แบกเป้ สะพายย่าม เดินตามฝัน : ธรรมยาตราพุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปีแห่งการตรัสรู้ กระบวนการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนอย่างมีคุณค่า พอเพียงและยั่งยืน


แบกเป้ สะพายย่าม เดินตามฝัน

แบกเป้ สะพายย่าม เดินตามฝัน :

ธรรมยาตราพุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปีแห่งการตรัสรู้

กระบวนการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนอย่างมีคุณค่า

 พระครูปลัดบัณฑิต อินฺทเมธี : แบ่งปันเรื่องราว

     “วันนี้คือต้นกล้า วันหน้าคือต้นไม้ใหญ่” เสียงต้นกล้าทั้ง ๒๘ ต้น ดังกึกก้องสนั่น ทั่วสถานีรถไฟหัวลำโพง ทุกสายตาของผู้คนจดจ้องมองมาที่คณะต้นกล้า ด้วยความแปลกใจและสงสัยว่า เด็กๆพวกนี้กำลังทำอะไรกัน จริงๆแล้วช่วงหลังมาผู้คนในสังคมมี “ทัศนคติต่อการทำความดี” ที่เปลี่ยนไป เปลี่ยนจนหลายคนไม่กล้าที่จะทำความดีหรือทำดีก็ทำแบบเคอะเขิน การเดินทางของคณะต้นกล้าในครั้งนี้ จึงเป็นภารกิจหนึ่งที่เด็กๆต้นกล้า กำลังทำในสิ่งที่ท้าทายต่อการมองและทัศนคติของสังคมในการทำความดี ซึ่งเป็นภารกิจที่สำคัญที่เหล่าต้นกล้าจะได้เรียนรู้จากประสบการณ์ชีวิตที่ต้องเจอกับตัวเองโดยตรง

       สิ้นเสียงของคณะต้นกล้า เป็นสัญญาณบอกถึงความพร้อมในการเดินทางอันแสนยาวไกลสำหรับเด็กๆ ซึ่งไม่รู้ล่วงหน้าว่า การเดินทางข้างหน้าเป็นอย่างไร จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง จะลำบากขนาดไหน ด้วยความตั้งใจของเครือข่ายเพื่อนคุณธรรม โดยพระครูสมุห์เอกรัฐ อภิรกฺโข ประธานเครือข่าย และ เครือข่ายธรรมะอารมณ์ดี โดยพระมหาวีรพล  วีรญาโณ ประธานเครือข่าย ซึ่งทั้ง ๒ เครือข่ายเป็นองค์กรที่ทำงานด้านการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมสำหรับเด็กและเยาวชน ได้ร่วมมือกันในการจัด ค่ายกล้าอาสาครั้งที่ ๓๒ “แบกเป้ สะพายย่าม เดินตามฝัน” มีจุดมุ่งหมายในการเดินทางผ่าน ๙จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครปฐม ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ด้วยระยะเวลา ๑๖ วัน ตั้งแต่วันที่ ๒๕ เมษายน – ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๕๕

        ในการเดินทางครั้งนี้มีต้นกล้าจากทั่วประเทศทั้ง ๔ ภาค จำนวน ๒๘ คน โดยได้แบ่งต้นกล้าออกเป็น ๔ กลุ่ม มีพระวิทยากร ๔ รูปเป็นพระพี่เลี้ยงประจำกลุ่มดูแลตลอดการเดินทาง ก่อนการเดินทางคณะต้นกล้ามีข้อตกลงกันว่า “จะไม่ใช้เงินและโทรศัพท์เป็นการส่วนตัว” การเดินทางครั้งนี้ สามารถเดินทางด้วยการ “เดินเท้า” “โบกรถ” “นั่งรถไฟฟรี” กิจกรรมครั้งนี้ต้นกล้าได้เดินทางจากทั่วสารทิศ มาลงทะเบียนรายงานตัวที่วัดสังข์กระจาย วรวิหาร แขวงวัดท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร ในวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๕๕ เพื่อปฐมนิเทศและทำความเข้าใจในการเดินทางครั้งนี้ ในเช้าวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๕๕ คณะต้นกล้าได้เดินทางไปสวดมนต์ปฏิบัติธรรมเจริญสมาธิภาวนาถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่โรงพยาบาลศิริราช เพื่อเป็นสิริมงคลในการเดินทาง หลังจากนั้นช่วงบ่ายจึงได้เดินทางไปที่สถานีรถไฟหัวลำโพง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการเดินทาง “แบกเป้ สะพายย่าม เดินตามฝัน”

        ในครั้งนี้ โดยมีจุดประสงค์หลักในการเดินทางครั้งนี้ คือ

๑. สวดมนต์ไหว้พระปฏิบัติธรรม ฉลองพุทธชยันตี ๙ จังหวัด

๒. พัฒนาโรงเรียนบ้านเกาะช้าง ต.เกาะพยาม อ.เมือง จ.ระนอง

๓. พัฒนาโรงเรียนบ้านวังหิน ต.เพิ่มพูนทรัพย์ จ.สุราษฎร์ธานี

๔. ปลูกป่าชายเลน ณ วัดเขาพระนิ่ม ต.ท่าทอง อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี

๕. ทำกิจกรรมแบ่งปันความสุข สถานสงเคราะห์บ้านสิชล อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช

๖. การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภารกิจกล้าทำดีของชมรมต้นกล้าในพื้นที่

        ๒,๖๐๐ ปีที่ผ่านมา ชาวพุทธเรียนรู้คุณค่า “การตรัสรู้” ของพระพุทธเจ้าบ้างหรือไม่

        ความตั้งใจของคณะต้นกล้า เรามีความตั้งใจว่า การเดินทางในครั้งนี้แม้จะประสบกับความยากลำบากมากน้อยสักเพียงใด เราจะถือว่า “เราได้ทำตามในสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงกระทำมา พระองค์ทรงเสียสละความสุขส่วนตัว เพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่ส่วนรวม ซึ่งในขณะที่พระองค์ทรงบำเพ็ญเพียรเพื่อประโยชน์ของชาวโลกนั้น พระองค์ได้เรียนรู้ชีวิตของพระองค์ไปด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้นกล้ากำลังจะได้เรียนรู้ชีวิต ของเรา เฉกเช่นพระองค์” ตลอดระยะเวลาของการเดินทางคณะต้นกล้าได้ “ถอดบทเรียน” และ “สรุปองค์ความรู้” ด้วยการพูดคุยกันเป็นประจำทุกวัน เราเรียกกิจกรรมนี้ว่า “ธรรมะอารมณ์ดีวิถีคนกล้า” เป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นในช่วงกลางคืน ด้วยระยะเวลาประมาณ ๓๐ – ๔๕ นาที เป็นบรรยากาศของการพูดคุยอย่างเป็นกันเอง สนุกสนาน ร่าเริง แจ่มใส

 

         โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในความสนุกสนานที่เกิดจากการพูดคุย สุดท้ายเราจะได้ข้อคิดและบทเรียนจากการพูดคุยกันทุกครั้ง ทำให้คิดถึงคำว่า “สุนทรียสนทนา” ขึ้นมาในความคิดโดยฉับพลัน มันอาจจะไม่ใช่การตั้งใจที่จะให้เป็นสุนทรียสนทนา เพราะการพูดคุยของเราไม่ได้มีหลักมีเกณฑ์อะไร แต่สิ่งที่ทุกคนได้รับจากการพูดคุยมันเหมือนจะ “ใช่” ซึ่งอาจจะเป็น “ลูกหลานของสุนทรียสนทนา” ก็เป็นได้

        มีข้อคิดและบทเรียนข้อหนึ่งที่คณะต้นกล้า ได้ร่วมพูดคุยกัน คือ “ตลอดระยะเวลาผ่านมา ๒,๖๐๐ ปีแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ชาวพุทธเราได้เรียนรู้คุณค่า “การตรัสรู้” ของพระพุทธเจ้าบ้างหรือไม่” ชาวพุทธเคยสนใจไหมว่า “พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร” และชาวพุทธเคยนำ “อริยสัจ ๔” ซึ่งเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบและทำให้พระองค์พ้นจากความทุกข์ ซึ่งรู้กันว่าอริยสัจ ๔ เป็น “กระบวนการแก้ปัญหาของชีวิต” เราเคยนำเอา “อริยสัจ ๔” มาแก้ปัญหาชีวิตของเราอย่างจริงๆจังๆบ้างหรือไม่ เราได้ข้อสรุปจากการพูดคุยในค่ำคืนวันนั้น ว่า “ชาวพุทธส่วนมากในประเทศไทย ให้ความสำคัญกับพิธีกรรมมากกว่าการศึกษาและปฏิบัติตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า” จริงอยู่ที่ว่า “พิธีกรรม” เปรียบเสมือน “กระพี้” หรือ “เปลือก” มีความสำคัญอยู่ไม่น้อย เพราะถ้าไม่มีกระพี้หรือเปลือกห่อหุ้มต้นไม้ไว้ “แก่นไม้” คือ คำสอน จะเกิดขึ้นได้อย่างไร

 

       แต่ในความเป็นจริงของสังคมไทยตอนนี้ เราไม่ได้ใช้พิธีกรรมเป็นทางผ่านไปหาแก่นคำสอน แต่ชาวพุทธเราถึงขั้น “งมงาย” ในพิธีกรรมจนโงหัวไม่ขึ้น นี้เป็นบทเรียนหนึ่งที่เกิดขึ้นจากการพูดคุยกันในค่ำวันนั้น คณะต้นกล้าจึงร่วมกันคิดต่อว่า แล้วคุณค่าแห่ง “การตรัสรู้” ของพระพุทธเจ้า ซึ่งวันนี้กำลังผ่าน ๒,๖๐๐ ปี จะสร้างประโยชน์และคุณูปการต่อสังคมไทยและชาวพุทธทั้งมวลได้อย่างไร เด็กนักเรียนจำอริยสัจ ๔ ได้ตั้งแต่เรียนประถม แต่จะมีสักกี่คนที่นำอริยสัจ ๔ มาแก้ปัญหาชีวิตได้อย่างแยบยล

 

      บทสรุปของการพูดคุยกันในค่ำวันนั้น คณะต้นกล้านึกถึงคำพูดของนางสาวนภา ภู่ทอง รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการโรงเรียนพิชัยรัตนาคาร จ.ระนอง ที่คณะต้นกล้าได้แวะพักและทำกิจกรรมร่วมกับต้นกล้าเพชรพิชัย ท่านได้กล่าวถึงการเดินทางแบกเป้ สะพายย่าม เดินตามฝัน ของพระ ๔ รูป ต้นกล้า ๒๘ ชีวิต, ผ่านมาแล้วครึ่งทาง, ระยะเวลา ๘ วัน (๒๖ เม.ย. - ๓ พ.ค. ๕๕), ผ่านมาแล้ว ๕๖๘ กิโลเมตร, ผ่านมาแล้ว ๗ จังหวัด (กรุงเทพมหานคร, นครปฐม, ราชบุรี, เพชรบุรี, ประจวบคีรีขันธ์, ชุมพร, ระนอง) ด้วยการ "เดินเท้า" "โบกรถ" “นั่งรถไฟฟรี” โดยคำพูดนั้นยังตราตรึงอยู่ในหัวใจของเราคณะต้นกล้า และคำพูดนั้นยังกลับกลายมาเป็นคำตอบของการพูดคุยกันในค่ำวันนั้น ท่านรองนภา ภู่ทอง ได้กล่าวว่า "สิ่งที่พระอาจารย์กับเด็กต้นกล้า ทำอยู่ขณะนี้ ได้สร้าง "ศรัทธา" ให้เกิดขึ้นในใจของครูแล้ว” ครับ คำตอบของการสนทนาของค่ำวันนั้น คือ คำว่า "ศรัทธา" หากชาวพุทธศรัทธาต่อคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างมี “ปัญญา” ชาวพุทธจะมองเห็นคุณค่า “การตรัสรู้” และสามารถน้อมนำเอาอริยสัจ ๔ มาเป็นกระบวนการแก้ปัญหาชีวิตได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด

 

“ต้นกล้า” ได้เรียนรู้ชีวิตของ “คนรากหญ้า”

      ตลอดการเดินทางในครั้งนี้ ที่คณะต้นกล้าได้มีโอกาสได้ขึ้นรถไฟฟรี (ชั้น ๓) ทุกเส้นทางที่ผ่าน มีเหตุการณ์เกิดขึ้นให้เรียนรู้มากมาย เช่น การได้เห็นความทุกข์ยากของประชาชนที่สัญจรเดินทางด้วยรถไฟ การที่ต้องอดทนต่อความร้อนและความเหน็ดเหนื่อยอันเกิดจากการเดินทาง การที่จะต้องลุกขึ้นยืนหลังจากมีผู้โดยสารรถไฟเดินถือตั๋ว แล้วทวงหาที่นั่งของเขา บรรยากาศของการทะเลาะเพื่อแย่งที่นั่งของผู้คน บรรยากาศที่ถกเถียงเรื่องการเมืองที่ไม่มีใครจะยอมใคร บรรยากาศเช่นนี้ทำให้ “ต้นกล้า” ได้เห็นและเรียนรู้วิถีชีวิตของคนรากหญ้า ตลอดการเดินทาง เป็นสิ่งที่น่าประหลาดใจกับการเดินทางครั้งนี้เป็นอย่างมาก ก่อนออกเดินทางคณะต้นกล้าตั้งปณิธานว่า “การเดินทางครั้งนี้ ถวายเป็นพุทธบูชา ฉลองพุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปีแห่งการตรัสรู้” ทำให้ตลอดเส้นทางของการเดินทางคณะต้นกล้าได้พบเหตุการณ์ ที่คล้ายคลึงกับเจ้าชายสิทธัตถะ เมื่อครั้งได้ประสบพบเจอก่อนตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า หลังจากสรุปบทเรียนกันแล้ว เราถือว่าเป็น “ธรรมะจัดสรร” ให้เราคณะต้นกล้าได้เรียนรู้ชีวิตและความยากลำบากของเจ้าชายสิทธัตถะ ทำให้เราคณะต้นกล้าเกิด “ศรัทธา” ขึ้นในหัวใจดวงเล็กมากมายเหลือเกิน จนบางคนถึงกับกั้นความรู้สึกไว้ไม่ได้ เปล่งออกมาเป็นคำพูดว่า “ยิ่งพบการเดินทางที่แสนลำบาก ยิ่งทำให้เห็นความชาญฉลาดของพระพุทธเจ้า”


        การเดินทางโดยรถไฟนี้ ทำให้คณะต้นกล้านึกถึง การออกเดินทางครั้งหนึ่งของเจ้าชายสิทธัตถะ ซึ่งการเดินทางครั้งนั้น เป็นการเดินทางครั้งสำคัญของเจ้าชายสิทธัตถะ กล่าวคือ เมื่อทรงมีพระชนมายุได้ ๒๙ พรรษา เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จประพาสราชอุทยาน ได้ทอดพระเนตรเห็นสิ่งที่พระองค์ไม่เคยเห็น ไม่เคยทราบมาก่อน ๔ ประการ (เทวทูต ๔) คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และ บรรพชิต ทรงพิจารณาเล็งเห็นทุกข์ของพสกนิกรและผู้ที่เกิดมาทั้งหลาย ทรงใคร่ครวญที่จะหาทางดับทุกข์ เหล่านั้น และมีพระทัยตั้งมั่นว่า การบวชคงจะเป็นหนทางเดียวที่จะค้นหาทางช่วยเหลือมนุษย์ทั้งหลายจากทุกข์เหล่านั้น หยั่งเห็นความแก่ ความเจ็บ ความตาย ครอบงำมหาชนอยู่ทุกคน ไม่มีใครสามารถล่วงพ้นไปได้ มนุษย์ผู้เกิดขึ้นในโลกนี้มัวเมาอยู่ในวัย มัวเมาในความไม่มีโรค และยังคงมัวเมาในชีวิตของตน ไม่นึกถึงว่า สักวันเราจะต้องเป็นเหมือนอย่างนั้นบ้าง เหมือนหนึ่งเป็นคนจะไม่ต้องแก่ เจ็บ ตาย เมื่อทรงดำริอย่างนี้แล้ว ก็ทรงบรรเทาความเมา ๓ ประการ คือ เมาในวัย เมาในความไม่มีโรค และเมาในชีวิต กับทั้งความเพลิดเพลินในกามสมบัติได้ และมีพระอัธยาศัยน้อมไปในบรรพชา ไม่ยินดีในฆราวาสสมบัติ แม้การเดินทางของคณะต้นกล้า จะไม่สามารถเปรียบเทียบได้เลย กับการเสด็จประพาสราชอุทยานของเจ้าชายสิทธัตถะ แต่เราเชื่อเหลือเกินว่า การที่เราได้เห็นชีวิตความเป็นอยู่ ความยากลำบาก ความวุ่นวาย ของคนรากหญ้าในการเดินทางครั้งนี้ ทำให้เราได้เปิดมุมมองและมีทัศนคติที่เปลี่ยนไปจากเดิม เข้าใจความหลากหลายของสังคมไทยมากขึ้น เข้าใจถึงความเป็นจริงที่ว่า ยังมีผู้คนอีกมากในสยามประเทศนี้ ที่ขาดโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากร พลางทำให้นึกถึงคำสอนของหลวงพ่อไมตรี ฐิตปุญโญ เจ้าอาวาสวัดทางสาย หาดบ้านกรูด อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อครั้งคณะต้นกล้าได้พึ่งใบบุญพักที่วัดท่านหนึ่งคืน ท่านได้ให้โอวาทซึ่งมีประโยคที่ซาบซึ้งใจคณะต้นกล้าเป็นอย่างยิ่งว่า “ใครที่เห็นภาระของโลกว่าเป็นของน่าเกลียด เป็นความคิดที่ใช้ไม่ได้ ขอให้เธอเหล่าต้นกล้า จงเอามือข้างหนึ่งของเธอรับภาระของเธอและครอบครัวเอาไว้ และจงเอามืออีกข้างหนึ่งมารองรับภาระของโลกไว้ เธอจงช่วยแบ่งเบาภาระของโลก อย่าเป็นภาระของโลกและคนในโลก”

เมื่อ “ความเพียร” ชนะ “โชคชะตา”

       เมื่อคณะต้นกล้าได้เดินทางมาหลายวัน ได้ผ่านการทดสอบในการใช้ชีวิตด้วยความยากลำบาก ทั้งเรื่องการเดินทางที่ต้องเดินและพึ่งพาอาศัยการโบกรถ เรื่องที่พักที่ไม่สะดวกสบาย การน้ำกินน้ำใช้ที่ไม่เพียงพอ เรื่องอาหารที่ไม่ค่อยสะดวกนัก ทำให้ต้นกล้าหลายต้น อ่อนแรง เหนื่อยหล้า บางคนท้อแท้ บางคนอยากจะกลับบ้าน บางคนคิดถึงบ้าน คิดถึงพ่อแม่จนร้องไห้ บางคนพร่ำบ่นกับเพื่อนๆว่า “อยู่บ้านดีๆสบายไม่ชอบ ชอบมาหาความลำบาก” สถานการณ์เช่นนี้ คงจะต้องเป็นหน้าที่ของพระอาจารย์ที่จะต้อง สร้างแรงบันดาลใจและรอยยิ้มให้เกิดขึ้นให้ได้ก่อนต้นกล้าจะอ่อนแรงมากไปกว่านี้ พอดีวันนั้นเราเดินทางถึง และเดินขึ้นไปสวดมนต์ปฏิบัติธรรม บนยอดเขาวัดทางสาย จ.ประจวบคีรีขันธ์ หลังจากทำวัตรเสร็จ เห็นว่าต้นกล้าหลายคนเหนื่อยล้าอย่างเต็มที จึงได้บอกให้ต้นกล้าทั้งหมด เหลียวมองไปทางฝั่งทะเลของหาดบ้านกรูด ค่ำคืนนั้นเวลาประมาณ สองทุ่ม ท้องฟ้าสดใส ลมเย็นพัดพาเข้ามาหาต้นกล้า พระอาจารย์จึงได้ให้ข้อคิดกับต้นกล้าทุกต้นว่า “ลองมองออกไปทะเลที่ปรากฎอยู่เบื้องหน้าของเธอ เธอคิดว่าจะมีใครสักคนไหมที่สามารถว่ายน้ำไปในทะเลที่สุดลูกหูลูกตา ทั้งๆที่ไม่เห็นจุดหมายปลายทาง พวกเธอนี่ไงต้นกล้าทุกต้นที่นั่งอยู่ที่นี่ เราเป็นคนๆนั้น เพราะการเดินทางของเราที่กำลังดำเนินอยู่ เรามองไม่เห็นจุดหมายปลายทางเส้นทางข้างหน้าว่าจะเป็นอย่างไร จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง แล้วเราทำเพื่ออะไร เรากำลังทำให้โลกรู้ว่า ผู้มี “ความเพียร” สามารถเอาชนะ “โชคชะตา” ชีวิตได้ พระอาจารย์รู้ว่า ถึงวันนี้ต้นกล้าหลายต้นเหน็ดเหนื่อยแทบขาดใจ แต่ขอให้ต้นกล้าทุกคน มองการเดินทางที่ผ่านมาหลายจังหวัด เปรียบประหนึ่งว่า เรากำลังทำในสิ่งที่เจ้าชายสิทธัตถะเคยกระทำ พระองค์เคยสละความสุขส่วนตัว เพื่อประโยชน์สุขส่วนรวม พระองค์ทรงอดทนและเพียรพยายามที่จะเอาชนะ "มารในหัวใจของพระองค์" แม้ครั้งเสวยชาติเป็น "พระมหาชนก" ก็ทรงเพียรพยายาม ถึงกับตั้งปณิธานใจว่า “แม้ไม่เห็นฝั่ง ก็จะยังคงว่ายไปจนถึงที่สุด"

   

        พลันสิ้นสุดการให้ข้อคิด “ธรรมะอารมณ์ดีวิถีคนกล้า” น้ำตาแห่งความปีติและรอยยิ้มของต้นกล้าทุกต้น ได้หลั่งลงบนยอดเขาวัดทางสายต่อหน้าพระพุทธกิติสิริชัย พระพุทธองค์ใหญ่ หยดน้ำตาแห่งความสุขและความดี ได้หยดลงบนพื้นปฐพี ให้แม่ธรณีได้จดจำและจารึกไว้ตลอดกาล พร้อมกับพลังของต้นกล้าที่หายไป กลับมาเปล่งประกายกลายเป็นความมุ่งมั่นที่จะเดินตามความฝัน ไปให้สุดฝั่งฝันที่ตั้งไว้

เรียนรู้ “ความผิดหวัง” “การรอคอย” กับ ความสุขชั่วครู่ชั่วคราว

       กิจกรรมในการเดินทางที่ต้นกล้าชอบมากกิจกรรมหนึ่ง คือ “โบกรถน้ำใจ” ในวันแรก คณะต้นกล้าต้องโบกรถจากเพชรบุรีไปถึงชะอำ ครั้งนั้นจดจำได้ว่า เราโบกรถด้วยความอาย มีความกังวลใจอยู่ตลอดว่า โบกรถจะจอดไหม จอดแล้วจะรับเราไปไหม เขาจะคิดอย่างไรกับพวกเรา ความคิดร้อยแปดพันเก้าเข้ามาพัวพันในชีวิตเต็มไปหมด หลังจากวันนั้น คณะต้นกล้าต้องโบกรถเพื่อไปให้ถึงจุดหมายอีกหลายร้อยกิโล แต่เป็นการโบกรถที่ทั้งความรู้สึก ความคิด และทัศนคติของเราเปลี่ยนไป เปลี่ยนไปจากวันแรก เรารู้สึกสนุก และท้าทายกับการโบกรถ ความเขินอายในวันแรก หายไปหมดสิ้นตั้งแต่เมื่อไรไม่รู้ เรารู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่สนุกและท้าทาย จนถึงขนาดว่าในช่วงต่อมา ถ้าให้ต้นกล้าเลือกว่า ระยะทางต่อไป จะขึ้นรถไฟฟรี หรือ จะโบกรถ ทุกคนยิ้มและตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า “โบกรถ”


        คงจะด้วยความเป็นวัยรุ่นของต้นกล้า ทำให้ชอบอะไรที่ท้าทายกับชีวิต อีกทั้งการโบกรถน้ำใจ เป็นกิจกรรมหนึ่งที่ทำให้ต้นกล้าได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง โดยเฉพาะ “ความผิดหวัง” ในชีวิตของต้นกล้าหลายต้นไม่เคยผิดหวัง อยากได้อะไรต้องได้ ซึ่งจริงๆแล้วมนุษย์ทุกคนย่อมปรารถนาความสมหวัง และเกลียดชังความผิดหวังด้วยกันทั้งสิ้น แต่การโบกรถครั้งนี้ เป็นตัวแปรที่สำคัญในการสอนทักษะชีวิตในเรื่อง “ความผิดหวัง” ได้เป็นอย่างดี การโบกรถยังได้สอนต้นกล้าถึง “การรอคอย” และที่สำคัญได้สอนต้นกล้าในเรื่องของ “ความมีน้ำใจ” ซึ่งมันยังมีอยู่ในสังคมไทย แต่มันน้อยเต็มที เราได้ให้ต้นกล้า “ถอดบทเรียน” และ “สรุปองค์ความรู้” จากการโบกรถ บรรยากาศแห่งการพูดคุยเรื่อง “การโบกรถ” ไม่มีการพร่ำบ่นหรือเกลียดชัง เคียดแค้นรถที่ไม่จอดให้เราขึ้น แต่บรรยากาศการพูดคุยกับเป็นเรื่องความสนุกสนานและเรื่อง “หลุดๆ” “ฮาๆ” ของแต่ละกลุ่ม จบท้ายด้วยข้อคิดที่ทุกคนได้ คือ ถ้าวันหนึ่งต้องรอคอยอะไรสักอย่างสักเรื่อง “เราจะอดทนและรอได้” เมื่อเกิดความผิดหวังขึ้นในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเรียน ความรัก เพื่อน ครอบครัว งาน ทุกคนพร้อมที่จะเรียนรู้และอยู่กับมันให้ได้ ทำให้คิดถึงคำพูดของหลวงพ่อเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ที่กล่าวว่า “สุขคือโอกาส ทุกข์คือแบบฝึกหัด” “สุขมีไว้ให้เป็น ทุกข์มีไว้ให้เห็น”


       ยังมีเรื่องราวและแง่มุมจากการเดินทางครั้งนี้อีกมากมายที่ไม่สามารถ นำมาขีดเขียนให้ท่านได้อ่านได้ทั้งหมดในบทความฉบับนี้ มีโอกาสจะนำมาแบ่งปันเรื่องราว ทุกแง่มุมต่อสาธารณชนต่อไป วันนี้ชีวิตของต้นกล้าทั้ง ๒๘ คนได้กลับไปใช้ชีวิตตามปกติของตัวเอง แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปของต้นกล้าคือ ความคิด ทัศนคติ มุมมอง และทักษะการใช้ชีวิต และเชื่อว่าในขณะนี้ต้นกล้าทุกต้น กำลังแสดงแสนยานุภาพด้วยการเปลี่ยนโลกใบนี้ อย่างค่อยเป็นค่อยไป จากตัวเองสู่ครอบครัวและสังคมโลก ดังคำกล่าวของมหาตมา คานธี ผู้ยิ่งใหญ่ของคนอินเดีย ว่า "สิ่งที่ท้าทายสังคมยุคปัจจุบันไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงโลก แต่การเปลี่ยนแปลงตนเองให้เป็นอย่างที่ท่านอยากเห็นโลกเป็น"

หมายเลขบันทึก: 495351เขียนเมื่อ 19 กรกฎาคม 2012 19:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 กรกฎาคม 2012 22:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

เด็กวันนี้ ผู้ใหญ่ที่ดี ในวันข้างหน้า ฝึกดีวันนี้ "อาจ" เป็นผู้ใหญ่วันข้างหน้า เพราะมี "ต้นทุนที่ดี" ในวันนี้นะคะ

ขอบคุณบทความดีดีนี้นะคะ

ขอบคุณท่านปลัด
ที่นำเรื่องราวดีๆมาเผยแพร่
อ่านเพลินและได้ข้อคิดหลายอย่าง
พอจะมีภาพบรรยากาส
ในการเดินแบกเป้ฯมาให้ชมบ้างไหมครับ

กราบถวายความเคารพ ท่านอาจารย์พระมหาแล อาสโย ขำสุข

กราบขอบพระคุณ ที่เสียสละเวลามาอ่านบทความ

รูปบรรยากาศมีครับ แต่กระผม จนปัญญา เอามาลงในบทความ

กำลังหาวิธีอยู่ ขอรับ

สาธุกับ Somsri และ อ.พิม

กราบนมัสการพระอาจารย์ครับ เป็นกิจกรรมที่ดีมากอยากร่วมด้วยแต่เลยวัยนั้นมาแล้ว น่าจะมี ต้นกล้าแก่ๆ บ้างนะครับท่านอาจารย์

นมัสการค่ะ

ตามมาอ่านงานดีที่ควรอ่าน หากใครผ่านเสียดายอายหนักหนา โครงการดีที่เสริมเพิ่มปัญญา เหล่าต้นกล้าน้อยใหญ่ให้เติบโต

/l_ /l_ _/l_

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท