ข่าวภาคี สสค.
ประชาสัมพันธ์ ข่าวภาคี สสค. ตีฆ้องร้องป่าว

ครูขอนแก่นเจ๋งคิดนวัตกรรม เซียมซีวัดน้ำหนักเช็คโรคอ้วน


ครูขอนแก่น ห่วงใยศิษย์ ผู้ปกครองและชุมชนใกล้เคียง คิดเซียมซีทำนายน้ำหนักอัตโนมัติ จุดประกายให้ชุมชนรักสุขภาพ รู้จักออกกำลังกาย และกินอาหารให้ถูกสุขลักษณะ พร้อมปลูกจิตสำนึกเยาวชนให้มีจิตอาสารู้จักใช้เวลาว่างเป็นประโยชน์ช่วยเหลือสังคม

 ครูขอนแก่น ห่วงใยศิษย์ ผู้ปกครองและชุมชนใกล้เคียง คิดเซียมซีทำนายน้ำหนักอัตโนมัติ จุดประกายให้ชุมชนรักสุขภาพ รู้จักออกกำลังกาย และกินอาหารให้ถูกสุขลักษณะ พร้อมปลูกจิตสำนึกเยาวชนให้มีจิตอาสารู้จักใช้เวลาว่างเป็นประโยชน์ช่วยเหลือสังคม

โรงเรียนบ้านหินร่องโนนสวรรค์ บ้านหินร่อง ต.เมืองเก่าพัฒนา อ.เวียงเก่า จ.ขอนแก่น เป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา เปิดสอนชั้นอนุบาลจนถึงชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ 3 มีนักเรียน 208 คน แต่ปัจจุบันพบว่ามีนักเรียนบางส่วนมีน้ำหนักเกินจากปกติ และกำลังจะกลายเป็นโรคอ้วน อันนำไปสู่การก่อเกิดโรคชุดหรือโรคร้ายแรงหลายชนิด เช่น ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคกระดูกและข้ออักเสบ เป็นต้น ทำให้โรงเรียนจัดทำโครงการส่งเสริมสุขภาวะในโรงเรียนด้วยแผนสุขภาพขึ้น พร้อมกับประดิษฐ์เครื่องเซียมซีทำนายผลอัตโนมัติเพื่อใช้วัดดัชนีมวลกาย (Body Mass Index; BMI) สำหรับตรวจวัดนักเรียน ให้อยู่เกณฑ์ที่เหมาะสมกับการมีสุขภาพที่ดี พร้อมขยายไปยังผู้ปกครองและชุมชน โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.)

            นายชัยรัตน์ คิดถูก อาจารย์โรงเรียนบ้านหินร่องโนนสวรรค์ เปิดเผยถึงที่มาของการประดิษฐ์เครื่องทำนายเซียมซีอัตโนมัติ (เซียมซีบีเอ็มไอ) ว่า แต่เดิมการคำนวณเพื่อหาดัชนีมวลกายที่เหมาะสม เพื่อดูความสัมพันธ์ระหว่างส่วนสูง และน้ำหนักตัวมาช่วยในการบอกว่าเราอยู่ในภาวะไหน ผอมไป ปกติ หรืออ้วนไป มีสูตรสำเร็จที่ต้องคำนวณด้วยตัวเองหรืออาจใช้แผ่นกระดาษวงล้อคำนวณออกมาได้ แต่เพื่อความสะดวกรวดเร็วและมีความแปลกใหม่ สร้างความน่าสนใจทุกกลุ่มเป้าหมายตรวจหาได้ง่ายขึ้น จึงได้คิดประดิษฐ์ เซียมซีบีเอ็มไอห่างไกลโรคชุดขึ้น โดยได้แนวคิดมาจากเครื่องจัดบัตรคิว เพื่อทำนายผลสุขภาพ ระดับ 6 ปุ่ม โดยพิมพ์ออกมาเป็นใบเซียมซีทายผล 6 แบบ อัตโนมัติ ผู้ตรวจวัดมวลกายสามารถรู้ได้ทันที

            “เดิมเราใช้วงล้อคำนวณมวลกาย เทียบน้ำหนักกับส่วนสูงแล้วคำนวณเป็นตัวเลขออกมา แต่ต่อมาเราไปเห็นบัตรคิวที่ให้คนไปรอตามโรงพยาบาล จุดจ่ายเงิน พอกดปุ่มก็จะมีข้อความตัวเลขออกมา ก็เลยใช้แนวคิดเดียวกันนี้มาทำ โดยผู้อำนวยการโรงเรียน (นายประสิทธิ์ นาสุริวงษ์) ได้ปรึกษาวิศวกรแล้วให้สร้างเป็นเครื่องเซียมซีบีเอ็มไอออกมา” อาจารย์ชัยรัตน์ กล่าว

            อาจารย์ชัยรัตน์ เปิดเผยอีกว่านอกเหนือจากการได้เครื่องเซียมซีบีเอมไอมาแล้ว ยังจัดกิจกรรมการเรียนรู้เรื่องแผนสุขภาพอย่างมีส่วนร่วมให้กับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาในโรงเรียน ครูและผู้ปกครอง ต่อเนื่องขยายไปยังชุมชนใกล้เคียง โดยให้นักเรียนลงพื้นที่พร้อมกับผู้อำนวยการโรงเรียนไปยังบ้านผู้ปกครองนักเรียนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นโรคอ้วน โดยจะเข้าไปให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัว ขณะเดียวกันหากพบว่าผู้ปกครองอยู่ในกลุ่มเสี่ยงด้วยก็จะให้คำแนะนำส่งต่อไปยังแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และตรวจสอบผลการดูแลสุขภาพจากนักเรียนที่เป็นบุตรหลาน ซึ่งนอกจากจะทำให้นักเรียนได้ทำกิจกรรมใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ สร้างแรงบันดาลใจในอาชีพด้านสุขภาพในอนาคตแล้ว ยังสร้างสำนึกในเรื่องจิตอาสาอีกด้วย

            “โรงเรียนของเราจะแทรกแผนการรักษาสุขภาพในการเรียนการสอน มีการดูแลนักเรียนที่น้ำหนักเสี่ยงต่อโรคอ้วนประกบกันตัวต่อตัว ครูและนักเรียนจะช่วยกันดูแลเรื่องสุขภาพของ 6 หมู่บ้านรอบๆนี้ ผู้อำนวยการจะขี่จักรยานพานักเรียนไปตามชุมชน บ้านของนักเรียนหรือบ้านผู้ปกครองให้ความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพ นักเรียนก็จะช่วยคำนวณดัชนีมวลกายด้วย ถ้ามีน้ำหนักเสี่ยงก็จะแนะนำให้ไปปรึกษาหมอต่อไป” อาจารย์ชับรัตน์ กล่าว

            ในขณะที่ น.ส.วนิดา ปัญชาติ นักเรียนชั้น ม. 3 ประธานนักเรียน กล่าวว่านักเรียนชั้นมัธยมส่วนใหญ่มีส่วนร่วมกับกิจกรรมแผนสุขภาพของโรงเรียน หากมีงานออกร้านด้านสุขภาพนักเรียนจะไปร่วมกิจกรรมพร้อมกับเครื่องเซียมซีบีเอ็มไอ ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้มาใช้ตรวจวัดดัชนีมวลกาย โดยส่วนหนึ่งจะทำหน้าที่ช่างน้ำหนัก ตรวจวัดความดันให้ประชาชนด้วย นอกจากนี้นักเรียนส่วนใหญ่จะเป็นสมาชิก อย.น้อย มีกิจกรรมการช่วยเหลือสังคม ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ให้คำแนะนำกับผู้อาวุโสในการรักษาสุขภาพ

            “พวกหนูที่ทำกิจกรรมส่วนใหญ่ก็เป็นสมาชิกสภานักเรียน และเป็นนักกีฬาของโรงเรียนด้วย ถ้าว่างเราก็จะปั่นจักรยานไปบ้านเพื่อนๆ น้องๆที่ดูแล้วอ้วน ก็ไปติดตามว่าได้ปฏิบัติตัวอย่างที่โรงเรียนให้คำแนะนำหรือเปล่า บางบ้านก็เป็นผู้ใหญ่เราก็ไปดูแลให้คำแนะนำตามที่ได้รับการอบรมมาค่ะ” น.ส.วนิดา กล่าว

            จากจุดเริ่มต้นสิ่งประดิษฐ์เซียมซีบีเอ็มไอ นอกจากจะสร้างความตระหนักในเรื่องการดูแลสุขภาพแล้ว ยังส่งเสริมให้นักเรียนมีจิตสำนึกสาธาณะ สร้างแรงบันดาลใจอาชีพด้านสาธารณสุข ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ เด็กๆได้รับการชื่นชมจากชุมชนอีกด้วย

หมายเลขบันทึก: 488047เขียนเมื่อ 14 พฤษภาคม 2012 21:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 16:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท