ใบความรู้ที่ 1 เรื่อง ห้องสมุดและแหล่งเรียนรู้อื่น ๆ (2)


วิชาการใช้ห้องสมุด

6.  ประเภทของห้องสมุด

ห้องสมุดเป็นสถาบันสารสนเทศอันดับแรกที่เก่าแก่และคุ้นเคยเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย  โดยแบ่งตามเป้าหมายในการให้บริการ   แบ่งออกเป็น  5  ประเภท  ดังนี้

            6.1  ห้องสมุดโรงเรียน  (School  Libraries)  คือ  ห้องสมุดที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนในโรงเรียน  ตั้งแต่ระดับอนุบาล  ระดับประถมศึกษา  และระดับมัธยมศึกษา  มีทรัพยากรสารสนเทศเกี่ยวกับการเรียนการสอนตามหลักสูตร  และนอกเหนือหลักสูตรให้มีประสิทธิภาพและบรรลุเป้าหมายของหลักสูตร  เป็นแหล่งปลูกฝังการมีนิสัยรักการอ่านและใฝ่หาความรู้ด้วยตนเองให้แก่เยาวชน  สามารถใช้เป็นพื้นฐานในการใช้ห้องสมุดและแหล่งสารสนเทศอื่น ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ขนาดของห้องสมุดโรงเรียนจะเล็กหรือใหญ่โตเพียงใด  ขึ้นอยู่กับจำนวนนักเรียนในโรงเรียนและจำนวนหนังสือในห้องสมุด  ห้องสมุดควรจัดไว้ในที่ที่อยู่เป็นศูนย์กลางของนักเรียนและครู  เพื่อจะได้เข้าใช้บริการได้สะดวก   ซึ่งจะเพาะนิสัยในการอ่านและการค้นคว้าให้แก่นักเรียน  ห้องสมุดโรงเรียนควรจัดดังนี้

                    6.1.1  สนับสนุนให้เด็กรักการอ่านหนังสือ  เด็กต้องอ่านหนังสือเป็น  ครูรู้จักเลือกอ่านหนังสือที่ดีและอ่านแล้วรู้จักคิดวิเคราะห์ได้

                    6.1.2  ฝึกให้เด็กรู้จักค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง  เพราะหนังสือสนองความต้องการได้ ทั้งความรู้  สติปัญญา  การสังคม  การใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์  และได้ความสนุกเพลิดเพลินเด็กต้องรู้จักเลือกอ่าน  และแสวงหาความรู้เองแทนที่จะคอยเรียนรู้จากครูเท่านั้น

                    6.1.3  ส่งเสริมให้เด็กมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องราวต่าง ๆ  รอบตัวอย่างกว้างขวางขึ้น  เข้าใจคนที่แวดล้อม  เข้าใจชีวิตความเป็นอยู่ของผู้อื่นตั้งแต่เล็ก ๆ  เท่าที่จะสามารถเข้าใจได้ เพราะมนุษย์แต่ละคนเป็นส่วนหนึ่งของสังคมจะอยู่โดดเดี่ยวไม่ได้  ทุกคนมีสิ่งแวดล้อม  มีครอบครัว           ญาติมิตรและคนอื่น ๆ  ที่เราต้องพบปะเกี่ยวข้องด้วย  จะทำให้เด็กเกิดความเห็นใจ  เข้าใจและรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น  เป็นคนมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีในอนาคต  และดำรงชีวิตอยู่ได้ในสังคมอย่างเป็นสุข  เช่น  อ่านหนังสือพิมพ์ได้ทราบข่าวความเคลื่อนไหว  รู้เหตุการณ์ต่างๆ ที่ทันสมัยทันโลก  หนังสือชีวประวัติ  และนวนิยายช่วยให้เข้าใจผู้อื่น  อ่านหนังสือภูมิศาสตร์ได้รู้โลกกว้างขวางขึ้นทำให้จิตใจเด็กตื่นตัวอยู่เสมอ  มีความอยากรู้อยากเห็นในทางที่เหมาะสมและถูกต้อง  ช่วยให้เด็กค้นพบตนเองว่าต้องการอะไร  มีความถนัดและชอบสิ่งใดบ้าง

                     6.1.4  ฝึกให้เด็กรู้จักรักความสวยงาม  ฝึกความเป็นระเบียบ  และมีวินัยโดยการจัดหาต้นไม้  ดอกไม้ประดับ  ม่านหรือภาพสวยงามไว้ตกแต่งเพื่อแลดูสวยงามสบายตา  หนังสือสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ จัดวางเป็นระเบียบบนชั้น  โต๊ะ  เก้าอี้  สะอาดจัดวางเข้าที่เรียบร้อยไม่เกะกะช่วยฝึกให้เด็กเป็นคนมีระเบียบ  กฎข้อบังคับของห้องสมุด  ซึ่งเด็กต้องปฏิบัติตามจะฝึกให้เด็กรู้จักเคารพสิทธิของผู้อื่น  รู้จักหน้าที่ของตนเองที่พึงปฏิบัติ  รู้จักระวังรักษาสมบัติของส่วนร่วมและฝึกการมีมารยาทในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น

                    6.1.5  ส่งเสริมการสอนของครู  และการเรียนของเด็ก  โดยจัดหาหนังสือและโสตทัศนวัสดุต่าง ๆ  ดังนี้

                                6.1.5.1  จัดหาให้สอดคล้องกับการเรียนการสอนตามหลักสูตร  ทั้ง 8 สาระการเรียนรู้

                                6.1.5.2  จัดหาหนังสืออ่านเพิ่มเติมนอกเวลา

                                6.1.5.3  จัดหาหนังสือสารคดีต่างๆ  ที่ไม่ยากจนเกินไป  หนังสือทางด้านภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์  และการท่องเที่ยวประเทศต่าง ๆ  หนังสือวรรณคดี

                                6.1.5.4  จัดหาหนังสืออ้างอิงต่าง ๆ เช่น  พจนานุกรม  สารานุกรม  ฯลฯ

                                6.1.5.5  จัดหาหนังสือความรู้ทั่วไป  หนังสือที่ช่วยให้รู้จักคิด  รู้จักประพฤติตนช่วยให้เด็กปรับแนวความคิด  และบุคลิกลักษณะของตน  หนังสือที่แนะนำเรื่องกิริยามารยาท  รู้สิ่งที่ควรประพฤติหรือสิ่งที่ไม่ควรประพฤติ  ชี้แนะแนวทางแก้ไขนิสัยที่ไม่ดีบางประการ  เพราะเด็ก          ในวัยนี้กำลังอยู่ในระยะสร้างอุปนิสัย  ยังไม่เข้าใจชีวิตและสิ่งแวดล้อมเพียงพอ

                                6.1.5.6  จัดหาหนังสือทางศาสนา  หนังสือชีวประวัติ  และนวนิยายบางเล่มที่มีส่วนในการจูงใจเด็กให้เป็นคนดี  ใฝ่ในทางดี  รู้จักคิดและประพฤติตนได้ถูกต้อง

                                6.1.5.7  จัดหาหนังสือที่แนะแนวในการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์เกี่ยวกับงานอดิเรก  เช่น  การประดิษฐ์สิ่งของเครื่องใช้เล็ก ๆ น้อย ๆ  จากวัสดุเหลือใช้  การปลูกไม้ดอกไม้ประดับ  การวาดภาพ  งานเย็บปักถักร้อย  การสะสมสิ่งต่าง ๆ  ทำให้เด็กได้ทราบว่ามีอะไรที่น่าสนใจ

                                6.1.5.8  จัดหาหนังสือที่ให้ความเพลิดเพลินสนุกสนาน  ช่วยให้อารมณ์แจ่มใส  จิตใจเบิกบาน  หายเมื่อยล้าจากการเรียน  เช่น  นิทานต่างๆ  เรื่องชวนขัน

                                6.1.5.9  จัดหาหนังสือสำหรับครู  และสิ่งพิมพ์อื่น ๆ ได้แก่  หลักสูตรใหม่ ๆ  หนังสือแนะนำสถานที่ที่นักเรียนจะเข้าศึกษาต่อ  วารสาร  จุลสาร  และหนังสือพิมพ์

                                6.1.5.10  จัดหาโสตทัศนวัสดุต่าง ๆ  เช่น  ภาพต่าง ๆ  แผนที่  ลูกโลก  แผนผัง  แผนภูมิ  ของเลียนแบบ  เป็นต้น

             6.2  ห้องสมุดวิทยาลัยและมหาวิทยาลัย  (College  and  University  Libraries)  คือ  ห้องสมุดระดับอุดมศึกษา  ซึ่งตั้งอยู่ในวิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัยต่าง ๆ  ปัจจุบันส่วนมากใช้คำว่าสำนักหอสมุด  หรือสถาบันวิทยบริการ  แทนคำว่า  ห้องสมุด  นับได้ว่าเป็นศูนย์รวมของแหล่งข้อมูลที่ใช้ในการค้นคว้าด้านการเรียนการสอน  และการวิจัยของอาจารย์และนักศึกษา  ให้บริการทางวิชาการแก่ชุมชน  ตลอดจนส่งเสริมทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม  ห้องสมุดมหาวิทยาลัยอาจเป็นห้องสมุดกลาง หรือห้องสมุดคณะ  หรือห้องสมุดเทียบเท่าคณะที่มีชื่อเรียกเป็นอย่างอื่น  ในสังกัดมหาวิทยาลัย  และจะต้องมีวัตถุประสงค์สอดคล้องกับวัตถุประสงค์   และนโยบายของมหาวิทยาลัย  หนังสือ  โสตทัศนวัสดุ  และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในห้องสมุดประเภทนี้ประกอบด้วย

                    6.2.1  หนังสือและสิ่งพิมพ์อื่น ๆ  โสตทัศนวัสดุ  สื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนตามสาขาวิชาที่เปิดสอนและตรงตามความต้องการของอาจารย์และนักศึกษา  สำหรับการค้นคว้าวิจัย

                    6.2.2  หนังสืออ้างอิง  ฐานข้อมูลอ้างอิงในสาขาวิชาต่างๆ  ที่มหาวิทยาลัยเปิดสอนรวมทั้งจัดให้มีหนังสืออ้างอิง  ฐานข้อมูลอ้างอิงเฉพาะด้านการศึกษาทั่ว ๆ ไป

                    6.2.3  หนังสือที่ให้ความจรรโลงใจต่าง ๆ  เพื่อให้ผู้อ่านเป็นผู้เจริญ  และหนังสือที่อ่านแล้วได้รับความเพลิดเพลิน  เช่น  หนังสือวรรณคดี  ชีวประวัติ  ศาสนา  ปรัชญา  จิตวิทยา  ข้อคิดเกี่ยวกับศีลธรรม  หนังสือท่องเที่ยว  นวนิยายที่มีคุณภาพสูงและจัดหาในจำนวนจำกัด

            6.3  ห้องสมุดประชาชน  (Public  Libraries)  คือ  ห้องสมุดที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้บริการแก่ประชาชนทั่วไป  ไม่จำกัด  เพศ  วัย  ศาสนา  อาชีพ  และระดับความรู้ในชุมชนท้องถิ่นนั้น ๆ โดยไม่เรียกร้องค่าตอบแทนใด ๆ  ไม่ว่าจะเป็นค่าบำรุงห้องสมุด  ค่าเช่าหนังสือ  ทั้งนี้เพราะถือว่าประชาชนได้เสียภาษีให้แก่รัฐแล้วห้องสมุดประชาชนแห่งแรกของไทย  คือ ห้องสมุดวัดพระเชตุพนฯ  หรือ   วัดโพธิ์  ให้บริการส่งเสริมการอ่านแก่ประชาชนในท้องถิ่น  ประชาชนสามารถเลือกรับข้อมูลข่าวสารได้ตามความต้องการได้อย่างอิสรเสรี   ซึ่งในปัจจุบันห้องสมุดประชาชนขยายขอบเขต การให้บริการกว้างขวางออกไป  ขยายสาขาไปยังชุมชนที่ห่างไกล  มีทั้งห้องสมุดประชาชนระดับอำเภอ  ระดับตำบล  จัดบริการห้องสมุดเคลื่อนที่โดยใช้รถยนต์   หรือเรือไปยังที่ต่างๆ  เป็นการให้บริการที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนแต่ละแห่ง  เพื่อช่วยยกระดับชีวิต และสติปัญญาทำให้เป็นพลเมืองดีมีความรับผิดชอบ  ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งดังนี้

                     6.3.1  เพื่อให้การศึกษา  ห้องสมุดประชาชนถือได้ว่าเป็นมหาวิทยาลัยชาวบ้าน  เพราะทุกคนสามารถศึกษาหาความรู้ให้กับตนเองได้แม้ว่าจะไม่มีโอกาสเข้าศึกษาในระบบโรงเรียนหรือผู้ที่เรียนจบจากการศึกษาในระดับสูง ๆ แล้ว  ก็ยังต้องแสวงหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ  เพื่อพัฒนาตนเองไปจนตลอดชีวิต  ส่วนผู้ที่มิเคยได้เข้าโรงเรียนเลย  แม้จะอ่านหนังสือไม่ออกก็อาจเข้าชมกิจกรรมส่งเสริมการอ่านต่างๆ ที่ห้องสมุดจัดขึ้น  เช่น  ฟังเล่านิทาน  ฟังปาฐกถา  หรือดูภาพยนตร์

                    6.3.2  เป็นศูนย์รวมข่าว  เป็นที่พบปะของชุมชน  จะได้รับรู้เหตุการณ์ต่าง ๆ  ที่เกิดขึ้นทั้งภายในและภายนอกประเทศ  รู้ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการประดิษฐ์คิดค้น  การค้นพบทางวิทยาศาสตร์ใหม่ ๆ

                    6.3.3  เพื่อสนับสนุน  ส่งเสริมให้ประชาชนได้รู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์  โดยการอ่านหนังสือและสื่อความคิดอื่น ๆ  เป็นการปลูกฝังและส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน  เพราะการอ่านให้ประโยชน์มากมายที่จะเกิดการพัฒนาทางอาชีพ  ให้แนวคิดอันถูกต้อง  เกิดการตัดสินใจอย่างมีเหตุผล  เกิดการปรับปรุงบุคลิกลักษณะส่งผลให้คิดและทำแต่สิ่งที่ดีงาม  ช่วยในการพัฒนาจิตใจให้มีทัศนคติอันถูกต้อง  ช่วยในการแก้ปัญหาต่างๆ  อันจะเป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคม

                    ในปัจจุบันได้มีห้องสมุดประชาชน  จัดให้บริการอยู่ตามชุมชนต่างๆ  ตั้งแต่ระดับจังหวัด  อำเภอ  ตำบล  ไปจนถึงเป็นที่อ่านหนังสือพิมพ์ประจำหมู่บ้าน  สถานที่ตั้งของห้องสมุดประชาชน ควรตั้งอยู่ในที่คนไปมาได้สะดวกอยู่ใจกลางชุมชน  เช่น  ตลาด  โรงเรียน  วัด  อีกทั้งยังสามารถจัดบริการ  หน่วยห้องสมุดเคลื่อนที่ออกไปตามแหล่งชุมชนซึ่งอยู่ห่างไกลออกไปยังที่ต่าง ๆ โดยใช้  รถ  รถไฟ    เรือ  เครื่องบิน  เกวียน  หรือยานพาหนะอื่น ๆ ตามความเหมาะสมกับลักษณะภูมิประเทศนั้น ๆ  แล้วหาที่ซึ่งเป็นศูนย์รวมของชุมชนสักแห่ง  ใช้เป็นที่เก็บหนังสือ  อาจเป็นศาลาวัด  ห้องใดห้องหนึ่งในอาคารเรียน  สหกรณ์ของหมู่บ้าน  หน่วยเคลื่อนที่นี้จะต้องมีเส้นทางแน่นอน  และทำเป็นประจำ  ห้องสมุดประชาชนในต่างจังหวัด  อยู่ในความดูแลของกรมการศึกษานอกโรงเรียน  กระทรวงศึกษาธิการ

                    สำหรับห้องสมุดประชาชนในกรุงเทพมหานคร  ได้เปิดบริการขึ้นหลายแห่ง  เช่น  ห้องสมุดประชาชนซอยพระนาง  ห้องสมุดประชาชนสวนลุมพินี  อยู่ในการกำกับดูแลของสำนักสวัสดิการสังคม  กรุงเทพมหานคร  ห้องสมุดประชาชนของหน่วยงานเอกชน  องค์กรระหว่างประเทศ  เช่น  ห้องสมุดบริติชเคาน์ซิล  ห้องสมุด  เอ.ยู.เอ.  เป็นต้น  หนังสือในห้องสมุดประชาชนควรจัดหา  ดังนี้

                                 6.3.3.1  จัดหาให้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้แต่ละคน  และผู้ใช้ทั่ว ๆ ไป

                                6.3.3.2  จัดหาให้เหมาะสมกับพื้นความรู้และความสามารถของผู้อ่านหรือผู้ใช้บริการ

                                6.3.3.3  จัดหาวัสดุการอ่านให้ครบทุกประเภท  เช่น  สารคดี  นวนิยาย  วารสาร  หนังสือพิมพ์  หนังสือวิชาการ  หนังสืออ้างอิง  และจัดหาให้ทันสมัยอยู่เสมอ

            6.4  ห้องสมุดเฉพาะ (Special Libraries)  คือห้องสมุดที่เก็บรวบรวมสารนิเทศ เพื่อสนองตอบ  ความต้องการของบุคคลเฉพาะสาขาวิชาวิชาใดวิชาหนึ่งและวิชาที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้บริการแก่ผู้ใช้เฉพาะกลุ่ม  ซึ่งเป็นสมาชิกในหน่วยงานที่ห้องสมุดสังกัดอยู่  และการให้บริการของห้องสมุดเฉพาะนี้จะช่วยส่งเสริมให้กิจการของหน่วยงานนั้นๆ  เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้  ห้องสมุดเฉพาะนี้มักจะสังกัดอยู่ในหน่วยราชการ  องค์การ  บริษัท  สมาคมวิชาชีพ  ธนาคาร  พิพิธภัณฑ์  มหาวิทยาลัย  องค์การระหว่างประเทศ  และหน่วยงานอื่น ๆ  เป็นต้น  สำหรับชื่อห้องสมุดเฉพาะมีชื่อแตกต่างกันมากกว่าห้องสมุดประเภทอื่น  ขึ้นอยู่กับหน่วยงานที่ห้องสมุดนั้นสังกัด  รวมทั้งลักษณะ ของการดำเนินงานและการให้บริการ  เช่น  ในปัจจุบันใช้คำว่า  ศูนย์ข่าวสาร  ศูนย์เอกสาร  ศูนย์บริการเอกสาร  เป็นต้น  เช่น  ห้องสมุดคณะต่าง ๆ  ในมหาวิทยาลัย  ห้องสมุดวัดบวรนิเวศฯ  (รวบรวมหนังสือที่ระลึกในโอกาสพิเศษของบุคคลและหน่วยงานต่าง ๆ)  ห้องสมุดของสภาพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ  ห้องสมุดการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย  ห้องสมุดสยามสมาคม  ห้องสมุดการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย  ห้องสมุดเนติบัณฑิตยสภา  เป็นต้น  หนังสือที่มีอยู่ในห้องสมุดประเภทนี้มีแต่หนังสือซึ่งเกี่ยวกับหน่ายงานนั้น ๆ  เป็นส่วนใหญ่  เพราะวัตถุประสงค์หลักของห้องสมุดประเภทนี้มีไว้เพื่อช่วยการค้นคว้าและวิจัยในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานเท่านั้น  สิ่งพิมพ์ส่วนมากจะเป็นรายงานเกี่ยวกับการวิจัย  เอกสารของรัฐบาล  รายงานทางวิชาการของสมาคมซึ่งสิ่งพิมพ์เหล่านี้จะหาได้จากแหล่งผลิตเท่านั้นไม่มีวางจำหน่ายทั่วไป  โดยทั่วไปจะให้บริการ แก่บุคลากรของหน่วยงาน หรือนักศึกษาของคณะนั้น ๆ

            6.5  หอสมุดแห่งชาติ  (National  Libraries)  คือ  ห้องสมุดประจำชาติหรือประเทศ   หอสมุดแห่งชาติของไทยเดิมชื่อว่า  หอสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร  ปัจจุบันตั้งอยู่  ณ  ท่าวาสุกรี ถนนสามเสน  สร้างขึ้นในสมัยรัฐบาลจอมพล  สฤษดิ์  ธนะรัชต์  วางศิลาฤกษ์เมื่อ  พ.ศ.  2506  เปิดให้ประชาชนเข้าใช้บริการ  ตั้งแต่วันที่ 5  พฤษภาคม  พ.ศ.  2509  มีฐานะเป็นสำนักหอสมุดแห่งชาติ  สังกัดกรมศิลปากร  กระทรวงศึกษาธิการ  เปิดบริการให้ประชาชนเข้าอ่านได้ทุกวันตั้งแต่เวลา  9.30-19.30 น. เว้นวัดหยุดราชการและวันนักขัตฤกษ์  แต่ไม่อนุญาตให้ยืมทรัพยากรสารนิเทศออกนอกห้องสมุด  หอสมุดแห่งชาติเก็บรวบรวมสิ่งพิมพ์ที่พิมพ์ขึ้นภายในประเทศไว้อย่างสมบูรณ์  และอนุรักษ์ให้คงทนถาวร  จัดให้ใช้ประโยชน์ในด้านประกอบการค้นคว้าวิจัย  หอสมุดแห่งชาติจะต้องได้รับสิ่งพิมพ์ทุกเล่มที่พิมพ์ขึ้นภายในประเทศตามกฎหมาย เก็บรวบรวมทรัพยากรสารนิเทศทุกชนิดโดยเฉพาะทรัพยากรสารนิเทศที่ผลิตในประเทศนั้นๆ  จัดทำบรรณานุกรมทรัพยากรสารนิเทศแห่งชาติ[1]  กำหนดเลขมาตรฐานสากลประจำหนังสือ  (ISBN = International  Standard  Book  Number)  ส่วนบรรณานุกรม[2]  ประเภทอื่น ๆ  ที่หอสมุดแห่งชาติจัดทำ  ได้แก่  บรรณานุกรมเฉพาะวิชา[3]  บรรณานุกรมผู้แต่ง[4]  โดยจะทำเฉพาะผู้แต่งที่มีชื่อเสียง  และแต่งหนังสือไว้หลายชื่อ   และนอกจากนี้หอสมุดแห่งชาติยังมีหน้าที่รวบรวมสารนิเทศที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย  ซึ่งผลิตที่ต่างประเทศ  รวบรวมสิ่งพิมพ์ที่มีคุณค่า  มีราคาสูงทั้งของไทยและของต่างประเทศ  ซึ่งห้องสมุดอื่นไม่มี 

            หนังสือและสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ในหอสมุดแห่งชาตินั้นได้รับมาจากหลายทาง  เช่น  หนังสือที่พิมพ์ในประเทศไทย  จะได้รับตามพระราชบัญญัติการพิมพ์ที่ระบุไว้ว่า  “บรรดาหนังสือที่มีกรรมสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติ  ผู้มีกรรมสิทธิ์จะต้องมอบให้เพื่อเก็บรักษาไว้ในหอสมุดแห่งชาติ  2 ฉบับ”             อีกทั้งยังได้จัดหาหนังสือประเภทมีคุณค่าหายาก  มีราคาแพงจากต่างประเทศทั่วโลก  อาจจัดหาโดยวิธีการซื้อด้วยเงินงบประมาณของหอสมุด  หรือแลกเปลี่ยนกับหน่วยงานราชการ  ห้องสมุด  และสมาคมต่าง ๆ  ในต่างประเทศหรือมีผู้บริจาคให้  จึงทำให้หอสมุดแห่งชาติมีหนังสือสำคัญต่าง ๆ อยู่เป็นจำนวนมากและมีหนังสือหลากหลายภาษา  อีกทั้งยังเก็บรวบรวมหนังสือฉบับตัวเขียนด้วยมือ  เหรียญกษาปณ์  เหรียญตราต่างๆ  แผนที่  รูปภาพและวัสดุย่อส่วนนานาชนิด

            การให้บริการจะเน้นทางด้านช่วยเหลือในการอ่าน การค้นคว้าและวิจัยภายใน  ห้ามยืมออก  เพื่อให้ทุกคนได้ใช้หนังสือโดยทั่วถึงกัน  บริการช่วยค้นคว้ามีหลายอย่าง  เช่น  ช่วยค้นหาหนังสือ    และสิ่งพิมพ์  ช่วยรวบรวมรายชื่อหนังสือในเรื่องที่ผู้ใช้ต้องการ  จัดทำดรรชนีค้นเรื่อง  เป็นศูนย์รวมบัตรรายการ  หรือสหบัตรรายการ  (Union  Catalog)  คือ  รวบรวมบัตรรายการหนังสือของห้องสมุดอื่นๆ มาไว้เพื่อให้ผู้ที่ต้องการจะค้นเรื่องได้ทราบว่า  หนังสือที่ตนต้องการถ้าไม่มีในหอสมุดแห่งชาติแล้วจะมีอยู่ที่ใด  แล้วหอสมุดแห่งชาติจะทำหน้าที่ขอยืมมาให้เรียกบริการนี้ว่า  “การยืมระหว่างห้องสมุด”  (Inter  Library  Loan  Service)

             ปัจจุบันหอสมุดแห่งชาติมีสาขาอยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  โดยมากจัดไว้ในบริเวณเดียวกันกับพิพิธภัณฑสถานของจังหวัดนั้น ๆ  โดยหอสมุดแห่งชาติในกรุงเทพมหานครจะเป็นผู้จัดหาหนังสือดำเนินการจัดหมวดหมู่  และทำบัตรรายการส่งให้แก่หอสมุดแห่งชาติสาขาในจังหวัดต่างๆ  ทั้งหมด  17  สาขา  ดังนี้

                    6.5.1  หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก  เชียงใหม่

                    6.5.2  หอสมุดแห่งชาติลำพูน

                    6.5.3  หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก  จันทบุรี

                    6.5.4  หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก  กาญจนบุรี

                    6.5.5  หอสมุดแห่งชาติอินทร์บุรี  สิงห์บุรี

                    6.5.6  หอสมุดแห่งชาติชลบุรี

                    6.5.7  หอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ  ร.9  นครราชสีมา

                    6.5.8  หอสมุดแห่งชาติประโคนชัย  บุรีรัมย์

                    6.5.9  หอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์  พระบรมราชินีนาถ  นครพนม

                    6.5.10  หอสมุดแห่งชาตินครศรีธรรมราช

                    6.5.11  หอสมุดแห่งชาติวัดเจริญสมณกิจ  ภูเก็ต

                    6.5.12  หอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติพระนางเจ้าสิริกิติ์  พระบรมราชินีนาถ  ตรัง

                    6.5.13  หอสมุดแห่งชาติกาญจนาภิเษก  สงขลา

                    6.5.14  หอสมุดแห่งชาติวัดตอนรัก  สงขลา

                    6.5.15  หอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์  พระบรมราชินีนาถ  สงขลา

                    6.5.16  หอสมุดแห่งชาติ  จังหวัดสุพรรณบุรี  เฉลิมพระเกียรติ

                    6.5.17  หอสมุดแห่งชาติเขตลาดกระบัง  เฉลิมพระเกียรติ

 


[1]  รายชื่อหนังสือและสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ  ที่เขียนหรือตีพิมพ์ขึ้นในประเทศนั้น ๆ  ตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงปัจจุบัน  เป็นเครื่องมือสำคัญในการศึกษาค้นคว้า  เป็นคู่มือจัดหาและคัดเลือกหนังสือ  เป็นสถิติการผลิตหนังสือของชาติ
[2]  คือการทำบัญชีรายชื่อหนังสือ  โดยให้รายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือดังนี้  ชื่อผู้แต่ง  ชื่อเรื่อง  ผู้จัดพิมพ์  ปีที่พิมพ์  จำนวนหน้า
[3]  คือบัญชีรายชื่อหนังสือในแต่ละวิชา
[4]  คือบัญชีรายชื่อหนังสือทั้งหมดของผู้แต่งคนนั้น ๆ  แต่งขึ้น

7.  ลักษณะของห้องสมุดที่ดี

ห้องสมุดที่ดีควรมีการจัดบริการที่สนองความต้องการของผู้ใช้อย่างกว้างขวาง  ผู้ใช้ได้รับความสะดวก  รวดเร็ว  และสามารถใช้ห้องสมุดในการเพิ่มพูนความรู้และตลอดจนนำความรู้  ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี  ดังนั้น  ห้องสมุดที่ดีควรจัดหาจัดระเบียบ  และจัดบริการดังต่อไปนี้

     7.1  มีหนังสือและวัสดุสิ่งพิมพ์โสตทัศนวัสดุ  สำหรับให้บริการแก่ผู้ใช้อย่างกว้างขวางทุกประเภท

     7.2  มีบริการให้ยืมหนังสือ  วัสดุสิ่งพิมพ์  หรือเอกสาร  แก่ผู้ใช้ห้องสมุด

     7.3  จัดบริการและแนะนำการอ่าน  บริการตอบคำถาม  บริการช่วยการค้นคว้า  จัดบริการหนังสือจอง  บริการหนังสือสำรอง  เปิดโอกาสให้ผู้ใช้ได้ใช้หนังสือหรือวัสดุการศึกษาอื่น ๆ อย่างทั่วถึงกัน  เพื่อให้ผู้ใช้ได้สิ่งที่ต้องการโดยเร็ว  และตรงตามวัตถุประสงค์

     7.4  มีหนังสืออ้างอิงซึ่งสงวนไว้ใช้เฉพาะในห้องสมุด  หรือให้ขอยืมได้ในเวลาจำกัดเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ใช้ได้ใช้หนังสืออ้างอิงอย่างทั่วถึงกัน  และควรจัดบริการหนังสือจองด้วย

     7.5  มีการจัดหนังสือเป็นหมวดหมู่ตามระบบสากลไว้ในชั้นเปิด  เพื่อให้ผู้ใช้สามารถหยิบได้ด้วยตนเองโดยสะดวก

     7.6  จัดทำคู่มือ  หรือเครื่องมือที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการค้นหาทรัพยากรสารนิเทศ ของห้องสมุด  เพื่อเป็นการช่วยประหยัดเวลาในการค้นหาและเข้าถึงข้อมูลที่ต้องการได้ตรงเป้าหมายที่ได้วางไว้อย่างรวดเร็ว  เช่น  ฐานข้อมูลทรัพยากรสารนิเทศของห้องสมุด  บัตรรายการ  รายชื่อหนังสือ  คู่มือการใช้ห้องสมุด  รายชื่อโสตทัศนวัสดุประเภทต่าง ๆ  เป็นต้น

     7.7  จัดบริการแนะนำหนังสือดี  หรือหนังสือที่น่าสนใจ  หนังสือที่จัดหาเข้าห้องสมุดใหม่ ๆ  เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้ทราบเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ

     7.8  จัดสถานที่สะอาดเรียบร้อยเหมาะสมเป็นห้องสมุด  เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้รับความสะดวกสบายตามสมควร  เช่น  มีแสงสว่างเพียงพอ  มีโต๊ะ  เก้าอี้นั่งสบายปราศจากเสียงรบกวนหรือทำลายสมาธิ  มีอากาศถ่ายเท  หรือมีพัดลมระบายอากาศ

     7.9  จัดบริการอำนวยความสะดวกอื่น ๆ  ตามความจำเป็น  และระดับความต้องการของผู้ใช้

     7.10  มีงบประมาณสำหรับการดำเนินงาน  และการจัดบริการเป็นประจำและเพียงพอ

8. บริการของห้องสมุด

     บริการของห้องสมุดมีทั้งทางตรงและทางอ้อม  ดังนี้

     8.1  บริการยืม – คืนโดยยึดระเบียบการยืม - คืนของห้องสมุด

     8.2  บริการถ่ายสำเนาโดยไม่คิดค่าบริการ

     8.3  บริการตอบคำถามและช่วยการค้นคว้า 

     8.4  บริการรวบรวมบรรณานุกรม

     8.5  บริการจัดป้ายนิเทศเพื่อประกาศหรือเสนอเรื่องราวที่น่าสนใจซึ่งผู้ใช้ควรทราบตามวาระต่างๆ

     8.6  บริการให้ศึกษาค้นคว้าภายในห้องสมุด  โดยจัดอุปกรณ์และสถานที่ให้เหมาะสมและเพียงพอต่อผู้ใช้

     8.7  บริการแนะนำวิธีใช้เครื่องมือช่วยค้นต่าง ๆ  เช่น  อธิบายวิธีใช้บัตรรายการ  วิธีการสืบค้นด้วยโปรแกรมห้องสมุด  โดยใช้คอมพิวเตอร์  วิธีใช้บริการอินเทอร์เน็ต  วิธีใช้เครื่องมือโสตทัศน์ต่าง ๆ

     8.8  บริการให้คำแนะนำเกี่ยวกับการใช้ห้องสมุดและการใช้บริการต่าง ๆ

     8.9  บริการข่าวสารที่ทันสมัย  คือจัดบริการความรู้ใหม่ให้ถึงตัวผู้ใช้อย่างรวดเร็วโดยให้บริการตามความสนใจของแต่ละคน  หรือแต่ละกลุ่ม

     8.10  บริการอื่น ๆ  ที่เป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้


หมายเลขบันทึก: 488383เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2012 12:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2018 15:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

- ห้องสมุดและแหล่งเรียนรู้....เป้นการนำเสนอ...ที่ดีมากๆ ค่ะ.....ขอบคุณมากค่ะ

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท