“สงครามคราวเสียกรุงครั้งที่ 2” และการวิเคราะห์หุ้นไทยในปี 2555


ความเคยชินในกรอบคิดและยุทธศาสตร์แบบเดิมเป็นภัยอันตรายต่อประเทศชาติฉันใด ก็ย่อมเป็นเรื่องต้องห้ามของธุรกิจและการลงทุนฉันนั้น

 

โดย เจริญชัย ไชยไพบูลย์วงศ์

 

อยุธยายศล่มแล้ว                    ลอยสวรรค์ ลงฤๅ

สิงหาสน์ปรางค์รัตน์บรร        เจิดหล้า

บุญเพรงพระหากสรรค์           ศาสน์รุ่ง เรืองแฮ

บังอบายเบิกฟ้า                         ฝึกฟื้นใจเมือง

 

นิราศนรินทร์

 

 

 

เบื้องหลังของสงคราม คือ การลงทุนมหาศาล ทั้งแรงงานของไพร่พลที่สามารถนำไปใช้ผลิตสินค้าบริการได้มากมาย อาวุธยุทโปกรณ์ที่สิ้นเปลืองวัตถุดิบในการจัดสร้าง ยังไม่นับเสบียงอาหารเพื่อเลี้ยงคนนับแสน และการเดินทางที่ยากลำบากยาวไกล ผ่านภูเขาสูงตระหง่านและสายน้ำเชี่ยวกราก

การตัดสินใจของผู้นำในการพาประเทศชาติเข้าสู่สงคราม จึงต้องผ่านการไตร่ตรองปรึกษาหารือกันอย่างลึกซึ้ง เพื่อที่จะสร้างผลตอบแทนสูงสุดด้วยค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด

สงครามยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ซับซ้อนด้วยองค์ประกอบที่คาดไม่ถึง ดังนั้น จึงต้องอาศัยสติปัญญาเฉียบแหลมในการเตรียมรับมือวิกฤต และฉกฉวยโอกาสที่ผ่านเข้ามา เพื่อนำไปสู่ชัยชนะในขั้นสุดท้าย

นี่ไยไม่ต่างจากการลงทุน ที่ต้องวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งทางธุรกิจอย่างลึกซึ้ง และเยือกเย็นพอที่จะรับมือกับการเคลื่อนไหวของราคาหุ้น อีกทั้งยังต้องตัดสินใจที่จะซื้อเพิ่มหรือตัดขาดทุนทิ้งไป ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะหยั่งรู้ได้ว่าจะถูกต้องหรือผิดพลาดประการใด

“สงครามคราวเสียกรุงครั้งที่ 2” นับเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ ซึ่งการวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ยุทธวิธีของทั้งไทยและพม่า อาจนำมาซึ่งความเข้าใจในการลงทุนและสร้างสรรค์ธุรกิจได้เป็นอย่างดี

1. ความปราชัยทางยุทธศาสตร์ของกรุงศรีอยุธยาที่ยิ่งใหญ่

ผลงานค้นคว้าของอาจารย์สุเนตร ชุตินธรานนท์ ได้ช่วยเปิดมุมมองใหม่ให้กับการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยในช่วงเวลานี้ โดยแต่เดิมมักคิดกันว่าที่มหาอาณาจักรอยุธยาต้องพ่ายแพ้ให้กับพม่านั้น เป็นเพราะความขัดแย้งชิงอำนาจกันเองระหว่างผู้นำไทยในเมืองหลวง และระหว่างศูนย์กลางอำนาจกับเจ้าเมืองท้องถิ่น

การตีความแบบใหม่ก็คือ พม่าได้ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ใหม่ในการพิชิตกรุงศรีอยุธยา โดยไม่ยอมปล่อยให้ฤดูน้ำหลากซึ่งเคยเป็นความได้เปรียบยิ่งใหญ่ของอยุธยา กลายมาเป็นอุปสรรคขวางกั้นชัยชนะอีกต่อไป

พม่าได้เตรียมความพร้อมมาอย่างดียิ่ง โดยการยกทัพมาทั้งทางตะวันตกซึ่งมีจุดแข็งด้านความสะดวกรวดเร็ว และทางเหนือที่มีจุดแข็งในเรื่องเสบียงอาหาร ที่แม้จะต้องสูญเสียไพร่พลในการทำศึกกับเจ้าเมืองชายแดนของอาณาจักรอยุธยา บ้าง แต่ก็มีความจำเป็นเพื่อปูทางไปสู่ชัยชนะ โดยเฉพาะการตัดโอกาสไม่ให้หัวเมืองทางเหนือสามารถส่งกองทัพมาช่วยเหลือกรุง ศรีอยุธยาที่จะถูกโอบล้อมในอนาคตได้ และยังพลิกแพลงเป็นแหล่งเพาะปลูกเกี่ยวข้าวให้กับกองทัพที่อาจต้องกรำศึกยาว นานนับปี ซึ่งจะเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ทำให้พม่าสามารถสู้ศึกต่อได้แม้ในฤดูน้ำหลากมา เยือน

ที่สำคัญ พม่ายังได้เตรียมทัพเรือไว้อย่างพร้อมพรั่ง ไม่ปล่อยให้อยุธยาอาศัยความได้เปรียบในช่วงน้ำหลากเอาตัวรอดอีกต่อไป

ขุนนางฝ่ายไทยบางคน ได้รู้สึกถึงภยันอันตรายในจุดนี้ แต่กระนั้น ความเคยชินของคนไทยส่วนใหญ่ที่เชื่อมั่นในยุทธศาสตร์ตั้งรับเชิงรุกเพื่อรอ คอยฤดูน้ำหลาก ก็ทำให้พระเจ้าเอกทัศน์ กษัตริย์ไทยในช่วงเวลานั้น ตัดสินใจผิดพลาดไป

แน่นอนว่า กรุงศรีอยุธยาไม่ได้นิ่งนอนใจ หากทว่าซึมซับบทเรียนในคราวศึกอลองพญาที่ผ่านมา  ซึ่งปล่อยให้พม่ายกปืนใหญ่มาจ่อยิงใกล้กำแพงเมืองได้โดยง่าย โดยนำความสูญเสียบอบช้ำให้กับอยุธยามหาศาล

การศึกครั้งนี้จึงได้ปรับปรุง โดยสร้างเครื่องกีดขวางที่ทำให้ทัพพม่าต้องวางแนวรบห่างไกลออกมาจากกำแพง เมือง รวมถึงการส่งกองทัพไปยันรับไว้อีกชั้นหนึ่ง

การปรับปรุงยุทธวิธีเหล่านี้ แม้ว่าจะทำให้บรรลุเป้าหมายในเชิงยุทธศาสตร์ได้สำเร็จ คือ สามารถยันทัพพม่าได้ถึงฤดูน้ำหลาก หากทว่า เมื่อพม่าไม่ยอมถอนทัพกลับไป อยุธยาก็เริ่มระส่ำระสาย เสบียงขาดแคลน กำลังใจหดหาย ในที่สุดก็เสียเมืองให้กับพม่าไป

พระเจ้าตากสินมหาราช อาจเป็นข้าราชการหัวเมืองเพียงคนเดียวที่ตัดสินใจกลับมาร่วมเป็นร่วมตายกับ กรุงศรีอยุธยา หากทว่าเหตุผลส่วนหนึ่งก็อาจเป็นเพราะมีครอบครัวญาติพี่น้องอยู่ในเมืองหลวง แม้กระนั้นเมื่อสถานการณ์ส่อเค้าว่าจะไปไม่รอด พระเจ้าตากสินก็จำใจต้องละทิ้งกรุงศรีอยุธยาเพื่อสงวนกำลังไว้เริ่มต้นใหม่

นี่ไม่ได้หมายความว่า พระเจ้าตากสิน ทหารที่ร่วมตีฝ่าวงล้อมออกไป และทหารที่เข้าร่วมในภายหลัง ไม่มีฝีมือเพียงพอจะรบพุ่งกับพม่าได้ หากทว่าเป็นเพราะกรุงศรีอยุธยาได้เลือกยุทธศาสตร์ที่ผิดพลาดในการรับศึกใหญ่ นี้

บทเรียนเรื่องความผิดพลาดเชิงยุทธศาสตร์แบบนี้ ย่อมเป็นสิ่งที่ผู้ปรารถนาความยิ่งใหญ่ทั้งทางการเมือง ธุรกิจ และการลงทุนพึงต้องสังวรณ์ไว้

ความเคยชินในกรอบคิดและยุทธศาสตร์แบบเดิมเป็นภัยอันตรายต่อประเทศชาติฉันใด ก็ย่อมเป็นเรื่องต้องห้ามของธุรกิจและการลงทุนฉันนั้น

BANPU เป็นหุ้นของบริษัทถ่านหินที่นับว่ามีการบริหารจัดการและกลยุทธ์ธุรกิจที่ เป็นเลิศ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาราคาซื้อขายได้ขยับสูงขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง

หากทว่า ยุทธศาสตร์พลังงานของโลกอาจกำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ โดยเฉพาะการขุดค้นถ่านหินและแก๊สในราคาถูกของสหรัฐอเมริกา ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของ BANPU อย่างหนักหน่วง อาจถึงกับต้องปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์หรือโครงสร้างธุรกิจกัน

นักลงทุนที่ชื่นชอบการลงทุนในกลุ่มพลังงาน ก็อาจต้องกลับมาคิดทบทวนอีกครั้ง ไม่ใช่เพราะว่าบริษัทเหล่านี้มีความผิดพลาดประการใด หากทว่า เกิดจากสภาพการณ์แข่งขันในระดับโลกที่เปลี่ยนแปลงไป

ยิ่งกว่านั้นก็คือ ตลาดหุ้นไทยยังมีบริษัทอีกมากมาย ที่มีการบริหารจัดการและพนักงานที่มีคุณภาพล้ำเลิศ หากทว่า ก็มีความได้เปรียบในเชิงยุทธศาสตร์ควบคู่ไปด้วย โดยเฉพาะเมื่อมีเรื่องราวของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 เข้ามาเกี่ยวข้อง

โดยเฉพาะอุตสาหกรรมโรงพยาบาล ซึ่งประเทศไทยมีความสามารถติดอันดับโลก ไม่ต้องตกเป็นเบี้ยล่างต่างชาติเหมือนในอุตสาหกรรมพลังงาน ยังไม่นับหุ้นกลุ่มค้าปลีกและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่อาศัยความได้เปรียบใน การคุ้นเคยกับนิสัยการบริโภคของคนไทยเป็นอย่างดี ที่สำคัญนักธุรกิจไทยยังเชี่ยวชาญในการบริการและจิตวิทยาผู้บริโภคได้ดีกว่า ฝรั่ง ซึ่งเจนจัดในเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากกว่า

CPN ได้อาศัยโอกาสนี้ในการรุกเข้าไปเจาะตลาดในบริเวณชายแดนไทย เพื่อดึงลูกค้าจากประเทศเพื่อนบ้านที่ย่อมต้องตื่นตาตื่นใจไปกับห้างขนาด ใหญ่ ในขณะเดียวกันก็ได้ลูกค้าจากคนไทยมาเป็นเครื่องพยุงยอดขายอีกทางหนึ่งด้วย

ยุทธศาสตร์ของ CPN จึงเปิดกว้างเป็นอย่างยิ่ง

การตัดสินใจขายหุ้นกลุ่มพลังงาน ก็อาจเป็นเสมือนการละทิ้งกรุงศรีอยุธยาที่กำลังจะล่ม เพื่อที่จะไปเสาะหาการลงทุนครั้งใหม่กับกองทัพของพระเจ้าตากสินที่กำลัง สร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมา

2. การว่างเว้นจากศึกสงครามมายาวนาน ทำให้ความเฉียบแหลมของนักการทหารอ่อนโทรมลง

อัจฉริยภาพและความยิ่งใหญ่ของพระนเรศวรมหาราช ส่วนหนึ่งก็คือ การสรุปบทเรียนจากสงครามคราวเสียกรุงครั้งที่ 1

อัจฉริยภาพและความยิ่งใหญ่ของพระเจ้าตากสินมหาราช ส่วนหนึ่งก็คือ การสรุปบทเรียนจากสงครามคราวเสียกรุงครั้งที่ 2

สาเหตุสำคัญของการเสียกรุงครั้งที่ 2 ก็คือ ความพ่ายแพ้ทางยุทธศาสตร์ แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าการว่างเว้นจากศึกสงครามมายาวนาน ก็มีส่วนทำให้ไพร่พลของกรุงศรีอยุธยามีฝีมือและความเฉียบแหลมที่อ่อนโทรมลง

ความสามารถของอยุธยาในการยันทัพพม่าได้จนกระทั่งถึงฤดูน้ำหลาก รวมถึงการที่พม่ายังต้องใช้ความพยายามพลิกแพลงกลยุทธ์อีกหลายครั้งจนกว่าจะ เอาชนะได้ ก็เป็นเครื่องยืนยันถึงความแข็งแกร่งของทหารหาญแห่งอยุธยาที่ไม่เคยสิ้นคนดี คนเก่ง

หากทว่า ความจริงที่โหดร้ายก็คือ ในสนามรบนั้น แค่เก่งอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ เพราะการแข่งขันเป็นเรื่องเปรียบเทียบ แม้ว่าเราจะแข็งแกร่งมาก แต่ถ้าข้าศึกแข็งแกร่งมากกว่า เราก็ย่อมพ่ายแพ้ได้

น่าขบคิดว่า ถ้าทหารไทยไม่ถูกทำให้อ่อนเปลี้ยเพราะว่างเว้นจากการสงครามมานาน ก็อาจไม่ยึดติดในยุทธศาสตร์อาศัยชัยภูมิและฤดูน้ำหลากเป็นหลัก หากจะต้องขวนขวายออกไปซุ่มโจมตีข้าศึกที่หัวเมืองไว้ล่วงหน้า ดังเช่นที่ได้กระทำในสมัยรัชการที่ 1 ซึ่งสามารถพิชิตศึกพระเจ้าปดุงที่ยิ่งใหญ่กว่าพระเจ้ามังระที่พิชิตอยุธยา อีกด้วย

บ้านเมืองไม่มีศึกสงครามย่อมเป็นเรื่องดีงาม หากทว่าสำหรับผู้นำประเทศแล้ว การเตรียมพร้อมและหมั่นฝึกซ้อมไพร่พลให้เข้มแข็งย่อมเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง

ธุรกิจที่ดีก็เช่นกัน ไม่ควรพึงพอใจกับสถานภาพเดิม แต่ต้องรู้จักค้นคว้าทดลองเพื่อค้นหาผลิตภัณฑ์ที่ดีกว่าเดิม มีต้นทุนที่ถูกกว่าเดิม ที่ช่วยให้ลูกค้าพึงพอใจ และกระตุ้นให้ผลกำไรทวีคูณ

หุ้นกลุ่มธนาคารไทย นับเป็นตัวอย่างที่ดีของการว่างเว้นจากศึกสงครามมายาวนาน โดยเฉพาะเมื่อมีโครงสร้างบางอย่างที่กีดกันไม่ให้ธนาคารจากต่างประเทศเข้ามา แข่งขันได้

ภายหลังวิกฤตในปี 2540 ธนาคารไทยทั้งรัฐและเอกชนเริ่มตื่นตัวที่จะวางยุทธศาสตร์เชิงรุกเพื่อแย่ง ชิงลูกค้ากัน แต่นั่นก็ยังไม่ใช่การแข่งขันที่แท้จริง เพราะจำกัดขอบเขตเพียงภายในประเทศเท่านั้น

SCB และ KBANK เป็นหุ้นกลุ่มธนาคารที่มีผลประกอบการและโครงสร้างการบริหารที่ดีที่สุด โดยเฉพาะ SCB ที่มีความเคี่ยวกรำของทีมงานในการขายสินค้าบริการให้ลูกค้าอย่างถึงพริกถึง ขิงที่สุด แต่นั่นก็ยังไม่เพียงพอ โดยเฉพาะเมื่อส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ยังคงอยู่ในระดับสูง ก็ย่อมทำให้ธนาคารพาณิชย์ไทยยังไม่ต้องดิ้นรนในการทดลองนวัตกรรมทางการเงิน อย่างหนักหน่วง

หากวันใดที่ธนาคารต่างชาติสามารถรุกเข้ามาในตลาดไทยได้ หุ้นกลุ่มธนาคารไทยก็ย่อมได้รับผลกระทบที่รุนแรงอย่างแน่นอน

ที่น่าเศร้าก็คือ ธนาคารไทยก็ได้ขยายตัวจนกระทั่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่แล้ว ดังนั้น ตลาดในประเทศไทยอาจกำลังถึงจุดอิ่มตัว หากต้องการเติบโตต่อไปก็ต้องขยายไปต่างประเทศ

ทหารที่ว่างศึกมานานหรือเพียงรบพุ่งแย่งชิงกันในประเทศเท่านั้น จะผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้หรือไม่

ฟ้าเท่านั้นที่รู้

ในทำนองตรงข้าม ไพร่พลในอุตสาหกรรมที่ไทยแข็งแกร่ง กลับได้รับการฝึกฝนเคี่ยวกรำอย่างฮึกเหิมยิ่ง

โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ (BH) เป็นธุรกิจที่สามารถแข่งขันได้ในระดับโลก เพราะฝีมือแพทย์ไทยไม่เป็นสองรองใคร ที่สำคัญก็คือ แพทย์ไทยมีสนามฝึกซ้อมในโรงพยาบาลรัฐบาลที่รับผู้ป่วยจำนวนมากมากเป็นอย่าง ดี ดังนั้น จึงไม่มีปัญหาในการว่างเว้นจากศึกสงครามและการฝึกซ้อม

ร้านสะดวกซื้อ 7-11 ก็ได้แก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากร โดยการเปิดสถาบันการศึกษาของตนเองขึ้น นั่นคือ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ที่ไม่ได้สอนเพียงแค่เรื่องทฤษฎี หากได้ผสมผสานการเคี่ยวกรำในการปฏิบัติงานจริงเข้าไปด้วย

พนักงานในอุตสาหกรรมธนาคารไทย ย่อมมีความเฉลียวฉลาดและทำงานหนักไม่แพ้ในอุตสาหกรรมอื่น หากทว่าความโหดร้ายในสนามแข่งขันในระดับโลก ที่ประเทศไทยไม่ได้มีความเป็นเลิศในด้านนี้ ก็ย่อมทำให้พนักงานธนาคารไทย ไม่สามารถใช้ศักยภาพของตัวเองได้เต็มที่ โดยต้องอาศัยโครงสร้างที่กีดกั้นต่างชาติ เพื่อรักษาตัวรอดต่อไป

หากจะปรับโครงสร้างใหม่ ก็อาจนำความสูญเสียอย่างยิ่งได้ ดังนั้น จึงเป็นสถานการณ์ที่น่ากระอักกระอ่วนใจอย่างยิ่ง

3. สร้างสรรค์สมดุลกลมกล่อมระหว่างห้วงเวลาสั้นยาว

พม่าเลือกเดินทัพมาใน 2 เส้นทาง ซึ่งมีข้อได้เปรียบเสียเปรียบที่แตกต่างกันนี้ แสดงว่าให้เห็นว่ามีการวางยุทธศาสตร์ที่รัดกุม โดยไม่มีความประมาทกำลังของกรุงศรีอยุธยาแม้แต่น้อย

“มหานรธา” ที่นำทัพเข้าตีจากทางตะวันตกของกรุงศรีอยุธยา แม้ว่าจะมาถึงก่อน แต่ก็ยังไม่รีบร้อนเข้าตี ยังต้องคอยให้ “เนเมียสีหบดี” ที่นำทัพตีฝ่าหัวเมืองทางเหนือเข้ามาล่าช้ากว่า ได้มาสมทบพร้อมกันเพื่อบีบเค้นพิชิตอยุธยาให้ได้

หากทำการผิดพลาดคลาดเคลื่อนแม้แต่เพียงนิดเดียว อยุธยาก็จะหาช่องว่างโจมตีเพื่อเอาตัวรอดไปได้

นี่คือ ความละเอียดที่ผู้นำและแม่ทัพทั้งหลายจะต้องมีการฝึกฝนประสานร่วมมือกันมาเป็นอย่างดี

หากเปรียบเทียบกับการกลยุทธ์ธุรกิจก็คือ การผสานระหว่างการแสวงหาผลกำไรระยะสั้น ที่มีความเสี่ยงและความเหนื่อยยากน้อยกว่า เข้ากับการแสวงหาผลกำไรในระยะยาว ซึ่งต้องมีการค้นคว้าทดลองทางนวัตกรรม อบรมบ่มเพาะพนักงาน และรายจ่ายการเตรียมความพร้อมอีกมากมาย ที่อาจไม่เห็นผลได้ในเร็ววัน

Grammy เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจของการลงทุนระยะยาวเพื่อบุกเบิกธุรกิจทีวีดาวเทียม โดยอาศัยเครือข่ายดารานักร้องและพิธีกรที่มีความสามารถ ซึ่งได้สั่งสมกันมาเป็นอย่างดี

หากทว่าในช่วงแรกของการเริ่มต้นสร้างสถานีเป็นของตัวเอง ย่อมเต็มไปด้วยค่าใช้จ่ายมหาศาล กว่าที่จะทำให้คนติดอกติดใจ แม้กระนั้นก็ต้องรอคอยยาวนาน จนกระทั่งเอเจนซี่โฆษณาจะเปลี่ยนใจจากช่องฟรีทีวีมาลงทุนกับสถานีหน้าใหม่ แบบนี้

ยุทธศาสตร์แสวงหาพันธมิตรและการร่วมทุนก็เป็นทางออกหนึ่งในการกระจายความ เสี่ยง และมีเงินสดสำหรับรักษาสถานีไว้ให้ยาวนานที่สุด ก่อนที่ชัยชนะจะมาเยือน

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะปลอดภัยกว่า คือ การคิดค้นกลยุทธ์ในการแสวงหารายได้ในระยะสั้นมาหล่อเลี้ยงให้ได้ โดยอาจต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ที่แหวกออกไปจากแนวทางปกติของธุรกิจ บันเทิงทั่วไป

สมดุลระหว่างการลงทุนระยะยาวและการแสวงหารายได้ในระยะสั้นจึงเป็นสิ่งจำเป็น หากว่า Grammy ทุ่มน้ำหนักให้กับทางใดทางหนึ่งมากเกินไป ก็อาจทำให้รากฐานทางธุรกิจที่วางไว้ต้องสั่นคลอน

นักลงทุนที่ยิ่งใหญ่ จึงต้องมีความละเอียดอ่อนในการมองเห็นถึงยุทธศาสตร์และยุทธวิธีของแต่ละ บริษัท ซึ่งเป็นเครื่องแบ่งแยกหุ้นที่ดีเลิศออกจากหุ้นที่พื้นเพธรรมดา

หมายเลขบันทึก: 487734เขียนเมื่อ 11 พฤษภาคม 2012 14:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 03:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท