เทคโนโลยีทางการศึกษา – ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เทคโนโลยี (ทางการศึกษา)


ผมเคยเขียนถึงมุมมองด้านเทคโนโลยีทางการศึกษาไว้ที่นี่ ที่นี่ และที่นี่ ครับ

ในบันทึกล่าสุดนั้น ตัวละครหลักคือผู้ตัดสินใจว่าจะใช้เทคโนโลยีอะไรในการสอน ซึ่งคำว่า “เทคโนโลยี” ไม่ได้หมายถึงดิจิตอลเทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ หรือแท็บเล็ต อะไรเท่านั้น หนังสือ กระดาษ ดินสอ หรือกระดานดำก็เป็นเทคโนโลยีที่ครั้งหนึ่งเป็นของหายาก เป็นของราคาแพง และที่สำคัญมันยังรวมเอากลยุทธ์ต่างๆ ที่นำมาใช้ในชั้นเรียนสุดแล้วแต่ที่ผู้สอนจะนึกได้ว่าเป็นเทคโนโลยีด้วย

สิ่งที่เป็นปัญหาสำคัญของการศึกษาในทุกวันนี้ ไม่ว่าจะที่ไหนในโลกก็ตาม มันไม่ใช่การไม่ยอมรับเทคโนโลยีครับ เพราะมองไปทางไหนก็เห็นคนใช้เทคโนโลยีทั้งนั้น ครู อาจารย์และนักเรียนก็ใช้มือถือ ไอโฟน แท็บเล็ตและดิจิตอลเทคโนโลยีกันเกลื่อน เพียงแต่ไม่ได้ใช้เพื่อการเรียนการสอน

พูดให้เท่ๆ แบบนักการเมืองก็ต้องบอกว่า “อาจารย์ไม่รู้ว่าจะบูรณาการการเรียนการสอนด้วยเทคโนโลยีได้อย่างไร”

ปัญหาคือเรื่อง “ความเชื่อ” ว่าเทคโนโลยี (โดยเฉพาะดิจิตอล) จะทำให้เด็กเสียสมาธิ หรือสมาธิสั้น เป็นเรื่องน่ากลัวและยุ่งยาก และที่สำคัญ ยิ่งใช้มากก็มีโอกาสตกงานมากขึ้น (ถ้าสอนออนไลน์ แล้วทุกอย่างเป็นอัตโนมัติหมด ครูอย่างชั้นจะทำอะไร?)

แล้วเราจะเปลี่ยน ”ความเชื่อ” ในแง่ลบเกี่ยวกับเทคโนโลยีทางการศึกษาได้อย่างไร? หลายคนบอกว่าต้องอบรมเพื่อเปลี่ยนความเชื่อ เพื่อให้ครูอาจารย์ตระหนักถึงข้อดีของการใช้เทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน ต้องมีผู้บริหารหัวก้าวหน้าเพื่อชี้นำทิศทาง แต่สิ่งที่ยากแสนสาหัสที่สุดสำหรับสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่ามนุษย์คือการ “เปลี่ยนแปลง” ว่าไหมครับ?

ผมว่าคำตอบอยู่ที่ช่วงนาที 4:13 – 4:18 ของหนังเรื่อง Paris Je T’aime ในตอนที่ชื่อ Bastille (5:22 นาที) ครับ

ถามว่าหัวหน้าและนโยบายสำคัญไหม? สำคัญมากครับ นโยบายจากเบื้องบน ในบ้านเรามันเหมือนกับจดหมายของคุณหมอที่แจ้งว่าภรรยาป่วยเป็นมะเร็งเม็ดเลือดระยะสุดท้ายนั่นละครับ มันเป็นกลยุทธ์ เป็นแรงกระตุ้นเพื่อการเริ่มต้นเท่านั้น ตัวอย่างใกล้ตัวสุดๆ ก็คือความเคลื่อนไหวเชิงกลยุทธ์ใน gotoknow ของเรานี่ละ ไม่ว่าจะเป็นการให้รางวัลกับบันทึกของเรื่องราวต่างๆ หรือรางวัลประจำเดือน มันก็ไม่ต่างจากจดหมายของหมอ ที่หลายคนได้รับแล้วก็เปลี่ยนพฤติกรรมได้ เริ่มหันมาเขียนบันทึกเพื่อรางวัล เหมือนอย่างที่กระตุ้นให้ผมเขียนอยู่นี่แหละ (ฮา!)
แต่ถึงจะได้ผลในช่วงแรก งานวิจัยพบว่ารางวัลภายนอกได้ผลกับเพศชายมากกว่าเพศหญิง และเมื่ออายุยิ่งมากขึ้นรางวัลภายนอกก็ยิ่งมีผลน้อยลงเรื่อยๆ (แสดงว่าผมยังไม่แก่ เพราะเอาเงินมาล่อก็เขียนให้)

แต่ประเด็นจริงๆ คือจะทำอย่างไรการเปลี่ยนแปลงถึงจะยืนระยะได้ยาวนานกว่านโยบายหรือผู้บริหาร?

ในมุมมองของผม จากประสบการณ์ชีวิต ประสบการณ์ในการเป็นวิทยากรอบรมอาจารย์ให้ใช้เทคโนโลยีทางการศึกษาเพื่อการเรียนการสอน และทบทวนวรรณกรรมเกี่ยวกับการอบรมอาจารย์มามากก่อนหน้านั้น พบว่าความเชื่อนั้นเปลี่ยนได้ยากกว่าพฤติกรรมครับ ถ้าหัวหน้าให้ไปอบรม ลูกน้องก็ไปแน่ สั่งให้ลองใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ลูกน้องก็จำใจทำไปแม้จะยังไม่เชื่อว่าดีจริง แต่ถ้าเริ่มจากการไปป่าวประกาศว่าตอนนี้อะไรดี อะไรดัง เชิญชวนให้ปฏิบัติอย่างนั้นอย่างนี้ มันไม่ค่อยจะได้ผล (ยกเว้นเรื่องที่ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น!)

วรรณกรรมด้านการอบรมอาจารย์บอกมาแบบนี้เลยครับ ว่าถ้าไม่ลองก็ไม่รู้ ฟังคนอื่น หรือพูดให้กระหนักถึงข้อดีข้อเสียของเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอนอย่างเดียวไม่พอ ต้องเป็นประสบการณ์ที่เกิดกับตัวเอง ซึ่งผมว่าตรงนี้บ้านเราได้เปรียบที่มีวัฒธรรมอาวุโสนะครับ ถ้าผู้ใหญ่เห็นดีเห็นงามก็บังคับเลยครับ ให้เขาลองเลยจะได้รู้ ไม่ต้องพูดปาวๆ ว่าดียังไง แต่ผู้ใหญ่ก็ต้องมีคนที่รู้จริง เข้าใจเทคโนโลยีจริงๆ เป็นที่ปรึกษานะครับว่าจะบูรณาการยังไง ไม่ใช่เอาแต่ผลประโยชน์ ไม่คำนึงถึงคุณภาพ

อีกข้อหนึ่งที่ผมเห็นว่าจริงคือที่นักการศึกษาหลายคนเห็นตรงกันว่า วิธีการที่ดีที่สุดในการเปลี่ยนพฤติกรรม คือการสอนแบบตัวต่อตัว เป็นส่วนตัว ไม่เป็นทางการ หมายความว่าไปจัดอบรมซะใหญ่โต เชิญคนโน้นคนนี้มาพูด สร้างกระแสอะไรมากมาย มันไม่ได้ผลเท่ากับการที่อาจารย์คนหนึ่งซึ่งปฏิบัติอยู่ ไปบอกกับเพื่อนเขาว่าสิ่งที่เขาทำมันเวิร์กนะ มันน่าลองนะ ผมเองจัดอบรมแบบเป็นทางการรอบเดียวก็พบกับความจริงว่ามันยาก ประเมินตัวเอง และประเมินจากผู้เข้าอบรม ก็พบว่ามันไม่เวิร์กเท่าไร ผมเลยไม่คิดว่าจะเน้นโครงการอบรมแบบเป็นทางการ (ยิ่งนิสัยบ้านเราชอบเทรนแล้วนิ่ง ไม่มีการติดตามผล มันก็ยิ่งยาก) แต่หันมาสร้างตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริง เริ่มลุยงานวิจัยในห้องเรียนโดยนำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ สำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้างก็ทำไปเรื่อยๆ แล้วค่อยๆ บอกคนโน้นทีคนนี้ที ให้เขาลองทำบ้างทีละนิดละหน่อย เอาแบบพื้นๆ ก่อน เหมือนในหนังเขาว่า...

“By acting like a man in love, he becomes a man in love again.”
([ตัวละคร]เมื่อเริ่มทำตัวว่ารัก ก็กลายเป็นชายที่มีความรักอีกครั้ง)

หมายเลขบันทึก: 495533เขียนเมื่อ 21 กรกฎาคม 2012 14:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 กรกฎาคม 2012 20:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • อ่านแนวคิดของ "คุณแว้บ" ที่ว่า "...มองไปทางไหนก็เห็นคนใช้เทคโนโลยีทั้งนั้น ครู อาจารย์และนักเรียนก็ใช้มือถือ ไอโฟน แท็บเล็ตและดิจิตอลเทคโนโลยีกันเกลื่อน เพียงแต่ไม่ได้ใช้เพื่อการเรียนการสอน" ทำให้นึกถึงคำพูดของอดีตนักการศึกษาท่านหนึ่งที่เสียชีวิตไปแล้ว ท่านได้ให้นิยามบุคคลที่มีพฤติกรรมตามที่ "คุณแว้บ" พูดถึงว่า เป็นคนที่ "ทันสมัยแต่ไม่พัฒนา"
  • สำหรับอ.วิเอง ในชีวิตส่วนตัวนั้น ใช้เทคโนโลยีประเภทวัสดุอุกรณ์ที่ล้าสมัยมาก แต่ในหน้าที่การงาน พยายามที่จะใช้เทคโนโลยีทั้งประเภทวัสดุอุปรณ์ (ที่ซื้อด้วยเงินส่วนตัว และผลิตด้วยตนเอง) และประเภทกลยุทธ์ต่างๆ เพื่อสร้างประสบการณ์ที่เป็นรูปธรรมและดึงดูดความสนใจของนักศึกษา ดังภาพ
  • และโชคดีหน่อยที่อ.วิทำสิ่งต่างๆ ดังกล่าวด้วยแรงจูงใจภายในของตนเอง จึงเป็นพฤติกรรมที่มีความยั่งยืนตลอดเวลาย่างเข้าปีที่ 36 ของการเป็นอาจารย์สถาบันอุดมศึกษา ซึ่งจะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายนนี้ค่ะ

 

สวัสดีครับ อาจารย์วิ

จริงอย่างที่นักการศึกษาท่านว่าไว้ครับ เรามุ่งเน้นแต่วัตถุ มิได้ดูที่จิตใจ เชื่อว่าอาจารย์ยังมีแรงใจ ไฟฝันอีกมาก แม้จะใกล้เกษียณอายุราชการ ไว้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเป็นขวัญกำลังใจให้รุ่นน้องๆ นะครับอาจารย์ :)

ขอบพระคุณครับ

เป็นกำลังใจให้นะครับ ทั้งคุณครูและนักเรียนครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท