KM00100 : แค่นิดเดียว


สังคมไทยชอบคิดว่า "นิดเดียว ไม่เป็นไรหรอก" แต่จริงๆ แล้ว เรามักจะทำ "นิดเดียว" ซ้ำๆ กัน จนกลายเป็น "เยอะ" จากเยอะก็กลายเป็น "ชิน" และสุดท้ายเมื่อ "ชิน" นานๆ เข้า เรื่องผิดก็จะกลายเป็นถูก

ในหมู่บ้านผมตามสี่แยกต่างๆ มักจะมีวงเวียน ทั้งขนาดใหญ่และเล็กแตกต่างกันออกไป นอกจากจะทำให้เกิดความสวยงามจากต้นไม้ที่ปลูกไว้แล้ว วัตถุประสงค์หลักๆ คงต้องการให้เกิดความปลอดภัยกับผู้ที่ต้องใช้ถนนร่วมกัน โดยปกติรถที่ผ่านวงเวียนก็ต้องเวียนขวา และต้องให้รถทางขวาไปก่อนเสมอ แบบนี้ก็จะลดอุบัติเหตุได้ วงเวียนเหมาะสำหรับเส้นทางสัญจรที่รถไม่มาก หากที่ไหนมีรถมากก็จะกลายเป็น "วงเวียนหัว" และก่อให้เกิดอุบัติเหตุมากกว่าลดอุบัติเหตุ สีแยกที่มีรถมากจึงแนะนำให้ให้ใช้สัญญาณไฟจราจรน่าจะดีกว่า

 

เรื่องของเรื่องที่ไม่น่าจะเป็นเรื่องก็คือ ในหมู่บ้านมักมีคนชอบ "ตัดวงเวียน" ไม่ได้หมายถึงการเอาเครื่องมือมาตัดนะครับ แต่เป็นการขับรถไม่เวียนขวาตามกติกา ให้นึกภาพเราขับรถมาเจอวงเวียน แต่ต้องการจะไปซอยที่อยู่ทางขวามือ หากทำตามกติกา เราต้องขับรถอ้อมวงเวียนเพื่อเลี้ยวไปซอยทางขวา แต่เมื่อเรามองดูแล้ว (คิดว่า) ไม่มีใคร (คิดว่า) ไม่มีรถคันอื่น (คิดว่า) ปลอดภัย เราจึงจัดแจงเลี้ยวขวาซะเลย แบบนี้เรียกว่า "ตัดวงเวียน"

 

ประเด็นมันอยู่ตรงที่ ไอ้ที่ "คิดว่า" ทั้งหลาย มันมีคนเห็น แล้ว "คิดว่า" มันไม่ถูกต้อง "คิดว่า" มันไม่ปลอดภัย จึงนำมา Post กันใน Social Network ของหมู่บ้าน ทั้งตักเดือนแบบสุภาพ ทั้งตักเดือนแบบไม่สุภาพ (กระแนะกระแหน -อ่านว่า กระ-แนะ-กระ-แน๋ ไม่ได้เขียนคำนี้ซะนานเล่นเอาไม่แน่ใจ) การตอบสนองของคนที่เห็นก็แตกต่างออกไป ขึ้นกับประสบการณ์ของคนเกี่ยวกับเรื่องจราจรบนท้องถนน บางคนอาจเฉยๆ บางคนอาจหงุดหงิดเพราะเคยมีปัญหาเฉี่ยวชนกับผู้ทำผิดกฏจราจร บางคนอาจโมโหเพราะอาจมีญาติพี่น้องเสียชีวิตจากผู้ไม่เคารพกฏจราจร

 

สิ่งที่น่ากังวลสำหรับผมถึงแม้ว่าสิ่งเหล่านี้อาจจะมองเป็นเรื่องเล็กน้อยสำหรับบางท่านแต่สำหรับผมอาจไม่ใช่ เนื่องจากผมมักพูดอยู่เสมอว่า "สิ่งใดที่ผู้ใหญ่ทำ เด็ก(ซึ่งก็คือผู้ใหญ่ในอนาคต) จะทำตาม" มีบางท่านตอบโต้กลับมาว่า "เป็นวิจารณญาณของคนขับรถเอง เขาคงดูดีแล้วถึงได้ทำ ไม่อย่างนั้นคงมีอุบัติเหตุไปแล้ว" ยิ่งเป็นเรื่องที่น่าวิตกไปใหญ่ สังคมไทยชอบคิดว่า "นิดเดียว ไม่เป็นไรหรอก" แต่จริงๆ แล้ว เรามักจะทำ "นิดเดียว" ซ้ำๆ กัน จนกลายเป็น "เยอะ" จากเยอะก็กลายเป็น "ชิน" และสุดท้ายเมื่อ "ชิน" นานๆ เข้า เรื่องผิดก็จะกลายเป็นถูก เพราะทำตามๆ กัน จึงไม่แปลกใจอะไรที่ตอนเช้าๆ ผมเห็นพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กจะขับรถสวนเลนที่ห้ามเข้าเพื่อไปส่งลูกให้ถึงโรงเรียนเร็วขึ้น แรกๆ ก็มีไม่มาก หลังๆ ก็ขับตามๆ กัน บางครั้งพอมีรถที่ขับถูกกฏจราจรสวนมา ก็บีบแต่หรือเปิดไฟสูงใส่ จนคนที่ขับถูกกฏก็ "งง" ว่าตกลงเราขับผิดหรือเปล่า สำหรับเด็กอาจไม่ถาม และอาจชอบที่ไปถึงโรงเรียนเร็วดี บางครั้งอาจจะเอาไป "คุยทับ" เพื่อนๆ ที่มาที่หลังเพราะพ่อแม่มัวแต่ทำตามกฏ และเขาจะ "จำ" และ "ทำตาม" ในที่สุดโดยไม่รู้สึกผิด สุดท้ายคนที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์อาจถูกมองเป็น "ตัวตลก" เพราะเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็ทำกัน

 

ทั้งหมดนี้อาจเกิดจาก สังคมที่เปลี่ยนไป เราไม่ได้สอนให้คนรู้จักเห็นอกเห็นใจคนอื่นเพราะหากเรามีสิ่งนี้ก็แทบไม่ต้องบอกว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ เราพบว่า คนคิดถึงแต่ตัวเองมากขึ้น เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง ฟังคนอื่นน้อยลง เน้นวัตถุนิยม  กฏ กติกา ใดๆ ก็ใช้ไม่ได้ครับหากคน "ไม่มีจริยธรรม"

คำสำคัญ (Tags): #km
หมายเลขบันทึก: 488556เขียนเมื่อ 19 พฤษภาคม 2012 23:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 11:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เข้าข่าย Permit and Promote ค่ะ คงต้องรณรงค์ให้ทำตามกฎให้มากขึ้น หรือไม่คงต้องมีกฎที่เข้มงวด หรืออาจต้องใช้วิธีการแก้ไขแบบไม่มีโอกาสให้เลือกได้เลยเช่นสร้างสิ่งกีดขวางเป็นต้น (โหดหน่อยค่ะ)

สวัสดียามดึกค่ะ ;)

ผมคิดว่าสำคัญที่สุดคือใจคนนะครับคุณคิดคม ผมยกตัวอย่างที่เคยเจอตอนกลับบ้านนอก สี่แยกไฟแดงในหมู่บ้านเล็กๆ ในขณะที่ไม่มีรถผ่านนานเป็นนาทีแต่ทุกคนรวมทั้งคุณตาที่ขับมอเตอร์ไซด์ จอดรอไฟแดง สิ่งสำคัญที่อยู่ในใจของคนเหล่านั้นกลับค่อยๆ หายไปจากคนเมือง..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท