรรจุข้าวเปลือกสำรองไว้ใช้เมื่อยามข้าวสารหมดโดยไม่ติดขัดฤกษ์วัน   หรือใช้สำหรับการแบ่งข้าวมาเพื่อบริโภคจากห้องเก็บข่าวเปลือกใหญ่   ดังนั้นเมื่อถึงวันดีที่ควรนำข้าวออกจากยุ้ง  ชาวบ้านก็จะนิยมตักข้าวเปลือก ออกมาพักไว้ที่หลองพราง หรือหลองข้าวด่วนนี้ เมื่อข้าวสารขาดมือลง ก็จะมาตักไปจากยุ้งสำรองเพื่อการบริโภคได้โดยไม่ติดขัด   ปัจจุบันความเชื่อนี้เริ่มลดหายไป  เหลือปฏิบัติเพียงในครัวเรือนที่มีคนสูงอายุเท่านั้น  

          นอกจากนี้  ผู้สูงอายุในชุมชนยังเล่าว่า   ยุ้งข้าวล้านนาโบราณ  จะไม่การสร้างบันได้ถาวร  หากแต่จะใช้กระไดพาด  สำหรับปีนขึ้นยุ้งข้าว  เป็นครั้งคราว   โดยเหตุผลป้องกันการลักขโมยข้าวเปลือก  และในอดีตคนรุ่นปู่ย่าตายายเคยสร้างยุ้งข้าวกับบ้านเชื่อมต่อกัน    

ค. คติธรรมในการสร้างยุ้ง(หลอง)ข้าว

          เนื่องจาก ยุ้ง(หลอง)ข้าว เป็นสิ่งปลูกสร้างที่สำคัญต่อวิถีชีวิตของครัวเรือนเป็นอันมากทั้งในแง่การผลิตและการบริโภค ดังนั้นในการที่ปลูกสร้างยุ้งข้าว จึงเป็นเรื่องที่จะต้องกระทำด้วยความรอบคอบ   มีการกำหนดตำแหน่งในการปลูกสร้าง  ปัจจุบันชาวบ้านหลายแห่งยังคงยึดมั่นในตำราแผนโบราณพื้นเมืองเกี่ยวกับ การปลูกสร้างยุ้งข้าว เพื่อให้อุดมสมบูรณ์ด้วยข้าวปลาอาหาร   จะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนด ดังนี้

            1.  ลูกคนหัวปี ให้ปลูกหลองข้าวทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเรือน
            2.  ลูกคนที่สอง ให้ปลูกหลองข้าวทางทิศตะวันออกของเรือน
            3.  ลูกคนที่สาม ให้ปลูกหลองข้าวทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเรือน
            4.  ลูกคนที่สี่ ให้ปลูกหลองข้าวทางทิศใต้ของเรือน
            5. ลูกคนที่ห้า ให้ปลูกหลองข้าวทางทิศตะวันตกของเรือน
            6. ลูกคนที่หก ให้ปลูกหลองข้าวทางทิศเหนือของเรือน
            7. ลูกคนที่เจ็ด ให้ปลูกหลองข้าวทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเรือน
            8. ลูกคนที่แปด ให้ปลูกหลองข้าวทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเรือน
            9. ลูกคนที่เก้า ให้ปลูกหลองข้าวทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเรือน
           10. ลูกคนที่สิบ ให้ปลูกหลองข้าวทางทิศตะวันออกของเรือน

            ส่วนลูกคนที่ 11 , 12 , 13.. ให้ ไล่วนไปตามลำดับที่กล่าวไว้แล้วนั้น
         ลักษณะความเชื่อเกี่ยวกับทิศนี้  คล้ายความเชื่อของชาวลั๊วะซึ่งเป็นคนพื้นเมืองดั้งเดิม ที่ผสมผสานความเชื่อของพราหมณ์เกี่ยวกับจักรวาลวิทยา  ที่มองบ้านเหมือนเป็นศูนย์รวมของทิศทั้งแปด  หรือคาถามงคลจักรวาล 8 ทิศ ทางพุทธศาสนา ที่เชื่อว่า  มีพุทธานุภาพปกป้องกันภัยอันตรายต่างๆ  อีกทั้งคติความเชื่อเกี่ยวกับการสร้างหลอง(ยุ้ง)ข้าวของชาวล้านนา ยังมีความ

สัมพันธ์กับการสร้างบ้านเรือน   กล่าวคือ ชาวล้านนาจะให้ความสำคัญเรื่องฤกษ์มาก เพราะเชื่อกันว่า หากปลูกเรือนใน "มื้อจั๋น วันดี" คือฤกษ์ที่เหมาะสมแล้ว  ผู้อาศัยย่อมมีความสุขความเจริญ ความร่มเย็นเป็นสุข ความเป็นสิริมงคลและมีโชคลาภแก่เจ้าของบ้าน ครอบครัวตลอดจนข้าทาสบริวารอย่างยืนยาวต่อไป   ทั้งยังคำนึงถึงความสัมพันธ์กับธรรมชาติ การเกษตรและวิถีชีวิตผู้คน  ทั้งยังมีคติความเชื่อต่อพระ เจ้า ผีสาง เทวดา แหล่งทรัพยากรธรรมชาติ เช่น แผ่นดิน สายน้ำ ทางลม ฯลฯ     ทั้งนี้พ่ออุ้ยแก้ว  อายุ  70 ปี เล่าว่า 

        “  หลอง(ยุ้ง) ข้าวหลังเดิม  พ่อได้รับสืบทอดมาจากพ่อแม่   มีปัญหาเสาผุและหลังคาก็รั่ว  จึงรื้อและปลูกใหม่   ก็ใช้จารีตเดิม  โดยการปลูกที่เดิมหรือการใกล้ ๆ ที่เดิม  เพราะคิดว่า  ตำแหน่งเดิมดีอยู่แล้ว  เริ่มจากการหาฤกษ์วันเวลาดี แล้วทำพิธีขุดหลุมเสา โดยทำพิธีขอที่ดินกับพญานาคก่อนเพราะพญานาคเป็นสัตว์มีอิทธิฤทธิ์เป็นเจ้าแผ่นดิน จะอำนวยความสุขหรือภัยพิบัติให้มนุษย์ได้     ฉะนั้นต้องบูชาเซ่นสรวงผู้เป็นเจ้าเสียก่อน ในพิธีจะมีปู่อาจารย์เป็นผู้ทำพิธีขึ้นท้าวทั้งสี่ให้” เพื่อจะได้เป็นสิริมงคลแก่เจ้าของบ้าน” 

 

จ. ยุ้ง(หลอง)ข้าว วัฒนธรรมข้าวและวิถีชาวนา

 

              วิถีชาวนาในชุมชนชนบท   มีความคล้ายคลึงกับชาวนาภูมิภาคอื่น ๆ คือ การบูชาแม่โพสพหรือย่าขวัญข้าว  ผู้เป็นเทพีแห่งข้าว  โดยเชื่อว่า  หากปฏิบัติต่อแม่โพสพด้วยความเคารพจะได้รับความอุดมสมบูรณ์ในการเพาะปลูกข้าว   ทั้งเชื่อว่า   ข้าวมีพระคุณสูงสูดต่อชีวิตคน  ดังคำกล่าวว่า   “ข้าวเป็นเจ้า  น้ำเป็นนาย”   ดังนั้นจึงมีพิธีกรรมความเชื่อหลายประการเกี่ยวกับข้าว    สำหรับพิธีกรรมหลังการเก็บเกี่ยว   ก่อนการนำข้าวสู่ยุ้งข้าว  ชาวนาจะทำพิธีขอขมาและขอบคุณแม่โพสพ และเชิญแม่โพสพหรือข้าวขึ้นสู่ยุ้งข้าว  โดยเชื่อว่า  จะทำให้ข้าวไม่หายและหมดไปจากยุ้งเร็ว   โดยจะเลือกทำพิธีในวันที่ขนข้าวขึ้นหลองยุ้งเสร็จแล้ว หากไม่ทันก็อาจทำในวันรุ่งขึ้นก็ได้

              พิธีกรรมทำแบบเรียบง่าย ประกอบด้วยเครื่องบูชาคือ  ข้าว ไข่ต้ม กล้วย ๑ ผลขนมต่าง ๆ ดอกไม้ ธูปเทียน จัดใส่กระทงใบตองหรือพานเล็ก ๆ   ผู้ที่เป็นพ่อนา(ผู้ทำนา)จะใช้ไม้ไผ่ยาวประมาณ ๒ เมตร ปล้องของไม้บนสุดทุบให้แตกเป็นซีก ๆ แล้วดุนให้ถ่างออกป่องตรงกลาง คล้ายกับที่เรียกกันว่ารังมดส้ม (มดแดง)   และไม้นะโมตาบอด พร้อมด้วยรวงข้าวที่เก็บจากนาไว้ก่อนนั้น  เมื่อไปถึงพ่อนา(ผู้ทำนา)จะฝังหรือปักไม้ไผ่ที่เป็นรังมดแดงกลางตาลาง  (ลานนวดข้าว) เอากระทงใบตองซึ่งบรรจุเครื่องบูชาใส่ปลายไม้ไผ่รูปรังมดแดง ผูกรวงข้าวแขวนลงในกระทง ปักไม้นะโมตาบอดซึ่งเป็นเครื่องป้องกันมิให้ผีมาขโมยข้าวไว้ที่ 4 มุมของลาน แล้วจุดธูปเทียน

             ผู้หญิงในครัวเรือนจะใช้ทัพพีกวักไปรอบ ๆ ในบริเวณนั้น เพื่อกวักเอาขวัญข้าวให้มาอยู่รวมกัน ด้วยการพูดเป็นโวหารเอาเอง ด้วยคำที่เป็นมงคลเมื่อเสร็จพิธีแล้วจึงหยิบเอาเมล็ดข้าวที่ตกบริเวณนั้นสัก 2 - 3 เม็ด หรือจะหยิบเอาเศษฟางก็ได้สมมุติว่าเป็นขวัญของข้าวใส่ในกระทงใบตอง นำเอากระทง และไม้นะโมตาบอดกลับบ้าน   ปักไม้นะโมตาบอดไว้ที่ ๔ มุม ในหลอง(ยุ้ง)ข้าวแล้วเอากระทงขวัญข้าววางไว้จุดใดจุดหนึ่งในยุ้งข้าว  แล้วเอากระดองเต่า หรือฟักเขียว วางไว้ข้างบนข้าว โดยเปรียบสมมติว่า  เพื่อให้เต่าหรือฟักคอยกกฟักให้ข้าวอยู่นาน ๆ เหมือนกับเต่าฟักไข่ พร้อมกับกล่าวออกเสียงเบา ๆ ว่า

               “ขอให้ข้าวจงอยู่ในนี้เน่อ อย่าได้ออกไปทางใด เพราะว่าเดือน 4 เพิ่นจักปล่อยช้างปล่อยม้า เดือน 5 เพิ่นจักปล่อยงัวปล่อยควาย (ขอให้ข้าวจงอยู่ในยุ้งนะ อย่าได้ออกไปที่ไหน เพราะว่า เดือน 4 เขาจะปล่อยช้างปล่อยม้า  เดือน 5 เขาจะปล่อยวัวควาย  ”   ซึ่งคำกล่าวนี้ดูเสมือนเป็นการสอนเตือนข้าวไม่ให้ออกไปเที่ยวเล่นที่แห่งใดเกรงว่าจะได้รับอันตรายถูกช้างม้าวัวควายเหยียบ

  

ฉ. ยุ้ง(หลอง)ข้าว : กระบวนทัศน์บนวัฒนธรรมที่ผันเปลี่ยน

 

            ปัจจุบันยุ้งข้าวแบบล้านนาโบราณ  ซึ่งเคยอยู่เคียงคู่เรือนล้านนา   ได้เริ่มสูญหายไปจากชุมชนชน  ด้วยเหตุผลมากมายอาท

     1. ความละเมียดละไมแห่งศิลป์ VS การดูแลรักษาและการใช้งาน

           ยุ้งข้าวล้านนา  มีลักษณะเป็นเสาไม้กลม  ฝังลงดิน  หลังคานิยมมุงด้วยดินขอ(กระเบื้องดินเผาขนาดเล็ก)  ส่วนใหญ่มีอายุประมาณ 40 ปีขึ้นปี  ทำให้เริ่มมีปัญหาเรื่องการผุกร่อน  การรื้อเพื่อสร้างใหม่ต้องใช้กำลังทรัพย์จำนวนมาก  และข้อห้ามการนำหลอง(ยุ้ง)ข้าวไปปรับสร้างเป็นบ้านเรือน    ประกอบกับมีพ่อค้ามาติดต่อขอซื้อในราคาสูง  ทำให้ชาวบ้านจำนวนมากตัดสินใจขายยุ้งข้าว แบบโบราณที่สืบทอด  และปรับเปลี่ยนเป็นยุ้งข้าวสมัยใหม่  โดยให้เหตุผลว่า   ยุ้งข้าวโบราณมีใต้ถุนสูง  ไม่สะดวกต่อการเก็บและขนย้ายข้าว จึงเลือกสร้างยุ้งข้าว แบบใต้ถุนเตี้ย และสร้างแบบประหยัด ลดรูปทรงทั้งหลังคา  และระเบียง   ดังคำบอกเล่าของพ่อบุญมี    วัย  80  ปี  เล่าว่า

           “หลองข้าวรุ่นเก่า  เขาว่า  มันสูงใส่ข้าวตักข้าวยาก  ต้องใช้แรงงานคนหลายคน  ทั้งมันใช้งานมาก่อน  เสาที่ฝังดินก็ผุ  หลังคาก็รั่ว  ซ่อมก็ใช้เงินเยอะ   จะรื้อเอาไม้มาทำบ้านก็ไม่ได้ เพราะคนแต่ก่อนสั่งสอนกันว่า  ไม่ให้นำไม้หลอง(ยุ้ง)ข้าวมาทำบ้านเรือน  มันจะเป็นขึด(ข้อห้ามหรือสิ่งไม่ดี)  แก่คนทำและคนที่อาศัย  เพราะเราถือว่า  หลอง(ยุ้ง) ข้าวเป็นของสูงสำหรับใส่ข้าว  ใครดื้อรื้นไม่เชื่อตาม  ก็จะพบเรื่องไม่ดีในชีวิต   คนรุ่นใหม่จึงนิยมทำหลองข้างเตี้ย และขายหลองข้าวเก่าเพราะราคาดี   และหลองข้าวเก่าก็สู้ขึดของคนรวยนายทุนและความเจริญสมัยใหม่ไม่ได้ หลอง(ยุ้ง)ข้าวบ้านเรา  จึงไปเป็นบ้านพักคนรวย”

 

       3.ชาวนา VS มุมมองคนรุ่นใหม่

        หากไปเยี่ยมเยือนท้องทุ่งนาในยามเพาะปลูกหรือเก็บเกี่ยวจะพบว่า  คนที่ทำนาส่วนใหญ่เป็นคนวันกลางคนตั้งแต่สี่สิบปีขึ้นไป   คนวัยหนุ่มสาวก็เรียนต่อในระดับสูงและนิยมทำงานห้างร้าน  ดังนั้นหลายแห่งจึงนิยมใช้แรงงานคนต่างด้าวเพื่อทำนา    ทำให้น่าหวงใยต่อสถานการณ์คนทำนาในอนาคตว่า จะลดลงเรื่อย ๆ  ดังคำบอกเล่าของพ่อแก้วเมือง  วัย  70 ปี    

        “สิ่งที่พ่อหวงคือ  คนรุ่นใหม่เรียนหนังสือ และไปทำงานบริษัทห้างร้านหรือรับราชการ  ตอนนี้คนทำนาคือ  คนรุ่นสี่สิบปีขึ้นไป  ในอนาคตเราอาจต้องจ้างคนชาวเขาหรือคนพม่า มาปลูกข้าว  หรือต้องจ้างรถเกี่ยวข้าวเช่นคนในหมู่บ้านอื่น ๆ    และหากราคาปุ๋ยยาแพงขึ้น  ทำให้ต้นทุนการทำนาของเราสูง  ในขณะที่ราคาข้าวก็ไม่แพง   ชาวนาเหลือรายได้ไม่มาก  ยิ่งหากเผชิญกับปัญหาฝนแล้ง น้ำท่วม หรือเพลี้ยระบาด ข้าวเป็นโรค เรายิ่งแย่  เป็นเช่นนี้ชาวนาที่ได้ชื่อว่าเป็นกระดูกสันหลังของประเทศจะอยู่อย่างมีศักดิศรีได้อย่างไร   และจะมีใครอยากให้ลูกหลานเป็นชาวนา   และหากที่นาไม่มีคนทำ  หรือชาวนาปลูกพืชอย่างอื่นแทนข้าว เช่น  ลำไย    หลอง(ยุ้ง)ข้าวก็หมดบทบาท เหมือนพื้นที่ที่อยู่ใกล้เมือง”

 

4.  คุณค่า VS มูลค่า บนวิถีที่เป็นอื่น

         มีคำกล่าวว่า  ในสังคมที่แข่งขัน  คนรุ่นใหม่ทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยความรีบเร่ง และคำนึงถึงเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ทำให้ศิลปะหลายอย่างสะท้อนสภาพความคิดที่เสมือนลดทอนสุนทรียภาพทางจิตวิญญาณ   เช่นเดียวกับการสร้างยุ้งข้าวของชาวนาในปัจจุบัน  ที่สร้างแบบประหยัดทรัพยากร   ลดองค์ประกอบหลายด้าน เช่น  หลังคา  เสา  ระเบียง  ซึ่งไม่ใช่เพียงความงามที่ลดลง  หากแต่คุณค่าใช้สอยที่เปลี่ยนไป  ทั้งโดยการรู้หรือไม่รู้เท่าทันต่อคุณค่าของสถาบัตยกรรมยุ้ง(หลอง)ข้าวล้านนาแบบดั้งเดิม   ดังที่พ่ออุ้ยหนานปันที่เล่าว่า    

             “คนรุ่นใหม่หลายคนมองว่า  หลองข้าวรุ่นเก่า   ไม่สะดวกสำหรับการเก็บและใช้ข้าว เพราะใต้ถุนสูง   ต้องใช้กระไดพาดขึ้นไป  เวลาจะนำข้าวใส่หลอง(ยุ้ง)หรือตักข้าวออกก็ลำบาก ต้องใช้แรงงานคนมาก   ประกอบกับเสาหลองข้าวรุ่นเก่าที่เป็นเสาฝังดินเริ่มผุ   หลังคารุ่นเก่าที่ใช้ดินขอ(ดินเผาแผ่นเล็ก) ก็ชำรุด  ดูแลยาก  ดังนั้นเมื่อมีคนภายนอกมาขอซื้อให้ราคาดีก็ขาย  หลังละ 5 หมื่น – 2 แสนบาท     และมาปลูกหลองข้าวยกพื้นแบบเตี้ย ๆ ไม่ต้องปีนบันไดสูง  บางหลังลดรูปหลังคาแบนเตี้ยชายคาสั้น  และไม่มีระเบียงเหมือนเดิม  ผลก็คือ  อาจสะดวกในการใช้แต่ส่งผลในการเก็บรักษาข้าว  เพราะทำให้แสงแดด  ไอฝน ปะทะโดนผนังห้องเก็บข้าว  ทำให้ข้าวชื้นหรือแห้งเกินไป  เวลาไปขัดสี เมล็ดข้าวจะหักง่าย”

             “มีบางคนไม่ถามคนเก่าแก่เรื่องหลอง(ยุ้ง)ข้าว  คิดสบายโดยการก่อสร้างหลองข้าวแบบเตี้ยไม่ยกพื้น  ใช้วิธีการเทราดพื้นซีเมนต์  และใช้สาดกะลาปู จากนั้นใส่ข้าวทับ  ปรากฏว่า  เมื่อฝนตกข้าวชื้นเป็นรา เพราะไอน้ำซึมผ่านซีเมนต์เข้าสู่ข้าวเปลือก”

           เรื่องเล่าทั้งหมดนี้   สะท้อนถึงการขาดช่วงในการสืบทอดความรู้เกี่ยวกับยุ้ง(หลอง)ข้าวของคนล้านนา    นับจากคติความเชื่อในการสร้างยุ้งข้าวของชาวล้านนา ที่มิใช่เพียงความสวยงามด้านสถาปัตยกรรมที่มีเสน่ห์เฉพาะตัว   หากแต่ผสมผสานกับภูมิปัญญาเกี่ยวกับสภาพแวดล้อม  หลักธรรมและสะท้อนวิถีชีวิตของผู้คนอย่างเหมาะสมกลมกลืน      อีกทั้งอิทธิพลของกระแสโลกาภิวัตน์  ที่รุกเร้าสู่ชุมชนชนบท และส่งผลต่อวิถีชีวิตชนบทที่เคยเรียบง่าย  เริ่มรีบเร่งเพราะทุนนิยม  การเกษตรแบบพึ่งตนเองอย่างพอเพียง ปรับเปลี่ยนเป็นเกษตรเพื่อการค้า  การทำนาเพื่อได้ข้าวสำหรับกิน  ปรับเปลี่ยนเป็นทำนาเพื่อได้ข้าวสำหรับขาย  ยุ้งข้าวที่เคยทำหน้าที่ใส่ข้าวไว้กินทั้งปีและแบ่งส่วนที่เหลือขายในปลายปี  ก็เปลี่ยนไปเช่นกัน   ยุ้งข้าวโบราณของหลายบ้านไม่ได้ใช้เก็บข้าวเพราะความไม่สะดวกในการจัดเก็บ   และเมื่อเงินคือสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนชีวิตในสังคม  ยุ้ง(หลอง)ข้าวโบราณที่ได้รับการเสนอราคาแพง  จึงถูกขายแก่พ่อค้า  คติที่ว่า บ้านเรือนที่สมบูรณ์ต้องมียุ้ง(หลอง) ข้าวเคียงข้างจึงเปลี่ยนเป็นปัจจัยอื่นแทน

           ภายใต้เงื่อนไขต่าง ๆ ดังกล่าว  เมื่อชาวนาในชนบทไม่สามารถธำรงรักษายุ้ง(หลอง)ข้าวถาวรแบบเดิม โดยเลือกสร้างและใช้ยุ้งข้าวแบบใหม่  จึงเกิดข้อจำกัดหลายประการ เช่น   ความชื้น   กลิ่นอับ   ความร้อน   ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพของข้าวเพื่อการบริโภคและเป็นเมล็ดพันธุ์ ทั้งยังกระเทือนถึงความหลากหลายของสายพันธุ์ข้าวซึ่งเปรียบเสมือนความมั่นคงของชาวนาและชุมชน

           คงเป็นคำถามว่า  วิกฤตอาหาร วิกฤตธรรมชาติที่กำลังเกิดขึ้น  และมนุษย์เราต้องเผชิญ  เราจะทบทวนถึงวิถีการใช้ชีวิต  เรียนรู้ภูมิปัญญาบรรพชน  เพื่อหมุนเปลี่ยนสังคมให้สมดุลระหว่างวัตถุ  กับจิตใจ สอดคล้องต่อกาลสมัยและความเป็นพลโลกได้เช่นไร

           บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายงานวิจัยเรื่อง  การพัฒนาระบบยุ้งข้าวเปลือกที่ควบคุมความชื้นข้าวด้วยระบบปั้มความร้อน ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา

 

หมายเลขบันทึก: 495908เขียนเมื่อ 25 กรกฎาคม 2012 08:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กรกฎาคม 2012 08:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท