การสื่อสารภาษาอังกฤษในฐานะที่เป็นคนไทย


เคล็ดลับของการสื่อสารนั้น ให้เราคิดถึงสิ่งที่ต้องการจะบอกเสียก่อน ซึ่งตอนนั้นในหัวของเราจะคิดเป็นความหมายภาษาไทยเนื่องจากเราเป็นคนไทย จากนั้นจึงค่อยลำดับความ นึกถึงคำศัพท์ภาษาอังกฤษที่ให้ความหมายได้ตรงกับความหมายของภาษาไทยที่เราคิด คราวนี้จึงจับใส่โครงสร้างประโยคภาษาอังกฤษ แล้วจึงค่อยพูดออกไป
            ตลอดเวลาที่ผ่านมา ดิฉันรู้สึกว่าทักษะภาษาอังกฤษของตัวเองนั้น ไม่ได้เรื่องเอาเสียเลย 

      สมัยเรียนในชั้นมัธยมฯ ก็รู้สึกมั่ว ๆ เรียนอยู่ได้ดีก็เกรด
2 ไม่ค่อยเข้าใจในสิ่งที่ครูพยายามจะสอนให้เรารู้เรื่อง ไวยากรณ์ก็ตีกันมั่วไปหมด ฟัง-พูด ไม่ได้เรื่อง เขียนก็ไม่ค่อยจะได้เท่าไร แต่เรื่องอ่าน พอจะได้เรื่องกับบ้าง จึงพอจะเอาตัวรอดได้ในการทำข้อสอบแต่ละครั้ง

      พอมาถึงระดับมหาวิทยาลัย ก็พยายามขวนขวายอยู่นะ ยิ่งตอนเรียนปริญญาโท เราต้องอ่านวรรณกรรมต่างประเทศเยอะหน่อย ก็รู้สึกว่าจะได้พัฒนาเรื่องการอ่าน-เขียนกระเตื้องขึ้นบ้าง พอเอาตัวรอดเรียนจบมาได้ แต่จนแล้วจนรอด ก็ยังฟัง-พูด ไม่ค่อยจะได้อยู่ดี หลัง ๆ นี่ พอจะฟังเข้าใจอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ค่อยดี ส่วนเรื่องพูดนั้นแย่จริง ๆ

      เรียกว่าทักษะการสื่อสารโดยใช้ภาษาอังกฤษของตัวเองนั้น อยู่ในขั้น
อ่อนแอ ทั้งที่เรียนมา...จำได้ว่าตั้งแต่ชั้น ป.5 จนเรียนจบ ป.โท นับรวมกับที่ขวนขวายเพิ่มเติมนอกหลักสูตรตอนที่มาทำงานแล้วนี่อีก ก็เป็นเวลากว่า 20 ปี กระมัง ก็ยังพูดกับฝรั่งเขาไม่ได้อยู่ดี

      แต่นับตั้งแต่วันนี้....ดิฉันเริ่มมีความหวังว่าอาจารย์พิเศษที่ ผอ.เขตฯ ท่านเชื้อเชิญมาให้ความรู้กับพวกเรา (ผอ.เขตฯ / รองฯ / หน.กลุ่ม / ศึกษานิเทศก์) ท่าน ดร.วีร์ ระวัง จะช่วยชี้ทางในการพัฒนาทักษะทางภาษาของดิฉันให้สามารถสื่อสารได้ดีกว่าที่เป็นอยู่ อาจารย์ท่านจะเน้นเรื่องการใช้ภาษาอังกฤษในฐานะที่เราเป็นคนไทย ใช้ชื่อโปรแกรมนี้ว่า
รูปแบบหลักสูตรภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร ผ่านกระบวนการถ่ายโอนความหมายในฐานะภาษาต่างประเทศสำหรับคนไทย" (Code Switching Process Based communicative Thai-English Model)

      โปรแกรมนี้เป็นผลงานวิจัยที่ท่านทดลองใช้และได้ผลมาแล้ว ซึ่งขณะนี้ท่านเดินทางเผยแพร่เพื่อถ่ายทอดรูปแบบการฝึกเพื่อการสื่อสารภาษาอังกฤษไปหัวเอ็ดเจ็ดย่านน้ำ โดยบอกว่าท่านกำลังใช้ยุทธศาสตร์
ป่าล้อมเมือง เพื่อบอกเล่าสิ่งที่ท่านค้นพบซึ่งอาจจะขัดแย้งหรือสวนกระแสกับสิ่งที่กระทรวงฯ กำหนดเป็นหลักสูตรอยู่ในขณะนี้

      การเข้าเรียนในวันนี้เป็นครั้งที่สอง เราจะพบกันครั้งละ
1 วัน แล้วแต่เราจะนัดพบกัน แต่ละครั้งห่างกันราว 1-2 สัปดาห์ รวมทั้งหลักสูตรพบกัน 9 ครั้ง ซึ่งก่อนไปเข้าชั้นเรียน ดิฉันก็งง ๆ ว่า พบกันแค่นี้จะทำให้เราพลิกชีวิตในการเรียนภาษาอังกฤษอย่างที่เขาร่ำลือกันเลยหรือ (ก่อนหน้านี้อาจารย์มาเป็นวิทยากรให้กลุ่มคุณครูภาษาอังกฤษของ สพท.สพ.2 แล้ว) แล้วถ้าพบหน้ากัน จะต้องพูดภาษาอังกฤษตลอดที่เรียนกับอาจารย์ไหม? ก็กลัวอยู่

      ในการพบกันครั้งแรกเมื่อวันที่
25 ก.ย.ที่ผ่านมา ไม่ได้เป็นอย่างที่ดิฉันคิด เพราะอาจารย์เริ่มสื่อสารกับพวกเราด้วยภาษาไทยที่มีสำนวนสนุกสนาน ในสำเนียงทองแดงหน่อย ๆ อธิบายสิ่งที่อาจารย์ค้นพบ ซึ่งน่าสนใจหลายเรื่อง เรื่องหลัก ๆ ก็คือ เคล็ดลับของการสื่อสารนั้น อาจารย์บอกให้เราคิดถึงสิ่งที่ต้องการจะบอกเสียก่อน ซึ่งตอนนั้นในหัวของเราจะคิดเป็นความหมายภาษาไทยเนื่องจากเราเป็นคนไทย จากนั้นจึงค่อยลำดับความ นึกถึงคำศัพท์ภาษาอังกฤษที่ให้ความหมายได้ตรงกับความหมายของภาษาไทยที่เราคิด คราวนี้จึงจับใส่โครงสร้างประโยคภาษาอังกฤษ แล้วจึงค่อยพูดออกไป

      อาจารย์บอกว่าฝรั่งเขาก็ต้องใช้ระบบการคิดแบบนี้ก่อนจะพูดสื่อสารภาษาไทยกับเราเหมือนกัน เพราะภาษาไทยไม่ใช่ภาษาแม่ของฝรั่ง และภาษาอังกฤษก็ไม่ใช่ภาษาแม่ของคนไทยเหมือนกัน

      ที่น่าสนใจกว่านั้นอาจารย์ได้นำเสนอแบบประโยคภาษาอังกฤษ ซึ่งอาจารย์เรียกว่า
สูตร มีทั้งหมด 17 สูตรด้วยกัน ก็เป็นเรื่องที่เราเคยเรียนเคยรู้ทั้งนั้น แต่คราวนี้พิเศษตรงที่อาจารย์ช่วยเชื่อมโยงความสัมพันธ์และชี้ให้เห็นหลักการของไวยากรณ์แบบเรียงลำดับที่เราต้องไม่สับสน วันนั้นหลายคนเป็นต้องร้อง อ๋อ เพราะได้หลักการที่สร้างความเข้าใจในการเรียนไวยากรณ์ภาษาอังกฤษมาตั้งแต่เด็ก ๆ แต่ตอนนี้เรามาเรียนแบบไทย ๆ เข้าใจแบบไทย ๆ ดูง่าย จำง่าย

      ดิฉันหมดข้อสงสัยไปอีกหนึ่งเรื่องว่าทำไมอาจารย์ใช้เวลาพบกันน้อยครั้งแต่กลับยืนยันว่าเราจะสามารถพูดภาษาอังกฤษได้ดีขึ้น เพราะอาจารย์ไม่ได้มานั่งสอนกันตั้งแต่พื้นฐาน แต่กำลังจับความรู้ความเข้าใจในหัวของเรามาจัดให้เป็นระบบ เชื่อมโยงให้เห็นความสัมพันธ์กัน และทบทวนสิ่งเดิมที่เราเคยรู้มาแล้ว ออกจากห้องเรียนเราต้องหมั่นไปทบทวนฝึกฝนเพิ่มเติมอีก

      จบการเรียนในวันนั้นอาจารย์ให้การบ้านไปคิดประโยคภาษาไทยที่เราอยากจะบอกในสิ่งที่เราคิด แล้วแปลงเป็นภาษาอังกฤษให้ได้ความหมายตามภาษาไทย คนละ
50 ประโยค โดยยังไม่ต้องคำนึงถึงหลักไวยากรณ์กันมากมาย

      หลังจากวันนั้นดิฉันก็ไม่ค่อยมีเวลาสักเท่าไร เพื่อน ๆ ศึกษานิเทศก์ทั้งหลายคงเข้าใจกันดีว่ายิ่งช่วงจะหมดปีงบประมาณแบบนี้ พวกเรายุ่ง...ยู้ง...ยุ่งกันจริง ๆ สิ่งที่ตั้งใจก่อนออกจากชั้นเรียนในวันนั้นว่าจะเริ่มฝึกและทบทวนโน่นนี่ ก็เป็นอันไม่มีเวลา คืนก่อนจะถึงเวลาต้องเข้าชั้นเรียนอีกครั้ง ดิฉันก็เพิ่งจะนั่งทำการบ้าน สุดท้ายง่วงนอนทนไม่ไหว จึงได้ประโยคเพียง
30 ประโยคไปส่งครู และบอกว่า I tell myself that It’s impossible to finish fifty sentences tonight. ในประโยคที่ 30 นั่นเอง

      ไม่น่าเชื่อว่าวันนี้ดิฉันจะได้รับคำชมจากท่านอาจารย์ว่าประโยคต่าง ๆ ที่ตัวเองนำเสนอนั้นค่อนข้าง
OK ปรับบ้างนิดหน่อย แต่ดิฉันจะยังอ่อนด้อยเรื่องคำศัพท์อยู่ ยังติดขัดเรื่องคำศัพท์ว่าภาษาไทยว่าอย่างนี้ ภาษาอังกฤษจะว่าอย่างไร จุดนี้จึงต้องไปพัฒนาตัวเอง ซึ่งอาจารย์ก็แนะนำพวกเราทุกคนว่าต้องเรียนรู้คำศัพท์ให้สม่ำเสมอเหมือน หยอดกระปุกออมสิน

      ดิฉันเองเริ่มมีกำลังใจเมื่อได้รับการเสริมแรงจากท่านอาจารย์ นอกจากตัวดิฉันแล้ว เพื่อนร่วมชั้นเรียนคนอื่น ๆ ก็ได้มีโอกาสนำเสนอประโยคที่แต่ละคนคิดขึ้นมาด้วย อาจารย์ก็จะช่วยแนะนำปรับประโยค แล้วให้พวกเราช่วยกันวิเคราะห์ว่าเป็นสูตรไหน วิธีนี้ถูกใจพวกเรามากเพราะทำให้เราเรียนรู้ได้มากและเร็วจากตัวอย่างเยอะ ๆ

      ช่วงบ่ายอาจารย์ช่วยทบทวนเรื่อง
Tenses ให้และบอกว่าถ้าเปรียบว่าความสำเร็จในการสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ของพวกเราเป็น ยอดตึก เมื่อสัปดาห์ที่แล้วเราเรียนรู้เรื่อง สูตร ก็จะเป็นการสร้าง นั่งร้าน หรือ บันได ที่ไม่ค่อยสวยนักปีนขึ้นไปด้านหนึ่งเพื่อไปสู่ ยอดตึก นั้น (เรียกว่าใช้วิธีที่ไม่เป็นทางการนัก เพราะ สูตร นั้นอาจารย์คิดขึ้นมา) ในวันนี้เราก็จะมาเรียนรู้โครงสร้างประโยคที่เป็นแบบแผน เพื่อให้สามารถปีนขึ้นไปอีกด้านหนึ่งไปสู่ ยอดตึก ได้เช่นกัน

      อาจารย์ก็ได้ใช้วิธีเดียวกันกับการนำเสนอ
สูตร ก็คือเชื่อมโยงให้เห็นความสัมพันธ์กันระหว่าง Timing และ Acting

      Timing มี 3 แบบ คือ future  present  และ past  ส่วน Acting มี 4 แบบ คือ simple continuous  perfect และ perfect continuous ดังนั้นจึงทำให้เกิด Tenses รวม 12 Tenses ซึ่งอาจารย์ก็นำเสนอให้เราได้จำง่ายขึ้น และแนะนำว่าต่อไปเราต้องฝึกใช้ประโยคเหล่านี้ให้เป็นอัตโนมัติด้วย

      ท้ายชั่วโมงของวันนี้อาจารย์ให้การบ้านอีกครั้งโดยไปคิดประโยคแปลงไทยเป็นอังกฤษนี้อีก
20 ประโยค คราวนี้ให้คำนึงถึงความถูกต้องในเรื่อง Tenses ด้วย และคราวหน้าได้มอบหมายให้ตัวแทนสามคนลองทำ Public Speech ด้วยเนื้อหาคนละครึ่งหน้ากระดาษ ตอนแรกดิฉันไม่มั่นใจ ว่าจะไม่รับ แต่อาจารย์บอกว่าครั้งนี้ให้อ่านโพยได้...ก็เลยว่างั้นลองดูสักตั้ง...คิดว่าอาจจะเป็นจุดเริ่มในการพลิกชีวิตด้านการสื่อสารภาษาอังกฤษของตัวเองก็เป็นได้ ผลเป็นอย่างไรจะกลับมาเล่าให้ฟังอีกนะคะ...
หมายเลขบันทึก: 48739เขียนเมื่อ 6 กันยายน 2006 22:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 16:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

บุคคลแห่งการเรียนรู้จริงๆ เอาใจช่วยครับ

รู้สึกดีมากๆเลยค่ะ ที่ท่านมีความพยายามมากมาก และประสบความสำเร็จ

ขอเอาใจช่วยให้ประสบความสำเร็จยิ่งๆขึ้นไปค่ะ

หนูกำลังศึกษากับท่านดร.วีร์ ระวังอยู่คะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท