วราภรณ์
นางสาว วราภรณ์ (ดอกไผ่) ธรรมทิพย์สกุล

เครื่องปั้นดินเผากับลมหายใจเฮือกสุดท้าย...ที่บ้านโรงหวด



         สายน้ำนครชัยศรียังไหลเอื่อยรินอย่างช้า ๆ  พร้อม ๆ กับกลืนกินวิถีชีวิตที่เรียบง่าย   มรดกทางวัฒนธรรมอันงดงาม ความเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัย  ความเร่งรีบมักง่ายที่ทำลายความประณีตละเอียดอ่อนแห่งจิตวิญญาณ  เฉกเช่นเดียวกับเครื่องปั้นดินเผาที่อาจเป็นลมหายใจเฮือกสุดท้ายของชุมชนบ้านโรงหวด.....

    บ้านโรงหวดเป็นชุมชนเล็ก ๆ  ในตำบลงิ้วราย  อำเภอนครชัยศรี  จังหวัดนครปฐมเป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผามรดกผืนสุดท้ายของเมืองนครชัยศรีมากว่าหนึ่งร้อยห้าสิบปี  นับผ่านผู้คนรุ่นแล้วรุ่นเล่ากว่าห้าชั่วคน


           ผู้เขียนและคณะศึกษาดูงาน  

         ชุมชนแห่งนี้แต่เดิมเรียกว่า “ บ้านท่าเกวียน”     เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ  ตั้งอยู่ริมแม่น้ำนครชัยศรี  จังหวัดนครปฐม  มีลักษณะพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การทำเกษตรกรรมและยังมีดินเหนียวเหมาะสำหรับการทำเครื่องปั้นดินเผาคุณภาพดี  ภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น “บ้านโรงหวด”  เนื่องจากการปั้นหวดดินเผา หวดที่นิยมปั้นกันที่นี่ไม่ใช่ไม้ไผ่สานอย่าหวดนึ่งข้าวเหนียว  แต่เป็นหวดใส่น้ำตาล...”

           

           คุณลุงบุญมี  พุ่มพอง   ผู้อาวุโส วัย  ๗๒  ปี บอกเล่าเรื่องราวการทำเครื่องปั้ันดินเผา ผ่านยุคสมัย ผ่านกาลเวลาจากเดิมบ้านโรงหวดเคยทำเครื่องปั้นดินเผาที่ใช้ในครัวเรือน  เช่น โอ่ง  กระทะ หวดนึ่งข้าวเหนียว  หวดใส่น้ำตาล  

           ต่อมาความนิยมในการใช้หม้อดินเผาลดลง  เพราะผู้คนหันมาใช้ภาชนะที่ทำจากอลูมิเนียม  และสแตนเลสมากขึ้น   จึงปรับเปลี่ยนหันมาทำกระถางต้นไม้ขนาดต่าง ๆ แทน    แต่ปัจจุบันกระถางพลาสติกเริ่มเข้ามามีบทบาทเพราะทนทาน  และมีน้ำหนักเบากว่า   คนจึงนิยมใช้มากขึ้นทำให้กระถางดินเผาเริ่มลดบทบาทลง
 

                  คุณลุงบุญมี  พุ่มพอง บอกเล่าวิธีการปั้นเครื่องปั้นดินเผา

           คุณลุงเล่าเรื่องราวในอดีตผ่านความทรงจำในวัยเด็ก    ผ่านภาพประสบการณ์การทำเครื่องปั้นดินเผามาอย่างโชกโชน  ด้วยแววตาที่ฉายแสงแห่งความสุข พร้อม ๆ กับบอกเล่าขั้นตอนต่าง ๆ อย่างละเอียดด้วยความภาคภูมิใจ  ตั้งแต่การเตรียมดิน  จนถึงขั้นตอนการปั้นและนำไปเผาในเตาเผากระถาง
 

           
            คุณลุงพาพวกเราไปดูเตาเผาซึ่งบัดนี้ร้างราไฟไปนานเพราะไม่มีผู้สืบทอดเจตนารมณ์  ลูกหลานส่วนใหญ่ได้รับการศึกษาที่สูงขึ้นจึงปล่อยวางอาชีพดั้งเดิมของบรรพชน   ประกอบกับการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อให้อยู่รอดในสังคมปัจจุบันที่มีแต่การแข่งขัน   การก้าวเข้าสู่ระบบวัตถุนิยมที่มุ่งเน้นในเรื่องบริโภควัตถุมากกว่าการอนุรักษ์มรดกทางภูมิปัญญาด้วยการวางเฉย 

           "ชักแป้นถีบ" แป้นหมุนสำหรับขึ้นภาชนะดินเผาแบบดั้งเดิม

            ก่อนที่ลมหายใจเฮือกสุดท้ายของเครื่องปั้นดินเผาบ้านโรงหวดจะสิ้นสุดลง กรมศิลปากรได้เห็นความสำคัญและส่งนักวิชาการช่างศิลป์มาช่วยเหลือในเรื่องการออกแบบผลิตภัณฑ์ การประยุกต์ลวดลายศิลปะลายทวารวดีของท้องถิ่นโบราณ  รวมถึงการออกแบบสัญลักษณ์  และการบรรจุภัณฑ์เพื่อขยายกลุ่มลูกค้าให้มากขึ้น  

                 "ชักแป้นถีบ" แป้นหมุนสำหรับขึ้นภาชนะดินเผาแบบดั้งเดิม
                                บัดนี้เหลือเพียงความทรงจำ

          หนึ่งในกลุ่มลูกค้าที่สำคัญได้แก่ ธุรกิจสปา เน้นการผลิตโคมไฟกับดินเผาลอยน้ำ  เพื่อใส่ดอกไม้หอมหรือผงสมุนไพร ตรงกลางจุดเทียนหอมเพื่อสร้างบรรยากาศ 

          นอกจากนั้นยังมีที่วางสบู่และเครื่องหอมอื่น ๆ มีการคิดค้นอุปกรณ์ใส่ผลิตภัณฑ์  เช่น  ถุงกระดาษมีตราสัญลักษณ์  และผักตบชวาสานใส่ผลิตภัณฑ์เป็นต้น  ในส่วนของนักท่องเที่ยว มีการออกแบบผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกประเภทต่าง ๆ  เช่น พวงกุญแจดินเผา ตุ๊กตารูปสัตว์  ภาชนะดินเผาสำหรับใส่น้ำพริก  หรือ ขนมไทย

 

           ชุมชนบ้านโรงหวดในวันนี้ มีการเผยแพร่ความรู้สู่เด็กรุ่นใหม่ที่สนใจซึ่งเป็นนักเรียนที่อยู่ในละแวกใกล้เคียงได้มาฝึกหัดเรียนรู้เพื่อสืบสานและอนุรักษ์   สร้างความอิ่มเอมใจให้วิทยากรผู้เฒ่าและชาวบ้านที่พบเห็นเป็นยิ่งนัก และได้แต่หวังว่าเมล็ดพันธุ์เล็ก ๆ เหล่านี้คงจะมีบางเมล็ดพันธุ์ที่เติบกล้าและยืนต้นพอที่จะโอบอุ้มมรดกชิ้นสุดท้ายที่พวกเขาหวงแหนตราบนานเท่านาน

            สายลมอ่อน ๆ ยังพัดรวยริน   ขณะที่สายน้ำสายชีวิตแห่งลำน้ำนครชัยศรียังคงพลิ้วไหวไม่เคยหยุดนิ่ง สรรพสิ่งยังคงเปลี่ยนแปลงพร้อมกับสิ่งใหม่ ๆ ที่คืบคลานเข้ามาอย่างช้า ๆ ผ่านยุคผ่านสมัยที่เร่งรีบ  “การสร้างสรรค์กับการทำลายมักอยู่คู่กันเสมอ”  เครื่องปั้นดินเผากับลมหายใจเฮือกสุดท้ายที่บ้านโรงหวดจะต้านกระแสสังคมยุคพลาสติกได้นานเพียงไรหนอ ?

                     ……………………………………………………

                                          ธรรมทิพย์  
 

 

           

           

 

  

                       

 

 

                                                 

 

 

                             

หมายเลขบันทึก: 488836เขียนเมื่อ 22 พฤษภาคม 2012 19:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มกราคม 2021 09:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (24)

อยู่ใกล้บ้านแ่ค่นี้เอง แต่ยังไม่เคยไป

เป็นบันทึกที่ดีมากๆ ค่ะ ดิฉันเป็นคนหนึ่งที่ชอบเซรามิค หรือเครื่องปั้นดินเผาค่ะ

ภูมิปัญญา กับ ความคิดสร้างสรรค์ ปั่นดินให้เป็น เงิน ของมีค่านะคะ

ขอบคุณมากนะคะ

  • สวัสดีค่ะ คุณธวัชชัย
  • ว่าง ๆ แวะไปเยี่ยมชมได้นะคะ
  • ขอบคุณที่แวะมาทักทายให้กำลังใจค่ะ
  • สวัสดีค่ะ คุณIco48
  • ขอบพระคุณค่ะสำหรับกำลังใจ 
    ฝึกเขียนสารคดีค่ะ
  • เครื่องปั้นดินเผาฝีมือไทยเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านและเป็นเสน่ห์ที่น่าชื่นชมนะคะ 
  • สวัสดีค่ะ คุณสมศรี Ico48
  • "ปั้นดินให้เป็นเิงิน" ประโยคทอง
  • ขอบพระคุณสำหรับกำลังใจ  และความคิดเห็นดี ๆ ค่ะ

ช่วยกันเผยแพร่..ใส่ใจรณรงค์ของดีของไทย..พากันซื้ออุดหนุน..ย่อมธำรงค์ไว้ซึ่งสมบัติไทยนะคะ

เป็นชุมชนที่สะท้อนความเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอย่าวน่าทึ่ง กาลเวลาเปลี่ยนแปลง หมุนเคลื่อนไปอย่างน่าใจหาย แต่การยืนหยัดกับภูมิปัญญาเช่นนี้ คือการยืนหยัดให้รู้ว่า ชีวิตและสังคมที่มีรากนั้น สำคัญจริงๆ...

ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะคุณธรรมทิพย์

  • คุณยายเป็นกำลังใจให้อีกแรงนะคะ
  • มีความสุขกันถ้วนหน้าค่ะ
  • ขอบพระคุณพี่ใหญ่ที่แวะมาเยี่ยมพร้อมกำัลังใจดี ๆ มีให้กันเสมอค่ะ Blank
  • ขอบพระคุณ คุณแผ่นดินBlank
    ที่ช่วยเติมเต็มคมความคิดนั่นคือ "รากร่วมที่เราพึงรักษา"
  • ขอบพระคุณ  คุณมนัสดา Blank
    ที่แวะมาเป็นกำลังใจด้วยความสดใสบ่อย ๆ ค่ะ
    มีความสุขมาก ๆ เช่นกันนะคะ 

สวัสดีค่ะ

อ่านแล้วทำให้คิดว่าเคยได้ไปเยี่ยมคุณครูภูมิปัญญาไทย ชื่อ ลุงอ้อม ทิพโอสถ อายุ 81 ปี อยู่ที่ตำบลน้ำน้อย อำเภอหาดใหญ่  จังหวัดสงขลา ท่านยังคงอนุรักษ์การผลิตกระเบื้องดินเผาโบราณ โดยมากผลิตเป็นกระเบื้องมุงหลังคาค่ะ และเป็นโรงเผากระเบื้องแห่งสุดท้ายในสงขลาแล้ว สำนักงานฯ ก็ไปช่วยส่งเสริมให้ท่านได้อนุรักษ์วิธีทำนี้ไว้ แต่ไม่ค่อยมีใครอยากสืบทอดต่อค่ะ... น่าเสียดายจริงๆ

  • สวัสดีค่ะ คุณหยั่งรากฝากใบBlank
  • ขอบพระคุณที่แวะมาให้ดอกไม้กำลังใจ  พร้อมกับแบ่งปันความคิดเห็นดี ๆ ค่ะ
    ภูมิปัญญาไทยแต่คนไทยไม่เห็นค่าน่าเสียดายคงอยู่กับเราไม่นาน  หากขาดผู้สืบทอดนะคะ
     

เครื่องปั้นดินเผา...หากคิดประยุกต์ ให้เข้ากับ กาลสมัย น่าใช้ ก็คงไม่เสื่อมความนิยม และเป็นการอนุรักษ์ไปด้วย...วัฒนธรรมนี้ก็จะอยู่คู่ ท้องถ่ิ่นไปชั่วลูกหลาน..

พี่ครูสบายดีนะครับ....เปิดเทอมใหม่คงวุ่นวายไม่น้อย....ผมก็วุ่ยวายแต่ในใจยังโอเคกับการเปลี่ยนแปลงและการรับมือกับปัญหาต่างๆ ด้วยความอดทนและมีสติอย่างสงบ.....ผมชอบประโยคนี้ครับ...."คงจะมีบางเมล็ดพันธุ์ที่เติบกล้าและยืนต้นพอที่จะโอบอุ้มมรดกชิ้นสุดท้ายที่พวกเขาหวงแหนตราบนานเท่านาน...." ขอบคุณกับการได้ท่องโลกกับพี่ไปพยกับชุมชนที่มีบริบททางสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจครับ....ส่งกำลังใจให้พี่เสมอครับ

  • ความเร่งรีบมักง่ายที่ทำลายความประณีตละเอียดอ่อนแห่งจิตวิญญาณ
  • รู้สึกเสียดาย น่าเห็นใจอย่างมากค่ะ  เคยรู้สึกแบบนี้ตอนไปทำวิจัยอิฐกระเบื้องอยุธยาที่ทำด้วยมือ เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่มีค่าเช่นกัน แต่ถูกอิฐกระเบื้องโรงงานเข้ามาแทนที่ เพราะว่าผลิตได้เร็ว จำนวนมาก ทั้งที่ไม่คงทน
  • สิ่งที่ทำด้วยมือ ด้วยจิตวิญญาณ จริง ๆ แล้วสูงค่า ประณีต ละเอียดอ่อน งดงามและคงทนกว่ามากค่ะ
  • น่าสนับสนุนมาก
  • ผมเคยผ่านแถวนี้
  • แต่ไม่ได้แวะสักที
  • พี่ครูสบายดีนะครับ
  • ขอบพระคุณ  คุณแว่นธรรมBlank
    ที่แวะมาให้กำลังใจ
    พร้อมกับแนวคิดที่มีคุณค่ายิ่งค่ะ
  • สวัสดีค่ะ คุณหมอทิมดาบBlank
  • ขอบคุณสำหรับกำลังใจและการเยี่ยมเยือน
    พี่ครูเหนื่อยนักกับการเปลี่ยนโรงเรียน อิอิ  แต่ก็สนุกดีค่ะ  ไม่ค่อยมีเวลาเขียน
    บันทึกหรือเยี่ยมเยือนใคร  ต้องขออภัยด้วยค่ะ
  • สุขสันต์เทศกาลบุญค่ะ 
  • สวัสดีค่ะ คุณ SilaBlank
  • ขอบพระคุณสำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กำลังใจดี ๆ ที่มอบให้เสมอ
    พร้อมกับความคิดที่เฉียบคมค่ะ 
  • สวัสดีค่ะ  อาจารย์ขจิตBlank
  • "น่าสนับสนุนมากค่ะ"
  • ขอบพระคุณสำหรับกำลังใจและการแวะมาทักทายค่ะ
  • สุขสบายตามอัตภาพค่ะ
  • สุขสันต์เทศกาลบุญนะคะ
  • เคยได้ยินชื่อคนด่านเกวียน   ไม่ทราบว่าเป็นที่เดียวกับบ้านโรงหวด หรือเปล่าคะ
  • เป็นมรดกจากภูมิปัญญาที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์เพื่อให้ลูกหลานได้ศึกษาค่ะ
  • ขอบคุณเรื่องดีๆค่ะ

 

  • สวัสดีค่ะ คุณครูดาหลา
  • ขอบพระคุณที่แวะมาให้กำลังใจค่ะ "มรดกทางภูมิปัญญา"มีคุณค่า
    แต่ยากนักหนาในการหาผู้สืบทอด
  • "คนด่านเกวียน" น่าจะคนละที่นะคะ
     

ขอเบอร์ติดต่อบ้านโรงหวดหน่อยค่ะ

ขออภัยค่ะคุณนุ่น ไม่ทราบจริง ๆ ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท