กสิกรรมเกื้อกูลแบบไร่ป่านาสวนที่วัดโนนสำราญ โดยอาจารย์พระมหาสุขสัญญา กตปุญโญ


มีภาพตัวอย่างและความก้าวหน้าของ "กสิกรรมเกื้อกูล" แบบ "ไร่ป่านาสวน" มาฝาก

วันนี้ช่วง ๑๕.๓๐ - ๑๘.๓๐ น.

ครูวุฒิได้เดินทางไปนมัสการพระอาจารย์สุขสัญญา กตปุญโญ เจ้าอาวาสวัดโนนสำราญ

ซึ่งท่านเป็นทั้งที่ปรึกษาองค์กรชุมชน และ ประธานเครือข่ายประชาสังคมตำบลโคกเพชร (ฝ่ายศาสนจักร)

และร่วมบรรยายเรื่อง "กสิกรรมแบบเกื้อกูล" กับครูวุฒิที่ ร.ร.ขุขันธ์ราษฎร์บำรุง เมื่อวานนี้

จึงมีภาพตัวอย่างและความก้าวหน้าของ "กสิกรรมเกื้อกูล" แบบ "ไร่ป่านาสวน" มาฝาก

(กอข้าวกอหนาท่าทางแข็งแรง อยู่ร่วมกับป่ายางนาได้สบายๆ บ่งบอกความเป็นไร่สวนนาป่าของจริง)

(ป่าต้นแดง แซมด้วยกอข้าวที่ยังเล็กนี้ อายุเพียงปีเศษๆ เท่านั้น)

(ต้นไม้ทุกต้นถูกปลูกและดูแลเอาใจใส่อย่างพิถึพิถัน เช่นเดียวกับแม่ผู้อารีย์เลี้ยงลูกด้วยหัวใจและจิตวิญญาณ)

(ผสมผสานด้วยพืชผักสวนครัวไร้สารพิษ หลายหลากมาชนิด)

(ระบบนิเวศน์เริ่มสมบูรณ์ทุกตารางนิ้ว มดแดงทำรังอยู่ทุกต้น)

(ด้านข้าง ด้านหลังศาลาโรงธรรม ก็ปลูกปอ ตะเคียนทอง ราชพฤกษ์ที่ถูกห่อด้วยพลูอีกชั้น)

(มองมุมไหนๆก็ชื่นตาชื่นใจไปทั้งสิ้น เป็นอีกครั้งที่ถ่ายรูปไม่เบื่อ)

ซึ่งถึงวันนี้

เป็นเวลาเพียง ๒-๓ ปีเศษเท่านั้น

ที่พระอาจารย์มาจำพรรษาในฐานะเจ้าอาวาสที่นี่

"วัดโนนสำราญ" ของหมู่บ้านเล็กๆไม่ถึง๘๐ หลังคาเรือน

ที่เคยเงียบเหงา โล่งเลี่ยน และอยู่นอกสายตาสาธุชนทั่วไป

ก็กลับมาเขียวขจี ร่มรื่น และมีชีวิตชีวาอย่างเห็นได้ชัด

สมเป็นวัดที่ท่านเจ้าอาวาสและชาวบ้านมีหัวใจสีเขียวจริงๆ

(ไม้เล็กที่เพิ่งเพาะ-เพิ่งปลูก ท่านดูแลเอาใจใส่อย่างดี)

แต่อย่างไรก็ตาม

ไม้งามรุ่นๆที่กำลังโตวันโตคืนนั้นก็พอวางใจได้

แต่ด้วยเป้าหมายที่ท่านเจ้าอาวาสวางไว้ว่า

อยากเร่งสร้างวัดแห่งนี้เป็น "ศูนย์บำบัดทุกข์บำรุงสุข"

ทั้งทางกาย ทางจิตใจ และทางเศรษฐกิจ ของพุทธศาสนิกชนทั้งใกล้-ไกล

เพราะท่านเห็นทุกข์ของผู้คนนับวันจะทวีความรุนแรงขึ้นทุกวัน จะรอช้ามิได้

ท่านจึงอยากเร่งปลูกต้นไม้พร้อมจัดระบบ "กสิกรรมเกื้อกูล" แบบ "นาป่า"

หรือ "ไร่ป่านาสวน" ตามแบบฉบับของ "มหาวิชชาลัยธรรมชาติ"

ให้สมบูรณ์พูนผลเป็นรูปเป็นร่างเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

ท่านจึงร่วมกับพระในวัดซึ่งมีอยู่เพียง ๔ รูป(รวมตัวท่านเอง) พร้อมด้วยโยมแม่ของท่านเร่งปลูกและดูแลอย่างเต็มที่

โดยในส่วนของชุมชนก็ช่วยท่านอย่างเต็มกำลัง

แต่ด้วยความจำเป็นในการหาเลี้ยงชีพ ชุมชนจึงช่วยท่านได้เพียงในวันธรรมสวนะเป็นส่วนใหญ่

นอกนั้นท่านพร้อมด้วยพระลูกวัด(อายุมากพอควร) และโยมแม่ของท่านก็ลุยเองทั้งสิ้น (โยมแม่ของท่านมาปฏิบัติธรรมและปวารณาตัวเป็นผู้ช่วยดูแลต้นไม้ในวัดอีกแรงหนึ่ง ซี่งท่านบอกว่าเป็นการถือโอกาสออกกำลังกายไปในตัวด้วย)

ยิ่งในส่วนตัวของท่านเองนั้น กลางวันต้องออกพระธรรมฑูตและสอนศีลธรรมในโรงเรียนทั้งละแวกใกล้เคียง และต่างอำเภอ

ดังนั้น ส่วนใหญ่ท่านจึงต้องรดน้ำและดูแลต้นไม้ในช่วงที่ดวงอาทิตย์เลยลับขอบฟ้าไปแล้ว

(ระบบน้ำรดต้นไม้และที่ใช้ในวัด ต้องเดินระบบมาจากทุ่งนาหลังวัด เพราะน้ำใต้ดินในพื้นที่บริเวณวัดเป็นน้ำครำสนิมเหล็ก)

 (ชมภาพขนาดต้นฉบับทั้งหมดได้ที่ https://plus.google.com/u/0/112341766181221896719/posts ครับ)

(พระลูกวัดและโยมแม่ของท่าน กำลังทำงานตามกำลังและคำสั่งจากหัวใจ)

ซึ่งกระผมเลยถือโอกาสเรียนแจ้งข่าวบอกบุญบอกกุศลพี่น้องชาว G2K ด้วยบันทึกนี้ว่่า

หากท่านใดอยากร่วมสร้างกุศลด้วยการช่วยปลูกและดูแลต้นไม้ในศาสนสถานแห่งนี้ ซึ่งยังมีพื้นที่ที่ต้องปลูกอีกกว้างพอควร

ก็แจ้งความจำนงได้โดยตรงที่ท่านอาจารย์พระมหาสุขสัญญา กตปุญโญ เจ้าอาวาส

หมายเลขโทรศัพท์ ๐๘๙-๙๐๓-๕๖๓๙ พระอาจารย์ท่านคงไม่ขัดศรัทธา

โดยเฉพาะพี่น้องท่านที่อยากปลูกต้นไม้ แต่ไม่ค่อยมีที่ปลูก อยากปลูกต้นไม้ แต่ไม่ใคร่มีเวลา

จะปลูกผ่านพระสงฆ์องคเจ้า หรือจะช่วยอุปถัมภ์ฝากท่านหาคนช่วยปลูกและดูแลต้นไม้ ประเภท ยางนา ตะเคียนทอง สักทอง ประดู่ แดง มะค่า กันเกรา พันชาติ ฯลฯ

ที่อนาคตต้องเติบใหญ่ให้ประโยชน์เป็นคุณอเนกอนันต์ ทั้งแก่โลกและผู้คนทั่วไป ก็คงจะดีไม่น้อย

ส่วนจะเป็นรูปแบบใดๆนั้น ก็ขอให้ขึ้นอยู่กับศรัทธา ความสะดวก และความพึงใจของพี่น้องก็แล้วกันนะครับ

(เรื่องนี้ท่านไม่ได้บอก เป็นความคิดของครูวุฒิเอง โดยในส่วนตัวก็ตั้งใจไว้ว่าจะได้พาเด็กๆไปช่วยท่านเป็นระยะๆ และถือโอกาสฟังธรรมจากท่าน ซึ่งท่านมีเทคนิควิธีการเทศที่แยบคาย มีกุศโลบายที่แยบยล พร้อมวจนอันสุนทร และสื่อประกอบการเทศนาที่เข้าถึงซึ่งส่วนลึกของจิตใจผู้ฟังจริงๆ และถือเป็นการทำบุญตามแนวของท่านดาบฯวิชัย สุริยุทธ ที่ว่า "การปลูกต้นไม้ เป็นการทำบุญที่ถูกต้องที่สุด" ด้วย)

..........................

หมายเลขบันทึก: 494826เขียนเมื่อ 14 กรกฎาคม 2012 23:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 กรกฎาคม 2012 08:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

ขอบคุณที่นำมาแบ่งปันค่ะ..เป็นแบบอย่างของการผสมผสานการทำไร่นาที่ใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและเกื้อหนุนอย่างวิถีชีวิตแบบพอเพียง..

This is an example of 'cultivation of the heart and mind'.

The good abbot clearly aims to cultivate people using ecological agriculture as the media in this project-based learning (PBL).

Wonderful to see Buddhist monks rising up in today's world of materialism.

Saadhu.

Blank ครับพี่ใหญ่

  • ผมเข้าใจว่า "ความเกื้อกูลกันและกัน" เชิงเช่นนี้แหละ ที่โลกและสังคมของเรากำลังขาดแคลนอย่างหนัก
  • โลกจึงป่วย สังคมจึงวิกฤต
  • ขอบคุณครับ

Blank ครับคุณสุนทร

  • ตามที่คุยกับพระท่าน ความเห็นของคุณตรงประเด็นมาก
  • หายากพอควรครับ สำหรับพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ที่จะมองเห็นความเป็นจริงของโลกและสังคม แล้วลงมือทำจาก ๐ เช่นนี้
  • ขอบคุณครับ

หลวงพ่อทำให้ดูเป็นตัวอย่างเลย

อย่างนี้ชาวบ้านได้สถานที่ฝึกอบรม

ขอบพระคุณครับท่าน อ.โสภณ Blank

  • วิสัยทัศน์ของท่านในเรื่องต่างๆก็ไม่เบาครับ
  • ถือได้ว่าเป็นความหวังของตำบล-ของอำเภอ ในการ "เอาอยู่" เกี่ยวกับปัญหาเด็กและเยาวชนได้พอควรครับ
  • สวัสดีครับ

รวมทั้งดอกไม้จากท่าน Blank ด้วยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท