กากี


                                ตอน คุยเฟื่องเรื่องกากี

                 ฐิติพร   สังขรัตน์

         หากจะกล่าวถึงนางในวรรณคดีที่ได้รับขนานนามว่าเจ้าชู้มากชาย หลายรัก ก็เห็นจะหนีไม่พ้น ๓ อนงค์ ผู้แน่งน้อย สวยน่าชิดน่าพิสมัย นั่นก็คือ นางวันทอง โมรา และกากี นั่นเอง

         สังคมไทยสมัยก่อนจนถึงปัจจุบันก็มักเปรียบเปรยด่าว่าหญิง ที่ประพฤติตัวไม่เหมาะสมในเชิงมากรัก ว่าเหมือนกับนางทั้งสามนี้ แต่หากว่าผู้อ่านจะพิเคราะห์ให้ลึกลงไปแล้วนั้น ก็จะเห็นด้วยกับผู้เขียนว่า ทั้งสามนางจะต่างกันก็ด้วยเหตุ หรือสิ่งเร้าที่มากระทบให้ต้องมีพฤติกรรมเช่นนั้นออกมา เริ่มจากนางวันทองนั้น มีเหตุแห่งการที่ทำให้ต้องสองชาย (ขุนแผน และขุนช้าง) ความรู้สึกที่ว่า “นั่นก็เกรงใจ นี่ก็รัก” ตนเองจะตัดสินใจอย่างไรลงไปก็ไม่กล้า พาลให้ต้องพระราชอาญาเสียนี่  ส่วนนางโมรานั้นเล่า ก็อาจพิจารณาได้ว่า นางนั้นเพิ่งตื่นลืมตาออกมาจากผอบ ด้อยด้วยความคิด และสติปัญญาที่จะพิจารณาสิ่งที่ถูกต้อง เสมือนเด็กที่เกิดมา และยังมิได้รับการฝึกฝน อบรม เมื่อเห็นโจรป่ามีหน้าตาหล่อเหลา มีความเป็นชายชาตรีมากกว่าผัว(จันทโครพ)ของตน ก็ทำให้นึกรัก หลงระเริงไปกับรูปลักษณ์ของโจรป่าเสียนี่ ก็ถ้าจะเปรียบกับศาลที่จะต้องตัดสินโทษผู้ร้ายสักคน นอกจากจะยกตัวบทกฎหมายมาพิจารณาลงโทษกับคนผิดแล้ว หากจำเลยยังอยู่ในวัยของการเป็นเยาวชน บทลงโทษนั้นก็ยังอนุโลม อ่อนเบาให้ แต่นางกากีนี่สิ จะว่าด้วยผู้เขียนพยายามหาข้อแก้ตัวให้เพียงไร ก็ยังคงเห็นด้วยกับคนรุ่นปู่รุ่นย่าที่ว่า นางกากีนั้นมากรักหลายชู้ กู่ไม่กลับแล้วจริงๆ หมายว่าจะวิเคราะห์ให้ลึกลงไปก็นึกสงสารนักอ่านรุ่นใหม่ๆ พาลจะเบื่อเสีย ผู้เขียนคงต้องขออนุญาตแนะนำให้รู้จัก นางกากี เป็นเบื้องต้นเสียก่อน ดังนี้

        นางกากี  มเหสีสุดรักของท้าวพรหมทัต แห่งกรุงพาราณสี สิริโฉมของนางจัดได้ว่าหาหญิงใดมาเทียบเทียมได้ยากยิ่ง นอกเหนือไปจากนี้แล้ว นางยังมีกลิ่นกายที่หอมหวนยั่วยวนใจชายอยู่มิใช่น้อย ซึ่งหากจะคิดให้เป็นวิทยาศาสตร์ซักหน่อย ผู้เขียนก็ขอเทียบกับกลิ่นจำพวกฟีโรโมน (Pheromone) ที่มีคุณสมบัติเด่นในสัตว์ ช่วงผสมพันธุ์ ที่ตัวเมียมักจะหลั่งเพื่อเรียกให้ตัวผู้มาหลงใหลชนิดลืมตาย ดังเช่น สัตว์บางประเภทที่ถึงขนาดฆ่ากันตายเลยก็มี  ต่างกันนิดเดียวก็ตรงที่ กลิ่นของนางนั้นช่างติดตัวอยู่มิเลือนหาย ชายใดที่ได้เสพรสแห่งกาย เผลอร่วมสังวาสกับนาง ก็จะพลอยติดกลิ่นนั้นไปด้วยเป็นเวลาถึง ๗ วัน ๗ คืน เลยทีเดียว  ดังว่า                       

             “ชื่อกากีศรีวิลาศดั่งดวงจันทร์             เนื้อนั้นหอมฟุ้งจรุงใจ
      เสมอเหมือนกลิ่นทิพมณฑาทอง                ผู้ใดต้องสัมผัสพิสมัย
      กลิ่นกายติดชายผู้นั้นไป                           ก็นับได้ถึงเจ็ดทิวาวาร”

กากีคำกลอน ของ เจ้าพระยาพระคลัง (หน)     

          และนี่ก็ถือเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้นางถูกจับได้ว่าคบชู้สู่ชาย ดังจะกล่าวถึงในเบื้องหน้าอีกคำรบหนึ่ง

          กล่าวถึงท้าวพรหมทัตกษัตริย์แห่งกรุงพาราณสี ผู้โปรดปรานนางกากี และการเล่นสกา[1]เป็นที่สุด ฝีมือนั้นเล่าก็หาผู้ที่จะทัดเทียมได้ยากยิ่งนัก ซึ่งเห็นก็จะมีเพียงพญาครุฑเวนไตยแต่เพียงผู้เดียว ที่พอจะมีฝีมือสูสี สู้กันได้ พญาครุฑจึงมักแปลงกายเป็นหนุ่มน้อยรูปงามมาท้าเล่นสกากันอยู่เป็นนิตย์

          ครั้งหนึ่งทั้งสองเผลอเล่นกันจนลืมเวลา ด้วยไม่รู้ผลแพ้ ชนะเสียที ร้อนไปถึงเมียคนงามที่รออยู่ เป็นเหตุให้นางกากีแอบย่องตามขึ้นมาแอบดู เหตุแห่งการณ์นี้ ทำให้เวนไตยได้พบกับนาง ทั้งสองต่างมีใจให้กันตั้งแต่แรกพบ ผลคือเวนไตยก็ลอบเข้าหานางซะนี่ โอ้โลมปฏิโลมกันอยู่อึดใจ นางก็เป็นอันเก็บผ้าผ่อนหนีไปอยู่กับพญาครุฑเวนไตยที่วิมานฉิมพลีเสียคืนนั้นเอง  กลายเป็นว่า สำนวนไทยอีกสำนวนหนึ่งที่ว่า  “ไปเที่ยววิมานฉิมพลี”  ที่ผู้เฒ่าผู้แก่มักจะใช้กระแนะกระแหนสาวๆที่ใจง่าย ไปกับผู้ชายโดยง่ายนั้น ก็มีที่มาจากตอนนี้ในเรื่องกากีนี่เอง เมื่อไปถึงถิ่นของพญาครุฑก็คงไม่ต้องถามถึงว่าเบื้องหน้านั้น นางกากีจะกลายสภาพไปอย่างไรได้อีก นอกจากตกเป็นเมียอย่างเต็มใจชนิดไม่มีอิดเอื้อนซะอย่างนั้น ดังนี้

             “สองสุขสองสังวาส                     แสนสุดสวาทสองสู่สม

          สองสนิทนิทรารมณ์                        กลมเกลียวชู้สู่สมสอง”     

            บทเห่เรือเรื่องกากี ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์

        ฝ่ายเมื่อท้าวพรหมทัตกลับขึ้นชั้นบน พบว่านางหายไปก็ให้ตกใจจนสิ้นสติไป ประโยคที่เราๆท่านมักกล่าวว่า “ตกใจแทบสิ้นสติ” นั้น ผู้เขียนเห็นว่าท่าจะจริง ถ้าดูจากเรื่องนี้ เห็นว่าจะมิได้เป็นการกล่าวอ้างที่เกินเลยไปเลยซักนิด เอ้าเมื่อได้สติกลับฟื้นขึ้นมา ก็สอบถามหาความจริงกันให้วุ่นวายกันไปทั้งตำหนัก ได้ความจากนาฏกุเวร(นาด-กุ-เวน) คนธรรพ์[2]หนุ่ม  บอกว่า ตนเห็นนางกากีสบตากับพญาครุฑเวนไตย แค่นั้นก็น่าจะเพียงพอแล้วที่จะรู้ว่านางหนีหายไปกับใคร เพื่อสืบความจริงให้รู้แจ้ง ตนจะขออาสาออกตามสืบดูให้รู้แน่ชัด  เมื่อเห็นชอบดังนั้นทุกคนจึงรอคอยการกลับมาเล่นสกาอีกครั้งของพญาครุฑเวนไตย

        เมื่อจะกล่าวถึงฟากวิมานฉิมพลีนั้น  คงต้องบอกว่าลืมวันลืมคืนกันเลยทีเดียว ด้วยพญาครุฑนั้นทั้งหลงทั้งใหลทั้งได้ทั้งปลื้มไปกับนางกากี เมื่อถึงกำหนดเวลาต้องไปเล่นสกาก็ให้รั้งรอไม่อยากไป แต่ครั้นจะหนีหายไปเสียเฉยๆ ก็เกรงว่าจะทำให้ท้าวพรหมทัตคิดสงสัย อีกทั้งกลิ่นกายที่หอมติดตัวนั้นเล่าก็น่าจะจางหายได้ใน วันที่ ๗ พอดี (นับเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่พญาครุฑจะกลับไปเล่นสกาได้เมื่อพ้นเจ็ดวันแล้วเท่านั้น) คงไม่เป็นที่จับได้ของท้าวพรหมทัต จำจะต้องกลับไปเล่นสกาดังเดิม การณ์เป็นอันว่าพญาครุฑเวนไตยก็กลับมาเล่นสกากับท้าวพรหมทัตตามเดิมราวกับว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น ครั้นได้เวลาลากลับ นาฏกุเวรก็แปลงกายเป็นตัวไรเกาะไปกับขนของพญาครุฑซะเลย มาถึงตรงนี้ผู้อ่านบางท่านอาจสงสัยว่า ก็ในเมื่อท้าวพรหมทัตเป็นถึงกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ ทำไมจึงไม่ระดมพลพรรคเข้าไปชิงตัวนางกากีเสียตั้งแต่ต้น เช่นเดียวกับพระรามตามนางสีดา หรือพระเอกในวรรณคดีอีกหลายๆเรื่อง กลับมาใช้วิธีที่ดูน่าสงสารเสียนี่กระไร นั่นก็อาจอธิบายได้ว่าเพราะครุฑนั้นแม้จะจัดว่าเป็นสัตว์ก็จริงอยู่ แต่นับเนื่องมาแต่อดีตแล้วว่า ครุฑเป็นสัตว์ที่มีฤทธิ์เดชมาก แม้นพระนารายณ์ก็ยังปราบไม่สำเร็จ หนำซ้ำที่อยู่ของพญาครุฑนั้นก็ยากเหลือกำลังที่จะไปถึงได้ เพราะถูกคั่นกลางด้วย มหาสีทันดร[3] แม้คนหรือสัตว์จำพวกนกที่ว่าเก่งกล้า ก็ยังไม่สามารถเหาะข้ามไปได้ เพราะมีระยะทางที่ไกล  เวิ้งว้าง ไม่มีแม้นกิ่งไม้ที่จะให้หยุดพักเหนื่อยได้เลย ดังนั้น วิธีนี้จึงช่วยให้นาฏกุเวรมาถึงวิมานฉิมพลีได้ แม้นจะดูไม่องอาจนัก แต่ก็นับว่าเฉียบแหลมเลยทีเดียว ไม่นานนักนาฏกุเวรก็เฝ้าแอบดูจนรู้ความจริงทั้งหมด เมื่อถึงรุ่งเช้าสบโอกาสที่พญาครุฑออกเที่ยวป่าหิมพานต์ จึงออกมาแสดงตัวให้นางกากีเห็น ครั้นจะสารภาพว่าเหตุที่ตนมานั้น เพราะมาเพื่อช่วยเหลือท้าวพรหมทัต นางกากีก็คงนำความไปบอกพญาครุฑ แล้วตนเองก็คงถูกฆ่าตายอยู่ที่นี่เป็นแน่แท้ จำต้องหลอกล่อให้นางกากีเข้าใจไปในทางอื่นเสีย จึงใช้แผนหลอกลวงว่าตนเองนั้นมีจิตพิสมัยนางกากีจนเหลือกำลังที่จะทนไหว ขอนางจงเห็นใจรับรักของตนเถิด นางกากีได้ยินเข้าก็ให้มีใจเคลิบเคลิ้ม ประกอบกับตนนั้นก็ยังไม่อิ่มเอมในรสรักที่พญาครุฑมอบไว้ให้ในช่วงกลางดึกจึงยอมตกลงใจร่วมรักกับนาฏกุเวรเสียเลย การณ์ก็เลยเป็นว่าตลอดอาทิตย์ที่เหลือนางกากีร่วมรักตอนกลางวันตนนึง ตกกลางคืนก็กับอีกตนนึงเสียอย่างนั้น นับว่านางรับศึกหนักไม่เบา ผู้เขียนว่าถ้าจะนับว่าพระอภัยมณีที่ว่าเจ้าชู้ ร่วมสมสู่แม้แต่นางเงือกที่เป็นสัตว์แล้วให้รู้สึกพิลึกพิลั่นนางกากีก็ดูน่าสนใจไม่แพ้กัน

        ครั้นเมื่อล่วงเลยพ้น ๗ วัน อีกครั้ง นาฏกุเวรก็ใช้วิธีเดิมตามพญาครุฑกลับมาหาท้าวพรหมทัต และทูลเรื่องราวตามจริงแก่ท้าวพรหมทัตจนสิ้นความ ท้าวเธอแม้จะขัดเคืองใจลูกน้องตัวแสบที่กระทำการมากกว่าคำสั่ง ก็ให้มีใจขุ่นขึ้ง อยากลงโทษเสียให้สมแค้น แต่เมื่อพิจารณาแล้ว กาลข้างหน้าอาจเป็นการสร้างกรรมสืบต่อกันไปได้  อีกทั้งเรื่องนี้ความผิดนั้นก็เป็นของนางกากีเป็นสำคัญ ด้วยว่ามิใช่เกิดจากการข่มเหงน้ำใจกัน แต่เพราะนางนั้นเต็มใจหลับนอนเสียเอง จึงทรงได้สติ และกลับหาทางที่จะเปิดเผยความจริงให้กับพญาครุฑตัวแสบได้ทราบ

         ครบเวลาอีกหนึ่งอาทิตย์ เมื่อถึงคราวเล่นสกาท้าวพรหมทัต จึงโปรดให้มีการขับร้องเพลงขณะเล่นสกาด้วย โดยมีนาฏกุเวรเป็นผู้ขับร้องถวาย ซึ่งเนื้อเพลงที่ร้องนั้นก็มีเนื้อความเล่าเรื่องที่เกิดขึ้น เนื้อความของกลอนนั้นหากผู้เขียนไม่นำมาใส่ไว้ ก็คงไม่พ้นถูกตำหนิติเตียนจากท่านผู้รู้อีกหลายๆคนได้ ด้วยเนื้อความนั้นมีความไพเราะ และนับเป็นวรรคทองของเรื่องเลยทีเดียวเชียว ดังนี้

              “โอ้พระพายชายกลิ่นมารัญจวน      หอมหวนนาสาเหมือนกากี

รื่นรื่นชื่นจิตพี่จำได้                                    เหมือนไปร่วมภิรมย์ประสมศรี

ในสถานพิมานสิมพลี                                 กลิ่นยังซาบทรวงพี่ทั้งวรกาย

นิจจาเอ๋ยเชยมาเจ็ดวัน                              กลิ่นสุคันธรสรื่นก็เหือดหาย

ฤาว่าใครแนบน้องประคองกาย                     กลิ่นสายสวาทซาบอุรามา ฯ”

                                                กากีคำกลอน ของ เจ้าพระยาพระคลัง (หน)

          เมื่อพญาครุฑได้ฟังก็ให้เป็นกังวล เฝ้าซักถามความที่เกิดขึ้น เมื่อทราบเรื่องทั้งสิ้นแล้ว ก็ให้บังเกิดความอับอาย ทั้งเสียหน้า เจ็บใจ เป็นยิ่งนัก รีบบินกลับวิมาน กล่าวบริภาษนางกากีอย่างรุนแรง ฝ่ายนางกากีนั้นเมื่อถึงคราวจน ก็ให้รีบแก้ตัวโกหกมดเท็จเป็นการใหญ่ หาว่าถูกใส่ความ กล่าวเฉไฉว่า ไฉนเลยที่คนอย่างนางจะไปนิยมสมสู่กับพวกบ่าวไพร่ให้เสื่อมเกียรติ ดูดู๋ท่านผู้อ่าน มาจนถึงป่านนี้แล้ว นางก็ยังช่างปฏิเสธเสียงแข็งได้ถึงเพียงนี้ ผู้เขียนคิดว่าบางทีนางอาจจะลืมคิดถึงบาปกรรม ในเรื่องของการรักษาศีลห้า อันเป็นคุณธรรมพื้นฐานของมนุษย์ไปเสียแล้วสิ้น พญาครุฑนั้นหมดแรงจะโต้เถียง และไว้ใจนางได้อีก จะคิดอีกที ผู้เขียนก็ว่า คงเป็นธรรมดาของบุรุษที่เมื่อได้เสพสมสตรีที่ต้องใจแล้ว ก็พาลจะเบื่อลงได้เสียโดยง่าย ด้วยเมื่อตอนจะได้นั้นก็ง่ายเหลือแสน ครั้งเวลาจะเสียไปก็มิได้ใคร่ดีอีก เพราะแม้ว่านางกากีจะร่ำร้องคร่ำครวญขออยู่ต่อด้วยเพียงใด พญาครุฑก็มิได้เหลือเยื่อใยจะอนาทรต่อไปอีก ครั้นเมื่อนำนางไปส่งคืนท้าวพรหมทัต ท้าวเธอก็มิได้ทรงอาลัยรักนางอีก ด้วยสตรีที่คิดทรยศนั้นแม้นเลี้ยงไว้ อีกมินานก็คงจะหวนกลับไปกระทำเช่นเดิม ท้าวเธอก็มีรับสั่งให้นำนางกากีใส่แพลอยน้ำไปตามยถากรรม ความหลังจากนี้จะถูกแต่งต่อเพิ่มเติมไปเพียงใดนั้นก็หลายหลาก เช่นบทนิพนธ์ของนายโชติ ที่บ้างก็ว่านางถูกหัวหน้าโจรป่าจับไปเป็นเมียต่อ บ้างก็ว่าเจ้าเมืองรับนางได้ไปเป็นเมียเจ้าทศวงศ์เมืองไพสาลี บ้างก็บอกว่านาฏกุเวรกลับมาครองบ้านเมืองต่อจากท้าวพรหมทัตแล้วมารับนางกลับไป เนื้อความที่แต่งต่อก็ไพเราะรื่นหูดี แต่ตอนจบของกากีคำกลอน ฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) นั้นก็จบลงแต่เพียงเท่านี้

         นับว่านางกากีเป็นต้นแบบของหญิงที่มักมากในกามคุณ คติที่สอนใจในขณะอ่านนั้นก็มากโขอยู่ ชะตากรรมที่นางได้รับนั้นแม้นว่าจะไม่หนักหนาเท่านาง วันทอง หรือนางโมรา แต่ก็นับว่าร้ายแรงเช่นกัน  ข้อคิดที่ผู้หญิงจะได้รับจากเรื่องนั้นชัดเจนมากอยู่แล้ว ทั้งในด้านของการรักนวลสงวนตัว คุณธรรมในการครองเรือน รวมไปถึงการดำเนินชีวิตในเรื่องของการรักษาศีล ฝ่ายชายเล่าหากอ่านแล้วก็จะได้ข้อคิดที่ผู้เขียนขอสรุปสั้นๆโดยใช้สุภาษิตไทยมาเทียบเคียงได้เลยทันทีว่า การจะเลือกหญิงเป็นคู่ครองนั้น พึงระลึกไว้เสมอว่า “ไม้งามกระรอกเจาะ”[4] นั่นเอง

         อย่างไรก็ดี กากี นับว่าเป็นนางในวรรณคดีที่มีสีสันเป็นอย่างมาก ด้วยสะท้อนภาพของนางเอกในรูปลักษณ์แบบใหม่ๆ ที่ไม่ต้องนั่งพับเพียบเรียบร้อยนั่งร้อยมาลัย และอดทนอดกลั้นชนิดที่ต้องกัดลิ้นจนเลือดกบปากเพราะความอยากเถียงแต่เพียงเท่านั้น  ไม่แน่ว่าหากนางมาเกิดอยู่ในสมัยนี้แล้วก็คงจะเด่นดังไม่แพ้แม่ดาราใจกล้าที่มีชื่อเสียงอยู่ในสมัยนี้เลยทีเดียว ครั้งหน้าผู้เขียนใคร่จะพาผู้อ่านไปรู้จักนางในวรรณคดีอื่นๆ อีก รับรองว่าสนุกไม่แพ้กัน ใครใคร่รู้จักนางใด ก็ส่งคำขอมาสะกิดสะเกากันได้ค่ะ ขอขอบคุณในการติดตามด้วยหัวใจ                                                                                        

                                                                                         สวัสดี:ปรีดา

เอกสารอ้างอิง

ธาดาพร.นามานุกรมนางในวรรณคดี.กรุงเทพฯ:พิมพ์คำ,๒๕๕๑.

ราชบัณฑิตยสถาน.พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒.กรุงเทพฯ:อักษรเจริญทัศน์,๒๕๔๒.

ภาพนางกากี.ม.ป.ป.(ภาพออนไลน์).เข้าถึงได้จาก:http://server.thaigoodview.com/files/u20013/pt1_8.jpg.



[1]  เครื่องเล่นการพนันอย่างหนึ่งใช้ลูกบาศก์ทอด แล้วเดินตัวสกาตามแต้มลูกบาศก์

[2] ชาวสวรรค์พวกหนึ่ง มีความชำนาญในวิชาดนตรี และขับร้อง

[3] ชื่อทะเล อยู่ระหว่างเขาสัตบริภัณฑ์ที่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุ

[4] ผู้หญิงสวยมักไม่บริสุทธิ์

หมายเลขบันทึก: 492825เขียนเมื่อ 29 มิถุนายน 2012 13:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 สิงหาคม 2012 08:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ขออภัยเรื่องการจัดแบ่งวรรค และย่อหน้า เนื่องจากทำครั้งแรก จึงจัดระบบคอมไม่สันทัดเท่าที่ควร

สวัสดีครับ

มาอ่านเรื่องกากี สนุกจริงๆ

มีหลายมุมให้มองครับ

 

 

 

ป.ล. เรื่องนี้น่าจะไว้ในหมวด "วรรณกรรม" ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท