กับวันทำงานในฤดูฝน ณ คลินิกกฎหมายอุ้มผาง


ถ้าผมบอกว่าที่อุ้มผาง ณ ตอนนี้สวยมาก ใครจะเชื่อบ้าง?

ตั้งแต่เช้า มานั่งกรอกข้อมูลและตรวจสอบเอกสาร กรณีเร่งด่วนที่เข้ามา จากนั้นแยกแยะเอกสารของกรณีศึกษาต่างๆที่ได้รับเพิ่มเติมเข้าแฟ้มข้อมูล ทั้งสำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาสูติบัตร ทะเบียนสมรส รวบรวมเข้าแฟ้มจะได้ดูว่า ความคืบหน้าของกรณีต่างๆเป็นอย่างไร และจะต้องวางแผนอย่างไรต่อไป(เพราะจากการติดตามความคืบหน้าของการทำงานในช่วงโครงการจัดตั้งคลินิกกฎหมายอุ้มผางประมาณปีที่แล้ว มีหลายกรณีที่รวบรวมเอกสารเกือบครบแล้ว แต่บางกรณีก็ต้องติดตามเอกสารที่ยังขาดอยู่ ) อ่านซ้ำอีกครั้งแล้วรู้สึกว่าคงต้องถามแนวทางการทำงานจากพี่แมวและจากอาจารย์อีกเยอะเลย

ตอนบ่ายพี่แมวพาฝ่าฝนลงไปที่ว่าการอำเภอเพื่อดูการแจ้งการเกิดของเด็กที่เกิดในโรงพยาบาล(คงต้องหัดฟังภาษาอุ้มผางบ้างเพราะพี่แมวคุยกับเจ้าหน้าที่เป็นภาษาอุ้มผาง ฟังรู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง) แต่ยังไม่เห็นการจดแจ้งอย่างเป็นทางการ แล้วนั่งฟังปัญหาการแจ้งการเกิด(เป็นภาษาอุ้มผาง)เพราะช่วงเช้าที่ผ่านมามีกรณีที่ชาวบ้านมาขอหนังสือรับรองการเกิดย้อนหลังกับทางอำเภอโดยที่ไม่ได้อ้างพยานบุคคลมายืนยันเลย(ส่วนที่เหลือฟังไม่รู้เรื่องว่าหนังสือรับรองการเกิดที่โรงพยาบาลออกให้มีหรือเปล่า หรือว่าคลอดนอกโรงพยาบาล)

บางทีกลับมาคิดๆดูแล้วเกิดความคิดว่า ณ ที่อุ้มผาง อำภอที่มีพื้นที่ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและมีภูมิประเทศที่เป็นภูเขาสลับซับซ้อน(จึงไม่น่าแปลกใจที่ในอดีตพื้นที่อุ้มผางแห่งนี้เคยเป็นฐานที่มั่นของพรรคคอมมูนิสต์แห่งประเทศไทยในช่วงยุคสมัยของการต่อสู้กันทางความคิดระหว่างสองค่ายการเมือง) การคมนาคมไม่สะดวกสบายเหมือนอย่างเมืองใหญ่ที่สามารถเดินทางไปแจ้งเกิดได้อย่างง่ายดาย ที่อำเภอแห่งนี้บางหมู่บ้านต้องเดินเท้าเป็นเวลาหลายวันกว่าจะมาถึงที่ตัวอำเภอ(ยิ่งฤดูฝนการเดินทางยิ่งลำบากมากกว่าเดิม) การคลอดเด็กก็ทำกันที่บ้านโดยหมอตำแย ไม่ได้มาคลอดที่โรงพยาบาล บางคราวก็ต้องให้กำนันหรือผู้ใหญ่บ้านเป็นคนไปแจ้งการเกิดให้ บางคราวก็อาจไม่มีการแจ้งการเกิดเพราะชาวบ้านไม่รู้ว่ามีกฎหมายที่บัญญัติให้แจ้งการเกิดด้วยซ้ำไป ตรงนี้อาจทำให้เด็กที่เกิดมามีปัญหาในสถานะสิทธิบุคคลในอนาคต เท่าที่เห็นในกรณีศึกษาที่มีอยู่บางครั้งเด็กบางคนก็ไม่ได้แจ้งการเกิด(อย่างไรก็ตามอาจมีบางกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่จดแจ้งการเกิดผิด กรอกชื่อเด็กผิดบ้าง กรอกชื่อพ่อเด็กหรือแม่เด็กผิดบ้าง หรืออาจมองอีกอย่างก็ได้ว่าตรงนี้เป็นข้อจำกัดของภาษาไทยที่จะเขียนตามคำพูดที่ออกเสียงตามภาษาถิ่นของกลุ่มชาติพันธุ์ท้องถิ่นอย่างที่ฟังมาคำว่า”บ้านโมโกร” ชาวบ้านบางคนก็พูดว่า”บ้านมอโอโกร”)

อุ้มผางสวยมากจริงๆตอนนี้ เชื่อผมสิ

หมายเลขบันทึก: 495761เขียนเมื่อ 23 กรกฎาคม 2012 18:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 กรกฎาคม 2012 09:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สู้ๆนะครับ ที่นั่นสวยงามมาก ทั้งจิตใจคนและธรรมชาติครับ

เมื่อคืนคุยกับคุณหมอตุ่ยค่ะ เรื่องหนึ่งที่คุยกัน ก็คือ เรื่องของซันเมี๊ยะไมทา และอาจรวมถึงน้องหนึ่งและน้องสอง (ก็คงไม่ต้องใช้ชื่อสมมติแล้วมังนะ) ซึ่ง "การพิสูจน์สิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมาย" ก็ปรากฏชัดแล้วว่า เป็นคนสัญชาติไทย เพราะมีพยานหลักฐานชั้นหนึ่งนั่นก็คือ หนังสือรับรองการตรวจ DNA โดยแพทย์จากโรงพยาบาลเชียงใหม่

กรณีน้องซันเมี๊ยไมทานั้น ในหนังสือรับรองแพทย์มีใบหน้าน้องด้วย ซึ่งเอกสารจริงก็เป็นรูปเลยใช่ไหมคะ

เหลือแต่เอกสารของน้องหนึ่งและน้องสองที่ อ.แหววไม่ได้เห็นเลยค่ะ ต้องรบกวนโจ้งและแมวสแกนส่งมาให้ดูด้วยค่ะ

เมื่อเราประชุมคดีทางอีเมลล์และโกทูโนชัดแล้ว ก็จะถึงขั้นตอน "การพัฒนาสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมาย" นั่นก็คือ การไปร้องขอการรับรองสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรในสถานะ "คนสัญชาติไทย" ในทะเบียนบ้านประเภทคนอยู่ถาวร (ท.ร.๑๔) ตามมาตรา ๓๖ แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ ซึ่งแก้ไขและเพิ่มเติม พ.ศ.๒๕๕๑

วิธีการพัฒนาสิทธินั้นเป็นทั้งศาสตร์และศิลปะค่ะ

อันนี้ อ.แหววคิดว่า ขอบเขตแห่งศักยภาพการทำงานระหว่างทนายความตีนเปล่าและทนายความวิชาชีพนั้นแตกต่างกัน การปล่อยให้อำเภอทำตัวเป็นรัฐสภาออกกกฎหมายเองนั้น เป็นเรื่องที่คนแถวสองที่เป็นทนายความตีนเปล่าอาจไม่เท่าทัน แต่สำหรับคนแถวสองที่เป็นทนายความวิชาชีพนั้น ไม่ควรให้เกิดขึ้น การฝึกงานในขั้นตอนนี้ของโจ้ง ก็เหมือนการฝึกงานในสำนักงานกฎหมายโดยทั่วไป ก็คือ ต้องเตรียมตัวฟ้องศาลไว้ก่อน ต้องมีในใจในขณะที่เจรจากับเจ้าหน้าที่ที่บังคับการตามกฎหมาย การกำหนดระยะเวลาการทำงานระหว่างทนายความกับเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นไปได้ในกรณีที่เป็นเรื่องของสิทธิเด็ดขาดของเจ้าของปัญหา แต่หากสิทธิของเจ้าของปัญหาเป็นเพียงสิทธิที่เป็นดุลยพินิจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย การกำหนดระยะเวลาก็จะเป็นไปอย่างยากลำบากมากค่ะ

กรณีสามน้องนั้น เป็นเรื่องง่ายที่โจ้งจะพัฒนาแนวคิดและวิธีการทำงานแถวสอง เพราะข้อกฎหมายชัดค่ะ และการบังคับใช้กฎหมายต้องทำโดยนายทะเบียนราษฎรในระดับอำเภอ แล้วไปศาลปกครองเลยค่ะ

ลองออกแบบการทำงานของตัวเองมานะคะ คนรอบตัวจะได้เห็นชอบและโต้แย้งได้ ข้อสอบชีวิตก็คือ "เมื่อเคสหนึ่งๆ ปรากฏตัวที่ประตูคลินิกของโจ้ง โจ้งจะต้องทำอะไรบ้าง ? "

อย่าลืมว่า อ.แหววอยากเห็นคลินิกใหม่ หมอโจ้ง หมอตุ่ย สังคมสงเคราะห์แมว และน้องซันเมี๊ยะไมทาค่ะ พวกท่านเป็นแรงบันดาลใจของ อ.แหวว และห้องเรียนคดีบุคคลที่รังสิตค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท