ฉันไม่ใช่เทเรซ่า


ความหมายของคนดีตามแบบที่สังคมมองอาจจะไม่เหมือนกับที่ผู้เขียนมอง ผู้เขียนมองเรื่องการเป็นคนดีคือ "ผู้ที่มองเห็นความชั่วของตัวเอง"

บันทึกนี้ขอเล่าเรื่อง "ภาพลักษณ์" ของตัวเองในสายตาพี่ ๆ เพื่อน ๆ น้อง ๆ ผู้ร่วมงานในที่ทำงานใหม่สักหน่อย หลังจากที่สังเกตมานานแล้วว่าการที่ตั้งฉายานามให้เช่นนั้น เพราะเราอยากให้ภาพมันเป็นเช่นนั้น หรือว่าพวกเขาเข้าใจไปเองว่าเป็นเช่นนั้น

                      

        

ผู้เขียนย้ายมาทำงานที่ใหม่ได้สองปีแล้ว ก่อนย้ายมาอยู่ที่ใหม่นี้ ได้ยินกิตติศัพท์ว่าเพื่อนร่วมงานที่ใหม่มีแต่เสือสิงห์กระทิงแรด เขี้ยว ๆ ทั้งนั้น แต่หาทำให้ผู้เขียนหวั่นใจไม่  เพราะผู้เขียนผ่านกระบวนการอะไรมาพอสมควรที่จะไม่เชื่อในสิ่งที่ใครพูด แต่จะเชื่อในสิ่งที่ตัวเองเห็นหรือค้นพบ ประกอบกับอายุและประสบการณ์ในการพัฒนาตัวเองมาโดยตลอด เราได้บ่มเพาะ ขัดเกลาจากการปฏิบัติธรรม และการทำงานในแนวทางการพัฒนาจิตจากการไปในสถานที่อบรมต่าง ๆ นอกเหนือจากงานประจำ ทำให้ผู้เขียนเปลี่ยนแปลงตัวเองกลายเป็นบุคลิกใหม่ ซึ่งสะท้อนจากคำเรียกชื่อฉายานามของเพื่อนร่วมงานที่มองว่าผู้เขียนเหมือน "แม่ชีเทเรซ่า"

 

แม่ชีเทเรซ่าเป็นนักพรตหญิงที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะผู้ช่วยเหลือและผู้ต่อสู้เพื่อคนยากไร้ทั้งในประเทศที่ยากจนและร่ำรวย จนเมื่อปี พ.ศ. 2522 (ค.ศ. 1979) ท่านจึงได้รับเกียรติให้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ และหลังจากที่ท่านถึงแก่กรรม สันตะสำนักโดยสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 ได้ประกาศให้ท่านเป็น "บุญราศี" ซึ่งเป็นขั้นเริ่มต้นของการเป็นนักบุญ มีนามว่า "บุญราศีเทเรซาแห่งกัลกัตตา"  (ข้อมูลจาก http://th.wikipedia.org/wiki/แม่ชีเทเรซา


 

ผู้เขียนนึกแปลกใจกับชื่อเรียกนี้ และไม่ยอมรับว่าตัวเองมีคุณลักษณะใด ๆ ในแบบที่ท่านเป็นเลย เคยถามหนึ่งในเพื่อนร่วมงานว่าทำไมจึงเรียกเช่นนี้หรือคิดว่ามีอะไรคล้ายกับท่าน ก็ไม่มีใครให้คำตอบโดยตรง  แต่ก็ค้นหาคำตอบได้ผ่านความเข้าใจตีความจากหลาย ๆ ท่านที่พูดออกมา เช่น

 

 

ใครขอร้องเรื่องอะไรก็ให้ ไม่ว่าจะเป็นการขอข้อมูล ขอคำปรึกษา ขอเปลี่ยนตู้ใช้งาน หรือแม้ไม่มีใครขออะไร เพียงแค่บ่นความทุกข์ ก็อาสาช่วยเหลือให้ จนมีคำกล่าวหนึ่งของรุ่นพี่ที่บอกว่า "ยอมเขาทุกเรื่องนะ อย่างนี้ ใคร ๆ ก็กล้ามาขอ ไม่เกรงใจ" ผู้เขียนก็มองอีกแบบหนึ่งโดยตอบว่าเรื่องที่ขอเป็นเรื่องที่ให้ได้ ไม่ใช่คำว่า "ยอม" และเห็นได้ว่ายังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนระหว่างคำว่า "ยอม " กับคำว่า "ให้" อีกหลายกรณีตัวอย่าง

 

บุคลิกที่สำคัญอีกแบบหนึ่งคือ "ความนิ่งสงบ" เวลามีใครมาโวยวายเล่าเรื่องอะไรของใครให้ฟัง ก็จะฟังเฉย ๆ อาจแสดงความเห็นใจด้วย แต่ไม่ผสมโรง ไม่ได้มองว่าใครเลวร้ายอะไรไปด้วย เมื่อเร็ว ๆ นี้ น้องคนหนึ่งบอกว่าเราตรวจร่างสัญญาไปดูเหมือนเขาไม่ได้แก้ตามหรือเปล่าไม่ทราบ ยังนำร่างแบบเดิมมาให้ดู ผิดก็ผิดที่เดิม ผู้เขียนก็บอกว่าคงนำไปใช้น่ะแหละ แต่ว่าเวลาดึงข้อมูลมาร่างสัญญาใหม่ ไปเอาข้อมูลร่างสัญญาเก่ามาใช้ พี่คนหนึ่งที่ได้ยิน ก็แซวว่าผู้เขียนไม่เคยโวยวายอะไรเลยหรือ ผู้เขียนก็บอกว่า "เก็บไว้ต่อสู้เรื่องสำคัญ ๆ ดีกว่า" เขาก็ยังพูดต่ออีกว่ายังไม่เห็นว่าเรื่องอะไรที่ผู้เขียนจะลุกมาโวยวายต่อสู้เลย มีด้วยหรือ

 

 

ผู้เขียนเหมือนคนสองโลก โลกที่ทำงานประจำที่เป็นเหมือนที่พักพิงให้ข้าวปลาอาหารเป็นการหล่อเลี้ยงชีวิตทางโลก มีชีวิตที่สุขสบาย กินดีอยู่ดี ที่นี่เป็นที่ที่ "ให้อาหารเลี้ยงปากท้อง" แก่เรา โดยเราเป็น "ผู้รับ" หลายคนไม่เห็นอะไรที่ผู้เขียนไปทำมานอกเหนือจากการงานที่มั่นคงและบุคลิกภาพที่เรียบเฉย นิ่งสงบ  และอีกโลกหนึ่งคือการใช้เวลานอกเหนือจากงานประจำ ไปทำในสิ่งที่มีประโยชน์ เป็นการ "ให้อาหารทางจิตวิญญาณ" แก่ตัวเอง มีชีวิตส่วนหนึ่งเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น และในการช่วยเหลือนั้น บางครั้งก็คือ "การต่อสู้" ที่รุนแรงเกรี้ยวกราด

 

 

อย่ามองแต่ภายนอก หรืออย่ามองแต่เสี้ยวหนึ่งของชีวิต เพราะคุณจะไม่เห็นเขา คำคมของแม่ชีเทเรซ่าที่กล่าวไว้ว่า

                     อย่าตัดสินผู้คน เพราะคุณจะไม่มีเวลารักพวกเขา

             


ในทางกฎหมาย  

ความนิ่งในทางแพ่งคือการยอมรับ ขณะที่ความนิ่งในทางอาญาคือการปฏิเสธ 


ความนิ่งของผู้เขียนไม่ได้อยู่ในสภาวะของการยอม ไม่ได้ยอมรับ และไม่ได้ปฏิเสธ  แต่เป็นการเฝ้าดูตัวเอง ขณะที่ผู้อื่นมาเล่าอะไรให้ฟัง ใครมาบ่น ใครมาเล่าเรื่องคนอื่น เรานิ่ง เพื่อที่จะดูความกระเพื่อมทางอารมณ์ของตัวเราเอง เหมือนคลื่นทะเล เหมือนน้ำขึ้นน้ำลงหรืออย่างไร  

          


ขณะเดียวกันก็ดูว่าเราจะช่วยอะไรเขาได้บ้าง เขาต้องการแค่บ่น กร่น ด่า ต้องการการปลอบโยน หรือแค่หาแนวร่วมวิพากษ์วิจารณ์อะไร   ในทางสังคม เราคงปลีกตัวออกไปไม่ได้ ทำได้แต่ "นิ่ง" ด้วยความเข้าใจ เห็นใจ แต่หาได้เห็นด้วยไม่ 



เมื่อเร็ว ๆ นี้ ผู้เขียนก็เพิ่งแสดงอารมณ์ "โวยวาย" ออกไป ให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบมาเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คกับอินทราเน็ตภายในบริษัทฯ   ระบบอินเทอร์เน็ต และเชื่อมต่อกับระบบเครื่องพิมพ์  (หมายเหตุ ระบบคอมพิวเตอร์ของบริษัทฯ จะต้องให้เจ้าหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการ เนื่องจากข้อมูลข่าวสารภายในเป็นเรื่องของความมั่นคงในระดับประเทศ)  โดยที่ผู้เขียนโทรศัพท์ไปแจ้งหน้าที่เกือบเดือนแล้ว แต่เขาก็ไม่มาทำ ก็เลยมีการติดต่อประสานงานอีกครั้ง คราวนี้เจ้าหน้าที่ที่รับเรื่องบอกว่ายังไม่ได้แจ้ง ไม่มีรายชื่อของผู้แจ้ง ผู้เขียนก็เลยบอกว่าแจ้งแล้วนะ แต่เขาก็ยืนยันและตีโพยตีพายว่ายังไม่ได้แจ้ง แน่นอนว่าอาจจะคนละคนกัน คนก่อนหน้านี้คงไม่ได้ลงชื่อผู้แจ้งไว้ แต่ผู้เขียนต้องการแก้ปัญหามากกว่าหาเรื่องโดยแทนที่จะไปเอาผิดกับคนรับเรื่องคนแรกให้มายืนยัน  ก็เลยบอกเสียงดังไปว่า "ถ้ายังไม่มีการแจ้ง ก็รับแจ้งเสียตอนนี้ก็แล้วกัน" เขาก็โกรธ เสียงที่ดังของผู้เขียนก็ทำให้หลายคนมอง และตกใจที่เห็นการใช้เสียงเป็นครั้งแรกในรอบสองปี ณ ที่ทำงานใหม่ อารมณ์นี้ หลายคนคงเข้าใจได้ว่าผู้เขียนไม่ใช่เทเรซ่าตัวจริงเสียงจริงแน่นอน แต่ทว่าพวกเขาก็ยังไม่เปลี่ยนมุมมอง  ฉายานามที่เรียกก็ยังคงเหมือนเดิม คงเพราะเป็น "อารมณ์" ขาจร  


ความหมายของคนดีตามแบบที่สังคมมองอาจจะไม่เหมือนกับที่ผู้เขียนมอง ผู้เขียนมองเรื่องการเป็นคนดีคือ


               "ผู้ที่มองเห็นความชั่วของตัวเอง"

หลายครั้งที่ผูู้เขียนแสดงอาการอะไรที่ไม่เป็นปกติ ผิดไปจากที่เคยเป็น แน่นอนว่า "ศีลด่างพร้อย" เราก็มองเห็นข้อด้อยตรงนั้น และก็ต้องยอมรับมันว่าคนที่ปฏิบัติธรรมในทางโลก เลี่ยงไม่ได้จริง ๆ  ถ้าบางเรื่องไม่เรียกร้อง ก็จะไม่ได้สิ่งนั้นมา  และก็เป็นเรื่องที่แปลกมาก สำหรับบางเรื่องแล้ว คนเราต้องโวยวาย จิกตามเรื่อง จึงจะมีการแก้ไขให้ และในที่สุด ก็มีเจ้าหน้าที่มาเชื่อมต่อระบบคอมพิวเตอร์ให้ภายในไม่ถึง ๑๐ นาที จากเวลาที่เราเสียไปกับการรอคอยและให้เกียรติกันเกือบเดือน ถามว่าย้อนกลับไป ผู้เขียนจะเสียเวลารอคอยไหม เพราะการไม่ได้ใช้คอมพิวเตอร์คือการไม่ได้ทำงานเลยนะ มันสำคัญนะ ก็ตอบได้เลยว่าทุกอย่างมันมีขั้นตอนของมัน เราวางตัวเป็นสุภาพชน เข้าใจว่าทุกคนมีหน้าที่ของตัวเองแล้ว ส่วนสิ่งที่เกิดขึ้น หากเนิ่นนานไป เราจึงค่อยต่อสู้เรียกร้องสิทธิที่เราพึงมี แต่ก็ใช้กับกรณีนี้เท่านั้น  สำหรับบางกรณี ที่จะต้องเรียกร้องทันที ช้าไปก็เสียสิทธิ กรณีดังกล่าวนี้ ก็ต้องทำโดยเร็ว ทำด้วยสติ อย่าไปมีเรื่องกับใคร แต่ "ให้มีเรื่องเพื่อจะได้เรื่องเท่านั้น"  ถ้าทำโดย "ดูตัวเองไปด้วย" ก็เป็นการปฏิบัติขัดเกลาตัวเองไปด้วย ... แต่มันไม่ง่ายหรอกกับการ "รู้เท่าทัน"  


มาถึงข้อสรุปที่ผู้เขียนต้องยอมรับว่า "สิทธิ" เป็นสิ่งที่ต้องเรียกร้องและต่อสู้เอา หากเรารู้สึกว่าไม่เป็นธรรม หรือเกิดการ "ละเลย" "ล่าช้า" ของเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ วิธีการนี้ใช้ได้กับการเรียกร้องสิทธิในทุกเรื่อง หากผู้มีหน้าที่ไม่ดำเนินการให้ แม้กระทั่งสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ชัดเจน แต่ก็ไม่ได้มีการรับรองโดยอัตโนมัติ ใครที่คิดว่าตนเองถูกละเมิดสิทธิ ริดรอนสิทธิก็จะต้องลุกขึ้นต่อสู้กันเอาเอง ดังกรณีสิทธิชุมชนที่ผู้เขียนเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่ทางภาคใต้

                ใครจะมองอย่างไรไม่สำคัญเท่ากับเรารู้ตัวเราว่าเป็นเช่นไร

 

                                        ธรรมะสวัสดี

หมายเลขบันทึก: 495611เขียนเมื่อ 22 กรกฎาคม 2012 11:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 กรกฎาคม 2012 21:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (17)

"... บางทีการที่ได้รอคอยอะไรบางอย่าง อาจจะทำให้เรารู้ถึงอะไรหลาย ๆ อย่างในตัวของเราเองก็ได้นะครับ ดังนั้น การรอคอยมีคุณค่าของตัวมันเองเสมอ ..."

ผมกล่าว ;)...

  • จริงค่ะ อาจารย์นพลักษณ์ ๙ Blank คนดีศรีสังคม 
  • การรอคอยทำให้เรามองเห็นตัวเองชัดเจนขึ้นค่ะ และทำให้เรามองคนอื่นอย่างเป็นธรรม ไม่ด่วนสรุปเกินไปด้วยค่ะ 
  • มาประเดิมคนแรกนะคะ  เห็นว่ามาเยี่ยมแล้วก็อิ่มใจ แต่ไม่อิ่มท้องค่ะ ขอไปทานอาหารเช้าและกลางวันรวมมื้อเดียวกันก่อนนะคะ
  •  รักษาตัวด้วยนะคะ เหนื่อยก็พักผ่อนเยอะ ๆ ชาร์ตแบตเตอรี่เยอะ ๆ ค่ะ 
  • ด้วยความห่วงใยเสมอ

..ชอบเจ้าค่ะ.."คนดี..คือ..คนเห็นความชั่ว..ของตัวเอง"....ยายธี

  • ค่ะ คุณยายธี Blank พอเห็นความชั่วตัวเราบ่อย ๆ เราก็ละอายใจ เราก็เบื่อและในที่สุดก็ละวาง หน่ายต่อสิ่งแย่ ๆ ที่เป็นอยู่ค่ะ 
  • ดีใจที่แวะมาเยี่ยมค่ะท่าน 

สวัสดีค่ะคุณศิลา

อ่านไปยิ้มไป คิดถึงภาพแม่ชีเทเรซา ขึ้นเสียงกับเจ้าหน้าที่ดูแลระบบคอมพิวเตอร์ไม่ออกเลยค่ะ  :)  แต่ก็ต้องยอมรับว่าอ่านอารมณ์จากตัวหน้งสือของคุณศิลาแล้ว ก็ให้คิดไปถึง "คนใจดี ไม่เอาเรื่องราว" จริง ๆ ด้วยสิคะ

ตัวเองก็ติดภาพของการเป็น "คนดี" เหมือนกันค่ะ ด้วยความที่ลาไปเรียนเพิ่งจะกลับมาทำงานไม่กี่เดือน ก็มีน้องใหม่ๆเข้ามาทำหน้าที่ด้านการสนับสนุนวิชาการหลายคนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน เมื่อต้องไปขอข้อมูลอะไรมักจะล่าช้า ไม่ทันกาล ปกติเป็นคนใจเย็น เรื่อยๆเฉื่อยๆ แต่ตอนทำงานต้องทันใจ เร็วถึงเร็วที่สุด เจอความล่าช้าหลายๆครั้งก็เริ่มรำคาญ ให้น้องๆในสถาบันฯไปตาม ซึ่งก็แปลกที่ได้เร็วกว่าที่คิด  เลยมาคิดว่าวัฒนธรรมการทำงานของเรานั้นมักผูกติดกับ "ความคุ้นเคยกัน" (ซึ่งไม่ถูกต้องนัก เพราะคุ้นเคยก็ดีแล้ว แต่หน้าที่ก็ต้องทำให้ถูกต้องเท่ากัน) ช่่วงหลังๆ ก็เลยต้องหิ้วขนมของฝากเล็กๆน้อยๆไปฝากน้องๆเหล่านั้น เมื่อคุ้นเคยกันแล้วแค่โทรไปก็รีบจัดการให้ทันที...ฮาาาาา

ในขั้นต่อไปก็คิดจะ "สอน" น้องด้วยความเมตตาว่า ทำหน้าที่อย่าเลือกเฉพาะที่คุ้นเคยรู้จักกัน แต่ให้ทำตามหน้าที่ให้ดี... ซึ่งหากไม่คุ้นเคยกันก่อนก็คงจะหาโอกาสสอนเขาแบบนี้ไม่ได้....จริงไหมคะ

สรุปว่าจะเป็น "คนดี" นี่ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยนะคะ  :)

 

ทุกอย่างในโลกใบนี้..ถ้ายังต้องทำงานร่วมกับคนหรือมนุษย์จริงๆล่ะก็ ! มักเป็นแบบนั้นไปหมด..ตอนทำงานอยู่เคยซื้อปาท่องโก๋ไปฝากรปภ.ช่วงเช้ามืด เพราะต้องไปรับลูกเรือ..ปรากฏว่าผ่านประตูยากพอๆกับตอนที่ไม่ได้ซื้อของไปฝากเลยแม้แต่น้อย..ค่อมาเลยต้องหยุดไปเองเพราะเราหยิบยื่นให้เขาแล้ว แต่เขาไม่ยอมรับสัมพันธภาพจากเรา..นอกจากปาท่องโก๋..เอ..หรือลืมให้กาแฟไปด้วย.

  • ขอบคุณคุณBlank หยั่งราก ฝากใบ ที่กรุณาแวะมาเยี่ยมพร้อมเล่าเรื่องประสบการณ์ที่ทำให้เห็นแง่มุมหนึ่งคือการสร้างมิตรภาพกับคนในหน่วยงาน ซึ่งเรื่องนี้เห็นด้วยอย่างยิ่งค่ะ
  • สำหรับกรณีเรื่องเล่าที่ตนเองประสบนั้น คนที่รับแจ้งเป็นน้องฝึกงานหรือบุคคลที่ outsource มา ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนคนรับเรื่องอยู่เรื่อย ๆ และคงเพราะไม่ใช่เจ้าหน้าที่ประจำ การบริการจึงไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ส่วนเจ้าหน้าที่ที่ทำงานประจำหน้าที่นี้ต้องเดินสายไปมาตลอด สุดท้ายแล้ว เราก็ต้องอาศัยการโทรศัพท์หาตัวเจ้าหน้าที่ประจำเลย ซึ่งก็มีความเกรงใจกันพอสมควร  เลยรีบมาทำให้
  • เห็นด้วยนะคะ เราไม่ควรทำหน้าที่ให้เฉพาะคนที่เราคุ้นเคย ทุกคนต้องได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกัน มิฉะนั้น คนอื่นก็จะไม่เกรงใจ และปฏิบัติต่อเราอย่างไม่เป็นธรรมเช่นกัน อยากให้ทำหน้าที่ที่ดีต่อเรา เราก็ต้องทำหน้าที่ที่ดีกับเขาด้วย เพื่อมิให้มีอภิสิทธิ์ใด ๆ 
  • การมีเมตตาต่อผู้อื่น โดยเฉพาะผู้อ่อนอาวุโสกว่าเข้าหลักพรหมวิหาร ๔ ที่พี่ผู้สอนงานหรือครูผู้สอนศิษย์พึงมี นับว่าเป็นตัวอย่างรุ่นพี่ที่ดีอย่างยิ่งค่ะ 
  • คนดีเป็นยากมาก จริง ๆ ค่ะ จึงไม่ได้มุ่งหวังอยากจะเป็นอีกแล้ว ขอเป็นแค่คนที่เฝ้ามองความไม่ดีของตัวเองไปเรื่อย ๆ สักวันอาจจะเบื่อหน่ายความไม่ดีของตนเองและกลายเป็นคนดีขึ้นมากบ้างสักนิดหนึ่งค่ะ 
  • สวัสดีค่ะคุณโตนี่ ฟาง  Blank ขอบคุณสำหรับมิตรภาพที่มาพร้อมของฝาก อ่านแล้วยิ้มเยอะ ๆ อยู่คนเดียวค่ะ 
  • ปาท่องโก๋ ถ้าไม่มีกาแฟ หรือชาโบราณแล้วจะติดคอได้นะคะ อีกอย่างหนึ่ง ท่านได้ให้ของฝากทั่วถ้วนทุกคนหรือเปล่า รปภ. มีหลายคนนะคะ เปลี่ยนผลัดกันบ่อย ๆ อิอิ
  • สรุปแล้ว บางคน บอกบุญไม่รับ ก็คงต้อง "ดี" เป็นปกติต่อเขาก็พอมังคะ หน้าที่บางอย่างมันเครียด เห็นใจเหมือนกันนะคะ คิดเสียอย่างนี้ก็ดีเหมือนกัน จะได้ไม่ต้องเปลืองของฝากค่ะ 

ให้ดอกไม้จองไว้ก่อนแล้วกลับมาหลังออกกำลังกาย ใจนิ่ง ค่อยๆ อ่าน บันทึกของอาจารย์ ต้องอ่านสองครั้งค่ะ ครั้งแรกอ่านโดยเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง คิดถึงประสบการณ์คล้ายกัน ครั้งที่สองอ่านโดยพยายามมองแบบที่อาจารย์รู้สึก ซึ่งไม่ง่าย เผลอเมื่อไรก็เอาความเป็นตัวเองไปผสมผเส ... ในหนังสือ Leader and self deception กล่าวว่า การกระทำที่ตรง

  • วันนี้การบันทึกความเห็นแปลกๆ หายไปครึ่งหนึ่ง..ขออนุญาตต่อค่ะ
  • ..การกระทำที่ตรงไปตรงมา เพื่อแก้ปัญหาท่วงที ก็สำคัญ  เช่นที่อาจารย์โทรเรียกช่างมาซ่อม เพียงแต่การคาดหวังให้ผู้รับโทรศัพท์มี "มาตรฐาน" ทำให้เกิดอารมณ์โวยวาย (เข้าใจว่าอาจารย์รู้ตัว ก่อนจะกลายเป็นอารมณ์โกรธ อย่างนั้นหรือเปล่าค่ะ)
  • ประทับใจบทเรียนนี้ค่ะ " กรณีดังกล่าวนี้ ก็ต้องทำโดยเร็ว ทำด้วยสติ อย่าไปมีเรื่องกับใคร แต่"ให้มีเรื่องเพื่อจะได้เรื่องเท่านั้น"  ถ้าทำโดย "ดูตัวเองไปด้วย" ก็เป็นการปฏิบัติขัดเกลาตัวเองไปด้วย"
  • ใครจะมองอย่างไรไม่สำคัญเท่ากับเรารู้ตัวเราว่าเป็นเช่นไร
  • ขอมอบดอกไม้ให้หมดหน้าตักเลยครับ
  • สวัสดีค่ะ อาจารย์หมอ ป. Blank ช่วงนี้เดินทางไปต่างจังหวัด เลยยังไม่มีโอกาสได้ตอบความเห็นของคุณหมอสักที และก็คงรู้สึกเช่นเดียวกันตรงที่คุณหมอยังต้องอ่านถึงสองครั้งและชั่งใจว่าจะตอบจากประสบการณ์ตนเองหรือตอบแบบมายืนตรงจุดที่ศิลามอง  ซึ่งในการตอบ ก็ต้องรอให้สมองโล่งว่างจากงานที่ทำให้มึนมาทั้งวันก่อนและอ่านความเห็นของอาจารย์หมอ ป. ถึงสองครั้งเป็นอย่างน้อย
  • การที่เรามีปฏิกริยาบางอย่างที่ต่างไปจากที่เป็นตามปกติวิสัยบางครั้งอาจจะมาจากอารมณ์โกรธ กับอีกกรณีหนึ่งคือการแสดงออกเพื่อปลุกให้คนอื่นตระหนักในหน้าที่ของตนเอง
  • ขอยก George Gurdjieff มาเป็นตัวอย่างเล่าเรื่องนี้ ความทรงจำเกี่ยวกับท่านอาจจะลางเลือนสักหน่อยนะคะ เท่าที่ทราบคือท่านเป็นปรมาจารย์ด้านจิตวิญญาณช่วงกลางศตวรรษที่ ๒๐ ที่มีอิทธิพลมากและแนวการสอนของท่านทำให้ศิลารู้สึกว่าได้ประโยชน์ โดยเฉพาะแนวคิดที่มองว่ามนุษย์ทุกวันนี้อยู่ในสภาวะของการหลับไหลทั้งที่ยังตื่นอยู่ และท่านก็จะมีวิธีการแปลก ๆ ที่จะสอนให้คนเราตื่นรู้จริง ๆ จากการหลับไหลทั้งที่ยังตื่นอยู่นั้น เช่น การทุบโต๊ะทำให้คนอื่นตกใจ เป็นสภาวะที่รู้ตัวชั่วขณะ เห็นความตกใจของตัวเอง
  • ในทางพุทธ ก็คือการวิปัสสนา ตามรู้ ตามดู ทำให้เราตื่นเป็นขณะ ๆ
  • ทั้งหมดที่กล่าวมาไม่ทราบว่าคือคำตอบหรือเปล่า แต่ถือว่าเป็นการทบทวนตัวเองของผู้ตอบไปด้วยก็แล้วกันนะคะว่าขณะที่ไม่มีสติ หลังจากนั้นรู้ทันหรือเปล่า
  • จะว่าไปแล้วแนวคิดของท่าน George Gurdjieff ศิลาได้นำมาใช้ในชีวิตการทำงานหลายกรณี เพื่อปลุกให้ตัวเองและคนรอบข้างที่ต้องเกี่ยวข้องตื่นด้วย ส่วนจะตื่นตระหนกหรือตื่นตระหนักกันแน่นั้น ก็ต้องลุ้นกันค่ะ ขออย่าให้ตื่นตกใจเป็นพอ แต่ไม่ว่าจะเป็นแบบไหน เราก็จะต้องกลับมาดูตัวเองว่าโกรธหรือเมตตาค่ะ และก็ยังเป็นผู้อ่อนหัดที่กำลังฝึกฝนอยู่นะคะ หากให้ความเห็นแล้วผิดพลาดประการใดก็ขออภัยด้วยค่ะ 
  • ขอบพระคุณมากค่ะที่มีคำถามให้ขบคิดและทบทวนตัวเองไปด้วย
  • ด้วยความศรัทธาค่ะ

 

ขอบคุณมากมายสำหรับ "ดอกไม้หมดหน้าตักค่ะ" คุณสามสัก(samsuk) Blankเหมือนเติมพลังจนเต็มพิกัดยังไงยังงั้น มีแรงขึ้นมาทันทีเลยค่ะ เขาว่ากำลังใจจากกัลยาณมิตรนี้งดงามและทรงคุณค่านั้นจริงแท้แน่นอนค่ะ ยิ่งสหายเก่าที่ไม่ได้เคยเห็นหน้ามานาน กลับมาทักทาย ก็ยิ่งกระปรี้กระเปร่าค่ะ

คนดีคือ " ผู้ที่เห็นความชั่วของตนเอง"

ความหมายคือ มีสติอยู่กับตัวเอง  ทำผิดก็รู้ว่าผิด 

          สมแล้วกับนามเรียกขาน "แม่ชีเทเรซ่า"

พูดไม่ออกเลยค่ะ คุณ KRUDALA ขอบพระคุณอย่างสูงที่ให้เกียรติค่ะ คุณ KRUDALA เป็นผู้ที่หยั่งรู้ลึกในเนื้อหามากเลยนะคะ นับถืออย่างจริงใจค่ะ

ใครจะมองอย่างไรไม่สำคัญเท่ากับเรารู้ตัวเราว่าเป็นเช่นไร ขอบคุณบันทึกที่ให้ทั้งบทเรียนการทำงานและบทเรียนรู้ตัวเองแห่งชีวิต ขอบคุณบันทึกดีๆครับ


ใครจะมองอย่างไรไม่สำคัญเท่ากับเรารู้ตัวเราว่าเป็นเช่นไร

  • ถูกต้องจ้ะ

 


 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท