การประเมินโครงการส่งเสริมรักการอ่านของนักเรียนโรงเรียนบ้านป่างิ้วหนองฮี


เผยแพร่ผลงานทางวิชการ การประเมินโครงส่งเสริมรักการอ่าน
ชื่อผลงานทางวิชาการ       การประเมินโครงการส่งเสริมรักการอ่านของนักเรียน
โรงเรียนบ้านป่างิ้วหนองฮี
ผู้ศึกษาค้นคว้า                    นายสิทธิพล  พหลทัพ
ตำแหน่ง                                รองผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านป่างิ้วหนองฮี
สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต 2
ปีที่ศึกษาค้นคว้า                 พ.ศ. 2554 - 2555
 
บทคัดย่อ
 
การประเมินโครงการส่งเสริมรักการอ่านของนักเรียนโรงเรียนบ้านป่างิ้วหนองฮี มีวัตถุประสงค์เพื่อ   1) เพื่อประเมินผลการดำเนินงานโครงการส่งเสริมรักการอ่านของนักเรียนโรงเรียนบ้านป่างิ้วหนองฮี ตามความคิดเห็นของครู ใน 5 ด้าน คือ ด้านบริบท(Context)  ด้านปัจจัยเบื้องต้น(Input)  ด้านกระบวนการ(Process)  ด้านผลผลิต(Product)  และด้านผลกระทบ(Impact)       2) เพื่อศึกษานิสัยรักการอ่านของนักเรียนโรงเรียนบ้านป่างิ้วหนองฮี โดยใช้แนวทางการประเมินแบบซิปป์(CIPP Model) ของดาเนียล แอล สตัฟเฟิลบีม(Danial L.Stuffiebeam) กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ แบ่งเป็น 2 กลุ่มประกอบด้วยครูผู้สอนจำนวน 32 คน และนักเรียนระดับชั้น ป. 4 ถึง ม.3 จำนวน201 คน ซึ่งได้มาโดยวิธีการสุ่มแบบแบ่งชั้น(Stratified Random Sampling) ตามระดับชั้น เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถาม 2 ฉบับที่ผู้ศึกษาสร้างขึ้นเองได้แก่แบบสอบถามความคิดเห็นของครูที่มีต่อโครงการส่งเสริมรักการอ่านใน 5 ด้าน คือ ด้านบริบท ด้านปัจจัยเบื้องต้น ด้านกระบวนการ ด้านผลผลิต และด้านผลกระทบ  มีค่าสัมประสิทธิ์ความเที่ยง 0.918และแบบสอบถามเกี่ยวกับนิสัยรักการอ่านของนักเรียน มีลักษณะเป็นมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ(Rating Scale) มีค่าสัมประสิทธิ์ความเที่ยงเท่ากับ 0.856 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่          ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการศึกษาสรุปได้ดังนี้
การดำเนินงานโครงการส่งเสริมรักการอ่านของนักเรียนโรงเรียนบ้านป่างิ้วหนองฮี ตามความคิดเห็นของครูผู้สอน โดยภาพรวมอยู่ในระดับ “ มาก ” โดยด้านที่มีความสอดคล้องเหมาะสม เรียงลำดับจากมากไปหาน้อย คือ  ด้านบริบท ด้านปัจจัยเบื้องต้น ด้านกระบวนการ ด้านผลผลิต และด้านผลกระทบ เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านแต่ละด้าน ได้ดังนี้
ด้านบริบท(Context)  ผลการดำเนินงานโครงการส่งเสริมรักการอ่านของนักเรียน โรงเรียนบ้านป่างิ้วหนองฮี ตามความคิดเห็นของครูผู้สอน ด้านบริบท โดยภาพรวมมีความสอดคล้องเหมาะสมอยู่ในระดับ “มากที่สุด”  โดยมีความสอดคล้องเหมาะสมมากกว่าข้ออื่น คือ  โครงการมีความสอดคล้องกับความต้องการของครูและนักเรียน  ส่วนความสอดคล้องเหมาะสมน้อยกว่าข้ออื่น คือ การดำเนินงานโครงการรักการอ่านมีการวางแผนงานที่ชัดเจน
ด้านปัจจัยเบื้องต้น(Input)  ผลการดำเนินงานโครงการส่งเสริมรักการอ่านของนักเรียน โรงเรียนบ้านป่างิ้วหนองฮี ตามความคิดเห็นของครูผู้สอน ด้านปัจจัยเบื้องต้น โดยภาพรวมมีความสอดคล้องเหมาะสมอยู่ในระดับ “มาก” โดยมีความสอดคล้องเหมาะสมมากกว่าข้ออื่นคือ โรงเรียนมีการจัดทำแผนกลยุทธ์และแผนปฏิบัติการดำเนินงานตามโครงการ ส่วนความสอดคล้องเหมาะสมน้อยกว่าข้ออื่น คือ การระดมทรัพยากรที่จำเป็นมาใช้ในโครงการ
ด้านกระบวนการ(Process) ผลการดำเนินงานโครงการส่งเสริมรักการอ่านของนักเรียน โรงเรียนบ้านป่างิ้วหนองฮี ตามความคิดเห็นของครูผู้สอน ด้านกระบวนการ โดยภาพรวมมีความสอดคล้องเหมะสมอยู่ในระดับ “มาก” โดยมีความสอดคล้องเหมาะสมมากกว่าข้ออื่น คือ การประสานงานกับครูผู้สอนในแต่ละระดับชั้น   ส่วนความสอดคล้องเหมาะสมน้อยกว่าข้ออื่น คือ การจัดอบรมให้ความรู้ด้านการส่งเสริมการอ่านแก่คณะกรรมการดำเนินงาน
                ด้านผลผลิต(Product)  ผลการดำเนินงานโครงการส่งเสริมรักการอ่านของนักเรียน โรงเรียนบ้านป่างิ้วหนองฮี ตามความคิดเห็นของครูผู้สอน ด้านผลผลิต โดยภาพรวมมีความสอดคล้องเหมะสมอยู่ในระดับ “มาก” โดยมีความสอดคล้องเหมาะสมมากกว่าข้ออื่น คือ   ครูมีความพึงพอใจต่อการดำเนินงานโครงการ    ส่วนความสอดคล้องเหมาะสมน้อยกว่าข้ออื่น คือ นักเรียนใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ด้วยการอ่าน
                ด้านผลกระทบ(Impact) ผลการดำเนินงานโครงการส่งเสริมรักการอ่านของนักเรียน โรงเรียนบ้านป่างิ้วหนองฮี ตามความคิดเห็นของครูผู้สอน ด้านผลกระทบ โดยภาพรวมมีความสอดคล้องเหมะสมอยู่ในระดับ “มาก” โดยมีความสอดคล้องเหมาะสมมากกว่าข้ออื่น คือ การดำเนินการตามโครงการส่งเสริมรักการอ่านของนักเรียนเป็นประโยชน์ต่อคุณภาพการศึกษาของโรงเรียน ส่วนความสอดคล้องเหมาะสมน้อยกว่าข้ออื่น คือ การค้นหาข้อมูลประกอบการเรียนรู้จากสื่อสารสนเทศทำได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
                 ผลการประเมินนิสัยรักการอ่านของนักเรียนโรงเรียนบ้านป่างิ้วหนองฮี  พบว่า ในภาพรวมอยู่ในระดับ ปานกลาง โดยนักเรียนมีการปฏิบัติมากกว่าข้ออื่น คือ ข้าพเจ้าเชื่อว่าการอ่านหนังสือมาก ๆ จะทำให้การเรียนวิชา  อื่น ๆ ดีขึ้น ส่วนข้อที่มีการปฏิบัติน้อยกว่าข้ออื่น คือ ข้าพเจ้าจะคุยกับเพื่อน ๆ ถึงเรื่องข่าวและสาระต่าง ๆ ที่เคยได้อ่านจากหนังสือพิมพ์    

               อาจกล่าวได้ว่า โครงการส่งเสริมรักการอ่านของนักเรียนโรงเรียนบ้านป่างิ้วหนองฮี ปีการศึกษา 2554 ที่ประสบผลสำเร็จในทุกด้านอยู่ในระดับมาก เนื่องจากมีการดำเนินงานตามโครงการอย่างเป็นระบบ มีขั้นตอน และการมีส่วนร่วมของครูและบุคลากรทุกคนภายในโรงเรียน พอจะกล่าวส่วนสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จในแต่ละด้านได้ดังนี้ 1) ด้านบริบทที่สำคัญคือโครงการต้องมีความสอดคล้องกับความต้องการของครูและนักเรียน 2) ด้านปัจจัยเบื้องต้นที่สำคัญคือ โรงเรียนต้องมีการจัดทำแผนกลยุทธ์และแผนปฏิบัติการรองรับในการดำเนินโครงการ 3) ด้านกระบวนการที่สำคัญคือ ต้องมีการประสานกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง 4) ด้านผลผลิตที่สำคัญคือ ครูผู้สอนและนักเรียนต้องเกิดความภาคภูมิใจในผลที่เกิดขึ้นเมื่อดำเนินโครงการเสร็จสิ้น ซึ่งสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จะส่งผลให้การดำเนินโครงการประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ และส่งผลต่อนักเรียนให้มีนิสัยรักการอ่าน ให้ความสำคัญกับการอ่านหนังสือ และเชื่อว่าการอ่านมีคุณค่าต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองต่อไป

หมายเลขบันทึก: 490949เขียนเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 12:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 18:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท