ศาสตร์แห่งการวิจัยทางการเมืองและสังคม


เป้าหมายของศาสตร์เพื่ออธิบายความจริงของโลกในเชิงประจักษ์

บทที่ 2. วิธีทางศาสตร์กับกระบวนการวิจัย

จากความนำ

ศาสตร์ หรือScience มาจากคำว่า scientia ภาษาละติน แปลว่า รู้ ( to know) หมายถึง ผลที่ได้รับจากการศึกษาปรากฏการณ์ทุกอย่าง  เป็นวิธีการที่ไม่มีเนื้อหาสาระที่ตายตัว

เป้าหมายของศาสตร์ก็เพื่ออธิบายความจริงของโลกในเชิงประจักษ์(empirical  world)  และโลกเชิงประจักษ์หมายถึง สภาพที่เราสามารถรับรู้ได้ทางประสบการณ์ หรือจากประสาทสัมผัสของมนุษย์

นักวิชาการทางศาสตร์มีความเชื่อว่า ปรากฏการณ์ที่ได้ทุกอย่างมีสาเหตุไม่ได้มาโดยบังเอิญ หรือสุ่มเสี่ยง ที่เรียกว่า “ลัทธินิยมการกำหนดตัดสิน” (Determinism) ซึ่งได้ทำการวิจัยโดยมีลักษณะร่วมอย่างใดอย่างหนึ่งในขณะศึกษาข้อมูล ที่เรียกว่า “แนวคิด”(concept)  ต่อจากนั้นก็ต้องหาความสัมพันธ์ของแนวคิดที่นักวิจัยได้ค้นหาที่เรียกว่า “ข้อสรุปทั่วไป”  ข้อความที่นำมาสรุปเมื่อนำมาบูรณาการผสมผสานกันเป็นชุด ๆ เรียกว่า “ทฤษฎี”นั่นก็หมายความว่าข้อสรุปหรือทฤษฎีที่ได้มานั้นต้องได้รับการยอมรับที่เกิดจากการทดสอบในเชิงประจักษ์อยู่เสมอเพื่อยืนยันว่าข้อสรุปหรือทฤษฎีเป็นจริง

การสร้างแนวความคิด มีแนวการสร้างได้ดังนี้

  1. แนวความคิดที่เรียกว่า”พฤติกรรมนิยม” เป็นประสิทธิภาพในการสื่อสารได้อย่างเข้าใจของมนุษย์  ระบุลักษณะร่วมของปรากฏการณ์ของแต่ละอย่าง เช่น การนำเอาลักษณะร่วมของผู้มีหน้าที่ในการป้องกันประเทศจำนวนมาก มารวมเรียกว่า”ทหาร” เป็นต้น
  2. แนวความคิดแบบ”ประจักษ์นิยม”และ”ปฏิบัตินิยม”(empiricism and pragmatism) จะเป็นแนวคิดของนักปรัชญาเมธีตั้งแต่สมัยเพลโต้เป็นต้นมา(Plato ก่อน ค.ศ.423 -347 ปราชญ์กรีกโบราณ) 
    ที่ได้ค้นพบสาระที่แท้จริงของแนวความคิดสำคัญจนหมดสิ้นก่อนทำการศึกษาวิจัยเชิงประจักษ์ จึงได้นิยามที่นักวิจัยเชิงประจักษ์กำหนดขึ้นนี้ว่า  “นิยามแบบกำหนดชื่อ”(nominal  definition) หลักในการนิยามนี้จะเหมาะสมหรือไม่  ขึ้นอยู่กับความชัดเจนและประโยชน์ของตัวมันเอง และนักวิชาการทางศาสตร์มุ่งที่จะนิยามแบบกำหนดชื่อ ในลักษณะที่เป็นการปฏิบัติการจริงได้ นั่นคือการสร้างและพัฒนานิยามแนวความคิดต่าง ๆ ขึ้นมาเอง
  3. แนวความคิดแบบ”ความแปลกแยกทางสังคม”เป็นแนวคิดของนักวิจัยบางคนที่พบว่า คนบางคนในสังคมมีความรู้สึกว่าตนเองไร้อำนาจ(Powerlessness) ไร้ความหมาย(meaninglessness) ไร้ปทัสถาน (normlessness) รู้สึกโดดเดี่ยว (isolation) และรู้สึกแปลกหน้าตนเอง(self - estrangement)

ทำให้มีพฤติกรรมทางลบและปลีกตัวออกจากสังคม

                 จากแนวความคิดดังกล่าวอาจทำให้เกิดปัญหาได้ 2 ประการคือ ความรู้ของนักวิชาการที่มาจากนักปรัชญาเมธี ต่างสำนักกันอาจให้ชื่อสิ่งเดียวกันแตกต่างกันได้ ที่เรียกว่าคนละภาษา ทั้งที่เป็นเรื่องเดียวกัน อีกประการ ความรู้ทางวิชาการอาจจะเริ่มที่การสร้างศัพท์ใหม่(Jargonized)เพื่ออธิบายหรือบ่งชี้ถึงเฉพาะสิ่ง ทำให้เข้าใจได้เฉพาะกลุ่มจึงไม่เป็นสากล กล่าวคือ ยังถือว่าไม่เป็น แนวความคิด(concept)

                 ดังนั้นการวิจัยเชิงประจักษ์จึงต้องมีการนิยามแนวความคิด ที่มีความแม่นยำในความหมาย ดัชนีเชิงประจักษ์(empirical  indicator) การนิยามเชิงปฏิบัติการ(operation  definition)เพื่อให้เข้าใจความหมายของแนวความคิด และนอกจากนี้ต้องมีวิธีการประเมินค่าของแนวความคิดด้วย

                 นักวิจัยทุกคนจำเป็นต้อง

  1. เข้าใจวิธีการประเมินค่าของการนิยามแนวความคิด
  2. ต้องพิจารณาว่าแนวความคิดนั้นมีนัยสำคัญเชิงประจักษ์
  3. แนวความคิดนั้มีศักยภาพในการใช้ประโยชน์ได้เพียงใด

                 กล่าวโดยสรุปคุณประโยชน์ของแนวความคิด คือการทำให้นักวิจัยได้เข้าใจปรากฏการณ์หนึ่ง ๆ ได้ตรงกัน

           การสร้างข้อสรุป

             ข้อสรุปทั่วไป คือ ข้อความที่ประกอบขึ้นด้วยความสัมพันธ์ของแนวคิดตั้งแต่สองแนวความคิดขึ้นไป กระบวนการที่จะทำให้ข้อสรุปทั่วไปที่นักวิจัยได้มาซึ่งข้อมูล ถ้าข้อมูลได้มาเพียงบางส่วน หรือใช้กลุ่มตัวอย่างแทนคุณลักษณะของประชากรทั้งหมดได้ เราเรียกว่า การอุปนัย(induction) และสิ่งที่พบนั้นเชื่อว่ามีความสัมพันธ์อย่างหนึ่งจากที่ปรากฏขึ้นและมีความน่าจะเป็นไปได้มากที่สุด นักวิจัยเรียกว่า “สมมุติฐาน”

(hypothesis)

                 การกำหนดกรณีขึ้นมาเพื่อสนับสนุนสมมุติฐานมีอยู่ 2  ขั้นตอน คือ  ขั้นตอนแรก  เลือกกรณีศึกษาตามนัยสมมุติฐานที่มีลักษณะเชิงประจักษ์   ขั้นตอนที่ สอง เลือกกรณีศึกษาตามนัยสมมุติฐานที่มีเหตุผลแห่งความสัมพันธ์บางประการของแนวคิด

                 แนวความคิดที่นำมาหาความสัมพันธ์เชิงเหตุให้เห็นชัดแจ้ง เรียกว่า ตัวแปร(variables) ความสัมพันธ์ หมายถึงตัวแปรตัวแรกมีค่าผันแปรไป อีกตัวหนึ่งจะมีค่าผันแปรตาไปด้วย ตัวแปรที่บ่งบอกลักษณะเชิงสาเหตุ เรียกว่า ตัวแปรอิสระ(independent  variables) และตัวแปรที่บ่งบอกถึงผล เรียกว่า ตัวแปรตาม (dependent  variables)

                 สรุปได้ว่าข้อสรุปทั่วไปได้ยึดหลักการอธิบายในทางตรรกะ เป็นเกณฑ์สำคัญ ในการอธิบายเหตุการณ์ใด ๆ  ในกระบวนการสรุปจากเหตุในประโยคอ้างไปสู่ผลสรุป โดยอ้างกฎที่เป็นนามธรรมไปสู่กรณีที่เป็นนามธรรม ในลักษณะการทอนความเป็นนามธรรมลง เรียกว่า “การนิรนัย”

                 การสร้างทฤษฎี

             การสร้างทฤษฎี เป็นชุดของข้อสรุปทั่วไปซึ่งมีลักษณะคล้ายกฎ  ซึ่งเชื่อมกันได้อย่างมีตรรกะ มีลักษณะสำคัญดังนี้

  1.  มีความสัมพันธ์เชิงตรรกะระหว่างข้อสรุปทั่วไปเหล่านั้น
  2. สามารถสร้างข้อสรุปทั่วไปอันใหม่ขึ้นมาได้เนื่องจากข้อสรุปทั่วไปเหล่านี้สัมพันธ์กันในเชิงตรรกะ
  3. ยากต่อการสังเกตการณ์แนวความคิดเหล่านั้นโดยตรง เนื่องจากทฤษฎีเป็นแนวความคิดในข้อสรุปทั่วไปที่มีความเป็นนามธรรมสูง

วิธีการทางศาสตร์ดังกล่าว ไม่ใช่สูตรสำเร็จที่จะทำให้การวิจัยมีประสิทธิภาพสูง แต่เป็นเพียงหลักเกณฑ์หรือมาตรฐานกลางของการวิจัยเชิงประจักษ์

มาตรฐานกลางของศาสตร์

นักปรัชญาทางศาสตร์ ได้ยกประเด็นปัญหาสำคัญ 3 ประการคือ

  1. ปัญหาความแตกต่างกันระหว่างข้อความที่ได้จากการสังเกตการณ์กับข้อความในทฤษฎี  เพราะข้อความที่ได้จากการสังเกตการณ์นั้นสามารถตรวจสอบได้โดยตรงว่าถูกต้องหรือไม่ ในทางตรงข้ามข้อความในทฤษฎี  ไม่สามารถตรวจสอบได้โดยตรงว่าถูกต้อง  ต้องนำข้อความที่ได้จากการสังเกตการณ์นั้นไปอธิบายความถูกต้องตามทฤษฎี
  2. ข้อแตกต่างระหว่างข้อเท็จจริงกับค่านิยม  ค่านิยมไม่สามารถรู้ข้อความใดที่ใช้แสดงได้แต่ข้อเท็จจริงมี 2  ชนิด คือ ข้อเท็จจริงเชิงกายภาพ(physical) หมายถึงเป็นคุณลักษณะที่สังเกตได้และสัมผัสได้โดยตรง กับข้อเท็จจริงเชิงสถาบัน(institutional) หมายถึง ความหมายเชิงสถาบันแต่พ่วงด้วยข้อมูลจากข้อเท็จจริงเชิงกายภาพ

          ข้อโต้แย้งระหว่างนักรัฐศาสตร์กลุ่มจารีตนิยมกับพฤติกรรมนิยม เกิดจาก

  1. ความซับซ้อนของพฤติกรรมมนุษย์
  2. เจตจำนงอิสระ
  3. ปฏิกิริยาของมนุษย์ต่อสิ่งแวดล้อม
  4. การแยกข้อเท็จจริงกับค่านิยมออกจากกัน

ความเหมาะสมของการศึกษาสังคมในฐานะศาสตร์

            การดำรงชีวิตโดยทั่วไปมีความแตกต่างจากวิธีการทางศาสตร์ เพราะคนทั่วไปจะตัดสินปรากฏการณ์รอบตัวด้วยตัวเขาเอง ในขณะที่นักวิจัยตัดสินปรากฏการที่ตนศึกษาโดยมาตรฐานวิชาการทางศาสตร์เป็นสำคัญแล้วจึงยอมรับความเป็นจริง

             ดังนั้นนักวิจัยทางศาสตร์ต้องทำความเข้าใจโลกเชิงประจักษ์ยิ่งกว่าบุคคลธรรมดา เพราะ เป้าหมายสำคัญคือ การสร้างเครือข่ายการสื่อสารให้กระชับชัดเจน  เพื่อที่จะให้สามารถเปรียบเทียบประสบการณ์ของกันและกันได้ อันเป็นหลักฐานในการพัฒนาความรู้ความเข้าใจของศาสตร์โลกเชิงประจักษ์ได้กระชับและชัดเจนมากที่สุด

 บทที่ 3ความรู้ทางศาสตร์กับกุศโลบายในการวิจัย

ความนำ

          เป้าหมายของศาสตร์ คือ การได้มาซึ่งองค์ความรู้  เทคนิคารวิจัยทั้งหลายได้กำหนดขึ้นตามปรัชญาความรู้ ในบทนี้เป็นการพิจารณาถึงคุณลักษณะที่สำคัญของความรู้ทางศาสตร์  ตลอดจน

กุศโลบายในการค้นหาความรู้ทางศาสตร์

ทฤษฎีความรู้

            ทฤษฎีความรู้ เป็นปรัชญาทั่วไปหรือปรัชญาบริสุทธิ์สาขาหนึ่งเพื่อให้ได้ทัศนวิสัยที่เต็มรูปแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ คือ ส่วนที่เป็นความจริง(Reality) และส่วนที่เป็นความสัมพันธ์ของความจริงกับสิ่งอื่น

ประเภทของปรัชญา

ปรัชญาแบ่งได้ 2 ประเภท คือ

  1. ปรัชญาบริสุทธิ์ ได้แก่ อภิปรัชญา(metaphysics)  ทฤษฎีความรู้(epistemology) คุณวิทยา(axiology)
  2. ปรัชญาประยุกต์ ได้แก่ ปรัชญาศาสนา  ปรัชญาประวัติศาสตร์  ปรัชญาคณิตศาสตร์  ปรัชญาวิทยาศาสตร์  ปรัชญาการเมือง  เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า ความรู้ทางศาสตร์ ก็ขึ้นอยู่กับปรัชญา   ความรู้หรือทฤษฎีทางศาสตร์ทั้งหลายต่างก็มีความเป็นจริงเชิงอภิปรัชญาแฝงอยู่เบื้องหลังด้วยเสมอ  และทฤษฎีความรู้เป็นกระบวนการค้นหาความจริง ซึ่งก็มีสิ่งสำคัญที่มีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ 3 อย่างคือ  ข้อเท็จจริง  (fact)ความจริง(truth)และความเป็นจริง(reality)

การรู้ความจริง

การรู้ความจริง เป็นความจริงมีพื้นฐานอยู่กับความรู้ในการที่จะบอกคุณลักษณะอย่างหนึ่งเป็นความจริงนั้นหลักการสำคัญขึ้นอยู่กับปรัชญาพื้นฐานของแต่ละกลุ่ม เช่น หลักการความสอดคล้องกัน(correspondences) หลักการเชื่อมนัยกัน(coherence) และการใช้งานได้(workability)

ทฤษฎี

ทฤษฎี มีความหมายสำคัญอยู่  2 แนวความคิดคือ

  1. ทฤษฎี คือ ความรู้ทางศาสตร์ที่มีกลุ่มของข้อสรุปทั่วไปเชิงประจักษ์หรือ กฎเป็นชุด ๆ ที่สนับสนุนกันอย่าง แน่นแฟ้น  ที่เรียกว่า เป็นทฤษฎีในรูปแบบชุดของกฎ(self – of – law from of Theory)
  2. ทฤษฎีคือ ชุดของคำนิยาม  สัจพจน์และประโยคตรรกะ  ซึ่งได้มาจากการอนุมานจากสัจพจน์หลายสัจพจน์  หรือที่เรียกว่า ทฤษฎีในรูปแบบกระบวนการสัจพจน์(Axiomatic  From  of  Theory)

                   จากความหมายดังกล่าวสรุปได้ว่า ทฤษฎีคือ ความรู้ของข้อสรุปทั่วไปเชิงประจักษ์ที่สนับสนุนกันอยู่ที่ปรากฏเป็นชุดของกฎ สัจพจน์ เกี่ยวกับเหตุการณ์

แนวความคิดกับความรู้ทางศาสตร์

               แนวความคิด มีปัจจัยมาจากความมั่นใจของนักวิชาการผู้นั้นว่าเข้าใจความหมายของแนวความคิดหรือข้อความนั้น และว่าแนวความคิดหรือข้อความนั้นเป็นประโยชน์ในอันที่จะบรรลุเป้าหมายของศาสตร์ได้ และสิ่งสำคัญในการที่จะตัดสินเป็นแนวความคิดต้องเกิดจากการตรวจสอบในแน่ใจว่าคนอื่น ๆ มีความเห็นสอดคล้อง หรือเชื่อมนัยการตีความ อันจะเป็นประโยชน์ที่จะบรรลุเป้าหมายของศาสตร์

              ความรู้ทางศาสตร์ เกิดขึ้นได้จะต้องได้รับการยอมรับในความหมายแนวความคิดนั้นเสียก่อนโดยมีลักษณะที่พึงประสงค์ 3 ประการคือ

  1. เป็นนามธรรม กล่าวคือ ไม่ขึ้นกับกาลเวลาหรือสถานที่
  2. เป็นสหอัตวิสัย(intersubjectivity)  กล่าวคือ เป็นสิ่งที่นักวิชาการทั้งหลายให้ความหมายสอดคล้องกัน
  3. เป็นสิ่งที่ประจักษ์มีหลักฐาน กล่าวคือ สามารถเชื่อมนัยเข้ากับข้อคนพบเชิงประจักษ์ได้

ประโยชน์ของความรู้ทางศาสตร์

                   นักวิชาการได้ให้ความเห็นองค์ความรู้จะให้ประโยชน์ 5  ประการคือ

  1. ช่วยจัดระเบียบ  จัดประเภทของสิ่งทั้งหลาย
  2. ทำนายปรากฏการณ์ในอนาคต
  3. อธิบายปรากฏการณ์อดีต
  4. ช่วยให้เกิดความเข้าใจปรากฏการณ์
  5. ช่วยในการควบคุมปรากฏการณ์

กุศโลบายในการค้นหาความรู้ทางศาสตร์

                   กุศโลบายในการค้นหาความรู้ทางศาสตร์ตามแนวทางของฟรานซิส เบคอน  มี 3  แนวทางคือ 

  1. การวิจัยแล้วจึงกำหนดเป็นทฤษฎี(research - then – theory) มีขั้นตอนคือเลือกปรากฏการณ์หนึ่งขึ้นมาแล้วระบุ(วัดค่า)คุณลักษณะทั้งหมดของปรากฏการณ์นั้น นำมาวิเคราะห์ข้อมูลอย่างรอบคอบ หากพบรูปแบบที่สำคัญ ก็ให้กำหนดรูปแบบเหล่านี้เป็นความเชิงทฤษฎี ซึ่งเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ
  2. การกำหนดทฤษฎีแล้วทำการวิจัย (theory - then – research) มีขั้นตอนการดำเนินการ คือ

1)      ระบุทฤษฎีให้ชัดเจน

2)      เลือกข้อความที่ระบุไว้ในตัวทฤษฎีไปเชื่อมนัยกับผลของการวิจัยเชิงประจักษ์  กำหนดปรากฏการณ์ขึ้น

3)      ทดสอบความสอดคล้อง หากข้อความไม่สอดคล้องกับผลการวิจัยให้เปลี่ยนทฤษฎีแล้วย้อนกลับไปดำเนินการในขั้นตอนที่ 2

4)     หากข้อความสอดคล้องกับผลการวิจัย ให้ทดสอบต่อไปว่า ตัวทฤษฎีนั้นมีข้อจำกัดอะไรบ้าง

  1. แนวทางผสมระหว่างสองแนวทางดังกล่าว มีกิจกรรมทางศาสตร์ 3  ขั้นตอนคือ

1)      การสำรวจ(exploratory) เนื้อหาในการวิจัยต้องกำหนดให้ยืดหยุ่นได้พอสมควร และให้ครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่าง

2)      การพรรณนา (descriptive) ต้องพรรณนาอย่างรอบคอบถึงแบบแผน(patterns) ที่สงสัยในขั้นตอนของการสำรวจ

3)      การอธิบาย(explanatory) เป้าหมายของขั้นตอนนี้คือ การสร้างทฤษฎีที่ชัดแจ้งเพื่อใช้อธิบายข้อสรุปทั่วไปเชิงประจักษ์ ที่เกิดขึ้นในขั้นตอนที่สอง ตามวัฏจักร  คือ สร้างทฤษฎี  ทดสอบทฤษฎี  สร้างทฤษฎีขึ้นมาใหม่

                   สรุปได้ว่า  ศาสตร์มีคุณประโยชน์ ในการแยกประเภท  อธิบาย   และทำนาย ในการกำหนดเป็นทฤษฎี ได้ แต่มีข้อจำกัด คือ การควบคุมปรากฏการณ์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตัวแปรที่เกี่ยวข้อง

 บทที่ 4การใช้เหตุผลในการวิจัย

 ความนำ

            การเรียนรู้หลักการใช้เหตุผลจะอำนวยประโยชน์ทั้งในด้านพัฒนาความเป็นศาสตร์ของสังคมศาสตร์และพัฒนาตัวบุคคลผู้ทำการศึกษาวิจัยอีกด้วย ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับการใช้เหตุผลตามหลักตรรกวิทยาอีกด้วย

ความผิดพลาดในการอ้าง

          การอ้างที่สมเหตุสมผลต้องมีองค์ประกอบดังนี้

  1. วิธีการอ้างถูกต้องตามแบบแผนการใช้เหตุผลหรือถูกต้องตามหลักตรรกวิทยา
  2. ข้ออ้างหรือประโยคอ้างเป็นจริง

การอ้างที่ไม่สมเหตุสมผลอาจเกิดจากสาเหตุ  3  ประการดังนี้

  1. วิธีการอ้างผิดไปจากหลักการใช้เหตุผล หรือผิดหลักตรรกวิทยา
  2. ข้ออ้างหรือประโยคอ้างไม่เป็นจริง
  3. ข้ออ้างและข้อสรุปไปเกี่ยวเนื่องหรือไม่สอดคล้องกัน  อ้างวนกลับ

การอ้างแบบนิรนัย

          การอ้างแบบนิรนัย(deductive   argument) เป็นการอ้างที่ประโยคอ้างให้หลักฐานแก่ข้อสรุป  ถ้าประโยคอ้างทั้งหมดเป็นความจริง ข้อสรุปย่อมเป็นจริง

ความสมเหตุสมผลของการอ้างแบบนิรนัย

          การอ้างแบบนิรนัยที่สมเหตุสมผลต้องผ่านการทดสอบเงื่อนไข 3 ประการดังนี้ (copi,1986)

  1. เทอมกลางต้องกระจายหนึ่งครั้ง
  2. เทอมนอก (ประธานหรือภาคแสดง)กระจายไม่ใช่หนึ่งครั้ง
  3. ประโยคอ้างแบบปฏิเสธต้องีจำนวนเท่ากับข้อสรุปแบบปฏิเสธ

 ตัวอย่างที่สมเหตุสมผลตามหลักเกณฑ์

            นักการเมืองทุกคนเป็นคนขยันขันแข็ง

            คนขยันขันแข็งเป็นคนคล่องแคล่ว

            เพราะฉะนั้น นักการเมืองทุกคนเป็นคนคล่องแคล่ว

การอ้างแบบอุปนัย

            การอ้างแบบอุปนัย(inductive  arguments) อนุมานเอาข้อสรุปที่มีลักษณะทั่วไปจากประโยคอ้างหรือการสังเกตการณ์เฉพาะอย่างนั่นคทอ เงื่อนไขของประโยคอ้างทำให้ข้อสรุปมีลักษณะเป็นเพียง “ความน่าจะเป็น” เท่านั้น อย่างไรก็ตาม นักสังคมศาสตร์ใช้การอ้างแบบอุปนัยในการวิจัยทางสังคมศาสตร์  ทำให้เข้าใจในผลงานการวิจัยของคนอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ(copi,1986)

ความผิดพลาดของการอ้างแบบอุปนัย

            ในการอ้างแบบอุปนัย แม้ประโยคอ้างจะเป็นจริง ข้อสรุปอาจเป็นเท็จได้  ซึ่งเป็นปัยหาสำคัญสำหรับนักสังคมศาสตร์  ทำให้ต้องพยายามลดความผิดพลาดน้อยที่สุดโดยป้องกันเรื่อง

  1. ความไม่เพียงพอทางสถิติ(insufficient  statistics)
  2. อคติของสถิติ (biased statistics ) (copi,1986)

การอ้างสาเหตุ

          การอ้างสาเหตุ(causation)เป็นประเด็นสำคัญในการวิจัย  ซึ่งมีบทบาทในการวิจัยทางสังคมศาสตร์อย่างมาก

ลักษณะของการอ้างสาเหตุ มีเงื่อนไขดังนี้

  1. จำเป็นหรือ necessary   condition เป็นเงื่อนไขที่ต้องมี
  2. เพียงพอ หรือ sufficient  condition  ต้องมีให้ครบถ้วน
  3. เสริม  หรือ  contributory  condition เป็นเงื่อนไขที่เสริมระบุความน่าจะเป็นมากขึ้น
  4. สลับ หรือ alternative condition เป็นเงื่อนไขหนึ่งที่มักจะมีเมื่อเกิดเหตุการณ์อย่างหนึ่งเกิดขึ้น
  5. คู่กรณี  หรือ  contingent condition เป็นปัจจัยที่ส่งผลให้กับเงื่อนไขเสริม
  6. ใกล้และไกล หรือ  proximate  and  remote  condition  เป็นสาเหตุที่เป็นลูกโซ่ หรือสาเหตุ
    ที่ต่อเนื่องกัน
  7. หลากหลาย  หรือ multiple  condition เป็นเหตุการณ์ทางการเมืองและสังคมแทบทั้งหมด
    ที่ปรากฏการณ์ที่ซับซ้อน

การอ้างสาเหตุในพุทธศาสนา

            การอ้างสาเหตุในทางพุทธศาสนาอยู่ประเภทสาเหตุหลากหลาย  แต่ละสาเหตุส่งผลแต่ละวาระ  ผลทุกอย่างต้องมีเหตุ  และนั่นคือ กฎแห่งกรรม  ซึ่งถือว่าเป็น ปรมัตถ์สัจจะที่สำคัญที่สุดในอภิธรรมปิฎก ที่ได้อธิบายเรื่อง ปฏิฐานทั้ง 24  ปัจจัย  คำว่าปัจจัยเป็นเครื่องเกื้อหนุน การเกิด  ตั้งอยู่และเปลี่ยนแปลงของสิ่งหนึ่งย่อมต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่างเกื้อหนุน

เกณฑ์ในการอนุมานสาเหตุ

            นักวิชาการให้คำนิยาม สาเหตุ มี 3 ชนิด คือ

  1. เกิดตามกัน หรือ temporal  precedence  กล่าวคือ เหตุต้องเกิดก่อนผลเสมอ
  2. เกิดร่วมกันเสมอ หรือ constant  conjunction กล่าวคือ เหตุการณ์ทั้งสองเป็นไปด้วยกันทั้งเหตุและผล
  3. ไม่ใช่ความสัมพันธ์หลอก หรือ non- spuriousness กล่าวคือเหตุการณ์ทั้งสองเช่นเดียวกันกับข้อ 1 และ ข้อ 2  ซึ่งทั้งสองเหตุการณ์อาจสัมพันธ์กันเพราะต่างก็เกิดมจากสาเหตุเดียวกันได้

จะเห็นได้ว่านักวิชาการมีวิธีการที่หลากหลายในการตรวจสอบความสัมพันธ์เทียม โดยอาจจะควบคุมตัวแปรสลับ  วิธีการสุ่มด้วยวิธีกลุ่มความน่าจะเป็น  และการวิเคราะห์ทางสถิติ

ความผิดพลาดนอกตัวแบบหรือการละทิ้งเหตุผล

            ความผิดพลาดนอกตัวแบบเกิดจากการไม่ใช้หลักของเหตุผล  โดยเฉพาะการอ้างที่สมเหตุสมผลทางตรรกวิทยา   

            ความสมเหตุสมผลของการวิเคราะห์  สังเคราะห์  หรือการอธิบายในขั้นตอนต่าง ๆ ของกระบวนการวิจัยขึ้นอยู่กับตรรกะแห่งการใช้เหตุผล  การทำความเข้าใจหลักการใช้เหตุผลให้ถูกต้องจึงมีความจำเป็นยิ่งสำหรับนักวิจัย  การใช้เหตุผลมีขั้นตอน ตั้งแต่ การออกแบบวิจัย  การตั้งสมมุติฐาน  และการทดสอบสมมุติฐาน

 บทที่5 การอธิบายและการทำนายทางศาสตร์

ความนำ

            การอธิบาย(explanation) และ การทำนาย(prediction) นั่นคือในการศึกษาวิจัยทางสังคมศาสตร์ ขึ้นอยู่กับหลักการอ้างแบบนิรนัยทั้งสิ้น

เนื้อหาหลัก

            การอธิบายและการทำนายทางวิชาการมีเนื้อหาหลักดังนี้

  1. กฎการอธิบายแบบอุปนัยและแบบนิรนัย
  2. ระดับความสมบูรณ์ของการอธิบายแบบต่าง ๆ
  3. ลักษณะของการอธิบายแบบระบุการก่อเกิด(genetic) แบบให้เหตุผล(rational) แบบเน้นอัชฌาสัย(dispositional) และแบบเน้นหน้าที่ (functional)
  4. รูปแบบของการทำนายทางศาสตร์
  5. กรณีที่อธิบายสาเหตุได้แต่ทำนายผลไม่ได้  และกรณีทำนายผลได้แต่อธิบายสาเหตุไม่ได้

กฎการอธิบาย

          การอธิบาย คือ การตอบคำถาม”ทำไม” การอธิบายมีอยู่หลายรูปแบบ เช่น แบบระบุการก่อเกิด (genetic)  แบบให้เหตุผล  (rational)อัชฌาสัย(dispositional) และแบบเน้นหน้าที่ (functional) 

การอธิบายเหมาะสมสำหรับใช้ในการศึกษาวิจัยต้องสอดคล้อง กับกฎอธิบาย หรือการอธิบายอย่างตรงตาหลักตรรกะ  ซึ่งเป็นกฎที่ครอบคลุมเงื่อนไขทั้งหมดที่เกียวข้อง มีอยู่ 2 แบบ คือ  การอธิบายแบบนิรนัยและ การอธิบายแบบอุปนัย

ความสมบูรณ์ของการอธิบาย

          การอธิบายทั้งหลายมีความสมบูรณ์แตกต่างกัน (Hempel,1965:pp.415 – 415 - 424) กล่าวโดยสรุป  ความสมบูรณ์ของการอธิบายขึ้นอยู่กับปัจจัย 2 ประการ คือ  ความสมบูรณ์ของข้อสรุปทั่วไป และ ความสมบูรณ์ของข้อมูลของปรากฏการณ์นั้น  แต่เราอาจจำแนกความสมบูรณ์ของการอธิบายออกได้ 4 ประเภท คือ

  1. 1.  สมบูรณ์มาก  กล่าวคือ ต้องสามารถระบุข้อสรุปทั่วไปได้ ซึ่งหาได้ยากในทางสังคมศาสตร์
  2.  สมบูรณ์เป็นเสี้ยว กล่าวคือ เราต้องรู้ข้อสรุปทั่วไปและสภาพของปรากฏการณ์ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด แต่ไม่ได้ระบุไว้ทั้งหมด 
  3. สมบูรณ์เฉพาะบางส่วน   รู้ข้อสรุปทั่วไปและสภาพของปรากฏการณ์ที่เกี่ยวข้องบางส่วนเท่านั้นโดยระบุเหตุการณ์นั้นไว้ทั้งหมด เหตุการณ์นี้มักจะเกิดขึ้นกับนักรัฐศาสตร์และนักสังคมศาสตร์ส่วนมา
  4. การอธิบายแบบภาพร่างรู้ข้อสรุปทั่วไปและสภาพของปรากฏการณ์ที่เกี่ยวข้องบางส่วนเท่านั้นซ้ำยังระบุเหตุการณ์นั้นไว้เพียงบางส่วนอีกด้วย จึงเป็นข้อมูลหยาบ ๆ ต้องนำมาปรับปรุง

บทเสริมในการอธิบาย

          การอธิบายปรากฏการณ์ทางรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์แทบทั้งหมดไม่ได้เป็นตามตัวแบบของกฎอธิบาย (covering – law model )บ่อยครั้งที่พบ ในการอธิบายแบบ ระบุการก่อเกิด  ให้เหตุผล  เน้นอัชฌาสัย และเน้นหน้าที่ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าข้ออ้างเหนือเงื่อนไขที่ละไว้

การทำนาย

            การทำนาย คือ การตอบคำถามว่า “อะไรเกิดขึ้นในอนาคต” ที่เป็นเป้าหมายหลักของศาสตร์เช่นเดียวกับการอธิบาย   โดยความเป็นจริงแล้ว การทำนายเป็นเพียง”ความน่าจะเป็น”

ข้อสังเกตเกี่ยวกับการอธิบายและการทำนาย

            การที่เราทำนายได้แต่อธิบายไม่ได้เพราะเรารู้เงื่อนไข  หรือสภาพของสภาพการณ์บางเงื่อนไข แต่ไม่รู้กฏที่เกียวข้องกับปรากฏการณ์นั้น

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 488622เขียนเมื่อ 20 พฤษภาคม 2012 22:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 14:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท