ไฮเทค เพื่อ ไฮทัช : การศึกษา 2020


วันนี้มีแรงบันดาลใจจนอดเขียนอีกบันทึกไม่ได้
..
" ผู้ป่วย palliative ที่น้องรับที่เราจะขึ้นไปดู เป็นอย่างไรบ้างค่ะ"
ข้าพเจ้าถามน้องแพทย์ประจำบ้านผู้หนึ่ง
ซึ่งเพิ่งพักเหนื่อยหลังจากง่วนตรวจผู้ป่วยนอก
เนื่องจากได้รับตั้งแต่วันศุกร์
ข้าพเจ้าจึงคาดหวังว่าเขาได้ขึ้นไปดูก่อน ตามที่ตกลงกันไว้
"ผู้ป่วยออก รพ.ไปเมื่อวานนี้ครับ จะกลับมาฉายแสงอีกแต่ไม่รู้จะเข้านอน รพ.หรือเปล่า"
 จากนั้น น้องกล่าวด้วยเสียงกังวล "ผมยังไม่ทันได้ขึ้นไปดูเลยครับ"
...
ข้าพเจ้า มิได้นึกตำหนิน้องแพทย์ประจำบ้านแต่อย่างไร
เข้าใจว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ที่ต้องรักษาสมดุล งาน การเรียน การเงิน
เพียงแต่สะท้อนใจตรง
"ต้องเตรียม powerpoint จนไม่มีเวลาไปดูผู้ป่วย.."
.
ให้ย้อนไปสมัยข้าพเจ้าเป็นนักศึกษาแพทย์
ตอนนั้น อาจารย์อาวุโส ให้เตรียมนำเสนอกรณีศึกษาผู้ป่วย
โดยไม่ต้องเตรียม power point ไม่ต้องเตรียมกระทั่ง แผ่นใส
แต่ให้เอาใบเขียน order ยาจริงๆ มาดูกัน
ข้าพเจ้ายังโดนดุ ที่คัด order ลงแผ่นใส
ตอนนั้นข้าพเจ้าไม่เข้าใจท่าน
จนตอนนี้เข้าใจแล้ว
...
Back to the basic
บางทีเราควรให้เวลาเรียนรู้ตามสิ่งที่เป็นจริง
ให้ "ต่อมเอ๊ะ" ทำงานหลังจากใช้ประสาททั้ง 5 สัมผัสผู้ป่วย
แทนที่ต้องเสียเวลาไปกับ
เตรียมการนำเสนอ slide layout, font, animation etc.
นำข้อมูลมา "จัดวาง" ให้เป็นที่ถูกใจ
อีกทั้ง "copy and past" จนเป็นพฤติกรรม
.

เทคโนโลยีการศึกษา
ควรเป็น Hitech ที่ส่งเสริม Hitouch
คือมีความสามารถในการจับ (capture) ข้อมูลตามจริง
แล้วสามารถมาทบทวน (review) เพื่อเรียนรู้

ยกตัวอย่าง
ระบบเวชระเบียนอิเล็กโทรนิกส์ ที่ทำหน้าที่เลขานุการ
" E-health secretary" :)
คือสามารถบันทึก ภาพ ตอนแพทย์สนทนากับผู้ป่วย
แล้ว "คัดสรร -quote" ข้อมูลที่จำเป็นต้องบันทึกในเวชระเบียนได้อัตโนมัติ
ก็จะเกิดผลทั้ง ลดการเสียเวลาที่แพทย์ต้องมานั่งกรอกบันทึก
และทำให้แพทย์ต้องพยายามสื่อสาร ข้อมูลสำคัญต่อผู้ป่วยให้ครบถ้วนด้วย
จะได้ไม่ต้องมานั่งเขียนเติมข้อมูลทีหลัง
เวลาจะเสนอข้อมูล ก็ให้ E-secretary เล่าไป
ผู้เรียน ผู้สอน จะได้เหลือกำลังในการวิเคราะห์ อภิปราย มากขึ้น
.
แล้ว ความจริงที่ปวดใจในโรงเรียนแพทย์
"ต้องเตรียม powerpoint จนไม่มีเวลาไปดูผู้ป่วย"
ก็คงเป็นประวัติศาสตร์ แค่ในปี 2012 นี้

###

update 4 ก.ค. 2555

สิ่งบังเกิด ที่ไม่มีเขียนลง powerpoint
วันนี้นักศึกษาแพทย์ปี 6 นำเสนอกรณีศึกษาผู้ป่วยในชุมชน
มีนักศึกษารายหนึ่ง เขียนเนื้อหาใน powerpoint เพียงเล็กน้อย
แต่เล่าเรื่องประกอบรูป ก่อนสรุปท้าย
" เขามีร่างพิการมาแต่กำเนิด
แต่เขามีความสุขกับทุกวัน
ตราบใดที่ยังถดพาร่างตนเองเข้าห้องน้ำได้
สิ่งเดียวที่เขาขอคือ ลดปวดฝีที่ก้น
..เขาช่วยสอนชีวิตให้ผม
ถ้าผมมีทุกข์เมื่อไหร่
จะถามตัวเองว่า
เพราะเรามีตัณหา ความอยากมากไปหรือเปลา"

หมายเลขบันทึก: 493340เขียนเมื่อ 3 กรกฎาคม 2012 21:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 กรกฎาคม 2012 22:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (34)

สัมผัสด้วยใจ..ลงสู่การงานของชีวิต..จิตแจ่มใส..วัตถุธรรม..ฤาจะสู้จิตที่เป็นธรรม..

  • ชอบ "เทคโนโลยีการศึกษา ควรเป็น Hitech ที่ส่งเสริม Hitouch คือมีความสามารถในการจับ (capture) ข้อมูลตามจริง แล้วสามารถมาทบทวน (review) เพื่อเรียนรู้" ค่ะ
  • อ.วิ ก็ทำตามหลักการนี้เลยนะคะ คือ ใช้เทคโนโลยีที่จะช่วยนำสิ่งที่นักศึกษาปฏิบัติจริง มาให้นักศึกษาได้มองเห็นสิ่งที่ตนปฏิบัติเพื่อประเมินและปรับแก้ไข เช่น ถ่าย Video การทำงานเป็นกลุ่ม และถ่าย Video การพูดภาษาอังกฤษของแต่ละคน มาให้ชมประกอบข้อชี้แนะ เป็นต้น
  • แต่เหนื่อยจังเลยค่ะ แค่เรื่องการแสดงภาพประจำตัวให้ถูกต้อง ที่อ.วิเริ่มจากคำอธิบายพร้อมตัวอย่างว่า ภาพประจำตัวของนักศึกษา จะต้องพิมพ์ข้อมูลในภาพ ให้แถวบนขึ้นต้นด้วยรหัส Section (เช่น 02, 03, 04) ตามด้วยชื่อ (ไม่ใส่นามสกุล) ตามด้วยรหัส 4 ตัวท้ายของลำดับที่สมาชิก GotoKnow (สองตัวแรกของทุกคนจะเป็นเลข 17 เหมือนกัน) และแถวล่างเป็นตัวย่อของสาขาวิชาที่เรียนและชั้นปี ดังภาพ 

      และต่อมาก็นำภาพที่นักศึกษาทำออกมาไปให้ดูว่า ใครทำถูกใครทำไม่ถูก ไม่ถูกตรงไหน จะต้องแก้ไขให้ถูกอย่างไร พร้อมคะแนนที่ได้รับการประเมิน

 

 

ให้ดูซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ ณ ขณะนี้ ก็ยังมีทำไม่ถูกจำนวนมากอยู่เหมือนเดิม ดังตัวอย่าง

     อ.วิ ขัดใจมากที่ผู้บริหารสูงสุดทั้งในอดีตและปัจจุบัน พูดในวันแรกของการประชุมอาจารย์ว่า ผู้ที่เข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยมีระดับสติปัญญาไม่สูง โบกมือผ่านหน้ายังตาไม่กระพริบ และก็ใช้เป็นข้ออ้างว่า มหาวิทยาลัยจึงไม่สามารถพัฒนาให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพได้ ผู้บริหารและอาจารย์ก็เลยไม่ใส่ใจสอนไปแบบสุกเอาเผากิน ดูแค่ว่ามีผลการเรียนส่งแค่นั้น อาจารย์ที่เชื่อว่า "นักศึกษาพัฒนาได้ ถ้าได้ใช้วิธีการที่เหมาะสม" และพยายามทุกวิถีทางที่จะพัฒนา อย่างอ.วิก็เลยเหนื่อย พ่อใหญ่สอพูดซ้ำแล้วซ้ำอีก ว่า "บ้า" มีคนเดียวในมหาวิทยาลัยที่ทำแบบนี้ ค่ะ 

     อ.วิเคยพูดในที่ประชุมอาจารย์ว่า อาจารย์ที่มีหน้าที่ทำเอกสารหลักฐานต่างๆ เพื่อรับการประเมินคุณภาพภายนอก ซึ่งทุกรายก็บ่นว่าทำงานหนักและสารภาพในที่ประชุมว่า พวกตนต้องทิ้งห้องเรียนเพื่อเตรียมเอกสารเป็นเวลาหลายเดือน อ.วิเลยพูดว่า เมื่อสภาพจริงของการพัฒนาคุณภาพนักศึกษามันเป็นเช่นนั้น แล้วจะมาเขียนเอกสารหลักฐานว่าได้พัฒนาคุณภาพผู้เรียนเป็นอย่างดีได้อย่างไร ซึ่งพูดความจริงเมื่อไหร่ก็พบว่า ความจริงเป็นสิ่งที่ไม่ตาย แต่คนพูดความจริงตายลูกเดียว เมื่อนั้น ค่ะ 

เทคโนโลยีการศึกษา ควรเป็น Hitech ที่ส่งเสริม Hitouch คือมีความสามารถในการจับ (capture) ข้อมูลตามจริง แล้วสามารถมาทบทวน (review) เพื่อเรียนรู้

เห็นด้วยอย่างยิ่ง ขอบคุณครับ...  สำหรับบทความที่ดี ๆ ครับ

แวะส่งต่อกำลังใจ

และอ่านบันทึกของหมอ ป. คะ

ชอบตรง " Back to the basic "

บางทีเราควรให้เวลากับการเรียนรู้ตามสิ่งที่เป็นจริง

ให้เวลากับการลงมือทำงาน มากกว่าชิ้นงานที่ต้องทำ

เพื่อนำเสนอ...

ทำให้มีความคิดว่าบางครั้ง ของเดิมๆ(รูปแบบการเรียนการสอน)

บางอย่างก็ดีกว่าของใหม่ที่ต้องใช้เทคโนฯ เข้ามาเกี่ยวข้อง

แต่ถ้าให้ดียิ่งๆขึ้น เก่า+ใหม่ ควบคู่กันไปในปริมาณที่สมดุลน่าจะดีที่สุดคะ

 

การศึกษา การทำงาน ในยุคใหม่ควรปรับเปลี่ยน เห็นด้วยกับไฮเทค เพื่อให้ทัช ช่วยลดต้นทุน เวลาในการทำงาน เพิ่มผลผลิตที่เป็นมาตรฐาน

ขอบคุณพี่ใหญ่ เสริมให้เห็นคุณค่า ความรู้จากการปฎิบัติค่ะ
เพราะประสาทสัมผัสผ่านสื่อการสอนใดๆ ก็คงไม่เท่าใช้จิตสัมผัส ขณะปฎิบัติ 
เข้าใจว่าอย่างนี้ค่ะ :) 

มาชม

ไม่เห็นทุกข์ ก็ไม่เห็นธรรมนะครับผม

เข้าใจ ความยุ่งเหยิงของการเรียนแพทย์ ค่ะ และการเป็นแพทย์ มีหลายคนถามว่า ทำไมแพทย์ ซึ่งถือว่าเป็นบุคคลที่ เป็นมันสมองของชาติจึงมีงานวิชาการ ออกมาน้อยจัง ชลัญก็เถียงแทนว่า "โอ๊ย! เป็นแพทย์น่ะ ให้เอาชีวิตไปอาบน้ำแปรงฟัยนอย่างมีความสุขก่อนเถอะ ประสาอะไรกับวิชาการจะเอาชีวิตที่ไหนทำ" ชลัญว่าแพทย์ พยาบาลเป็นวิชาชีพที่ เหมือนเกิดมาเพื่อรับกรรม เพราะนอกจาก จะเรียนหนัก จบมาทำงานยังหนักยิ่งกว่า ไม่เหมือนวิชาชีพอื่นที่จบแล้วจะดีกว่าเรียน หมอ ป.ว่ามั๊ย

เรียน อาจารย์หมอที่เคารพครับ...พอดีแม่ผมไม่สบาย...ผมมีอาการเบลอบ้าง...วุ่นวายบ้าง...แต่พยายามเข้ามาเขียนบันทึก...และอ่านบันทึกของทุกๆ ท่าน...พักหลังให้เพียงดอกไม้...อยากให้ข้อคิดเห็นด้วย...แต่ทุกท่านเขียนดีแล้ว...รวมถึงบันทึกนี้ของอาจารย์...อาจารย์มีความสุขมากๆ ...ซึ่งแน่นอนผมส่งความสุขผ่านท้องฟ้าให้อาจารย์เสมอ...ขอบคุณทุกบันทึกที่เป็นแรงบันดาลใจครับ

  • นี่คงเป็นอีกตัวอย่างของการยึดติดรูปแบบ มากกว่าจิตวิญญาณครับ
  • กลับมาย้อนมองตัวเอง....ผมยังคงตอบไม่ได้ว่าผมจะเป็นแบบไหน
  • ขอบคุณ บันทึกตัวอย่างชีวิตดีๆของอาจารย์หมอ ป.ครับ
  • ถ้าไม่ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น หรือใช้เวลาน้อยลงแล้ว เทคโนโลยีก็คงไม่จำเป็นนะครับ..
  • ขอบคุณข้อคิดดีๆครับ

เทคโนโลยีการศึกษา
ควรเป็น Hitech ที่ส่งเสริม Hitouch
คือมีความสามารถในการจับ (capture) ข้อมูลตามจริง
แล้วสามารถมาทบทวน (review) เพื่อเรียนรู้

ได้ยินเสียงแว่ว ๆ มีกล่าวพาดพิงสาขาผมนี่นา 555

เห็นด้วยครับ งานหมอจริงๆ หนักมากอยู่แล้ว

สวัสดีค่ะ ธรรมแสดงธรรมให้เราเห็นได้ทุกเมื่อนะคะ ชอบคำพูดของนักศึกษาที่นำมาเล่าด้วยค่ะ เพราะ ความอยาก (ฉันทะ) ไม่ได้เป็นตัณหาไปเสียทั้งหมด ความอยากที่จะทำในสิ่งที่ดี (อยากในส่วนเหตุ) จัดเป็นกุศลฉันทะ ส่วนความอยากที่จะบรรลุผล (อยากในส่วนผล) คืออยากให้ผลในอนาคตมาปรากฏในปัจจุบัน จึงจะจัดเป็นตัณหาฉันทะ เมื่อมีกุศลฉันทะ และพอในกับผลที่สัมพันธ์กับเหตุในปัจจุบัน ทุกข์ก็ไม่เกิด ขออนุญาตส่งลิ้งค์นี้ไปให้ลูกสาว และ ขออนุโมทนาด้วยนะคะ

  • เป็นกำลังใจให้อาจารย์ค่ะ ในการแนะนำการใช้เทคโลยีอย่างสร้างสรรค์ค่ะ
  • ฟังจากที่อาจารย์เล่ามา ทำให้นึกถึงที่ให้นักศึกษาส่งงานเข้า CMU KC moodle โดยมี instruction ว่า อย่าลบตารางให้คะแนนแผ่นแรกออก กับตั้งชื่อไฟล์ให้เป็นระเบียบ  เท่านี้ ก็ต้องใช้เวลาแก้นานอยู่ค่ะ พบว่าวิธีได้ผลที่สุด คือ ทำไฟล์ตัวอย่างไว้เลย เด็กรุ่นใหม่(อาจรวมตัวเองด้วย) ไม่ใคร่มีสมาธิในการอ่านทำความเข้าใจคำสั่ง แต่ถ้าเข้าใจคำสั่งแล้ว การหาข้อมูล การแสดงความคิดเห็น ก็มักทำได้ดีค่ะ
  • "นักศึกษาพัฒนาได้ ถ้าได้ใช้วิธีการที่เหมาะสม" และพยายามทุกวิถีทางที่จะพัฒนา..ตรงนี้สร้างแรงบันดาลใจความเป็น "ผู้สร้าง" ของอาจารย์ เชื่อในศักยภาพของมนุษย์ทุกคน ที่มีอยู่แล้ว เพียงเปิดเวทีให้แสดงออกมาอย่างเหมาะสม..ขอบคุณค่ะ

ขอบคุณค่ะอาจารย์

เมื่อก่อน เราเคยให้เด็กพิมพ์เป็นรายงานเยี่ยมบ้าน
ปรากฎว่า นอกจากพบ "copy and past" จากอินเตอร์เนต
แทนที่จะ "capture" ความเป็นจริงแล้ว
ยังเกิดปัญหาไม่มีที่จะเก็บอีกด้วย

ไฮเทคเป็นของดีแต่ต้องมีสติในการใช้ค่ะ 

ขอบคุณที่ให้กำลังใจค่ะ

" เราควรให้เวลากับการเรียนรู้ตามสิ่งที่เป็นจริง

ให้เวลากับการลงมือทำงาน มากกว่าชิ้นงานที่ต้องทำ

เพื่อนำเสนอ"

ทำให้นึกถึงหนังสือแปลของ Christopher witt โดยคุณเริงศักดิ์ ปานเจริญ
พูดดีไม่ต้องมีเพาเวอร์พอยต์ - Real leaders don't do power point

ที่กล่าวว่า "ถ้าคุณต้องการให้คนอื่นเห็นว่าคุณเป็นผู้นำ
คุณต้องให้กรอบ มิใช่ให้แต่ข้อเท็จจริง"

หมายถึง คุณค่าจากการเรียนรู้จากผู้ป่วย
ไม่ใช่การรวบรวมข้อมูล มาเสนอให้อาจารย์ฟัง
แต่อยู่ที่ "การใส่กรอบ" คือ  ข้อคิด ค่านิยม วิธีมองและวิธีนำไปใช้ค่ะ 
 

ขอบคุณค่ะคุณพวงอ้อน

ผู้ที่จะประสบความสำเร็จในทศวรรษหน้า น่าจะเป็นผู้สามารถเชื่อมมาตรฐานเทคโนโลยีกับความอ่อนไหวของมนุษย์ ดังที่ steve jobs ทำสำเร็จมาแล้วค่ะ

ขอบคุณอาจารย์อุทัยที่มาฝากถ้อยคำให้คิด เห็นทุกข์เห็นธรรม เห็นปัญหา ก็ต้องหาทางแก้ (กันต่อไป) นะค่ะ

ขอบคุณ คุณชลัญที่น่ารัก เอาใส่ใจความรู้สึกผู้อื่นเสมอค่ะ

การเรียนชั้นคลินิกนั้น แม้มีมาตรฐาน หลักสูตร
เอาเข้าจริง ก็ขึ้นกับ staff, นโยบาย รพ., ลักษณะผู้ป่วย ฯลฯ
แต่สุดท้าย ทุกคนก็ต้องเรียนรู้สิ่งนี้
เพื่อปรับตัวกับความแตกต่างของที่ทำงานแต่ละที่อยู่ดี

แต่ละวิชาชีพก็คงมีความลำบากต่างๆ กันไปค่ะ :)
 

อาจารย์หมอที่เคารพครับ...

ผมว่า...จะไม่บอกอาจารย์จนกว่าอาจารย์จะได้รับกล่องพัสดุครับ

แต่ผมไม่แน่ใจว่า...จะได้เข้ามาเฉลยคำตอบในบ้านนี้ตอนไหน?...เพราะคงต้องให้เวลากับแม่ครับ

ผมส่งพัสดุให้อาจารย์มีหนังสือ 3 เล่ม และเพลงอีก 2 เพลงที่ผมชอบมากครับ

(ฟังแล้วมีความอบอุ่นและมีแรงเดินต่อไปข้างหน้า)

หนังสือราคาไม่มากมาย...ผมซื้อเก็บไว้มากมาย...รอให้แต่ละท่านที่มีความเหมาะสมครับ

ส่งให้วันที่ 2 ก.ค. แต่ส่งแบบธรรมดา...จนไปรษณีย์งงว่า...เห็นพี่ส่งจดหมายแต่แบบด่วน...นี้ไปเชียงใหม่นะ...หลายวันนะพี่

ผมแค่บอกว่า...ให้การเดินทางมันทำหน้าที่อย่างซื่อสัตย์ก็พอ...

ตอนแรกผมกะจะแนบจดหมายเขียนโน๊สสั้นๆ...และให้ทิมดาบเขียนถึงอาจารย์หมอด้วยครับ

แต่เร่งรีบมาก...เพราะแม่ไม่สบาย...เหมือนปรอทที่จุ่มน้ำร้อนและน้ำเย็นสลับกัน

โชคดีที่ได้ส่งครับ...ตอนเที่ยง ขณะห่อ...ก็ยังได้รับโทรศัพท์ส่งข่าวแม่

เลยรีบห่อ...และเขียนที่อยู่ (อาจารย์ห้ามโชว์ลายมือของผมนะครับ...เพราะลายมือแย่มากครับ)

ที่หนังสือก็ไม่ได้สลักถ้อยคำ...เผื่ออาจารย์อ่านแล้ว...มอบให้คนอื่นต่อครับ

ขอบพระคุณอาจารย์หมอที่ให้ผมเป็นเพื่อนครับ

และเกรงใจคุณหมอตัวจริง...ที่ชอบเอ่ยถึงผมว่า...คุณหมอ

ทั้งที่ผมไม่ได้เป็นหมอจริงๆ ครับ

ไม่ว่าวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไง?

มีโอกาสไปเชียงใหม่จะไปเยี่ยมอาจารย์หมอนะครับ

ขอกาแฟร้อน 1 ถ้วยสำหรับ...ภรรยาผมน้ำเปล่า 1 แก้ว...โอวัลตินภูเขาไฟสำหรับทิมดาบ

ครอบครัวของผม เป็นแฟนคลับอาจารย์หมอครับ

ขอให้อาจารย์ ครอบครัว และคนที่อาจารย์รัก มีความสุข ความเจริญ และสุขภาพดีนะครับ

  • ต้องขอบคุณ ที่สละเวลาเข้ามาให้ดอกไม้และความเห็นค่ะ 
  • ช่วงนี้การดูแลคุณแม่ ที่ไม่สบาย กับงานประจำที่ใหม่ คงหนักไม่น้อย อย่าลืมดูแลสุขภาพตนเอง แล้วมาเขียนบันทึกงดงามให้เราอ่านต่อนะค่ะ

วันนี้ได้รับกล่องพัสดุแล้วค่ะ
หนังสือทั้งสามเล่ม มีคุณค่าทางจิตใจมากค่ะ
- เรื่องของ เจนนิเฟอร์ พลิกไปอ่านบทสุดท้าย
(เป็นพฤติกรรมอ่านหนังสือส่วนตัวค่ะ) แล้วน้ำตาไหลไม่รู้ตัว
- เล่ม บทกลอนของท่านพุทธทาส
ชอบหน้านี้ที่สุดค่ะ

 

  • "กลับมาย้อนมองตัวเอง....ผมยังคงตอบไม่ได้ว่าผมจะเป็นแบบไหน" ...
    ขออนุญาตเรียนว่า ชื่นชมความเป็นักวิทยาศาสตร์ ทั้งตัวและหัวใจของอาจารย์ mitochondria ค่ะ
  • เหตุที่กล่าวเช่นนั้น เพราะนอกจากบทความที่อาจารย์เขียนให้ข้อมูล ประกอบวิเคราะห์..อ่านจากความเห็นของท่านยังแสดงถึงความเป็นผู้รับฟังเหตุผลเหนือกว่าอารมณ์  แม้ในสิ่งที่ไม่เห็นด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่หายากในบ้านเรามีผู้เป็นนักวิทยาศาสตร์ "ในชั้นเรียน" แต่ออกนอกห้องเรียน ยังเผลอใช้อารมณ์และตัวตน อยู่มากค่ะ

 

เป็นข้อสรุปที่ดีค่ะคุณครูธนิตย์ 
เทคโนโลยีควร ช่วยให้ประสิทธิภาพ ประสิทธิผลดีขึ้น
( ง่ายขึ้น ใช้เวลาน้อยลง ให้คนมีเวลาทำงานที่สร้างสรรค์มากขึ้น) 

ไม่พบเสียนาน คุณครูรัตน์นรี คงภารกิจยุ่งๆ หรือเปล่าค่ะ
เห็นบันทึกคุณครูเรื่อง "ทีวีครู" ก็น่าสนใจค่ะ
 

พาดพิงเต็มๆ เลยค่ะ อาจารย์ Was :)

แต่แบบที่อาจารย์สอนนั้น "Touch" ชัดเจนค่ะ 

ขอบคุณค่ะคุณเพชร
เช่นเดียวกับนักคอมพิวเตอร์ ที่เรียนรู้ต่อเนื่องจากการแก้ปัญหาแต่ละวันค่ะ
ผู้ป่วยที่ห้องฉุกเฉิน เราเห็นผลลัพท์ทันที ได้เรียนรู้กันเดี๋ยวนั้น
แต่ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง /ระยะท้าย ผลต้องติดตามและ ทบทวน (reflection)
หากเรา ดูผู้ป่วยโดยไม่มีเวลาติดตาม ทบทวน ก็เท่ากับเสียโอกาสพัฒนาตัวเอง

ขอบคุณอาจารย์ ณัฐรดา ที่กรุณาชี้แจงในสิ่่งที่ตนเองไม่ได้เฉลียวใจมาก่อนเลยค่ะ

ว่ามีความลึกซึ้งซ่อนในคำพูดของนักศึกษาขนาดนี้

"..ความอยาก ในส่วนเหตุจัดเป็นกุศลฉันทะ

ความอยาก ในส่วนผล อยากให้ผลในอนาคตมาปรากฎในปัจจุบัน เป็นตัณหาฉันทะ" 

ชัดเจน เข้าใจง่าย และนำไปใช้ได้ด้วยตนเองด้วย ประทับใจมากค่ะ

สวัสดีค่ะคุณหมอ

ชื่นชมแนวคิด back to the basic ค่ะ หากพื้นฐานเข้มแข็ง การต่อยอดคงทำได้ไม่ยากนะคะ

ขอบคุณแนวคิดดีดีค่ะ

"..ความอยาก ในส่วนเหตุจัดเป็นกุศลฉันทะ

ความอยาก ในส่วนผล อยากให้ผลในอนาคตมาปรากฎในปัจจุบัน เป็นตัณหาฉันทะ"

แวะมารับข้อคิดที่แบ่งปัน ผ่านบันทึกอ.หมอนะคะ

ขอบคุณมากค่ะ

และขอบพระคุณ อาจารย์ Blank ณัฐรดา ด้วยค่ะ

 

ขอบคุณค่ะ ดร.ปริม ยิ่งเมื่ออ่านบทความนี้

ของท่านอาจารย์ Sila Phu-Chaya

ทำให้ระลึกว่า พื้นฐานการเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ 4 ด้าน
คือพื้นฐานที่สำคัญ หากขาดตรงนี้
ส่วนที่ต่อยอดขึ้นไปก็คลอนแคลนค่ะ 

เป็นกำลังใจให้คุณ tawandin ฟื้นกายฟื้นใจ
สลายปมที่คั่งค้างในใจ  
เพื่อก้าวต่อไปอย่างเข้มแข็งค่ะ 

ปล.

ชอบคำว่า "คนบ้านนาใฝ่ศึกษา" คะ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท