ใบความรู้ที่ 2 เรื่อง วัสดุห้องสมุด (ตอนจบ)


วิชาการใช้ห้องสมุด

6.  การระวังรักษาวัสดุห้องสมุด

วัสดุสารนิเทศทุกชนิด  เป็นสิ่งที่มีคุณค่าและเป็นสมบัติของส่วนรวมที่ต้องใช้ร่วมกันหลายคน  ดงนั้น  การใช้วัสดุสารนิเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุดและยาวนาน  จึงจำเป็นต้องศึกษาวิธีการใช้  การดูแลรักษาอย่างถูกต้อง  โดยแบ่งตามประเภทของวัสดุสารนิเทศได้ดังนี้คือ

                6.1  การระวังรักษาวัสดุสิ่งพิมพ์

          เพื่อให้สื่อสิ่งพิมพ์อันได้แก่  หนังสือ  วารสาร  จุลสาร  ตลอดจนเอกสารต่างๆ  มีสภาพคงทนถาวรและใช้ประโยชน์ได้ยาวนาน  ควรปฏิบัติดังนี้

                        6.1.1  ไม่ควรเปิดหน้าหนังสือให้กางเกิน 180  องศาในกรณีที่เป็นหนังสือปกแข็ง ควรเปิดกางเพียง  90  องศา  โดยให้ปกด้านใดด้านหนึ่งแนบกับพื้นโต๊ะ  และจับประคองปกอีกด้านหนึ่งไว้  เพื่อมิให้สันหนังสือฉีกขาด

                        6.1.2   ควรใช้ที่คั่นหนังสือหรือกระดาษคั่นหนังสือ  แทนการพับมุมหนังสือหรือใช้วัสดุที่มีความหนา  เช่น  ดินสอ  ปากกา  ยางลบคั่นหน้าหนังสือหรือวารสาร

                        6.1.3   ควรจดบันทึกข้อมูลที่ต้องการลงในกระดาษหรือสมุดที่เตรียมมา  ไม่ควรขีดเขียนเครื่องหมายหรือข้อความใด ๆ  ลงบนหน้าหนังสือ  วารสาร  หนังสือพิมพ์  หรือสิ่งพิมพ์อื่น  ซึ่งเป็นสมบัติส่วนรวม  เพราะจะทำให้สกปรกหรือข้อความไม่ชัดเจน

                        6.1.4  ควรใช้วิธีถ่ายสำเนาเอกสารหรือคัดลอกบันทึกลงกระดาษสมุดที่เตรียมมา  ควรใช้วิธีถ่ายเอกสาร  ซึ่งปัจจุบันสามารถทำได้รวดเร็วและมีคุณภาพดีเหมือนต้นฉบับทุกประการ ไม่ควรฉีกหรือตัดข้อความหรือภาพจากหนังสือ  วารสาร  หนังสือพิมพ์หรือสิ่งพิมพ์อื่น ๆ

                        6.1.5  เมื่อต้องการหยิบหนังสือบนชั้น  อย่าใช้นิ้วดึงส่วนบนของสันออกมา  เพราะจะทำให้สันฉีกขาด  ควรใช้มือจับกลางสันหนังสือเล่มที่ต้องการดึงออกมา ระมัดระวังอย่างให้หนังสือตกจากที่สูง

                        6.1.6  ไม่นำหนังสือ  วารสารและสิ่งพิมพ์ไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น  เช่น  กันแดดกันฝน  ใช้รองนั่ง  หรือใช้หนุนแทนหมอน  เป็นต้น

                        6.1.7 ระวังอย่าทำหนังสือเปรอะเปื้อน  เปียกชื้น  เพราะจะทำให้สิ่งพิมพ์สกปรก  กระดาษเปื่อย  ตัวอักษรเลอะเลือน  และความชื้นอาจทำให้สิ่งพิมพ์ขึ้นราได้  ทำให้หน้าสิ่งพิมพ์ติดกันเปิดไม่ได้

                        6.1.8  วางหนังสือ  วารสาร  หรือสิ่งพิมพ์อื่นให้พ้นมือเด็ก  เพราะเด็กอาจฉีกหนังสือเล่น  หรือขีดเขียนบนหนังสือ  ทำให้หนังสือสกปรกได้

                        6.1.9  ระมัดระวังศัตรูที่จะทำอันตรายกับวัสดุสิ่งพิมพ์ เช่น  ปลวก  มด  แมลงสาบ เป็นต้น

                        6.1.10  ไม่ควรวางหนังสือซ้อนกันเป็นตั้งสูง  เพราะเล่มที่อยู่ตอนล่างจะถูกน้ำหนักของหนังสือตอนบนกดทับ  ทำให้หนังสือชำรุดได้ง่าย  และหากตั้งหนังสือล้มลงจะทำให้มุมหนังสือหักและเสียทรง

                        6.1.11  ไม่ควรเก็บหนังสือ  วารสาร  หรือสิ่งพิมพ์อื่น ๆ ไว้ในบริเวณที่มีแดดส่องถึงโดยตรง  เพราะแสงแดดจะทำให้กระดาษแห้งกรอบและหมึกพิมพ์สีจางลง   

                6.2  การระวังรักษาวัสดุไม่ตีพิมพ์

                        6.2.1   การใช้วัสดุไม่ตีพิมพ์  ควรอ่านคู่มือการใช้หรือศึกษาวิธีการใช้วัสดุไม่ตีพิมพ์ แต่ละประเภทให้เข้าใจเพื่อให้สามารถใช้ได้อย่างถูกต้องและถนอมรักษาวัสดุนั้นๆให้มีอายุการใช้งาน  ที่ยาวนานต่อไป

                        6.2.2   ควรใช้วัสดุไม่ตีพิมพ์ทุกประเภทด้วยความระมัดระวัง  และปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด  เช่น  ไม่จับต้องส่วนที่บันทึกข้อมูล  เพื่อป้องกันการเสียหายที่จะเกิดขึ้น

                        6.2.3  วัสดุไม่ตีพิมพ์จำเป็นต้องจัดเก็บในที่ที่มีอุณหภูมิและความชื้นเหมาะสม  เมื่อผู้ใช้ยืมมาใช้หรือยืมออกจากห้องสมุด  จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวด้วย

                        6.2.4  ควรช่วยดูแลรักษาวัสดุไม่ตีพิมพ์ให้สะอาดอยู่เสมอ  ไม่ปล่อยให้ฝุ่นละอองปนเปื้อน  เพราะจะทำให้ข้อมูลเสียหายได้

                        6.2.5   เมื่อพบวัสดุไม่ตีพิมพ์ชำรุด  เสียหาย  หรือบกพร่อง  ต้องแจ้งบรรณารักษ์หรือเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบทันที  เพื่อซ่อมแซมหรือจัดหาทดแทน  และป้องกันความเสียหายซึ่งอาจจะเกิดกับอุปกรณ์อ่านข้อมูลได้

บรรณานุกรม

 

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.  คณะอักษรศาสตร์.  ภาควิชาบรรณารักษ์ศาสตร์.  การค้นคว้าและเขียนรายงาน.  พิมพ์ครั้งที่ 8.  กรุงเทพฯ : โครงการเผยแพร่ผลงานวิชาการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2540.

สมมารถ  มีศรี  สุทธาริณี  วาคาบาซิ  และนฤมล  เทพชู.  ห้องสมุดกับการรู้สารสนเทศ.  กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ ก. วิวรรธน์, 2547.

สุกัญญา  กุลนิติ.  ห้องสมุดและสารนิเทศเพื่อการศึกษาค้นคว้า.  กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, 2549.

สุนี  เลิศแสวงกิจ  และพิศิษฐ์  กาญจนพิมาย.  ห้องสมุดกับการรู้สารสนเทศ.  กรุงเทพฯ : โสภณการพิมพ์, 2546.

สุปรียา  ไชยสมคุณ.  ห้องสมุดกับการรู้สารสนเทศ.  กรุงเทพฯ : ประสานมิตร, 2546.

 

หมายเลขบันทึก: 488400เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2012 15:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤษภาคม 2018 12:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

 

- วัสดุห้องสมุด....เมื่อเรามีของดี...ก็ต้องรักษาไว้ให้คงสภาพ....ขอชื่นชมว่า...ท่านเยี่ยมมากค่ะ

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท