ข้อเสนอในการทำงานเพื่อการพัฒนากฎหมายกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ที่มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับสังคมไทย


บันทึกนี้ถูกเขียนขึ้นโดยมีเป้าหมายสำคัญ ๒ ข้อ เป้าหมายแรก เพื่อนำเสนอถึง "ประเด็นด้านเนื้อหา" ที่สำคัญและจำเป็นต่อการพัฒนากองทุนฯ ที่จะทำให้กองทุนฯนี้เป็นกลไกในการสนับสนุนการพัฒนาสื่อสร้างสรรค์ที่มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับความสังคมไทย เป้าหมายในข้อที่สอง เพื่อนำเสนอถึง “ข้อเสนอเชิงวิธีการในการทำงาน” ร่วมกันระหว่างหน่วยงาน หรือ องค์กรที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปสู่การแสวงหาองค์ความรู้ในประเด็นด้านเนื้อหาที่สำคัญและจำเป็นต่อการพัฒนากองทุนฯ

ข้อเสนอในการทำงานเพื่อการพัฒนากฎหมายกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ที่มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับสังคมไทย

 

เสนอแนวคิด โดยอาจารย์ อิทธิพล ปรีติประสงค์ สถาบันแห่งชาติิเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล

 

บันทึกนี้ถูกเขียนขึ้นโดยมีเป้าหมายสำคัญ ๒ ข้อ เป้าหมายแรก เพื่อนำเสนอถึง "ประเด็นด้านเนื้อหา" ที่สำคัญและจำเป็นต่อการพัฒนากองทุนฯ ที่จะทำให้กองทุนฯนี้เป็นกลไกในการสนับสนุนการพัฒนาสื่อสร้างสรรค์ที่มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับความสังคมไทย เป้าหมายในข้อที่สอง เพื่อนำเสนอถึง “ข้อเสนอเชิงวิธีการในการทำงาน” ร่วมกันระหว่างหน่วยงาน หรือ องค์กรที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปสู่การแสวงหาองค์ความรู้ในประเด็นด้านเนื้อหาที่สำคัญและจำเป็นต่อการพัฒนากองทุนฯ

โดยบันทึกนี้จะนำเสนอเนื้อหาเป็น ๔ ส่วน คือ (๑) กรอบแนวคิดพื้นฐานที่นำไปสู่การกำหนดประเด็นสำคัญด้านเนื้อหา (๒) ปัจจัยพื้นฐานของเรื่องเพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการกำหนดประเด็นสำคัญ (๓) ประเด็นด้านเนื้อหาที่สำคัญและจำเป็นต่อการพัฒนากฎหมายกองทุนฯ และ (๔) ข้อเสนอเชิงวิธีการในการทำงานเพื่อแสวงหาองค์ความรู้อันเป็นคำตอบสำหรับประเด็นด้านเนื้อหา

 

(๑) กรอบแนวคิดพื้นฐานที่นำไปสู่การกำหนดประเด็นสำคัญด้านเนื้อหา

เพื่อทำให้สามารถกำหนดประเด็นด้านเนื้อหาที่สำคัญและจำเป็นต่อการพัฒนาฎหมายกองทุนฯได้อย่างครบถ้วนและรอบด้าน จำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจถึงแนวคิดพื้นฐานของเรื่องนี้เสียก่อน โดยแนวคิดพื้นฐานของกฎหมายกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประกอบด้วยแนวคิดพื้นฐานสำคัญ ๔ แนวคิด คือ (๑) แนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาสังคมโดยใช้สื่อ ทำให้เกิดการพัฒนาสังคมในด้านต่างๆทั้งด้่านการส่งผ่านวัฒนธรรม การขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจ เช่น อุตสาหกรรมด้านเนื้อหาเชิงวัฒนธรรม การใช้สื่อใหม่เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนมากขึ้น เป็นต้น (๒) แนวคิดในการใช้สื่อเป็นเครื่องมือในการพัฒนาการศึกษาและการเรียนรู้ให้กับเด็กและเยาวชน ทั้งด้านเนื้อหาสื่อเพื่อส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้ให้กับเด็กและเยาวชน และ การใช้สื่อเป็นเครื่องมือหรือกระบวนการในการเรียนรู้ให้กับเด็กและเยาวชน  (๓) แนวคิดเกี่ยวกับบทบาทของรัฐในการสนับสนุนการพัฒนาสื่อฯ โดยพบว่า บทบาทของรัฐในยุคหลังการปฎิรูปแนวคิดเรื่องสื่อในปี พ.ศ.๒๕๔๐ เป็นต้นมา รัฐได้แสดงบทบาทในการกระจายบทบาทให้องค์กรอิสระทำหน้าที่ในการกำกับดูแลการประกอบการด้านสื่อ โดยมีบทบาทหลักในการสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาสื่อเพื่อให้กลายเป็นเครื่องมือในการพัฒนาสังคมและการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนได้อย่างแท้จริง โดยเพ่ิมความเข้มข้นของบทบาทในการให้ความคุ้มครองประชาชนที่เป็นผู้รับสื่อมากขึ้น (๔) แนวคิดในการจัดการสังคมโดยใช้กฎหมาย (The Rule of Law) เพื่อทำให้เกิดความเสมอภาค เท่าเทียม และเสถียรภาพในการสนับสนุนการพัฒนาสื่อ การดำเนินการจัดทำกฎหมายในการสนับสนุนการพัฒนาสื่อ ทำให้เกิดระบบการสนับสนุนการพัฒนาสื่อมีผลผุกพันรัฐให้ปฎิบัติตามโดยไม่ได้เป็นไปตามอำนาจดุลยพินิจของรัฐว่าจะสนับสนุนหรือไม่ และ มีผลผูกพันให้ทุกคนต้องปฎิบัติตามกฎหมาย

 

 

(๒) ปัจจัยพื้นฐานของเรื่องเพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการกำหนดประเด็นสำคัญ หลังจากได้เห็นถึงแนวคิดพื้นฐานของกฎหมายกองทุนพัฒนาสื่อฯแล้ว ประเด็นต่อมาก็คือ อะไรคือปัจจัยพื้นฐานเพื่อนำไปใช้ในเป็นฐานสำหรับการจัดทำประเด็นเนื้อหาในบันทึกฉบับนี้ สามารถพิจารณาปัจจัยพื้นฐานได้เป็น ๔ ส่วน กล่าวคือ

ส่วนแรก ปัจจัยด้านประวัติศาสตร์ความคิด เพื่ออธิบายเจตนารมย์ที่แท้จริงหากพิจารณาจากประวัติศาสตร์ความเป็นมาในการจัดทำกฎหมายกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ที่เริ่มต้นจาก มติ ครม. ฉบับวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ เกี่ยวกับแนวทางในการใช้สื่อของรัฐเพื่อส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้สำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัว โดยผลจาการศึกษาของ TV4Kids [1]ได้เสนอให้มีการจัดทำกฎหมายกองทุนพัฒนาสื่อเพื่อส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้สำหรับเด็ก เยาวชน ครอบครัว หรือเรียกสั้นๆว่า “กองทุนสื่อเด็ก” เพื่อเป็นกลไกในการสนับสนุนการพัฒนาสื่อเพื่อส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้สำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัว

ส่วนที่สอง ปัจจัยความรู้ทางวิชาการ จากการศึกษาของ TV4Kids พบว่า ด้านการบริหารจัดการ กองทุนสื่อเด็กนี้ต้องมีความคล่องตัว อิสระ ด้านการสนับสนุนนั้นระบบการสนับสนุนการพัฒนาสื่อต้องครบวงจร กองทุนสามารถร่วมลงทุนในการพัฒนาสื่อได้ งานวิจัยมีความสำคัญเพราะจะช่วยให้สื่อมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น

ส่วนที่สาม ปัจจัยทางกฎหมายและนโยบาย หลังจากมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้มีการผลักดันร่างกฎหมายกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์โดยใช้ฐานความรู้จากการทำงานและเครือข่ายจากสื่อเพื่อเด็กโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระทรวงวัฒนธรรมในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์แห่งชาติซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่ผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้เข้าสู่ ครม.(ครั้งแรก โดย คุณธระ สลักเพชร และ ต่อมาในตรั้งที่สองคือ คุณสุกุมล คุณปลื้ม) จนกระทั่งในที่สุดได้มีการเสนอร่างกฎหมายกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ… และผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีในครั้งล่าสุดคือ วันที่ ๒ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๕  อีกทั้ง มีการบัญญัติรับรองสถานะทางกฎหมายและที่มาของเงินในกองทุนในมาตรา ๕๒(๕) ของพรบ.องค์กรฯ

ส่วนที่สี่ ปัจจัยด้านการพฒันาความรู้จากเครือข่าย ในช่วงตั้งแต่ปี ๒๕๔๖ เป็นต้นมา ได้มีการพัมนาต่อยอดองค์ความรู้ร่วมกับเครือข่ายภาคส่วนต่างๆโดยเฉพาะเครือข่ายภาควิชาการ เครือข่ายภาคนโยบาย และ เครือข่ายภาควิชาชีพ มีการพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ในอีก ๓ เรื่อง กล่าวคือ เรื่องแรก การสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนกับกองทุนในรูปของสมัชชาสื่อ เรื่องที่สอง  การสร้างความเท่าเทียมและเป็นธรรมในการเข้าถึงระบบการสนับสนุนโดยเรียนรู้ประสบการณ์ในการบริหารจัดการการสนับสนุนจาก สสค ที่มีการพัฒนาคณะกรรมการพิจารณากรั่นกรองโครงการในการประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณากลั่นกรองโครงการอีกทั้งมีฝ่ายวิชาการเพื่อวิเคราะห์และให้้ข้อมูลสำคัญในเรื่องสัดส่วนของประเด็นสำคัญในแต่ละภูมิภาค เพื่อทำให้คณะกรรมการสามารถมองเห็นภาพรวมของการสนับสนุนว่าในแต่ละภูมิภาค และ จังหวัดใดมีความต้องการเรื่องใดเพือทำให้การสนับสนุนสอดคล้องกับความต้องการของชุมชนได้อย่างแท้จริง และ เรื่องที่สาม การลดอุปสรรคในการเข้าถึงกองทุน โดยเสนอให้มีการพัฒนาระบบและปรับรูปแบบการเขียนข้อเสนอโครงการที่เหมาะกับผู้ขอรับการสนับสนุน รวมทั้ง การอบรมให้ความรู้ในการเขียนข้อเสนอโครงการ และ การให้มีการพัฒนาระบบการติดตามเพื่อร่วมพัฒนาความรู้โครงการร่วมกับผู้รับโครงการ

 

(๓) ข้อเสนอด้าน “ประเด็นเนื้อหา” เพื่อแสวงหาองค์ความรู้ที่สำคัญและจำเป็นต่อกฎหมายกองทุนพัฒนาสื่อฯ และข้อเสนอเชิงวิธีการเพื่อแสวงหาองค์ความรู้อันเป็นคำตอบในประเด็นต่างๆ ในการศึกษาของ TV4Kids ในประเด็นการพัฒนาระบบการสนับสนุนด้วยกองทุนเป็นการศึกษาใน ๓ ประเด็นหลักคือ ความเหมาะสม ความเป็นไปได้ และ ภาระหน้าที่ของกองทุนสื่อเด็ก โดยในส่วนของรายละเอียดของการบริหารจัดการไม่ได้อยู่ในขอบเขตของงานวิจัยในขณะนั้น เพื่อทำให้กฎหมายกองทุนพัฒนาสื่อฯ มีความสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพสูงสุด จึงมีความจำเป็นที่จะต้องแสวงหาองค์ความรู้ในประเด็นสำคัญเพ่ิมเติมอีก ๕ ประเด็น กล่าวคือ

๓.๑            รูปแบบของการบริหารจัดการที่สามารถสร้างความยั่งยืนให้กับกองทุน โดยศึกษาถึงแนวทางในการบริหารจัดการกองทุนที่ทำให้กองทุนนี้สามารถดำเนินการเพื่อทำให้เกิดการเพ่ิมเติมทรัพยากรในกองทุนว่าว่ามีกี่แนวทาง ? อะไรบ้าง ? แต่ละแนวทางมีข้อดีหรือข้อเสียแตกต่างกันอย่างไร ? โดยเฉพาะ ความเป็นไปได้ในการกำหนดสัดส่วนที่ชัดเจนในส่วนของที่มาของเงินในกองทุนตามที่ปรากฎใน มาตรา ๖(๑) ร่าง พรบ.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ….[2] ในเบื้องต้นพบว่า แนวทางในการบริหารจัดการดังกล่าวอาจจะอยู่ในรูปแบบของการลงทุนในด้านสื่อ เช่น การประกอบการเพื่อสังคม (Social Enterprise) หรือ อาจจะอาศัยระบบการระดมทุนทางสังคมโดยใช้มาตรการทางภาษีเข้ามาเป็นกลไกเสริม เป็นต้น

๓.๒            รูปแบบของการสนับสนุนที่สามารถสร้างความยั่งยืนให้กับผู้ขอรับการสนับสนุนในระยะยาว เป็นการทำงานที่เน้นกระบวนการพัฒนาที่ผู้รับทุนและพัฒนากลไกอันเป็นปัจจัยสนับสนุนในการพัฒนาในด้านต่างๆที่เกี่ยวข้องเพื่อทำให้ผู้รับทุนมีความเข้มแข็งและสามารถขอรับการสนับสนุนในสัดส่วนที่น้อยลงเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้อื่นสามารถขอรับการสนับสนุนจากกองทุนได้มากขึ้น มีความจำเป็นที่จะต้องศึกษาถึง รูปแบบของการสนับสนุนที่สามารถสร้างความยั่งยืนให้กับผู้ขอรับการสนับสนุนในระยะยาวมีรูปแบบใดบ้าง ? ปัจจัยที่จะช่วยให้เกิดการสร้างความยั่งยืนดังกล่าวมีปัจจัยอะไรบ้าง ? ต้องดำเนินการต่อปัจจัยนั้นๆอย่างไร?

๓.๓            องค์ประกอบและกระบวนการพิจารณาในการสนับสนุนที่สอดคล้องกับลักษณะของสื่อ เพื่อทำให้เกิดเกณฑ์ในการพิจารณาเพื่อสนับสนุนการพัฒนาสื่อที่สอดคล้องกับลักษณะและรูปแบบของสื่อ จำเป็นที่จะต้องศึกษาถึงองค์ประกอบของคณะกรรมการที่จะเป็นผู้พิจารณากลั่นกรองโครงการเพืื่อขอรับการสนับสนุนจากกองทุนว่าจำเป็นที่จะต้องศึกษาถึงความเหมาะสมของคณะกรรมการ ความเป็นไปได้ของคณะกรรมการ  ภาระหน้าที่ เกณฑ์ที่ใช้ในการพิจารณาควรเป็นอย่างไร ?

๓.๔            การสร้างระบบการมีส่วนร่วมของประชาชนในระดับพื้นที่ร่วมกับคณะอนุกรรมการสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์จังหวัด เพื่อทำให้เกิดการสร้างกลไกของการมีส่วนร่วมของประชาชน และ ทำให้เครือข่ายภาคประชาชนที่เกี่ยวข้องในระดับท้องถิ่นเป็นกลไกสนับสนุนการทำงานซึ่งกันและกันกับอนุกรรมการฯระดับจังหวัด สมควรที่จะต้องศึกษาถึงแนวทางความเป็นไปได้ของการพัฒนาระบบการทำงานร่วมกันว่ามีแนวทางอย่างไร ? องค์ประกอบของคณะอนุกรรมการ ฯ จังหวัดที่สอดคล้องกับระบบของการทำงานร่วมกันเป็นอย่างไร ? บทบาทของการทำงานในแต่ละเครือข่ายนั้นเป็นอย่างไร ? ตลอดจน ภาระหน้าที่ในการทำงาน โดยเฉพาะเรื่องการจัดประชุมระดับจังหวัด เช่น สมัชชาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ในรระดับพื้นที่ และ เชิงประเด็นนั้นจะเป็นอย่างไร ? รวมไปถึง แนวทางในการวิเคราะห์สถานการณ์และประเด็นการทำงานด้านสื่อภายในจังหวัดว่าประเด็นใดเป็นจุดแข็งหรือจุดอ่อนเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาสัดส่วนของการรับทุนจากองทุนในภาพรวม

๓.๕            การพัฒนาระบบการสร้างความเท่าเทียมและเป็นธรรมในการเข้าถึงทรัพยากรในกองทุน เพื่อทำให้เกิดการจัดการทรัพยากรทุนในกองทุนอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมที่ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงระบบการสนับสนุนได้นั้น จำเป็นที่จะต้องศึกษาถึงรูปแบบหรือกลไกในการทำงานเพื่อพัฒนาระบบการสร้างความเท่าเทียมในการกระจายทรัพยากรว่าเป็นอย่างไร ? อะไรคืออุปสรรคสำคัญในการเข้าถึงทรัพยากรในกองทุน ? แนวทางในการลดอุปสรรคควรทำอย่างไร ?

๓.๖            การศึกษาถึงประเด็นเร่งด่วนเพื่อนำไปสู่การพัฒนาต้นแบบของการสนับสนุนการพัฒนาภายใต้กรอบวัตถุประสงค์ของกองทุนฯเพื่อนำไปสู่การสร้างกระแสความรับรู้และความตระหนักร่วมกันในสังคม เพื่อทำให้เกิดการพัฒนาต้นแบบของการบริหารจัดการเพื่อการสนับสนุน และเป็นประเด็นในการสร้างกระแสความเข้าใจถึงความจำเป็นของสื่อสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้ จำเป็นที่จะต้องศึกษาสถานการณ์สื่อว่ามีสถานการณ์เด่นในเรื่องใดบ้าง ? มีสื่อสร้างสรรค์ที่สามารถพัฒนาไปสู่ต้นแบบเพื่อสร้างกระแสสังคมมากน้อยเพียงใด ? อะไรบ้าง ? จะมีแนวทางในการพัฒนาสนับสนุนสื่อสร้างสรรค์อย่างเป็นระบบ ครบวงจร สามารถตอบสนองเชิงคุณค่าด้านเนื้อหาสาระ และคุณค่าในทางเศรษฐกิจได้อย่างไร ? จะมีแนวทางในการพัฒนาสื่อสร้างสรรค์เพื่อตอบสนองต่อประเด็นเร่งด่วนที่ไม่มีนั้นอย่างไร ?

๓.๗

 

(๔)            ข้อเสนอแนะเชิงวิธีการเพื่อนำไปสู่การแสวงหาองค์ความรู้อันเป็นคำตอบในประเด็นต่างๆทั้ง ๖ ประเด็น เพื่อให้บรรลุถึงแนวทางในการทำงานที่เป็นรูปธรรมสามารถกำหนดวิธีการในการทดลองโดยการทดลองการบริหารจัดการกองทุนพัฒนาสื่อฯต้นแบบ และเพื่อให้เกิดองค์ความรู้ในอันเป็นคำตอบในแต่ละประเด็นสามารถกำหนดวิธีการได้ในหลายรูปแบบ เช่น การจัดเวทีวิชาการ การจัดเวทีสาธารณะ เพื่อแสวงหาองค์ความรู้จากเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในแต่ละประเด็น

 

 

 

 ภาคผนวก

มติ ครม.ฉบับวันที่ ๒ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๕

ร่างพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ. ....[3]

 

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป โดยร่างพระราชบัญญัติฯ มีสาระสำคัญ ดังนี้

๑. กำหนดให้จัดตั้งกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล และกำหนดวัตถุประสงค์ของกองทุน

๒. กำหนดให้กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ส่วนหนึ่งประกอบด้วยเงินที่ได้รับจากการจัดสรรจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เงินค่าปรับที่ได้รับจากการลงโทษผู้ละเมิดลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดงตามกฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์ที่ตกเป็นของกองทุน และเงินที่ได้รับจากต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ

๓. กำหนดให้กิจการของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน

๔. กำหนดให้กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์มีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการ หรือรัฐวิสาหกิจ ตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ และรายได้ของกองทุนไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน

๕. กำหนดให้กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์มีอำนาจจ่ายเงินจากกองทุนเป็นค่าใช้จ่ายตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ที่กำหนด

๖. กำหนดให้มีคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กำหนดองค์ประกอบ คุณสมบัติ วาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง อำนาจหน้าที่ และองค์ประชุมคณะกรรมการ

๗. กำหนดให้มีคณะอนุกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และกำหนดอำนาจหน้าที่

๘. กำหนดอำนาจหน้าที่ของสำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

๙. กำหนดให้มีผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ คุณสมบัติของผู้จัดการ วาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง และอำนาจหน้าที่

๑๐. กำหนดให้กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์จัดทำการบัญชีตามมาตรฐานการจัดทำบัญชีสำหรับหน่วยงานภาครัฐที่กระทรวงการคลังกำหนด โดยมีรอบปีบัญชีตามปีงบประมาณ และจัดให้มีการตรวจสอบภายในและรายงานผลการตรวจสอบให้คณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ทราบอย่างน้อยปีละครั้ง

๑๑. กำหนดให้กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์จัดทำงบการเงินและทำรายงานประจำปีเสนอต่อคณะกรรมการเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี

๑๒. กำหนดให้มีคณะกรรมการประเมินผลการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กำหนดองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่

๑๓. กำหนดให้คณะกรรมการประเมินผลการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์อาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาและเสนอความเห็นในเรื่องหนึ่งเรื่องใดหรือมอบหมายให้ปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดได้ตามที่เห็นสมควร [๐๒/๐๔/๒๕๕๕]

 

 

 

[1] ชุดโครงการวิจัยและพัฒนารายการโทรทัศน์เพื่อส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้สำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัว หรือ TV4Kids ภายใต้การสนับสนุนของ สสส  บริหารจัดการชุดโครงการวิจัยฯโดย มูลนิธิศาสตราจารย์ คนึง ฦๅไชย เป็นชุดโครงการวิจัยและพัฒนาที่จัดทำขึ้นในช่วงระหว่าง พ.ศ.๒๕๔๖ ถึง ๒๕๔๘ ที่เร่ิมต้นพัฒนาจากกรอบความคิดโดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ โดยได้ผลิตองค์ความรู้ในด้านต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนารายการโทรทัศน์เพื่อส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้สำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัว ๑๓ องค์ความรู้ และได้พัฒนาให้เกิดเครือข่ายประชาคมด้านการพัฒนารายการโทรทัศน์ฯที่มาจากหลายภาคส่วน ทั้ง ภาควิชาการ ภาคประชาชน ภาควิชาชีพ ภาคนโยบาย ภาคเอกชน โดยมีการพัฒนาโครงสร้างในการบริหารจัดการโครงการโดยแบ่งเป็นคณะกรรมการนักวิจัยและพัฒนา คณะกรรมการที่ปรึกษาโครงการ และ คณะกรรมการบริหารโครงการ โดยมีการกำหนดวาระการประชุมเพื่อทำให้เกิดพื้นที่แลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน อีกทั้ง การกำหนดให้มีการจัดเวทีสาธารณะเพืื่อประเมินสถานการณ์รายการโทรทัศน์ในทุก ๓ เดือน ทำให้ประชาคมคนทำงานสามารถมองเห็นสถานการณ์ร่วมกันได้อย่างชัดเจนและสามารถกำหนดทิศทางหรือจัดทำข้อเสนอแนะที่มีประสิทธิภาพได้

 

[2] มาตรา ๖ กองทุนประกอบด้วยเงินและทรัพย์สิน ดังต่อไปนี้

(๑) เงินที่ได้รับการจัดสรรจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรร

คลื่นความถี่และกํากับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม

 

[3] http://www.cabinet.thaigov.go.th/cc_main21.htm

 

หมายเลขบันทึก: 488884เขียนเมื่อ 23 พฤษภาคม 2012 06:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 พฤษภาคม 2012 06:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท