ใบความรู้ที่ 1 เรื่อง ห้องสมุดและแหล่งเรียนรู้อื่น ๆ (ตอนจบ)


วิชาการใช้ห้องสมุด

11. มารยาทและข้อควรปฏิบัติเมื่อเข้าใช้ห้องสมุด

ห้องสมุดเป็นสมบัติของส่วนรวม  ผู้เข้าใช้จึงควรมีมารยาทในการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น  และต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบที่ห้องสมุดกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด  เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการใช้บริการอย่างเต็มที่โดยทั่วถึงกัน  ดังนี้

                11.1  ไม่ทำเสียงดังหรือคุยกันให้เป็นที่รำคาญ  หรือรบกวนสมาธิของผู้ใช้บริการคนอื่น ๆ ขณะอยู่ในห้องสมุด

                11.2  ระมัดระวัง  รักษาทรัพยากรสารนิเทศของห้องสมุดไม่ให้ฉีกขาด  หรือสูญหาย  เช่น  ไม่ตัด  ไม่ฉีก  ไม่ขูดลบทำลาย  ไม่ขโมย  ไม่โยน  หรือวางหนังสือซ้อนทับกันหลาย ๆ เล่ม  ซึ่งอาจ   ทำให้สันหนังสือปริหรือแตกหักได้

                11.3  ไม่นำน้ำ  เครื่องดื่ม  ของขบเคี้ยว  และอาหารเข้าไปรับประทานในห้องสมุด  เพราะอาจทำให้หนังสือเปรอะเปื้อนสกปรกได้

                11.4  เมื่อใช้หนังสือหรือสิ่งพิมพ์ใดเสร็จแล้ว  ควรนำไปเก็บไว้ที่เดิม  เช่น  วารสาร  หนังสือพิมพ์  ส่วนหนังสือหากไม่แน่ใจว่าจะเก็บเข้าที่ได้ถูกต้อง  ควรจัดวางไว้บนโต๊ะนั่งอ่าน            อย่างเป็นระเบียบ  หรือนำไปวางไว้ที่โต๊ะ  ชั้น  หรือรถเข็นที่จัดไว้อย่างเป็นระเบียบเพื่อเจ้าหน้าที่ห้องสมุดจะนำไปจัดเก็บเข้าที่ได้สะดวก

                11.5  ไม่นั่งโยกเก้าอี้  เพราะจะทำให้เก้าอี้ชำรุดได้  และเมื่อใช้เก้าอี้เสร็จแล้วควรจัดเก็บเข้าที่ให้เรียบร้อย  ดูเป็นระเบียบ

                11.6  แต่งกายสุภาพเรียบร้อยเหมาะกับการเป็นนักเรียน 

                11.7  นำกระเป๋าหนังสือ  และของใช้ส่วนตัวอื่น ๆ  เก็บไว้ที่วางของหน้าห้องสมุดก่อนเข้าห้องสมุด

                11.8  ให้เจ้าหน้าที่ห้องสมุดตรวจสิ่งของทุกครั้งก่อนที่จะนำออกจากห้องสมุด

12  แหล่งเรียนรู้อื่น ๆ

หมายถึงแหล่งที่จัดหาและรวบรวมทรัพยากรสารนิเทศประเภทต่างๆ ไว้เพื่อให้บริการต่อผู้ใช้   ในปัจจุบันมีแหล่งสารนิเทศมากมายหลายรูปแบบที่ทำหน้าที่ให้บริการข้อมูล  ข่าวสาร  แหล่งสารนิเทศและสถานบันบริการสารนิเทศที่สำคัญ  อาจแบ่งได้เป็น  4  ประเภทใหญ่ ๆ คือ

            12.1   แหล่งสารนิเทศที่เป็นสถาบัน  จำแนกได้ดังนี้

                      12.1.1  ห้องสมุด  (Library)  คือ  สถานที่รวมแหล่งสรรพวิทยาการที่เป็นผลงานทางสติปัญญาของมนุษย์อันประกอบด้วย  หนังสือ  เอกสาร  สิ่งตีพิมพ์  โสตทัศนวัสดุทุกชนิด  รวมทั้งเทคโนโลยีสารนิเทศซึ่งต้องสืบค้นด้วยคอมพิวเตอร์  โดยมีบรรณารักษ์เป็นผู้จัดบริหารงาน และดำเนินงานต่างๆ  โดยยึดความต้องการของผู้ใช้เป็นสำคัญ

                      12.1.2  ศูนย์สารนิเทศ  (Information Center)  ศูนย์สารนิเทศมีหลายลักษณะแต่มีจุดมุ่งหมายเพื่อบริการสารนิเทศเฉพาะบางสาขาวิชา  เช่น  ศูนย์เอกสารประเทศไทย  ศูนย์สนเทศทางการเกษตรแห่งชาติ  เป็นต้น

            12.2  แหล่งสารนิเทศที่เป็นสถานที่  ได้แก่  เมืองจำลอง  อนุสาวรีย์  เมืองโบราณ  พิพิธภัณฑ์  ฯลฯ  แหล่งสารนิเทศเหล่านี้มีประโยชน์ต่อการศึกษาค้นคว้า  แต่บางสถานที่ก็อยู่ห่างไกล  ต้องใช้เวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง

            12.3   แหล่งสารนิเทศที่เป็นบุคคล  ได้แก่  ผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาต่าง ๆ  ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้รอบรู้ในสาขาอาชีพต่าง ๆ  ในกรณีนี้ผู้ใช้สารนิเทศอาจใช้วิธีเดินทางไปพบปะสนทนา  แลกเปลี่ยน  สอบถามความรู้โดยตรงจึงจะได้รับสารนิเทศที่ต้องการทราบ

            12.4   แหล่งสารนิเทศที่เป็นเหตุการณ์  ได้แก่  เหตุการณ์ต่างๆ  ที่เกิดขึ้น  เช่น  เหตุการณ์ส่งมอบเกาะฮ่องกง  จากประเทศอังกฤษคืนให้ประเทศจีน  เมื่อวันที่  30  มิถุนายน  2540  เวลา  24.00  น.  และยังมีเหตุการณ์อื่น ๆ  ที่สำคัญ ๆ  ที่เกิดขึ้นในโลกนี้  ซึ่งล้วนแต่เป็นแหล่งสารนิเทศและจัดเป็นแหล่งสารนิเทศประเภทปฐมภูมิ (Primary  Source) 

            แหล่งสารนิเทศ  (Information  Resources)  หมายถึงแหล่งที่จัดหาและรวบรวมทรัพยากร สารนิเทศประเภทต่าง ๆ ไว้เพื่อให้บริการต่อผู้ใช้  ในปัจจุบันมีแหล่งสารนิเทศมากมายหลายรูปแบบ ที่ทำหน้าที่ให้บริการข้อมูลข่าวสาร  แหล่งสารนิเทศและสถาบันบริการสารนิเทศที่สำคัญ  ได้แก่

                    12.4.1  แหล่งผลิตและจำหน่าย  เช่น  สถาบันการศึกษา  สำนักพิมพ์  ร้านขายหนังสือ และร้านขายโสตทัศนวัสดุประเภทต่าง ๆ

                    12.4.2  บุคคลผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชาต่าง ๆ  เช่น  ผู้เชี่ยวชาญ  ผู้มีประสบการณ์  หรือผู้มีทักษะในการปฏิบัติงานใดงานหนึ่งโดยเฉพาะ  การเข้าถึงข้อมูลอาจใช้วิธีการสัมภาษณ์โดยตรง  หรือฟังสุนทรพจน์  แถลงการณ์  คำปราศรัย  จากวิทยุหรือโทรทัศน์  หรืออ่านจากหนังสือพิมพ์

                    12.4.3  แหล่งบริการสารนิเทศเชิงพาณิชย์  ได้แก่  สถานที่จัดหา  จัดเก็บรวบรวมสารนิเทศไว้อย่างเป็นระบบ  เพื่อให้บริการโดยคิดค่าบริการ  เช่น  ศูนย์บริการสารสนเทศทางเทคโนโลยี  (TIAC)  แหล่งผลิตและรวบรวมฐานข้อมูลต่าง ๆ

                    12.4.5  สถานที่สำคัญที่เป็นแหล่งเกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ  เช่น  สนามหลวง  ด่านเจดีย์สามองค์  อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย  วัดสำคัญ ๆ  ซึ่งเป็นแหล่งที่มีคุณค่าต่อการศึกษาด้านศิลปะ  วัฒนธรรม  สถาปัตยกรรม  จิตรกรรม  ประติมากรรม  ปติมากรรม  พุทธประวัติ  ประวัติศาสตร์  จารึก  ใบลาน

                    12.4.6  สถาบันบริการสารนิเทศ  ได้แก่  ศูนย์เอกสาร  หอจดหมายเหตุ  ห้องสมุด  สถาบันวิทยบริการ

                    12.4.7  แหล่งข่าวสารของทางราชการ  เช่น  ฝ่ายข่าว  งานประชาสัมพันธ์

                    12.4.8  แหล่งข่าวสารขององค์การระหว่างประเทศ  เช่น  สำนักแถลงข่าวขององค์การสหประชาชาติ

                    12.4.9  แหล่งข่าวสารสถานเอกอัครราชทูตประเทศต่าง ๆ  เช่น  สำนักข่าวสารอังกฤษ  สำนักข่าวสารอเมริกัน  เป็นต้น

                    12.4.10  เครือข่ายคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ  หมายถึง  ระบบการสื่อสารและแลกเปลี่ยนข้อมูลที่สร้างขึ้นโดยการเชื่อมต่อระหว่างคอมพิวเตอร์ตั้งแต่สองเครื่องขึ้นไป  โดยใช้แผ่นวงจรต่อประสานเครือข่ายสายเคเบิล  และทำงานด้วยระบบปฏิบัติการเครือข่าย  แหล่งสารนิเทศที่เป็นเครือข่ายที่ใหญ่ที่สุดในโลกอินเทอร์เน็ต  นอกจากนี้ยังสามารถหาความรู้  ข่าวสาร  ข้อมูลได้จากสื่ออิเล็กทรอนิกส์ประเภทอื่น ๆ ได้อีกซึ่งสื่อประเภทนี้มีบทบาทสำคัญมากในปัจจุบัน 

            12.5  แหล่งเรียนรู้อื่น ๆ  ถ้าจะกล่าวอีกนัยหนึ่ง  จำแนกได้  9  ประเภท  ดังนี้  

                    12.5.1  ห้องสมุด  (Library)  สถานที่รวมแหล่งสรรพวิทยาการต่าง ๆ  ทั้งที่อยู่ในรูปของหนังสือ  วารสาร  สิ่งตีพิมพ์อื่น ๆ  ตลอดจนโสตทัศนวัสดุ  และฐานข้อมูลต่าง ๆ  ที่ต้องสืบค้นด้วยคอมพิวเตอร์  โดยมีบรรณารักษ์  ซึ่งมีความรู้ทางด้านบรรณารักษศาสตร์  และสารนิเทศศาสตร์เป็นผู้ดำเนินงาน  จัดบริการ  และบริหารงานต่าง ๆ  เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์และความสะดวกสบายแก่ผู้ใช้ เครือข่ายคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ  หมายถึง  ระบบการสื่อสารและแลกเปลี่ยนข้อมูลที่สร้างขึ้นโดยการเชื่อมต่อระหว่างคอมพิวเตอร์ตั้งแต่สองเครื่องขึ้นไป  โดยใช้แผ่นวงจรต่อประสานเครือข่ายเคเบิล  และทำงานด้วยระบบปฏิบัติการเครือข่าย  แหล่งสารนิเทศที่เป็นเครือข่ายที่ใหญ่ที่สุดในโลก คือ  อินเทอร์เน็ตซึ่งสื่อประเภทนี้มีบทบาทสำคัญมากในปัจจุบัน

                    12.5.2  ศูนย์เอกสาร (Document  Center  หรือ  Information  Center)  เป็นแหล่งจัดเก็บและให้บริการสารนิเทศเฉพาะเรื่อง  กลุ่มผู้ใช้ส่วนใหญ่เป็น  นักวิจัย  นักวิชาการ  นักวิทยาศาสตร์  ฯลฯ  เพื่อประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานและการค้นคว้า  ทั้งนี้วิธีการดำเนินงานเพื่อให้บริการจะเน้นการรวบรวมสารนิเทศในขอบเขตวิชาที่แคบเฉพาะเจาะจงลึกซึ้งกว่าห้องสมุด  ได้แก่  สิ่งพิมพ์ประเภทรายงานการวิจัย  รายงานการประชุม  สัมมนา  สิ่งพิมพ์  เอกสารอื่น ๆ  เป็นต้น  ส่วนการบริการก็จะถึงตัวผู้ใช้มากกว่าไม่ว่าจะเป็นบริการตอบคำถาม  บริการสาระสังเขปและดรรชนี  บริการข่าวสารทันสมัย  บริการแปล  บริการอ้างอิง  บริการถ่ายสำเนาเอกสารและวัสดุย่อส่วน  ฯลฯ  นอกจากนี้ในปัจจุบันศูนย์เอกสารบางแห่งยังมีกิจกรรมการถ่ายทอดเทคโนโลยี  เช่น  ช่วยฝึกอบรม  ช่วยเตรียมเอกสารประกอบการฝึกอบรม  จัดหาวิทยากร  เป็นต้น 

                    12.5.3  ศูนย์ข้อมูล(Data  Center)เป็นหน่วยงานที่ผลิตหรือรวบรวมข้อมูลตัวเลขข้อมูลดิบ  หรือข้อมูลที่ดำเนินการไปแล้วบางส่วน  ศูนย์ข้อมูลเหล่านี้ในประเทศไทย  เช่น  ศูนย์ข้อมูลธุรกิจหลักทรัพย์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย  ศูนย์ข้อมูลข่าวสารการตลาดของสภาหอการค้า    แห่งประเทศไทยและหอการค้าไทย  ซึ่งเก็บรวบรวมประเมินผลข้อมูลด้วยคอมพิวเตอร์แล้วให้บริการรวบรวมและเผยแพร่ข้อมูล

                    12.5.4  หน่วยงานสถิติ  เป็นหน่วยงานที่ให้ข้อมูลทางสถิติเป็นตัวเลขอาจจัดตั้งขึ้นมาเพื่อปฏิบัติงานสถิติโดยตรง  เช่น  สำนักงานสถิติแห่งชาติ  รับผิดชอบทางด้านกำกับงานหรือประสานงานสถิติของรัฐ  จัดทำสำมะโนครัว  เป็นต้น 

                    12.5.5  ศูนย์วิเคราะห์สารนิเทศ  (Information  Analysis  Center)  เป็นศูนย์ที่เน้นการจัดหา  สะสมเอกสารที่ไม่ได้พิมพ์เผยแพร่  หรือกำลังดำเนินการโดยมีนักวิทยาศาสตร์เลือกสรร  ประเมินค่า  จัดเก็บและนำเสนอข้อสนเทศเฉพาะวิชา  ทำให้สะดวก  ประหยัดเวลาผู้ใช้ในการติดตามความรู้และสิ่งพิมพ์ใหม่ ๆ  ในสาขาวิชาที่สนใจ

                    12.5.6  ศูนย์แจกจ่ายสารนิเทศ  (Clearing  House)  เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่รวบรวมจัดเก็บผลงานวิจัย  รายงานความก้าวหน้าของโครงการงานที่สิ้นสุดแล้วโดยให้บริการด้านอ้างอิงถึงแหล่งผลิตต่างๆ  ที่มีผลงานวิจัย  รายงาน  โครงการ  สำหรับผู้สนใจหรือต้องการในรูปของบรรณานุกรม  ดรรชนี  ฯลฯ   

                    12.5.7  ศูนย์และแหล่งสารนิเทศ  (Referral  Center)  เป็นหน่วยงานที่ให้บริการตอบคำถามโดยการแนะนำผู้ใช้ไปยังแหล่งสารนิเทศ  ทั้งนี้ศูนย์จะมีบรรณานุกรมและรายชื่อแหล่งสารนิเทศต่างๆ  ไว้คอยช่วยแก้ไขปัญหากรณีที่ไม่สามารถหาคำตอบให้แก่ผู้ใช้ได้  

                     12.5.8  หอจดหมายเหตุ  (Archives)  เป็นหน่วยงานที่เก็บรักษาจดหมายเหตุ  เอกสารราชการ  เอกสารทางประวัติศาสตร์  เพื่อใช้อ้างอิงในการปฏิบัติหน้าที่หรือเป็นหลักฐานการค้นคว้าวิจัยและเป็นมรดกทางวัฒนธรรม  ได้แก่  หอจดหมายเหตุแห่งชาติ  หอจดหมายเหตุ ส่วนภูมิภาค  หอจดหมายเหตุของวัด  ฯลฯ   

                    12.5.9  สถาบันบริการสารนิเทศเชิงพาณิชย์  (Company  Information  Institutes)  เป็นหน่วยงานที่สนองความต้องการของผู้บริหารที่ไม่มีเวลาอ่านหนังสือ  รายงาน  ฯลฯ  โดยดำเนินการรวบรวม  จัดเก็บ  ประมวลผล  ประเมินค่า  และเผยแพร่สารนิเทศในลักษณะที่เป็นธุรกิจและมีนายหน้าสารนิเทศ  (Information  Broker)  ทำหน้าที่จัดส่งเอกสาร  ค้นข้อสนเทศ  บริการเขียน โครงร่างวิจัย  เขียนรายงาน  งานแปล  ทำวิจัยวิเคราะห์ตลาด  การจัดทำโฆษณา  ฯลฯ

 

บรรณานุกรม

 

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.  คณะอักษรศาสตร์.  ภาควิชาบรรณารักษ์ศาสตร์.  การค้นคว้าและเขียนรายงาน.  พิมพ์ครั้งที่ 8.  กรุงเทพฯ : โครงการเผยแพร่ผลงานวิชาการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2540.

ทิพวรรณ  หอมพูล  และคณะ.  เทคนิคการค้นหาข้อมูล  การเขียนรายงานและการใช้ห้องสมุด.  กรุงเทพฯ : ฟิสิกส์เซ็นเตอร์, 2542.

วันเพ็ญ  สาลีผลิน.  ห้องสมุดกับการรู้สารสนเทศ.  กรุงเทพฯ : ศูนย์ส่งเสริมอาชีวะ, 2549.

สมมารถ  มีศรี  สุทธาริณี  วาคาบาซิ  และนฤมล  เทพชู.  ห้องสมุดกับการรู้สารสนเทศ.  กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ ก. วิวรรธน์, 2547.

สุกัญญา  กุลนิติ.  ห้องสมุดและสารนิเทศเพื่อการศึกษาค้นคว้า.  กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, 2549.

สุนี  เลิศแสวงกิจ  และพิศิษฐ์  กาญจนพิมาย.  ห้องสมุดกับการรู้สารสนเทศ.  กรุงเทพฯ : โสภณการพิมพ์, 2546.

สุปรียา  ไชยสมคุณ.  ห้องสมุดกับการรู้สารสนเทศ.  กรุงเทพฯ : ประสานมิตร, 2546.

อำไพวรรณ  ทัพเป็นไทย.  การเขียนรายงานและการใช้ห้องสมุด.  กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, 2549.

 

หมายเลขบันทึก: 488396เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2012 14:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2018 15:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท