ผิวสวยด้วยน้ำมันมะพร้าว


ผิวสวยด้วยน้ำมันมะพร้าว

 ผิวสวยด้วยน้ำมันมะพร้าว

1.  องค์ประกอบของผิวหนัง

ผิวหนัง เป็นอวัยวะที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย อีกทั้งเป็นเนื้อเยื่อที่อยู่ชั้นนอกของร่างกาย ทำหน้าที่ห่อหุ้มร่างกาย มีอยู่ 2 ชั้น คือหนังกำพร้า (epidermis) อยู่ชั้นนอกสุด มีลักษณะบางมาก ประกอบด้วยเซลล์เรียงซ้อนกันเป็นชั้น ๆ และเซลล์ที่มีเมลานิน (melanin) ที่สร้างเม็ดสี ทำให้ผิวหนังมีสีต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับปริมาณเม็ดสี ชั้นถัดเข้าไปเป็นหนังแท้ (dermis) ประกอบด้วยคอลลาเจน (collagen) และอีลาสติน  (elastin) ผิวหนัง ทำหน้าที่เป็นเครื่องกีดขวางที่ร่างกายสร้างขึ้นเพื่อป้องกันอันตรายจากภายนอก และเป็นตัวสะท้อนถึงสุขภาพโดย รวมของร่างกาย เครื่องสำอางที่นิยมใช้กันทั่วไปนั้น กลับเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เพราะมันประกอบด้วยสารพิษ ที่มีศักยภาพในการถูกดูดเข้าไปในกระแสเลือด และเข้าไปสู่เนื้อเยื่อภายของร่างกาย

 

2.  หน้าที่หลักของผิวหนัง

             หน้าที่หลักของผิวหนัง คือการกีดกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าไปในร่างกาย การกีดกันนี้ เป็นทั้งการกีดกันทางกายภาพ และทางเคมี  น้ำมันและเหงื่อที่ขับออกมาจากร่างกายของเรา สามารถสร้างสภาวะทางเคมีที่ไม่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเชื้อโรค ทำให้เชื้อโรคที่เป็นอันตราย เติบโตอย่างยากลำบากในสภาพเช่นนั้น จึงมีปริมาณเพียงน้อยนิด สภาพความเป็นกรด-ด่าง (pH) ของผิวหนัง อยู่ที่ประมาณ 5.0

น้ำมันธรรมชาติที่ร่างกายสร้างขึ้น หรือที่รู้จักกันในชื่อ sebum ประกอบ ด้วยไตรกลีเซอไรด์ขนาดกลาง (medium-chain triglycerides – MCT) ที่คล้ายคลึงกับน้ำมันมะพร้าว บนพื้นผิวของผิวหนังของเรา จะมีแบคทีเรียที่ชอบอาหารที่เป็นไขมัน  แบคทีเรียเหล่านี้ มีความสำคัญต่อสุขภาพของเรา มันจะย่อยส่วนที่เป็นกลีเซอรอลของน้ำมันบนผิวหนังของเรา เกิดเป็นส่วนที่เหลือ คือกรดไขมัน  ในกระบวนการนี้ แบคทีเรียเหล่านี้ เปลี่ยน MCT ในน้ำมันของร่างกาย (sebum) ให้เป็นสารปฏิชีวนะของกรดไขมันขนาดกลาง (medium-chain fatty acids – MCFA) ที่สามารถฆ่าแบคทีเรีย เชื้อรา ยีสต์ และไวรัสที่เป็นอันตราย  ผิวหนังของเรา ถูกห่อหุ้มด้วยชั้นที่ทำหน้าที่ป้องกันของ MCFA ที่สร้างขึ้นโดยแบคทีเรีย  MCFA มีสภาพเป็นกรด จึงช่วยสร้างชั้นการป้องกันที่เป็นกรดขึ้น

MCT ในน้ำมันมะพร้าว หรือในน้ำมันธรรมชาติของร่างกาย (sebum) หรือในที่อื่น ๆ ไม่ได้แสดงสรรพคุณในการต่อต้านเชื้อโรค เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องเข้าใจว่า เมื่อ MCT ถูกย่อย และเปลี่ยนเป็น MCFA เท่านั้น ที่ไปกระตุ้นให้เกิดความสามารถในการฆ่าเชื้อโรคได้ นี่เอง ที่เป็นสาเหตุให้มะพร้าวสด มี เชื้อราขึ้นและเสียได้ ดังนั้น น้ำมันมะพร้าวที่ใช้ทาผิวหนัง จึงไม่ฆ่าแบคทีเรียในทันทีทันใด  การที่ MCT จะเปลี่ยนไปเป็น MCFA ต้องใช้เอนไซม์ที่ผิวหนัง

 

3.  บทบาททางสรีรวิทยาของน้ำมันมะพร้าวต่อผิวหนัง

น้ำมันมะพร้าวมีบทบาททางสรีรวิทยาของต่อผิวหนังดังต่อไปนี้:

 

3.1 ฆ่าเชื้อโรคที่ทำอันตรายต่อผิวหนัง: น้ำมันมะพร้าว มีกรดลอริก ซึ่งเป็นกรดไขมันชนิดเดียวกันกับที่อยู่ใต้ผิวหนัง ที่มีส่วนทำให้ผิวพรรณนิ่มนวล อีกทั้งยังมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรคที่ทำให้เกิดโรคผิวหนัง สิว ฝ้า กระ หูด

 

3.2 ต่อต้านการเติมออกซิเจน: น้ำมันมะพร้าว มีสารต่อต้านการเติมออกซิเจน หรือแอนตีออกซิแดนต์ (antioxidant) ซึ่งช่วยต่อต้านการเติมออกซิเจน ที่เป็นสาเหตุของการเกิดอนุมูลอิสระ ที่เป็นสาเหตุของการเหี่ยวย่นของผิวหนัง จึงช่วยปกป้องผิวหนังจากการทำลายของแสงแดดได้ดี

 

3.3 ถูกดูดซึมเข้าไปในผิวหนังได้รวดเร็ว: น้ำมันมะพร้าวมีโมเลกุลขนาดกลาง จึงซึมผ่านผิวหนังเข้าได้สะดวก และรวดเร็ว

 

3.4  กระตุ้นให้เซลล์ที่ตายแล้วหลุดออก และให้เกิดเซลล์ใหม่: น้ำมันมะพร้าว เป็นสารธรรมชาติ ที่ช่วยให้เซลล์ที่ตายแล้ว หลุดลอกออกจากผิวหนัง (natural exfoliant) ที่ดีที่สุด  หากผิวหนังไม่สามารถลอกเซลล์ที่ตายแล้วออกไป เซลล์ที่เกิดใหม่ จะเกิดบนเซลล์ที่ตายแล้ว ทำให้ผิวหนังหยาบกระด้าง และแตก น้ำมันมะพร้าวจะช่วยให้เซลล์ที่ตายแล้วหลุดออกไป และเปิดโอกาสให้เซลล์ที่เกิดใหม่ แสดงถึงผิวพรรณที่นิ่มนวล และอ่อนวัย

 

4 . น้ำมันมะพร้าวช่วยให้ผิวสวยได้อย่างไร?

น้ำมันมะพร้าวที่บริโภคเข้าไป จะไปสู่ต่อมขุมขนใต้ผิวหนัง ทำให้ผิวพรรณอ่อนวัย ชุ่มชื้น และเนียน  หากชโลมผิว น้ำมันมะพร้าวจะซึมเข้าไปสู่ชั้นในของผิวหนัง ทำให้เนื้อเยื่อแข็งแรง ส่วนการนวดหรือชโลมตัวด้วยน้ำมันมะพร้าว ก็ยิ่งทำให้ผิวพรรณสวยขึ้น ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้:

 

4.1  ผิวดูอ่อนวัย: น้ำมันมะพร้าว เป็นกรดไขมันอิ่มตัว ที่โมเลกุลมีความอยู่ตัวสูง จึงไม่เกิดการเติมออกซิเจน ที่เป็นตัวการของการเกิดอนุมูลอิสระ ยิ่งไปกว่านั้น น้ำมันมะพร้าวยังมีแอนตีออกซิแดนต์ที่ช่วยต่อต้านการเติมออกซิเจนที่ทำให้เกิดอนุมูลอิสระ ที่ทำให้เซลล์ได้รับอันตราย ช่วยกำจัดชั้นเซลล์ผิวหนังที่ถึงอายุขัย และตายทับถมกันจนผิวหนังแห้ง ให้หลุดออกไปจากผิวหนัง และกระตุ้นให้เกิดเซลล์ใหม่ ทำให้ผิวพรรณดูอ่อนวัย ปราศจากรอยเหี่ยวย่น และอาการชราภาพก่อนวัย

 

4.2 ผิวนุ่ม ชุ่ม เนียน: น้ำมันมะพร้าวแทรกซึมเข้าไปใต้ผิวหนังอย่างรวดเร็ว ทำหน้าที่เป็นสารเพิ่มความชุ่มชื้น (moisturizer) ให้แก่ผิวหนังเป็นอย่างดี ทั้งนี้ก็เพราะน้ำมันมะพร้าว เป็นสารตัวเดียวกันกับน้ำมันธรรมชาติ (sebum) ที่มีอยู่ในต่อมขุมขนใต้ผิวหนัง จึงช่วยทำให้ผิวหนังอ่อนนุ่ม ชุ่มน้ำ และเนียน ซึ่งผิดกับเครื่องสำอาง ซึ่งประกอบด้วยน้ำมันแร่ (mineral oil) หรือน้ำมันทานตะวัน ที่เพียงแต่นำน้ำเข้าไปสู่ผิวอย่างชั่วคราว ไม่นานก็ระเหยออกหมด และผิวก็จะกลับเหี่ยวย่นยิ่งไปกว่าเดิม

 

4.3 ป้องกันและรักษาฝ้า กระ จุดหรือรอยบุ๋ม: น้ำมันมะพร้าว มีกรดลอริก ซึ่งจะเปลี่ยนเป็นโมโนลอริน ซึ่งเป็นสารฆ่าเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุของฝ้า (รอยดำคล้ำ หรือปื้นสีน้ำตาลอ่อน) กระ (รอยสีน้ำตาลที่ไม่นูน) จุด หรือรอยบุ๋ม  อีกทั้งยังมีสารต่อต้านการเติมออกซิเจน หรือแอนตีออกซิแดนต์ ช่วยต่อต้านการเกิดอนุมูลอิสระ ที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ผิวหนัง ซึ่งมาจากแสงแดด ผิวพรรณจึงปราศจากสิวฝ้า ฯลฯ

 

4.4   ป้องกันและรักษาโรคผิวหนัง ผื่นคันน้ำมันมะพร้าวช่วยรักษาโรคที่เกิดจากเชื้อโรคผิวหนัง เช่น โรคสะเก็ดเงิน หรือเรื้อนกวาง (psoriasis) และโรคผิวหนังอักเสบ (dermatitis) ซึ่งมีหลายชนิด เช่นโรคผิวหนังที่เป็นผื่นแดง อักเสบ แสบคัน มีน้ำเหลือง และเกิดสะเก็ด (eczema) และโรคผิวหนังติดเชื้ออื่นๆ

 

4.5 ป้องกันและรักษาการเกิดไหม้เกรียมเพราะถูกแสงแดด (sunburn):น้ำมันมะพร้าวช่วยป้องกันการอักเสบ หรือไหม้เกรียมของผิวหนัง เนื่องจากถูกแสงแดด เป็นเวลานาน เนื่องจากมีสารต่อต้านการเติมออกซิเจน ที่ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ ดังนั้น เราจึงใช้น้ำมันมะพร้าวเป็นยากันแดดได้ดี อีกทั้งยังไม่เหนียวเหนอะหนะเหมือนยากันแดดส่วนมาก และราคาก็ถูกกว่าด้วย แต่น้ำมันมะพร้าวจะมีประสิทธิภาพมากแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับน้ำมันที่ท่านบริโภค หากเป็นน้ำมันไม่อิ่มตัว เช่นน้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันทานตะวัน น้ำมันดอกคำฝอย น้ำมันข้าวโพด ฯลฯ จะทำให้ไหม้เกรียมเพราะถูกแดดได้ง่าย ถึงแม้ว่าท่านจะรับประทานน้ำมันมะพร้าวทุกวันเป็นเวลาหลายสัปดาห์ หรือหลายเดือน แต่ถ้าท่านบริโภคน้ำมันไม่อิ่มตัวมามากก่อนหน้านั้น  ผิวหนังของท่านก็จะมีน้ำมันไม่อิ่มตัวสะสมอยู่ ทำให้เกิดรอยไหม้เกรียมเมื่อถูกกับแสงแดดได้ง่าย

นอกจากจะป้องกันแล้ว น้ำมันมะพร้าวยังรักษาอาการไหม้เกรียมเป็นสีแดงของผิวหนังเมื่อถูกกับแสงแดดเป็นเวลานานโดยผิวหนังที่ทานวดด้วยน้ำมันมะพร้าวจะหายแดง และหายปวดแสบปวดร้อน ภายในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง

 

4.6  ป้องกันริมฝีปากแตก: น้ำมันมะพร้าวทำหน้าที่เป็นยาทากันริมฝีปากแตก (lip balm) ได้ดีเพราะช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ริมฝีปากโดยปกติ หน้าหนาว อากาศแห้ง หลายคนจึงมีริมฝีปากแตก หากได้ใช้ lip balm ที่ทำมาจากน้ำมันมะพร้าว จะช่วยไม่ให้ริมฝีปากแตก

 

4.7  รักษาพิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย: นอกจากจะทำให้คัน หรือปวดแสบปวดร้อนแล้วพิษจากแมลงและสัตว์บางชนิดที่กัดหรือต่อย หรือแม้แต่ถูกตัวมัน ก็ทำให้เป็นผื่นแดง ซึ่งจะรักษาได้โดยใช้น้ำมันมะพร้าวมาถูบริเวณที่เป็นผื่นแดง ไม่นานผื่นแดงนั้นก็จะหายไป พร้อมทั้งอาการคันหรือปวดแสบปวดร้อน

 

4.8 ป้องกันและรักษาโรคมะเร็งผิวหนัง: นอกจากจะทำให้ผิวหนังดูอ่อนวัยแล้ว น้ำมันมะพร้าวซึ่งถูกดูดซึมเข้าไปในผิวหนังได้ง่าย เพราะมีโมเลกุลขนาดเล็ก ยังช่วยสร้างความแข็งแรงให้แก่เซลล์ผิวหนัง ทั้งด้านผิวนอก และส่วนลึกเข้าไปข้างใน จึงช่วยต่อต้านการเกิดอนุมูลอิสสระได้  อันส่งผลให้สามารถป้อง กันการเกิดโรคมะเร็งผิวหนังได้เป็นอย่างดี

นอกจากจะทำให้ผิวหนังไม่สวย เป็นผื่น หยาบกระด้าง ฯลฯ แล้ว มะเร็งผิวหนังยังอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต เช่นมะเร็งเม็ดสีผิว (melanoma) เนื่องจากน้ำมันมะพร้าว  มีสารแอนตีออกซิแดนต์ ที่ช่วยต่อต้านการเติมออกซิเจนได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงสามารถต่อต้านการเกิดอนุมูลอิสสระ นอกจากนั้น Fife (2006) ยังได้แสดงให้เห็นว่า น้ำมันมะพร้าวสามารถรักษามะเร็งเม็ดสีผิวได้

 

ขอบคุณข้อมูลผิวสวยด้วยน้ำมันมะพร้าว จากหนังสือ สวยได้ด้วยน้ำมันมะพร้าว โดย ดร. ณรงค์  โฉมเฉลา   

ด้วยควาปรารถนาดี    กานดา แสนมณี

หมายเลขบันทึก: 488769เขียนเมื่อ 22 พฤษภาคม 2012 08:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 กันยายน 2013 12:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ขอบคุณค่ะ..กำลังใช้ของฝากจากกัลยาณมิตรแห่ง gotoknow ค่ะ

 

  • สวัสดีค่ะพี่ดา..คงต้องทดลองใช้อย่างจริงจังแล้วล่ะค่ะ...
  • ขอบคุณมากๆเลยนะคะ

facebook ค้นหา..... น้ำมันสมุนไพรหอม เป็นน้ำมันท่าาผิวหลายชนิดมารวมในขวดเดียว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท