เตือนประชาชนกินอาหารสุกๆ ดิบๆ จากตะกวด หอยน้ำจืด ระวังป่วยหนักจากโรคปวดศีรษะพยาธิหอยโข่ง


เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2555 เภสัชกรเชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ หัวหน้ากลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก กรมควบคุมโรค  เผยว่า ได้รายงานจากสำนักระบาดวิทยา  กรมควบคุมโรค ว่าพบผู้ป่วย “โรคปวดศีรษะพยาธิหอยโข่ง” หรือโรคเยื่อหุ้มสมองและเนื้อสมองอักเสบ จำนวน 6 ราย ในจังหวัดหนึ่งในเขตภาคเหนือตอนล่าง  เริ่มมีการป่วยเข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาล ระหว่างวันที่ 19 เมษายน 2555 – 4 พฤษภาคม 2555 เป็นเพศชายทั้งหมด  อายุระหว่าง 37-45 ปี  อาชีพเกษตรกรรม  ผู้ป่วยทุกรายมีประวัติรับประทานเนื้อบริเวณหางและตับผสมน้ำดีของตะกวดที่จับได้ในป่าใกล้หมู่บ้าน โดยนำมาทำเป็นก้อยดิบรับประทาน   

โรคนี้เกิดจากพยาธิตัวกลม แองจิโอสตรองจิลัส แคนโทแนนสิส ( Angiostrongylus cantonensis )  พบมากในแถบเอเชีย โดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ยังมีรายงานการพบที่หมู่เกาะแปซิฟิก มาดากัสการ์ อียิปต์ ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา เปอร์โตริโก คิวบา จากรายงานการพบผู้ป่วยจากทั่วโลกประมาณ 2,800 ราย เป็นผู้ป่วยจากประเทศไทย ประมาณ 1,380 ราย หรือประมาณร้อยละ 48 จากข้อมูลด้านระบาดวิทยา พบการรายงานโรคปี 2552 , 2553 จำนวน 268 ราย และ 227 รายตามลำดับจาก 23 จังหวัด โรคนี้พบมากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กว่าร้อยละ 80 รองลงมาคือภาคกลาง  อายุผู้ป่วยอยู่ระหว่าง 25-45 ปี

การติดต่อของโรคพยาธิชนิดนี้ คือ จากการรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ ที่ทำมาจากสัตว์ที่เป็นพาหะมีพยาธิระยะติดต่อ เช่น หอยโข่ง หอยทาก หอยน้ำจืด หอยบก หอยขม หอยเชอรี่ ปลาน้ำจืด กุ้งและปูน้ำจืด ตะกวด ผักและผลไม้สด ที่มีการปนเปื้อนของพยาธิ

อาการของโรคนี้ จะเกิดขึ้นหลังพยาธินี้เข้าสู่ร่างกายประมาณ 2 สัปดาห์ (บางรายอาจนาน 4-5 สัปดาห์)  ผู้ป่วยจะมีการอักเสบของสมองและเยื่อหุ้มสมอง จะมีอาการแตกต่างกันไป ตั้งแต่ปวดศีรษะเล็กน้อยไปจนกระทั่งซึม ไม่รู้สึกตัวและอาจถึงตายได้ ผู้ป่วยบางรายหลังรับประทานอาหาร จะมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ และอาเจียน ต่อมาจะมีอาการเหมือนอาการของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ คือ มีอาการปวดศีรษะ ซึ่งพบได้บ่อยที่สุด อาการปวดตุบๆ หรือปวดศีรษะอย่างรุนแรงมากบริเวณหน้าผากและขมับสองข้างเหมือนศีรษะจะระเบิด มีอาการปวดเสียวตามเส้นประสาทของศีรษะ และแขนขา มีไข้ต่ำๆ ที่เป็นๆ หายๆ บางรายซึม ไม่รู้สึกตัว อาจมีอัมพาตของอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่ง ตาเหล่ แขนขาไม่มีแรง ปัสสาวะไม่ออก ต้นคอและหลังแข็งตึง อาการสำคัญคือไม่สามารถก้มศีรษะให้คางมาชิดหน้าอกได้ ความรุนแรงของโรคขึ้นอยู่กับพยาธิสภาพที่เกิดและจำนวนพยาธิที่ผู้ป่วยรับเข้าไป

ทั้งนี้ในรายที่ผู้ป่วยมีอาการไม่มาก ผู้ป่วยจะค่อยๆ ดีขึ้นและหายได้เองภายใน 4-6 สัปดาห์ ในระยะที่รุนแรง ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตซึ่งพบได้ประมาณร้อยละ 5 นอกจากระบบประสาทแล้ว อาจเกิดที่อวัยวะอื่นได้อีก เช่น พยาธิเข้าไชเข้าตา จะอักเสบ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการตาพร่ามัว มองเห็นไม่ชัดเจน และตาบอดได้  การรักษาส่วนใหญ่จะเป็นการรักษาตามอาการและความรุนแรงของโรค เช่นการให้ยาบรรเทาปวด ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะรุนแรงอาจต้องเจาะน้ำไขสันหลังโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นระยะๆ หากผู้ป่วยมีพยาธิในลูกตาต้องทำการผ่าตัดเพื่อเอาพยาธิออก

เภสัชกรเชิดเกียรติ  กล่าวเตือนประชาชนว่า หากจะนำสัตว์ที่เป็นพาหะโดยเฉพาะอาหารที่ประกอบจากเนื้อสัตว์ เช่น หอย  กุ้ง ปู กบ  ตะกวด  งู ฯลฯ หรือถ้าเป็นผักสด ต้องทำให้สะอาดหรือสุกก่อนรับประทาน เสมอ  งดดื่มน้ำที่ไม่สะอาด  แต่หากมีอาการเจ็บป่วยผิดปกติดังกล่าวให้รีบตรวจรักษาที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้านทันที ก็สามารถปลอดภัยจากโรคนี้ได้  

 

ข้อความหลัก " กินอาหารปรุงสุก  ล้างมือสะอาด  ป้องกันหนอนพยาธิแพร่โรค”

กรมควบคุมโรค  ห่วงใย  อยากเห็นคนไทยมีสุขภาพดี

ที่มา http://dpc9.ddc.moph.go.th/crd/news/2555/06_07_ang.html

 

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 490504เขียนเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 01:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 11:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท