สถานที่สำคัญในจังหวัดชุมพร "อนุเสาวรีย์ยุวชนทหารที่สะพานท่านางสังข์"


สถานที่สำคัญในจังหวัดชุมพร

อนุเสาวรีย์ยุวชนทหารที่สะพานท่านางสังข์

 วันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ ทหารญี่ปุ่นได้เคลื่อนพลเข้าสู่ประเทศไทย เนื่องจากต้องการใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านไปสู่สมรภูมิรบในประเทศพม่า จากการขึ้นบกในครั้งนี้ทำให้เกิดการต่อสู้ระหว่างกองกำลังญี่ปุ่นและไทยในหลายพื้นที่ เช่น ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สงขลา และปัตตานี เป็นต้น หลังจากสงครามสงบลงได้มีการสร้างอนุเสาวรีย์เพื่อรำลึกถึงการเสียสละและความกล้าหาญของชาวไทย รวมถึงความเสียหายที่เกิดจากสงครามด้วย เช่น อนุเสาวรีย์วีรไทย(พ่อจ่าดำ)ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และอนุเสาวรีย์ยุวชนทหารที่จังหวัดชุมพร เป็นต้น

 ที่จังหวัดชุมพรกองกำลังญี่ปุ่นได้นำเรือลำเลียงพลขนาดใหญ่เข้ามาจอดที่เกาะเสม็ดในอ่าวปากน้ำ ขึ้นบกที่บ้านคอสนและบ้านแหลมดิน แล้วจึงเคลื่อนพลเข้าทางวัดท่ายางใต้และสะพานท่านางสังข์ ทั้งสองจุดนี้เเป็นจุดที่กองกำลังฝ่ายไทยปะทะกับกองกำลังญี่ปุ่น การรบในครั้งนั้นฝ่ายไทยสามารถยันข้าศึกให้หยุดอยู่กับที่ได้ จนกระทั่งมีคำสั่งหยุดรบจากกรุงเทพฯ และปล่อยให้กองกำลังญี่ปุ่นผ่านไปพม่า การปะทะระหว่างทั้งสองฝ่ายจึงยุติลง สำหรับกองกำลังฝ่ายไทยนั้นประกอบด้วยทหาร, ตำรวจ, พลเรือน และยุวชนทหารซึ่งเป็นนักเรียนโรงเรียนศรียาภัย

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติลง นายประชุม สุยสิน อดีตยุวชนทหารท่านหนึ่งได้สร้างเจดีย์องค์หนึ่งไว้ในจุดที่มีการรบ เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจให้ระลึกถึงวีรกรรมความกล้าหาญในครั้งนั้น และเมื่อครบรอบ ๑ ปี ก็จะมีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้เสียชีวิตในสงคราม จนกระทั่งในปีพ.ศ.๒๕๒๔ ได้มีการสร้างอนุเสาวรีย์ยุวชนทหาร โดยร้อยโทสำราญ ควรพันธ์(สิบเอกผู้บังคับหมู่ยุวชนทหารเข้ารบเมื่อปีพ.ศ.๒๔๘๔) ได้ชักชวนยุวชนทหารโรงเรียนศรียาภัยให้สร้างอนุเสาวรีย์ขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานราชการและประชาชน ในครั้งแรกได้สร้างรูปยุวชนทหารยืนบนแท่นในท่าถือปืนเฉียงอาวุธ และได้ส่งมอบให้แก่จังหวัดในปีพ.ศ.๒๕๒๗ ทางจังหวัดเห็นว่าอนุเสาวรีย์มีขนาดเล็กไม่สง่างาม จึงได้ปรับปรุงรูปอนุเสาวรีย์ใหม่ โดยได้รับความร่วมมือจากศิษย์เก่าโรงเรียนศรียาภัยและอดีตยุวชนทหาร รูปปั้นใหม่มีขนาดเท่าคนจริงเป็นรูปของยุวชนทหารในท่าแทงปืน ซึ่งเป็นอนุเสาวรีย์ที่ทุกคนได้เห็นในปัจจุบัน ได้มีการประกอบพิธีเปิดอนุเสาวรีย์อย่างเป็นทางการในวันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๓๓ สำหรับหุ่นอนุเสาวรีย์ที่สร้างขึ้นในครั้งแรกนั้น ทางจังหวัดได้มอบให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชุมพร เพื่อใช้ในการจัดแสดงเรื่องราว “ชุมพรกับสงครามโลกครั้งที่ ๒ และวีระกรรมของยุวชนทหาร”

 อนุเสาวรีย์ยุวชนทหารตั้งอยู่ที่สะพานท่านางสังข์ อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร ซึ่งเป็นหนึ่งในจุดปะทะระหว่างกองกำลังฝ่ายไทยและญี่ปุ่น อนุเสาวรีย์ยุวชนทหารจึงเป็นสิ่งเตือนในให้คนในปัจจุบันได้รำลึกถึงความกล้าหาญของทหาร ตำรวจ พลเรือน และยุวชนทหาร ที่ร่วมกันต่อสู้เพื่อปกป้องดินแดนไทยในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒

หมายเลขบันทึก: 488483เขียนเมื่อ 19 พฤษภาคม 2012 10:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 17:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท