ครูนอกกะลา..ผู้กล้าพับกระต่าย..ขณะที่ใครๆ เขาพับนกกัน


ผมอ่านบทความชิ้นนี้จากคอลัมน์ BeMyGuest ในกรุงเทพธุรกิจ เซ็คชั่นเสาร์สวัสดี ฉบับวันเสาร์ที่ 8 สิงหาคม 2552 เขียนโดยคุณเพ็ญลักษณ์ ภักดีเจริญ

   ผมอ่านอย่างมีความสุขท้วมท้นอยู่ในหัวใจอย่างบอกไม่ถูก เป็นเรื่องราวของครูใหญ่ โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา ที่ จ.บุรีรัมย์ โรงเรียนในฝันของผมอีกแห่งหนึ่ง

ผมตั้งใจไว้ว่าถ้าไปบุรีรัมย์เมื่อไร ต้องไปเยี่ยมโรงเรียนนี้ให้ได้ 

โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาเป็นคล้ายๆ โรงเรียนทางเลือก ริเริ่มโดยคุณมีชัย วีระไวทยะ นายกสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน ที่ต้องการสร้างระบบการเรียนการสอนแนวใหม่ในชนบท

ได้การสนับสนุนด้านการเงินจาก เจมส์ คลาร์ก ชาวอังกฤษ

โดยมีคุณวิเชียร ไชยบัง เป็นครูใหญ่ ผู้ปลุกปั้นให้โรงเรียนแห่งนี้มาสู่ปีที่ 7 แล้ว

ลำปลายมาศพัฒนา เป็นโรงเรียนสำหรับเด็กยากจน ให้โอกาสเด็กชนบท ไม่เก็บค่าเล่าเรียน เปิดสอนตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงประถม และกำลังจะเปิดระดับมัธยม  

โรงเรียนนี้แตกต่างจากโรงเรียนทั่วไป ที่นี่มุ่งเน้นให้เด็กนักเรียน เรียนรู้ตามศักยภาพของตัวเองและต้องคิดเป็น

โดยมีรูปแบบและกระบวนการสอนที่ไม่เหมือนใคร ทำให้เด็ก ๆ  ครู และผู้ปกครอง มีความสุข เพราะที่นี่..

..ไม่มีการสอบ..ไม่มีเสียงระฆัง..ไม่มีดาวให้นักเรียน..ไม่มีแบบเรียน..ไม่ต้องยืนฟังครูบ่นหน้าเสาธง..เด็ก ๆ มีสิทธิ์ออกแบบชุดนักเรียนเอง

หลายสิ่งหลายอย่างมาจากแนวคิดของครูใหญ่วิเชียร ไชยบัง ผู้ที่เคยเป็นครูโรงเรียนรัฐบาลมา 5 ปี ผู้บริหารโรงเรียนรัฐบาลหลายแห่งนาน 5 ปี

ครูใหญ่คนนี้สร้างโรงเรียน สร้างคน มาจนประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งแล้ว ปีที่แล้วมีครูและผู้บริหารเข้ามาดูงาน มาศึกษาเรียนรู้กว่า 5,000 คน ปีนี้ยังไม่ถึงสิ้นปี มีคนเข้าศึกษาดูงานประมาณ 3,000 คนแล้ว

ตอนนี้มีโรงเรียนในภาคอีสานจำนวน 20 โรงเรียน กำลังยึดแนวทางของโรงเรียนนี้เป็นต้นแบบ

เอาหละครับ วันนี้ผมได้คัดลอกบทสัมภาษณ์ครูใหญ่โรงเรียนลำปลายมาศ จากกรุงเทพธุรกิจ มาให้อ่านกัน

นั่นเป็นความสำเร็จ ส่วนวิธีการเรียนการสอน โรงเรียนไม่มีเสียงระฆัง แล้วเด็กจะรู้เวลาได้อย่างไรคะ ?

 ต้องให้เด็กเกิดวินัยเชิงลึก วิถีปฏิบัติที่มั่นคง เด็กอนุบาลที่นี่ดูนาฬิกาเป็น พวกเขาเรียก 'พี่นาฬิกา' เขาจะเรียกทุกอย่างว่า 'พี่' อาทิ 'พี่แก้วน้ำ' กิจวัตรจะเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ โดยไม่ต้องมีระฆัง

เด็กที่นี่ส่วนใหญ่เป็นเด็กชนบท เป็นลูกชาวนา มีเด็ก 40 คนเป็นเด็กกำพร้า เด็กคนหนึ่งไอคิวต่ำ และคนหนึ่งพิการ

ทุกคนเข้ามาด้วยการจับสลาก เราต้องการให้เขาประสบความสำเร็จตามศักยภาพของเขา ทุกคนจะได้รับคุณค่าเท่าเทียมกัน

ครูไม่ให้ดาวเด็กอนุบาลกลับไปอวดพ่อแม่ เพราะอะไรคะ ?

 การไม่ให้ดาว เพราะเด็กจะมีค่าเท่ากัน หากให้เด็กอนุบาลวาดรูปคน บางคนวาดไม่เป็นรูป แค่วงกลม เด็กได้ใช้ศักยภาพเต็มที่แล้ว

ถ้าเขาถูกตราหน้าว่า ไอ้หนึ่งดาว เขาจะเก็บตรงนั้นไว้ ไม่อยากเล่าให้แม่ฟัง ไม่อยากมาโรงเรียน เพราะเขารู้สึกว่า ไม่ได้รับคุณค่า ไม่ได้รับความรัก

เป็นโรงเรียนที่ไม่มีการอบรมหน้าเสาธง ?

 ผมคิดว่าการอบรมหน้าเสาธงไม่เหมาะกับการเรียนรู้  ที่นี่ไม่มีการจัดลำดับความสามารถของนักเรียน ทุกคนยอดเยี่ยมหมด

ครูจะสอนด้วยเสียงเบาๆ ถ้ามีเด็กหลังห้องไม่ฟังครู ทั้งๆ ที่ครูสามารถจัดการได้ แต่เราไม่ทำ เราจะเรียกเด็กทุกคนว่า 'พี่' เหมือนเด็กๆ เรียกทุกอย่างว่า 'พี่'

ถ้าในห้องเรียนเสียงดัง เราก็บอกว่า ขอบคุณพี่โก้ที่เรียบร้อย ขอบคุณพี่กี้ยอดเยี่ยมมาก สักพักจะเงียบ เราก็จะบอกว่า ขอบคุณพี่ๆ หลังห้อง จากนั้นตัดสู่การสอน 15 นาที

เราจะให้งานกับเด็กที่เรียนเก่ง เรียนอ่อน ไม่เหมือนกัน เด็กบางคนต้องการงานที่ท้าทาย เด็กทุกคนต้องลงมือทำ ที่นี่จะมีชิ้นงานให้ทำเยอะมาก ที่สำคัญคือ ครูต้องชวนให้เด็กคิดเอง

รวมถึงไม่ใช้แบบเรียนด้วย ?

 ไม่ใช้จริงๆ เพราะเราเชื่อเรื่องการพับกระต่าย ความสำคัญของตัวความรู้แต่ละคนไม่เหมือนกัน เวลาเปิดเรียนมา ครูจะถามเด็กว่า อยากเรียนอะไร เรามีวิธีการเชิงเทคนิคอีกเยอะ

วิธีคิดเรื่องการพับกระต่ายเกี่ยวข้องกับระบบการศึกษาอย่างไรคะ ?

 ผมเคยแบ่งครูออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกให้ครูพับกบ มีครูคนหนึ่งเคยพับ รุ่นพี่รุ่นน้องจึงพับกบเหมือนกันทุกคน ส่วนอีกกลุ่มให้พับกระต่าย ไม่มีเสียงฮือเหมือนกลุ่มแรก เพราะไม่มีใครรู้วิธีพับกระต่าย

พวกเขามองหน้ากัน ผมก็กระตุ้นให้พับ ปรากฏว่า เป็นกระต่ายคนละแบบไม่เหมือนกัน

 เรื่องการพับกระต่ายทำให้ผมนึกถึงการปฏิรูปการศึกษา

ผมไปเปิดดูหนังสือเรียนแปดเล่มของหลานดู ปรากฏว่า ทุกวิชามีองค์ประกอบคล้ายกัน ห้าหน้าแรกเรียนเรื่องความรู้ หน้าต่อไปเป็นแบบฝึกหัดและสุดท้ายเป็นเฉลี่ยคำตอบ เป็นบทเรียนสำเร็จรูปเหมือนกันทุกเล่ม

ผมเห็นแล้วรู้สึกไม่สบายใจมาก เหมือนครูกลุ่มแรกที่ผมให้พับกบ ทุกคนทำได้เหมือนกับสิ่งที่ตัวเองมี แต่น้อยคนที่จะได้โอกาสใหม่ๆ

 

เล่าชีวิตประจำวันของครูกับเด็กให้ฟังสักนิด ?

 หน้าที่สำคัญของครูคือ เล่นกับเด็ก ผมเชื่อ ว่าไม่มีใครสอนคนได้ดีเท่ากับคน จังหวะการสอนที่ดีคือการเล่น วิธีการมีเยอะ

เด็กอนุบาลไม่มีการนั่งสมาธิ จะมีเรื่องเล่า มีการเตรียมสมองให้ผ่อนคลาย เด็กทุกคนจะเรียนรู้อำนาจในการเลือกเรียน เด็กประถมห้าเรียนเรื่องไบโอดีเซล

ปีนี้เขาทำธุรกิจตัวเอง ซื้อน้ำมันเก่าสิบบาทมาทำไบโอดีเซลขายยี่สิบบาท แต่คุณครูต้องไว้ใจเรียนรู้ร่วมกัน และที่นี่ให้โอกาสเด็กๆ ออกแบบชุดนักเรียนเอง

  มีเด็กคนหนึ่งเกเรและก้าวร้าวมาก เราจะไม่ผลักไสเด็กไปเรียนที่อื่น เราคิดว่าเด็กคนนี้ต้องเรียนที่นี่

เด็กคนนี้ชอบเล่นมายากล เด็กอยากเรียนเราก็สอนให้ เขาไปเล่นมายากลให้น้องๆ อนุบาลดู น้องๆ ชอบมาก แค่นี้เราก็รู้สึกปลอดภัยแล้ว

ไม่ว่าเขาจะอยู่ในสังคมไหน เขามีคุณค่า เราเห็นความงอกงามของเด็กแต่ละคน ผมมีความสุขมาก

เวลาเด็กทำผิด มีวิธีการลงโทษอย่างไรคะ ?

 การลงโทษเด็ก เราจะให้เด็กรู้ว่า “อย่าทำ...เราไม่ชอบ” เป็นการบอกความรู้สึก เวลาเด็กทะเลาะกัน เราบอกให้ไปบอกเพื่อนว่า ถ้าคนอื่นทำแบบนี้กับเรา เราชอบไหม

เด็กบอกว่า ไม่ชอบ ครูโยงให้เขาคิดเอง ถ้าคิดไม่ได้ครูจะช่วย หรือเด็กคนหนึ่งเตะบอลโดนกระจกแตก เราก็ถามเด็กว่า "จะแก้ปัญหานี้อย่างไร "เด็กตอบว่า "จะซื้อคืนให้"

เราถามต่อว่า "เอาเงินมาจากไหน" เด็กบอกว่า"จากคุณพ่อ" เราก็บอกว่า "พ่อไม่ได้ทำผิด แล้วจะลงโทษพ่อได้อย่างไร" เด็กก็ถามว่า "ครูมีทางเลือกให้ผมไหม"

ผม ให้ครูอีกคนตีราคากระจก แล้วบอกว่า ถ้าอย่างนั้นต้องทำงานปลูกต้นกล้วยวันละกี่ต้นได้ยี่สิบบาท ล้างจานให้เพื่อนทั้งหมดได้วันละสามสิบบาท ลองไปคิดว่า จะทำอย่างไร  เราก็ปล่อยให้เขาทำ จากนั้นแค่ไปดูว่าเด็กทำไหม


เคยมีคนในวงการศึกษาเข้ามาเรียนรู้ บางคนบอกว่าทำตามแนวทางนี้ไม่ได้หรอก ครูตอบโจทย์เรื่องนี้อย่างไรคะ ?

ผมก็ส่งครูผมออกไปทำให้ดูในโรงเรียนนั้น แล้วมาบอกว่าทำได้ ข้อสำคัญคือการจัดการกับผู้ปกครอง

ทำความเข้าใจกับผู้ปกครองอย่างไรคะ ?

แรกๆ ผู้ปกครองเด็กอนุบาลคาดหวังว่า เด็กต้องเขียนตามรอยปะได้ ผมจึงต้องวางหลักสูตรในการจัดการผู้ปกครอง

พอเข้าปีที่หกผู้ปกครองทุกคนเปลี่ยนแปลงระดับหนึ่ง มองเห็นเป้าหมายใหม่ มั่นใจในสิ่งที่เราทำ เชื่อมั่นว่า เด็กจะเป็นนักจัดการ

บางครั้งให้ผู้ปกครองมาเรียนเหมือนเด็ก ถ้าผู้ปกครองคนไหนขาดเรียนไม่มา ต้องมาเรียนซ่อมคนเดียวให้ครบ ไม่มีใครไม่มา เพราะเราเอาจริง

    ถ้าผู้ปกครองร่วมมือกับเราก็จะพัฒนาเด็กได้ดี เราย้ำเสมอว่า ทุกคนจะต้องตาย และคนที่เหลืออยู่คือ เพื่อนของลูก เขาต้องใช้ชีวิตต่อไป

ดังนั้นทุกๆ วันจะมีผู้ปกครองเข้ามาวันละสามสี่คน บางคนมาเล่านิทาน บางคนมาช่วยทำกับข้าว

คุณ ยายสามคนเคยเดินมาสามกิโลเพื่อมาเล่าให้ผมฟังว่า หลานไม่อยากไปเรียนที่อื่น เพราะพ่อแม่จะย้ายไปอยู่ที่อื่น ผมก็เอาทั้งพ่อและยายมาคุยกัน

ย้อนไปที่คำถามว่า ถ้าโรงเรียนในระบบจะทำตามแนวทางนี้ คุณครูคิดว่าทำได้ไหม ?

นี่แหละคือสิ่งที่ผมต้องการพิสูจน์ ถ้าผมทำออกมาได้ ทำไมคนอื่นจะทำไม่ได้ เพราะทุกคนมีหัวใจ แต่ครูส่วนใหญ่ใช้แต่เทคโนโลยี ไม่มีหัวใจเลย ถ้าเรามีหัวใจ มันยกระดับคนได้อีกหลายสิบเท่า

ย้อนไปถึงเบื้องหลังความคิด ทำไมอยากเป็นครูใหญ่ที่นี่ ?

ช่วงที่ผมเป็นผู้บริหารโรงเรียน หรือเป็นครู ผมรู้คำตอบแล้ว ไม่นานผมก็เกษียณ เป็นครูแก่ ๆ ซึ่งไม่ได้ช่วยอะไรมาก แต่มาตรงนี้ผมไม่รู้คำตอบ มีคำตอบมากมายรอผมอยู่มันท้าทาย

เมื่อเขารับผม ผมก็ตัดสินใจลาออกเลย มาทำงานปีแรก (ปี 2545) มีเพียงที่ดินว่างเปล่า ก็อยู่คนเดียวตามร่มไม้

 สิ่งที่คิดครั้งแรกคือ ต้องมีครูที่ดีเป็นตัวอย่าง เป็นโจทย์ใหญ่ที่ผมคิดทั้งปี ผมได้อิสระในการทำงานเต็มที่

ปลายปีนั้นผมรับครูมา 6 คน รูปแบบและคำตอบของเราก็ยังไม่ชัด ปีแรกเราถูกทั้งสังคม ครอบครัว ผู้ปกครอง และผู้บริหารอัดเรา เพราะเราไม่มีคำตอบให้สังคม

ถ้าคำตอบไม่เป็นอย่างที่คุณคิด ?

ไม่เป็นไร ผมเดิมพันด้วยชีวิตแล้ว ผมยอมรับได้

เดิมพันด้วยชีวิตอย่างไรคะ ?

ที่เขารับผมเป็นครูใหญ่ เขามองวิชั่นผม ผมบอกว่า ผมอยากเปลี่ยนแปลงการศึกษาจุดเล็กๆ ต้องเปลี่ยนแปลงได้จริง

ผมมองว่าในระบบการศึกษา ทุกคนมีคุณค่า ไม่ใช่ว่าเด็กคนเก่งที่สุดถึงมีค่า ผมบอกว่า ผมจะทำที่นี่ให้สำเร็จ ถ้าไม่สำเร็จไล่ผมออกได้ตลอดเวลา

เขาให้อิสระผมในการทำ ผมตั้งใจไว้ว่าจะทำแค่ 5 ปี นี่เข้าปีที่ 7 แล้ว ไม่ใช่หลงเสน่ห์นะครับ แต่มีงานบางอย่างยึดโยงอยู่ หาคนแทนไม่ได้ ต้องรอสักพัก

จากนั้นผมจะออกไปเขียนหนังสือและเดินทาง เพราะเขียนหนังสือมีอิทธิพลต่อคนจำนวนมาก

แรงบันดาลใจอะไรทำให้อยากเป็นครูที่สร้างเด็กให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ?

กว่าสิบปีที่เป็นครูในระบบ ผมจะไม่โอดครวญกับระบบ ผมไม่บ่นเรื่องนั้นเรื่องนี้ ผมทำให้เห็นเลย ถ้าผมไม่มุ่งมั่น ทุกคนก็จะไม่มุ่งมั่น ผมมีคำตอบอยู่ในใจ ถ้าผมไขว้เขว ทุกคนก็จะไขว้เขว

    ตอนผมเป็นผู้บริหารโรงเรียนในระบบราชการ ผมรู้คำตอบว่า หลังอายุ 35 ปีผมเหลือเวลาอีก 35 ปี ผมเริ่มนับถอยหลัง เหมือนนักบอลเตะครึ่งหลังแล้วไม่ได้ประตู

ผมเริ่มรู้แล้วว่า ผมยังไม่เจอคำตอบตัวเองเลย ผมยังไม่ได้ทำสิ่งที่ผมอยากทำ

ตอนนี้นับถอยหลังปีที่เจ็ดแล้ว ทำให้เรารู้สึกว่า เราวางอะไรได้ง่ายขึ้น เมื่อวางง่ายก็ทำอะไรได้เยอะ ผมมีวิถีชีวิตนอนสามทุ่มตื่นตีสาม เพราะผมมีเวลากับสิ่งที่ต้องทำอีกเยอะ

ข้อสำคัญเป้าหมายต้องชัดเจน ?

เพราะเป้าหมายมีความหมายต่อเรา ผมพบว่า ทุกคนหาตรงนั้น คุณต้องหาคำตอบด้วยตัวเอง ผมอยากทำอะไรที่เปลี่ยนแปลงคนได้เยอะที่สุด การศึกษาต้องยกระดับคุณภาพชีวิต

สำหรับผมสิ่งที่เหนือกว่านั้นคือ การเขียนหนังสือ เป็นการนำพาจิตวิญญาณผ่านอารมณ์ความรู้สึก ตอนนี้ผมเขียนเรื่องจิตวิทยาสำหรับการเรียนรู้เด็กผ่านนิยาย กำลังจะตีพิมพ์

 

ก่อนหน้านี้ครูครุ่นคิดเรื่องชีวิตอย่างมาก แล้วได้คำตอบไหมคะ ?

ผมก็พยายามหาคำตอบให้ชีวิตตามประสาคนวัยนั้น ช่วงอายุ 27 ปีกว่าพยายามอ่านหนังสือและศึกษาธรรมะ ทำทุกอย่างที่จะทำให้เข้าใจว่าชีวิตคืออะไร

แล้วค้นพบไหมคะ ?

ไม่พบมีแต่ความสับสน ยิ่งคิดยิ่งหมกมุ่น จนเกิดอาการเมิน นอนไม่หลับ บางทีอาจจะหลงทางก็ได้ ผมเกิดอาการหวาดระแวง ผมกลัวจนต้องกินยากล่อมประสาท สุดท้ายเหมือนจิตฟุ้ง

คำตอบเป็นอย่างไร ?

ผมพยายามจะหาคำตอบจากศาสนาพุทธ แต่พอวันหนึ่งผมตัดสินใจเด็ดเดี่ยวว่า ผมจะไม่ยึดติดเรื่องศาสนา เวลาผมกรอกในบัตรประชาชนช่องนับถือศาสนาอะไร ผมจะไม่กรอก ในที่สุดผมค้นพบคำตอบบางอย่าง แต่ผมตอบไม่ได้ ทุกคนจะรู้เองว่า อะไรคือที่ที่เราจะยืนอยู่

 แสดงว่าคุณเจอคำตอบแล้ว ?

ผมคิดว่า ผมเจอ เพราะผมใคร่ครวญกับเรื่องชีวิตมานานกว่าสิบปี เห็นผู้คนต่างๆ ผมก็รู้ว่า ผมต้องการทำอะไร เพื่ออะไร

จากวงสนทนาที่นั่งคุยกัน คุณจะให้ความสำคัญกับความรู้สึกคนอย่างมาก ? 

ใช่ เพราะเป็นพื้นฐานความเป็นมนุษย์ เราอยู่ได้เพราะความรู้สึก เรามีความสุขเพราะความรู้สึก เรารักเพราะความรู้สึก เหมือนที่ผมบอกว่า ถ้าเป็นครูที่ดีไม่ได้ เราจะไปทำอาชีพอื่น เป็นครูที่ดีก็ต้องรักเด็กทุกคน ไม่ปล่อยให้เด็กในห้องล้มเหลวแม้แต่คนเดียว ไม่ปล่อยเวลาสูญเปล่า

 

 

อ่านเพิ่มเติม: http://www.oknation.net/blog/chaiyospun/2009/08/26/entry-1

 

 

หมายเลขบันทึก: 488543เขียนเมื่อ 19 พฤษภาคม 2012 21:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 11:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เป็นบทความที่ขอชื่นชม กีมากนะคะ ชื่นชม พ่อพิมพ์ของชาติ สร้างคุณค่าในตัวคน ให้เป็นคนดีสู่สังคมไทย

ขอบคุณมาก สำหรับบทความดีๆๆนี้คะ

เด็กๆ ทุกคนล้วนมีคุณค่าครับ เมื่อเขาเติบใหญ่เขาก็จะไปสร้างๆๆ คนรุ่นหลังให้มีคุณค่า ตามความปรารถนาของ...

ขอบคุณครับIco48 Somsri

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท