KM00105 : เข้าใจบริบทผ่าน "ไซอิ๋ว"


การเข้าใจเรื่องบางเรื่องโดยเฉพาะ "บริบท" ของเรื่อง เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะหากมุ่งแค่ "เนื้อหา" ก็อาจเดินผิดทาง และไม่ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง

ในบรรดาวรรณกรรมของจีนมีอยู่ ๔ เรื่องที่ถูกยกย่องให้เป็นวรรณกรรมที่ยิ่งใหญ่ ได้แก่ สามก๊ก ซ้องกั๋ง (๑๐๘ ผู้กล้าหาญแห่งเขาเหลียงซาน) ความรักในหอแดง และสุดท้ายคือ ไซอิ๋ว ทั้ง ๔ เรื่องต่างมีความโดดเด่นในแต่ละด้าน สำหรับสามก๊กผมคงไม่ต้องบรรยายมาก เพราะแทบจะรู้จักกันดี ๑๐๘ ผู้กล้าหาญแห่งเขาเหลียงซาน ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนต์หลายตอน เป็นเรื่องราวของการต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมของขุนนางที่ปกครองบ้านเมือง ส่วนความรักในหอแดง ก็เป็นเรื่องราวของความรักที่ถูกกีดกัน และมีการนำมาสร้างเป็นภาพยนต์เช่นกัน

การเดินทางไปนำพระไตรปิฎกของ "พระถังซำจั๋ง" และลูกศิษย์ทั้ง ๓ คือ เห้งเจีย (ลิง) ตือโป๊ยก่าย (หมู) และซัวเจ๋ง (ปีศาจปลา) ก็เป็นอีกเรื่องที่ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนต์ จะว่ามากที่สุดก็ว่าได้ และมีให้เห็นกันหลาย VERSION แม้แต่การ์ตูน "Dragonball" ก็นำตัวละครหลายตัวในเรื่องนี้ไปใช้ หากมองกันแค่ความสนุกสนานของเรื่อง "ไซอิ่ว" คงไม่ขึ้นทำเนียบ "วรรณกรรมที่ยิ่งใหญ่ของจีน" แน่ ดังนั้นจึงต้องมีบางอย่างที่ต้องมากกว่าความสนุกที่แฝงไว้ในวรรณกรรมอย่างเป็นแน่ สิ่งนั้นอาจเรียกได้ว่าเป็น "บริบท" ของเรื่องอย่างแท้จริง

ผมได้อ่าน "ไซอิ๋ว" ที่เขียนและเรียบเรียงโดย "ชาญ วงศ์สัตยนนท์" เมื่อหลายปีมาแล้ว วันนี้ลองหยิบขึ้นมาอ่านอีกครั้ง เลยพอทำให้รู้ได้ว่าทำไม "ไซอิ๋ว" จึงกลายเป็นวรรณกรรมที่ยิ่งใหญ่ ตอนเด็กๆ ผมดูภาพยนต์หรืออ่านการ์ตูนเรื่องนี้ ต้องยอมรับว่ามันสนุกจริงๆ ครับ โดยเฉพาะความเก่งกาจของเห้งเจียกับกระบองวิเศษ ที่ดูเหมือนจะไม่มีใครเอาชนะได้ "ไซอิ๋ว" แต่งขึ้นประมาณปี ค.ศ. ๑๕๙๐ ช่วงราชวงศ์หมิง ประพันธ์โดย อู๋เฉิงเอิน ซึ่งจริงๆ ผู้ประพันธ์มีเจตนาที่จะ "สอนหลักธรรม" ผ่านทางนิทานทางศาสนา

การเดินทางไปนำพระไตรปิฎกของ "พระถังซำจั๋ง" จึงเปรียบเสมือน การมุ่งสู่ "พระนิพพาน" อันเป็นจุดมุ่งหมายหลักของศาสนาพุทธ เห้งเจีย ว่องไว ฤทธิ์มาก เปรียบได้กับ "ปัญญา" ที่หากจะเกิดได้ต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการควบคุมและปฏิบัติ ตือโป๊ยก่าย เป็นหมู ปากยาว หูยาว จ้องแต่จะกิน พูดนินทา หรือฟังเรื่องคนอื่น ต้องใช้ "ศีล" ในการกำกับ ส่วนซัวเจ๋ง เป็นปีศาจปลา อยู่ในน้ำสงบนิ่ง เปรียบได้ดัง "สมาธิ" สรุปคือ ต้องใช้ ศีล สมาธิและปัญญา เป็นสำคัญในการเดินทางสู่เป้าหมายสูงสุดของพุทธศาสนา ปีศาจต่างๆ ในเรื่องนั้นจึงเปรียบเสมือน "อุปสรรค" นั่นคือ "กิเลส" ต่างๆ หรือเป็น "อวิชชา" ที่จะปิดกั้นไม่ให้มุ่งสู่จุดหมายสำเร็จ ต้องขอบคุณหนังสือ "ไซอิ๋ว" ของคุณ "ชาญ วงศ์สัตยนนท์" ที่ทำให้เข้าใจ "บริบท" มากกว่า "เนื้อหา"

วันนี้เขียนเรื่องนี้ เพราะยากชี้ให้เห็นว่าการเข้าใจเรื่องบางเรื่องโดยเฉพาะ "บริบท" ของเรื่อง เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะหากมุ่งแค่ "เนื้อหา" ก็อาจเดินผิดทาง และไม่ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง ทั้งนี้คงไม่ใช่แค่เรื่อง "ไซอิ๋ว" ที่นำมาเป็นตัวอย่าง หากแต่การกระทำเรื่องใดๆ หากพยายามเข้าใจใน "บริบท" ของเรื่องนั้นย่อมได้รับประโยชน์จากการกระทำนั้นอย่างเต็มที่ ผมมีโอกาสไปพูดหลายที่ในเรื่องวิธีคิดที่ดี ควรต้องเข้าใจ "บริบท" มากกว่า "เนื้อหา" นี่ก็อาจเป็นตัวอย่างหนึ่งได้ครับ

 

คำสำคัญ (Tags): #km
หมายเลขบันทึก: 492431เขียนเมื่อ 25 มิถุนายน 2012 21:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 มิถุนายน 2012 21:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท