Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

บางกอกคลินิกคืออะไร ? ใช้ต้นทุนทางความรู้ใดเพื่อทำงานช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย ?


บางกอกคลินิกคืออะไร ? ใช้ต้นทุนทางความรู้ใดเพื่อทำงานช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย ?

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๕

ปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๕

http://www.gotoknow.org/blogs/posts/490066

---------------------------------------------

คำว่า “บางกอกคลินิก” เกิดขึ้นภายใต้การทำงานวิจัยภายใต้โครงการวิจัยชื่อ “การปรากฏตัวของคนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย” ซึ่งสนับสนุนโดยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ มาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๗

จริงอยู่ที่งานศึกษาเรื่องการจัดการประชากรไร้รัฐไร้สัญชาติโดยผู้เขียนน่าจะเริ่มต้นจริงในราว พ.ศ.๒๕๓๒ แต่การศึกษาในราว พ.ศ.๒๕๓๕ – ๒๕๓๙ เป็นช่วงของการศึกษาปัญหาไร้รัฐไร้สัญชาติของคนที่ถูกเรียกว่า “แรงงานต่างด้าว” ในสังคมไทย

ในขณะที่งานในช่วง พ.ศ.๒๕๓๙ – ๒๕๔๕ เป็นงานศึกษาสาเหตุของปัญหาไร้รัฐไร้สัญชาติของคนที่ถูกเรียกว่า “ชาวเขา” หรือ “บุคคลบนพื้นที่สูง” ในสังคมไทย

ส่วนการศึกษาเพื่อสร้างความสามารถในการแก้ไขปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติโดยเจ้าของปัญหาเองน่าจะเริ่มในราว พ.ศ.๒๕๔๕ ซึ่งในช่วง พ.ศ.๒๕๔๕ – ๒๕๔๘ เป็นยุคของการทำงานภายใต้แนวคิดที่เรียกว่า “คลินิกแม่อาย” เพื่อสร้างความรอบรู้และความกล้าหาญให้แก่คนแม่อายที่ตกเป็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติเพราะคนแม่อาย ๑๒๔๓ คน ถูกถอนชื่อออกจากทะเบียนราษฎรไทย

และต่อมา ในช่วง พ.ศ.๒๕๔๗ จนถึงปัจจุบัน เป็นยุคของการทำงานภายใต้แนวคิดที่เรียกว่า “บางกอกคลินิก” เพื่อสร้างความรอบรู้และความกล้าหาญให้แก่คนที่มีปัญหาสิทธิและสถานะบุคคลที่มาร้องทุกข์ ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ กทม.

บางกอกคลินิกใช้ต้นทุนทางความรู้ใดเพื่อทำงานช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย ?

การทำงานเพื่อช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนที่มีปัญหาสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมาย (Right to recognition of legal personality) ซึ่งเริ่มต้นใน พ.ศ.๒๕๓๒ นำไปสู่การสะสมประสบการณ์เพื่อการจัดการปัญหาคนไร้รัฐไร้สัญชาติ ดังนั้น ใน พ.ศ.๒๕๔๗ เราจึงตระหนักว่า ความรู้จากประสบการณ์นี้ได้สร้าง “บทเรียนที่ชัดเจน” ในการแก้ไขปัญหาหลายลักษณะให้แก่คนที่มีปัญหาสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมาย หรือที่ฝรั่งเรียกว่า “Stateless Person” [1] แต่ไม่ว่าจะยอมรับว่า มนุษย์ที่มีปัญหาสถานะบุคคลจะตกอยู่ในความไร้รัฐไร้สัญชาติหรือไม่ [2] ก็ตาม ใน พ.ศ.๒๕๕๑[3] บทเรียนที่ได้รับเหล่านี้ก็ได้ถูกใช้เป็นข้อมูลในการบัญญัติกฎหมายของรัฐสภาเพื่อแก้ไขปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติให้แก่มนุษย์ในหลายลักษณะในประเทศไทย เว้นแต่กรณีปัญหาการคืนสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตแก่คนเชื้อสายไทยที่เป็นผู้สืบสันดานของบุพการีที่เสียสัญชาติไทยเพราะการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของรัฐ ซึ่งเพิ่งได้รับการยอมรับในกฎหมายของรัฐสภาใน พ.ศ.๒๕๕๕ [4]

บางกอกคลินิกจึงเป็นเสมือนห้องทดลองทางสังคม (Social Lab) หนึ่งในโรงเรียนกฎหมายที่มีชื่อว่า “คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” ซึ่งมีนักวิจัยด้านนิติศาสตร์จำนวนหนึ่งที่ทุ่มเทแรงใจแรงกายเพื่อสร้างสรรค์ความรู้ในการจัดการความยุติธรรมให้แก่มนุษย์ที่บากบั่นมาร้องทุกข์ ซึ่งผู้ร้องในคลินิกกฎหมายนี้มีทั้งที่เป็นคนยากจนและคนร่ำรวย แต่ผู้ร้องจำนวนข้างมากเป็นคนยากจน และเป็นคนชาติพันธุ์ที่รัฐไทยเรียกว่าเป็น “ชนกลุ่มน้อย” ซึ่งอาศัยอยู่ตามแนวชายแดน และอาจเป็นคนที่เกิดในประเทศไทยหรือเป็นคนที่เกิดนอกประเทศไทย แล้วต่อมา อพยพเข้ามาในประเทศไทย

แรงบันดาลใจที่ทำให้เกิดการปรากฏตัวของ “บางกอกคลินิก” ก็คือ การร้องทุกข์ของนายยุทธนา ผ่ามวัน คนสัญชาติไทยโดยผลของกฎหมายไทย แต่ถูกรัฐไทยบันทึกเป็นคนสัญชาติเวียดนามในทะเบียนราษฎรไทย จนถูกปฏิเสธสิทธิทางการศึกษาหลายครั้งหลายหนในชีวิต และครั้งสุดท้าย ก็คือ การถูกปฏิเสธสิทธิที่จะเข้าศึกษาแพทย์ศาสตร์โดยมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง อันทำให้เขาและครอบครัวตัดสินใจร้องทุกข์มาหาเรา นักวิชาการผู้มีความรู้กฎหมายเป็นอาวุธเท่านั้น

(โปรดติดตามตอนต่อไปของ “งานให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย : มองผ่านประสบการณ์บางกอกคลินิก โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทรเมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๕ ปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๕งานเขียนเพื่อประกอบการเสวนาเรื่อง “สังคมวิทยาข้ามพรมแดน ข้ามสาขาวิชา” ซึ่งทำในเวทีเสวนาย่อยอันเป็นส่วนหนึ่งของงานประชุมที่มีชื่อว่า “การประชุมสังคมวิทยาระดับชาติครั้งที่ ๔ “แผ่นดินเดียวกัน แต่เหมือนอยู่คนละโลก: วาระการวิจัยเพื่ออนาคต” ซึ่งจะจัดในวันที่ ๑๘ – ๑๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๕ ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ กรุงเทพมหานคร)

-----------------------------

เป็นเพื่อนกับบางกอกคลินิก

------------------------------

https://www.facebook.com/bkklegalclinic?fref=ts



[1] แต่ในภาษาไทย นักคิดหลายท่านกลับแปลว่า “คนไร้สัญชาติ” แทนที่จะแปลว่า “คำไร้รัฐ” ตามรากศัพท์

[2] นักวิชาการไทยในสายเหยี่ยวจะปฏิเสธว่า คนไร้รัฐไร้สัญชาติไม่มีอยู่จริง เพราะคนทุกคนย่อมตกอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของรัฐเหนือดินแดนและประชากร ดังนั้น มนุษย์ทุกคนย่อมมีสัญชาติของรัฐใดรัฐหนึ่งบนโลก ในขณะที่นักวิชาการสายพิราบจะโต้แย้งว่า แม้จะปฏิเสธข้อทฤษฎีเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยของรัฐไม่ได้ แต่เมื่อรัฐมิได้ “รับรอง (Recognition)” สิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายสัญชาติที่มนุษย์นั้นมี ความสามารถที่จะแสดงตนในสถานะคนสัญชาติของรัฐก็เกิดขึ้นมิได้ มนุษย์จึงตกอยู่ใน “สภาวะความไร้สัญชาติ (Nationalityless)” อันนำไปสู่ “สภาวะความไร้รัฐ (Statelesness)” ในระดับของความไร้การคุ้มครองในสถานะคนชาติ กล่าวคือ แม้มีสิทธิในสัญชาติ ก็ไม่อาจได้รับประโยชน์จากสิทธิที่มี และเมื่อรัฐปฏิเสธที่จะรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรอีกด้วย มนุษย์ผู้นั้นก็จะประสบปัญหาความไร้รัฐ “อย่างสิ้นเชิง (Totally) กล่าวคือ พวกเขาจะไร้เอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคล (Unidentified Person) เพื่อแสดงตนในการใช้สิทธิต่างๆ แม้กระทั่งในสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และนำไปสู่สภาวะคนเข้าเมืองผิดกฎหมายในทุกประเทศบนโลก สิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายคนเข้าเมืองถูกปฏิเสธเสมอเมื่อมนุษย์ตกอยู่ในความไร้เอกสารแสดงตนที่ออกโดยรัฐเจ้าของตัวบุคคล (Undocumented Person)

[3] พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ และ พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๑

[4] พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๕๕


หมายเลขบันทึก: 490066เขียนเมื่อ 4 มิถุนายน 2012 22:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2015 10:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท