ขอใชับันทึกนี้สื่อกับ มอ. และ สมศ.


ไม่ทราบว่าผิดหรือถูกที่ผมตีความว่า ทั้ง สมศ. และ มอ. กำลังขับเคลื่อนระบบประกันคุณภาพแบบที่ 2 อย่างไม่รู้ตัว

         ผมขออนุญาตใช้บันทึกนี้สื่อกับ มอ. และ สมศ. ว่าผมได้เรียนรู้อะไรจากการเตรียมตัว  ถามใจตนเองว่าจะไปเป็นประธานกรรมการประเมินคุณภาพภายนอกของ มอ. หรือไม่   และขออนุญาตสื่อออกไปในวงกว้างด้วย   เพราะคิดว่าวงการอุดมศึกษาน่าจะได้ประโยชน์

         สิ่งที่ผมเฝ้าดู  สังเกตและตีความก็คือ  กิจกรรมประกันคุณภาพเป็นเนื้อเดียวกันกับการทำงานประจำหรือไม่

         พูดให้ง่ายขึ้น   ทำเรื่องประกันคุณภาพเพื่อพัฒนางานประจำหรือเพื่อให้ผ่านการประเมินโดย สมศ.

         ย้ำ

         ประกันคุณภาพแบบที่ 1   เพื่อพัฒนางานของตนเองเป็นเป้าหมายหลัก   การประเมินของ สมศ. เป็นเป้าหมายรอง
         ประกันคุณภาพแบบที่ 2   เพื่อให้ผ่านการประเมินของ สมศ. เป็นเป้าหมายหลัก

         คำถามของผมก็คือ  สมศ. กำลังขับเคลื่อนระบบประกันคุณภาพแบบใด   สมศ. ต้องตอบว่าแบบที่ 1 แน่ ๆ   แต่ผมไม่เชื่อในทันที (ด้วยมีกาลามสูตรในหัวใจ) พยายามหาหลักฐานจากการปฏิบัติของ สมศ.

         สมศ. คงต้องถามตนเองว่า  ท่าที  คำพูด  การกระทำใดบ้างของเจ้าหน้าที่ สมศ. และทีมประเมินของ สมศ. ที่ทำให้รูปแบบการ

ประกันคุณภาพของสถาบันการศึกษาเคลื่อนไปสู่แบบที่ 2 แบบไม่รู้ตัว

          ไม่ทราบว่าผิดหรือถูกที่ผมตีความว่า  ทั้ง สมศ. และ มอ. กำลังขับเคลื่อนระบบประกันคุณภาพแบบที่ 2 อย่างไม่รู้ตัว

         ผมพยายามบอกทั้งต่อ สมศ. และ มอ. ว่าผมต้องการให้ มอ. ส่งรายงานประจำปี 2548 หรือถ้าของปี 2548 ยังไม่เสร็จก็ขอของปี 2547 ก็ได้   ส่งให้แก่ทีมประเมินคุณภาพภายนอกทุกคน   แต่สิ่งที่เราได้รับจาก มอ. คือเอกสาร
 1. รายงานประจำปีการประเมินคุณภาพ ประจำปีการศึกษา 2546/ปีงบประมาณ 2547  จัดพิมพ์เมื่อพฤษภาคม 2548
 2. คู่มือ  การจัดทำรายงานประจำปีการประเมินคุณภาพ
 3. รายงานการประเมินคุณภาพสถาบันอุดมศึกษา  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  ธันวาคม 2545
 4. สังเขประบบและกลไกประกันคุณภาพ   มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  พฤศจิกายน 2547
เอกสาร 4 รายการนั้นผมได้รับเมื่อประมาณ 2 - 3 สัปดาห์มาแล้ว   และเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว  ผมได้รับเอกสารรายการที่ 5
 5. ข้อมูลพื้นฐานสำหรับการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสองปีการศึกษา 2548 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

         ผมกลับไปตรวจสอบกับเอกสารของ สมศ.: คู่มือการประเมินคุณภาพภายนอกระดับอุดมศึกษา (พฤษภาคม 2549) ว่าระบุขั้นตอนก่อนการตรวจเยี่ยมไว้อย่างไร  ดูที่หน้า 22
          "2. คณะผู้ประเมินภายนอกที่ได้รับการรับรองและมอบหมายให้เป็นผู้ประเมินภายนอกสถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่ง  ทำการศึกษารวบรวมข้อมูลจากรายงานการประเมินตนเอง/รายงานประจำปีของสถาบันอุดมศึกษาและเอกสารรายงานอื่น ๆ ซึ่งสถาบันอุดมศึกษาจัดส่งมาให้ล่วงหน้า
           3. คณะผู้ประเมินภายนอกทำการศึกษาวิเคราะห์  สรุปข้อมูลตามมาตรฐานและตัวบ่งชี้ของ สมศ. จากข้อมูลในข้อ 2 แบบกรอกข้อมูลพื้นฐาน (Common data set) และเอกสารข้อมูลอื่น ๆ   ซึ่ง สมศ. ได้แจ้งให้สถาบันส่งข้อมูลดังกล่าวก่อนที่จะเข้าตรวจประเมินอย่างน้อย 30 วัน"

         ผมถามตัวเองว่า สมศ. บอกกับสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ ว่าให้ส่งเอกสารอะไรบ้างให้แก่ทีมประเมินภายนอก   บอกชัดเจนเพียงใด 

         ผมบอกกับเจ้าหน้าที่ของ สมศ. หลายครั้งว่าผมต้องการ "รายงานประจำปีของมหาวิทยาลัย" ก็ได้รับคำตอบว่ายังทำไม่เสร็จ

         มาพิจารณาตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด   ผมตีความว่าคำว่า "รายงานประจำปี" ของผมกับของ มอ. ไม่ตรงกัน   ทาง มอ. ตีความเป็น "รายงานการประเมินคุณภาพประจำปี"

         ผมจึงตีความว่าระบบการประเมินคุณภาพของ มอ. อยู่ในแบบที่ 2 ไงครับ   และสงสัยว่าเจ้าหน้าที่ของ สมศ. อาจจะเป็นตัวการ

         ผมฟัง ศ. ดร. สมหวัง  พิธิยานุวัฒน์  พูดเรื่องการประกันคุณภาพทีไร  ก็ชื่นชมทุกที  ว่าท่านลึกซึ้งในเรื่องนี้มาก   แต่ผมสงสัยว่าเวลาเจ้าหน้าที่ของ สมศ. นำไปปฏิบัติ   อาจมีการปฏิบัติที่ชักจูงสถาบันไปที่แนวทางที่ 2

ผมมีความเห็นว่า  แนวทางที่ 2 จะก่อปัญหาสำคัญ 2 อย่าง
      (1) ทำให้เป็นระบบประกันคุณภาพปลอม ๆ
      (2) ทำให้ต้องออกแรงมาก   ลงทุนมาก  ใช้คนเปลืองแต่ไม่เกิดผลต่อการพัฒนาคุณภาพอย่างคุ้มค่าแล้วทีมประเมิน (ที่กำลังงง ๆ ว่าจะรับงานไหม) จะได้รับรายงานประจำปี 2548 ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ก่อนการประชุมในวันที่ 11 ก.ย.49 ไหมนี่

วิจารณ์  พานิช
 7 ก.ย.49

หมายเลขบันทึก: 48809เขียนเมื่อ 7 กันยายน 2006 11:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 20:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
อาจารย์ จะได้รับ รายงานประจำปี ก่อนวันประชุมค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท