ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร


ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร

วันก่อนพานักศึกษาแพทย์เวชปฏิบัติ (ชั้นปีหก) ไปดูคนไข้ palliative care ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นระยะลุกลามแล้ว ได้ขอให้คนไข้สะท้อนสิ่งที่ชอบ สิ่งที่ไม่ชอบให้ฟัง ปรากฏว่าคนไข้หลายคนทีเดียว ที่สะท้อนได้น่าสนใจ เรียบง่าย และน่าฟัง

ลุงเป็นมะเร็งระยะลุกลาม แต่อาการไม่ค่อยมีเท่าไหร่ มารับยาเคมีบำบัด 

หมอ: "ลุงครับ พอดีวันนี้เรามีลูกหมอ (คือนักเรียนแพทย์) มาเรียนจากลุง ผมอยากจะให้เขาทราบว่าคนไข้ชอบ ไม่ชอบหมอแบบไหนบ้าง คุณลุงช่วยบอกให้เราหน่อยได้ไหมครับ"

ลุง: "พ้มจะไปสอนคุณหมอได้อย่างไง สอนไม่ได้หรอก" ก้มหน้าไปพักนึง แล้วก็เงยหน้าบอกว่า "ข้อหนึ่ง อย่าแหลงหยาบ (อย่าพูดไม่เพราะ)"

หมอ: "ใครพูดไม่เพราะกับลุงเหรอครับ"

ลุง: "ไม่ใช่ที่นี่หรอก ที่ข้างนอก ตอนนั้นผมไปเฝ้าภรรยา เตียงข้างๆมันว่าง ผมก็เลยไปนอนบนเตียงนั้น หมอมาเห็นเข้าก็ด่าผม พูดกันดีๆก็ได้"

"ข้อสอง อย่าแหลงลับหลัง (อย่าพูดลับหลัง)"

หมอ: "เรื่องอะไรเหรอครับ"

ลุง: "ทุกเรื่องแล มีอะไรพูดกันตรงๆ นี่มาเรียกเมีย เรียกลูกผมออกไป ซุบๆซิบๆ ก็เรื่องของผมทั้งนั้น ต้องมาถามทีหลังอีกว่าหมอพูดว่าอะไร มีอะไรก็พูดกับผมเลย ไม่ต้องอ้ำๆอึ้งๆ เสียเวลา ไม่ชอบ"

หมอ:"เค้าอาจจะคิดว่าลุงรับไม่ได้มั้งครับ"

ลุง: "รับได้สิ ก็เราเป็นเองของเรา รับไม่ได้ ใครจะรับได้ล่ะ"

"ข้อสาม บอกด้วยว่าจะทำไหรต่อ"

หมอ: "หมายถึงจะทำอะไรหรือไงครับ?"

ลุง: "จะรักษายังไงต่อ รออะไรอยู่ หมอไม่ค่อยอธิบายสักเท่าไหร่นะ ลุงจะได้วางแผน เตรียมตัวได้ไง"

คุณลุงคนนี้สุดยอด และกล้าพูด กล้าให้ความเห็น ผมว่าเป็นลักษณะแบบหนึ่งของคนใต้ ที่ตรงไปตรงมา แต่ที่ดีมากคือ คุณลุงบอกเป็นนัยเรื่องของศักดิ์ศรี เรื่องที่เราคุยนั้น เป็นชีวิตของแก แกต้องมีอะไรที่จะเตรียม จะทำ อีกหลายอย่าง เรามีหน้าที่บอกแกว่าถึงเวลาต้องเตรียมได้แล้ว แกจะได้ทำ และแกไม่ชอบให้เราไปซุบซิบๆกันกับญาติเรื่องของแก แกก็เห็นอยู่ทนโท่ว่าหมอมาดู แล้วก็เรียกญาติไปคุยข้างนอก ทำให้แกไม่แน่ใจว่าที่ญาติมาบอกนั้น บอกหมดหรือไม่ 

ให้คนไข้บอกเองว่ารู้สึกอย่างไร ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร ผมว่านักเรียนแพทย์จะได้ยินดีกว่าอาจารย์สอนในห้องเรียน

หมายเลขบันทึก: 491567เขียนเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 12:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 22:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

..หวังว่า..ในสังคมไทย..จะมี..คนกล้าพูด..ตรงๆ..(ไม่หวาดกลัว..กับคำว่า."ยก".ระดับความเป็นคนและความรู้)..อย่าง..คุณลุง..คนนี้....(ยายธี)

ลุงแกน่าจะเป็นครูจริงๆครับ ยายธี

เห็นด้วยกับคุณลุงเป็นอย่างยิ่งค่ะ

และใน practice จริงๆก็มีแบบที่คุณลุงไม่ชอบเยอะจริงๆด้วยครับ

เรียนอาจารย์สกล วันก่อนพูดคุยกับพยาบาลในทีม Palliative care ก็ได้ความเห็นว่า สิ่งที่เขาต้องการความร่วมมือจากแพทย์มากที่สุด คือ "การสื่อสารกับผู้ป่วย" โดยเฉพาะการตั้งเป้ารักษา เมื่ออ่านบันทึกนี้ จึงคิดถึง อุปสรรคต่อการเรียนรู้ communication skill ของแพทย์เราคือ "ไม่มี feedback" ไม่ว่าแพทย์จะพูดอย่างไร ผู้ป่วยเรามักสุภาพ เกรงใจ ไม่แสดงความรู้สึก แต่จะไปบอกพยาบาล ซึ่งพยาบาล ก็มักให้เกียรติแพทย์​ ไม่สามารถตักเตือนเช่นกัน . การที่ผู้ป่วยรายนี้ ได้ feedback กับอาจารย์แพทย์ จึงเป็นช่องทางที่ดี แต่ก็ไม่ถึงคนที่กระทำเอง ทำอย่างไรดี?

แสดงว่ามีความคลาดเคลื่อนหลายเรื่อง คนเราสุภาพได้ โดยยังคงความสามารถ assertive คือ "เรียกร้องและดูแลสิทธิ์" และคนเรายังคงให้เกียรติได้ โดยยังสามารถว่ากล่าวตักเตือน 

ก็ขึ้นกับว่าเราอยากจะแก้ที่ต้นเหตุหรือปลายทางครับ แน่นอน แก้ต้นเหตุยากกว่าเกือบจะ almost always แก้ปลายทางก็มักจะลงเอยอีรุงตุงนัง

อย่างคุณลุงคนนี้แกสุภาพนะ แต่เมื่อเราให้พื้นที่ สิ่งที่คุณลุงทำคือ assertive บ่งบอกว่าแกน่าจะมีสิทธิ์อะไรบ้าง หมอ/พยาบาล/รพ.ไม่น่าจะทำแบบนี้ๆนะ ผมคิดว่าที่มาคือความไม่เสแสร้งครับ

การ over-polite หรือสุภาพดูดีไปหมด จนขาด assertiveness นั้นเป็นเพราะ culture of keep-face หรือการกลัว "การเสียหน้า" เรียกว่าเสียหน้าเป็นจัดลำดับความสำคัญสูงสุดของเป้าหมายชีวิต แน่นอน ในการเรียนรู้อะไรก็ตาม อันดับแรกเราต้อง "เห็นและรับรู้" ว่า "เรานั้นยังพร่องอยู่" เราถึงจะไปปรับปรุงและเปลี่ยนแปลง การ over-polite ที่กลัวว่าคนนั้นๆจะเสีย self จะหน้าแตก หรือเรารู้สึกว่าเข้าไปในพื้นที่ของเขา (ทั้งๆที่ความเป็นจริงคือเขาเข้ามาในพื่นที่ของเรา แทบจะเหยียบตีนอยู่แล้ว ก็ยังคิดว่าเป็นพื้นที่เขาอยู่)

ก็ต้องถามว่าเราทำอะไรที่บ่งชี้ (ทั้งอย่างโจ่งแจ้งและ/หรือเป็นนัยยะ) ว่าเรานั้นไซร้กลัวเสียหน้า ถ้าคนไข้เห็นเราอาการหนัก แกก็จะดูแลเรา โดยการพยายามรักษาหน้าเราไว้ ตัวเขาเองจะทุกข์ก็นิดหน่อย พอทน วิธีการแก้ หรือ ป้องกันตรงนี้ หมอจะต้อง willing ที่แสดงออกว่าหมอก็เป็นคนธรรมดาๆ เสียหน้าได้ ห่วยได้ ไม่รู้ได้ ซึ่งในความเป็นจริง ยกเว้นความรู้ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่เราเรียนมาโดยตรงแล้ว อย่างอื่นพวกเราค่อนไปทางไร้เดียงสา หรือโง่เอามากๆด้วย ฉะนั้นก็ไม่ได้เป็นภาระหนักอะไรที่จะแสดงว่าเราไม่รู้อะไรบ้าง

เหมือนกัน สำหรับการให้เกียรติ กับการตักเตือน เกิดจากเราไปเชื่อมโยงอย่างผิดๆว่าการถูกเตือนเป็นการถูกปลดเกียรติออก (ตั้งแต่เมื่อไหร่?)

กัลยาณมิตรนั้นคือคนที่ "จะตักเตือน" แม้กระทั่งทราบอยู่แก่ใจว่าเขาอาจจะโกรธ/ไม่พอใจ แต่ถ้าไม่เตือน จะเกิดผลเสียมากกว่า กัลยาณมิตรจะ "กล้าเตือน กล้าบอก ถ้ามันควรเตือน ควรบอก" คนที่รับคำเตือนก็ควรจะฉลาดพอที่จะทราบว่าคนเหล่านี้นั้นหวังดี เขาไม่นินทาลับหลัง แต่กล้าเตือนต่อหน้า ก็น่าจะขอบคุณให้มากๆ แต่ถ้าหมอ "ออกอาการ" เวลาที่รู้น้อยกว่าคนอื่น ทำพลาด หรือว่าอะไรที่เสีย self ถ้าอาการนั้นๆรุนแรง เราก็จะทำให้คนกล้าเตือนน้อยลงๆ

แก้ที่ "สาเหตุ" จึงอยู่กับ "ตัวเรา" ซะเยอะ

ส่วนการแก้ปลายทางนั้น ผมก็ยกเป็นหน้าที่ของอาจารย์แพทย์ครับ อย่างที่ผมเล่าไป เราสามารถ "จัดพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว" ได้ง่ายพอควรในปริมณฑลของเรา สิ่งที่ทำก็เพียงแค่ empower ชาวบ้านให้สะท้อนความรู้สึกจริงๆ และให้นักเรียนแพทย์ได้มีโอกาสฟังสิ่งเหล่านี้เยอะๆ หลักสูตรทุกแห่งมี "การจัดประสบการณ์การเรียนการสอน" อยู่ใน med-ed อยู่แล้ว เราก็แค่สอดใส่เข้าไปตามวาระอันควรให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้แค่นั้นก็พอ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท