ทำไมคนเรายอมรับนวัตกรรมแตกต่างกัน


การยอมรับนวัตกรรม

ทำไมคนเรายอมรับนวัตกรรมแตกต่างกัน

การยอมรับนวัตกรรม (Adoption of Innovation)

         การยอมรับนวัตกรรม หมายถึง กระบวนการซึ่งบุคคลเป้าหมายเปิดรับ พิจารณา และท้ายที่สุดมีการปฏิเสธ (Reject) หรือยอมรับ/ปฏิบัติ (Practice/adopt) ตามนวัตกรรมใดนวัตกรรมหนึ่ง โดยมีกระบวนการที่เรียกว่าเป็น การตัดสินใจในนวัตกรรม (Innovation-Decision Process) การยอมรับว่าเป็นกระบวนการ (Process) ที่เกิดขึ้นทางจิตใจภายในบุคคล เริ่มจากได้ยินในเรื่องวิทยาการนั้นๆ จนกระทั่งยอมรับนำไปใช้ในที่สุด ซึ่งกระบวนนี้มีลักษณะคล้ายกับกระบวนการเรียนรู้และการตัดสินใจ (Decision Making) โดยได้แบ่งกระบวนการยอมรับออกเป็น 5 ขั้นตอน คือ

          ขั้นที่ 1 ขั้นรับรู้หรือตื่นตน (Awareness Stage)

          เป็นขั้นเริ่มแรกที่นำไปสู่การยอมรับหรือปฏิเสธสิ่งใหม่หรือวิธีการใหม่  

          ขั้นที่ 2 ขั้นสนใจ (Interest Stage)

          เป็นขั้นที่เริ่มมีความสนใจแสวงหารายละเอียดเกี่ยวกับวิทยาการใหม่ๆ เพิ่มเติม พฤติกรรมนี้เป็นไปในลักษณะที่ตั้งใจแน่ชัด และใช้กระบวนการคิดมากกว่าขั้นแรก

          ขั้นที่ 3 ขั้นประเมินค่า (Evaluation Stage)

          เป็นขั้นที่จะไตร่ตรองว่าจะลองใช้วิธีการหรือหาวิทยาการใหม่ๆ นั้นดีหรือไม่ ด้วยการเปรียบเทียบระหว่างข้อดีและข้อเสียว่า เมื่อนำมาใช้แล้วจะเป็นประโยชน์ต่อกิจกรรมของตนหรือไม่ หากรู้สึกว่ามีข้อดีมากกว่าจะตัดสินใจใช้ เพื่อให้เกิดความแน่ใจยิ่งขึ้นว่าสิ่งที่เขาตัดสินใจแล้วนั้นถูกต้องหรือไม่ โดยการให้คำแนะนำให้ข่าวสารเพื่อประกอบการตัดสินใจ

           ขั้นที่ 4 ขั้นทดลอง (Trial Stage)

           เป็นขั้นที่บุคคลทดลองใช้วิทยาการใหม่ๆ นั้นกับสถานการณ์ของตน ซึ่งเป็นการทดลองดูกับส่วนน้อยก่อน เพื่อจะได้ดูว่าได้ผลหรือไม่ ในขั้นนี้บุคคลจะแสวงหาข่าวสารที่เฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับวิทยาการใหม่หรือนวัตกรรมนั้น

          ขั้นที่ 5 ขั้นตอนการยอมรับ (Adoption Stage)

          เป็นขั้นที่บุคคลยอมรับวิทยาการใหม่ๆ นั้น ไปใช้ในการปฏิบัติกิจกรรมของตนอย่างเต็มที่หลังจากที่ได้ทดลองปฏิบัติและเป็นประโยชน์ในสิ่งนั้นแล้ว

ปัจจัยที่มีผลต่อการยอมรับนวัตกรรม

          1.ปัจจัยเกี่ยวกับลักษณะของนวัตกรรม

          นวัตกรรมเป็นสิ่งใหม่ที่กำเนิดจากงานวิจัย(Research)และการพัฒนา(Development) รวมทั้งมาจากประสบการณ์ของผู้ใช้นวัตกรรมนั่นเอง ดังนั้นนวัตกรรมแต่ละอย่างจึงมีลักษณะเฉพาะตัวซึ่งสามารถนำมาใช้แก้ไขปัญหา  หรือเพิ่มแระสิทธิภาพในการปฏิบัติงานได้ตามสถานการณ์และความต้องการของผู้ใช้นวัตกรรมนั้น ๆ  ซึ่งไม่จำเป็นที่นวัตกรรมซึ่งใช้ได้ผลดีในที่แห่งหนึ่ง จะได้ผลดีในที่อื่น ๆ  ด้วย     ขึ้นอยู่กับว่านวัตกรรมนั้น ๆ  มีความเหมาะสมกับสถานการณ์นั้น ๆ  หรือไม่ ดังนั้นลักษณะของนวัตกรรมนั้นเองจึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อการโน้มน้าวใจ (persuasion)  ให้เกิดการยอมรับ โดยนำไปใช้เป็นข้อมูลในการประเมินนวัตกรรมของผู้รับสารตัดสินใจได้ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

          ลักษณะของนวัตกรรม  5  ประการที่ส่งผลต่อการยอมรับ  ได้แก่

          1. ผลประโยชน์ที่ได้รับจากนวัตกรรม (Relation  advantage)  คือ ระดับของการรับรู้หรือความเชื่อว่านวัตการมนั้นมีคุณสมบัติที่ดีกว่าความคิด หรือสิ่งที่มีอยู่เดิม  ซึ่งถูกแทนที่ด้วยสิ่งใหม่ ถ้าหากนวัตกรรมนั่นมีข้อดีและให้ประโยชน์ต่อผู้ใช้นวัตกรรมนั้นมากเท่าใด ก็มีโอกาสที่จะมีผลที่ยอมรับมากขึ้น

          2. การเข้ากันได้ดีกับสิ่งที่มีอยู่เดิม (Compatibility)  การเข้ากันได้ คือ ระดับของนวัตกรรมซึ่งมีความสอดคล้องกับคุณค่า ประสบการณ์และความต้องการที่มีอยู่แล้งในตัวผู้รับนวัตกรรมนั้น ๆ  ถ้าหากนวัตกรรมนั้นสามารถเข้ากันได้ดีกับสิ่งต่าง ๆ  ที่กล่าวมาก็มีโอกาสได้รับการยอมรับได้ง่ายขึ้น

          3. ความซับซ้อน (Complexity) ความซับซ้อนคือระดับของความเชื่อว่านวัตกรรมนั้นมีความยากต่อการเข้าใจและการนำไปใช้ นวัตกรรมบางอย่างสามารถทำความเข้าใจและนำมาใช้ได้ง่าย ในขณะที่บางอย่างมีความซับซ้อนและเข้าใจยากกว่า นวัตกรรมที่มีความซับซ้อนน้อยกวามีโอกาสที่จะได้รับการยอมรับมากกว่า

          4. การทดลองได้ (Trialability) การทดลองได้ คือระดับของนวัตกรรมที่สามารถมองเห็นผลจากการทดลองปฏิบัติเพื่อให้เห็นผลได้จริง อย่างน้อยภายใต้สภาพที่จำกัด ความคิดเหล่านี้สามารถทดสอบหรือทดลองได้อย่างเป็นขั้นตอน หรือเป็นช่วง  ๆ  ไป  ก็จะได้รับการยอมรับอย่างรวดเร็ว นวัตกรรมไม่สามารถทดลองได้ก่อนมีโอกาสที่จะได้รับการยอมรับน้อยกว่า

          5.การสังเกตได้(Observability) การสังเกตได้ คือ  ระดับของนวัตกรรมที่สามารถมองเห็นกระบวนการในการปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม สามารถสัมผัสและแตะต้องได้จริง  ๆ  การเสนอขายสินค้าที่เป็นแบบขายตรง  ที่ได้รับผลสำเร็จสูงถึงแม้ว่าราคาจะค่อนข้างแพงก็เนื่องมาจากของนวัตกรรมในข้อนี้ คือ สามารถนำมาให้ลูกค้าชมและสาธิตให้ดูว่าสินค้าชิ้นนี้มีข้อดีอย่าง ไร  เป็นขั้น ๆ เมื่อดูแล้วลูกค้ามีความเห็นว่าดีจริงซื้อสินค้านั้น

         2.ปัจจัยเกี่ยวกับผู้รับนวัตกรรม

การที่บุคคลจะยอมรับนวัตกรรมหรือไม่ ปัจจัยหนึ่งก็คือตัวชองผู้รับนวัตกรรมนั่นเอง เพราะถึงแม้ว่านวัตกรรมและเทคโนโลยีจะมีลักษณะที่ดีและเหมาะสมเพียงใด  แต่ผู้รับนวัตกรรมนั้นไม่มีความพร้อมที่จะยอมรับและปฏิบัติ นวัตกรรมนั้นก็ไร้ความหมาย ปัจจัยเกี่ยวกับผู้รับนวัตกรรม  ได้แก่

          1. สถานภาพทางเศรษฐกิจสังคมของบุคคล  (socioeconomic  status)   เช่น  ระดับการศึกษา รายได้  ฐานะทางเศรษฐกิจ อาชีพ   ตลอดจนการมีตำแหน่งเป็นผู้นำในสังคมล้วนเป็นปัจจัยที่สำคัญที่มีผลต่อการยอมรับ

          2. คุณลักษณะของบุคลิกภาพ (personality)  เป็นลักษณะเฉพาะตัวของบุคคลที่ได้รับการสั่งสมมาตั้งแต่เล็กจนโต  จากการหล่อหลอมของครอบครัว ขนบธรรมเนียมประเพณี  จนกระทั่งถึงสถาบันการศึกษา เป็นส่วนที่ทำให้เกิดบุคลิกภาพ  เช่น  อาจจะเป็นคนที่อ่อนโยน  แข็งกระด้าง   การยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น  การต่อต้านสังคม  เป็นต้น  ลักษณะทางบุคลิกภาพย่อมเป็นส่วนที่เกื้อหนุนหรือต่อต้านการยอมรับนวัตกรรมก็เป็นได้

         Rogers  (1983  : 248-250)   ได้จำแนกลักษณะของบุคคลที่มีต่อการยอมรับนวัตกรรมออกเป็น   5  ประเภท  คือ

        1.กลุ่มนวัตกร  หรือ  ผู้นำทางนวัตกรรม  หรือ ผู้ริเริ่ม  (Innovator)   ได้แก่  ผู้ที่ยอมรับนวัตกรรมก่อนคนอื่น มักเป็นผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจดี  การศึกษาสูง  มีความกล้าที่จะเสี่ยงทดลอง  ชอบลองของแปลกใหม่   ซึ่งมีปริมาณน้อยประมาณร้อยละ   3  ของผู้รับสารทั้งหมด

        2.กลุ่มผู้ที่ยอมรับนวัตกรรมได้ง่าย(Early  Adopters)ได้แก่ ผู้นำความคิดเห็นในท้องถิ่น  ส่วนใหญ่เป็นผู้ทีทัศนคติที่ดีต่อการเปลี่ยนแปลง  มีเหตุผล  มักเป็นผู้ที่ได้รับการยกย่อง  และนับถือจากผู้คนในสังคม  ซึ่งมีปริมาณค่อนข้างน้อย  คือ ประมาณร้อยละ   13  ชองผู้รับสาร

        3.กลุ่มส่วนใหญ่(Majority) คือ ผู้ที่ยอมรับนวัตกรรมหลังจากที่พิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว  ซึ่งบุคคลกลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด ซึ่งตัดสินใจยอมรับสิ่งใหม่ก่อนสมาชิกโดยเฉลี่ยในสังคมมีความสัมพันธ์โดยสม่ำเสมอกับกลุ่มเพื่อน แต่จะไม่ค่อยได้เป็นผู้นำ  และจะอยู่ส่วนกลางที่เป็นตัวเชื่อมกลุ่มที่ยอมรับง่าย (Early   Adopter)  และกลุ่มที่ยอมรับ  (Late  Majority)  กลุ่มนี้จะใช้เวลาในการไตร่ตรอง  ศึกษาและเรียนรู้นวัตกรรมเป็นเวลานาน  และมีลักษณะยอมรับแบบค่อยเป็นค่อยไป  โดยคอยดูผลการใช้จากกลุ่มแรก ๆ  ก่อน  เมื่อแน่ใจว่าใช้ได้ผลแล้วจึงจะยอมรับมาปฏิบัติ  ดังนั้นการเสนอนวัตกรรมในกลุ่มนี้จึงจำเป็นต้องใช้แรงกระตุ้นจึงจะตัดสินใจคล้อยตามได้ง่าย  มีประมาณร้อยละ  48  ของผู้รับสาร

          4.กลุ่มยอมรับช้า(Late  Majority)คือ ผู้ที่ยอมรับนวัตกรรม เพราะความจำเป็นทางเศรษฐกิจหรือแรงกดดันทางสังคม   คนกลุ่มนี้มักเป็นผู้ที่มีความระแวง  ช่างสงสัย  ลังเลใจ  จะยอมรับความคิดใหม่  ๆ  หลังจากคนส่วนใหญ่ยอมรับไปแล้วในระบบสังคม   จะมีความหวั่นวิตกต่อการที่จะต้องสูญเสียผลประโยชน์  หรือมองไม่เป็นคุณค่าของการเปลี่ยนแปลงวิทยาการใหม่  ๆ    และอาจมีความรู้สึกในเชิงต่อต้านด้วย  ซึ่งบุคคลกลุ่มนี้ต้องใช้ความพยายามและเวลาในการโน้มน้าวใจให้เห็นอย่างชัดแจ้งถึงคุณประโยชน์  และผลที่จะได้รับจากการยอมรับนวัตกรรมอย่างมากซึ่งมีประมาณร้อยละ  20  ของผู้รับสาร

          5.กลุ่มล้าหลัง(Laggards)คือพวกที่ยอมรับรับนวัตกรรมช้าที่สุดในสังคม  มักจะเป็นผู้ที่มีความยึดมั่นอยู่กับประเพณีอย่างเหนียวแน่น  ไม่สนใจโลกภายนอก   ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงอะไรง่าย ๆ  ประมาณร้อยละ  16  ของผู้รับสาร

               ดังนั้นการยอมรับนวัตกรรมก็คือการที่ผู้รับสารนำนวัตกรรม เทคโนโลยี หรือสารที่ได้รับจากการถ่ายทอดไปพิจารณา และตัดสินใจปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติตามนวัตกรรม เทคโนโลยีหรือสารนั้น องค์ประกอบหลักของการถ่ายทอดเทคโนโลยี  จะได้ผลดีมากน้อยหรือไม่  ขึ้นกับความเหมาะสมสอดคล้องขององค์ประกอบเหล่านี้ด้วย ในส่วนของผู้รับนวัตกรรมหรือผู้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีนั้นก็มีลักษณะ หรือปัจจัยส่วนบุคคลที่เกี่ยวข้องหลายประการที่ส่งผลต่อระดับของการยอมรับนวัตกรรมด้วย และปัจจัยต่างๆเหล่านั้นก็ยังมีความแตกต่างมากน้อยกันไปในผู้รับแต่ละรายด้วย ส่งผลให้เกิดความแตกต่างของอัตราการยอมรับนวัตกรรม กล่าวคือในเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมเดียวกันที่ผู้รับหรือบุคคลเป้าหมายได้รับการถ่ายทอดพร้อมๆกันอย่างทั่วถึง ผู้รับแต่ละรายกลับมีอัตราการยอมรับ (Rate of Adoption) ที่ช้าหรือเร็วไม่เท่ากัน 

เอกสารอ้างอิง

http://km.most.go.th

[email protected]

 

หมายเลขบันทึก: 494166เขียนเมื่อ 9 กรกฎาคม 2012 15:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 กรกฎาคม 2012 16:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • ขอบคุณมากค่ะ สำหรับบทความดีดีนี้ค่ะ

  • ผู้รับนวัตกรรม และ ลักษณะของนวัตกรรม==>เป็นประโยชน์มากนะคะ

ขอบคุณมากนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท