หนูรี
นารี เอี่ยมวิวัฒน์กิจ ชูเรืองสุข

7ปีที่เตี่ยจากไป..."สิ่งที่เหลือไว้" (3)


บันทึกต่อจาก "บันทึกที่แล้ว "


(3)

 

จากการที่เตี่ยนั้นให้ความสำคัญในเรื่องอาหารการกิน การไปขายยางที่ยะลา(ตัวเมือง) จึงมักจะมีแต่คนที่อยากจะติดสอยห้อยตามไปด้วยทุกครั้งผู้ที่รับเลือกเพียงครั้งละคนก็ดีใจเป็นลิงโลด เพราะการได้ติดตามเตี่ยเข้าเมืองไปขายยาง ถือว่าเป็นรางวัลพิเศษที่จะได้ไปนั่งกินอาหารอร่อยๆในร้าน อาหารจำพวกเป็ด ไก่ หมูแดง หมูกรอบ ไส้กรอกย่างแบบของคนจีน หรือไม่ก็ขนมจีบ ซาลาเปา ที่โรงแรมเขียวอัน ซึ่งเป็นโรงแรมขึ้นชื่อของยะลาสมัยนั้น( เมื่อประมาณ 40ปีที่แล้ว) และอาหารอีกหลายอย่างที่นานจะได้กินสักที

 

และสำหรับคนที่ได้รับเลือกครั้งนี้ก็หมายความว่าครั้งต่อไปจะต้องหมดโอกาสโดยปริยาย ...จะต้องรอจนกว่าจะหมุนวงรอบกลับมาเจออีกที ... บางครั้งก็จะมีการร้องไห้ชักดิ้นชักงอประท้วง ... เพียงแค่เตี่ยเดินไปหักกิ่งไม้จากต้นใกล้ๆบ้าน เพื่อใช้เป็นไม้เรียวเท่านั้น  เตี่ยบอก “โย๋บ้านก่ะด่ายกิ่น อิร้องตามไส่ ... ค่อยไป๋ต๋อเดือนหน้า ”  (อยู่บ้านก็ได้กิน แล้วจะร้องทำไม ... ค่อยไปเดือนหน้า) เตี่ยพูดจบ รอยยิ้มเปื้อยคราบน้ำตาก็จะปรากฏขึ้นบนใบหน้าของผู้ที่จะสมหวังในโอกาสต่อไป ... คราวหน้า

 

ถึงแม้เตี่ยจะจบแค่ป.4 แต่ความคิดความอ่านของเตี่ยไม่ได้อยู่แค่นั้น เตี่ยอยากให้ลูกๆ ได้เรียนหนังสือตามที่ลูกๆจะสามารถเรียนได้ เตี่ยบอกว่าใครอยากเรียนก็ให้เรียน ในขณะที่พวกเรากำลังโตขึ้นทุกวัน แต่รายได้ของครอบครัวกลับไม่เพิ่มขึ้น

 

เตี่ยจึงตัดสินใจโค่นยางที่เปรียบเหมือนหม้อข้าวหรือแหล่งทุนรอนในการดำรงชีวิตในขณะนั้น เพื่อปลูกยางใหม่ ซึ่งเป็นยางพันธุ์ดี ที่ให้น้ำยางมากกว่าพันธุ์พื้นเมืองเดิมหลายเท่าตัว เพื่ออนาคตของลูกๆ แต่นั่นก็หมายความว่า ครอบครัวเราต้องกระเหม็ดกระแหม่ให้มากขึ้นกว่าเดิมเป็นเวลา 5ปี หรือจนต้นยางใหม่จะโตและกรีดได้ ... เตี่ยไปยื่นขอทุนปลูกยางใหม่จากกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง เป็นคนแรกๆ ในตำบล ในขณะที่เพื่อนบ้านหลายคนยังคลางแคลงใจสงสัยกลัวกองทุนฯจะมาเอาผลประโยชน์จากสวนของเรา

 

ในขณะที่เตี่ยศึกษาข้อมูลเป็นอย่างดี เตี่ยบอกว่า เรามีแต่ได้ ไม่มีเสียอะไรเลย ขอให้เราตั้งใจทำสวนของเราให้เป็นไปตามที่กองทุนฯกำหนดไว้เท่านั้น แถมยังได้เงินค่าดูแลสวนของเราอีกต่างหาก หลังจากที่เพื่อนบ้านเห็นผลดีของการขอทุนจากกองทุนสงเคราะห์ฯ ก็ทยอยกันไปขอกันทั้งตำบล

 

ในระยะแรกที่โค่นยางเก่าไป ครอบครัวเราก็ขาดรายได้ไปเกินครึ่งจากที่ไม่พออยู่แล้วก็แย่ไปกันใหญ่ แต่ต่อมาก็ค่อยๆดีขึ้น เพราะมีรายได้จากกองทุนฯ ที่เป็นค่าปลูก ค่าดูแล บำรุงรักษา ค่าปุ๋ย เป็นงวดๆ มาเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆในครอบครัว

 

นอกจากนั้นก็ได้จากการขายของที่เตี่ย แม่และพวกเราปลูกไว้ ระหว่างแถวยางที่ปลูกใหม่ ทั้งกล้วยหิน กล้วยน้ำว้า กล้วยนางยา กล้วยไข่ มะละกอ ข้าวโพด ถั่วลิสง ถั่วฝักยาว แตงร้านลูกโตๆและผักอื่นๆรวมทั้งเห็ดแครง เห็ดหูกวางที่ขึ้นเองตามตอไม้ยางที่ถูกโค่น ซึ่งช่วยให้ครอบครัวเราขณะนั้นอยู่ได้โดยไม่ขัดสนอย่างที่เรากลัวกันในตอนแรก

 

 

3 ตอนแล้วยังไม่จบค่ะ  ... อ่านไปพิมพ์ไปก็เพลินดี เหมือนย้อนกลับไปคุยกับเตี่ย จากที่พี่ชายเขียน คนที่ร้องไห้ชักดิ้นชักงอวันนั้น น่าจะเป็นฉันกระมัง การได้อยู่ใกล้เตี่ยก็มีความสุขจริงหนอ เรื่องกินนี้มีเป็นที่หนึ่ง ... ร้านอาหารอร่อยในตัวเมืองยะลาเป็นต้องได้ชิมกัน... แต่เดือนละครั้งเท่านั้นนะคะ  รักเตี่ย รักแม่ รักพี่ๆทุกคน และน้องหนึ่งคนค่ะ  กับน้องคนนี้ ตอนเด็กๆก็ทะเลาะกันไม่เลิก ต้องจับแยกกันห่างๆ แต่ตอนนี้ไม่ทะเลาะกันแล้ว 

 

 

"สิ่งที่เหลือไว้" ยังไม่จบค่ะ ... แล้วพบกันใหม่ในตอนต่อไปนะคะ




ขอขอบคุณทุกๆท่านที่แวะมาเยี่ยมอ่านบันทึก

สวัสดีค่ะ ^^

 

....


หมายเลขบันทึก: 494473เขียนเมื่อ 11 กรกฎาคม 2012 21:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กรกฎาคม 2012 21:08 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

Blank พิชชาBlank วิชญธรรม, และ Blank โอ๋-อโณ.


ขอบคุณค่ะคุณน้องพิชชา ,คุณวิชญธรรม และพี่โอ๋ค่ะ

ที่แวะมามอบดอกไม้ให้กำลังใจขอบคุณค่ะ

และอ่านบันทึกเรื่องราวของเตี่ย ขอบคุณค่ะ

ขอขอบคุณสำหรับกำลังใจนะคะทุกๆท่าน ขอบคุณค่ะ

มรดกล้ำค่าทั้งโภคทรัพย์และทรัพย์ภายในใจ ล้ำค่ายิ่งนักค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท