การศึกษารายกรณี


การศึกษารายกรณี (Case Study)

 

ความหมายของการศึกษารายกรณี

การศึกษารายกรณี หมายถึง กระบวนการศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือหลายคนเป็นระยะเวลาต่อเนื่องกันไปในระยะเวลาหนึ่งโดยใช้เครื่องมือ เทคนิค หรือวิธีการต่าง ๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งรายละเอียดของข้อมูลแล้วนำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์เพื่อทำความเข้าใจสภาพผู้ถูกศึกษา สาเหตุของพฤติกรรมตลอดจนข้อเสนอแนะที่เป็นแนวทางการให้ความช่วยเหลือกรณีที่ผู้ศึกษากำลังประสบปัญหา    (นิรันดร์ จุลทรัพย์, 2539: 209)

วัตถุประสงค์ของการศึกษารายกรณี

การศึกษารายกรณีเพื่อการแนะแนว มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญหลายประการ (นิรันดร์ จุลทรัพย์, 2539: 209) ดังนี้

                (1) เพื่อทำความเข้าใจนักเรียนอย่างละเอียดลึกซึ้งเกี่ยวกับพฤติกรรมที่แสดงออกมา สาเหตุของพฤติกรรมซึ่งอาจจะมีผลมาจากสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ทั้งในอดีตหรือที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

                (2) เพื่อการวินิจฉัยในอันจะเป็นประโยชน์ต่อการช่วยเหลือนักเรียนทั้งทางด้านการป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น การหาทางแก้ไขปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้นและการช่วยส่งเสริมและพัฒนาความสามารถต่าง ๆ ให้แก่นักเรียน

                (3) เพื่อสืบค้นหานักเรียนที่มีลักษณะพิเศษบางประการ เพื่อที่ทางโรงเรียนจะได้ให้การส่งเสริมพัฒนาได้อย่างเหมาะสม

                (4) เพื่อช่วยให้นักเรียนเกิดความเข้าใจตนเองในทุก ๆ ด้าน ได้อย่างชัดแจ้ง

                (5) เพื่อช่วยให้ผู้ปกครองเข้าใจนักเรียนในความปกครองของตน ได้ดีขึ้นและสามารถที่จะให้ความร่วมมือแก่ทางโรงเรียนแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับบุตรหลานของตนได้ด้วยดี

                (6) เพื่อใช้ในการวิจัย โดยศึกษาสาเหตุของพฤติกรรมทั้งในอดีตและปัจจุบันเพื่อทำนายพฤติกรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคตซึ่งอาจเป็นพฤติกรรมที่เป็นปัญหาหรือไม่เป็นปัญหาก็ได้

                (7) เพื่อการติดตามผลของการใช้เครื่องมือ เทคนิคหรือวิธีการต่าง ๆ อันจะเป็นแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขได้ในโอกาสต่อไป

การคัดเลือกนักเรียนเพื่อทำการศึกษารายกรณี

เนื่องจากครูแนะแนวแต่ละคนต้องรับผิดชอบดูแลนักเรียนเป็นจำนวนมากจึงไม่สามารถที่จะทำการศึกษารายกรณีแก่นักเรียนได้ครบทุกคน ดังนั้นครูจึงควรพิจารณาจากนักเรียนที่มีลักษณะต่าง ๆ    (นิรันดร์ จุลทรัพย์, 2539: 210) ดังนี้

      (1) นักเรียนที่กำลังประสบปัญหาและต้องการความช่วยเหลือพิเศษหรืออย่างรีบด่วน เช่น

             (1.1) ปัญหาด้านการเรียน

             (1.2) ปัญหาทางด้านอารมณ์

             (1.3) ปัญหาทางด้านความประพฤติ บุคลิกภาพและด้านสังคม

       (2) นักเรียนที่มีความสามารถเฉพาะตัวสูง หรือมีความสามารถพิเศษอย่างใดอย่างหนึ่ง

ลำดับขั้นของการทำการศึกษารายกรณี

ลำดับขั้นของการทำการศึกษารายกรณี (นิรันดร์ จุลทรัพย์, 2539: 210) มีดังนี้

                                (1) คัดเลือกนักเรียนที่จะทำการศึกษาโดยทำความเข้าใจถึงพฤติกรรมของนักเรียนแต่ละคนว่าใครประสบปัญหาด้านใดบ้าง เช่น ปัญหาการเรียน ปัญหาด้านความประพฤติ ปัญหาด้านอารมณ์และสังคม เป็นต้น หรือเป็นนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษเป็นที่สนใจของคนส่วนใหญ่ในโรงเรียน ผลการเรียนดีเป็นเยี่ยมเป็นนักกีฬายอดเยี่ยม มีความสามารถสูงทางศิลปะ เป็นต้น

                                (2) รวบรวมข้อมูลเป็นการค้นหารายละเอียดข้อเท็จจริงต่าง ๆ เกี่ยวกับตัวผู้ถูกศึกษาโดยพยายามรวบรวมข้อมูลให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อนำไปวิเคราะห์และวินิจฉัยต่อไป ข้อมูลที่รวบรวมนั้นควรได้มาจากตัวนักเรียนเองหรือผู้เกี่ยวข้องกับนักเรียน เช่น บิดามารดา หรือผู้ปกครอง ญาติพี่น้อง เพื่อนสนิท ครูประจำชั้น ครูประจำวิชา เป็นต้น โดยใช้เครื่องมือ เทคนิคหรือวิธีการต่าง ๆ เช่น การสังเกต การสัมภาษณ์ การใช้แบบสอบถาม การเยี่ยมบ้าน สังคมมิติและแบบทดสอบชนิดต่าง ๆ เป็นต้น

                                (3) วิเคราะห์ข้อมูล (Analysis) เป็นการแยกแยะให้เห็นรายละเอียดของข้อมูลและสภาพของข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น

                                (4) วินิจฉัยข้อมูล (Diagnosis) เป็นการนำผลจากการวิเคราะห์ข้อมูลมาพิจารณาหาสาเหตุของพฤติกรรมที่เป็นปัญหาหรือพฤติกรรมในทางบวกโดยใช้หลักทฤษฎีทางจิตวิทยามาเป็นพื้นฐานประกอบการพิจารณา การสรุปผลจากการวินิจฉัยในขั้นนี้อาจจะยังไม่ได้ข้อยุติ แต่ก็เป็นแนวทางที่จะนำไปประกอบการสังเคราะห์ข้อเท็จจริงในขั้นต่อไป

                                (5) การสังเคราะห์ (Synthesis) เป็นการศึกษาหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมด้วยวิธีการต่าง ๆ เพื่อนำข้อมูลที่ได้มารวมกับข้อมูลเดิมที่มีอยู่แล้ว ซึ่งจะช่วยให้ผู้ศึกษาเกิดความมั่นใจในการวิเคราะห์ และวินิจฉัยได้ตรงประเด็นมากยิ่งขึ้น

                                (6) การให้ความช่วยเหลือ (Treatment) เป็นการคิดหาวิธีการต่าง ๆ ที่จะนำมาใช้ให้ความช่วยเหลือและแนะแนวทางในการแก้ปัญหา ตลอดจนช่วยให้นักเรียนสามารถเข้าใจตนเองได้อย่างถูกต้องและปรับตัวให้เข้ากับสภาพการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม สามารถตัดสินใจได้อย่างฉลาดโดยแบ่งวิธีการให้ความช่วยเหลือเป็น 3 วิธีการ คือ

                                                (6.1) การแก้ไข (Curative) ผู้ศึกษาสามารถใช้วิธีการแก้ไขเพื่อให้ความช่วยเหลือได้ดังนี้

                                                         (6.1.1) ให้คำปรึกษา (Counseling) เพื่อให้คลายความกังวลใจโดยให้ผู้รับคำปรึกษา (Counselor) ได้เข้าใจในปัญหาจนกระทั่งสามารถหาทางแก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง

                                                          (6.1.2) ส่งให้ผู้มีประสบการณ์หรือผู้เชี่ยวชาญในปัญหานั้น ๆ โดยตรงในกรณีที่ผู้ศึกษาพบว่า ปัญหาต่าง ๆ ที่พบนั้นมีผู้ที่มีความสามารถช่วยเหลือได้อยู่ตรงประเด็นหรือในกรณีที่ผู้ศึกษาขาดความมั่นใจในการให้ความช่วยเหลือในปัญหานั้น ๆ

                                                          (6.1.3) ถ้าเป็นปัญหาที่รุนแรงเกี่ยวกับทางด้านจิตใจจนเกิดความสามารถของผู้ศึกษาต้องหาทางส่งต่อ (Refer) ไปยังจิตแพทย์ (Psychiatrit) หรือผู้มีความชำนาญโดยเฉพาะเพื่อให้ความช่วยเหลือต่อไป

                                                (6.2) การป้องกัน (Prevention) โดยการหาทางป้องกันหรือสกัดกั้นเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ขึ้นในอนาคตโดยการให้ข้อมูลที่ถูกต้องเหมาะสมแก่ผู้รับการศึกษาเพื่อแนวทางในการปฏิบัติ

                                                (6.3) การส่งเสริม (Promotion) เป็นการช่วยส่งเสริมให้ผู้รับการศึกษามีความสามารถที่จะปรับตัวได้อย่างถูกต้อง เหมาะสมกับสภาพการณ์ต่าง ๆ เป็นแรงเสริมให้เกิดกำลังใจในการสร้างเสริมสิ่งต่าง ๆ รอบตัวให้ดีขึ้น

                             (7) การติดตามผล (Follow-Up) เป็นการศึกษาถึงวิธีการต่าง ๆ ที่ได้ให้ความช่วยเหลือแล้วนั้นว่าได้ผลประการใด มีความเหมาะสมมากน้อยเพียงใดมีสิ่งที่ควรต้องปรับปรุงแก้ไขหรือเพิ่มเติมอะไรบ้าง

การเขียนรายงานการศึกษารายกรณี

 ในการเขียนรายงานการศึกษารายกรณี ควรเขียนให้มีรายละเอียดมากพอที่จะช่วยให้เข้าใจได้เป็นอย่างดี ซึ่งการเขียนนั้นไม่มีแบบแผนที่ตายตัวอาจจะแตกต่างกันไปบ้าง ตามลักษณะของปัญหาทั้งนี้ให้อยู่ในดุลยพินิจของผู้ศึกษา ซึ่งโดยทั่ว ๆ ไป ควรประกอบด้วยหัวข้อต่าง ๆ ที่สำคัญ (นิรันดร์ จุลทรัพย์, 2539: 213) ดังนี้

(1) ชื่อ – สกุลผู้รับการศึกษา

(2) สาเหตุที่ศึกษา

(3) วันเริ่มต้นและสิ้นสุดการศึกษา รวมระยะเวลาที่ใช้ศึกษา

(4) ลักษณะของปัญหาที่สำคัญ/ลักษณะเด่นที่สำคัญ

(5) ข้อมูลเกี่ยวกับผู้รับการศึกษา

       (5.1) ลักษณะทั่วไป

       (5.2) ประวัติส่วนตัว

       (5.3) ประวัติครอบครัว

       (5.4) ประวัติทางด้านการศึกษาและผลการเรียน

       (5.5) ประวัติสุขภาพ

       (5.6) ประวัติด้านสังคม

       (5.7) ประสบการณ์การทำงานและงานอดิเรก

       (5.8) ความใฝ่ฝันในอนาคต

       (5.9) เจตคติที่มีต่อตนเอง

       (5.10) เจตคติที่มีต่อครอบครัว

       (5.11) เจตคติที่มีต่อสถานศึกษา

       (5.12) เจตคติที่มีต่อสังคม

(6) เทคนิค เครื่องมือหรือวิธีการที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลมีกี่อย่าง อะไรบ้าง

(7) สรุปข้อมูลที่ได้จากการรวมข้อมูลด้วยเทคนิค เครื่องมือหรือวิธีการต่าง ๆ พร้อมทั้งตีความหมายจากข้อมูล

(8) การสรุปผลและข้อเสนอแนะ

(9) ภาคผนวก (แนบเทคนิค เครื่องมือ หรือวิธีการที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูลพร้อมทั้งเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการศึกษา)

ตัวอย่างการเขียนรายงานการศึกษารายกรณี

ตัวอย่างการเขียนรายงานการศึกษารายกรณี (นิรันดร์ จุลทรัพย์, 2539: 213) มีดังนี้

 

 

 

 

ตัวอย่างการเขียนรายงานการศึกษารายกรณี

(สำหรับผู้ที่กำลังประสบปัญหาหรือต้องการความช่วยเหลือ)

ชื่อผู้รับการศึกษา นายสันติ บำรุงจิต (นามสมมุติ)

สาเหตุที่ศึกษา

                เนื่องจากนายสันติ ชอบมาเล่าปัญหาต่าง ๆ ทางครอบครัวให้ผู้ศึกษาฟังเสมอ เวลาเรียนชอบนั่งเหมอลอย ไม่สนใจเรียน ผลการเรียนไม่ดี ชอบบ่นว่า เบื่อบ้าน อยากไปอยู่หอพัก ผู้ศึกษาจึงสนใจที่จะศึกษาเพื่อช่วยแก้ปัญหาเท่าที่คิดว่าจะช่วยได้

วันเริ่มต้นและระยะเวลาที่ศึกษา

                วันที่ 15 มิถุนายน ถึงวันที่ 30 กันยายน 2537 รวมเวลา 3 เดือน 15 วัน

ลักษณะของปัญหาที่สำคัญ

                จากการสังเกตและพูดคุย ผู้ศึกษาตั้งสมมุติฐานว่า สันติมีปัญหาสำคัญ ดังนี้

                1) ปัญหาทางครอบครัว เพราะสันติมักจะพูดว่าเบื่อบ้านไม่อยากอยู่บ้าน

                2) ปัญหาด้านการเรียน เพราะผลการเรียนไม่ดีได้คะแนนอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างต่ำ

ข้อมูลที่ได้จากผู้รับการศึกษา

                1) ลักษณะทั่วไป

ชายไทย ผิวค่อนข้างคล้ำ ผมหยิก นัยน์ตาสีดำ 2 ชั้น จมูกค่อนข้างโด่ง ใบหน้ารูปเหลี่ยม ผมตัดสั้น ส่วนแว่นตา (สายตาสั้น) ท่าทางสุภาพ เคร่งขรึม แต่งกายสะอาดเรียบร้อย พูดค่อนข้างช้า รูปร่างท้วม      

                2) ประวัติส่วนตัว

                สันติอายุ 20 ปี เกิดวันที่ 13 มกราคม 2517 ที่ตำบลฉลุง อำเภอเมือง จังหวัดสตูล เป็นนิสิตชั้นปีที่ 2 ในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง เชื้อชาติไทย สัญชาติไทย นับถือศาสนาพุทธ

                ปัจจุบันพักอยู่บ้านเลขที่ 37/1 หมู่บ้านทักษิณเมืองทอง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

                3) ประวัติครอบครัว

                บิดาชื่อร้อยเอกภาคภูมิ บำรุงจิต อายุ 47 ปี จบปริญญาตรีสาขาวิทยาศาสตร์บัณฑิต (วท.บ.) รับราชการทหาร รายได้เดือนละประมาณ 19,000 บาท

                มารดาชื่อนางสาวิตรี บำรุงจิต อายุ 47 ปี จบปริญญาตรีการศึกษาบัณฑิต (กศ.บ.) รับราชการครูในโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่ง รายได้เดือนละประมาณ 15,000 บาท

                ปัจจุบันบิดาและมารดาแยกทางกันอยู่ โดยบิดามีภรรยาใหม่และมีลูกใหม่อีก 3 คน สำหรับพี่น้องร่วมบิดามารดาของสันติทั้งหมด 3 คน โดยสันติเป็นคนกลางและเป็นลูกชายคนเดียว รายละเอียดสำหรับพี่น้อง มีดังนี้

                พี่สาวคนโตชื่อ สุกัญญา บำรุงจิต อายุ 22 ปี กำลังศึกษาอยู่มหาวิทยาลัยเดียวกันกับสันติ ชั้นปีที่ 4

                น้องสาวคนเล็กชื่อ สุนันทา บำรุงจิต อายุ 14 ปี กำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนที่มารดาสอนอยู่

                บุตรทั้งสามคนนี้อยู่กับมารดาทั้งหมดในบ้านสันติมีสมาชิกอยู่ร่วมกันทั้งหมด 6 คนคือ

                (1) มารดาของสันติ

                (2) น้าชายอายุ 30 ปี ยังไม่มีครอบครัวจบปริญญาตรีทางวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิตปัจจุบันมีอาชีพเป็นวิศวกร

                (3) พี่สาว

                (4) ตัวสันติเอง

                (5) น้องสาว

                (6) หลานชายอายุ 9 ปี กำลังเรียนอยู่ชั้นประถมปีที่ 4

                ความสัมพันธ์ของสมาชิกภายในครอบครัวไม่ค่อยราบรื่นเท่าที่ควร มีการทะเลาะเบาะแว้งกันอยู่เสมอ มารดาเป็นคนขี้บ่น พี่สาวเป็นคนขี้อิจฉาชอบนำเรื่องของสันติไปฟ้องมารดาเสมอ ๆ ทำให้สันติไม่อยากกลับบ้าน ชอบทำงานอยู่ที่มหาวิทยาลัย กลับบ้านดึก ๆ แทบทุกวัน

                สันติได้รับค่าใช้จ่ายเป็นค่าอาหารกลางวัน ค่าเดินทางและค่าอุปกรณ์การเรียนเดือนละ 1,000 บาท โดยเสียค่ารถวันละ 12 บาท สันติบ่นว่าเงินไม่ค่อยพ่อใช้จ่ายต้องขอเพิ่มทุกเดือนหรือขอยืมเพื่อนเป็นประจำ แต่จากการสังเกตของผู้ศึกษาพบว่า สันติใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย สูบบุหรี่ยี่ห้อต่างประเทศบางครั้งก็ดื่มเหล้าเงินจึงไม่พอใช้

                4) ประวัติด้านการศึกษา

                สันติเริ่มเข้าเรียนชั้นปฐมวัยที่จังหวัดสตูลโดยเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่โรงเรียนประจำตำบลฉลุง แล้วย้ายไปเรียนชั้นประถมปีที่ 5 และประถมปีที่ 6 ที่โรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัดสตูล ต่อมาได้สอบเข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่โรงเรียนมีชื่อเสียงแห่งหนึ่งในจังหวัดสงขลา โดยเรียนสายสามัญซึ่งมารดาต้องการให้เรียนสายอาชีพมากว่า

                 5) ประวัติด้านสุขภาพ

                สันติเป็นคนที่สุขภาพร่างกายแข็งแรงรูปร่างค่อนข้างท้วม ส่วนสูง 165 เซนติเมตร น้ำหนัก 70 กิโลกรัม สายตาสั้น ต้องสวมแว่นตลอดเวลาไม่เคยเจ็บป่วยร้ายแรงใด ๆ

                6) ประวัติด้านสังคม

                สันติเป็นคนเงียบขรึม ใจน้อย โกรธง่ายแต่หายเร็ว ชอบอยู่คนเดียวเงียบ ๆ ชอบทำงานเป็นกลุ่ม แต่ไม่ค่อยช่วยคนอื่นทำ มีเพื่อสนิทน้อยแต่ชอบร่วมกิจกรรมกับเพื่อน ๆ ชอบอยู่กับเพื่อน ๆ มากกว่าอยู่กับครอบครัว

                7) การใช้เวลาว่างหรืองานอดิเรก

                ชอบเล่นกีฬาที่ชอบและถนัดมากที่สุดคือเทเบิลเทนนิส นอกจากนี้ก็มีเปตอง ชอบถ่ายภาพ ปลูกต้นไม้

                8) ความใฝ่ฝันในอนาคต

                อยากมีงานทำเพื่อหาเลี้ยงตนเองได้โดยเร็ว ปัจจุบันอยากเป็นนักกีฬาของมหาวิทยาลัย

                9) เจตคติที่มีต่อตนเอง

                สันติคิดว่าตนเองมีความสามารถทางเชาวน์ปัญญาสูง

                10) เจตคติที่มีต่อครอบครัว

                สันติมีเจตคติที่ดีต่อบิดา เขารักบิดามากกว่ามารดา แต่ก็ไม่มีโอกาสได้ใกล้ชิดกับบิดามากนักเพราะบิดาและมารดาแยกกันอยู่คนละบ้านและบิดาต้องปฏิบัติราชการต่างจังหวัด ถ้าเขารู้ว่าบิดาจะไปที่บ้านวันใด เขาก็จะรีบกลับบ้านทันทีไม่ว่าเขาจะมีธุระอะไรก็ตามแต่ถ้าเขากลับไปไม่พบบิดา เขามักจะแสดงความไม่พอใจออกมา

                สำหรับมารดา เขาจะมีความรู้สึกเฉย ๆ เพราะมารดาชอบบ่นตลอดเวลา นอกจากนี้กับบุคคลอื่นในบ้าน เขาจะมีเจตคติไม่ดีต่อพี่สาวเพราะพี่สาวเป็นคนขี้อิจฉา ชอบฟ้องมารดาและชอบทะเลาะกับเขาเสมอ

                โดยสรุปสันติมีเจตคติที่ไม่ดีต่อครอบครัว

                11) เจตคติที่มีต่อโรงเรียน

                สันติมีเจตคติที่ดีต่อโรงเรียนเห็นว่าโรงเรียนเป็นแหล่งที่ให้ความรู้ความอบอุ่น ร่มเย็นให้ความสบายใจ มีเพื่อนเล่น เพื่อนคุยเพื่อนเที่ยวทำให้เกิดความสนุกสนานเฮฮา สบายใจกว่าอยู่ที่บ้าน

                12) เจตคติที่มีต่อสังคม

                สันติมีเจตคติที่มีต่อสังคมว่า สังคมโดยทั่วไปมีทั้งคนดีและคนไม่ดีอยู่ในสังคมปะปนกันไป

เทคนิควิธีการที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูล

                เทคนิคและวิธีการที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูลทั้งหมดมี 8 ชนิด คือ

                (1) การสังเกตและบันทึกการสังเกต

                (2) การสัมภาษณ์

                (3) การเยี่ยมบ้าน

                (4) อัตชีวประวัติ

                (5) แบบสอบถาม

                (6) สังคมมิติ

                (7) แบบทดสอบ

                (8) ระเบียนสะสม

การสรุปผลและข้อเสนอแนะ

                จากการศึกษาสันตินับว่าได้ข้อมูลเกี่ยวกับสันติละเอียดพอสมควร จนสามารถเข้าใจถึงสภาพของปัญหาได้ว่า จากการที่มีครอบครัวแตกแยก โดยบิดามารดาแยกทางกันแล้ว เด็กอยู่กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่ไม่ได้รับความรัก ความสนใจเท่าที่ควร ทำให้เด็กขาดความรัก ความอบอุ่น และทำให้มีผลกระทบไปยังปัญหาอื่น ๆ ด้วย เช่น ปัญหาด้านการเรียน ปัญหาด้านการปรับตัว เป็นต้น

                ดังนั้น ผู้ศึกษาจึงได้เสนอแนะแนวทางในการช่วยเหลือผู้รับการศึกษารายนี้ไว้ดังนี้

                1) ข้อเสนอแนะสำหรับผู้รับการศึกษา

                สันติควรยอมรับสภาพของตนเองและพยายามทำสิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ การแยกตัวเองออกจากสังคมไม่ช่วยให้เกิดผลดี กลับยิ่งทำให้ขาดความรักความสนใจมากขึ้น การแยกตัวเองออกจากสังคมไม่ช่วยให้เกิดผลดี กลับยิ่งทำให้ขาดความรักความสนใจมากขึ้น ควรมองคนอื่นในแง่ดีบ้าง เพราะในสังคมมีทั้งคนดีและคนชั่วควรตั้งใจเรียนให้ดีที่สุด เพื่อจะได้สำเร็จการศึกษาและมีอาชีพเลี้ยงตนเองได้ต่อไป

                2) ข้อเสนอแนะสำหรับผู้เกี่ยวข้องกับผู้รับการศึกษา

                                2.1) ข้อเสนอแนะสำหรับมารดา

                                มารดาความให้ความสนใจแก่สันติบ้าง เช่น ไต่ถามทุกข์สุข ดูแลเอาใจใส่ ไม่ควรเฉยเมยหรือฟังความคิดเห็นจากสันติบ้าง มิใช่ฟังแต่พี่สาวคนโตแต่เพียงฝ่ายเดียว

                                2.2) ข้อเสนอแนะสำหรับพี่สาว

                                ควรให้ความรัก ความสนใจ ไม่อิจฉาริษยา หรือทำให้เกิดความแตกแยกความสามัคคี ควรรักใคร่ปรองดองกัน ไม่ควรไปเพิ่มปัญหาให้กับมารดามากขึ้นอีก

                                2.3) ข้อเสนอแนะสำหรับอาจารย์ที่ปรึกษา

                                อาจารย์ที่ปรึกษาควรให้การดูแลกวดขันเป็นที่ปรึกษาและเป็นกันเอง เมื่อสันติมีปัญหาไปปรึกษาควรช่วยส่งเสริม สนับสนุน และให้การยอมรับในตัวสันติ พยายามส่งเสริมให้สันติเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อลดความเครียดและหาทางสนับสนุนให้ได้รับทุกการศึกษาหรืองานพิเศษทำ เพื่อมีรายได้เป็นค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นการช่วยเหลือมารดาด้วย

                3. ข้อเสนอแนะสำหรับผู้ที่จะศึกษาต่อไป

                                ผู้ที่สนใจจะทำการศึกษารายนี้ต่อไป ควรให้ความเป็นกันเอง ยอมรับและเข้าใจในตัวผู้รับการศึกษามาก ๆ ตลอดจนให้ความรัก ความสนใจ ความห่วงใยจะทำให้เขารู้สึกอบอุ่น ศรัทธา และกล้าที่จะระบายความรู้สึกที่แท้จริงออกมา ซึ่งทำให้เกิดความเข้าใจและช่วยเหลือได้ถูกต้อง

                                                                                                                ลงชื่อ นางสาวนิภา แสงสี ผู้ศึกษา

                                                                                                                ตำแหน่ง ครูแนะแนว

สรุป

การศึกษารายกรณี เป็นกระบวนการศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับบุคคลโดยใช้เครื่องมือ เทคนิค หรือวิธีการต่าง ๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งรายละเอียดของข้อมูลแล้วนำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์เพื่อทำความเข้าใจสภาพผู้ถูกศึกษา เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมที่แสดงออกมา สาเหตุของพฤติกรรม เพื่อการวินิจฉัยในอันจะเป็นประโยชน์ต่อการช่วยเหลือนักเรียนและการช่วยส่งเสริมและพัฒนาความสามารถต่าง ๆ และช่วยให้ผู้ปกครองเข้าใจนักเรียนในความปกครองของตน ได้ดีขึ้นและสามารถที่จะให้ความร่วมมือแก่ทางโรงเรียนแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับบุตรหลานของตนได้ด้วยดี

 

บรรณานุกรม

นิรันดร์ จุลทรัพย์. 2539. เอกสารคำสอนวิชาการแนะแนวเบื้องต้น. โครงการบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ภาคใต้. 

 

หมายเลขบันทึก: 493954เขียนเมื่อ 8 กรกฎาคม 2012 08:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 กรกฎาคม 2012 14:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เป็นการศึกษาที่ "เยี่ยม" จริงๆ เลยนะคะ

สรุปได้ว่า "นักเรียน" เป็นศูนย์กลางจริงๆๆ

ขอบคุณมากค่ะ สำหรับบทความดีดีนี้นะคะ

  • น่าสนใจมาก
  • ผมเคยเรียนกับอ.นิรันดร์ จุลทรัพย์.ด้วยครับ
นางสาวไพรมณี แก้วเป้า

น่าสนใจมากค่ะ เป็นตัวอย่างที่ดีในการเรียนรู้ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท