บุญรอด
นาย บุญรอด บุญรอด แสงสว่าง

นโยบายการศึกษาตลอดชีวิต


การศึกษาตลอดชีวิต

ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รัฐบาลมีความมุ่งมั่นในการสร้างโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้แก่ประชาชน โดยการสร้างและกระจายโอกาสทางการศึกษาในสังคมไทย คำนึงถึงการสร้างความเสมอภาคและความเป็นธรรมให้เกิดแก่ประชาชนทุกกลุ่ม ซึ่งรวมถึงผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาส เด็กเร่ร่อน คนไร้บ้าน ผู้ไร้สัญชาติ ผู้พิการ ผู้บกพร่องทางกายและการเรียนรู้ รวมทั้งชนกลุ่มน้อย กลุ่มชาติพันธุ์ คนไทยในต่างประเทศ โดยส่งเสริมการให้ความรู้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา สนับสนุนการจัดการศึกษาตามวัยและพัฒนาการอย่างมีคุณภาพตั้งแต่ก่อนวัยเรียน จนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน จัดการศึกษาสำหรับประชากรวัยแรงงาน ตลอดจนผู้สูงอายุ เพื่อเป็นการยกระดับการศึกษาให้แก่ประชาชน โดยจัดให้มีการเทียบโอนความรู้และประสบการณ์ การเทียบโอนผลการเรียน การเทียบระดับการศึกษา การพัฒนาแหล่งเรียนรู้ เพื่อขยายโอกาสให้กว้างขวางเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต สำหรับนโยบายการศึกษาตลอดชีวิตในปีงบประมาณ 2555 มีดังนี้ 1. เสนอให้มีการตรากฎหมายว่าด้วยการศึกษาตลอดชีวิต คือ พระราชบัญญัติ เพื่อเป็นกลไกในการจัดและส่งเสริม สนับสนุนการจัดการศึกษาตลอดชีวิตให้แก่ประชาชน และเป็นกฎหมายว่าด้วยการศึกษาตลอดชีวิตของประเทศ อีกทั้งเป็นการเปิดให้ทุกภาคส่วนของสังคมได้มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา 2. การยกระดับการศึกษาประชาชนให้ จบ ม.6 ใน 8 เดือน อย่างมีคุณภาพ เพื่อสร้างความรู้ ความสามารถให้ประชาชนสามารถอยู่บนโลกได้อย่างมีความสุขด้วยกระบวนการของการ เรียนรู้ตลอดชีวิต อีกทั้งสอดคล้องกับการเตรียมประชาชนทุกระดับเข้าเป็นสมาชิกประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) และตลาดแรงงานอาเซียน (ASEAN Market) 3. การจัดตั้ง ศูนย์ฝึกอาชีพชุมชนให้เป็นองค์กรในชุมชนทำหน้าที่จัดการเรียนการสอนอาชีพ เพื่อการมีงานทำ และประชา สัมพันธ์รวมถึงจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของผู้เรียน โดยวิชาที่เปิดสอนจะมีกลุ่มอาชีพที่หลากหลายทั้ง กลุ่มอาชีพเกษตรกรรม อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม ความคิดสร้างสรรค์ กลุ่มอาชีพด้านอำนวยการและอาชีพเฉพาะทาง เพื่อให้ประชาชนมีความรู้และทักษะการประกอบอาชีพ และมองเห็นช่องทางอาชีพที่จะสร้างรายได้อย่างยั่งยืน 4. การจัดการเรียนการสอนหลักสูตร OTOP Mini MBA ซึ่งเป็นหลักสูตรเกี่ยวกับการบริหารจัดการทางธุรกิจ และดำเนินธุรกิจเพื่อการส่งออก โดยมุ่งหวังให้ผู้เรียนมีความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการผลผลิตหรือ สินค้า ที่พัฒนาขึ้น สามารถจำหน่ายได้ในตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ 5. คูปองสร้างเสริมอัจฉริยะ โดยแจกคูปองให้แก่เด็กเพื่อนำไปซื้อหนังสืออ่านด้วยตนเองตามความต้องการและ ความสนใจจริง ๆ เพื่อปลูกฝังให้เด็กมีนิสัยรักการอ่าน ใฝ่เรียน ใฝ่รู้ และเป็นการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนอีกทางหนึ่ง โดยมีเป้าหมายที่จะแจกคูปองให้แก่เด็กด้อยโอกาสทุกคนในทุกจังหวัด ที่เรียนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 ซึ่งมีประมาณ 2,500,000 คน คนละ 300 บาท เป็นเวลา 3 ปี โดยใช้งบประมาณปีละ 500-600 ล้านบาท ซึ่งได้มอบหมายให้สำนักงาน กศน.ไปดำเนินการตั้งงบประมาณปี 2556 แล้ว นโยบายการศึกษาตลอดชีวิตเป็นนโยบายที่สอดคล้องกับแนวคิดของ พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร ที่กล่าวถึงเรื่องการศึกษาไว้ว่า "การศึกษาจะนำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งของประชาชน ประชาชนที่เข้มแข็งและมีความรู้ คือ ทุนที่มีพลังในการต่อสู้กับความยากจน" "ต้องมุ่งการกระจายประโยชน์อย่างเท่าเทียม และต้องมองประชาชนที่ลำบากในการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ" "การศึกษาคือกุญแจสำคัญ เป็นจุดเริ่มต้นที่จำเป็นในการทำให้ความยากจนกลายเป็นอดีต". ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

หมายเลขบันทึก: 490418เขียนเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 11:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 11:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท