บทความของ วสิษฐ เดชกุญชร


หนังสือ "กิเลส Management" ของท่าน พระมหา วุฒิชัย วชิรเมธี

หนังสือควรอ่านและควรแจก                                 โดย วสิษฐ เดชกุญชร

          เมื่อต้นเดือนนี้เอง ผมโทรศัพท์ไปเยี่ยมน้องสาวผมซึ่งอยู่ที่เชียงราย ทราบว่าขณะนั้นเธอ กำลังทำบุญถวายผ้าป่าอยู่ที่วัด  เธอบอกด้วยว่า พระภิกษุรูปหนึ่งที่รับผ้าป่านั้น คือท่านอาจารย์ พระมหา วุฒิชัย วชิรเมธี หรือที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อ “ว.วชิรเมธี”  พอได้ยินดังนั้นผมก็รีบบอก น้องว่าขอทำบุญด้วย เพราะผมรู้จักรักและเคารพท่านอาจารย์อยู่แล้ว

          หลังจากนั้น ๒ - ๓ วัน น้องเดินทางมาพบผมที่กรุงเทพ ฯ นำหนังสือมาด้วยเล่มหนึ่ง บอก ว่าท่านอาจารย์พระมหาวุฒิชัยฝากมาให้ผม  ผมรับหนังสือมาดูเห็นว่าเป็นหนังสือชื่อ “กิเลส MANAGEMENT” ปกแข็งสีแดงเล่มไม่บาง (นับดูภายหลังได้ประมาณ ๓๐๐ หน้า) หุ้มปกด้วย กระดาษมัน พิมพ์สีเป็นภาพเขียนรูปท่อนบนของเด็กหญิงในเครื่องแบบนักเรียน นั่งหลับตาอยู่ใต้ กระท่อมหรือกุฏิ  มีกรงเล็บของสัตว์ชนิดไหนก็ไม่รู้กำลังเอื้อมเข้าหาเด็กหญิงผู้นั้น  ฝีมือเขียนรูปดู ก็รู้ว่าเป็นของชั้นศิลปินชั้นครู  อ่านจากปกจึงรู้ว่าผู้เขียนคือ “ว.วชิรเมธี” และผู้เขียนภาพคือ “เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์” ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป (จิตรกรรม)

          พอเอากลับมาบ้านและพลิกดูก็แล้ววางไม่ลง เพราะนอกจากจะพิมพ์ด้วยกระดาษมันและ หนาอย่างดี (อย่างที่เคยเรียกว่ากระดาษอาร์ต) แล้ว ในเล่มยังมีภาพเขียนสีฝีมือ “เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์” แทรกอยู่ตลอดทั้งเล่มนับได้ ๓๘ ภาพ  ส่วนเนื้อเรื่องนั้น ท่านอาจารย์มหาวุฒิชัย แบ่งออกเป็น ๒ บท และ ๔ ภาค คือบทนำซึ่งอธิบายความหมายของคำว่า “กิเลส” และเหตุผลที่ ต้อง manage หรือบริหารมัน  ภาค ๑ ว่าด้วยการจัดการความโลก ภาค ๒ ว่าด้วยการจัดการ ความโกรธ  ภาค ๓ ว่าด้วยการจัดการตัณหา มานะ และทิฎฐิ  ภาค ๔ ว่าด้วยริษยา : หนามตำใจ  จบลงด้วยบทส่งท้ายว่าด้วยการจัดการกิเลสตามแบบแผน คืออริยมรรคมีองค์ ๘

          ใครที่เคยอ่านข้อเขียนของท่านอาจารย์พระมหาวุฒิชัยหรือ ว.วชิรเมธี หรือเคยฟังท่านพูด หรือแสดงธรรมมาแล้ว ย่อมทราบดีด้วยกันทุกคนว่า จะเขียนหรือพูดก็ตาม ท่านอาจารย์พระมหา วุฒิชัยท่านเก่งตรงที่ใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย หรือถ้าจะพูดอย่างสมัยใหม่ก็ต้องว่า “โดนใจ” ผู้อ่านหรือผู้ ฟัง  ในหนังสือ “กิเลส MANAGEMENT” นี้ก็เช่นเดียวกัน ตั้งแต่บทต้นภาคต้นจนถึงภาคสุดท้าย บทสุดท้าย ท่านอาจารย์ผู้เขียนเขียนด้วยภาษาที่กระทัดรัดและอ่านเข้าใจง่ายเช่นเคย

          เนื้อที่หน้ากระดาษนี้ไม่พอ จึงจะขอย่อยและยกเพียงบางตอนมาให้อ่านกัน

          ในบทนำตอนที่ว่าทำไมต้องบริหารกิเลสนั้น ท่านอาจารย์ผู้เขียนอธิบายว่า  “สภาพจิตเดิม ของคนเรานั้นบริสุทธิ์ ผ่องใส แต่เศร้าหมองไปเพราะกิเลสที่จรมา (อาคันตุกะกิเลส)  สถานภาพ ของกิเลสจึงเป็นเพียง “แขกที่สัญจร” มาชั่วครู่ชั่วคราว  แต่ถ้าเรารู้ไม่เท่าทัน แขกแปลกหน้าที่เคย เป็นอาคันตุกะนี้อาจจะอยู่กับเราถาวรก็เป็นได้”  ท่านบอกด้วยว่า “กิเลสเหมือนไฟ  ถ้ารู้จักใช้อย่าง มีปัญญา ก็เป็นประโยชน์ในการหุงหาอาหาร  แต่ถ้าเราปล่อยปละละเลย ไฟที่เคยใช้หุงอาหารอันมี ประโยชน์นั่นแหละก็อาจลุกพรึบขึ้นไหม้บ้านไหม้เรือนได้”

          และแม้เราจะไม่สามารถจะตัดกิเลสได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดได้หมือนพระอริยบุคคล “แต่เราก็ ไม่ควรจะมีชีวิตอยู่อย่างคนที่ยอมตกเป็นทาสของกิเลสจนเต็มเวลา  ในแต่ละวันของเรานั้น ควรจะมี บางช่วงบางเวลา บางชั่วโมง บางนาทีหรือบางขณะจิต ที่เราเป็นฝ่ายประกาศอิสรภาพ ลุกขึ้นมา ปราบดาภิเษกเป็นนายเหนือกิเลสบ้าง  ไม่ใช่ปล่อยให้กิเลสครอบงำเราชั่วนาตาปี”

          ในภาคอื่น ๆ ที่ตามมานั้น ท่านอาจารย์พระมหาวุฒิชัยท่านแยกแยะ และจัดการบริหาร กิเลสเอาไว้เป็นส่วน ๆ ผู้อ่านสามารถที่จะค้นหรือหยิบขึ้นมาประยุกต์กับสถานการณ์จริง ๆ ได้โดยง่าย

          บทที่ผมอยากจะให้อ่านกันเร็ว ๆ มาก ๆ และบ่อย ๆ โดยเฉพาะผู้รับผิดชอบในการบริหาร งานบ้านเมืองและนักธุรกิจอภิมหานายทุนนั้น คือภาค ๓ การจัดการความหลง โดยเฉพาะในหน้า ๑๕๕ ที่ว่าด้วยหลงเงินจนเงินกลายเป็นพระเจ้า และหน้า ๑๖๙ ที่ว่าด้วยหลงอำนาจจนต้องบูชา อำนาจ  ในส่วนที่เกี่ยวกับการหลงเงินนั้น ท่านอาจารย์ผู้เขียนได้ยกเอาชีวิตจริงของ บิล เกตส์ และ วอร์เรน บัฟเฟตต์ มาเป็นอุทาหรณ์ให้เห็นความไม่หลงเงินของมหาเศรษฐีทั้งสองคน ที่แม้จะ รวยแล้วอย่างมหาศาลเป็นอันดับที่ ๑ และที่ ๒ ของโลก แต่ลงท้ายก็ใช้เงินจำนวนมหาศาลของตน ก่อตั้งโครงการเพื่อมนุษยธรรมขึ้นหลายโครงการ ทั้งยังเชิญชวนมหาเศรษฐีทั่วโลก ให้ร่วมเป็นหุ้น ส่วนของความดีอีกด้วย  ส่วนที่เกี่ยวกับการหลงอำนาจนั้น ท่านอาจารย์ผู้เขียนได้คัดเอาส่วนหนึ่ง ของบทความของพระอาจารย์ ไพศาล วิสาโล มาให้อ่าน ซึ่งว่าด้วยการขึ้นสู่อำนาจ และในที่สุดก็ สูญเสียอำนาจของ วลาดิเมียร์ เลนิน และ โจเซฟ สตาลิน ผู้นำคอมมิวนิสต์รัสเซีย  ความหลง อำนาจของทั้งสองคนนั้นทำให้ชาวรัสเซียต้องตายไปกว่า ๒๐ ล้านคน  และลงท้ายทั้งเลนินและ  สตาลินก็จบชีวิตลงด้วยอาการอันน่าสมเพชและทนทรมาน

          ตอนท้ายของภาค ๓ นั้น ท่านอาจารย์พระมหาวุฒิชัยแนะนำวิธีบริหารจัดการความหลง เอาไว้ ๓ วิธี คือ ๑) หมั่นศึกษาหาความรู้ทางโลกคู่ทางธรรมอยู่เสมอ ๒) รู้จักเกี่ยวข้องกับสิ่งต่าง ๆ อย่างมีปัญญา และ ๓) หมั่นเจริญวิปัสสนากรรมฐาน

          ขณะที่เขียนเรื่องนี้ ผมไม่ทราบว่านักเรียนชั้นประถมปีที่ ๑ และชั้นอื่น ๆ จะได้รับแจก “แทเบล็ต” ฟรีตามนโยบายของรัฐบาลไปแล้วหรือไม่เพียงใด  แต่ผมขอเสนอแนะให้รัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซื้อหนังสือ “กิเลส MANAGEMENT” ของท่านอาจารย์พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี แจกรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา คนละหนึ่งเล่ม  หนังสือนี้ ราคาตามปกเล่มละ ๓๐๐ บาท ถูกกว่าแทเบล็ตหลายสิบเท่า  แต่ผมเชื่อว่า ประโยชน์ที่จะได้จาก การอ่านหนังสือเล่มนี้จะมากมายมหาศาลหลายร้อยหลายพันเท่า ยิ่งกว่าที่นักเรียนชั้นประถมจะได้ จากการใช้แทเบล็ต

          และถ้าแม้ว่ากิเลสของผู้ที่ได้รับแจกบางคนจะหนาเสียจนเหลือวิสัยที่จะบริหารได้ และผู้ที่ได้ รับแจกเอาหนังสือเล่มนี้ไปขว้างทิ้ง แต่ผู้อื่นที่เก็บได้ก็ยังอาจจะได้อ่าน และสามารถบริหารจัดการ กิเลสของตนได้ไม่มากก็น้อย  ผู้แจกก็ยังจะได้บุญอยู่วันยังค่ำ.  

                   

หมายเลขบันทึก: 488028เขียนเมื่อ 14 พฤษภาคม 2012 19:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 08:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท