ครู คือ เรือจ้างจริงหรือ?


ครูถูกหาว่าเป็นเช่นเรือจ้าง แล่นระหว่างสองฟากไม่ไปไหน นักเรียนสิศึกษาก้าวหน้าไป ได้เป็นใหญ่เป็นโตมโหฬาร

คํา ว่า ครู มาจากบาลี ครุ สันสกฤต คุรุ คนไทยออกเสียง "คะรุ" หรือ "คุรุ" ไม่ถนัดหรืออย่างไร จึงรวมกันเป็นคำเดียวว่า "ครู" และก็น่าสนใจที่คนไทยให้ความหมายของคำนี้ 

ครู แปลกันว่า ผู้หนัก แล้วก็ลากเข้าหาความหมายที่เข้าใจกันได้ว่าผู้ทำงานหนัก, ผู้ทำหน้าที่ที่ต้องหนักใจเพราะรับผิดชอบเกี่ยวกับการขัดเกลานิสัยใจคอเด็ก รวมทั้งการให้ความรู้แก่เด็กยิ่งหนัก...แล้วแต่จะตีความกันไป 

ยังดี ที่ไม่ตีความว่า "ครู คือผู้หนัก หมายถึงผู้ที่มีน้ำหนักมากๆ ไม่ต่ำกว่า 60 กิโลกรัมขึ้นไป" อะไรทำนองนั้น ถ้าถือความอย่างนี้คนผอมก็ไม่มีสิทธิเป็นครู 

ตามรากศัพท์ ครุ (ครู) แปลได้หลายนัย คือ 

1. แปลว่า "ปรากฏเด่น" คือเด่นทั้งด้านความรู้ความสามารถในการสอน และความประพฤติดีงามเป็นตัวอย่างแก่ศิษย์ พูดสั้นๆ ว่า "เป็นคนเก่งและคนดี" 

2. แปลว่า "รด" มีความหมายรองว่า "เย็น" และ "งอกงาม" นี้เป็นนัยเปรียบเทียบ คือเปรียบกับการเอาน้ำรดต้นไม้เพื่อให้ต้นไม้ชุ่มชื้นร่มเย็น และขณะเดียวกันก็ทำให้ต้นไม้นั้นเจริญงอกงามด้วย ครูก็เช่นกัน ย่อมรดใจศิษย์ด้วยน้ำใจอันดีงามของครูให้ศิษย์มีความร่มเย็น และช่วยให้ศิษย์เจริญงอกงามด้วยความรู้และความประพฤติ 

3. แปลว่า "คาย" หรือ "สำแดงออกให้ปรากฏ" หมายถึงคายความรักให้ปรากฏ รักใคร? ก็รักศิษย์ ปรารถนาดีต่อศิษย์ อยากให้ศิษย์เจริญก้าวหน้านั่นแล ดังสุภาษิตบาลีบทหนึ่งว่า อาจริโย มํ นิจฺจเมว อนุสาสติ โส หิ มยฺหํ วุฑฺฒึ อาสึสติ=อาจารย์ พร่ำสอนเราเป็นนิจ เพราะท่านหวังความเจริญก้าวหน้าของเรา 

ในพระไตรปิฎก พระพุทธเจ้าตรัสคุณสมบัติ (ที่พึงประสงค์) ของครู 7 ประการ เรียกครูว่า "กัลยาณมิตร" (มิตรแท้) ของศิษย์ คุณสมบัติ 7 ประการคือ 

1. เป็นที่รักของศิษย์ ทำตนให้ศิษย์รักอยากเข้าใกล้ เข้าไปปรึกษาไต่ถาม 

2. เป็นที่เคารพ มีความประพฤติดีเป็นที่พึ่งได้และปลอดภัย 

3. เป็นที่น่าเจริญใจ คือเป็นที่ภาคภูมิใจของศิษย์ ว่าตนเป็นศิษย์มีครูและมีครูดี 

4. รู้จักพูดให้ได้ผล สอนวิชาการแจ่มแจ้ง และพร่ำสอนให้ศิษย์เป็นคนดีได้ผล 

5. ทนต่อถ้อยคำ คืออดทนในการพร่ำสอนศิษย์ อดทนที่จะคอยรับฟังปัญหาของศิษย์ 

6. ทำเรื่องยากให้ง่าย วิชาการยากๆ มีวิธีสอนให้เข้าใจง่าย รวมถึงเรื่องง่ายๆ ที่คนมองข้าม ก็ชี้ให้เห็นความสำคัญและคุณค่าได้ 

7. ไม่ชักจูงศิษย์ในทางต่ำ คือไม่ชักนำศิษย์ทำในสิ่งที่ไม่ดี หรือเรื่องเหลวไหลไม่สมควร 

สรุป ครู คือผู้ที่น่ารัก-น่าเคารพ-น่าเจริญใจ-รู้จักพูดได้ผล-ทนต่อถ้อยคำ-แถลง เรื่องลึกล้ำ-ไม่นำไปทางเสื่อมเสีย หน้าที่กว้างใหญ่อย่างนี้ จะแปลว่าครูคือผู้หนักก็คงไม่ขัดข้อง 
ลี ว่า "ครูคือเรือจ้าง" ไม่ทราบว่าเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อใด ครูท่านหนึ่งไม่พอใจคำพูดนี้ หาว่าดูถูกครู "ครูทำหน้าที่ยิ่งใหญ่ปั้นคนให้เป็นคนดีของชาติ ไม่น่าจะมาว่าเหมือนเรือจ้าง" 

อีกคนแย้งว่า "เปรียบครูเหมือนเรือจ้างน่ะไม่เสียหายดอก เรือจ้างมีหน้าที่รับคนข้ามฝั่ง ครูทำหน้าที่ส่งคนข้ามฝั่งเหมือนกัน หน้าที่นี้เป็นหน้าที่ยิ่งใหญ่ เพราะถ้าไม่มีเรือ คนก็ข้ามฝั่งไม่ได้ ฉันใดก็ฉันนั้น ถ้าเปรียบครูเหมือนคนแจวเรือจ้างละก็ ค่อยน่าตำหนิหน่อย" 

"ไม่เหมือนกันหรือ" คนเดิมซัก 

"ไม่เหมือน คนแจวเรือจ้างต้องรับเงินค่าจ้าง ไม่มีเงินให้ไม่รับข้ามฟาก ถ้าครูทำตนเพียงแค่คนแจวเรือจ้าง คือ "รับจ้างสอน" ไปวันๆ อย่างนี้น่าตำหนิ" 

คิดว่าเป็นเพียงโวหารเท่านั้น จะพูดว่า "ครูเหมือนเรือจ้าง" หรือ "ครูเหมือนคนแจวเรือจ้าง" ก็หมายอย่างเดียวกันคือเน้นไปที่ "คนแจวเรือ" ด้วยว่า มีแต่เรือเฉยๆ ไม่มีคนแจวก็ไร้ประโยชน์ เรือจะดีอย่างไร ถ้าขาดคนแจวก็พาคนข้ามฟากไม่ได้อยู่ดี 

น่าประหลาดว่า พระพุทธเจ้าท่านก็เปรียบครูเหมือน (คนแจว) เรือจ้างเหมือนกัน ขอโทษ พูดอย่างนี้ไม่ถูก ต้องพูดว่า พระองค์ทรงเปรียบครูเหมือน (คนแจว) เรือจ้างมาก่อนแล้ว มีหลักฐานในนาวาสูตร (พระไตรปิฎก สุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย) ความว่า 

คนที่เป็นครูสอนคนอื่นต้องมีคุณธรรมคือ พหูสูต เป็นที่รักเคารพของศิษย์ มีวิจารณญาณ และปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม (หมายถึงปฏิบัติธรรมถูกหลักการและเป้าหมาย) ฉลาด รู้แจ้ง 

เปรียบเหมือนคนที่พายเรือพาคนข้ามกระแสน้ำไหลเชี่ยวได้ต้องมีความสามารถ พร้อมในการพาย การถ่อ และรู้วิธีการนำเรือฝ่ากระแสน้ำนำคนข้ามถึงฝั่งได้ ฉันใดฉันนั้น 

จะสังเกตว่าคุณสมบัติของครูสรุปลงได้ 2 ข้อคือ ความรู้ดีและความประพฤติที่เป็นแบบอย่างที่ดี "ความดี" และ "ความเก่ง" สองข้อนี้เป็นหลักข้ออื่นเป็นเพียงส่วนประกอบ ดังคำประพันธ์ว่า 

ครูต้องเป็นทั้ง "คนดี" และ "คนเก่ง" 

ครูต้องเคร่งจริยะมาตรฐาน 

ดุจประทีปเจิดจรัสชัชวาล 

ส่องนำจิตวิญญาณของปวงชน 

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก :: Jakkachai

หมายเลขบันทึก: 491003เขียนเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 22:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 13:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ถ้าสามารถพาผู้โดยสารถึงฝั่งฝัน.. ครูเรือจ้างคงรู้สึกดี มีความสุขนะคะ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท