พ.ค.ยังไม่ได้หมื่นห้า, ส่งคืนค่าครองชีพ, การลาของพนักงานราชการ, จัดสรรค่าหนังสือเรียน, คศ.3 เต็มขั้น+เครื่องราชฯ, อายุใบผ่านภาค ก., เรียนรีเกรด-เรียนเพิ่ม, เรียนเทอมเดียวจบได้ไหม


คศ.3 เต็มขั้น จะเลื่อนไหลเป็น คศ.4 และขอเครื่องราชฯชั้นสายสะพายได้หรือไม่, ลิ้งค์เรื่องสิทธิประโยชน์ของพนักงานราชการ, ค่าครองชีพลดลงแต่เงินรวมเพิ่มขึ้น ถัวกันได้ ไม่ต้องส่งคืนค่าครองชีพ, ใบผ่านภาค ก.ไม่มีหมดอายุ, เรียนเพิ่มได้-เรียนใหม่เพื่อให้เกรดดีกว่าเดิมไม่ได้, ถ้าเทียบโอนได้มาก สามารถเรียนจบในภาคเรียนเดียวทั้งหลักสูตร 44 และ 51

สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ 7 เรื่อง ดังนี้

 

         1. วันเสาร์ที่ 5 พ.ค.55  คุณฉัตรชัย พละเดช สนง.กศน.จ.สุพรรณบุรี ถามผมในเฟซบุ๊คว่า  “ผอ.กศน.อำเภอ ชำนาญการพิเศษ เงินเดือนตุลาคม 2555 ถ้าเต็มขั้นจะไหลไปเชี่ยวชาญไหม และจะขอเครื่องราช ปม. ได้เมื่อไร”

             ผมตอบว่า
             1)  เดิม กฎ ก.ค.ศ.ว่าด้วยการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับเงินเดือนสูงกว่าหรือต่ำกว่าขั้นต่ำ หรือสูงกว่าขั้นสูงของอันดับ พ.ศ. 2553  มีผลให้ข้าราชการครูฯ ที่เงินเดือนเต็มขั้นในอันดับ คศ.3 สามารถข้ามไปรับเงินเดือนในอันดับ คศ.4 ได้ เพียงแต่ยังคงได้รับวิทยฐานะชำนาญการพิเศษเหมือนเดิม    แต่ต่อมา พระราชบัญญัติเงินเดือนเงินวิทยฐานะและเงินประจำตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 มีผลบังคับใช้ และผู้เกี่ยวข้องไม่มีความชัดเจนว่ากฎ ก.ค.ศ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับเงินเดือนสูงกว่าหรือต่ำกว่าขั้นต่ำ หรือสูงกว่าขั้นสูงของอันดับ พ.ศ. 2553 ถูกยกเลิกไปหรือไม่  ทำให้ผู้ที่เงินเดือนเพิ่งจะเต็มขั้นในอันดับ คศ.3 เมื่อวันที่ 1 เม.ย.54, 1 ต.ค.54 และ 1 เม.ย.55 ไม่ได้รับเงินเดือนทะลุไปรับในแท่งอันดับ คศ.4 ในขณะที่ผู้ที่ได้รับเงินเดือนทะลุแท่งไปก่อนหน้านี้ยังคงได้รับเงินเดือนใน อันดับ คศ.4 ต่อไป
                 เรื่องนี้ นายสนอง ชาระมาตย์ ผู้แทนครูใน ก.ค.ศ. พูดเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2554 ว่า กฎ ก.ค.ศ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับเงินเดือนสูงกว่าหรือต่ำกว่าขั้นต่ำ หรือสูงกว่าขั้นสูงของอันดับ พ.ศ. 2553 ไม่ได้ถูกยกเลิก แต่ต้องรอเข้า ครม.ก่อน เมื่อผ่าน ครม.แล้ว จะทำให้ข้าราชการครูฯ ที่เงินเดือนเต็มขั้นในอันดับ คศ.3 สามารถทะลุแท่งไปรับเงินเดือนในอันดับ คศ.4 ได้ แต่ยังคงได้รับวิทยฐานะชำนาญการพิเศษเหมือนเดิม ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการกำลังเร่งดำเนินการนำเข้า ครม.อยู่
             2)  ถ้าเงินได้เต็มขั้น คศ.3  สามารถทะลุแท่งไปรับเงินเดือนในอันดับ คศ.4 ได้  แต่ก็ถือว่าวิทยฐานะยังเป็นชำนาญการพิเศษอยู่ ไม่ใช่เชี่ยวชาญ จึงยังขอเครื่องราชฯ ป.ม.ทันทีไม่ได้
             3)  ปัจจุบัน คศ.3 มีสิทธิ์ขอ ปม. เมื่อเข้าเกณฑ์ 3 ข้อ คือ
                  - ได้รับเงินเดือนเต็มขั้นของ คศ.3 ตั้งแต่ 1 ต.ค. ของปีก่อน
                  - ดำรงตำแหน่งบังคับบัญชา (ผู้อำนวยการ)
                  - ได้ ท.ช.มาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปีบริบูรณ์
                  แต่ก็ให้ขอในปีก่อนเกษียณอายุราชการหรือปีที่เกษียณอายุราชการเท่านั้น
             4)  เฉพาะในปีนี้  ก.ค.ศ.ได้ประสานสำนักอำนวยการ เสนอการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสายสะพาย (ป.ม.) เป็นกรณีพิเศษ ให้แก่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ เงินเดือนเต็มขั้น ได้ ท.ช.มาแล้ว 5 ปี โดยไม่ต้องเป็นผู้อำนวยการ  แต่ให้เสนอขอในปีที่จะเกษียณอายุราชการเท่านั้น   ( กำลังจะขอแก้กฎหมายอีก ให้ขอได้เลยเมื่อเงินเดือนเต็มขั้น ได้ ท.ช.มาแล้ว 5 ปี  ไม่ต้องรอขอปีก่อนเกษียณหรือปีที่เกษียณ )

 

         2. วันอาทิตย์ที่ 6 พ.ค.55  คุณ “ครู นอกระบบ” ถามผมในเฟซบุ๊คกลุ่มครูนอกระบบ ว่า  พนักงานราชการรุ่นที่สอบบรรจุ 9 มค 54 มีสิทธิลาพักผ่อนได้มั้ย..อำเภอผมเค้าบอกว่าลาไม่ได้ อายุราชการยังไม่ครบสามปี..(เค้าว่านับอายุราชการพนักงานราชการ ไม่ได้นับอายุรวมตั้งแต่มาเป็นครู ศรช.)

             ผมตอบว่า   นับเฉพาะอายุราชการตอนเป็นพนักงานราชการนั้นถูกต้องแล้วครับ แต่ 6 เดือนก็ลาพักผ่อนได้แล้ว โดยตามประกาศคณะกรรมการบริหารพนักงานราชการเรื่องสิทธิประโยชน์ของพนักงานราชการ พ.ศ.2554 ( ดาวน์โหลดได้ที่ http://ahph9thi.gotoknow.org/assets/media/files/000/804/903/original_use.pdf )  ข้อ 4 (4) กำหนดว่า  การลาพักผ่อน มีสิทธิลาพักผ่อนปีละ 10 วันทำการ สำหรับในปีแรกที่ได้รับการจ้างเป็นพนักงานราชการยังไม่ครบ 6 เดือน ไม่มีสิทธิลาพักผ่อน เว้นแต่ผู้ที่เคยได้รับการจ้างเป็นพนักงานราชการมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน และได้พ้นจากการเป็นพนักงานราชการไปแล้ว แต่ต่อมาได้รับการจ้างเป็นพนักงานราชการในส่วนราชการเดิมอีก

 

         3. ผู้ใช้นามว่า “Pookpik Sonokome” ถามในเฟซบุ๊คกลุ่มครูนอกระบบว่า   ได้ข่าวว่าจะต้องคืนค่าครองชีพ ( พนักงานราชการ ) ของเดือน ม.ค.-เม.ย. จริงรึเปล่า

             ผมได้เข้าไปแสดงความเห็นเรื่องนี้ว่า   เมื่อปรับฐานเงินเดือนเพิ่มขึ้น ค่าครองชีพจะลดลง ตัวอย่างเช่น
             พนักงานราชการที่ เดือน ม.ค.-มี.ค.55 ได้ค่าตอบแทน 10,200 บาท + ค่าครองชีพ 1,500 บาท เงินรวม 11,700 บาท
             เมื่อปรับฐานเงินเดือนย้อนหลัง ตั้งแต่ ม.ค.55 ค่าตอบแทนจะเป็น 14,150 บาท แต่ค่าครองชีพลดลงเหลือ 850 บาท เงินรวม 15,000 บาท จะเห็นว่าค่าครองชีพลดลง 650 บาท แต่ค่าตอบแทนและเงินรวมเพิ่มขึ้น ( ไม่มีใครที่จะได้เงินรวมลดลง )
             ค่าครองชีพที่ลดลงเดือนละ 650 บาทนี้ ต้องส่งคืน แต่วิธีส่งคืน จะใช้วิธีเบิกหักผลักส่ง หรือวิธิใด ผมไม่ใช่เจ้าหน้าที่การเงิน จึงไม่ทราบครับ

             วันที่ 8 พ.ค.55  ผมได้ถามกลุ่มงานคลัง กศน.เรื่องนี้  ได้รับคำตอบว่า ไม่ต้องนำเงินค่าครองชีพมาส่งคืน เพราะค่าตอบแทนและค่าครองชีพพนักงานราชการเบิกจากงบเดียวกัน จึงถัวกันได้  ในเมื่อเงินรวมมากขึ้นจะใช้วิธีเบิกกลบลบออกโดยเบิกจ่ายให้เฉพาะส่วนที่ยังขาดหลังการถัว

 

          4. วันที่ 8 พ.ค.55  ศรช.บ้านห้วยรัง ต.ระบำ ถามผมผ่านเฟซบุ๊คว่า  ใบผ่านภาค ก ของ กพ มีระยะเวลาหมดอายุไหม

             ผมตอบว่า   หนังสือรับรองผลการสอบภาคความรู้ความสามารถทั่วไป (ภาค ก.) ของ ก.พ. มิได้มีการกำหนดอายุหนังสือฯไว้  โดยมีผลใช้ได้ตลอดไปจนกว่า ก.พ. จะมีมติให้เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น    แต่ ภาค ก.ของ ก.พ. จะมาใช้แทนภาค ก.ของ ก.ค.ศ. (ครู ) ไม่ได้นะ เนื้อหาการสอบต่างกัน

 

         5. ระยะนี้ มีผู้ที่จะไปเรียนต่อตามหลักสูตรของกระทรวงสาธารณสุข มาติดต่อขอเรียนกับ กศน.อ.ผักไห่ หลายคน  บางคนมาขอเรียนเพิ่มในบางหมวดวิชาเช่นวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์-ภาษาอังกฤษ ซึ่ง กศน.สามารถจะเปิดให้เรียนได้ โดยผู้ประสงค์จะเรียนต้องรู้ก่อนเองว่า หลักสูตรที่ตนจะไปเรียนต่อนั้นเขากำหนดให้เรียนผ่าน ม.ปลายในหมวดวิชาใดกี่หน่วยกิต แล้วก็ดูว่าตนเรียนผ่านหมวดวิชานั้นกี่หน่วยกิตแล้ว ยังขาดอยู่เท่าไร ต้องมาเรียนกับ กศน.เพิ่มอีกกี่หน่วยกิต  สถานศึกษา กศน.ก็ต้องพิจารณาว่าจะสามารถเปิดวิชาบังคับ+วิชาเลือกในหมวดนั้นให้เขาเรียนตามจำหน่วยหน่วยกิตที่เขาต้องการได้หรือไม่  ( วันที่ 10 พ.ค.55 คุณปิติพล วงศ์กะโซ่ ครูอาสาฯ กศน.อ.เชียงม่วน และคนอื่น ก็ถามถึงวิธีการในเรื่องนี้ในเฟซบุ๊คกลุ่มครูนอกระบบ  ผมได้ไปร่วมตอบด้วย ) 
             วิธีการคือ ให้เขาสมัครเป็นนักศึกษาใหม่ ตอนลงทะเบียนเรียนแต่ละรายวิชา ให้เลือก "ประเภท" เป็น "9. เรียนเพิ่มเติมหลังจบ"  และเวลาออกใบ รบ. ให้เข้าเมนู 1-1-5 ( ขั้นตอนการดำเนินงาน-บันทึกประวัตินักศึกษา-แก้ไขข้อมูลการจบ/ออก ) เลือก สาเหตุที่จบ/ออก เป็น "6.ศึกษาเพิ่มเติมหลังเรียนจบ"

             บางคนมาแปลก บอกว่าจะมาเรียน กศน.เพื่อ “รีเกรด” เพราะเกรด ม.ปลาย ไม่สูงพอที่จะสมัครเรียนตามหลักสูตรของกระทรวงสาธารณสุข   ผมตอบว่า กศน.ไม่มีการเรียนรีเกรด  มีแต่มาเรียนเพิ่มบางวิชา เมื่อเรียนจบแล้วก็จะออกหลักฐานว่าเรียนวิชานั้น ๆ ได้เกรดอะไร โดยไม่ได้นำไปเฉลี่ยกับเกรดเดิม  เกรดเดิมของวิชาที่เคยเรียนในระดับ ม.ปลาย ก็ยังอยู่เหมือนเดิม  เป็นเพียงเรียนเพื่อ “เพิ่มหน่วยกิต” ในบางหมวดวิชาเท่านั้น    เมื่อตอบไปแล้ว เพื่อความมั่นใจ ผมได้ถามกลุ่มพัฒนา กศน. อีกครั้ง โดยถามแถมด้วยว่าถ้านักศึกษา กศน.เองจะขอเรียนซ้ำบางวิชาเผื่อจะได้เกรดสูงกว่าเดิม ได้หรือไม่   วันที่ 8 พ.ค.55 ได้รับคำตอบจากคุณกิตติพงษ์ กลุ่มพัฒนา กศน. ว่า  กศน.ไม่มีการรีเกรด เนื่องจาก กศน.ไม่มีการรีไทร์เหมือนมหาวิทยาลัยเลยไม่ต้องรีเกรด ไม่ว่าจะจบไปแล้วหรือยังไม่จบ ก็จะเรียนซ้ำวิชาที่เคยได้เกรด 1 ขึ้นไปแล้วอีกรอบ ไม่ได้ แต่เรียนเพิ่มวิชาใหม่ได้  ( อีกเหตุผลหนึ่งคือ เงินงบประมาณอุดหนุนรายหัว ที่มาจากภาษีประชาชนนั้น  จัดสรรให้เรียนฟรีได้คนละรอบเดียว และ กศน.เปิดสำหรับผู้ที่ขาด/พลาดโอกาส )

 

         6. วันที่ 10 พ.ค.55  อ.ภาสกร ขรก.ครู กศน.อ.โชคชัย โทร.มาบอกว่า  จังหวัดให้หาเอกสารอ้างอิงว่าหลักสูตรใหม่ 51 สามารถเรียนจบในภาคเรียนเดียวได้

             ผมบอกว่า   ไม่มีเอกสารที่ห้ามเรียนจบในภาคเรียนเดียว  โดย ถ้าเป็นหลักสูตรเก่า 2544 จะระบุในคู่มือการดำเนินงานฯ ( ถ้าเป็นฉบับปรับปรุง พ.ศ.2549 ปกเป็นตาราง จะอยู่ในหน้า 26 ) ในข้อ 4 ของเกณฑ์การเทียบโอนว่า เมื่อเทียบโอนแล้วนักศึกษาต้องเรียนอีกไม่น้อยกว่า 1 ภาคเรียน    ต่อมาหลักสูตร 2551 ได้ระบุไว้ในหนังสือ “แนวทางการเทียบโอนผลการเรียนหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551” ( เล่มสีเขียว )  หน้า 5 เรื่องหลักเกณฑ์การเทียบโอนผลการเรียน  โดยเปลี่ยนข้อ 4. จากให้เรียนไม่น้อยกว่า 1 ภาคเรียน เป็น ให้เทียบโอนผลการเรียนได้ไม่เกินร้อยละ 75 ของจำนวนหน่วยกิตทั้งหมดที่จะต้องลงทะเบียนเรียนตลอดหลักสูตรในแต่ละระดับการศึกษา   ซึ่งก็มีความหมายในลักษณะเดียวกัน คือ ไม่ให้เทียบโอนแล้วจบเลย แต่เทียบโอนแล้วต้องเรียนอีกอย่างน้อย 1 ภาคเรียน   เช่น ม.ปลาย จำนวนหน่วยกิตทั้งหมดคือ 76 หน่วยกิต  เทียบโอนได้ไม่เกินร้อยละ 75 ก็คือเทียบโอนได้ไม่เกิน 57 หน่วยกิต    ถ้าใครเทียบโอนได้เต็ม 57 หน่วยกิต จากทั้งหมด 76 หน่วยกิต ก็จะเหลืออีก 19 หน่วยกิต สามารถเรียนจบในภาคเรียนเดียว เพราะในแต่ละภาค ปัจจุบัน ม.ปลายให้เรียนได้ถึง 23 หน่วยกิต

 

         7. วันที่ 14 พ.ค.55  ผมคุยกับ กจ. และ กผ. กศน. ดังนี้

             7.1  คุยกับ กจ. เรื่องเงินหมื่นห้า  ได้ข้อมูลว่า เดือน พ.ค.55 ยังไม่ได้เงินหมื่นห้า เพราะ กรมบัญชีกลางยังแม็ปปิ้งเงินไม่เสร็จ   “คงจะ” ได้เดือน มิ.ย.55  ( ผมไม่เข้าใจนะครับว่าปิ้งยังไง )

             7.2  คุยกับกลุ่มแผนงานเรื่องการเร่งรัดให้ซื้อหนังสือเรียนให้เสร็จภายในวันที่ 25 พ.ค.55 โดยโอนเงินเข้าระบบ GFMIS แล้วเมื่อเย็นวันที่ 11 พ.ค.55    ได้ข้อมูลว่า กลุ่มแผนงานจะส่งหนังสือแจ้งข้อมูลยอดจัดสรรว่าค่าอะไรเท่าไร ให้จังหวัดทราบ ทางไปรษณีย์ ในวันนี้หรือพรุงนี้ ( 14 หรือ 15 พ.ค.55 )

 

หมายเลขบันทึก: 488007เขียนเมื่อ 14 พฤษภาคม 2012 13:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 20:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (16)

ขอบคุณสำหรับข้อมูลดี ๆ ค่ะอาจารย์

ขอบคุณอาจารย์เอกมากๆเลยค่ะที่นำความรู้มาเผยแผ่ให้ทราบ

ขอบคุณค่ะอาจารย์เอก สำหรับข้อมูลข่าวสารดี ๆ

ผมขอเป็นกำลังใจให้อาจารย์ตลอดไปครับ..

ได้อ่านคำถาม-ตอบของครูเอกชัยแล้วมีความรู้เพิ่มในเรื่องที่ไม่รู้ ขอขอบคุณและคงได้รับรู้สิ่งใหม่ๆ อีกนะค๊ะ

ขอบคุณ อจ.เอกชัยที่ให้ความรู้ค่ะรักษาสุขภาพด้วยค่ะ

รบกวนพี่เอก พูดถึงเรื่องหลักสูตร ม.ปลาย 8 เดือนบ้าง ฟังคนอื่นๆพูด ไม่ค่อยตรงกัน และไม่ค่อยรู้เรื่อง อยากให้ช่วยเปรียบเทียบกับ การเทียบระดับ และการเรียนประเภท พบกลุ่ม และประภท ทก (สถาบันฯทางไกล) ถึงข้อดี ข้อเสีย คุณสมบัติ เวลา ค่าใช้จ่าย - ประมาณนี้ ขอบคุณล่วงหน้า (ยังเป็นขาประจำอยู่ทุกวันครับ)

เข้ามาบล็อกนี้ทีไร ได้รับความรู้ไปเต็ม ๆ ทุกครั้งเลยค่ะ ขอบคุณมากๆ เลยนะคะ สำหรับข้อมูลที่มีเนื้อหาสาระและเป็นประโยชน์มาก ๆ สำหรับเราชาว กศน.ค่ะ

ตอบ อ.กล้วย Ico48

ผมเคยเขียนเปรียบเทียบความแตกต่างของการเทียบระดับแบบเดิม กับแบบจบ ม.6 ภายใน 8 เดือน ไว้บ้างแล้วในข้อ 1 ที่ http://www.gotoknow.org/blogs/posts/486491

         แต่ละรูปแบบ จะมีทั้งความเหมือน ความคล้าย และความแตกต่างกัน  เช่น

         1. การเทียบระดับแบบเดิม
             1)  รับผู้มีอายุ 20 ปีขึ้นไป  มีอาชีพที่เลี้ยงตนเองหรือครอบครัวได้มาแล้ว 1 ปี ไม่รับพระภิกษุ
             2)  เทียบระดับ ทีละระดับ ( ถึงแม้ด้านประสบการณ์จะสามารถได้คะแนนข้ามระดับได้ แต่ด้านความรู้ฯยังจะต้องลงทะเบียนเทียบระดับตามลำดับขั้นทีละระดับ คือระดับประถม ม.ต้น ม.ปลาย )
             3)  เนื้อหาด้านความรู้ฯ แบ่งเป็น 6 มาตรฐาน หรือ 6 วิชา คะแนนทุกวิชาถัวกันได้ เช่นได้คะแนนภาษาอังกฤษน้อยแต่ได้คะแนนวิชาอื่นมาก ก็ผ่านได้   ด้านประสบการณ์ เน้นการพัฒนาอาชีพ พัฒนาคุณภาพชีวิต พัฒนาสังคมและชุมชน   ( เนื้อหาจะง่ายกว่าแบบจบ ม.6 ใน 8 เดือน )   ใช้เวลาน้อยกว่าการเรียนตามหลักสูตรฯแบบพบกลุ่มหรือแบบทางไกล
             4)  เน้นการไปประเมินเชิงประจักษ์ยังสถานที่ประกอบอาชีพจริง  จึงสมัครเทียบระดับได้เฉพาะสถานศึกษาที่เป็นเขตที่ตั้งของสถานที่ประกอบอาชีพ
             5)  มีพี่เลี้ยงอย่างไม่เป็นทางการ มีการเตรียมความพร้อมก่อนสอบบ้าง แต่ไม่มีการเรียนการสอนอย่างเป็นทางการ
             6)  วุฒิที่ได้ เท่ากับจบในระบบ แต่ไม่มีเกรด จึงนำไปเรียนต่อในระบบแอดมิชชั่นไม่ได้  เรียนต่อมหาวิทยาลัยปิดได้ในบางหลักสูตรที่ไม่มีการแข่งขันหรือคัดเลือกโดยพิจารณาเกรดประกอบ  แต่เรียนต่อมหาวิทยาลัยเปิด ( มสธ. ม.รามฯ ) ได้
             7)  ค่าลงทะเบียน 1,500 บาท  ( มีงบประมาณสมทบหัวละ 1,500 บาท  รวมเป็น 3,000 บาท )
             สรุป  รูปแบบนี้เหมาะสำหรับ ผู้ใหญ่ ที่มีการพัฒนาอาชีพ มีการพัฒนาสังคมและชุมชน  มีความรู้ในแต่ละระดับอยู่แล้ว  ต้องการวุฒิการศึกษาโดยเร็ว ไม่เน้นเรียนต่อในมหาวิทยาลัยปิด   ( การเทียบระดับประถม ต้องเลือกรูปแบบนี้  ผู้ที่มีวุฒิ ม.ต้นแล้ว ก็ควรเลือกเทียบระดับ ม.ปลาย รูปแบบนี้ )

         2. การเทียบระดับแบบจบ ม.6 ใน 8 เดือน  ( ใช้กฎหมายการเทียบระดับฯฉบับเดียวกับการเทียบระดับแบบเดิม )
             1)  รับผู้มีอายุ 18 ปีขึ้นไป  มีอาชีพที่เลี้ยงตนเองหรือครอบครัวได้มาแล้ว 3 ปี รับพระภิกษุสามเณรด้วย
             2)  ไม่รับเทียบระดับประถม แต่รับผู้ที่มีวุฒิ ป.6 มาเทียบข้ามระดับให้ได้ ม.ปลายเลย
             3)  เนื้อหาแบ่งเป็น 9 วิชา  ต้องผ่านทุกวิชา คะแนนถัวกันไม่ได้  ทั้งวิชาภาษาอังกฤษ  คณิตศาสตร์  วิทยาศาสตร์  วิจัย  ฯลฯ  ต้องได้คะแนน 60 % ขึ้นไปทุกวิชา   ( เนื้อหารวม จะยากกว่าเทียบระดับแบบเดิม )   ใช้เวลาน้อยกว่าการเรียนตามหลักสูตรฯแบบพบกลุ่มหรือแบบทางไกล
             4)  ไม่ประเมินด้านประสบการณ์  สามารถไปสมัครเทียบระดับที่ใดก็ได้ทั่วประเทศ
             5)  มีสื่อ ( หนังสือ ) และครูที่ปรึกษาอย่างเป็นทางการ มีการติว การเรียนการสอนเป็นทางการ
             6)  วุฒิที่ได้ เท่ากับจบในระบบ แต่ไม่มีเกรด จึงนำไปเรียนต่อในระบบแอดมิชชั่นไม่ได้  เรียนต่อมหาวิทยาลัยปิดได้ในบางหลักสูตรที่ไม่มีการแข่งขันหรือคัดเลือกโดยพิจารณาเกรดประกอบ  แต่เรียนต่อมหาวิทยาลัยเปิด ( มสธ. ม.รามฯ ) ได้
             7)  ค่าลงทะเบียน 1,500 บาท  ( มีเงินงบประมาณปี 2556 สมทบหัวละ 3,000 บาท  รวมเป็น 4,500 บาท )
             สรุป  รูปแบบนี้เหมาะสำหรับ ผู้ที่อายุ 18 ปีขึ้นไป ที่ประกอบอาชีพแล้ว 3 ปีขึ้นไป  มีความรู้ในระดับ ม.ปลายอยู่แล้ว หรือมีความสามารถที่จะเรียนรู้ในระยะเวลาสั้น  ต้องการวุฒิการศึกษาโดยเร็ว ไม่เน้นเรียนต่อในมหาวิทยาลัยปิด

         3. การเรียนตามหลักสูตรฯ แบบพบกลุ่ม
             1)  รับผู้มีอายุ 15 ปีขึ้นไป หรือผู้ที่อายุต่ำกว่าแต่มีความจำเป็นไม่สามารถเรียนในระบบได้  ไม่ต้องมีอาชีพ
             2)  ให้เรียนตามลำดับขั้น ทีละระดับ คือระดับ ประถม ม.ต้น ม.ปลาย
             3)  เนื้อหาแบ่งเป็นหลายรายวิชา คล้ายในระบบโรงเรียน ปกติจะใช้เวลามากกว่าการเทียบระดับ  แต่ปัจจุบันปรับให้สามารถเรียนจบในแต่ละระดับได้ภายใน 1 ปี ( 2 ภาคเรียน ) ด้วยการเน้นให้เทียบโอนความรู้เพื่อไม่ต้องเรียนในบางรายวิชา และ เพิ่มจำนวนหน่วยกิตในการเรียนแต่ละภาคให้มากขึ้น
             4)  ต้องผ่านเงื่อนไขต่าง ๆ เช่นทำกิจกรรม กพช.  สามารถสมัครเรียนที่ใดก็ได้
             5)  มีสื่อ ( หนังสือ ) และครูประจำกลุ่มอย่างเป็นทางการ มีการพบกลุ่ม สอนเสริม   ถึงแม้อาจจะใช้เวลามากกว่าการเทียบระดับแต่มีโอกาสเรียนจบมากกว่า เพราะมีคะแนนระหว่างภาคเป็นคะแนนช่วย
             6)  วุฒิที่ได้ เท่ากับจบในระบบ และมีเกรด จึงนำไปเรียนต่อในระบบแอดมิชชั่น และเรียนต่อมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ได้ 
             7)  เรียนฟรี  ( มีเงินงบประมาณอุดหนุนรายหัว )
             สรุป  รูปแบบนี้เหมาะสำหรับ ผู้ที่อายุไม่มาก มีอาชีพหรือไม่มีอาชีพก็ได้  ยังไม่มีความรู้ในแต่ละระดับ ศึกษาด้วยตนเองไม่ค่อยเข้าใจ มีเวลาพบกลุ่ม ต้องการความรู้และโอกาสเรียนจบมากกว่าการเทียบระดับ ไม่ถนัดการเรียนทางไกล การใช้เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ต  อาจเรียนต่อในมหาวิทยาลัยปิด

         4. การเรียนตามหลักสูตรฯ แบบทางไกล ของสถาบันการศึกษาทางไกล  ( หลักสูตรเดียวกันกับแบบพบกลุ่ม )
             1)  รับผู้มีอายุ 15 ปีขึ้นไป หรือผู้ที่อายุต่ำกว่าแต่มีความจำเป็นไม่สามารถเรียนในระบบได้  มีอาชีพหรือไม่มีอาชีพก็ได้
             2)  รูปแบบนี้ในประเทศไม่รับระดับประถม   ให้เรียนตามลำดับขั้น ทีละระดับ คือระดับ ม.ต้น ม.ปลาย
             3)  เนื้อหาแบ่งเป็นหลายรายวิชาคล้ายในระบบโรงเรียน ปกติจะใช้เวลามากกว่าการเทียบระดับ  แต่ปัจจุบันปรับให้สามารถเรียนจบในแต่ละระดับได้ภายใน 1 ปี ( 2 ภาคเรียน ) ด้วยการเน้นให้เทียบโอนความรู้เพื่อไม่ต้องเรียนในบางรายวิชา และ เพิ่มจำนวนหน่วยกิตในการเรียนแต่ละภาคให้มากขึ้น
             4)  ต้องผ่านเงื่อนไขต่าง ๆ   แต่สถาบันการศึกษาทางไกลพัฒนาแต่ละเงื่อนไขให้สะดวก เช่น การเทียบโอนผลการเรียนจากการประเมินความรู้และประสบการณ์ ใช้วิธีทดสอบเพียงอย่างเดียว  การทำกิจกรรม กพช.มีความชัดเจน  การเก็บคะแนนระหว่างภาคใช้วิธีให้สอบแบบอัตนัยที่บ้านเพียงอย่างเดียว   จนสะดวกและง่ายกว่าการเรียนแบบพบกลุ่มเสียอีก
             5)  มีสื่อผสมที่ละเอียด เพื่อการศึกษาด้วยตนเอง และมีครูประจำวิชาอย่างเป็นทางการ ไม่ต้องพบกลุ่ม จะเข้ารับการสอนเสริมหรือไม่ก็ได้   ถึงแม้อาจจะใช้เวลามากกว่าการเทียบระดับแต่มีโอกาสเรียนจบมากกว่า เพราะมีคะแนนระหว่างภาคเป็นคะแนนช่วย  ( มีวิชาบังคับเลือก ที่เหมาะสำหรับการศึกษาต่อ )
             6)  วุฒิที่ได้ เท่ากับจบในระบบ และมีเกรด จึงนำไปเรียนต่อในระบบแอดมิชชั่น และเรียนต่อมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ได้ 
             7)  เรียนฟรี  ( มีเงินงบประมาณอุดหนุนรายหัว )
             สรุป  รูปแบบนี้เหมาะสำหรับ ผู้ที่อายุไม่มาก ศึกษาด้วยตนเองได้  ต้องการไปเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น มีอาชีพหรือไม่มีอาชีพก็ได้  ยังไม่มีความรู้ในแต่ละระดับ ไม่มีเวลาพบกลุ่ม ต้องการความรู้และโอกาสเรียนจบมากกว่าการเทียบระดับ  ถนัดการเรียนทางไกล การใช้เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ต

 

อาจารย์เอกค่ะ ตอบช้าไปหน่อยค่ะ กศน.ตำบลคานหาม ผลสรุปยอดนักศึกษา ลดลงจากเทอมที่แล้ว ค่ะ ภาคเรียนที่ ๑ ปีการศึกษา ๒๕๕๕ มีนักศึกษาในตำบลคานหาม ๑๓๙ คน ค่ะ ได้ความรูหลักเกณฑ์ของการจบม ๖ ใน ๘ เดือนค่ะดีมากเลยทำให้เข้าใจมากขึ้น

ตำบลเดียว 139 คน ก็เยอะแล้วครับ  Ico48

ขอบคุณค่ะท่านIco48 ที่นำเรื่องดีๆ มาแบ่งปัน

ขอบคุณอาจารย์ที่มีความรู้ใหม่ให้ศึกษาอยู่ตลอด

ยินดีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันนะครับ ทุก ๆ คน

 

ขอบคุณมากค่ะ อ.เอกชัย เคยชินแล้วหล่ะค่ะกับคำว่า "รอ"

ตกเบิกช้า จะได้เงินก้อนนะครับ Ico48

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท