หนึ่งคณะหนึ่งชุมชน : AAR ท่าม่วง (ชุมชนอักษรโบราณ) ก่อนการขับเคลื่อนและต่อยอดครั้งใหม่


สองปีที่ผ่านมานั้น กิจกรรมดังกล่าวก่อเกิดเป็นพลังของการสร้างชุมชนอยู่มากโข เป็นการผนึกกำลังของ “บ้าน-วัด-โรงเรียน” ได้อย่างลงตัว จนปัจจุบันชุมชนได้มุ่งมั่นในการจะจัดตั้งหลักสูตรท้องถิ่นและศูนย์การเรียนรู้ชุมชน โดยใช้ “ใบลาน” เป็นประเด็นของการจุดประกาย

วันที่ 12 มิถุนายน 2555 ที่ผ่านมา  ผมมีโอกาสได้ร่วมเดินทางไปประชุม ณ อบต.ท่าม่วง อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด

การประชุมดังกล่าว เป็นการประชุมร่วมระหว่างโครงการอนุรักษ์ใบลานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมกับภาคส่วนชุมชนท่าม่วง ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจาก อบต. ผู้แทนจากโรงเรียนในท้องถิ่น ผู้แทนฝ่ายสงฆ์ ปราชญ์ชาวบ้าน และคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด

การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมร่วมเพื่อต่อยอดโครงการ “สร้างชุมชนต้นแบบด้านการอนุรักษ์เอกสารโบราณ ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมท้องถิ่นเพื่อส่งเสริมให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชนท่าม่วงฯ ปีที่ 3"  โดยก่อนหน้านั้นมหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยโครงการอนุรักษ์ใบลานภาคตะวันออกเฉียงเหนือและพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยฯ จัดกิจกรรมบริการวิชาการควบคู่กับการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมในชุมชนแห่งนี้มาแล้ว 2 ปีต่อเนื่อง  เช่น

  • อนุรักษ์ใบลาน
  • อบรมมัคคุเทศก์น้อยและสร้างแกนนำเยาวชนรักวัฒนธรรม
  • ฝึกการอ่าน การเขียนอักษรธรรมและอักษรโบราณให้แก่เยาวชน
  • ปริวรรตใบลานสู่การชำระประวัติศาสตร์ท้องถิ่น
  • แปลตำรายาจากใบลาน
  • แห่พระธรรมในห้วงบุญเดือน 3
  • เขียนป้ายชื่อถนน ซอยในชุมชนด้วยอักษรโบราณ
  • ปลูกต้นลาน
  • ฯลฯ

 

 

 

AAR : จุดอ่อนจุดแข็งในครั้งที่ผ่านมา>>>

เบื้องต้นต้องยอมรับว่าสองปีที่ผ่านมานั้น  กิจกรรมดังกล่าวก่อเกิดเป็นพลังของการสร้างชุมชนอยู่มากโข  เป็นการผนึกกำลังของ “บ้าน-วัด-โรงเรียน” ได้อย่างลงตัว  จนปัจจุบันชุมชนได้มุ่งมั่นในการจะจัดตั้งหลักสูตรท้องถิ่นและศูนย์การเรียนรู้ชุมชน โดยใช้ “ใบลาน” เป็นประเด็นของการจุดประกาย


ผมชื่นชอบกระบวนการของวันนี้อยู่มากเหมือนกัน  เพราะแทนที่จะพูดถึงเรื่องราวที่จะทำขึ้นใหม่ในปีนี้อย่างตรงไปตรงมา  แต่ทีมงานจากมหาวิทยาลัยฯ กลับค่อนข้างใจเย็น พยายามชวนให้ทุกคนในเวทีแห่งนั้นได้ร่วมใจ "ทบทวน” การดำเนินงานในรอบสองครั้งที่ผ่านมา

  • ซึ่งนั่นก็คือกระบวนการอันสำคัญของการจัดการความรู้ หรือที่เรียกว่า AAR (After  Action  Review)


ถึงแม้จะเป็นการ AAR ที่ไม่สดนัก แต่จากการสะท้อนแนวคิด หรือข้อมูลต่างๆ นั้นก็ถือว่ามีความแจ่มชัดอยู่มาก –

  • แจ่มชัดราวกับกิจกรรมต่างๆ เพิ่งยุติลง ซึ่งจริงๆ  แล้วสิ่งที่สะท้อนออกมานั้น  อาจกำลังบอกเล่าให้รู้ว่า “สิ่งที่มหาวิทยาลัยเคยได้ขับเคลื่อนไว้นั้น  ปัจจุบันชาวบ้านก็ยังคงขับเคลื่อนอยู่อย่างต่อเนื่องด้วยเหมือนกัน”

 

 

สำหรับประเด็นที่เกี่ยวกับ “จุดอ่อน” การดำเนินงานในรอบที่ผ่านมานั้น  ผู้เข้าร่วมประชุมได้สะท้อนออกมาอย่างเป็นมิตรด้วยประเด็นหลักๆ คือ

  • รูปแบบการสอนทักษะการอ่านการเขียนอักษรโบราณยังไม่หลากหลายพอ ทำให้นักเรียนรู้สึกไม่สนุกกับการเรียนรู้
  • คนรุ่นใหม่ใน อบต. ขาดความรู้ในเรื่องอักษรโบราณที่ปรากฏในใบลานของชุมชน

 

ขณะที่ “จุดแข็ง” ของการดำเนินงาน ก็สะท้อนออกมาด้วยเช่นกัน คือ

  • มีกิจกรรมหลากหลายให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้ทั้งในชั้นเรียนและนอกชั้นเรียน (ภายในชุมชน)
  • มีกิจกรรมทัศนศึกษาแหล่งประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในจังหวัดใกล้เคียง
  • คนสอนการอ่าน การเขียนอักษรโบราณจากมหาวิทยาลัยฯ มีความเป็นกันเองกับผู้เรียน
  • มีกิจกรรมหนุนเสริมการเรียนรู้ร่วมกันหลายกิจกรรม เช่น ปลูกต้นลานในป่าดงหัน  แห่พระธรรม  แปลตำรายาจากใบลาน จัดทำป้ายชื่อถนนและซอยในชุมชนด้วยอักษรโบราณ เขียนผ้าผะเหวด ชำระประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจากใบลานในชุมชน

 

 

 

แชร์หมุดหมายสู่การขับเคลื่อนและต่อยอด>>>


หลังกระบวนการ AAR เสร็จสิ้นลง  เวทีการประชุมก็นำเข้าสู่ประเด็นของการโสเหล่เพื่อกำหนดรูปแบบกิจกรรมที่จะจัดขับเคลื่อนขึ้นใหม่ หรือต่อยอดในห้วงเดือนมิถุนายน-กันยายน 2555  ซึ่งต่างมีมุมมองที่สอดคล้องกันทั้งจากชุมชนและมหาวิทยาลัย  เช่น

  • พัฒนาศักยภาพของชุมชนรองรับการเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวัฒนธรรม (ใบลาน) ทั้งในมิติของชาวบ้าน ผู้รู้ (ปราชญ์) เด็ก เยาวชน นักวิชาการภายในพื้นที่
  • จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้/พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น (ที่มีชีวิต) โดยในระยะแรกเน้นการให้ความรู้แก่ชาวบ้านในเรื่องความสำคัญและการบริหารจัดการ ตลอดจนการจัดทำฐานข้อมูลอันเป็น “มรดกวัฒนธรรม”
  • ยกระดับการอ่านการเขียนอักษรโบราณสู่การเป็น “หลักสูตรท้องถิ่น”
  • สร้างแกนนำเด็กและเยาวชนรักวัฒนธรรมให้เข้มแข็ง
  • จัดกิจกรรมทัศนศึกษาที่มุ่งเน้นการหันกลับมาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและชุมชนท่าม่วงเป็นที่ตั้ง
  • ถอดและแปลตำรายา รวมถึงประวัติศาสตร์ท้องถิ่นผ่านใบลานที่ปรากฏในชุมชน

 

 

มุมมองของผู้สังเกตการณ์>>>


บังเอิญในห้วงหนึ่งของการโสเหล่นั้น  ผมได้รับเชิญให้แสดงความคิดเห็นร่วมกับผู้คนในเวที  ซึ่งผมก็ได้สะท้อนทัศนะของตนเองไปอย่าง “จริงจังและจริงใจ”  ในหลายประเด็นทำนองว่า

  • ควรจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่หลากรูปแบบ เน้น “บันเทิง เริงปัญญา” ด้วยกลไกการบูรณาการ  เช่น นำศิลปะแขนงต่างๆ มาหนุนเสริม อาทิ การร้องสรภัญญะ การวาดภาพ การแต่งกลอน การเล่านิทาน จะโดยภาษาไทยโดยตรงแล้วค่อยพลิกไปสู่อักษรโบราณก็ได้ เพื่อผ่อนคลายให้กับผู้เรียน
  • ในกระบวนการเรียนการสอนอักษรโบราณนั้น ควรผนึกกำลังการสอนทั้งจากมหาวิทยาลัย นักวิชาการอิสระ  ปราชญ์ในชุมชน  หรือแม้แต่แกนนำเด็กและเยาวชนก็สามารถถ่ายทอดร่วมกันได้
  • พัฒนาให้บุคลากรใน อบต.มีความรู้ในเรื่องอักษรโบราณ หรือการเก็บรักษาใบลาน รวมถึงทำแผนยุทธศาสตร์รองรับ
  • จัดทำวิจัยเทคนิคการสอนและการออกแบบหลักสูตรท้องถิ่นในการอ่านการเขียนอักษรโบราณร่วมกันทั้งจากมหาวิทยาลัย นักวิชาการอิสระและผู้คนในท้องถิ่น หรือชุมชนนั้นๆ
  • พัฒนาครูต้นแบบในการสอนหลักสูตรท้องถิ่นที่ว่าด้วยการอ่านและการเขียนอักษรโบราณ
  • ทำความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏ เพื่อให้ก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งกับการเรียนรู้และบริการวิชาการแก่สังคมร่วมกับมหาวิทยาลัยและชุมชนท่าม่วง
  • เตรียมความพร้อมชุมชน เพื่อรองรับการเติบโตเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ผ่านกระบวนการทางการศึกษา และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ซึ่งอาจมีผลกระทบทั้งเชิงลบ-เชิงบวกในมิติของสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม

 

 

บทสรุป>>>


ครับ-นอกจากนั้น ผมยังแสดงทัศนะเกี่ยวกับการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์/ศูนย์เรียนรู้อย่างตรงไปตรงมาว่า  ในปีนี้งบประมาณอาจไม่สามารถทำดำเนินการในเชิงโครงสร้างอาคารใดๆ ได้  แต่ชุมชนอาจต้องวิเคราะห์ตนเองว่ามีศักยภาพ หรือความพร้อมในเรื่องเหล่านี้แค่ไหน  โดยระยะแรกนี้อาจเน้นที่การสร้างองค์ความรู้และจัดทำฐานข้อมูลไว้ให้เป็นรูปธรรมเสียก่อนก็ได้

และท้ายที่สุดแล้ว ภายหลังได้ความชัดเจนในเรื่องหมุดหมายการทำงานว่าจะมีกิจกรรมอะไรบ้าง  ที่ประชุมมอบหมายให้มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จัดทำแผนการขับเคลื่อนกิจกรรมอีกรอบ เพื่อนำมาหารือร่วมกับชาวบ้านกันอีกซักครั้ง ซึ่งผมก็มองว่าไม่น่าจะยากเย็นอะไร  ก่อนสัญจรลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมชม “ต้นลาน” ที่เคยปลูกไว้เมื่อปีที่แล้วในป่าดงหัน-

 


นี่คือกระบวนการลงชุมชนในอีกสไตล์หนึ่ง ที่แทนที่จะดุ่มเดินไปข้างหน้าอย่างเร่งรีบ  แต่ก็ไม่ลืมที่จะหันกลับมาทบทวนร่องรอยการทำงานในครั้งที่ผ่านมาร่วมกันในกลุ่ม “ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย”  เพื่อคลี่คลายบางอย่างและต่อยอดในบางอย่างให้เข้มแข็งและมีพลัง

 

 

หมายเลขบันทึก: 491540เขียนเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 00:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 11:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

อ้าว ! อาจารย์คะ กลายเป็น มมส.จัดทำแผนขับเคลื่อนกิจกรรมเหรอคะ

เปล่าครับ พี่ ทพญ.ธิรัมภา

คำว่าขับเคลื่อนหมายถึง ภายหลังที่ตกลงร่วมกันแล้วว่ามีกิจกรรมอะไรบ้างที่ต้องต่อยอดกันที่นี่ ที่ประชุมจึงมอบหมายให้ มมส.กลับไปทำแผนอันหมายถึงระยะเวลาที่สมบูรณ์เป็นรูปธรรมมาอีกรอบ  ซึ่งข้อมูลที่นำกลับไปทำนั้น  ก็เป็นข้อมูลที่ภาคีในที่ประชุมได้สรุปร่วมกันนั่นแหละครับ ...

โดยล่าสุดก็เพิ่งคุยกันไปอีกรอบเมื่อ 14 มิถุนายนที่ผ่านมา-

ขอบคุณครับ

 

เพิ่มเติมครับ พี่ทพญ.ธิรัมภา

ประเด็นที่ผมคิดว่าต้องทำกันยาวร่วมกับชุมชน คือหลักสูตร,ศูนย์เรียนรู้,เทคนิคการสอน, สิ่งเหล่านี้ อบต./โรงเรียน/ชุมชน/ หรือแม้แต่นักวิชาการภายนอก รวมถึง ม.ราชภัฏร้อยเอ็ด ก็ควรต้องเข้ามาร่วม ซึ่งผมคิดว่าจะนำเสนอต่อมหาวิทยาลัยอีกครั้ง แต่ที่แน่ๆ ก็คือ ชุมชน รวมถึงภาคีในชุมชน/ภาคส่วนในชุมชน ต้องแสดงจุดยืนให้ชัดเกี่ยวกับ "ความพร้อม" ของตนเองในเรื่องนี้ครับ  เป็นการทำงานร่วมกันแบบ "แตะมือ" ไม่ใช่ชุมชน "หงายมือรับสถานเดียว"

เยี่ยมมากค่ะอาจารย์ การร่วมมือกับชุมชน ทำให้ชุมชนเห็นความสำคัญ จะติดตามต่อไปนะคะ

เป็นตัวอย่างของ CSR ที่ดีมากๆ ของมหาวิทยาลัยเลยนะคะ

การที่จะพัฒนาหรือจะหยิบประเด็นอะไรบางอย่างของชุมชนหรือสังคม มาเป็นประเด็นในการเรียนรู้ที่จะนำมาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนนั่น สิ่งสำคัญคือการค้นหาศักยภาพของชุมชน หรือ SWOT การวิเคราะห์หาจุดแข็ง จุดอ่อน และปัจจุยที่จะนำไปสู่ความสำเร็จของงานนั้นก็คือศักยภาพ ว่า ชุมชน สังคม มีทุนหรือมีศักยภาพอะไร ที่จะนำมาเป็นโจทย์ในการพัฒนา โดยการทำให้ชุมชนได้เกิดการเรียนรู้และก็มีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น เป็นสิ่งที่ดีค่ะ อาจจะต้องเพิ่มโดยการแยกพื้นที่หรือวางผังพื้นที่ชัดเจน (ว่าพื้นที่นี้เป็นศูยน์การเรียนรู้วัฒนธรรมเกี่ยวกับภาษาเพื่อจัดเป็นพื้นที่อนุรักษ์เอกสารหรืออักษรโบราณ) โดยให้จัดเป็นพื้นที่สงวนโดยให้ชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแล เข้ามาใช้ และบุคคลภายนอกสามารถเข้าไปเรียนรู้ได้ จะดีมากค่ะ

สวัสดีครับ คุณRinda

ความต่อเนื่องในระยะที่ 3 นี้ เห็นได้ชัดว่ามหาวิทยาลัยฯ เริ่มพุง่ประเด็นไปยังชุมชนในเรื่องที่เกี่ยวกับการยืนหยัดด้วยตนเอง มากกว่าพึ่งพาปัจจัยการหนุนนำจากภายนอก เพราะนั่นคือทางออกของการพัฒนาตนเองที่สำคัญที่สุด

ตอนนี้ กำลังกระตุ้นให้ อบต. หรือแม้แต่โรงเรียน และเครือข่ายในชุมชน มีแผนพัฒนาในเรื่องเหล่านี้ร่วมกับชาวบ้าน  เพราะเชื่อว่า นั่นคือการผนึกกำลังของชุมชนที่จะทำให้การพัฒนาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ- 

สวัสดีครับ คุณ ชลัญธร

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมนะครับ
เวทีครั้งนี้ เป็นเวทีแรก เน้นการเปิดตัวโครงการ ภายใต้การหารือ/โสเหล่ถึงสิ่งที่อยากทำร่วมกัน โดยทบทวนเรื่องราวในอดีต พร้อมๆ กับการวิเคราะห์ศักยภาพชุมชนไปพร้อมๆ กัน

โดยส่วนตัวผมมองว่า ความต่อเนื่องในครั้งที่ 3 นี้ น่าจะเป็นครั้งสำคัญที่ชุมชนต้องเรียนรู้และลงมือด้วยตนเองมากกว่าครั้งที่ผ่านๆ มา

ขอบคุณครับ

 

ครับพี่ แผ่นดิน(พนัส)

ภาพชัด มองอะไรก็เห็น ดูอะไรก็อ่านออก เดินทางง่ายครับ นับเป็นจุดเริ่มต้นที่มาจากการต่อยอดที่ชัดเจนครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท