การวิเคราะห์ข้อมูลงานวิจัย


การวิเคราะห์ข้อมูล  ( Data  Analysis )  มีเป้าหมายเพื่อสรุปปัญหาที่ทำวิจัยไว้แล้วเป็นการพิสูจน์ความแท้จริงของข้อมูลที่เก็บรวบรวมมาใช้   และการตีความข้อมูล  ( Interpretation ) นั้นคือกระบวนการวิจัย  ( The  research  process ) เพื่อเรียนรู้อะไร  เพื่ออธิบาย  ( Explanation ) สิ่งที่ได้มาคืออะไร  และขยายความตามเหตุผลว่าทำไมจึงเป็นอย่างนั้น  เพื่อสรุปเป็นผลการศึกษาวิจัย

 

        การวิเคราะห์ข้อมูลตามมุมคิดของรัตนะ  บัวสนธ์ ( 2552 : 135-144 ) กล่าวไว้ทำนองว่า...คำถามแรกสุดที่นักวิจัยต้องตอบให้ได้คือข้อมูลเป็นแบบใด..?  มี 2 อย่างคือ ข้อมูลเชิงคุณภาพ  ( Qualitative  data ) และข้อมูลเชิงปริมาณ  ( Quantitative  data )

 

        ข้อมูลเชิงคุณภาพ เป็นข้อมูลเฉพาะที่เกี่ยวกับมนุษย์ที่ไม่สามารถอธิบายได้เฉพาะหน้าในขณะนั้น  เช่น  ความรู้สึกนึกคิด  ความเชื่อ  ประเพณี  วิถีการดำเนินชีวิต  ลัทธิการปฏิบัติตนของกลุ่มคน  มีความหมายแฝงอยู่  ต้องรู้จักจึงอธิบายความเร้นลับนี้ได้

 

        ข้อมูลเชิงปริมาณ  เป็นข้อมูลตรง  นับเป็นจำนวนได้  เช่น  จำนวนประชากรในหมู่บ้านนี้  อายุของกลุ่มชนนี้  เป็นต้น

        การวิเคราะห์เชิงคุณภาพ  อาจเป็นข้อมูลเกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางสังคมหรือปรากฏการณ์อื่น ๆ   เป็นการมุ่งอธิบายถึงความสัมพันธ์ของปรากฏการณ์ ( ตัวแปร ) มีเงื่อนไขว่า...

1 . การวิเคราะห์ข้อมูลเริ่มทำไปพร้อม ๆ กับการเก็บข้อมูล 

2 . ต้องมีข้อมูลจากมุมมองของคนใน

3 . ต้องอาศัยสมมุติฐานชั่วคราว

4 . ผู้วิจัยต้องเป็นผู้วิเคราะห์ข้อมูลด้วยตนเอง

เงื่อนไขแรก  ต้องยำข้อมูลค้นหาประเด็นที่ทำการวิจัยเป็นการมาวิเคราะห์  ตีความและสรุปไว้ตรวจสอบแล้วตรวจสอบอีกจนได้ความแน่ชัดในข้อมูลที่ได้มา

เงื่อนไขที่สอง  เป็นข้อมูลมุมคิดของคนใน  ( คิดอย่างคนในกลุ่มนั้นคิด ) ข้อพึงระวัง  การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพต้องไม่มีมุมมองจากคนนอก ( อย่าใส่ความคิดให้คนใน )

เงื่อนไขที่สาม  อย่าด่วนสรุปเพราะข้อมูลที่ได้ในเชิงคุณภาพแต่ละช่วงเวลามีเท้าเดินได้  จนแน่ใจแล้วบันทึกไว้เป็นข้อมูล 

เงื่อนไขท้ายสุด  ผู้รวบรวมข้อมูลหลักคือผู้วิจัยเองนั้นละที่ต้องวิเคราะห์เองสรุปเอง  เออเอง

        ขั้นตอนการวิเคราะห์ข้อมูล

1 . การตรวจสอบข้อมูล  สำหรับการวิจัยเชิงคุณภาพ  ใช้การตรวจสอบแบบสามเส้า คือ

1 ) ด้านข้อมูล  เพื่อดูความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด

2 . ด้านผู้วิจัย  เพื่อดูความเป็นกลางไม่ลำเอียง  ดูจากนักวิจัยอื่น ๆ ที่ทำร่วมกันตรวจสอบข้อมูล

3 . ด้านทฤษฎี  เพื่อยืนยันว่าแนวคิดทฤษฎีใดถูกต้องบ้าง

        สำหรับการวิจัยทางไทยคดีศึกษานั้นเน้นไปเชิงคุณภาพและไม่นิยมใช้การวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติ  ตามมุมคิดของณรงค์  โพธิ์พฤกษานันท์ ( 2551 : 223-224 ) ได้กล่าวถึงการวิเคราะห์ข้อมูลโดยไม่ใช้สถิติ ทำนองนี้ ดังนี้

1 . การวิเคราะห์เอกสาร  ( Documentary  Analysis ) ใช้ในการวิจัยเอกสารและวิเคราะห์เกี่ยวกับเนื้อหา  ( content ) ในเอกสาร

2 . การวิเคราะห์โดยสังเกต  โดยสังเกตพฤติกรรม / เหตุการณ์ที่อยู่ในสังคมแล้วผู้วิจัยแปลความหมายเอง  สรุปความเอง วิเคราะห์เอง

        การวิเคราะห์ข้อมูลของการวิจัยเชิงคุณภาพทางด้านสังคมศาสตร์นั้นต้องมีการเชื่อมโยงความรู้อื่น ๆ ดังนี้

1 . ความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์

2 . ความรู้ด้านชุมชน  สังคม  วัฒนธรรม

3 . ความรู้ทางปรัชญาและศาสนาเพื่ออธิบายสรุปนามธรรมจากข้อมูลที่ปรากฏในรูปธรรมได้ด้วย

หมายเลขบันทึก: 492737เขียนเมื่อ 28 มิถุนายน 2012 13:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2012 22:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท