LIVE LIFE, LEAD LIVES (Part I)


LIVE LIFE, LEAD LIVES

เมื่อวานซืนได้รับเกียรติให้ไปบรรยายที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ซึ่งจัดงาน Young Leader Development Programme ขึ้น ตอนแรกผมได้ยินหัวข้อและธีมงานก็ลังเล เพราะผมไม่มีคุณวุฒิหรือประสบการณ์นำองค์กรอะไรเลย อาศัยได้ทำเรื่อง empowerment ซึ่งในเนื้องาน (palliative care) มักจะเน้นที่การเสริมพลังปัจเจกบุคคลเป็นหลัก แต่ผู้เชิญซึ่งเคยร่วมงานและเห็นงานที่ผมทำ ยืนยันว่าสิ่งที่ผมทำน่านำมาดัดแปลงให้เข้าได้ ก็เลยรับงานนี้

มิใช่ว่าผมไม่เห็นความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยง แต่กำลังพิจารณาว่า ณ ขณะนี้ บรรยากาศของ leader (หรือผมอยากจะเรียกเป็น leadership มากกว่า) ของเมืองไทยนั้นเป็นเช่นไร คำๆนี้เรานำมาใช้ มาแจกจ่าย มาโปรยกันเยอะ มีกลุ่ม มี "แกนนำ" มากมาย หลายๆคนก็ดูจะนำสำเร็จ (หากพิจารณาจากจำนวนคนตาม) หลายๆคนก็มีหลักฐานบรรดาศักดิ์เป็นประกาศนียบัตร (มีการ shift ของ Hierarchy อย่างก้าวกระโดด) แต่การนำแบบที่ผมจะนำมาเสนอ มาแลกเปลี่ยนนี้ จะเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง คือ "นำด้วยการสร้างแรงบันดาลใจ นำด้วยการรับใช้" ยิ่งหลังจากการได้สัมผัสกับบุคลากรของ รพ.บำรุงราษฎร์ ผมก็เพิ่มความเข้าใจในคำที่ผมชอบใช้บ่อยๆคือคำว่า "ต้นทุน" มากขึ้นอีกระด้บหนึ่ง แสดงว่าคำๆนี้ มีมิติด้านลึกซับซ้อนกว่าที่คิด (ซึ่งเป็นเรื่องที่สวยงาม ในแง่การเรียนรู้)

มีบทความบางตอนที่ผมเคยเขียนเอาไว้แล้ว หากนำมาประกอบ ก็จะครบถ้วนโดยที่ไม่ต้องเขียนซ้ำ

จิตตปัญญาเวชศึกษา 78: Servant-Leadership: Part 1: Commitment
จิตตปัญญาเวชศึกษา 79: S-L Part 2: Four Dimensions of Moral Authority
จิตตปัญญาเวชศึกษา 80: S-L Part 3: Moral Authority & Servant Leadership

เขียนเอาไว้เมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้ว ตอนที่หนังสือของ Robert K. Greenleaf เรื่อง Servant Leadership ครบรอบ 25 ปีพอดิบพอดี ที่จริงเขียนไว้ 7 ตอน แต่เอาที่ดึงมาเป็น frame of thought ในครั้งนี้ 3 ตอน


ผมเดินทางมาถึงสนามบินสุวรรณภูมิ คุณตั๋นก็มารอรับอยู่แล้ว พร้อมพี่สุเทพผู้ดูแลยานพาหนะที่จะเดินทางไปยังเป้าหมายของเรา วันนี้่มีกิจกรรมของโครงการ YLDP อยู่แล้วทั้งวัน ของผมจะเป็นปิดท้ายรายการ (เป็นความคุ้นชินของผมด้วย เพราะปกติ ถ้าพูด palliative care หรือการดูแลคนไข้ระยะสุดท้าย เขาก็มักจะเอาไว้ท้ายสุดนี่แหละ) ขณะที่อยู่ในรถ เราก็พอมีเวลาสนทนากันว่างานนี้คืออะไร เกี่ยวกับอะไร ไปจนถึงเสร็จแล้วผมจะกลับยังไง พอดีผมต้องไปบรรยายต่อที่เชียงใหม่ ต้องกลับมาขึ้นเครื่องที่สุวรรณภูมิอีกที คุยกันว่าจะมายังไงดี ผมเองยังติดใจ Airport Link ที่เชื่อมจากกลางกรุงเทพฯไปสนามบินได้อย่างตรงเวลาอยู่ เทียบกับรถยนต์จากบำรุงราษฎร์มาส่ง (ตอน rush hour พอดี เพราะเลิกตอนห้าโมงเย็น) พี่สุเทพก็เลยออกความเห็นแยกแยะเวลาออกมาว่า ไปทางไหน จะใช้เวลาเท่าไหร่ ก็เลยชัดว่าให้รถเขามาส่งน่ะดีแล้ว เพราะกว่าจะลุยจากบำรุงราษฎร์ไปถึงพญาไท หรือมักกะสัน ก็พอดีเท่ากับตอนที่เราจะขึ้นมอเตอร์เวย์วิ่งโลดไปสนามบินพอดีเหมือนกัน QED!

ที่น่าสนใจก็คือพี่สุเทพสามารถจำแนกแจกแจงข้อมูลและนำเสนอได้อย่างกระชับ กระทัดรัด และเข้าใจง่ายมาก แสดงความเป็น expertise ในเรื่องที่กำลังพูดเป็นอย่างดี ผมนึกถึงที่ไอสไตน์พูดว่า "If you cannot explain in plain language, you haven't yet understood the subject well enough." ดังนั้นพี่สุเทพจึงสามารถให้และสรุป dilemma ณ ขณะนั้นลงได้อย่างชัดเจนแจ่มแจ๋ว แสดงว่า "รู้เรื่องในสิ่งที่พูด" เพียงพอ

นี่คือ "ต้นทุนแรก" ของบำรุงราษฎร์ที่สร้าง impression ให้ (ใน trip คราวนี้.. เพราะผมเคยเจอกับคนบำรุงราษฎร์ใน workshop ก่อนหน้านี้แล้วชุดนึง)

เดินทางมาถึงบำรุงราษฎร์ก็ได้ขึ้นไปรับประทานอาหารกลางวันที่ THE MEZZ เป็น section อาหารนานาชาติ บรรยากาศไม่เหมือนโรงพยาบาลแม้แต่นิดเดียว ผมลอง Jabalaya Seafoods ซึ่งรสชาติถูกปากคนไทยดี แขกอารบิกคงจะกินเครื่องเทศร้อนๆได้ไม่แพ้เรา ตามด้วยน้ำผลไม้ปั่น ตอนนี้มีแคทและคุณหน่อยมาร่วมวงด้วย เราก็มี luncheon minisymposium กันก่อนอย่างสนุกสนาน ดูเหมือนว่าคนใน workshop กลับมาทำงานได้และมีความสุขดีทีเดียว (ไม่ทราบว่าสุขอยู่แล้ว หรือสุขมากขึ้น) ได้ฟังการบริหารบุคคล และตัวอย่างยากๆจากหน่อยและแคท ก็ดีใจที่สิ่งที่เราคุยกันใน workshop หลายอย่าง น่าจะนำมาใช้ได้ อย่างน้อยที่สุดก็เป็นภูมิคุ้มกันตัวเองและเป็นเครื่องมือดูแลคนอื่นๆ

ปัญหาเรื่อง "คน" ที่บำรุงราษฎร์คงจะไม่แตกต่างกับทุกๆที่ เดี๋ยวนี้คนมี profile เปลี่ยนไป ทัศนคติในการทำงาน มองงาน และคาดหวังจากงานเปลี่ยนไปเยอะ คงจะมีทั้งดีและไม่ดี แต่เมื่อเจอตัวอย่างที่ "ท้าทาย" ก็อดมิได้ที่จะนึกถึง good old day ที่เราพอจะหา common values จากเรามาทำงานนี้เพื่ออะไรกันแน่ได้ไม่ยากนัก

ปัญหาคนเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องงาน แต่รวมไปถึงเรื่องส่วนตัว เรื่องการจัดการชีวิตของตนเอง ฟังๆดูทั้งจากที่ไหนๆ รวมทั้งเรื่องของนักเรียนแพทย์ด้วยก็ตาม เดี๋ยวนี้การแก้ปัญหาแบบ "ละครหลังข่าว" ดูจะหนาหูหนาตาขึ้น สงสัยว่าตอนเรียนมาแต่แรกนั้นคงจะไม่ได้เรียนเรื่องการแก้ปัญหามามากพอ เลยต้องมาจับเอาจากละครชีวิต ยอมรับว่าหลายๆเรื่องก็มีบทเรียนที่ดี หลายๆเรื่องรวมบทเรียนไว้ตอนสุดท้านตอนเดียว แต่ก่อนหน้านั้นใครเลียบนแบบไปโดยไม่ได้ฟังสรุปตอนจบ อาจจะลงเอยตกนรกหมกไหม้ไปโดยไม่รู้ตัว

แต่ผมคิดว่าบำรุงราษฎร์ได้คนดูแลเรื่องคนที่มีประสิทธิภาพ และเจตนคติที่ดีมาก

สิ่งแวดล้อมก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่เป็นต้นทุนของบำรุงราษฎร์

แม้ว่าจะก่อสร้างมาในที่ที่ขยายตัวยาก สุขุมวิทซอยหนึ่ง เป็นทำเลที่อยู่ตรงกลางของทุกสิ่งทุกอย่างของกรุงเทพฯก็ว่าได้ แต่ก็ทำเนื้อที่ได้มีประสิทธิภาพดีมาก และได้ "บรรยากาศ" อย่างน้อยก็กำจัดบรรยากาศเจ็บป่วยลงไปได้หลายดีกรีมาก (คุยกับคุณแต๋มและคุณหลิน บอกว่าได้ไปดูงานที่ศิริราช ประทับใจมาก โดยเฉพาะ ICU ที่มี River View หรือ Garden View ทุกเตียงเลยทีเดียวเจียว!!)

มีสตาร์บัคถึงสองร้าน!! (อันนี้ให้ 4* เป็นการส่วนตัว!) เก้าอี้ไม่เยอะเท่าไหร่แต่ที่เห็นคนไม่แน่นมากนัก (น่าแปลกใจ) ผมถามเรื่อง spa มีไหม ปรากฏว่ายังไม่มี ซึ่งน่าเสียดาย เดี๋ยวนี้การเยียวยาด้วยศาสตร์ทาง spa นั้น มี evidence-based รองรับหนักแน่นไม่แพ้ field Oncology หรือ Cardio เลยก็ว่าได้ และแถมเรื่อง Wellness เพิ่มเข้าไปเป็น extra bonus ผมว่าศาสตร์นวดไทยเราไม่แพ้ aromatherapy ของประเทศไหนๆในโลกนี้ หากนำมา combined กับ modern medicine ก็จะเป็นทางเลือกที่ดีมาก ยิ่งพิจารณาจาก chronic illness เองที่เริ่มนำเอา hydrotherapy มาติดตั้งในหลายๆ hospices แล้ว หรือ palliative care ที่เริ่มนำเอา massage มาเสริมในด้าน symptom control เข้ากับยารักษาอาการที่มีอยู่ ผมไม่ห่วงเรื่อง ambient เพราะที่นี่มีพร้อมอยู่แล้ว จะทำหรือไม่ทำก็แค่นั้นเอง

ก่อนเริ่มบรรยาย ได้รับเกียรติจาก leader ตัวจริง คือคุณแต๋ม (กมลศักดิ์ เรืองเจริญรุ่ง) คุณหลิน (อาทิรัตน์ จารุกิจพิพัฒน์) และอาจารย์วรรณี บุญช่วยเหลือ ที่เป็นผู้ดูแล palliative care อยู่ที่บำรุงราษฎร์นี่ มาสนทนาและมอบความรู้ให้แก่ผมอีกมากมาย (เหมือนกับผมได้มาดูงานเลยทีเดียวก็ว่าได้!!!) ได้ทราบว่าที่นี่มีระบบดูแลและพัฒนาบุคลากรที่ต่อเนื่องและมีเป้าหมายชัดเจน และดูจาก items ที่เลือกมาใช้ ที่นี่ได้เปิดรับระบบบริหารแบบ new sciences คือสายมาร์กาเร็ต วิทลีย์ (Margatet Wheatley, author "Leadership and the new sciences") และกลุ่ม new age ที่เน้นไปทางเสริมศักยภาพความเป็นมนุษย์ (อันนี้ผมสรุปเอาเอง) และยังนำมาบูรณาการกับการดูแลคนไข้ อันที่จริงได้ฟัง brief เรื่อง palliative care ที่บำรุงราษฎร์ทำแล้วก็รู้สึกทึ่ง เพราะผมทราบดีว่าในระบบโรงพยาบาลเอกชนนั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและไม่ง่ายนักในการหาจุดพอดี และที่แน่ๆก็คือ ไม่มีจุด "คุ้มทุน" ทีชัดเจน แต่ที่นี่ก็มีพื้นที่ด้านนี้ออกมาเยอะอย่างน่าชื่นชมอย่างยิ่ง

เมื่อได้ทราบข้อมูลเบื้องต้นเหล่านี้ผมก็เบาใจ เรื่องการบรรยายไม่มีปัญหาใดๆแล้ว เพราะเรามาทางเดียวกัน มีพื้นที่ให้เล่นมากมาย หลายๆท่านที่กรุณาเข้ามาให้สัมผัส มีชีวิตที่สง่างาม มีตึงหย่อนกำลังดี มากน้อยตามวาระต่างๆ ซึ่งทำให้ผมคิดว่าสิ่งที่จะได้บรรยายไปอาจจะพอมีประโยชน์บ้าง ก็จะขอต่อ Part II ดีกว่า เพราะตอนนี้จะยาวไป

 

หมายเลขบันทึก: 492819เขียนเมื่อ 29 มิถุนายน 2012 12:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 กรกฎาคม 2012 09:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

มาตามอ่าน อาจารย์เล่าเรื่องได้ดีมากค่ะ พี่แก้ว มีเพื่อนหลายคนยังทำงานที่นี่ ทุกคนมีความประทับใจ จนสามารถทำงานมาเกิน 20 ปี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท