ตำนานเมืองสระพังทอง ความเชื่อหรือคำสาปแช่ง# อารยธรรมขอมในถิ่นผู้ไท ตอน 3


เรื่องราวที่ผมเคยเขียนไว้ใน อารยธรรมขอมในถิ่นผู้ไท ทั้งตอนที่ 1  และ  2  นั้นได้กล่าวถึงการพบร่อยรอยของวิถีวัฒนธรรมคนยุคโบราณสมัยเก่า  อาจจะเป็นช่วงที่ขอมเข้ามาปักหลักอาศัย  ทำมาหากิน  สร้างบ้านแปงเมืองกันอยู่บริเวณนี้  หรืออาจจะเป็นร่องรอยของชาวละว้า  ที่มีการเชื่อมโยงกับกลุ่มวัฒนธรรมของชาวมอญ  อันนี้ก็ไม่ทราบได้  เพราะเป็นการศึกษาของนักประวัติศาสตร์  แต่ผมดูและสังเกตจากสิ่งที่พบเป็นหลักว่า  วัตถุพยานที่พบในเขตชุมชนโบราณน่าจะเชื่อมโยงกันเนื่องจาก  พื้นที่ไม่ห่างกัน  รูปแบบศิลปกรรมคล้าย  ๆ กัน  แล้วนำมาปะติดปะต่อกันเป็นแผนที่  ผมได้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับชุมชนโบราณในแถบนี้  ซึ่งคาดว่าน่าจะมีการเชื่อมโยงและร่วมสมัยกับชุมชนโบราณแห่งแรก   ที่ได้เสนอไป (ชุมชนทางไปอุโมงค์ผันน้ำ)  สถานที่แห่งนี้ เรียกว่าเมืองสระพังทองซึ่งใช้ชื่อเรียกเป็นชื่อตำบลหนึ่งในเขตอำเภอเขาวง   ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของตัวอำเภอ  ห่างออกไป  5  กม. 

ในบริเวณนี้ปัจจุบัน  เป็นที่ทำการเกษตรกรรม  และที่อยู่อาศัยของชาวผู้ไท  ที่อพยพมาจากเมืองวัง  สปป.ลาว  ซึ่งมาพร้อมกันกับชาวผู้ไทเมืองกุดสิมนารายณ์   บริเวณนี้เป็นชุมชนโบราณ  มีหนองน้ำโบราณเรียกว่าหนองสระพังทอง  เลยเป็นที่มาของชื่อตำบล  สิ่งที่ตรวจพบมีทั้งเครื่องประดับที่ทำจากทอง  บ่งบอกว่ามีการค้าขายทองตั้งแต่อดีต  โดยทองเป็นสิ่งแลกเปลี่ยนที่มีค่ามากที่สุด   จากคำบอกเล่าของชาวบ้านที่อยู่ใกล้เขตของใบเสมา  กล่าวถึงการค้นพบเครื่องประดับโบราณ  เช่น  กำไลทอง  แหวน  ซึ่งมักเป็นการพบโดยบังเอิญจากการขุด ไถดินเพื่อทำเกษตรกรรม ผู้พบนำไปเป็นสมบัติส่วนตัว หรือขายต่อ แล้วมักประสบกับเหตุเภทภัยต่าง ๆ  ถึงกับล้มหมอน  นอนเสื่อ  เสียชีวิตเกือบยกครอบครัวเลยก็มี  จนต้องนำมาคืนไว้บริเวณเมืองโบราณแห่งนี้  เป็นคำสาปที่ตราไว้  หรือ  ความเชื่อของผู้คน ก็แล้วแต่จะพิจารณา  แต่ที่แน่  ๆ  ก็คือ ถ้าพบโบราณวัตถุควรส่งมอบให้เป็นสมบัติส่วนรวมของชุมชนดีกว่า

ในเขตเมืองสระพังทองนั้น  พบใบเสมาอยู่หลายใบ   มีการเคลื่อนย้ายมาไว้ที่วัดจำนวนหนึ่ง  และยังอยู่ในบริเวณเดิมอีก  2  ใบ

บางใบยังจมดิน  ดูจากลักษณะและศิลปกรรมแล้ว  คล้ายคลึงกับที่พบที่ชุมชนโบราณแห่งแรก (ชุมชนโบราณทางไปอุโมงค์ผันน้ำ)   จึงพอที่จะสรุปได้คล่าวๆว่า เป็นศิลปกรรมร่วมสมัยกันอย่างแน่นอน 

วัฒนธรรมพระไม้ เกิดในยุคหลังหลังจากที่ชาวผู้ไทรับเอาพุทธศาสนาจากลาวเวียงจันทร์  ลักษณะจึงคล้ายศิลปะลาว 

หมายเลขบันทึก: 487917เขียนเมื่อ 13 พฤษภาคม 2012 11:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 13:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท