งานวิชาการ – พื้นที่ของงานวิชาการ


กลับมาเมืองไทยหลังจากได้รับปริญญาทางวิชาการใบสุดท้าย ก็พบว่าหน่วยงานที่ผมสังกัดอยู่มีความก้าวหน้าด้านกฎระเบียบในการขอตำแหน่งทางวิชาการและมีการผลักดันกันอย่างจริงจังมากกว่าก่อนที่ผมลาไปเรียนเยอะ บรรยากาศในการพูดคุยเกี่ยวกับการทำวิจัยก็มีมากขึ้น ทำให้รู้สึกคึกคักอยากจะทำโน่นนี่ไปหมด ประเด็นหนึ่งที่เพื่อนอาจารย์หลายท่านสงสัย (และอีกหลายคนอาจจะยังไม่สงสัย) คือเรื่องของประเภทของงานวิชาการครับ

งานวิชาการมีกี่ประเภท ผมว่าเป็นคำถามที่ตอบได้หลายมุมนะครับ มุมหนึ่งที่ผมคิดว่ามีความสำคัญสำหรับผู้เริ่มทำงานวิชาการคือเรื่อง “พื้นที่” ของงานที่เราจะตีพิมพ์ เพราะพื้นที่ของงานวิชาการส่งผลโดยตรงต่อการยอมรับและศักดิ์ศรีของงานนั้นๆ ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการตีราคาค่าตอบแทนของงานครับ

งานวิชาการมีพื้นที่ไหนบ้าง ผมได้ประมวลเอาไว้เป็นรูปดังที่เห็นด้านล่างนี้ ซึ่งเน้นเฉพาะงานแบบเป็นชิ้นเดี่ยว ไม่รวมถึงงานประเภทตำรา หรือบทเรียนต่างๆ นะครับ (ถ้าเทียบกับการเขียนงานสร้างสรรค์อื่นๆ ก็เป็นประเภทเรื่องสั้น หรือบทความ คอลัมน์ต่างๆ ไม่ได้รวมถึงนวนิยาย)

publication space

จากรูปจะเห็นว่าพื้นที่ของงานวิชาการแบ่งได้โดยการตอบคำถาม 3 ข้อหลัก แต่ละข้อเลือกตอบได้สองคำตอบดังนี้

ข้อ (1) งานแบ่งตามธรรมชาติของงาน (หรือขนาดของงาน) คือ 1. ประชุมวิชาการ (proceeding) และ 2. วารสาร (journal) โดยทั่วไปแล้วธรรมชาติหรือคุณลักษณะเฉพาะของการประชุมวิชาการนั้นแตกต่างจากวารสารตรงที่มันมีความทันสมัยกว่า เป็นโครงการวิจัยที่กำลังทำอยู่และอยากรายงานผล หรือเป็นการรายงานผลเบื้องต้นของงานก็ได้ ในขณะที่งานวิชาการสำหรับวารสารมักมีความสมบูรณ์มากกว่า ซึ่งเป็นเหตุผลให้ผมใช้คำว่า “ขนาด” เพราะโดยส่วนใหญ่แล้วขนาดของการเขียนงานในการประชุมวิชาการ (1,000 – 3,000 คำ) นั้นเล็กกว่างานวารสาร (4,000 – 6,000 คำ) ขนาดตรงนี้ไม่ได้ตายตัวนะครับ ขึ้นอยู่กับกรรมการของงานประชุมหรือกองบรรณาธิการของวารสารด้วย

ข้อ (2) งานแบ่งตามภูมิศาสตร์คือ 1. ในประเทศ (local) และ 2. ต่างประเทศ (international) คำถามนี้ฟังแล้วช้ำใจนิดๆ นะครับ สำหรับนักวิชาการที่อยากเผยแพร่งานวิชาการในประเทศ อยากให้คนไทยได้เข้าถึงงานง่ายๆ เพราะโดยทั่วไป งานวิชาการที่เป็นภาษาอังกฤษและตีพิมพ์ในต่างประเทศจะได้รับการยอมรับมากกว่า

ข้อ (3) งานแบ่งตามประเภทของการตรวจสอบผลงานคือ 1. มีระบบการอ่านพิจารณาผลงานโดยผู้เชี่ยวชาญ (peer-review system) และ 2. ไม่มีระบบดังกล่าว โดยเจตนารมณ์ของระบบการอ่านพิจารณาผลงานโดยผู้เชี่ยวชาญหรือที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า peer-review นั้น มีขึ้นเพื่อกลั่นกรองงานที่มีคุณภาพของต้นฉบับงานวิชาการที่ส่งเข้าไปยังการประชุมวิชาการหรือวารสารครับ ถ้ามีระบบนี้อยู่ก็ถือว่างานที่ได้รับการตีพิมพ์นั้นได้มาตรฐานในระดับหนึ่ง แต่จะมีมาตรฐานแค่ไหนก็ต้องดูกันอีกว่าการประชุมวิชาการหรือวารสารนั้นมีความน่าเชื่อถือเพียงใด ซึ่งจะอธิบายเพียงเล็กน้อยในข้อสี่

จากรูปจะเห็นว่าผมยังมีแถมอีก 3 ข้อ 

ข้อที่ (4) เป็นคำถามที่ต่อเนื่องจากข้อ 3 ครับ วิธีการหนึ่งที่จะวัดมาตรฐานของงานวิชาการที่ตีพิมพ์ในวารสารนานาชาตินั้น คือการดูว่าวารสารนั้นอยู่ในฐานข้อมูลที่มีชื่อเสียง เป็นที่ยอมรับหรือไม่ เช่น Science Citation Index, Social Science Citation Index ถ้าปรากฎอยู่ก็ถือว่าดีกว่าปรากฎอยู่แต่ในฐานข้อมูลระดับรองลงมา ถ้าอยากเช็คง่ายๆ ก็ดูที่ SJR ได้เลยครับ ของเขาฟรี!

ข้อที่ (5) นี้ผมอยากจะย้อนไปเชื่อมกับข้อที่ 1 และ 2 อีกครั้งครับ เพราะผมเห็นว่าเดี๋ยวนี้มีนักวิชาการหลายท่านหันมานำเสนองานในแบบการเขียนบันทึกออนไลน์ (บล็อก) บางท่านเอางานของตัวเองมานำเสนออีกครั้งแบบเป็นภาษาที่เข้าใจง่าย ซึ่งผมมองว่าเป็นทางออกที่ดีสำหรับนักวิชาการบ้านเราที่ตีพิมพ์งานในระดับนานาชาติ แต่ก็หวังว่าจะขยายผลในระดับประเทศด้วย (ผมก็คนหนึ่ง) นักวิชาการด้านเครือข่ายสังคมและการศึกษาท่านนึงที่ผมชื่นชมในวิธีการนำเสนอมากคือ Rey Junco อีกท่านหนึ่งผมไม่ได้ติดตามบทความแต่ชอบแนวคิดว่าทำไมถึงบล็อกงานวิชาการคือ Martin Weller

ถึงบทสรุปของบันทึกนี้ที่ ข้อที่ (6) ว่าพื้นที่และการยอมรับในงานวิชาการในสถาบันอุดมศึกษาและหน่วยงานที่ควบคุมคุณภาพงานวิชาการเพื่อขอตำแหน่งทางวิชาการนั้นให้ความสำคัญกับงานในฝั่งขวามากกว่าฝั่งซ้ายครับ นั้นหมายความว่าอย่าคิดจะเอาบล็อกไปเป็นผลงานวิชาการนะครับ เดี๋ยวกรรมการเขาจะงง (ฮา!)

ปล. ตัวเลขในช่องต่างๆ คือน้ำหนักความสำคัญโดยอ้างอิงเกณฑ์มาตรฐานของ กพอ สมศ สกอ สกว ฯลฯ อ้างอิงจากงานของอาจารย์รุจเรขาที่บันทึกนี้ครับ 

หมายเลขบันทึก: 488539เขียนเมื่อ 19 พฤษภาคม 2012 20:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 10:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เป็นบทความที่ดี มีประโยชน้มากคะ

ขอบคุณมากคะ

หัวใจงานการศึกษา คือ งานวิชาการครับ เห็นด้วยกับท่านครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท