มารู้จักCSRกันเถอะ


การรับผิดชอบของธุรกิจต่อสังคม (Corporate Social Responsibility--CSR)

มารู้จัก(Corporate Social Responsibility--CSR) กันเถอะ

การรับผิดชอบของธุรกิจต่อสังคม (Corporate Social Responsibility--CSR)

          การให้เพื่อสังคมโดยภาคธุรกิจนั้นสามารถทำได้อย่างหลากหลาย การให้เงินบริจาคตามที่ได้กล่าวมาข้างต้นนั้นเป็นเพียงลักษณะหนึ่งที่มีมานานแล้วเท่านั้น ปัจจุบันแนวคิดที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดด้านการให้ต่อสังคมโดยภาคธุรกิจนั้นก็คือสิ่งที่เรียกกว่า 'การรับผิดชอบของธุรกิจต่อสังคม (corporate social responsibility)' ซึ่งเป็นแนวคิดทางธุรกิจที่กำลังกลายเป็นกระแสไปทั่วโลก อย่างไรก็ตามเราจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจรูปแบบ กลไก และประโยชน์ของ CSR อย่างแท้จริง เพื่อไม่ให้ CSR กลายเป็นเพียงกระแสฮิตทางธุรกิจที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว หรือการที่ภาคธุรกิจอาจจะเข้าใจ CSR ว่าเป็นลักษณะการสร้างภาพชนิดหนึ่งหรือเป็นมาตรฐานอุตสาหะกรรมอีกอย่างหนึ่งเท่านั้น

จุดกำเนิด CSR จาก 4 ทิศทาง 

          1. CSR จากกระแสเรียกร้องของประชาชน
          การทำ CSR (Corporate Social Responsibility) มีมานานกว่า 200 ปีแล้ว (ประมาณ พ.ศ. 2333) แต่ยังไม่มีการนิยามคำว่า CSR ขึ้นมาอย่างเป็นทางการ ยกตัวอย่างเช่น บริษัท อีสท์ อินเดียในประเทศอังกฤษ ถูกคว่ำบาตรจากประชาชนในประเทศ เนื่องจากพบว่าบริษัทใช้แรงงานทาส จึงทำให้บริษัทจำเป็นต้องหันมาใส่ใจกับสวัสดิการแรงงานและสิทธิมนุษยชนมากขึ้น และยังมีตัวอย่างการทำ CSR ในประเทศอื่น ๆ ในยุคแรกเริ่ม ได้แก่ บริษัท เบียร์กินเนส ประเทศไอร์แลนด์ บริษัท เฮิร์ซทเลย์ สหรัฐอเมริกา หรือแม้แต่ บริษัท "ทาทา" บริษัทยักษ์ใหญ่ ที่เป็นเจ้าของธุรกิจเกือบทุกประเภทในประเทศอินเดีย           
          ในปี พ.ศ. 2527 (ค.ศ.1984) Nestle' ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์นม ได้ออกกิจกรรมรณรงค์ให้เด็กทารกดื่มนม เนสเล่ แทนนมแม่ ก่อให้เกิดความไม่พอใจอย่างมากต่อประชาชน จนคว่ำบาตรสินค้าของ เนสเล่ ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกที่ประชาชนรวมตัวกันเป็นจำนวนมาก เพื่อบีบให้องค์กรยักษ์ใหญ่ อย่าง เนสเล่ เปลี่ยนนโยบาย แต่ก็ได้ผลดี         
          ถึงแม้ว่าการทำ CSR ในยุคแรกๆ นั้น ไม่ได้เกิดขึ้นจากเจตนารมย์ที่ดีขององค์กรเอง (มักรอให้เกิดปัญหา แล้วค่อยมาแก้ไขด้วยการทำ CSR ทีหลัง) แต่นั่นก็เป็นการจุดประกายการทำ CSR ขึ้นในสังคมเพราะหลายบริษัทจะพบว่า การรอให้เกิดปัญหา การประท้วงเรื่องแรงงาน สิ่งแวดล้อม ฯลฯ ก่อน แล้วจึงค่อยหันมาใส่ใจประเด็นเหล่านี้ ไม่เป็นผลดีอีกต่อไป ทำไมไม่เป็นฝ่ายรุก หันมาดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม  แสดงตนว่าเป็นส่วนหนึ่งของสังคม และมีความปรารถนาที่ดีที่จะทำสิ่งดีดีตอบแทนสังคมที่ตนอยู่ (corporate citizenship)         
          แต่จะอย่างไร ธุรกิจก็คือธุรกิจ การรักษาผลประโยชน์ (กำไร) เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในสายตาของผู้ถือหุ้น ซึ่งการนำส่วนหนึ่งของผลกำไรที่ผู้ถือหุ้นควรจะได้รับแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย ไปลงทุนในการทำCSR ซึ่งเป็นอะไรที่ไม่สามารถเห็นผลได้ชัดเจนในระยะสั้น ๆ ย่อมเกิดความไม่พอใจต่อหลายฝ่ายที่รู้สึกว่าตนเสียผลประโยชน์         
          การทำ CSR จึงจำเป็นจะต้องผสานประโยชน์ทั้งภายนอกและภายในองค์กร เพราะถึงแม้ว่าองค์กรจะต้องใช้งบประมาณจำนวนไม่น้อยในการทำ CSR แต่ในขณะเดียวกัน องค์กรที่ทำ CSR จะทำให้ประชาชน รู้สึกดีต่อองค์กร และเลือกที่จะบริโภคผลิตภัณฑ์และ/หรือ บริการขององค์กรนั้นๆ แทนที่จะไปใช้ของคู่แข่ง ที่ไม่ได้ทำ CSR หรือเกิดความจงรักภักดีในตราสินค้า (brand royalty) ซึ่งทำให้รายได้ขององค์กรเพิ่มขึ้นมาก และยั่งยืนอีกด้วย และนั่นก็เปรียบเสมือน "license to operate" ในเชิงสัญลักษณ์ เมื่อประชาชนสนับสนุนองค์กร ก็เปรียบเสมือนการอนุญาตให้องค์กรนั้น ๆ ดำเนินธุรกิจอยู่ในสังคมของพวกเขา ในทางกลับกัน หากองค์กรที่ไร้จรรยาบรรณ ถึงจะเปิดกิจการอย่างถูกต้องตามกฎหมายหากประชาชนไม่สนับสนุน หรือคว่ำบาตรสินค้าขององค์กรนั้น ๆ ธุรกิจก็คงดำเนินต่อไปไม่ได้         
          จากการทำ CSR แบบตกกระไดพลอยโจนในอดีต พัฒนามาสู่ แนวคิดที่ว่า "ทุกองค์กร ควรมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือและพัฒนาสังคม" โดยเฉพาะภาคธุรกิจ ที่เป็นที่มาของความกินดีอยู่ดีในสังคม เพราะมีทั้งกำลังทรัพย์และความสามารถในการจัดการบริหารต่าง ๆ จนเกิดข้อถกเถียงขึ้นในปัจจุบันว่า อันที่จริงแล้ว "ใคร" กันแน่ที่มีหน้าที่ในการทำ CSR โดยตรง เพราะแต่เดิมหน้าที่นี้เป็นของภาครัฐบาลและ NGO แต่ในความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน "มันเป็นหน้าที่ของทุกคน ทุกองค์กร ที่จะต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน" 
      
          2. CSR จากกลุ่มนักลงทุน
          ประมาณปี พ.ศ. 2471 เริ่มมีแนวทางการลงทุนทางธุรกิจเพื่อสังคมแนวใหม่ขึ้น หรือที่เรียกว่า "social responsibility investment" ในปัจจุบัน คือการจัดตั้งกองทุนเพื่อไปลงทุนในบริษัทที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม  ซึ่งถือว่าเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการทำ CSR ซึ่งมีนัยยะที่สำคัญเพราะนักลงทุนนั้นมีบทบาทอย่างยิ่งต่อการพลักดันให้ธุรกิจที่ตนเองถือหุ้นหรือลงทุนอยู่นั้นมีความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น โดยมีพัฒนาการตามลำดับดังนี้
                 1. Pioneer fund จัดตั้งขึ้นโดยกลุ่มนักลงทุนผู้นับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรเทสแทนท์ โดยใช้หลักคำสอนของศาสนาเข้ามาวัดความชอบธรรมในการดำเนินธุรกิจ โดยจะนำทุนไปลงทุนในกลุ่มธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมไม่ดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอบายมุขทั้งหลาย เช่น สุรา นารี ยาเสพติด ฯลฯ
                 2. Green fund กองทุนที่เน้นลงทุนในธุรกิจที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
                 3. Social responsible investment หรือ Social responsible funds เป็นกองทุนที่ลงทุนในองค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมในหลาย ๆ ด้านในขอบเขตที่ไกลออกไป ตั้งแต่เรื่องสิทธิมนุษยชน แรงงาน สวัสดิการของคนและสัตว์ ห่วงใยชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีอัตราเติบโตสูงมากในช่วงปี 2542-2544 มีอัตราเติบโตสูงถึง 36% มีมูลค่าการลงทุนในสหรัฐอเมริกามากถึง 17.9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ นับว่าเป็นตลาดที่น่าจับตามองอย่างมาก

          3. CSR จากมุมของนักวิชาการ
ในวงการ วิชาการต่างประเทศ ก็มีการพัฒนางานเขียนที่มีแนวคิดเรื่อง CSR ขึ้นมาเรื่อย ๆ ดังนี้
          ปี พ.ศ.2483 (ค.ศ.1940) ศาสตราจารย์ ธีโอดอร์ เครปส์  Professor Theodor Kreps จากสแตนด์ฟอร์ด บิสสิเนส สคูล ใช้คำว่า "social audit" เป็นครั้งแรก ซึ่งกล่าวว่าองค์กรธุรกิจควรมีการทำรายงานการกระทำที่แสดงความรับผิดชอบต่อสังคม แต่ทว่ากระแสเรื่อง CSR ก็ยังไม่เป็นที่สนใจอยู่ดี
          ปี พ.ศ.2496 (ค.ศ.1953) หนังสือเรื่อง "Social Responsibilities of Business Man" โดย โฮเวิร์ด โบเวนด์ Howard Bowend กล่าวถึง ความรับผิดชอบต่อสังคมของนักธุรกิจ           
          ปี พ.ศ.2503 (ค.ศ.1960) หนังสือเรื่อง "The Responsible Corporation" หรือความรับผิดชอบต่อสังคมโดยนักธุรกิจ โดย จอร์จ กอยเดอร์ George Goyder ได้พัฒนาแนวคิดการทำ CSR อย่างชัดเจนขึ้นมาในปีเดียวกัน เป็นช่วงที่ผลพวงจากการใช้ "DDT" ซึ่งอเมริกาเป็นผู้ผลิตและส่งออก อย่างไม่คำนึงถึงผลกระทบด้านลบที่เกิดจากการใช้ DDT เป็นผลให้สภาพแวดล้อมปนเปื้อนสารพิษ นำไปสู่กระแสเรียกร้องด้าน "สิ่งแวดล้อม" ขึ้น
 
          4. CSR กับสถาบันและกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ
          หลังจากกระแสด้านสิ่งแวดล้อม เป็นประเด็นที่ทั่วโลกจับตามองจากเรื่อง DDT ในช่วงปี พ.ศ.2503 (ค.ศ.1960) ก็เกิดการประชุมที่มุ่งช่วยแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นเรื่อย ๆ
          ปี พ.ศ.2515 (ค.ศ.1972) มีการประชุม UN Conference on the Human Environment ที่ Stockholm Sweden ที่นำมาสู่ "Stockholm Declaration on the Human Environment" ซึ่งเป็นที่มาของการก่อตั้ง UNEP--United Nation Environment Program ขึ้น โดยเป็นหน่วยงานที่ดูแลสิ่งแวดล้อม ในภาคต่าง ๆ รวมถึงภาคธุรกิจ
          ปี พ.ศ.2519 (ค.ศ.1976) กลุ่มประเทศพัฒนา OECD ตั้ง Guideline for Multinational Enterprises เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินธุรกิจของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนระหว่างประเทศ ให้ดำเนินธุรกิจโดยมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้รับการตอบรับจากบริษัทต่าง ๆ ดีมาก แต่ก็ยังจำกัดอยู่เฉพาะในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว นำไปสู่การปรับปรุง guideline อีกครั้งในปี พ.ศ. 2543 (ค.ศ.2000) เกิดเป็นกระแสการทำ CSR ระหว่างประเทศ เพราะเน้นการนำไป ปฏิบัติจริง ในทุกประเทศ ไม่จำกัดเฉพาะในกลุ่มประเทศสมาชิก OECD           
          ปี พ.ศ.2530 (ค.ศ.1987) UN Brundtland Commission ผลิตเอกสารสำคัญสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยนิยามคำว่า "การพัฒนาที่ยั่งยืน คือ การพัฒนาที่สามารถตอบสนองความต้องการของคนยุคปัจจุบันได้ โดยไม่ทำให้ความต้องการของคนยุคต่อมาเกิดปัญหา" โดยตั้งชื่อให้กับเอกสารนี้ว่า "Our Common Future"         
          ปี พ.ศ.2532 (ค.ศ.1989) หลังจากเหตุการณ์ เรือบรรทุกน้ำมันดิบของ Exxon Waldez ล่มบริเวณทะเลอลาสก้า ซึ่งก่อผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม และสัตว์น้ำแถบทะเลอลาสก้าเป็นวงกว้าง กลุ่มธุรกิจ SRI--Social Responsible Investment ซึ่ง Exxon เป็นหนึ่งในนั้นจึงร่วมกันบัญญัติกฎ 10 ประการที่เรียกว่า "Waldez Principle" ซึ่งกำหนดความประพฤติ ขององค์กรให้มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อบัญญัติ เป็น CERES Principle 
          ปี พ.ศ.2535 (ค.ศ.1992) มีการประชุม UN Earth Summit ที่ ริโอ เดอ จาเดโร ประเทศบราซิล เกิด RIO Declaration ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืนขึ้น         
          ปี พ.ศ.2538 (ค.ศ.1995) มีการประชุม UN World Summit for Social Development ที่โคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ซึ่งสาระสำคัญของการประชุมเน้น การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมควบคู่กันไป โดยเฉพาะประเด็นเรื่องแรงงาน ที่ควรได้รับการจ้างงานเต็มอัตรา มีการพัฒนาคุณภาพชีวิตพนักงาน ตามกฎขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ (ILO)
          ปี พ.ศ.2539 (ค.ศ.1996) ผลจาก Rio Summit นำมาสู่การเกิดมาตรฐาน ISO 14000 ซึ่งเน้นด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม ซึ่งทั่วโลกนำไปใช้ เพื่อให้เกิดมาตรฐานของธุรกิจร่วมกัน  ณ ปัจจุบัน มีองค์กรธุรกิจ กว่า 50,000 องค์กร ทั่วโลกที่ได้รับมาตรฐาน ISO 14000 แล้ว และกว่า 500,000 รายที่ได้รับมาตรฐาน ISO 9001 ซึ่งเน้นด้านสิทธิและสวัสดิการแรงงาน
          ช่วงปลายทศวรรษ 90 (ประมาณ พ.ศ. 2524-2534) เกิด GRI--Global Reporting Initiative ซึ่งมุ่งหามาตรฐานการรายงานผลการดำเนินงานของธุรกิจ ทั้ง 3มิติ คือ การวัดผลทางด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและสังคม เพื่อที่จะให้แต่ละองค์กรธุรกิจรายงานผล ที่เป็นจริงในทุกมิติ ไม่ใช่นั่งเทียนเขียนลอย ๆ โดยไม่ได้ทำจริง  ซึ่งขณะนี้มีบริษัทขนาดใหญ่กว่า 400 บริษัทที่นำหลักการนี้ไปใช้
          ปี พ.ศ.2542 (ค.ศ.1999) ผู้คนเริ่มให้ความประเด็นเรื่อง CSR เป็นที่สนใจอย่างมาก มีการประชุม World Economic Forum นำโดยนายโคฟี่ อันนัน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (UN) ร่วมกับ 5 หน่วยงานของ UN (ILO, UNDP,UNEP, UNCHR, UNIDO) และภาคธุรกิจ ได้ออก "UN Global Compact" หรือหลัก 9 ประการที่บริษัทในโลก โดยเฉพาะธุรกิจข้ามชาติ ให้ทำ CSR ในหลักการทั้ง 9 นี้ ได้รวมเอาแนวคิดเรื่อง Corporate Citizenship สิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงาน การพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่กระจัดกระจายจากหลาย ๆ แนวคิดเข้าด้วยกัน เป็นบรรทัดฐานการทำ CSR ขององค์กรธุรกิจที่ชัดเจนที่สุด ต่อมา OEDC จึงได้ปรับแผลการดำเนินงานในกลุ่มประเทศสมาชิกของตนให้สอบคล้องกับ "UN Global Compact"
          ปี พ.ศ.2545 (ค.ศ.2002) UN World Summit on Sustainable Development ที่เมืองโจฮันเนสเบิร์กนั้นก็เป็นจุดที่เกิดความเชื่อมโยงอย่างชัดเจนของความรับผิดชอบของภาคธุรกิจต่อสังคม และการพัฒนาที่ยั่งยืนที่มีหลักการที่ว่าการตอบสนองความต้องการของคนยุคนี้ต้องไม่ไปทำลายโอกาสของคนรุ่นหลังในการตอบสนองความต้องการของตน
กระแสที่ผลักดันให้เกิด CSR
         1. โลกาภิวัฒน์ องค์กรธุรกิจแผ่ขยายไปทั่วโลก ถ้าไม่มีหลักการควบคุมด้านมนุษยธรรม หรือมาตรฐานที่เท่าเทียมกัน ก็จะเกิดกรณี อย่าง NIKE ที่ไปผลิตสินค้าในประเทศยากจน กดราคาแรงงานให้ต่ำสุดขีด เพื่อมาขายในประเทศพัฒนาแล้ว ในราคาสูงลิบ ขาดจรรยาบรรณขององค์กรที่ดี ในด้านสิทธิและสวัสดิการแรงงาน เป็นต้น หากจะมองในด้านบวก บริษัทข้ามชาติ ต่างก็มีซัพพลายเออร์ และ/หรือ สาขาท้องถิ่น อยู่ทั่วโลก หากบริษัทแม่ นำหลักการด้าน CSR ไปใช้กับซัพพลายเออร์ และหรือ สาขาท้องถิ่นนั้น ๆ ด้วย เศรษฐกิจ และสังคมโลก ก็จะพัฒนาไปพร้อม ๆ กัน
          2. การเปิดเสรีการค้า และการปฏิรูปด้านกฎหมายต่าง ๆ เนื่องจากปัจจุบัน โลกเปิดเสรีทางการค้า แต่ในแง่ของกฎหมาย กฎระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ อาจยังไม่คลอบคลุม หรือเพียงพอที่จะคุ้มครองให้องค์กรธุรกิจดำเนินการอยู่ภายใต้จรรยาบรรณที่ดี ดังนั้นหารภาคธุรกิจ มีผู้นำที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ก็จะเป็นตัวสร้างกระแส CSR ให้เกิดขึ้น อุดช่องโหว่ที่ฝ่ายรัฐบาลเข้าไปดูแลไม่ถึง
          3. กระแสเรื่องสิ่งแวดล้อมและสังคม นับจาก RIO Summit ในปี พ.ศ.2503 (ค.ศ.1960) ที่นำประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมให้อยู่ในกระแสสังคมโลก ต่อมากระแสด้านสังคม ก็เพิ่มขึ้นเนื่องจากเกิดปัญหาสังคม ทำให้เกิดแนวคิดเรื่อง Triples Bottom Line กล่าวคือ การบริหารจัดการ ที่ใส่ใจ ผลกำไร สิ่งแวดล้อม และสังคมไปพร้อม ๆ กัน เนื่องจากกระแสเรื่องสิ่งแวดล้อม และสังคม เป็นประเด็นร้อน บีบให้องค์กรธุรกิจต้องหันมาใส่ใจ แต่ก็ยังคงต้องรักษาผลกำไรขององค์กรไว้เป็นหลัก ดังนั้นการทำ CSR จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุดที่จะประสานประโยชน์ทั้ง 3 เข้าด้วยกันได้ องค์กรธุรกิจหลายองค์กรที่มีทัศนวิสัย กว้างไกล จึงเริ่มหันมาทำ CSR กันอย่างพร้อมหน้า
 
CSR ในมุมมองของนักธุรกิจ แต่ละยุคสมัย
          เราได้พิจารณาประเด็นด้านวิวัฒนาการของ CSR ในมุมมองเชิงมหภาคมาแล้วไม่ว่าจะเป็นการเรียกร้องของประชาชน นักลงทุน รัฐบาลหรือองค์กรระหว่างประเทศ  อย่างไรก็ตามความสำเร็จของ CSR จะเกิดขึ้นได้จริงก็ต่อเมื่อนักธุรกิจนั้นเห็นประโยชน์และความจำเป็นที่จะต้องประยุกต์ CSR เข้ากับธุรกิจของตน ดังนั้นความเข้าใจพัฒนาการของ CSR จากมุมมองของนักธุรกิจเองจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด

          เมื่อหลายศตวรรษมาแล้ว ในยุคที่อังกฤษ ทำการปฏิวัติอุตสาหกรรม วิถีชีวิตของคนเปลี่ยนไป อุตสาหกรรมนำมาซึ่งการผลิตสินค้าจำนวนมากแต่ราคาถูก ซึ่งยิ่งลดต้นทุนได้มากเท่าไร นั่นหมายถึงผลกำไรที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงไม่มีใครคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ประชาชนรวมถึงรัฐบาลก็ไม่ใส่ใจกับปัญหามลพิษที่เป็นผลพลอยได้จากการทำอุตสาหกรรมเพราะว่า ข้อดีของการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมมีมากกว่า จนกระทั่งเกิดประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมขึ้น ในปีช่วงทศวรรษที่ 70 จึงนำมาสู่ยุคเริ่มของการทำธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและชุมชน จากนั้น การทำธุรกิจกับ CSR จึงค่อย ๆ พัฒนาขึ้นต่อเนื่อมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งสามารถแบ่งยุคของ ธุรกิจกับการทำ CSR ออกเป็น 3 ช่วง ได้ดังต่อไปนี้
          1. ยุค "ได้อย่างเสียอย่าง" หรือขยายความได้ว่า "อยากช่วยสิ่งแวดล้อมและชุมชุม ก็ต้องยอมเสียผลกำไร" ซึ่งเป็นยุคแรกเริ่ม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2343 (ค.ศ.1800) ตามที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น ถึงสถานการณ์ช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมที่นำมาสู่ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง มลพิษทางน้ำ และอากาศแผ่ขยายไปทั่ว เพราะนักธุรกิจมุ่งแต่แสวงผลกำไร ยึดหลัก "เอา สร้าง เสีย" (Take, Make, Waste) เป็นแนวคิดในการจัดการโรงงาน จนกระทั่งปี 1970 ปัญหาสิ่งแวดล้อม จากของเสียและมลพิษอุตสาหกรรมส่งผลกระทบอย่างมากต่อสิ่งแวดล้อม ทางรัฐบาล จึงต้องออกมาตรการมาบังคับภาคธุรกิจเกี่ยวกับมาตรฐานโรงงาน และการปล่อยสารพิษต่าง ๆ ดังนั้นองค์กรธุรกิจจึงจำต้องทำตามเพื่อความอยู่รอด นำไปสู่การคอร์รัปชั่น ให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่รัฐบาล ดังนั้นการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสังคมในยุคแรก ๆ นี้ จึงเป็นไปอย่างจำยอม ขาดการจัดการที่ดีทำให้ธุรกิจเองต้องลงทุนสูงแต่ได้ผลตอบแทนต่ำบรรดานักธุรกิจจึงฝังค่านิยมที่ว่า "อยากช่วยสิ่งแวดล้อมและชุมชุม ก็ต้องยอมเสียผลกำไร" ได้อย่างเสียอย่าง สืบต่อแนวคิดอย่างนี้เรื่อยมาเป็น 10 ปี แต่ในสังคมก็ยังมีองค์กรธุรกิจที่มีจรรยาบรรณอยู่บ้าง แต่ในยุคนั้นจะเน้นไปที่การบริจาคมากกว่าจะมาทำ CSR อย่างจริงจังในระดับนโยบาย
         
          2. ยุคปฏิวัติการจัดการเชิงคุณภาพ ในช่วงทศวรรษที่ 80 เกิดการเปลี่ยนแปลงในภาคอุตสาหกรรมครั้งใหญ่ เมื่อวงการอุตสาหกรรมในประเทศญี่ปุ่นพัฒนาแนวคิดเรื่อง "ปฏิบัติการจัดการเชิงคุณภาพ qualities management" คือ การจัดการการการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เกิดของเสีย (muda หรือ waste) น้อยที่สุดหรือไม่มีเลย โดยจะมีกระบวนการตรวจสอบทุกขั้นตอนซึ่งชาวญี่ปุ่นเรียกว่ากระบวนการจัดการการผลิตแบบนี้ว่า KAIZEN process เพื่อให้เกิด คุณภาพการจัดการ 100% (Total Quality Management--TQM) เมื่อใช้ทรัพยากรได้อย่างคุ้มค่าที่สุด เกิดของเสียและความผิดพลาดน้อยที่สุด ย่อมนำมาสู่การผลิตสินค้าที่มีคุณภาพสูง ในต้นทุนที่ต่ำกว่าเดิมและไม่เพียงแค่นั้นผลพลอยได้ที่เกิดขึ้นคือการไม่ทิ้งขยะ/สารพิษกลับสู่สิ่งแวดล้อม เพราะทรัพยากรถูกนำมาใช้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด ใช้แล้วนำกลับมาใช้อีก reuse, recycle และนี่คือเหตุผลให้ในทศวรรษนั้น เศรษฐกิจญี่ปุ่นเจริญเติบโตอย่างมาก เอาชนะสหรัฐอเมริกาและยุโรปอย่างขาดลอย อีกทั้งยังได้ภาพลักษณ์ขององค์กรที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและสังคมที่เป็นผลพลอดได้ แต่สร้างชื่อเสียงและแรงสนับสนุนจากประชาชนอย่างมาก

          การประสบความสำเร็จอย่างงดงามในอุตสาหกรรมญี่ปุ่น ทำให้ทั่วโลก เปลี่ยนมุมมองด้านการทำ CSR จาก "ได้อย่างเสียอย่าง" เป็น "การดำเนินธุรกิจกับกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ดำเนินไปด้วยกันได้"  และทำให้องค์กรธุรกิจทั่วโลกหันมาพัฒนาการจัดการเชิงคุณภาพตามแบบอย่างญี่ปุ่น ซึ่งต่อมาได้พัฒนามาถึง มาตรฐานอุตสาหกรรมอย่าง ISO 14000 นั่นเอง

          ในขณะเดียวกันหน่วยงานรัฐบาลหรือประชาสังคมในประเทศต่างๆ ก็เปลี่ยนมุมมองจากการเข้าไปควบคุมด้วยกฏระเบียบต่างๆ มาเป็นการร่วมมือด้วยความสมัครใจหรืออาสาสมัคร เช่น ใช้ระบบการวัดผลที่เรียกว่า "toxic release inventory" ในปี1988 คือองค์กรธุรกิจที่สมัครใจจะทำรายงานการปล่อยสารพิษออกสู่สิ่งแวดล้อมประจำปี แล้วจะมีการจัดลำดับองค์กรที่ปล่อยสารพิษสู่สิ่งแวดล้อมน้อยไปมาก ออกสู่สายตาสาธารณชน ซึ่งเป็นเสมือนการประชาสัมพันธ์และ/หรือประจานตนเอง ให้โลกรับรู้ ซึ่งองค์กรที่ให้ความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมมาก ก็จะได้แรงสนับสนุนจากประชาชนด้วยการใช้สินค้า/บริการของพวกเขา ทำให้เกิดการแข่งขันและพยายามที่จะลดการทำลายสิ่งแวดล้อมโดยองค์กรให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ นับเป็นครั้งแรกที่ภาคธุรกิจมีการจัดการประเด็นเชิงสิ่งแวดล้อมที่วัดผลและเปรียบเทียบได้ แต่จะอย่างไรก็ดี ในยุคที่ 2 นี้ ประเด็นด้านการแสดงความรับผิดชอบขององค์กรธุรกิจ ยังคงจำกัดอยู่ในวงของ "สิ่งแวดล้อม" เท่านั้น

          ในปี 1980 ในกลุ่มประเทศยุโรป ก็เกิดแนวคิด "Extended Producer Responsibility" ริเริ่มโดยประเทศเยอรมัน เป็นแนวคิดที่เน้นความรับผิดชอบของบริษัทต่อสินค้าใด ๆ ที่ผลิตขึ้น ตลอดอายุสินค้า (product life cycle) หรือตั้งแต่จุดเริ่มต้นการผลิต จนถึงการทิ้งสินค้านั้นหรือถูกใช้หมดไป โดยจะมีการตีมูลค่าของผลเสียที่อาจจะเกิดขึ้นตลอด อายุสินค้านั้นๆ ว่ามีมูลค่าเท่าไร ซึ่งหมายถึงบริษัทต้องพร้อมที่จะรับมือกับผลเสียนั้น ๆ ได้ ซึ่งการที่จะลดความเป็นไปได้ที่จะเกิดผลเสียจากสินค้าของตนสู่สังคมนั้น ทำให้บริษัทพยายามออกแบบกระบวนการผลิตสินค้าที่ CLEAN ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ (คล้าย ๆ กับแนวคิดของประเทศญี่ปุ่น)             

          ยกตัวอย่าง เช่น บริษัท ซีรอกซ์ ผูผลิตเครื่องถ่ายเอกสาร พัฒนาสายการผลิตรูปแบบใหม่ เอาเครื่องเก่ามาแลกเครื่องใหม่ ผู้ใช้ก็จะได้ใช้ของคุณภาพดี ราคาประหยัดขึ้น ในขณะที่บริษัทฯ ก็สามารถนำอุปกรณ์ อะไหล่จากเครื่องเก่า มาใช้ใหม่ หรือดัดแปลง นำกลับไปใช้แล้วใช้อีกให้คุ้มค่าอย่างที่สุด ลดต้นทุน ลดขยะสู่สิ่งแวดล้อม แนวคิดนี้ ทำให้ ซีรอกซ์ ลดค่าใช้จ่ายได้ถึง 500 ล้านดอลลาร์ ต่อปี ซึ่งถือเป็น 2.5% ของยอดายของบริษัท และด้วยแนวคิดนี้ทำให้ ซีรอกซ์สามารถดำรงอยู่รอดมาได้จนถึงทุกวันนี้ ทั้ง ๆ ที่นวัตกรรมเครื่องพิมพ์ ออกมาแย่งส่วนแบ่งตลาดไปมาก (ซึ่งถ้ายังใช้วิธี ใช้แล้วทิ้ง เก่าแล้วเลิกใช้ ไม่รับเปลี่ยนหรือคืน  ประชาชนคงเลิกใช้ และบริษัท ซีรอกซ์คงล้มละลายไปนานแล้ว)             

          จากกรณี ซีรอกซ์ พบว่า การที่บริษัทเกื้อประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นจุดขายที่พิเศษ unique advantage ของบริษัทที่ยากจะมีใครมาโจมตี หรือแข่งขัน เพราะการเน้นที่คุณภาพสินค้าอย่างเดียวเมื่อถูกพัฒนามาจนถึงที่สุดแล้ว ก็ต้องมาแข่งขันกับบริษัทอื่น ๆ ด้วยราคา pricing แต่ถ้าเราแข่งที่ "นวัตกรรม" ซึ่งยากที่คู่แข่งจะตามได้

          3. ยุคแห่งการรับผิดชอบที่มากกว่าด้านสิ่งแวดล้อม หลังทศวรรษที่ 90 จนถึงปัจจุบัน บริษัทต่าง ๆ แข่งขันกันทั้งด้านคุณภาพและนวัตกรรม แต่ก็มีปัญหามากเพราะตลาดเดิมมีการแข่งขันที่สูงอย่างมาก ทั้งนี้เป็นเพราะตลาดหรือกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อมีจำนวนจำกัดประมาณ 800 ล้านคนจากประชากรทั้งสิ้นกว่า 6,500 ล้านคนทั่วโลก ทำให้ธุรกิจเริ่มเบนทิศทางไปสู่กลุ่มลูกค้าใหม่ นั่นคือกลุ่มประชากรยากจนที่เป็นคนส่วนใหญ่ของโลก หรือประมาณ 4,000 ล้านคน ซึ่งถึงแม้ว่าตลาดกลุ่มนี้ จะมีกำลังซื้อน้อย (หรือยังไม่มีเลย) แต่ก็เป็นตลาดกลุ่มใหญ่มาก ที่พร้อมจะเพิ่มกำลังซื้อได้มากขึ้นในอนาคต ดังนั้นองค์กรธุรกิจจึงเริ่มหันมามองและพัฒนาตลาดฐานปิรามิดหรือที่เรียกว่าแนวคิดการขยายฐานลูกค้าแบบ BOP strategy หรือ bottom up strategy หรือกลยุทธ์เจาะกลุ่มตลาดล่างนั่นเอง

          โดยเป็นกลยุทธ์ที่มุ่งพัฒนาให้คนกลุ่มนี้พร้อมที่จะเป็นลูกค้าของพวกเขาในอนาคต แต่ทว่าการที่จะเจาะตลาดกลุ่มนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเป็นตลาดใหม่ที่ยังค่อนข้างล้าหลัง ยึดติดกับประเพณีค่านิยมท้องถิ่น ไม่ไว้วางใจนักธุรกิจ ดังนั้น การที่จะเข้าไปทำความรู้จักคุ้นเคย หรือสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ จึงต้องอาศัย CSR เป็นการแสดงความปรารถนาดีต่อพวกเขา พัฒนาพวกเขาให้มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จนพร้อมที่จะเป็นลูกค้าของบริษัทพวกเขาในอนาคต
         
          ดังนั้นนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหญ่นี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่นอกจากจะต้องใช้ทุนมหาศาลแล้วยังต้องพัฒนารูปแบบการจัดการการเงินที่ต่างไปเดิม โดยเฉพาะการใช้ "สินเชื่อ" ตัวอย่างที่น่าสนใจอันหนึ่งก็คือ ยูนิลีเวอร์ อินเดีย พัฒนาระบบธุรกิจใหม่ในการขายผงซักฟอกให้กับคนจนในอินเดีย ซึ่งไม่นาน กลับทำส่วนแบ่งตลาดจากคนหลายร้อยล้านในกลุ่มใหม่นี้ ได้ถึง 38% Grameen Bank บังกลาเทศ สามารถพัฒนาสินเชื่อขนาดเล็กเพื่อคนยากจน ซึ่งดำเนินมากว่า 20 ปีแล้ว และสามารถขยายฐานลูกค้าได้กว่า 25 ล้านคนทั่วโลก               

          อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จนี้สามารถเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อบริษัทต่าง ๆ สามารถร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆ ในพื้นที่เป้าหมายได้อย่างจริงจัง ทั้งนี้เป็นเพราะในพื้นที่ตลาดกลุ่มนี้มักจะอยู่ในหมู่บ้านที่ห่างไกล การจะเข้าถึงนั้น ต้องได้รับความไว้วางใจจากชาวบ้านในฐานะบริษัทที่เข้ามาร่วมพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน มิได้หวังแต่ประโยชน์ส่วนตัว บริษัทฯ จึงไม่สามารถดำเนินการแต่ลำพัง เพราะขาดความน่าเชื่อถือ และไม่รู้วิธีเข้าถึงชาวบ้าน นอกจากนั้นการเจริญเติบโตของตลาดกลุ่มนี้ โดยเฉพาะด้านกำลังซื้อ ย่อมขึ้นกับพัฒนาการของรายได้ของชุมชนนั้น ๆ ดังนั้น บริษัทฯ จึงต้องเข้ามามีส่วนร่วม (ร่วมกับองค์กรท้องถิ่น) เพื่อช่วยส่งเสริมให้ชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เป็นการสร้างฐานลูกค้าของตนในอนาคตให้มีความยั่งยืนในการพัฒนาคุณภาพชีวิต
CSR ในปัจจุบันคืออะไร
คำจำกัดความของ CSR                             

          อันที่จริงแล้ว Triples Bottom Line หรือการดำเนินธุรกิจโดยมีเป้าหมายที่กำไร สังคม และสิ่งแวดล้อมนั้นล้วนเป็นส่วนประกอบในการทำ CSR ทั้งสิ้น ถึงแม้ว่า ณ ปัจจุบันจะยังไม่มีการนิยามศัพท์ คำว่า CSR ที่เป็นหนึ่งเดียว อย่างชัดเจน แต่ก็จะเห็นใจความของการทำ CSR ได้จากบทความ งานเขียนต่าง ๆ ดังยกตัวอย่างต่อไปนี้

European Commission Green Paper
          "CSR เป็นแนวคิดที่ บริษัทจะบูรณาการ งานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมเข้าไปในกิจการของประเทศ และการปฏิสัมพันธ์ ของผู้เกี่ยวข้อง (stakeholder) โดยสมัครใจ"

UNCTAD
          "CSR คือการที่บริษัทเข้าไปเกี่ยวข้องและมีผลกระทบเชิงบวกต่อความต้องการและเป้าหมายของสังคม"

World Business Council on Sustainable Development
          "CSR คือคำมั่นของบริษัทที่จะส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนโดยทำงานร่วมกับลูกจ้างและครอบครัวของพวกเขา ชุมชน และสังคมโดยกว้าง เพื่อจะพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของสังคมโดยรวม"

ISO
          "CSR เป็นเรื่องของการที่องค์กรตอบสนองต่อประเด็น ด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งที่การให้ ประโยชน์กับ คน ชุมชนและสังคม นอกจากนั้นยังเป็นเรื่องของบทบาท ขององค์กรธุรกิจใน สังคมและความคาดหวังของสังคมที่มีต่อองค์กรธุรกิจ โดยจะต้องทำด้วยความสมัครใจ และผู้บริหารจะต้องมีบทบาทเกี่ยวข้องกับกิจกรรมต่าง ๆ โดยสามารถวัดผลได้ใน 3 มิติ คือ การวัดผลทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน"

          นอกจากนี้ยังมีอีกแนวคิดหนึ่งที่สำคัญมากต่อองค์กร นั่นคือ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับองค์กร หรือ stakeholder ซึ่งไม่ใช่แค่ เจ้าของกิจการ ผู้ถือหุ้นเท่านั้น คำว่ามีส่วนได้ส่วนเสียนี้ยังรวมถึง พนักงาน ชุมชุน สังคมบริเวณที่องค์กรตั้งอยู่ รัฐบาล และลูกค้า หรือทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับองค์กรและมีโอกาสที่จะสร้าง และ/หรือได้รับผลกระทบต่อองค์กรนั้น ๆ ดังนั้นจึงควรต้องทำความเข้าใจว่าในองค์กรของเรา มีใครบ้างที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับเราทั้งในแง่บวกและแง่ลบ เราจึงจะทำ CSR ได้ถูกทิศทาง

          การแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม ไม่ใช่การทำให้กิจการถูกกฎหมาย หรือถูกต้องแต่เพียงอย่างเดียว แต่ทว่า ถือเป็นการลงทุนในมนุษย์ สิ่งแวดล้อม รวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับองค์กร ซึ่งทั้งหมดนำไปสู่ ความสามารถในการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น ความอยู่รอด และรายได้ขององค์กรนั่นเอง ถึงกระนั้นก็ดี CSR ก็ไม่ควรนำมาใช้ทดแทน กฎระเบียบ หรือกฎหมายที่เกี่ยวกับสิทธิสังคม มาตรฐานแรงงาน และสิ่งแวดล้อมฯลฯ เพราะในประเทศที่มีกฎหมายที่อ่อนหรือไม่รัดกุม จำเป็นอย่างยิ่งที่จะพัฒนากฎหมายเหล่านั้นขึ้นมาเพื่อให้ประเทศนั้น ๆ มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำ CSR ยิ่ง ๆ ขึ้น 

เอกสารอ้างอิง

http://webcache.googleusercontent.com/search

http://www.rightway.co.th/files/socialres.doc

 

คำสำคัญ (Tags): #csr
หมายเลขบันทึก: 494340เขียนเมื่อ 10 กรกฎาคม 2012 18:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 กรกฎาคม 2012 22:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณมาก สำหรับบทความดีดี

CSR == > เป็นหลัก แนวคิดที่ดี เกิดประโยนชย์แก่สังคม ได้อย่างแท้จริง

ขอบคุณ ทำให้ได้เห็นพัฒนาการของ CSR นะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท