Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

บทที่ 2 พัฒนาการของอาเซียน


ข้อมูลอ้างอิง เอกสารประกอบการสอน รหัสวิชา 2000111 วิชาอาเซียนศึกษา (ASEAN Studies) 2555 โปรแกรมสังคมศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม

พัฒนาการการรวมตัวของกลุ่มประเทศแบบภูมิภาคนิยม ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

การรวมกลุ่มของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในระยะแรกเกิดขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเริ่มจากการก่อตั้งองค์การสนธิสัญญาป้องกันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (South East Asian Treaty Organization - SEATO) ในปี ค.ศ.1949 โดยมีสมาชิก 8 ประเทศ อันได้แก่ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ปากีสถาน ฟิลิปปินส์และไทย โดยมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อต่อต้านการแผ่ขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยหลักการยับยั้งทางการทหารควบคู่ไปกับการกระชับความมั่นคงและความร่วมมือด้านสังคม เศรษฐกิจและการศึกษาระหว่างกัน (พิษณุ  สุวรรณะชฏ, 2540:31) อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตว่า สมาชิก SEATO ทั้ง 8 ประเทศนั้น มีเพียงฟิลิปปินส์และไทยเท่านั้นที่มีดินแดนอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงทำให้ผลประโยชน์ร่วมกันของประเทศสมาชิกมีน้อยมากและเป็นสาเหตุหลักประการหนึ่งที่ทำให้ SEATO สลายตัวลงในปี ค.ศ. 1977 ในที่สุดเหตุผลอื่นที่ทำให้ SEATO ต้องล้มเลิกไปคือ การฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาที่ทำให้ความตึงเครียดทางการทหารในภูมิภาคฯ บรรเทาเบาบางลง ประกอบกับกิจกรรมต่างๆ ของ SEATO ก็เป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร (พิษณุ  สุวรรณะชฏ, 2540 : 32) เนื่องจากกิจกรรมใน SEATO ได้ถูกลดระดับลงและมีแนวโน้มที่จะปิดตัวลง

 

กลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อันได้แก่ สหพันธรัฐมาลายา ฟิลิปปินส์ และไทยได้ร่วมกันก่อตั้งสมาคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of Southeast Asia-ASA) ขึ้นในปี ค.ศ. 1961 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความก้าวหน้า ความเจริญทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นับได้ว่า Associate of Southeast Asia (ASA) เป็นองค์การระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งแรกที่ได้รับการก่อตั้งจากการริเริ่มของสมาชิกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ โดยในการริเริ่มของตนกู อับดุล ราห์มาน นายกรัฐมนตรีสหพันธรัฐมาลายาในสมัยนั้น อย่างไรก็ตามเพียงสองปีหลังการก่อตั้งก็เกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างฟิลิปปินส์และมาเลเซียในกรณีซาบาห์ (Sabah) ถึงแม้ว่าในปี 1966 ความสัมพันธ์ระหว่างฟิลิปปินส์กับมาเลเซียจะกลับคืนเข้าสู่สภาวะปกติในระดับหนึ่ง แต่ Associate of Southeast Asia (ASA) ก็ถูกมองว่าไม่สามารถดำเนินต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากการมีสมาชิกเพียงไม่กี่ประเทศในภูมิภาคฯ และถูกมองว่าเป็นเครื่องมือของสหรัฐอเมริกาในการต่อต้านการแผ่ขยายลัทธิคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคฯ ในท้ายที่สุด Associate of Southeast Asia (ASA) ก็ได้ยุติบทบาทลงในปี 2510 หลังการก่อตั้งอาเซียน (พิษณุ สุวรรณะชฏ, 2540 : 35-36)

 

อย่างไรก็ตามในช่วงเวลาเดียวกันในปี ค.ศ. 1963 ฟิลิปปินส์ได้ก่อตั้งองค์การกลุ่มประเทศ    มาฟิลินโด (Maphilindo) ซึ่งประกอบไปด้วย ประเทศมาเลเซีย ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย โดยมีวัตถุประสงค์ในการร่วมมือทางเศรษฐกิจ และการต่อต้านรัฐจักรวรรดินิยม แต่มาฟิลินโดก็ไม่สามารถดำรงสถานะเป็นองค์การระหว่างประเทศที่ถาวรได้ เนื่องจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างมาเลเซียกับฟิลิปปินส์เหนือ ดินแดนที่เรียกว่า ซาบาห์ ในเขตบอเนียวทางเหนือ ที่ทั้งฟิลิปปินส์และมาเลเซียต่างก็อ้างสิทธิครอบครอง ด้วยเหตุนี้เองฟิลิปปินส์จึงปฏิเสธการจัดตั้งสหพันธรัฐมาเลเซียที่มีการผนวกบอเนียว ซาราวัก มลายาและสิงคโปร์เข้าด้วยกัน และในที่สุดก็ตามมาด้วยการตัดสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันในเวลาต่อมา ในอีกด้านหนึ่ง ประเทศอินโดนีเซียโดยการนำของประธานาธิบดีซูการ์โน ได้มองการจัดตั้งสหพันธรัฐมาเลเซียว่าเป็นเครื่องมือของจักรวรรดินิยม ในขณะที่มาเลเซียก็มองว่าอินโดนีเซียยืนอยู่ข้างสาธารณรัฐประชาชนจีน และเป็นภัยต่อความมั่นคงในมาเลเซีย ในที่สุดประธานาธิบดีซูการ์โนแห่งอินโดนีเซียได้ประกาศนโยบายเผชิญหน้า (Confrontasi) เพื่อต่อต้านมาเลเซีย (Kan-Yang Malaysia) และลงเอยด้วยการระงับความสัมพันธ์ทางการทูตต่อกัน (พิษณุ  สุวรรณะชฏ, 2540 : 38-39)

                  

2.2 พัฒนาการของอาเซียน

 

ในช่วงกลางทศวรรษที่ 60 ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสถานการณ์การเมืองในหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น การที่นายพลซูฮาร์โตได้ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำอินโดนีเซียคนใหม่หลังเกิดกบฏคอมมิวนิสต์ในปี ค.ศ. 1965 และทำให้ซูการ์โนต้องลงจากตำแหน่ง การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ทำให้นโยบายต่างประเทศของอินโดนีเซียเปลี่ยนแปลงจากนโยบายนิยมจีนไปสู่นโยบายที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับประเทศฝั่งตะวันตกมากขึ้น เพื่อต่อต้านการแผ่ขยายของลัทธิคอมมิวนิสต์และรวมถึงการยกเลิกนโยบายเผชิญหน้ากับมาเลเซีย   ในขณะที่สิงคโปร์ได้ถอนตัวเองออกจากสหพันธรัฐมาเลเซีย เพื่อเป็นรัฐอิสระในปี 1965 และที่ฟิลิปปินส์ได้ ประธานาธิบดีคนใหม่ คือ เฟอร์ดินานด์  อี มาร์กอส ที่ได้พยายามสานสัมพันธ์กับมาเลเซียอีกครั้งหนึ่ง จากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายในประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ทำให้ความขัดแย้งระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บรรเทาลง และในขณะที่เกิดความตึงเครียดที่เพิ่มมากขึ้นจากกรณีสงครามอินโดจีน และการแผ่ขยายลัทธิคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนจากจีนหรือสหภาพโซเวียต ซึ่งถือว่าเป็นภัยคุกคามต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (พิษณุ  สุวรรณะชฏ, 2540 : 55-56)  และทำให้ผู้นำ 5 ชาติ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันได้แก่ ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียและสิงคโปร์ ตระหนักถึงความจำเป็นในการก่อตั้งองค์การในระดับภูมิภาคที่จะช่วยส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อต่อต้านภัยคุกคามต่างๆ ด้วยเหตุนี้เองอาเซียนจึงได้รับการสถาปนาขึ้นจากปฏิญญากรุงเทพ (The Bangkok Declaration) โดยประเทศผู้ก่อตั้งตกลงที่จะร่วมมือกันเพื่อเร่งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาและความก้าวหน้าทางสังคมและวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในขณะเดียวกันก็จะให้ความสำคัญกับการสร้างเสถียรภาพและสันติภาพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยปราศจากการแทรกแซงจากภายนอก (Gill, 1997 : 30) จำนวนสมาชิกของอาเซียนที่เริ่มจาก 5 ประเทศในปี ค.ศ. 1967 ก็ได้ขยายเป็น 6 ประเทศ  ในปี ค.ศ. 1989 เมื่อบรูไนได้รับเอกราชจากอังกฤษ และเมื่อสงครามเย็นจบลงในต้นทศวรรษที่ 90 เวียดนามได้เป็นสมาชิกอาเซียน ซึ่งเป็นครั้งแรกที่อาเซียนให้การยอมรับประเทศที่มีระบอบการปกครองแบบสังคมนิยมเข้าเป็นสมาชิก ต่อมาลาวและพม่าได้เข้ามาเป็นสมาชิกในปี ค.ศ. 1997 และกัมพูชาในปี ค.ศ. 1999[1]

 

สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East Asian Nations) หรือ อาเซียน เป็นองค์กรทางภูมิรัฐศาสตร์และองค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีประเทศสมาชิกทั้งหมด 10 ประเทศ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ บรูไน ลาว กัมพูชา เวียดนาม และพม่า โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อความร่วมมือในการเพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาสังคม วัฒนธรรมในกลุ่มประเทศสมาชิก และการธำรงรักษาสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค และเปิดโอกาสให้คลายข้อพิพาทระหว่างประเทศสมาชิกอย่างสันติ[2]  

 

สรุปเหตุการณ์สำคัญ

  • 8 สิงหาคม พ.ศ. 2510 ก่อตั้งอาเซียน (ASEAN) 5 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงค์โปร์ และไทย ประกาศปฏิญญากรุงเทพ (Bangkok Declaration)
  • พ.ศ. 2510 ปฏิญญาว่าด้วยเขตสันติภาพ อิสรภาพ และการวางตัวเป็นกลาง (ZOPFAN)
  • พ.ศ. 2519 สนธิสัญญาไมตรี และความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (TAC)
  • พ.ศ. 2522 ปีแรกที่มีการมอบางวัลซีไรท์แก่นักเขียนในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนที่กรุงเทพมหานคร
  • 8 มกราคม พ.ศ. 2527 บรูไนดารุสซาลามเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนลำดับที่ 6
  • พ.ศ. 2535 เขตการค้าเสรี (AFTA) และปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยทะเลจีนใต้
  • พ.ศ. 2537 มีการประชุมว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมือง และความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
  • พ.ศ. 2538 28 กรกฎาคม เวียดนามเข้าเป็นสมาชิกลำดับที่ 7 และ 15 ธันวาคม ลงสนธิสัญญาเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
  • พ.ศ. 2540 สนธิสัญญาเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีผลบังคับใช้ และ 23 กรกฎาคม ลาว และพม่าเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนพร้อมกัน

 

รวมทั้งผู้นำอาเซียนได้รับรองเอกสาร วิสัยทัศน์อาเซียน 2020 เพื่อกำหนดเป้าหมายว่าภายใน     ปีค.ศ. 2020 (2563) อาเซียนจะเป็น

 

1) วงสมานฉันท์แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ - A Concert of Southeast Asian Nations

2) หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาอย่างมีพลวัต - A Partnership in Dynamic Development

3) มุ่งปฏิสัมพันธ์กับประเทศภายนอก - An Outward-Looking ASEAN

4) ชุมชนแห่งสังคมที่เอื้ออาทร - A Community of Caring Societies

  • พ.ศ. 2542 วันที่ 30 เมษายน กัมพูชา เข้าเป็นสมาชิกลำดับที่ 10
  • พ.ศ. 2546 ตุลาคม ประชาคมอาเซียนได้เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการ (ข้อตกลงบาลี 2)

 

และในการประชุมผู้นำอาเซียนระหว่างวันที่ 7-8 ตุลาคม 2546 ที่บาหลี ผู้นำอาเซียนได้ตอบสนองต่อการบรรลุวิสัยทัศน์อาเซียนเพิ่มเติม โดยได้ลงนามในปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมืออาเซียน (Declaration of ASEAN Concord II หรือ Bali Concord II) เห็นชอบให้มีการจัดตั้ง ประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) ภายในปี พ.ศ. 2563 (ค.ศ. 2020) ประชาคมอาเซียนนี้จะประกอบด้วย 3 เสาหลัก (pillars) ได้แก่ ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political and Security Community–ASC) ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community-AEC) และประชาคมสังคม-วัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community-ASCC)

 

  • พ.ศ. 2547 ในระหว่างการประชุมผู้นาอาเซียน เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2547 ที่เวียงจันทน์ ผู้นำอาเซียนได้รับรองและลงนามเอกสารสำคัญที่จะวางกรอบความร่วมมือเพื่อบรรลุการจัดตั้งประชาคมอาเซียนต่อไป ได้แก่

 

1) แผนปฏิบัติการของประชาคมความมั่นคงอาเซียน

2) กรอบความตกลงว่าด้วยสินค้าสำคัญซึ่งจะช่วยเร่งรัดความร่วมมือด้านสินค้าและบริการ 11 สาขา (Wood-based products and automotives, Rubber-based products and textiles and apparels, Agro-based products and fisheries, Electronics, e-ASEAN and healthcare, Air Travel and tourism) ภายในปี ค.ศ. 2010 (พ.ศ. 2553)

3) แผนปฏิบัติการประชาคมสังคม-วัฒนธรรมอาเซียน

  • พ.ศ. 2549 23 กรกฎาคม ติมอร์ตะวันออกลงนามในความต้องการเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มอาเซียน
  • พ.ศ. 2550 ผู้นำอาเซียนลงนามรับรอง กฎบัตรอาเซียน
  • พ.ศ.2551

-          7 มกราคม ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ เป็นเลขาธิการอาเซียน (วาระ 5 ปี)

-          16 ตุลาคม ประเทศไทยได้รับมอบหมายจากประเทศสมาชิกอาเซียนให้เป็นเจ้าภาพจัดการประกวดแข่งขันคัดเลือก เพลงประจำอาเซียน

-          20 ตุลาคม ประเทศไทยไดรับมอบตำแหน่งประธานอาเซียน (หมดวาระ ธันวาคม 2552)

-          15 พฤศจิกายน ประเทศสมาชอกอาเซียนให้สัตยาบันต่อกฎบัตรอาเซียน

-          20 พฤศจิกายน คณะกรรมการจากกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน คัดเลือกเพลง The ASEAN Way ซึ่งเป็นผลงานของคนไทย เป็นเพลงประจำอาเซียน

-          15 ธันวาคม กฎบัตรอาเซียนมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ

  • พ.ศ. 2552 กุมภาพันธ์ ประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 14 (รับรองแผนงานการจัดตั้งประชาคมการเมือง และความมั่นคงอาเซียน ประชาคมสังคม และวัฒนธรรมอาเซียน)
  • พ.ศ. 2553 เขตการค้าเสรีอาเซียน - จีน มีผลบังคับใช้
  • พ.ศ. 2558 จัดตั้งประชาคมอาเซียน

 

ตราสัญลักษณ์ของอาเซียน

                        ตราสัญลักษณ์ของอาเซียนเป็นต้นข้าวสีเหลือง 10 ต้นมัดรวมกัน หมายถึง การร่วมมือร่วมใจเป็นหนึ่งเดียวกันในกลุ่มสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ 

 

ดังคำขวัญ

 

"หนึ่งวิสัยทัศน์ หนึ่งเอกลักษณ์ หนึ่งประชาคม"

 (One Vision, One Identity, One Community)

 

-          สีน้ำเงิน หมายถึง สันติภาพและความมั่นคง

-          สีแดง หมายถึง ความกล้าหาญและความก้าวหน้า

-          สีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์

-          สีเหลือง หมายถึง ความเจริญรุ่งเรือง

 

2.2.1 วิถีอาเซียน (ASEAN Way)[3]

 

ความสำเร็จในระดับหนึ่งของความร่วมมือในอาเซียนตลอดระยะเวลา 30 ปีแรก ของการก่อตั้งอาเซียน เกิดจากพฤติกรรมทางการเมืองระหว่างประเทศในอาเซียนที่มีลักษณะพิเศษนอกเหนือไปจากธรรมเนียมปฏิบัติทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งรวมถึงสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia – TAC)

เช่น การเคารพอธิปไตยและไม่แทรกแซงกิจกรรมของประเทศอื่น การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้วยวิธีการสันติ และหลีกเลี่ยงการใช้กลังต่อกัน (Nischalke, 2000 : 90) และทำให้ในช่วงทศวรรษที่ 90 ประเทศสมาชิกอาเซียนได้ยอมรับวิถีทางแห่งการดำเนินการทางการทูตระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนามของ ASEAN Way ที่บ่งบอกถึงลักษณะทางวัฒนธรรมทางการทูตที่คล้ายเคียงกันของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งประกอบไปด้วย ลักษณะที่สำคัญ 3 อย่าง (Beeson, Mark, 2004 : 221-223)

 

ประการแรก ประเทศสมาชิกอาเซียน จะให้ความเคารพในอนาจอธิปไตยของประเทศสมาชิกและจะดเนินการในทุกวิถีทางเพื่อให้มั่นใจว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นี้จะเป็นอิสระจากการแทรกแซงของประเทศมหาอนาจนอก ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และจะไม่มีการแทรกแซงกิจการภายในของประเทศสมาชิก แม้กระทั่งในกฎบัตรอาเซียนที่ได้รับการลงนามใน ปี 2007 ในโอกาสครบรอบ 40 ปี อาเซียนก็ยังคงไว้ซึ่งหลักการไม่ยุ่งเกี่ยวกับกิจการภายในประเทศสมาชิก โดยได้ระบุไว้ในหัวข้อ e มาตรา 2 ของกฎบัตรอาเซียน

 

หลักการประการที่สองของวิถีอาเซียนและเป็นลักษณะพิเศษในวัฒนธรรมทางการทูตในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ การให้ความสคัญกับการปรึกษาหารือ และการเห็นพ้องต้องกันในการตัดสินใจของอาเซียน หลักการนี้มาจากภาษาอินโดนีเซีย Musyawarah (การปรึกษาหารือ) และ Mufakat (การเห็นพ้องต้องกัน) ซึ่งหมายความว่า ประเด็นการตัดสินใจร่วมกันใดๆก็ตาม ประเทศสมาชิกทั้งหมดต้องเห็นพ้องต้องกันจึงจะถือว่าเป็นมติหรือข้อตกลงอาเซียน

ในขณะเดียวกันดูเหมือนว่าสมาชิกอาเซียนจะไม่ชอบเรื่องใดๆที่จะก่อให้เกิดความประหลาดใจในที่ประชุมระดับผู้นำประเทศ ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งหรือเกิดการเสียหน้าของผู้นำคนหนึ่งคนใด จึงจำเป็นต้องมีการติดต่อสื่อสาร  ประชุมและปรึกษาหารือในระดับเจ้าหน้าที่ รวมถึงการปรึกษาหารืออย่างไม่เป็นทางการระหว่างประเทศสมาชิกก่อนการนำเข้าสู่ที่ประชุมอย่างเป็นทางการของอาเซียน การดำเนินการเช่นนี้ก่อให้เกิดเครือข่ายความสัมพันธ์โดยเฉพาะในระดับข้าราการที่ในปีหนึ่งมีการประชุมร่วมกันถึง 230 ครั้ง (ประภัสสร์  เทพชาตรี, 2554 : 24) จึงกลายเป็นกลไกที่ทำให้ประเทศสมาชิกอาเซียนเกิดความรู้สึกเป็นครอบครัวเดียวกัน ทำให้บรรยากาศการประชุมเป็นไปด้วยดีมาโดยตลอด ในขณะที่การพบปะอย่างไม่เป็นทางการของรัฐมนตรีหรือผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน ในหลายครั้งเกิดขึ้นในสนามกอล์ฟหรือบนโต๊ะอาหาร และผลจากการพบปะหรือประชุมอย่างไม่เป็นทางการ ทำให้การประชุมอย่างเป็นทางการของสมาชิกอาเซียน โดยส่วนใหญ่เป็นแค่พิธีการ และจบลงด้วยบรรยากาศที่เป็นมิตรเสมอ

 

หลักการประการที่สามของวิถีอาเซียน คือ สมาชิกอาเซียนจะต้องใช้กลไกทางการเมืองไม่ใช่การทหารหรือใช้กลังในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกเหนือจากนั้น ความร่วมมือต่างๆในภูมิภาคอาเซียนจะเริ่มต้นจากการเจราจาในกรอบที่เป็นที่ยอมรับทางการเมือง หลังจากนั้นจึงจะมีการนเข้าสู่การเจรจาอย่างเป็นทางการ การพิจารณาประเด็นทางกฎหมายและเทคนิคอื่นๆ (Nischalke, 2000 : 91)

 

2.2.2 กฎบัตรอาเซียน (ASEAN CHARTER)

1. ความจำเป็นของการมีกฎบัตรอาเซียน

กฎบัตรอาเซียนเป็นเสมือนธรรมนูญของอาเซียน โดยเนื่องจากการรวมตัวของอาเซียนให้เป็นประชาคมอาเซียน จำเป็นที่จะต้องมีกรอบหรือพื้นฐานทางกฎหมายรองรับ เพื่อเป็นกฎเกณฑ์สําหรับประเทศสมาชิกที่จะต้องถือเป็นพันธกรณีร่วมกันที่ต้องปฏิบัติตาม (Legal Binding) หากฝ่าฝืนก็จะมีการลงโทษ

 

2. สาระโดยสรุปของกฎบัตรอาเซียน

2.1 กำหนดให้อาเซียนมีฐานะเป็นนิติบุคคล

2.2 กฎเกณฑ์และกระบวนการรับสมาชิก กําหนดให้ต้องเป็นประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจะต้องได้รับรองจากสมาชิกอาเซียนทั้งหมด

2.3 สมาชิกต้องยินยอมที่จะผูกพันตามกฎบัตรและปฏิบัติตามพันธกรณี และมีหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในกฎบัตรและความตกลงต่างๆของอาเซียน รวมถึงหน้าที่การออกกฎหมายภายในเพื่อรองรับพันธกรณี

2.4 องค์กร จะประกอบด้วย

           

  

 

  
  

องค์กร

  
  

องค์ประกอบ

  
  

อำนาจหน้าที่

  

1

ที่ประชุมสุดยอด

(ASEAN Summit)

ผู้นำ

กำหนดนโยบายและตัดสินใจในเรื่องสำคัญ   รวมถึงกรณีที่มีการละเมิดพันธกรณีตามกฎบัตรอย่างรุนแรง

2

คณะมนตรีประสานงานอาเซียน   (ACCs:   ASEAN Coordinating Council)

รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน

- เตรียมการประชุมผู้นำ

-   ประสานงานระหว่าง 3 เสาหลัก

3

คณะมนตรีประชาคมอาเซียน

(ASEAN   Community Council)

ผู้แทนที่ประเทศสมาชิกแต่งตั้งให้เป็นผู้รับผิดชอบในแต่ละเสาหลัก   (การเมืองความมั่นคง/เศรษฐกิจ/สังคมวัฒนธรรม)

ประสานงานและติดตามการทำงานตามนโยบายผู้นำ   โดยเสนอรายงานและข้อเสนอ

แนะต่อผู้นำ

4

องค์กรมนตรีเฉพาะสาขา

(ASEAN   Sectoral Ministerial Bodies)

รัฐมนตรีเฉพาะสาขา

-   นำความตกลง/มติของผู้นำไปปฏิบัติ

-   ให้ข้อเสนอแนะต่อคณะมนตรี AC

5

สำนักเลขาธิการอาเซียน

(ASEAN   Secretariat)

มีเลขาธิการอาเซียนเป็น

ผู้บริหาร

- เป็น Chief Administrative Officer ของอาเซียน

- ติดตามการปฏิบัติตามคำตัดสินของกลไกระงับข้อพิพาท

6

คณะผู้แทนถาวรประจำอาเซียน

(Committee   of Permanent

Representative:   PR)

ผู้แทนระดับเอกอัครราชทูต

ที่แต่งตั้งจากประเทศสมาชิก

ให้ประจำที่สำนักงานใหญ่

อาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา

เป็นตัวแทนของประเทศสมาชิก

7

สำนักงานเลขาธิการอาเซียน

แห่งชาติ

ตั้งอยู่ที่ประเทศสมาชิก

แต่ละประเทศ

ศูนย์รวมในการประสานงานและสนับสนุนภารกิจของอาเซียนในประเทศนั้นๆ

8

ศูนย์รวมในการประสานงานและสนับสนุนภารกิจของอาเซียนในประเทศนั้นๆ

(คณะทำงานระดับสูงจะยก

ร่าง TOR ขององค์กรต่อไป)

- ส่งเสริม/คุ้มครองสิทธิมนุษยชนในภูมิภาค ทั้งให้คำปรึกษา   ติดตามและประเมินสถานะสิทธิมนุษยชน

- ส่งเสริมการศึกษาและความตื่นตัวของหน่วยงานรัฐและประชาชน

9

มูลนิธิอาเซียน (ASEAN

Foundation)

 

เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับอาเซียน

และปฏิสัมพันธ์กับประชาชน

 

10

องค์กรที่มีความสัมพันธ์กับ

อาเซียน (Entities   Associated

with ASEAN)

ได้แก่องค์กรต่างๆที่อาเซียน

มีปฏิสัมพันธ์   มี   5 ประเภท

คือ องค์กรรัฐสภา   ภาคธุรกิจ

ภาคประชาสังคม   กลุ่ม

think-tank และภาค

การศึกษา

 

 

2.5 กระบวนการตัดสินใจ

(1) กรณีที่ไม่มีฉันทามติ อาจส่งเรื่องให้ผู้นำตกลงกันว่าจะใช้วิธีใดตัดสิน

(2) กรณีที่มีข้อตกลงอื่นๆของอาเซียน อนุญาตให้ใช้วิธีการอื่นตามที่กำหนดนั้นๆในการตัดสินใจ

(3) กรณีที่มีการละเมิดพันธกรณีตามกฎบัตรอย่างร้ายแรง ผู้นำมีอำนาจตัดสินใจด้วยวิธีการใดๆตามที่จะตกลงกันเพื่อกำหนดมาตรการลงโทษ

2.6 มีการให้ความยืดหยุ่นในการผูกพันตามข้อตกลงต่างๆ โดยใช้สูตร ASEAN minus X ซึ่งอนุญาตให้ประเทศที่ยังไม่พร้อมยังไม่ต้องเข้าร่วมความตกลงทางเศรษฐกิจได้

2.7 การบริหารงานและกระบวนการ

(1) กำหนดให้การมีประธานที่มาจากประเทศเดียว (Single Chairmanship) ครอบคลุม ASEAN Summit, ACCs, Committee of Permanent Representative

(2) การเพิ่มบทบาทประธานในการเป็นผู้ส่งเสริมผลประโยชน์อาเซียนของอาเซียนและผลักดันการสร้าง AC, ส่งเสริมความเป็นศูนย์กลางของอาเซียนในแง่การนำนโยบายอาเซียนไปผนวกในนโยบายระดับชาติของรัฐสมาชิก ฯลฯ

 

 

2.2.3 กลไกการทำงานของอาเซียน   กลไกการทำงานของอาเซียนมีดังต่อไปนี้[4]

 

  1. การประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) เป็นกลไกการบริหารสูงสุด โดยเป็นการประชุมระดับผู้นำอาเซียน ทำหน้าที่กำหนดนโยบายและแนวทางความร่วมมือต่างๆ มีการประชุมทุกปี
  2. การประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียน (ASEAN Ministerial Meeting-AMM) เป็นการประชุมประจำปี เพื่อกำหนดแนวทางระดับนโยบายและทบทวนข้อตัดสินใจต่างๆ
  3. การประชุมระดับรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Ministers Meeting- AEM) เป็นการประชุมประจำปีของรัฐมนตรีที่ดูแลด้านเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก
  4. การประชุมรัฐมนตรีด้านอื่นๆ (Other ASEAN Ministers’ Meeting) ซึ่งจัดขึ้นตามความจำเป็น และเพื่อเร่งรัดการทำงานของคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องรวมทั้งหารือเกี่ยวกับโครงการความร่วมมือด้านต่างๆ เช่นการเกษตรและป่าไม้ การศึกษา สวัสดิการสังคม แรงงาน เป็นต้น
  5. การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส (Senior Officials Meeting-SOM) โดยแยกเป็นเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการเมือง เศรษฐกิจ และเฉพาะด้าน เช่นพัฒนาสังคม วัฒนธรรมและสนเทศ สิ่งแวดล้อม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ฯลฯ
  6. คณะกรรมการประจำอาเซียน (ASEAN Standing Committee-ASC) เป็นการประชุมระดับอธิบดีอาเซียนของแต่ละประเทศ ทุก 2 เดือน เพื่อติดตามความคืบหน้าและแก้ไขปัญหาในโครงการความร่วมมือต่างๆ
  7. เลขาธิการอาเซียน (ASEAN Secretariat) เป็นหน่วยงานบริหารกลางขององค์การ มีเลขาธิการอาเซียนเป็นหัวหน้าสำนักงาน ได้รับการคัดเลือกจากประเทศสมาชิกให้ดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี และมีรองเลขาธิการอาเซียน 2 คน ดำรงตำแหน่งคราวละ 3 ปี สำนักงานตั้งอยู่ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย
  8. สำนักงานอาเซียนแห่งชาติ (ASEAN National Secretariat) คือกรมอาเซียนในกระทรวงการต่างประเทศของแต่ละประเทศสมาชิก ทำหน้าที่ประสานงานกับส่วนราชการต่างๆ ภายในประเทศสมาชิกอื่นๆ รวมทั้งสำนักเลขาธิการอาเซียนในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ

            


[1] ที่มา: สุวิชา เป้าอารีย์ “วิถีอาเซียนกับการจัดตั้ง AFTA 1Way of establishing the ASEAN and AFTA” ใน วารสารร่มราชพฤกษ์. ปีที่ 29 ฉบับที่ 2 กุมภาพันธ์ - พฤษภาคม 2554 ฉบับวาระอาเซียน (ASEAN ISSUES). กรุงเทพฯ. ศูนย์ส่งเสริมวิจัยและผลิตตำรา มหาวิทยาลัยเกริก. 2554, หน้า 2-21.

 

[2] ความประสงค์ของการจัดตั้งกลุ่มอาเซียนขึ้นมาเกิดจากความต้องการสภาพแวดล้อมภายนอกเพื่อที่ผู้ปกครองของประเทศสมาชิกจะสามารถมุ่งความสนใจไปที่การสร้างประเทศ ความกังวลต่อการแพร่ขยายของลัทธิคอมมิวนิสต์ร่วมกัน ความศรัทธาหรือความเชื่อถือต่อมหาอำนาจภายนอกที่เสื่อมถอยลงในช่วงพุทธทศวรรษ 2500 รวมไปถึงความต้องการการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ การจัดตั้งกลุ่มอาเซียนมีวัตถุประสงค์แตกต่างจากสหภาพยุโรป เพราะกลุ่มอาเซียนถูกสร้างขึ้นเพื่อสนับสนุนความเป็นชาตินิยม (Wikipedia)

[3] ที่มา: สุวิชา เป้าอารีย์ “วิถีอาเซียนกับการจัดตั้ง AFTA 1Way of establishing the ASEAN and AFTA” ใน วารสารร่มราชพฤกษ์. ปีที่ 29 ฉบับที่ 2 กุมภาพันธ์ - พฤษภาคม 2554 ฉบับวาระอาเซียน (ASEAN ISSUES). กรุงเทพฯ. ศูนย์ส่งเสริมวิจัยและผลิตตำรา มหาวิทยาลัยเกริก. 2554, หน้า 2-21.

หมายเลขบันทึก: 491557เขียนเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 10:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 กันยายน 2012 13:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท