KM00102 : เหตุผลที่ควรหยุด!


การสอนหรือพูดให้คนรู้เรื่องอะไรบางเรื่องเป็นเรื่องไม่ง่ายนัก แต่การพูดให้คนเปลี่ยนแปลงแนวคิดหรือทัศนคติน่าจะเป็นเรื่องที่ "ยาก" มากกว่า เพราะคนเราไม่ชอบที่จะ "หยุด" ความคิดของตัวเองง่ายๆ ครับ

สัปดาห์ที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสอ่านหนังสือ "REWORK" หรือ "ยกเครื่องเรื่องความคิด" เขียนโดย JASON FRIED และ DAVID HEINEMEIER HANSSON แปลโดย อาสยา ฐกัดกุล ถึงแม่จะเป็นหนังสือในแนวธุรกิจแต่ก็คิดว่าน่าจะนำมาประยุกต์ใช้กับทั้ง "ตัวเรา" หรือ "องค์กร" ได้ ผมคงไม่บรรยายถึงหนังสือเล่มนี้มากนัก เพราะมีคนเขียนถึงไว้เยอะแล้ว แต่ขอยกเอาบางประเด็นที่น่าสนใจมานำเสนอต่อ นั่นคือ "เหตุผลที่เราควรหยุด" ผมขอนำเฉพาะหัวข้อมาขยายความและนำมาเฉพาะบางหัวข้อที่คิดว่าน่าจะนำมาใช้ได้ครับ

๑) ทำไมคุณต้องทำสิ่งนี้ หลายครั้งที่เราคิดหรือทำอะไรก็ตามแต่ เราแทบหาคำตอบที่แท้จริงไม่ได้เลยว่า เราทำสิ่งนี้ทำไม เพื่ออะไร มีหลายองค์กรหรือหลายหน่วยงาน ที่มักให้พนักงานปฎิบัติบางสิ่งบางอย่างโดยไม่บอกให้ชัดเจนว่า เขาทำสิ่งนั้นไปทำไม เพื่ออะไร และจะได้อะไร พนักงานจึงเพียงทำไปเพราะทำตามกัน หรือทำตามสั่งเท่านั้น "การทำเพื่อองค์กร" จึงไม่อาจตอบคำถามได้ทั้งหมดว่า "ทำไมคุณ (เรา) ต้องทำสิ่งนี้" การเข้าใจว่าทำไมเราต้องทำสิ่งนี้จึงเป็นการนำไปสู่การทำสิ่งนั้นอย่างเข้าใจ และรู้ว่าเราควรทำอะไร รวมทั้งยังสามารถ "ต่อยอด" ความคิดออกไปได้ หากเราหรือองค์กรไม่สามารถทำให้พนักงานตอบคำถามข้อได้ก็ควร "หยุด" เพื่อหาสิ่งที่ดีกว่าทำต่อไป

๒) สิ่งที่คุณทำกำลังแก้ปัญหาอะไร เราอาจจะรู้ว่าทำไมเราต้องทำสิ่งนี้แต่บางครั้งเราอาจต้องคิดว่า สิ่งที่เราทำเป็นการแก้ปัญหาอะไรแน่ แก้ได้จริงหรือไม่ หรือมันเป็นการสร้างปัญหาให้มากขึ้น เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เห็นได้บ่อยในหลายคนและหลายองค์กร บางครั้งสิ่งที่ทำอยู่ก็ไม่ได้แก้ปัญหาใด แต่ก็ยังฝืนทำ อาจเพราะกลัวเสียหน้า ลงทุนไปแล้ว หรือวางแผนไว้แล้ว ซึ่งบางครั้งหากลอง "หยุด" แล้วทบทวนดู อาจพบได้ว่า "เราควรทำต่อหรือไม่ควรทำต่อ"

๓) มันมีประโยชน์จริงหรือเปล่า ข้อนี้เรียกว่าต้อง "เปิดใจ" คิดกันเลยทีเดียว เพราะหากมีใครบอกว่า "สิ่งที่เราทำอยู่ไม่มีประโยชน์" คงไม่มีใครชอบใจแน่ และยิ่งตัวเราเองคงยากที่จะบอกตัวเองว่า "เรากำลังทำสิ่งที่ไม่มีประโยชน์" แต่ลองคิดดูนะครับ หากเราไม่รีบหาคำตอบนี้แต่เนิ่นๆ ในการทำอะไร แล้วมารู้ที่หลังเมื่อเวลาผ่านไปนานแล้วว่าสิ่งที่เราทำไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ ก็อาจไม่เป็นผลดี รวมไปถึงยังปิดโอกาสที่จะทำให้เราได้ปรับปรุงหรือพัฒนาสิ่งที่ทำอยู่อีกด้วย

๔) มีวิธีง่ายกว่านี้ไหม ขั้นตอนนี้เหมือนฝึกให้เราพัฒนาความคิดไปอีกขั้น การมุ่งสู่จุดหมายหรือไปให้ถึงเป้าหมาย ย่อมมีได้หลายวิธี หลายครั้งที่เราอาจคิดแก้ปัญหาเรื่องใดเรื่องหนึ่งด้วยวิธีที่ซับซ้อน แต่เมื่อเวลาผ่านไปเรามีประสบการณ์มากขึ้น เราอาจหาวิธีที่ง่ายกว่าในการแก้ปัญหานั้น และเมื่อเราเจอวิธีที่ง่ายกว่าก็ควรต้อง "หยุด" วิธีที่ซับซ้อนเหล่านั้น และหลายครั้งในประวัติศาสตร์โลก การแก้ปัญหาก็มักมาจากเรื่องที่ง่ายๆ และส่วนใหญ่ก็มักเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอย่าง "บังเอิญ"

๕) ถ้าไม่ทำสิ่งนี้คุณจะทำอะไรแทน ข้อนี้เป็นเหมือนข้อสุดท้ายของการที่เราจะ "หยุด" ก็ว่าได้ ดังนั้นการ "หยุด" จึงไม่ได้หมายความว่า "หยุุดไปเลย" หากแต่หมายความว่าเราต้อง "หยุดเพื่อเริ่มสิ่งใหม่" หากเรายังหาสิ่งที่จะทำทดแทนในสิ่งที่เราจะ "หยุด" ไม่ได้ ก็ควรต้องทำสิ่งนั้นต่อไปก่อน พร้อมๆ กับต้องกลับไปดูข้อ ๑ ใหม่ (อันนี้ผมสรุปเอง) แต่หากเราคิดว่ามีสิ่งที่สามารถทำแทนสิ่งเดิมได้ และอาจให้ผลดีกว่ารวมถึงมีคำตอบทั้ง ๔ ข้อแรกในใจแล้ว ก็ควรเลือกที่จะทำสิ่งใหม่

สัปดาห์นี้ผมมีโอกาสไปบรรยายเกี่ยวกับแนวคิดการพัฒนากระบบข้อมูล เลยนำเอาแนวคิดนี้ไปประกอบการบรรยาย และนำมาบวกกับเรื่อง DISCIPLINARY THINKING (http://www.gotoknow.org/blogs/posts/477478) ช่างเข้ากันได้ดีอย่างไม่น่าเชื่อ การสอนหรือพูดให้คนรู้เรื่องอะไรบางเรื่องเป็นเรื่องไม่ง่ายนัก แต่การพูดให้คนเปลี่ยนแปลงแนวคิดหรือทัศนคติน่าจะเป็นเรื่องที่ "ยาก" มากกว่า เพราะคนเราไม่ชอบที่จะ "หยุด" ความคิดของตัวเองง่ายๆ ครับ

คำสำคัญ (Tags): #km
หมายเลขบันทึก: 491323เขียนเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 01:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 22:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท