เครื่องวัดการพัฒนาจิต


"ร่างกายเปลี่ยนแปลงไป จิตใจเจริญไปสู่หนทางแห่งความดีงาม"

หลังจากการเดินทางไปต่างจังหวัดระหว่างวันที่ ๒๘ มิถุนายน จนถึงวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๕๕ เพื่อไปเป็นวิทยากรอบรม "การสร้างกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยศาสตร์นพลักษณ์" ที่สมุทรสงคราม  และเลยเดินทางต่อไปเพื่อเก็บข้อมูลวิจัยเกี่ยวกับ "ความยุติธรรมในสิทธิชุมชน" ที่ประจวบคีรีขันธ์ เนื่องจากเป็นเส้นทางเดียวกัน จึงวางแผนที่จะให้การเดินทางไปต่างจังหวัดครั้งนี้คุ้มค่าที่สุด 

 

 

ตลอดการเดินทาง มีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมายหลายอย่าง สองสถานการณ์ที่เดินทางไปสัมผัสล้วนแตกต่างกัน สถานการณ์หนึ่งเกิดความรู้สึกอึดอัด คับข้องใจ ไม่สบายใจ กระสับกระส่าย เป็นกังวล  และอีกสถานการณ์หนึ่งก็มีความรู้สึกสบายใจ ศรัทธา ชื่นชม เห็นอกเห็นใจ ปล่อยวาง แต่ละสภาวะอารมณ์เกิดขึ้นสลับไปมาแล้วแต่จิตจะคิดไป ไม่ว่าจะเป็นใคร สถานะอะไร ก็ต้องหมั่นปฏิบัติ ขัดเกลาตัวเองไปด้วย จึงจะไปถ่ายทอดหรือไปรับการถ่ายทอดจากผู้อื่นได้  

                    "สอนใครก็ไม่เท่าสอนใจตน"

 

มาถึงตรงนี้ทำให้เข้าใจว่าคนเรามักจะมีสิ่งที่ยึดติดเนือง ๆ คืออดีตกับอนาคต  นึกถึงอดีตที่เราลืมทำบางสิ่งบางอย่างหรือทำไปแล้วแต่ยังไม่ดีเท่าที่ควร และก็สลับไปนึกถึงอนาคตที่วางแผนไว้ว่าจะทำอะไรสักอย่าง อยากทำแต่ยังไม่ได้ทำ ทั้งหมดนี้คือการไม่ได้ตระหนักรู้ในปัจจุบัน

 

 

หากว่า ณ ขณะนั้น ปัจจุบันเกิดขึ้นแล้วเรายอมรับความจริง  เราก็จะทุกข์น้อยลง ทั้งนี้ ในการปฏิบัติธรรม เราก็นำ "ทุกข์" นี่แหละมาปฏิบัติ และจะเห็นทั้งทุกข์และสุขเท่ากัน จนจิตผ่องแผ้ว ในโอกาสนี้ จึงขอน้อมนำธรรมะมาประดับจิตใจ ฝากไว้ในบันทึกนี้ 

 

ผู้เขียนเห็นว่าเมื่อเรา "รู้ตัว" ปฏิบัติธรรมอยู่บ่อย ๆ เท่ากับเป็นการทำให้กุศลธรรมเกิดขึ้นในใจอยู่เสมอ เกิดความเจริญงอกงามแห่งจิต ความเจริญโดยนัยนี้คือการเกิดต่อเนื่องไป กุศลธรรมที่เกิดในใจ จิตใจก็เจริญงอกงาม คือความดีงามที่สะสมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ความเจริญงอกงามนี่แหละ พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ ปยุตโต) ท่านกล่าวว่า "เราเรียกว่า ภาวนา ความมุ่งหมายของภาวนาก็คือการทำให้กุศลธรรมเกิดขึ้นในใจต่อเนื่องกันไปเรื่อย ๆ แล้วกุศลธรรมก็จะเจริญเพิ่มพูนไป จนกระทั่งเต็มบริบูรณ์" 

 

 

พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ ปยุตโต) กล่าวต่อไปว่าเครื่องวัดความเจริญของจิตใจตามหลักธรรมเรียกว่า "อารยวัฒิ" แปลว่าความเจริญอย่างอริยชน หลักนี้มี ๕ ประการ

 

ประการที่ ๑ "ศรัทธา" ซึ่งก็คือความเชื่อ มีอยู่ ๒ อย่าง อย่างแรกคือความเชื่อไม่มีมูล ไม่มีเหตุผล งมงาย เห็นอะไรไม่ได้คิดพิจารณาก็เชื่อ เพราะนึกว่าเขาเป็นผู้รู้จริง เชื่อตาม ๆ กันมา เชื่อเพราะหลง ไม่มีหลัก เป็นความเชื่อแบบหลงใหล  อย่างที่สองเป็นความเชื่อที่มีเหตุผล มีปัญญาประกอบ รู้เข้าใจเหคุผล รู้เข้าใจเหตุปัจจัยมองเห็นธรรม ความเป็นไปตามเหตุปัจจัย หากเกิดศรัทธา ความเชื่อ ความมั่นใจในคุณธรรม ในความดีงาม ในคุณพระรัตนตรัย เจริญเพิ่มพูนขึ้นบ่อย ๆ สังเกตตนเองแล้ว จิตใจผ่องแผ้ว อิ่มเอิบ และมีศรัทธาที่มั่นคงเพิ่มขึ้น ก็แสดงว่ามีความเจริญอย่างอริยชนในขั้นที่หนึ่ง

 

ประการที่สอง "ศีล" ปกติของกายและวาจา หมายถึงการสำรวมกายวาจาให้อยู่ในสุจริต ไม่ก่อความเดือดร้อนให้ใคร ไม่เบียดเบียนผู้อื่น นั่นก็คือศีล ศีล ๕ เป็นศีลพื้นฐานในการอยู่ร่วมกับผุ้อื่น  หากถือศีล ๘ ก็จะเป็นการฝึกกายวาจาประณีตยิ่งขึ้น ขัดเกลาตนเองมากขึ้น อันเป็นพื้นฐานของการฝึกจิตใจ ศีลจึงนำไปสู่สมาธิ กล่าวคือผู้ที่มีศีลจะเกิดความปิติความอิ่มใจ นำไปสู่ความสุข และนำไปสู่สมาธิ 

 

ประการที่สาม "สุตะ" คือความรู้หรือสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ซึ่งจะเป็นความรู้ทางโลก คำบอกเล่า คำสั่งสอนของผู้ใหญ่รุ่นก่อนก็ได้ และมีความหมายรวมถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าด้วย หากเราจะก้าวหน้าสู่การปฏิบัติมากขึ้น เราก็จะต้องมีสุตะมากขึ้น เพราะถ้าไม่มีสุตะคือไม่รู้ ก็ไม่สามารถปฏิบัติต่อไปได้ หมั่นทบทวนตัวเองว่ามีความรู้ความเข้าใจในหลักธรรมข้อใด เพียงใด ปฏิบัติแล้วเกิดผลอะไร อาศัยผู้รู้ก่อนขัดเกลาตนไปด้วย เป็นการสร้างความอ่อนน้อมถ่อมตนอย่างหนึ่ง

 

ประการที่สี่ "จาคะ" ความสละ หมายถึงสละความยึดติด ความยึดติดผูกพันในวัตถุสิ่งของต่าง ๆ สิ่งอำนวยความสะดวกที่เกิดความรู้สีกเป็นเจ้าของ ยึดมั่นถือมั่น ห่วง หวง กังวลใจต่อสิ่งต่าง ๆ ที่ไปขวนขวายหามาได้ สร้างสรรค์มันขึ้นมาได้ หากเรามีสิ่งเหล่านี้ แล้วรู้จักทำใจ ไม่ผูกพันมากเกินไป โดยรู้เท่าทันความจริง มันต้องเป็นของมันตามธรรมดา ฝึกตนไม่ให้ยึดติด เริ่มตั้งแต่รู้จักสละสิ่งสอง ให้ เผื่อแผ่ แบ่งปัน เป็น "ทาน" การให้จะเกิดสุขก็ต่อเมื่อมีความพร้อมที่จะให้เช่นเดียวกับความรู้สึกของการให้ที่พ่อแม่มีต่อลูก ซึ่งเปี่ยมด้วยเมตตา ย่อมเป็นการให้ที่มีความสุข เป็นกุศลจิต ดังนั้น ผู้ที่ฝึกฝนพัฒนาจิตขึ้นมาแล้ว จะสามารถให้โดยมีความสุข แผ่เมตตากรุณาให้กว้างขวางออกไป ดังพุทธพจน์ที่ว่า "ผู้ให้ความสุข ก็ได้ความสุข" ทั้งหมดนี้อยู่ที่ทำใจเป็น  การมีจาคะจึงเป็นเครื่องสำรวจจิตใจของตนว่าเจริญในธรรมแค่ไหน สามารถอยู่เป็นสุขได้หรือไม่ เมื่อไม่ได้สิ่งนั้นหรือแม้ต้องสูญเสียอะไรไป ความสุขเช่นนี้เป็นความสุขที่ไม่ฝากไว้กับสิ่งภายนอก เมื่อมีจาคะมากขึ้น จิตใจก็คลายความยึดติดผูกพัน เข้าใจในสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง เกิดความรู้สึก "สุข" ด้วยใจตนเอง เป็นอิสระ ไม่ขึ้นต่อสิ่งภายนอก

 

ประการที่ห้า คือ "ปัญญา" ความรู้ความเข้าใจในสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง สุตะ ก็เป็นความรู้ ปัญญาก็เป็นความรู้ แต่ต่างกันตรงที่สุตะ เป็นความรู้ที่สดับตรับฟังมาจากผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นได้ฟังหรือได้อ่าน สิ่งที่รับเข้ามานี้ไม่ใช่ของเรา เป็นความรู้ที่มีการถ่ายทอดมา แต่หากเราเข้าใจในสิ่งที่รับมา ความรู้ที่เป็นความเข้าใจของตัวเองก็เกิดขึ้นใหม่ ความรู้นั้นแหละเป็นปัญญา ผู้ที่เล่าเรียนจดจำสิ่งต่าง ๆ ได้มากมาย แต่ก็มีปัญญาน้อยได้ หากไม่รู้ไม่เข้าใจไม่ใช้ประโยชน์ให้เห็นจริง  

 

ท่านว่า "ปญญา สุตวินิจฉินี" แปลว่าปัญญาเป็นเครื่องวินิจฉัยสุตะ คือความรู้ที่เข้ามาเป็นข้อมูลดิบ หากมากองไว้ไม่วินิจฉัย ก็ไร้ค่า ผู้มีปัญญาจะเลือกเฟ้นว่าจะนำความรู้ไปใช้อย่างไร ดัดแปลงอย่างไร แก้ไข จัดการสิ่งต่าง ๆ อย่างไร ให้สำเร็จตามที่ต้องการ ความรู้ที่เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง สามารถสืบสาวหาเหตุปัจจัยสิ่งต่าง ๆ ได้ กลั่นกรอง เชื่อมโยงได้ เรียกความรู้นี้ว่าปัญญา ทั้งนี้ "ปัญญา" ก็ย่อมต้องอาศัย "สุตะ" ด้วย

 

                  

             การจะเข้าถึงความสุขก็ย่อมต้องอาศัยความทุกข์เช่นกัน

 

ที่มาของบันทึกนี้

ผู้เขียนนั่งอ่าน "ความสุขที่แท้จริง" ของพระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ ปยุตโต) หนังสือเล่มเล็กที่แจกในงานพระราชทานเพลิงศพของบิดาผู้เขียนที่ล่วงลับไปกว่าสิบปี  

 

ไม่ว่าเวลาผ่านไปเพียงไร ธรรมะมีความเป็นนิรันดร์  ยามใดที่อยู่ในช่วงปัดกวาดเช็ดถูขัดเกลาจิต ก็จะนำข้อธรรมจากหนังสือมาปรับใช้ เมื่ออ่านแล้วก็ได้นำข้อความบางส่วนของหนังสือมาอธิบายเล่าใหม่ตามที่เข้าใจ แต่ที่คงความหมายไว้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงคือหลักธรรมห้าข้อดังได้กล่าวมาแล้ว

       

      "ร่างกายเปลี่ยนแปลงไป

                 จิตใจเจริญไปสู่หนทางแห่งความดีงาม"

                                         พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ ปยุตโต)

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 493076เขียนเมื่อ 1 กรกฎาคม 2012 22:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กรกฎาคม 2012 13:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

สร้างธรรมในใจสร้างได้ทุกวัน เวลา โพสต์ไปโพสต์มาใน กทน. นี้ก็ถือว่าปฏิบัติธรรม และทำด้วยการปฎิบัติอย่างหนึ่งใช่ไหมครับ 555

สวัสดีครับ ดีใจที่จะได้ติดตามอีกหนึ่งท่าน ดู ๆ ที่ กทน. Sila Phu-Chaya เขียน ๆ ไว้ ก็ดูเหมือนจะสนใจ ในสิ่งที่ใกล้เคียงกันนะครับ

ศาสตร์นพลักษณ์ ก็เข้าท่า เคยฟัง ดร.บัญญัติ บุญญา มาครั้งหนึ่ง ที่ไปบรรยายที่เชียงใหม่ ก็น่าสนใจ
แต่ยังเข้าไม่ถึงครับ

สวัสดีหลานศิลา....

อ่านแล้วได้ข้อคิดดีๆมากมาย...จิตดี  กายดี  ชีวิตจึงจะดี.....

ขอบคุณที่ไปให้กำลังใจลุง...ดูเหมือนว่าจะมีความสนใจเรื่องจิตและกาย..

ว่างๆหากไปเชียงใหม่พาลุงชัดไปด้วยแวะเที่ยวแหล่งเรียนรู้ผะหญาล้านนาที่ลุงชัดเคยไปมาแล้วจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันบ้างสนุกดีครับ....

ด้วยความปรารถนาดีจากลุงหนาน.....พรหมมา

  • สวัสดีค่ะ ท่านอาจารย์ชัด บุญญาBlank มือใหม่หัดขับค่ะ ในโลกทางธรรม ถือว่ายังไม่ได้ใบขับขี่เลยค่ะ มองเห็นต้นทางอยู่ไกลลิบเลยค่ะ เดินไปไม่ถึงต้นทางสักที
  • หากท่านเห็นว่าสนใจในเรื่องเดียวกัน ก็รู้สึกยินดีค่ะ เผื่อจะได้รับการถ่ายทอดและเรียนรู้จากท่านบ้าง ก็จะเป็นพระคุณยิ่ง
  • เวลาเขียนอะไรแนวนี้ จะรู้สึกมองเห็นการทำงานของเรา มันราวกับว่าสิ่งนี้จะต้องเขียนออกมาแบบนี้ค่ะ ยามหลงโลกนาน ๆ สิ่งที่เคยปฏิบัติจะถูกรื้อฟื้นกลับมาเมื่อมีสติระลึกรู้ และจะตื่นเป็นขณะ ๆ จึงต้องหมั่นเพียรสร้างธรรมในใจเป็นขณะ ๆ เช่นกันค่ะท่าน 
  • นพลักษณ์นำไปใช้ในการศึกษาหลายอย่าง แต่ที่ใช้เป็นประจำคือเครื่องมือที่ทำให้มองเห็นตัวเองชัดขึ้นค่ะ ตัวปลอมถูกลอกปลอกเปลือกทีละชั้น ๆ ก็จะตื่นง่ายขึ้น ไม่ค่อยงัวเงีย ขี้เซานานเกินไปค่ะ 
  • กราบขอบพระคุณที่กรุณาแวะมาทักทายและนับรุ่นน้องอ่อนหัดคนนี้เป็นผู้สนใจในเรื่องเดียวกัน ด้วยความซาบซึ้งค่ะ
  • สวัสดีค่ะ ลุงหนานBlank ขออนุญาตเรียกเช่นนี้นะคะ  โอกาสที่จะไปเชียงใหม่อาจจะไม่บ่อยนักในระยะนี้ แต่ยินดีอย่างยิ่งที่ลุงหนานชวนค่ะ หนูจะขออนุญาตไปรบกวนเมื่อมีโอกาสเดินทางไปดูที่ดินที่ซื้อไว้ในโอกาสต่อไปนะคะ 
  • อยากแวะ "เที่ยวแหล่งเรียนรู้ผะหญาล้านนา" มากเลยค่ะ ขอบพระคุณอย่างยิ่งค่ะ และพอใกล้ ๆ เวลาที่จะไป จะขออนุญาตติดต่อผ่านทางบันทึกและ email ผ่าน g2k อีกครั้งนะคะ

ดีใจที่ได้มาฝึกปฏิบัติธรรมในบันทึกนี้

และดีใจที่คนเก่งๆจะมาเป็นจาวเชียงใหม่อีกคนเจ้า

  • พี่เขี้ยวBlank แวะมาเยี่ยมตอนเผลอ ๆ ใกล้จะหลับ เลยตื่นเลยค่ะ
  • เขียนบันทึกนี้ตอนจิตกระเพื่อมน่ะค่ะ ปฏิบัติแบบงู ๆ ปลา ๆ แต่ธรรมะที่นำมาฝากนั้นสูงส่งยากนักที่จะปฏิบัติถึง ขอปักธงไว้ก่อนแล้วกันค่ะ แล้วค่อย ๆ ห้ดเดินไป
  • ไม่ช้าก็เร็ว ๆ คงได้เจอกันนะคะ ถึงอย่างไร อนาคตไม่แคล้วเป็นสาวใหญ่เมืองเชียงใหม่แน่นอนค่ะ 
  • ขอบคุณค่ะที่ปลุกให้ตื่นจากภวังค์และมาเยี่ยมให้หายคิดถึง

  •  "สอนใครก็ไม่เท่าสอนใจตน"
  • คำกล่าวนี้ถูกต้องที่สุดจ้ะ
  • สวัสดีค่ะคุณศิลา 
  • ขอบพระคุณมากนะค่ะที่ให้ดอกไม้ในการเยี่ยมชมผลงานค่ะ

สาธุครับ

ด้วยความระลึกถึง

สบายดีครับ ยุ่งทั้งงานหลัก งานรอง

ห่างหายไปมาก จนรู้สึกเขียนไม่ออก

ภาพนี้ พิศดูแล้ว ชวนจินตนาการค่ะ
ต้นไม้เล็กๆในกระถางเล็กๆ บนโต๊ะ
ตัดกับต้นไม้บนพื้นดินที่กว้างไกล
ถ้าเราเป็นต้นไม้ ควรอยากอยู่ตรงไหน 

 

  • สอนใครก็ไม่เท่าสอนใจตน
  • คุณมะเดื่อหยิบคำนี้มากล่าวตรงกับใจที่อยากจะสื่อเลยค่ะ
  • แค่ได้ยินข่าวคราวบ้างนานๆครั้ง ก็ปลาบปลื้มแล้วค่ะคุณ phornphon

คุณหมอ ป. เป็นผู้เก็บรายละเอียดองค์ประกอบของภาพและให้ข้อสังเกตได้อย่างน่าประทับใจมากค่ะ การมองเห็นในสิ่งที่ผู้อื่นมองไม่เห็นนับว่าเป็นตวามสามารถพิเศษที่หาไพ้ยากมากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท